นอกจากภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวี่วันแล้ว ภาษาที่ 2..3..4.. ทั้ง อังกฤษ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ ก็เป็นภาษาที่ควรเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะการใช้ภาษาเอาไว้ เพื่อเป็นต้นทุนในการสร้างกำไรให้กับชีวิต หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามโอกาสที่เหมาะสมด้วยเหตุนี้ นักศึกษาภาคอินเตอร์กลุ่มหนึ่งจึงรวมตัวกัน ถ่ายทอดวิทยายุทธด้านภาษาอังกฤษให้กับน้องๆ
ในชุมชนบางลำพู ข้าวสาร ราชดำเนิน ซึ่งเป็นชุมชนที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ
และอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของบ้านเมือง ทั้งยังเป็นแหล่งชอปปิงยามค่ำคืน
ที่สำคัญอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยของนักศึกษากลุ่มนี้ด้วย
แก้ว เล่าว่า เขาหลงใหลการสอนมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เริ่มจากทำโครงการพี่สอนน้องกับเพื่อนๆ
เพื่อช่วยปรับพื้นฐานความรู้และความเข้าใจด้านภาษาอังกฤษให้น้องๆ ในโรงเรียนข้างเคียง
"เราต้องเริ่มจากทำให้เขาไม่กลัวและรักภาษาอังกฤษ"
ดังนั้น เมื่อย่างเข้ารั้วมหาวิทยาลัย แก้วจึงคว้าโอกาสสานต่อความฝันของเขาทันที
"ทียูทูยู" (TU2You) จึงเกิดขึ้นภายใต้โครงการธรรมศาสตร์อาสาเพื่อชุมชน ศูนย์อาสาสมัคร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากการสนับสนุนของ มูลนิธิสยามกัมมาจล
"ผมตั้งเป้าอยากให้โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้และการให้ เพราะเมื่อเข้ามาเรียนที่นี่ ประโยค
ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์ สอนให้ฉันรักประชาชน ยังติดอยู่ในใจผมเสมอ
ผมอยากให้ทียูทูยูเป็นโครงการที่ทุกคนได้มาเรียนรู้ร่วมกัน นักศึกษาได้เรียนรู้ชุมชน
คนในชุมชนได้เรียนภาษาอังกฤษและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ที่สำคัญอยากปลูกฝังความคิดเรื่องจิตอาสาให้กับเพื่อนๆ
นักศึกษาด้วยกัน ผมอยากให้ทุกคนมองว่า การทำอะไรดีๆ เพื่อผู้อื่นทำได้ไม่ยาก"
แก้ว รวบรวมเพื่อนๆ ในคณะเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ และนักเรียนแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา
แคนาดา และญี่ปุ่น มาสอนภาษาอังกฤษให้กับน้องๆ ในชุมชนบางลำพู จากเดิมมีอาสาสมัครราว 20 คน ตอนนี้จำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
ทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลาประมาณ 4 โมงเย็น เป็นเวลาที่คุณครูและลูกศิษย์รู้กันว่า
ชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษแสนสนุกกำลังจะเริ่มขึ้น สถานที่นัดหมายอยู่ที่บ้านป้านิด ผู้นำชุมชนบางลำพู
ไม่ก็โรงอาหารใต้ตึกคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
"เราสอนภาษาอังกฤษแบบตัวต่อตัว เน้นการสอนให้สนุกและนำไปใช้ได้จริง ที่สำคัญคือ ใช้สื่อการสอนที่สร้างสรรค์
การ์ตูนบ้าง เกมบ้าง เลือกให้เหมาะกับการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน เพราะน้องที่มาเรียนมีตั้งแต่ประถม
ไปจนถึงมัธยมปลาย...เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง สอนตามความต้องการและความสนใจของเขา
ก่อนสอนอาสาสมัครทุกคนต้องนั่งพูดคุยกับน้องๆ สังเกตลักษณะนิสัย ความสนใจ
และทักษะภาษาอังกฤษของน้องๆ ก่อน จากนั้นค่อยวางแผนการสอนให้สอดคล้องเหมาะสมกับแต่ละคน
จุดสำคัญต้องทำให้เขาได้รับความสนุกสนานจากการเรียนรู้"
ที่ลืมไม่ได้ แก้ว บอกว่า สอนเสร็จอาสาสมัครจะประชุมร่วมกัน เพื่อประเมินการสอนของตัวเองและลูกศิษย์
รวมถึงช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
"ปัญหาก็มี ที่สำคัญคือเรื่อง คน เวลาทำงานกับคนมากๆ แต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน ดังนั้น ต้อง ‘เรียนรู้'
พื่อสร้างความ ‘เข้าใจ' ระหว่างกัน..แค่ผมคนเดียวไม่สามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ ผมโชคดีที่มีเพื่อนร่วมงานเก่ง
ทุกคนสามารถนำความรู้ ความสามารถที่ตนมีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และทุกคนเข้าใจการทำงานแบบจิตอาสา
คนในชุมชนก็ยอมรับ เลยต่อยอดโครงการมาเรื่อยๆ พวกผมจบไปก็มีรุ่นน้องมารับช่วงต่อ"
และเมื่อถูกถามถึงความสำเร็จของโครงการ แก้ว บอกว่า
"ทำโครงการนี้มา 1 ปี ผมว่าประสบความสำเร็จเกินคาด มองจากประโยชน์ที่เกิดกับตัวเองก่อน
แล้วมองจากคนรอบข้างด้วย..ผมใจเย็นขึ้นมาก ทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไป ได้เพื่อน ได้มิตรภาพที่ดี
เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม และฝึกทักษะการประสานงาน อาสาสมัครทุกคนได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อชุมชน
เรียนรู้วิถีชีวิต และเรียนรู้การเป็นผู้ให้ น้องๆ ในชุมชนก็สามารถนำภาษาอังกฤษไปใช้ได้จริง
โครงการนี้จึงเป็นจุดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยกับชุมชนได้เป็น อย่างดี"
ความสุขที่ได้จากการทำงานอาสาสมัครจึงทำให้ แก้ว มุ่งมั่นอยากทำงานด้านนี้ต่อไป
"ผมอยากทำโครงการร่วมกับนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งเขามีความรู้ด้านศิลปะอยู่แล้ว
มาช่วยสอนศิลปะให้เด็กๆ ผมว่าศิลปะช่วยสร้างความสุข และสร้างจินตนาการ ซึ่งจินตนาการจะนำไปสู่ความคิดดีๆ
ใหม่ๆ ที่จะนำไปพัฒนาสังคมต่อไป" แก้ว สรุปส่งท้าย
เครดิต:
http://women.sanook.com/