ด้วยความที่เป็นหลานสาวคนแรก คุณแม่ของเธอจึงขอให้อากงช่วยตั้งชื่อเล่นหลานที่มีชื่อจริงว่า พิชยนันท์ จินดาพร อากงตั้งชื่อมาให้เลือก 2 ชื่อ คือ พริ้งกับ แจ๋ว ตามประสาคนจีนที่ไม่ค่อยคุ้นกับชื่อเล่นภาษาไทย คุณแม่ไม่รู้จะทำยังไง จึงเลือกชื่อ 'พริ้ง' อันกลายมาเป็นทั้งชื่อเล่นและชื่อของแบรนด์รองเท้าและกระเป๋าที่เปิดร้านหรู อยู่ใจกลางกรุงปารีสในภายหลังด็กหญิงพริ้งเติบโตขึ้นมาฉายแววซน ซ่า ตามประสาเด็กรักสวยรักงาม ครอบครัวจึงส่งลูกสาวคนสวยไปเรียนต่อที่อเมริกาตั้งแต่เธออายุ 15 ปี ร่ำเรียนจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาประวัติศาสตร์ศิลป์และการเต้นรำ จากยูซี เบิร์คลีย์ แคลิฟอร์เนีย ก่อนจะกลับมาเมืองไทยในวัย 22 ปี
"พริ้งโชคดีมากที่ได้เรียนทั้ง 2 สาขาไปพร้อมกัน และยังสามารถทำงานพิเศษที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะของมหาวิทยาลัย รวมทั้งรับงานเต้นให้บริษัทเล็กๆ ในเวลาเดียวกันด้วย ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความเชื่อของพริ้งที่ว่า 'อะไรก็เป็นไปได้' ถ้าคุณมีความพยายามมากพอ และมีความฉลาดในการบริหารเวลา"
หลังจากกลับมาทำงานได้ 3 ปีเต็ม โดยทำแทบทุกอย่างที่สามารถทำได้ ทั้งเขียนหนังสือฟรีแลนซ์ให้หนังสือภาษาอังกฤษหลายหัวในเมืองไทย รวมทั้งเป็นแดนเซอร์ควบคู่ไปกับงานประจำแน่นเอี้ยด หญิงสาวก็เริ่มคิดถึงชีวิตในต่างแดนอีกครั้ง
และ ปารีส ก็คือคำตอบ
"ตอนนั้นทำหลายอย่างเหมือนหาตัวเองไม่เจอก็เลยต้องจับปลาหลายมือ แล้วก็รู้สึกอยากเปลี่ยนแปลง เบญจเพสด้วยมั้ง อยากกลับไปเรียนต่อ ตั้งใจว่าจะต่อโทด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ที่เรียนมา แต่พอได้ไปอยู่ปารีส ก็ลองไปฝึกงานที่แกเลอรี่ แล้วรู้สึกเบื่อ เหมือนว่าเราอยากทำอะไรที่สร้างสรรค์กว่านี้ แล้วก็เลยไปเรียนคอร์สออกแบบอยู่คอร์สหนึ่ง คอร์สไม่ค่อยได้เรื่องหรอกนะ เสียดายตังค์ (หัวเราะ) แต่มันก็ได้จุดประกายให้เราเข้าใจขั้นตอนการดีไซน์ขึ้นมานิดนึง"
แล้วอะไรๆ ก็ตามมา เมื่อพริ้งบังเอิญได้ไปช่วยงาน แบงคอก แฟชั่น โรดโชว์ ที่มาจัดที่ฝรั่งเศส ซึ่งช่วยให้เธอได้เข้าใกล้วงการแฟชั่นที่โน่นมากขึ้น ตามมาด้วยการถามไถ่ว่า เธอพอจะหาคนผลิตสินค้าจำพวกกระเป๋า รองเท้า จากเมืองไทยมาให้ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสบ้างได้มั้ย
"เขา (ดีไซเนอร์) เห็นเสื้อผ้าจากเมืองไทยตัดเย็บสวยงาม เขาเลยให้เราลองหาคนทำที่เมืองไทยดู เพราะดีไซเนอร์ที่นู่นจะมีปัญหาเยอะ อย่างสินค้าราคาแพงมาก ถ้าราคาถูกหรือราคากลางๆ งานก็จะไม่สวย เวลาจ้างช่างที่สเปนหรือโปรตุเกสทำก็มีปัญหา ส่งช้าบ้าง คุณภาพไม่ดีบ้าง ก็เลยคิดว่าบ้านเราน่าจะทำได้"
เธอจึงกลับมาเมืองไทย ตะลุยดูโรงงานรองเท้าอยู่หลายแห่ง จนเกือบจะซื้อโรงงานรองเท้าเป็นของตัวเอง แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจลองทำเอง
โดยไปหาช่างจากโรงเรียนฝึกอาชีพแถวบ้าน แล้วเริ่มต้นเช่าพื้นที่ทำโรงงานเล็กๆ โดยมีช่างอยู่ไม่กี่คนในตอนแรก
"เรามั่นใจว่าเราทำได้ เพราะเราคิดว่า เราแค่ต้องรู้ว่า (รองเท้า) ทำยังไง แต่เรารู้ว่าเราต้องการอะไร และเรารู้ว่าเรามีลูกค้าอยู่ในมือ เรามีตลาดในมือเยอะมาก แทนที่เราจะไปง้อคนอื่น เราลองทำเองดีกว่ามั้ย"ประสบการณ์ครั้งแรกของเธอในฐานะเจ้าของโรงงานรองเท้ามือใหม่ที่ลงทุนย้าย กลับมาอยู่เมืองไทยระยะหนึ่ง จึงได้เริ่มต้นขึ้นแบบงูๆ ปลาๆ ลองผิดลองถูก และมีค่าเสียหายตามมาอยู่ไม่น้อย
"ตอนแรกคิดว่าให้เวลาช่าง 1 ปี เพื่อเทรนเขา เราก็เลยออกแบบรองเท้าให้เขาลองทำ เป็นความจำเป็นของเราที่ต้องฝึกช่าง แล้วก็เลยกลายมาเป็นแบรนด์เราเอง เพราเราอยากเป็นโรงงานมีคุณภาพ ก่อนจะรับออร์เดอร์คนอื่น จากนั้นก็ค่อยๆ ซื้อเครื่องมือ ซึ่งเคยโดนหลอกให้ซื้อเครื่องในตอนแรก เสียค่าโง่ไปหลายแสนอยู่"
ส่วนตัวเธอเองก็เริ่มต้นออกแบบรองเท้าจากที่ไม่เคยได้เรียนรู้ในสถาบัน ไหนมาก่อนเหมือนกัน อาศัยเพียงความชอบล้วนๆ บวกกับการขวนขวายหาความรู้เมื่อต้องมาทำธุรกิจของตัวเอง การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างทางจึงตามมา
"ออกแบบไม่เป็นหรอกค่ะ จินตนาการว่าเราอยากได้รองเท้าแบบไหน เพราะเป็นคนชอบรองเท้าอยู่แล้ว แล้วก็เรียนรู้จากช่างมาเรื่อยๆ และคอยถามคนนู้นคนนี้เอา แล้วพริ้งเองก็ชอบรองเท้ามากด้วย อาจจะเพราะเคยเต้นมาก่อน เราก็เลยให้ความสำคัญกับรองเท้า แล้วรองเท้ามันก็น่าสนใจมีทั้งเทคนิก ทั้งดีไซน์ ทั้งหลายๆ อย่าง รู้สึกว่ามันท้า ใส่แล้วต้องเดินได้ รับน้ำหนักได้ เหมาะกับสรีระของคน"
จากไม่รู้ ก็กลายเป็นรู้ และกลายเป็นการเปิดตัวแบรนด์ พริ้ง ครั้งแรกในที่สุด เมื่อเดือนตุลาคม 2007ใช้เวลาอยู่เป็นปี กว่าโรงงานจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง ไม่ต้องใช้เวลานึกนาน เธอก็ยังจำรองเท้าคู่แรกที่ผลิตจากโรงงานของตัวเองได้ดี แม้จะเป็นภาพที่ไม่ค่อยอยากจำเท่าไหร่
"ชิ้นแรกที่ออกมาไม่ได้ดั่งใจ ร้องไห้เลย เหมือนรองเท้านางพยาบาลคู่ใหญ่ๆ"
แต่เมื่อการผลิตลงตัวแล้ว รองเท้าพริ้งที่มีคอนเซปท์สำหรับสาวๆ ที่เซ็กซี่ มั่นใจและชอบความสนุกสนาน ก็ทยอยออกมาจากโรงงานในกรุงเทพคู่แล้วคู่เล่า ก่อนจะส่งตรงไปปารีสที่ซึ่งเธอใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่นั่น ยกเว้นเวลาที่ต้องกลับมาเมืองไทยทำคอลเลคชั่นของตัวเอง และดูแลการผลิตอย่างน้อยๆ ปีละ 3-4 ครั้ง
โดยขั้นตอนการทำงานของเธอในฐานะที่โรงงานและดีไซเนอร์อยู่คนละประเทศนั้น เริ่มจากความพยายามเซ็ตระบบให้ลงตัว โดยมีรูปแบบการทำงานคือ เธอทำหน้าที่ออกแบบ แล้วส่งให้ช่างขึ้นตัวอย่าง ขึ้นเสร็จแล้วก็ส่งมาให้ดูที่ปารีส ระหว่างนั้นก็จะติดต่อสื่อสารโดยใช้เว็บแคมคุยกับช่างทุกวัน แต่ถ้าเป็นคอลเล็คชั่นของตัวเอง เธอก็จะบินกลับไปลองตัวอย่างเองถึงโรงงาน
"ถ้าเป็นแบรนด์ของตัวเองก็จะต้องลองเอง เพราะอยากให้ใส่สบาย โดยใช้ตัวเองเป็นพื้นฐาน จะขึ้นตัวอย่างจากไซส์ของตัวเองทุกครั้ง"
เพราะกว่าจะได้รองเท้าออกมาแต่ละคู่นั้น ทุกขั้นตอนเต็มไปด้วยรายละเอียด ตั้งแต่ทำหุ่นเท้าให้สมบูรณ์แบบ จากนั้นก็ทำพื้นรองเท้า และส้นรองเท้าให้รับกับหุ่น ไม่รวมรายละเอียดมากมายอาทิ ใช้ด้ายอะไร ใช้หนังอะไรขลิบ ซับในด้วยอะไร ฯลฯ กว่าจะออกมาเป็นรองเท้า 1 คู่โดยเฉพาะรองเท้าแฮนด์เมดอย่างพริ้ง
ถึงตอนนี้โรงงานของเธอมีช่างอยู่ 20 คนแล้ว พริ้ง ตั้งเป้าว่าแต่ละปีจะต้องผลิตรองเท้าให้ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 20,000 คู่ หรือวันละ 30-40 คู่ ซึ่งแบรนด์พริ้งมีสัดส่วนการผลิตเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นสินค้าที่เธอออกแบบภายใต้ชื่อแบรนด์ของคนอื่น รวมทั้งแบรนด์ของสามีคือ Gaspard Yurkievich (กาซปาร์ด ยูรคีวิช)
"เรารับทำเฉพาะอะไรที่เราแก้ปัญหาได้ เพราะเราต้องแก้ปัญหาหน้างานตลอดเวลา เรายังไม่เก่งพอที่จะทำตามแบบที่คนอื่นดีไซน์มาเป๊ะๆ ได้ ส่วนที่ยังต้องออกแบบให้แบรนด์คนอื่น เพราะแบรนด์ตัวเองยังไม่เกิด เลยต้องทำให้แบรนด์อื่นไปก่อนค่ะ (ยิ้ม)"
ทุกวันนี้สินค้าของพริ้งยังมีกระเป๋าพ่วงเข้ามาด้วย โดยวางขายที่ร้านของเธอและตาม Selected Shop ต่างๆ ทั้งอเมริกาและยุโรป ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากลูกค้าชาวอังกฤษ อเมริกันและเยอรมัน
พริ้งออกผลงานมาแล้วทั้งหมด 4 คอลเลคชั่น ในช่วงเวลา 2 ปี คอลเลคชั่นละ 20 กว่าแบบ แบบละ 2-3 สี โดยผลิตเพียง 10 คู่ ต่อแบบ ซึ่ง 1 ในเจ้าของรองเท้าเหล่านี้จะต้องเป็นหญิงสาวมีความมั่นใจสูงและมีสไตล์ในแบบ 'พริ้ง'
"รองเท้าพริ้งคนใส่จะต้องเป็นกล้าแต่งตัว มั่นใจ รองเท้าผู้ชาย (ที่วางแนวคิดไว้) ก็อยากให้เป็นอารมณ์เดียวกับสาวพริ้งเหมือนกันคือ กล้าแต่งตัว"
พริ้ววางไลน์สินค้าในอนาคตของเธอที่กำลังจะตามมา โดยขยายฐานเพิ่มเติมจากสินค้า Luxury Affordable ที่คนเอื้อมถึงในราคาหลักหมื่นบาท ไปจนถึงสินค้าแบบไฮ-เอนด์ที่อยู่ในระหว่างเริ่มต้นผลิตให้ลูกค้าบางคน ตลอดจนสินค้าราคาถูกลงมาภายใต้ชื่อแบรนด์ใหม่ โดยเน้นแนวทางที่วางไว้คือ ไม่ตามกระแสใคร
"พยายามจะไม่ดูเทรนด์ เพราะคิดว่าถ้าเราจะเป็นแบรนด์ระดับโลก เราต้องเป็นผู้นำเทรนด์ ไม่ใช่ตามเทรนด์ คือ ตามปกติดู แต่เวลาดีไซน์เราจะไม่ดูเลย"ส่วนความสำเร็จในวันนี้ ที่เริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงแฟชั่นทั่วโลก เธอยังมองเป็นเพียงก้าวเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้น เพราะความฝันจริงๆ ยังต้องใช้เวลาเดินทางต่อไป
"ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเป็น Global Brand เหมือนเป็นไลฟสไตล์แบรนด์ ไม่ใช่แค่รองเท้า กระเป๋า แต่ต่อไปอาจจะมีเสื้อผ้า น้ำหอมของใช้ในชีวิตประจำวัน มันจะได้มีความท้าทายไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง"และด้วยความมุ่งมั่นของ 'พริ้ง' เชื่อว่าคงมีหลายคนที่คอยให้กำลังใจแบรนด์ไทยแท้ฝีมือหญิงสาวมากความสามารถ อย่างเธอคนนี้ ที่เพราะช่วงเบญจเพสอยากเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองที่เรียนมา
เครดิต:
http://women.sanook.com