รู้จักโลก Post Modern กับ "ธีรยุทธ บุญมี" นักเขียนรางวัล "ศรีบูรพา"
สำรวจดูนักวิชาการไทยที่คนไทยรู้จักมากที่สุด เห็นจะไม่พ้นมีชื่อของธีรยุทธ บุญมี ติดอยู่ใน
อันดับต้นๆ สังคมไทยรู้จักเขามาตั้งแต่เขายังเป็นนักศึกษา ในยุคสมัยที่นักศึกษาเป็นความ
หวังสร้างสังคมใหม่ เมื่อเขานำเพื่อนนักศึกษาต้านสินค้าญี่ปุ่นก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ไม่กี่ปี และต่อเนื่องนับจากนั้นในฐานะผู้นำนักศึกษาผู้เรียกร้องเอกราชประชาธิปไตย
เขานั่งเป็นอาจารย์คณะสังคมวิทยามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาแล้วหลายปี
ยังคงศึกษาค้นคว้า และสะกิดสะเกานักการเมืองบ้างเป็นครั้งคราว และยังคงสร้างสรรค์งาน
ศิลปะเป็นอดิเรก และเมื่อถึง พ.ศ.2546 คณะกรรมการ "กองทุนศรีบูรพา" พิจารณาให้เขา
เป็น 1 ใน 2 ของผู้ที่สมควรได้รับรางวัลศรีบูรพา ซึ่งเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นเพื่อเชิดชูนักคิด
นักเขียนที่มีผลงานทรงคุณค่า และมีแบบอย่างชีวิตที่ดีงาม ซึ่งมีกำหนดมอบรางวัลในวันที่
5 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ เขากล่าวถึงการได้รางวัลนี้กับ "เนชั่นสุดสัปดาห์" ว่า
"ผมถือว่าเป็นหลักไมล์ของผม รู้สึกเป็นเกียรติ เป็นจุดที่ทำให้เราได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้นว่า
ชีวิตที่เดินมามันถูกทาง ชีวิตที่เดินมาของผม คือชีวิตที่อยากจะศึกษาค้นคว้าความคิด
ถ่ายทอดความคิด เป็นนักคิด อย่างที่มีคนพูดถึงกันบ้าง ที่ผ่านมาเราก็ทำหน้าที่เหล่านี้
ให้แก่สังคม ศึกษาค้นคว้าค่อนข้างหนัก และผมก็ยังทำต่อไป"
และงานทางวิชาการของเขาชิ้นล่าสุดซึ่งออกมาเป็นหนังสือชุด ความรู้บูรณาการและ
ถอดรื้อ ความคิดตะวันตกนิยม แบ่งเป็น 3 เล่ม ประกอบด้วย
1.ความหลากหลายของชีวิต ความหลากหลายทางวัฒนธรรม
2.โลก Modern & Post Modern และ
3.ถอดรื้อปรัชญาและศิลปะแบบตะวันตกเป็นศูนย์กลาง ก็เป็นที่ฮือฮาในหมู่นักศึกษาที่รัก
ในความรู้ เมื่อเขาวางตัวเองเป็นนักคิด ผลงานชิ้นนี้ ก็คือหลักไมล์อันโดดเด่นบนเส้นทาง
ความคิดของเขาที่มีต่อโลก และเชิญชวนคุณๆ ให้รู้จักโลกด้วยการถอดรื้อ...
อย่างไรที่เรียกว่า โลกยุคหลังสมัยใหม่ (Post Modern) หลังอาณานิคม (Post Colonial) และหลังตะวันตก (Post Western)
โลกยุคโมเดิร์น คือการบรรยายถึงโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในเรื่องของความรู้ทาง
วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เรื่องเศรษฐกิจ คือเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมนิยม
ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาขึ้นของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และยังหมายถึงระบบ
การเมืองแบบประชาธิปไตย แบบที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีแนวคิดเรื่อง
สิทธิเสรีภาพ การแสดงออก การเป็นอธิการ (subject) ของความรู้ คุณธรรม พฤติกรรม
การกระทำของคน พูดง่ายๆ คนต้องรับผิดชอบความรู้หรือการกระทำของตัวเอง
ลักษณะเช่นนี้ของโมเดิร์น มีพื้นฐานจาก 2 ส่วน หนึ่งคือ มันถูกผลิตจากนักคิดหรือวัฒนธรรม
ของตะวันตก แต่ทั้งนี้ ถ้าโดยประวัติศาสตร์แล้วก็ต้องบอกว่า เกิดจากการหยิบยืมวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยี หรือความคิดบางส่วนจากโลกมุสลิม จากเกาหลี จากอินเดีย เปอร์เซียฯ อีกทีหนึ่ง
ประการที่สอง ก็คือ ความรู้แบบตะวันตกพยายามที่จะอ้างตัวเองว่าเป็นสากลที่ใช้ได้ทั่วไป
เป็นความถูกต้องกับมนุษย์ทุกคน เพราะฉะนั้นความคิดแบบนี้ก็เป็นความคิดอันเป็นพื้นฐานเพื่อ
สร้างความชอบธรรมให้กับตะวันตกในการจะออกไปทำในสิ่งที่เรียกว่าภารกิจสร้างความศิวิไลซ์
(civilizing mission) หรือภารกิจในการไปพัฒนาให้คนอื่นเจริญ หลังจากที่การล่าอาณานิคม
ถูกต้านทาน จนประเทศอาณานิคมทะยอยได้รับเอกราชเมื่อกลางศตวรรษ จึงต้องเปลี่ยนการ
เข้าไปมีบทบาทในประเทศเหล่านั้นในนามของการพัฒนา นี่คือลักษณะของโมเดิร์น
ส่วนโพสต์ โมเดิร์น ก็คือการตั้งคำถามกับโมเดิร์น การที่มีคนใช้คำว่า โพสต์โมเดิร์น คุณ
ประโยชน์ที่สำคัญก็คือ มันทำให้เราสามารถหวนกลับไปมองสังคมโมเดิร์นหรือพฤติกรรมที่
ผ่านมาของมนุษย์ หรือความคิดความเชื่อของเราอย่างเป็นอิสระมากขึ้น เพราะถ้าเราไม่บอก
ว่า "โพสต์" โมเดิร์น เราก็จะยังจะอยู่ในกรอบของโมเดิร์น หรือยังให้มันครอบเราอยู่ ให้เรา
รู้สึกว่ายังจะต้องก้าวไปข้างหน้า ไปสู่ความเจริญ ยึดถือลัทธิความก้าวหน้า ซึ่งเป็นมิติที่
ควบคู่กับ civilizing mission ของตะวันตก
การบอกว่าโลกเป็น โพสต์ โมเดิร์น หรือเป็นโลกหลังสมัยใหม่ ในเชิงการเมืองนอกจากจะ
ทำให้มนุษย์สามารถมองโลกสมัยใหม่อย่างอิสระ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์มันได้ชัดเจนมากขึ้น
มองมันถนัดขึ้น ในทางความรู้ก็ทำให้หลุดพ้นจากกรอบ สมมติฐานแบบโมเดิร์น อย่างเช่น
ปรัชญาความเป็นสากล ปรัชญาความก้าวหน้า หรือปรัชญาประเภทที่ต้องมีแก่นแท้ มั่นคง
ถาวร เป็นอมตะ ซึ่งเอามาจากคริสต์ศาสนา เรื่องวิญญาณ เรื่องพระเจ้า หรือจากกรีกที่
เรียกว่าภาวะอุดมคติ เป็นต้น เพราะฉะนั้นตัวปรัชญาโพสต์ โมเดิร์น จึงเป็นตัวปรัชญาที่
แย้งกับความเป็นสากล หรือความเป็นแก่นแท้ที่ขัดแย้งไม่ได้ ล้มล้างไม่ได้ ถกเถียงไม่ได้
0 ที่มาของปรัชญาแบบโพสต์ โมเดิร์นมาอย่างไร ประมาณ 1900 เศษๆ จากปรัชญาภาษาศาสตร์ ก็เกิดเป็นปรัชญาโพสต์ โมเดิร์นขึ้น จน
เป็นกระแสแรงในราวทศวรรษ 1950 ปรัชญาที่บอกว่า ภาษามันเป็นพื้นฐานของมนุษย์
ความเป็นมนุษย์เกิดจากภาษา มนุษย์จะคิดได้ก็ต้องคิดผ่านภาษา ซึ่งทุกคนสามารถ
ทดสอบดูได้ ไม่ว่าจะคิดอะไรจะมีคำมีภาษาเข้ามา นี่เป็นการปฏิวัติทางปรัชญาครั้งใหญ่
จากที่บอกว่าความคิดสำคัญที่สุด จากที่เคยบอกว่าภาษาเป็นเครื่องมือของความคิดเฉยๆ
ทีนี้ภาษากลับมีความสำคัญแล้วเพราะเราจะคิดไม่ได้ถ้าเราไม่มีภาษา ก็เริ่มต้นศึกษาภาษา
เข้าใจภาษา
และอันนี้ก็จะนำไปสู่ทฤษฎีสัมพัทธนิยม (relativism) ซึ่งอธิบายได้ว่า แต่ละวัฒนธรรมก็จะ
มีชุดของค่านิยม ภาษาความคิด หรือความรู้ที่ต่างกัน แต่มีค่าเท่ากัน เพราะสามารถเป็น
ตัวแทนของความรู้ได้เหมือนกัน อีกอันที่เป็นกลางๆ มาหน่อยก็อาจจะบอกว่า มันเป็น
อย่างนั้นจริง แต่พอจะแปลกันได้ แม้จะไม่สามารถแปลได้อย่างตรงตัว อย่างไรก็ตาม
พอถึงจุดบางอย่างลึกๆ เข้าไป เราจะรู้ว่า มันขึ้นอยู่กับรากเหง้าของคำๆ นั้น
อย่างเรายืมคำสันสกฤตมา บางทีคำสันสกฤตก็ไม่ตรงกับที่เราเข้าใจ ยกตัวอย่างเรื่อง Ideal
ของกรีก ที่แปลว่าแบบอุดมคติ หรือภาวะสูงสุดที่เพลโตพูด Ideal คำนี้ คือคำเดียวกับ
เวดอส คือคำเดียวกับเวทย์-เวทย-วิทยา-วิชชา ที่มีรากเดียวกับสันสกฤต แต่จะเห็นว่า
พอไปทางกรีก กลายเป็น แบบมีรูปทรง พอถึงอินเดีย เราก็ไม่แน่ใจว่าอินเดียคิดอย่างไร
กับคำว่าวิชชา แต่ของเราวิชชาหมายถึงความรู้ หรือความคิดของเราก็ไม่มีแม่แบบ (form)
นะ เราไม่คิดว่า ความคิดของเราเป็นทรงกลมซึ่งสมบูรณ์แบบกรีกคิด เราไม่คิดว่า เรามี
ความจริงสมบูรณ์ เป็นฟอร์ม เป็นรูปทรงอุดมคติแบบนั้น แต่รากคำที่มานั้นเป็นคำเดียวกัน
ซึ่งสะท้อนว่าพื้นฐานของคำซึ่งนำมาซึ่งความเข้าใจของแต่ละวัฒนธรรมนั้นจะต่างกันมาก
หรือคำว่า self ของฝรั่ง ที่เราหมายถึงตัวตน คำๆ นี้สำคัญมาก เป็นที่มาหรือเป็นอธิการ
ของความรู้หรือการกระทำของเขานั้น ของเราแต่เดิมไม่มีคำนี้ คำว่า "ตัว" ของเรานั้น
หมายถึงร่างกาย เป็นเนื้อๆ หุ้มด้วยหนัง ส่วน "ตน" ของเรา เป็นลักษณะนามของฤาษีหรือ
ยักษ์ เราเอามารวมกันเพื่อจะอธิบายแนวคิดบางอย่าง
คำว่า "ตัวตน" ของเราเกิดขึ้นเพื่อเอามาใช้อธิบายแนวคิดพุทธ คือความคิดแต่เดิมคนไทยนั้น
ไม่มีสิ่งที่จะมารองรับ กรรม คนไทยจะเชื่อว่า มี "บางอย่าง" ที่มารองรับกรรม ถ้าทำกรรมดี
"บางอย่าง" นั้นจะรับผลดี ถ้าทำกรรมชั่ว "บางอย่าง" นั้นจะมารับกรรมชั่ว "บางอย่าง" นั้นนั่น
แหละที่เราเอาคำว่า "ตัวตน" มาใช้แทน ซึ่งคล้ายกับ self หรือ subject ของตะวันตก ที่
บอกว่าแต่เดิมของไทย หมายถึงในภาษาไตเขิน ไตลื้อ ไตดำ ไตแดง ถ้าทำความผิดก็คือ
ผิดผี เพราะผีเป็นขนบ ผีเป็นกรอบแห่งพฤติกรรมของคน ถ้าทำความผิด ไม่เรียกว่า ผิด
ศีลธรรม แต่เรียกว่า ผิดผี ต้องเสียผี จากนั้นก็หาย ไม่ต้องมีตัวตนไปรับกรรมชั่ว พอเสียผี
แล้วความชั่วนั้นก็หาย เริ่มชีวิตใหม่ ลืมกันไปเลย แต่ของเราสมัยนี้ ถ้าทำชั่วนี่ ติดไปนานนะ
กลายเป็นคนชั่วจนกว่าจะพิสูจน์อีกเยอะมาก นี่คือพัฒนาการ จะเห็นว่า ปรัชญาหรือภาษา
มันมีความลึกซึ้งของมันอยู่
สำนักที่เชื่อว่าพอจะเข้าใจกันได้ หรือภาษาพอจะแปลกันได้ แต่ต้องเข้าใจที่มาที่ไปของมัน
เข้าใจความเหมือนความต่าง และยังอยากจะคงความเป็นสากลหรือจุดร่วมกันของมนุษย์ไว้
สำนักนี้ก็จะถือว่าภาษาพอจะแปลได้ เช่น เราแปล Humanism-Humanity
มนุษยธรรม-มนุษยภาวะ จากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยได้ เราแปลคำว่า Right มาเป็น
คำว่า สิทธิ ได้ มีคำสิทธิมนุษยชนขึ้นมา แล้วควรไหมที่จะยอมรับว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสากล
เรายอมรับว่าเป็นสากล แต่เป็นการยอมรับว่าเป็นสากลในลักษณะที่ไม่ใช่จิตวิญญาณที่มา
จากพระเจ้า แต่ยอมรับความเป็นสากลได้จากหลายๆ อย่าง อาจจะในฐานะที่เป็นจิตสำนึกที่ดี
ของมนุษย์ หรือเป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่เรารู้ว่า มีการเข่นฆ่ากันมานาน
เข้าใจผิดกันมานาน ดูถูกเหยียดหยามเชื้อชาติ และเราจึงเห็นว่าเราควรจะยอมรับความเป็น
สากลในคำๆ นี้ ผมเองก็ค่อนข้างเชื่อแบบนี้นะว่า เราสามารถหาจุดร่วมที่ดีของมนุษย์ได้ นี่ก็
เป็นกลุ่มหนึ่ง
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ พวกหลังสมัยใหม่ไปเลย คือวิพากษ์ รื้อความคิด เสร็จแล้วจะเป็นอะไร
เขาอาจจะไม่เสนอชัด เพราะเขาถือว่ามีเยอะอยู่แล้ว ก็ขอถอดขอรื้อให้หมด แล้วจะทำอะไร
ต่อก็ว่ากันไป ซึ่งในที่สุด ถอด รื้อ แล้วก็ออกมาคล้ายๆ กัน คือเคารพความหลากหลาย เคารพ
ความแตกต่าง ยอมรับความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน สนใจในเรื่องของการกดขี่ในจุดย่อยๆ
เช่น เรื่องผู้หญิง เรื่องเด็ก เรื่องผิวสี เรื่องเกย์ เลสเบี้ยน ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่ถูกกด
หรือแม้กระทั่งเรื่องที่เราเชื่อกันมามาก เช่น "ชาติ" ที่ทุกคนเชื่อกันว่า ทุกคนเกิดมาพร้อมกับ
มีชาติ เป็นชาติไทย ลาว จีน สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนแต่ถูกถอดรื้อให้เห็นว่า เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่นะ
สมัยก่อนคนอยุธยาก็ไม่รู้สึกว่าเขาเป็นชาติไทยหรอก เขาก็รู้สึกเขาเป็นคนอยุธยา อาจจะ
เป็นคนไท แต่คำนี้ไม่ได้หมายความจะต้องรักชาติ เคารพสัญลักษณ์ของชาติ สมัยนั้นไม่มี
สิ่งเหล่านี้ถูกถอดรื้อโดยกระแสคิดแบบสมัยใหม่ เพื่อให้คนเข้าใจว่า เอ๊ะ! บางทีเราอาจมี
ความเป็นพลเมืองแบบวัฒนธรรมก็ได้นะ หรือความเป็นพลเมืองแบบภูมิศาสตร์ แบบชาติพันธุ์
ไม่ใช่ชาติอย่างเดียวแบบสมัยนี้ ซึ่งความคิดอย่างนี้ก็ทำให้เกิดความหลากหลายแล้วก็
ยืดหยุ่นในการแก้ปัญหามากขึ้น แล้วก็เกิดความยุ่งยากมากขึ้นในบางด้าน จึงไม่แปลกที่
ความคิดแบบนี้พวกอนุรักษ์นิยมจะปฏิเสธ