หนังเรื่องล่าสุดของจางอี้โหมวบรรจุความถึงพร้อมของวุฒิภาวะไว้อย่างเต็มเปี่ยม จากประสบการณ์การทำงานของผู้กำกับที่เริ่มต้นจากการแสดงทัศนคติเพียงด้านเดียวในงานหนังยุคแรก ๆ อันได้แก่ Red sorghum , Ju dou และ Raise the red lantern ที่นำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของระบบจารีตโบราณ และต้องการจะหลุดพ้นไปจากระบบเดิมๆ เหล่านั้น ตามความปรารถนาส่วนตน
ทัศนคติด้านเดียวในหนังยุคแรกกล่าวถึงการต่อสู้กับระบบโดยจัดผู้ชมให้อยู่ฝั่งเดียวกับผู้กำกับและให้เจ้าตัวระบบเหล่านั้นเป็นเสมือนผู้ร้ายในหนังของเขา (ฟังดูก็คล้าย The Matrix อยู่ไม่น้อย) ซึ่งระบบสมมุติที่ปรากฎอยู่มีตั้งแต่จารีตประเพณี , ระบอบการปกครองและการถูกข่มเหงจากศัตรูสงครามแดนอาทิตย์อุทัย (Red sorghum)
วิธีในการมองชีวิตของจางอี้โหมวที่เปลี่ยนไปถูกสะท้อนออกมาในหนังยุคหลัง ได้แก่ The Road Home , Hero , Happy time , House of flying dagger และ Riding alone for thousands of mile
หนังของจางอี้โหมว ดูมีมิติที่หลากหลายและลึกขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยเมื่อเขาเริ่มเปิดกว้างทาง ทัศนคติ สิ่งที่เคยเป็นเสมือนคู่แค้นคู่อาฆาตได้กลับกลายมาเป็นมิตร จางอี้โหมวเริ่มเข้าอกเข้าใจและ มองกลับด้านผ่านทัศนคติของฝ่ายตรงข้ามก่อนที่จะวินิจฉัยให้คุณค่าว่าสิ่งนั้นๆ ถูกหรือผิดอย่างไร การเปลี่ยนมาหามุมมองที่หลากหลายนี้เองได้ปรากฎอยู่ในหนังเรื่อง Hero ความรู้สึกประนีประนอมของจางอี้โหมวถูกถ่ายทอดผ่านงานชิ้นต่อๆ มาอยู่เสมอ
Curse of the golden flower สานต่อแนวคิดที่เคยเปิดประเด็นไว้ตั้งแต่ Hero (อันที่จริงแนวคิดนี้ได้ถูกซ่อนนัยยะเอาไว้แล้วกลายๆ ตั้งแต่เรื่อง The Road Home ด้วยเทคนิคการแบ่งสี) แนวคิดอันว่าด้วยการสมานฉันท์ที่หลอมรวมความแตกต่างให้เป็นหนึ่งเดียว ความเป็นเอกภาพอันจะนำมาซึ่งความสงบสันติในที่สุด
Hero ถ่ายทอดความงดงามของแนวคิดนี้ได้อย่างวิจิตรบรรจง จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (Ju dou และ Raise the red lantern ก็เคยผ่านเวทีนี้มาแล้วเช่นกัน) Hero เล่าเรื่องราวได้อย่างลึกซึ้งคมคายไล่ไปตั้งแต่ปรัชญาระดับจิตจนถึงสาระการเมืองในระดับชาติ
Hero กล่าวถึงคุณค่าของสันติภาพ หากความแตกต่างถูกรวมเข้ากันเป็นหนึ่งเดียว แต่ Curse of the golden flower กล่าวถึงความล่มสลายย่อยยับ หากความแตกต่างที่ปรากฎอยู่ยังคงต่อสู้ขับเคี่ยวกันต่อไป
Curse of the golden flower พยายามวิจัยหาจุดร่วมของความแตกต่างเหล่านั้นให้ได้ โดยสื่อผ่านดอกเบญจมาศ ดอกไม้ซึ่งในภาษาจีนออกเสียงว่า Ju แปลว่า ร่วมกัน รวมกัน รวมตัวกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของชาวจีนแล้วยังเป็นสัญลักษณ์ประจำสถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่นอีกด้วย (เหรียญ 1 หยวน ที่ใช้กันในจีนก็มีดอกเบญจมาศอยู่บนนั้น)
ดอกเบญจมาศมีรูปลักษณ์ที่ก่อให้เกิดมโนทัศน์บางอย่าง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของหนังเรื่องนี้ นั่นคือ แต่ละกลีบที่แฉกออกไปแตกต่างทิศทางถูกรวมเอาไว้ภายใต้ฐานดอกเพียงหนึ่งเดียว จุดร่วมตรงนี้แหละที่จางอี้โหมวพยายามค้นหาเสมอมาในหนังของเขายุคหลัง ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการรวมหนังสีกับหนังขาวดำไว้ด้วยกัน (The Road Home) หรือหนังที่มีสี monotone เข้าไว้ด้วยกัน (Hero) หรือแม้แต่การผสานความเป็นหนังศิลปะ (หนังอาร์ตดูยาก) ให้เข้ากันได้กับหนังตลาดทุนสูง (เพื่อให้กลายเป็นขวัญใจมหาชนหมู่มากให้ได้)
งานวิจัยชิ้นล่าสุดของจางอี้โหมว มีความทะเยอทะยานอย่างสูงยิ่ง เพราะแตกประเด็นออกไปอย่างกว้างขวางและมีสารทางการเมืองอยู่สูงกว่าหนังเรื่องก่อนๆ (ในแง่จิตวิทยาของปัจเจกบุคคลก็กล่าวถึงอยู่บ้างเหมือนกัน) แต่ที่เด่นชัดจริงๆ ก็ได้แก่ประเด็นว่าด้วยเพื่อนร่วมเชื้อชาติ (จีนแผ่นดินใหญ่ , ฮ่องกง และไต้หวัน สื่อผ่านตัวละครที่เป็นตัวแทนจากแต่ละประเทศ) ที่ควรจะสมานฉันท์เป็นมิตรที่ดีต่อกันได้สักที และประเด็นอันว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งระหองระแหงกันมายาวนาน นับแต่ยุคสงครามโลกจวบจนปัจจุบัน
กระแสของโลกปัจจุบัน เริ่มหันมาให้ความสนใจกับงานหนังที่สื่อถึงปัญหาสังคมมากขึ้น (จนเหมือนมองข้ามหนังแนวมนุษยนิยมไปซะงั้น) เพราะความหลากหลายทางความคิดของผู้คนในโลกที่แตกต่างทางเชื้อชาติ , สัญชาติ และศาสนา ฯลฯ ถือเป็นชนวนของการสู้รบและสงครามอยู่เสมอ ความพยายามในการลดแรงปะทะนี้เคยถูกเสนอมาแล้วในหนัง Hollywood เรื่อง Crash (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 2006) และ ในปี 2007 นี้ก็ยังปรากฏ Babel อีกหนึ่ง หนังที่บอกเล่าประเด็นนี้ผ่านจอเงินได้อย่างขึงขัง จริงจัง และงดงามยิ่ง
Curse of the golden flower ของจางอี้โหมวคือหนึ่งในแนวทางนั้น
ขอบเขตการเล่าเรื่องของ Curse of the golden flower ไม่กว้างเกินไปและไม่แคบเกินไป เพราะมุ่งมุมมองที่มีต่อสถาบันครอบครัว สถาบันซึ่งทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้วเป็นอย่างดีเป็นระบบสัญลักษณ์ (Symbolic) ในหนังเรื่องนี้ ครอบครัวอันถือได้ว่าเป็นการรวมตัวของมนุษย์รูปแบบแรกที่แม้แต่สัตว์ในระดับปฐมภูมิยังรู้จักดี เหตุผลเริ่มต้นในการมารวมตัวกันนี้เพื่อประโยชน์ของความอยู่รอด (แม้จะฟังดูดิบเถื่อน แต่จริง) ผ่านเวลานับร้อยนับพันปีสถาบันนี้กลายเป็นแหล่งรวมของความรักความอบอุ่นที่สมาชิกในครอบครัวมีให้แก่กันและคอยช่วยเหลือกันยามผจญทุกข์ยากในชีวิต
ส่วนคำถามที่ว่าครอบครัวเป็นรูปแบบของสถาบันที่มนุษย์เราสมมุติขึ้นหรือเป็นรูปแบบตามธรรมชาติ ยังคงถกเถียงกันได้และไอ้ความคลุมเคลือนี่แหละเหมาะสมอย่างยิ่งกับหนังเรื่องนี้
ไม่ใช่ครั้งแรกที่จางอี้โหมวเลือกใช้ครอบครัวเป็นตัวเล่าเรื่อง เพราะงานในอดีตของเขาก็เคยหยิบยกความสัมพันธ์ระดับครอบครัวเล็กๆ ขึ้นเทียบเคียงกับความเป็นครอบครัวเดียวกันระดับชาติ (ระบบคอมมูนแบบคอมมิวนิสต์) ในยุคการปกครองของเหมาเจ๋อตุงจากหนังเรื่อง To Live (หนังที่ว่าด้วยความผิดพลาดของการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนและยกย่องคุณค่าความเป็นมนุษยปุถุชนเหนือนโยบายสมมุติของรัฐบาล)
Curse of the golden flower แนะนำฮองเฮา (กงลี่) ในฐานะตัวละครหลักตัวแรก ก่อนที่จะเปิดตัวฮ่องเต้ (โจเหวินฟะ) อีกตัวละครหลักในฉากถัดมา 2 ตัวละครที่จะคะคาน , เสียดสีและกระแทก กระทั้นกันตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจน End Credit ลอยขึ้นมาในตอนจบ
ครอบครัวระดับราชวงศ์นี้ ยังมีโอรสอีก 3 พระองค์ อันเป็นตัวแทนของคนใน 3 ยุคของสังคมจีนไล่มาตั้งแต่สมบูรณาญาสิทธิราช – สังคมนิยม-และยุคโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน
องค์ชายรัชทายาท เหยียนเสียง คือตัวแทนของระบบราชวงศ์ ในอดีตที่อ่อนแอ เหยาะแหยะทางกำลังกายภาพ หากแต่อ้างอำนาจอันสูงสุดจากสวรรค์ว่าเป็น Son of heaven ในการขึ้นครองบัลลังก์เพื่อกุมชะตากรรมของแผ่นดิน ลึกลงไปในจิตใจ เหยียนเสียงต้องการหนีออกไปจากกรอบของระบบราชสันตติวงศ์นี้ เพื่อคว้าไขว่รสชาติของอิสรภาพเยี่ยงปุถุชน โดยเฉพาะอิสรภาพแห่งรัก
องค์ชายรองเหยียนเจี๋ย คือตัวแทนของคนหนุ่มหัวก้าวหน้าแห่งยุคสังคมนิยมในอดีตที่รู้สึกกระด้างกระเดื่องต่อระบบการปกครองและจัดเป็นกลุ่มคนที่มีปฏิกิริยา (Reaction) ต่อต้านนโยบายของผู้นำอย่างชัดเจน คนในกลุ่มนี้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบอันไม่ชอบธรรมในสังคมด้วยการปฏิวัติเพื่อขจัดวิถีทางและวิธีคิดของผู้นำที่มุ่งกดขี่ประชาชน ในหนัง เหยียนเจี๋ยก่อการปฏิวัติเพื่อเสด็จแม่ เพื่อปลดแอกผู้เป็นที่รักให้หลุดพ้นจากกรอบกรงที่จองจำอยู่สู่อิสระเสรีที่ควรมีควรเป็น (ตัวจางอี้โหมวเองก็น่าจะถูกรวมอยู่ในคนกลุ่มนี้ด้วยในฐานะของนักศึกษาหนุ่มที่ถูกกระแสปฏิวัติวัฒนธรรมกระหน่ำซัด จนวันหนึ่งต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบนี้ โดยเฉพาะการต่อสู้ผ่านงานหนังในยุคแรก ซึ่งแทบทุกเรื่องถูกห้ามฉายในประเทศจีน แต่กลับคว้ารางวัลอันเกริกเกียรติจากนานาชาติมามากมาย)
เหยียนเจี๋ยถูกส่งตัวไปอยู่ชายแดนนาน 3 ปี ด้วยบัญชาของฮ่องเต้ เสมือนหนึ่งนโยบายของท่านผู้นำเหมาเจ๋อตุงที่ส่งนักศึกษาในยุคนั้นไปใช้ชีวิตในชนบทอันห่างไกล เพื่อให้เยาวชนในเมืองได้เข้าใจวิถีชีวิตอันยากแค้นแสนลำบากของเพื่อนร่วมชาติ (บ้างเข้มแข็งกลับมาเหมือนเหยียนเจี๋ย บ้างก็ล้มตายไปไม่น้อย)
องค์ชายเล็ก เหยียนเฉิน ตัวแทนของเด็กในยุคสื่อสารสนเทศไร้ขอบเขต (Worldwide) สะท้อนปัญหาสังคมในปัจจุบันที่ถูกครอบครัวเลี้ยงดูด้วยความมั่งคั่งแทนความรักความอบอุ่น เด็กในยุคนี้เกิดมาท่ามกลางความสะดวกสบายไม่ว่าในแง่ของเศรษฐกิจหรือสภาพสังคม ไม่ปรากฏสงครามหรือวิกฤตใดให้ทายท้าเยี่ยงวีรชนในยุคก่อน ไม่มีระบบใดมาขีดกรอบมาข่มเหงให้ต้องรู้สึกอึดอัดคับแค้น แต่ในความที่ไม่มีอะไรมาบีบคั้นนี้เองทำให้เด็กในยุคไร้พรมแดนกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมไร้ขอบเขตไปโดยปริยาย หลายๆการกระทำสะท้อนถึงความพยายามในการเรียกร้องความสนใจที่ดูไร้เดียงสา แต่ในบางบริบทก็ดูน่าสังเวช
ทั้ง 3 พระองค์คือวัตถุดิบซึ่งจะถูกหล่อหลอมโดยเบ้าของ 2 อิทธิพลใหญ่ในครอบครัว นั่นคือตัวฮองเฮาและฮ่องเต้ บุคคล 2 คน ผู้ตั้งต้น 3 พฤติกรรมที่แตกต่าง
ฮองเฮา คือแนวคิดหัวเสรีสุดขั้ว (เทียบกับการปกครองระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยและอาจไกลไปกว่านั้นถึงขั้นเสรีภาพไร้ขอบเขต ไร้แก่นสาร เหมือนพวกฮิปปี้ – พี้ยา ใน USA.) ฮองเฮา คือสัญลักษณ์แทนสตรีเพศ ในหนังของจางอี้โหมวทุกเรื่องที่สตรีเหล่านี้ต้องตกเป็นเหยื่อของระบบอะไรบางอย่าง บ้างสามีเป็นใหญ่ บ้างพ่อแม่บังคับ บ้างก็จารีตโบราณ ที่ห้ามโน่นห้ามนี่จนแทบหายใจไม่ออกด้วยความน่าอึดอัดของระบบเหล่านั้น (เหมือนเหล่าสตรีที่ถูกรัดอกในหนังเรื่องนี้ ที่บีบกันจนนมแทบทะลัก) เหล่าสตรีก็เลยต้องการเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านั้น แต่ผลลัพธ์แทบทุกเรื่องหากคิดจะสู้กับระบบแล้วหากไม่ตายอย่างน่าเวทนาก็เป็นบ้าวิกลจริต
ฮองเฮาตกอยู่ภายใต้กรอบที่องค์ฮ่องเต้เป็นคนบัญญัติ ในฐานะที่เป็นฮ่องเต้นี่เองทำให้หนังเรื่องนี้รวมเอาทุกระบบในอดีตมาผนวกกัน ตั้งแต่สามีเป็นใหญ่ในครอบครัวไปจนถึงระดับของผู้นำชาติที่วางนโยบายออกมาเป็นกฎหมายเสมือนประกาศิตจากสวรรค์ที่ไม่ว่าประชาชนหน้าไหนก็ไม่อาจขัดขืน
หนังวางสัญลักษณ์ให้ดอกเบญจมาศเป็นตัวแทนของระบบเสรีภาพและความงามของสตรี (อาจตีความไกลไปถึงความเป็นประเทศญี่ปุ่นที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย) อีกสัญลักษณ์หนึ่งที่เป็นตัวแทนของฮองเฮา คือนกฟีนิกซ์ (นกหงส์ไฟ) นอกจากจะเป็นเครื่องหมายของฮองเฮาตามราชประเพณีจีนแล้วตามระบบสัญลักษณ์ทั่วไปก็ยังใช้นกสื่อถึงเสรีภาพและอิสรภาพอีกด้วย
ฮ่องเต้ คือตัวแทนของแนวคิดสังคมนิยม รูปแบบการปกครองที่เป็นการใช้อำนาจจากเบื้องบนลงไปบังคับบัญชาผู้อยู่เบื้องล่าง เสมือนมันสมองที่ควบคุมระบบประสาทของแผ่นดินเอาไว้ได้อย่างแม่นยำในทุกๆส่วน (ในระบบทหารของทุกประเทศก็เป็นแบบนี้) ฮ่องเต้สามารถชี้เป็นชี้ตายได้เหมือนกฎหมายและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองทุกสรรพสิ่งในแผ่นดิน ดังนั้นประโยคที่ว่า “เมื่อข้าไม่ให้ ใครก็อย่าคิดแย่ง” ก็สะท้อนสนับสนุนแนวคิดนี้เป็นอย่างดี
ฮ่องเต้คือความเคร่งครัดในระเบียบและวินัย ยึดมั่นในความมั่นคงของเส้นบรรทัดฐาน เส้นซึ่งเที่ยงตรงดุจนาฬิกาพอดีเป๊ะ ดุจตราชูที่ใช้ชั่งวัด ฮ่องเต้เกาะกุมความคิดนี้เป็นสรณะเหนือคุณธรรมอื่นใด ตราบใดที่ทุกอย่างยังเป็นไปตามลิขิตของเขาโลกนี้ก็ดูปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สรุปความสั้น ๆ ว่าฮ่องเต้เป็นมนุษย์ที่พยายามขจัดอารมณ์และความรู้สึกเยี่ยงปุถุชนออกไปให้พ้นตัวและไปหลงยึดมั่นกับระบบระเบียบที่สมมุติขึ้นอย่างเข้มข้นและเคร่งเครียด
ตัวละครทั้ง 5 ใน Curse of the golden flower ถูกบีบอยู่ใน flame เดียวกันด้วยฉากโต๊ะเสวยบนหอเบญจมาศ ภาพมุมบนที่เผยให้เห็นแฉกและทิศทางของตัวละครแต่ละคนกระจายออกไปเป็นรูปวงกลม ที่ถูกรวมอยู่ด้วยกันได้ก็เพราะล้วนแต่เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ( ตามนิติฐานะเท่านั้นไม่ใช่รวมตัวกันเพราะแรงดึงดูดของความรัก )
สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวล้วนแต่มีความต้องการส่วนตัว (Private want) อะไรบางอย่างซึ่งมีเพียงฮ่องเต้เท่านั้นที่ประทานให้ได้ ( Public want)
เหยียนเสียงต้องการไปอยู่ชายแดนกับหญิงคนรักซึ่งคือ เสี่ยวฉาน บุตรีของหมอหลวงที่เขาลักลอบมีความสัมพันธ์ด้วย
เหยียนเฉินต้องการคุมกองทหารทั้งหมดด้วยตนเองในงานเทศกาลฉงหยางปีนี้
เหยียนเจี๋ยต้องการให้ฮองเฮาเป็นอิสระจากการถูกบังคับให้เสวยยาขมมาเป็นเวลานับสิบปี
ในบรรดาโอรสสามพระองค์ คงมีเพียง เหยียนเจี๋ยองค์ชายรองเท่านั้นที่ความประสงค์ของเขาไม่ได้เป็นไปเพื่อตัวเอง หากแต่เพื่ออุดมคติอะไรบางอย่างที่สูงส่ง
ฮองเฮาต้องการปลดแอกตัวเองให้หลุดล่วงจากกรอบแห่งวินัยของฮ่องเต้ ส่วนฮ่องเต้ก็ต้องการอนุรักษ์กรอบวินัยนี้เอาไว้ให้นานเท่านาน เพื่อตอกย้ำสัจจะเดิม ๆ ว่าตนยังควบคุมทุกอย่างในแผ่นดินนี้อยู่
ทุกความต้องการที่กล่าวมาล้วนสวนทางและไม่อาจหาจุดบรรจบ
หนังมีตัวละครเสริมรองเข้ามา นั่นคือครอบครัวขนาดเล็กของหมอหลวง ประกอบด้วย
หมอหลวง ผู้ซึ่งภักดีต่อฮ่องเต้ ถวายทั้งกายใจรับใช้โดยไม่เคยคิดเคลือบแคลงสงสัยอะไรในภัยที่กำลังย่างกรายเข้ามา
ฮูหยินของหมอหลวง สตรีในอุดมคติของจางอี้โหมว ผู้ที่ไม่หวั่นเกรงต่ออำนาจใด ๆ เหิมเกริม ชี้หน้าด่าฮ่องเต้อย่างไม่ครั้นคร้าม และการเจอกับฮ่องเต้ในหนังครั้งแรก ฮูหยินถึงขั้นตบพระพักตร์ของฮ่องเต้อย่างแรงด้วยโทสะที่ถูกสะสมมาเมื่อครั้งอดีต
ฮูหยินเป็นคนตรงและซื่อสัตย์จนอาจถึงขั้นขวานผ่าซากในหลาย ๆ พฤติกรรม อารมณ์ที่เธอรู้สึกไม่อาจถูกกั๊กหรือกดกลั้นไว้ได้ ภายใต้ใบหน้าที่ถูกตีตราว่าครั้งนึงเคยเป็นคนคุก ฮูหยินมีอดีตความสัมพันธ์กับองค์ฮ่องเต้ในฐานะคู่รัก และยังเป็นมารดาขององค์ชายรัชทายาทอีกด้วย หากแต่ความจริงในข้อนี้ ฮูหยินเก็บเอาไว้เป็นความลับไม่เคยแพร่งพรายให้ผู้ใดรับทราบแม้กระทั่งสามีของตน
จากอารมณ์ของอดีตคนคุกนี้เอง ทำให้ฮูหยินปลงใจรับใช้ฮองเฮาเพื่อแก้แค้นฮ่องเต้ ฮองเฮาผู้ซึ่งในขณะนี้ตกอยู่ในสภาพถูกจองจำเยี่ยงคนคุก ไม่ผิดแผกแตกต่างจากอดีตของตัวฮูหยินเอง
เสี่ยวฉานบุตรีคนงามของครอบครัวนี้ ผู้ภักดีต่อความรักที่องค์ชายรัชทายาทมอบให้ ในฐานะเป็นสตรีเพศในหนังของจางอี้โหมว เสี่ยวฉานได้รับผลร้ายในรูปแบบที่ไม่เกินคาดเดา เสี่ยวฉานยังเป็นตัวแทนของเหยื่อในหนังเรื่องนี้ได้ชัดเจนที่สุด จากบทบาทการแสดงที่ดูใสและซื่อเอามากๆ ของเสี่ยวฉาน ( บ่อยครั้งก็ดูไร้สมอง ) สะท้อนถึงเด็กสาวในยุคช่างฝัน ที่มีทัศนคติว่าโลกนี้ยังคงสวยสดงดงาม รอคอยเพื่อจะเป็นเจ้าหญิงในอ้อมแขนของเจ้าชาย เหมือนความฝันที่เลื่อนลอยและลมๆแล้งๆ ของเด็กสาวอ่อนเดียงสาในโลกปัจจุบัน
ครอบครัวของหมอหลวง สื่อถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและอบอุ่นระหว่างกัน ในนาทีที่เป็นวิกฤติการณ์ถึงขั้นเป็นตาย สมาชิกในครอบครัวนี้ ยอมเสียสละแม้ชีวิตตนเพื่อปกป้องคนที่ตนรักและเมื่อสมาชิกอันเป็นที่รักของตนต้องล้มตาย ความบ้าบิ่นไม่คิดชีวิตก็บังเกิด
แตกต่างกับครอบครัวของราชวงศ์ราวฟ้ากับดิน
ครอบครัวของราชวงศ์มีความสัมพันธ์ในลักษณะของการห้ำหั่นประหัตประหาร แย่งชิงฝักฝ่าย แบ่งพรรคแบ่งพวก ทุกคนล้วนแต่ทำเพื่ออัตตาแห่งตน ( ยกเว้นเหยียนเจี๋ย ที่ทำเพื่อเสด็จแม่) ความ ร้าวฉานที่ลุกลามจากเชื้อไฟในครอบครัว โหมกระหน่ำให้ร้อนแรงไปทั่วทั้งราชอาณาจักร ก่อเป็นศึกสงครามอันยิ่งใหญ่และย่อยยับพนาสูร