ริมระเบียงรับลมโชย > ดูหนัง ดูเรา ดูโลก ( Movie and Wisdom )

ชิว วา-ซวอน จิตรกรผู้หยิ่งผยอง

(1/3) > >>

มดเอ๊กซ:




โดย ... ฮักก้า
       
       หมึกดำที่ปาดป้ายลงบนกระดาษขาว ก่อเกิดเป็นภาพเขียนภาพแล้วภาพเล่า มองดูมีชีวิตชีวาก็ด้วย CHIHWASEON (ชิว วา-ซวอน) ได้ใช้ลมหายใจเดียวกันที่หล่อเลี้ยงชีวิตเขา รดรินไปในภาพทุกภาพนั้นด้วย
       
       ภาพเขียนของเขาที่ราวกับมีวิญญาณเต้นอยู่โดยรอบ และแหวกแนวจากรูปแบบเก่าๆ
       
       ทว่า ท่ามกลางสายตาของผู้ยึดติดกับการเขียนภาพในขนบดั้งเดิม เขากลับเป็นแค่เพียงผู้ยากไร้ซึ่งหลงใหลในพรสวรรค์ขี้ประติ๋วของตัวเอง หาใช่จิตรกรผู้เปิดมุมมองใหม่ด้านวิจิตรศิลป์
       
       ปี ค.ศ.1882 ราชวงค์โชซอนถึงกาลสิ้นสุด ชาวเกาหลีลุกขึ้นต่อสู้กับการบุกรุกของต่างชาติและรัฐบาลที่ฉ้อฉล ประเทศชาติตกอยู่ในยุคเสื่อมโทรม แต่กลับเป็นยุคที่รุ่งเรืองของจิตรกรชื่อ ชิว วา-ซวอน
       
       แม้จะยากไร้แต่ วา-ซวอน เป็นจิตรกรผู้หยิ่งผยอง เขาไม่ยอมให้ภาพของเขาไปตกอยู่ในมือของผู้ที่ไม่ได้ชื่นชมมันอย่างแท้จริง
       
       ดังเช่นคราหนึ่งที่เขาได้กล่าวกับชาวญี่ปุ่นผู้ประสงค์จะได้ภาพของเขาไปครอบครองว่า
       
       “ท่านต้องการนำภาพวาดของชาวเกาหลีที่แสนต่ำต้อยกลับไปยังอาณาจักรอันเกรียงไกรของญี่ปุ่นจริงหรือ”

 
   
 
 


       ความเป็นอัจฉริยะในการเขียนภาพของ วา-ซวอน ฉายแววมาตั้งแต่ที่เขายังเป็นเด็กตัวเล็กๆ เร่ร่อน ไร้ญาติมิตร
       
       บ่อยครั้งที่ต้องถูกทำร้ายจากหัวหน้าแก๊งขอทาน เพราะเขียนภาพปลอบใจหญิงสาวคนหนึ่งที่รัก วา-ซวอน เหมือนน้องชายแท้ๆ ซึ่งเธอมักจะถูกคนเหล่านั้นทุบตี ปฏิบัติต่อเธอด้วยความหยาบช้า และถูกข่มขืนจนตั้งท้อง
       
       ในเวลาต่อมามีผู้ใจดีนำ วา-ซวอน ไปชุบเลี้ยงและให้ความรักความอบอุ่น แต่เพราะความไม่เคยชินกับการมีชีวิตอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์อันเข้มงวด เขาจึงหนีออกมาใช้ชีวิตเร่ร่อนเช่นเดิม
       
       และแล้วชีวิตวัยหนุ่มในฐานะลูกจ้างร้านขายอุปกรณ์เขียนภาพ ก็นำพาให้เขาได้พบกับผู้ใจดีอีกครั้ง และได้ฝากฝังให้เขาเป็นลูกศิษย์ของจิตรกรผู้รักใคร่และนับถือท่านหนึ่ง ด้วยความที่เชื่อมั่นว่าเขาจะกลายเป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงอย่างแน่นอน
       
       มันไม่ใช่เพราะความสงสารอีกต่อไปแล้ว แต่เพราะะแววตาที่เป็นสุข พอใจกับอาชีพลูกจ้าง ที่เปิดโอกาสให้ อยู่ไม่ไกลจากสิ่งที่รักจะทำ ตลอดจนภาพๆ หนึ่งที่เขาเขียนแขวนประดับไว้ที่ผนังของร้าน และไร้ผู้แยแสนั้น เป็นสิ่งบอกให้ผู้ใจดีทราบว่า
       
       วา-ซวอน ยังรักในการเขียนภาพไม่เสื่อมคลาย  และรักด้วยหัวใจ
       
       (อ่านต่อวันพฤหัสบดีหน้า)
       
       หมายเหตุ : ชิว วา-ซวอน จิตรกรผู้หยิ่งผยอง จากภาพยนตร์ชีวประวัติชีวิตจิตรกรชาวเกาหลีเรื่อง CHIHWASEON ซึ่งคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก CANNES FILM FESTIVAL 2002
 
http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9510000062293

มดเอ๊กซ:





...จงจับพู่กันไว้ราวกับเจ้าประคองไข่เอาไว้ในมือ จับมันด้วยนิ้วทั้งห้าของเจ้า จากปลายนิ้วสู่พู่กัน จากพู่กันสู่กระดาษ พลังชีวิตของเจ้า จะหลั่งไหลลงไป ขั้นแรกจงวาดโครงร่างซะก่อน ทุกๆการสะบัด คือโครงร่างหลักของภาพ ตามมาด้วยการแรเงา การลงแรเงา ทำให้เกิดระยะห่าง ทำให้วัตถุมีความตื้นลึกต่างกัน...
       
       นอกจากเสียงขลุ่ยอันไพเราะในทุกค่ำคืนแล้ว ชิว วา-ซวอน ยังจดจำถ้อยคำเหล่านี้ของผู้เป็นอาจารย์ได้จนขึ้นใจ เขาเรียนรู้และฝึกฝนตนเองเรื่อยมา แม้ในวันที่เสียงขลุ่ยและถ้อยคำนั้น ไม่มีโอกาสขับขานและกล่าวซ้ำได้อีก
       
       “ท่านบอกว่าจิตรกรทุกคนต้องรู้จักบทกวี แม้จะล้มป่วยหนักท่านก็สอนบทกวีอันเก่าแก่ให้แก่ข้า ตอนนี้ดวงตาข้าเปิดกว้างแล้ว”
       
       วา-ซวอน รำลึกถึงอาจารย์ผู้จากไปต่อผู้ใจดีที่เคยช่วยเหลือเขา ขณะคลี่ผ้าเผยเครื่องดนตรีชิ้นเดียวที่อาจารย์ฝากไว้ให้ติดตัว

 
   
       สิ้นอาจารย์ วา-ซวอนต้องมาอาศัยอยู่ภายใต้ชายคาใหม่ ที่ผู้ใจดีเป็นผู้ฝากฝังให้อีกเช่นเคย แตกต่างกันตรงที่คราวนี้เขาไม่มีผู้ซึ่งเป็นเสมือนเข็มทิศชี้ทางในการเขียนภาพให้อีกต่อไป หนำซ้ำชีวิตในแต่ละวัน หนักไปกับการใช้แรงงานเพื่อแลกกับที่ซุกหัวนอนและข้าวปลาอาหาร
       
       ริจะเป็นศิลปินโดยไม่มองดูตัวเอง เป็นคำที่เขามักถูกค่อนขอดจากผู้ใช้แรงงานด้วยกัน ซ้ำยังถูกตราหน้าว่าขี้เกียจ กินแรงผู้อื่น


       
       แม้จะถูกทำร้ายจนบาดเจ็บแต่ วา-ซวอนก็ปลีกตัวเองจากการงานที่เหน็ดเหนื่อยและความเกลียดชังนั้น หันมาชื่นชมธรรมชาติรอบๆตัวที่สำแดงให้เห็นถึงความงามอยู่ทุกเสี้ยววินาที และบางครั้งความงามนั้นก็สะท้อนออกมาจากหญิงลูกสาวคนเล็กของเจ้าของบ้านผู้ที่เขาต้องตาโดยไม่ทันตั้งตัว นางผู้มองคุณค่าของหมึกเปื้อนกระดาษชื่นชมในผลงานของเขาเป็นยิ่งนัก ขณะที่เขาแอบหลงรักนางอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว
       
       แต่ ไม่นานวา-ซวอนก็ต้องเขียนภาพปลอบประโลมตัวเอง ในวันที่ชีวิตของเธอพบคนที่คู่ควร แววตาที่เคยมุ่งมั่นของเขาจึงคล้ายมีม่านของความเศร้าปกคลุมอยู่บางๆ

 
 
       เหตุจากการแอบลักลอบเข้าไปชมอัลบั้มภาพเขียนของราชวงศ์จากเมืองจีนเพื่อนำมาคัดลอกแบบ โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้วา-ซวอนถูกผู้เป็นเจ้าของบ้านจับได้ในเวลาต่อมา แม้มันจะไม่ใช่ภาพต้องห้ามอะไร ทว่าสิ่งที่เขาทำเข้าข่ายโจร ที่ไม่อาจเลี้ยงไว้ให้เสียข้าวสุก
       
       “ข้าว่าภาพวาดที่ลอกแบบมันมีความร่าเริงแฝงอยู่ด้วย นับว่าเขามีความจำดี มีพรสวรรค์ในการสังเกต”
       
       บางคนแสดงความเห็น เมื่อภาพที่เขาวาดถูกนำมาเทียบเคียงกับภาพต้นฉบับ
       เขาทำให้หลายคนได้ทึ่งถึงความสามารถในการคัดลอกภาพต้นฉบับ ได้เหมือนราวกับเป็นภาพเดียวกัน ทั้งที่เคยเห็นภาพต้นฉบับแค่เพียงครั้งเดียวและที่สำคัญเขาทำให้ภาพลอกแบบนั้นสัมผัสได้ถึงอารมณ์และจิตวิญญาญซ่อนอยู่ในภาพ มากยิ่งกว่าภาพต้นฉบับ
       
       อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดชีวิตของเขาก็ต้องระเห็ดออกมาสู่โลกภายนอก และมันเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตจิตรกรไร้ที่พำนักถาวร ไปพร้อมๆกับการใช้ชีวิตในแบบบุรุษเจ้าสำราญ ผู้มีสุราและนารีเป็นเครื่องชโลมใจ     
 
       (อ่านต่อวันพฤหัสบดีหน้า)
       
       หมายเหตุ : ชิว วา- ซวอน จิตรกรผู้หยิ่งผยอง ที่มาจากภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตจิตรกรชาวเกาหลีเรื่อง CHIHWASEON ซึ่งคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก CANNES FILM FESTIVAL 2002
 
http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9510000065314

มดเอ๊กซ:
 


       ความสามารถในการคัดลอกภาพต้นฉบับภาพเขียนของราชวงศ์จีน ของ ชิว วา- ซวอน ยังเป็นที่เลื่องลือ ไม่ว่าชีวิตของเขาจะซัดเซเพนจรไปที่ไหน ก็มักถูกถามถึงอยู่เสมอ
        

       แต่ไม่ว่าจะได้รับคำสรรเสริญเยินยอมากมายเพียงใด วา-ซวอน ก็ดูจะทำเป็นฝนตกไม่ต้องฟ้าร้องไม่ถึง
       
       พ่อค้าภาพบางรายหวังจะได้รับประโยชน์จากความสามารถของเขา พยายามหาเหตุจูงใจให้เขาคัดลอกภาพเขียนอื่นๆ เพื่อนำไปค้าขาย บ้างก็ยกตัวอย่างศิลปินดังให้ฟัง ว่าพวกเขาก็มิได้ปฏิเสธที่จะทำกัน
       
       วา-ซวอน พลิกชมอัลบั้มภาพเชิงสังวาสที่พ่อค้าภาพเลือกมาเสนอ อย่างไม่ใส่ใจกระไรนัก ก่อนจะตอบไปว่า
       
       “ข้าจะรอจนกว่าข้าดังแล้วถึงจะวาดให้”
       
       ดูเหมือนพ่อค้าภาพจะไม่เข้าใจในสิ่งที่วา-ซวอน พูด ว่าไม่มีใครผู้ใดสามารถบังคับให้ศิลปินทำในสิ่งที่ฝืนใจได้ ซ้ำยังเรียกนางโลมมาสนองกำหนัดชายผู้ไม่เคยผ่านการต้องเนื้อต้องตัวสตรีมาก่อนเช่นเขา เผื่อว่าหลังจากนั้น เขาอาจคิดเปลี่ยนใจ
       
       ทว่ามีแต่ภาพเขียนของราชวงศ์จีนเท่านั้นที่วา-ซวอนพึงใจจะคัดลอก เพื่อหาเงินมาประทังชีวิต จนวันหนึ่งข่าวคราวได้รู้ถึงหูผู้ครอบครองภาพต้นฉบับ เจ้าของรังนอนที่เขาจากมา
       
       ชายผู้นั้นเดินทางมาพบ วา-ซวอน ด้วยตัวเอง นอกจากกวาดสายมองดูภาพลอกแบบ ด้วยความอิดหนาระอาใจ ยังหยิบดูภาพของหญิงสาวนางหนึ่งที่วา-ซวอนตั้งใจเขียนอยู่นานสองนาน ขึ้นมาพินิจพิจารณา โดยมิได้เอะใจว่ามันคือภาพของซงวุนลูกสาวคนเล็กที่ป่วยกระเสาะกระแสะของตัวเอง ซึ่งนางเพิ่งจะออกเรือนไปเมื่อไม่นาน
       
       “เจ้าน่าจะศึกษาฝีมือจนกว่านิ้วของเจ้าจะหลั่งโลหิต จะมามัวเสียเวลาทำอย่างนี้ทำไม”
       
       ชายผู้นั้นกล่าวเตือนสติ เพราะไม่อยากเห็นอนาคตของวา-ซวอนจมปลักอยู่แค่การคัดลอกภาพขาย
       
       ทั้งยังเลิกถือโทษโกรธเคืองเรื่องราวที่วา-ซวอนเคยประพฤติ เพราะหลังจากนั้นชายผู้นั้นก็ได้พา วา-ซวอนไปฝากเรียนที่โรงเรียนศิลปะแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียง
       
       “กรุณารับเขาเป็นศิษย์ด้วย เขาอาจจะเรียนรู้มาไม่นานนัก แต่ความสามารถของเขาไม่ควรจะเสียเปล่า”
       
       วา-ซวอนได้ถูกเคี่ยวกรำอย่างหนักในเรื่องการเขียนภาพ
       
       “ทำไมถึงออกมาหยาบอย่างนี้หล่ะ อย่าใช้วิธีหักพู่กันไปมา แต่จงลากไปมันไป...การวาดไม่ใช่แค่มองเห็นรูปร่าง แต่ให้เข้าถึงหัวใจของมันด้วย...สิ่งที่สำคัญกว่าเส้นสายก็คือสิ่งที่อยู่ระหว่างเส้น มีเพียงจิตใจที่นำทางปลายพู่กัน”
       
       นับวันวา-ซวอนยิ่งลึกซึ้งในสิ่งที่บรรดาอาจารย์ในโรงเรียนศิลปะชี้แนะ และฝีมือของเขาได้พัฒนาจนสามารถเป็นตัวตายตัวแทนอาจารย์ผู้ประสิทธิประสาทวิชาให้
       
       ในงานเลี้ยงฉลองตอบแทนปลายปลายพู่กันของวา-ซวอน หลังจากที่ถูกเลือกให้ทำหน้าที่เขียนภาพประดับพัดให้แก่ขุนนางแทนผู้เป็นอาจารย์ โชคชะตานำพาให้วา-ซวอนพบกับเมฮง หญิงสาวนักดนตรี ผู้มีอีกสถานะเป็นนางโลมมาช่วยชุบชีวิตให้ตื่นฟื้นและหลับฝันด้วยใจอันเป็นสุขอีกครั้ง
       
       “ดอกพลับนี้เบ่งบานเพื่อเจ้าคนเดียวเท่านั้น”
       
       วา-ซวอนจดปลายพู่กันเขียนภาพดอกไม้อันแสนสวยลงบนแพรผ้าสีขาวมอบแด่นางด้วยความรักใคร่
       
       แต่แล้วในปี ค.ศ.1866 ผู้สำเร็จราชการเดวอง สั่งให้ประหารชาวแคทอลิก มิสชันนารี 9 คน และชาวเกาหลี 8,000 คน ถูกตัดหัว
       
       ดอกพลับที่เพิ่งเบ่งบานในใจวา-ซวอนพลันสยายกลีบร่วงหล่น
       
       เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้วา-ซวอนเชื่อว่านางโลมเมฮง ซึ่งเป็นแคทอลิก อาจถูกประหารไปด้วย
       
       “ท่านมักพูดว่านอกจากพระเจ้าแล้วเราต่างเท่าเทียม ท่านต้องการจะกำจัดความไม่เท่าเทียมในเกาหลีให้สิ้นไป แต่ท่านได้ละทิ้งความฝันแล้ว”
       
       อาจารย์ผู้หนึ่งกล่าวถึงผู้สำเร็จราชการให้วา-ซวอนฟัง ขณะเดินตามรถเข็นศพของผู้ใกล้ชิดไกลออกไปจากกองศพที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาด





       
       ชีวิตต่อจากนั้นของวา-ซวอนมุ่งทุ่มเทให้กับการเขียนภาพ จนเมื่อพ่อของซงวุน นางผู้เคยทำให้เขาเฝ้าคิดถึง สั่งผู้รับใช้ให้มาตามตัวเขากลับไปพบ เขาจึงได้ทราบข่าวว่านางกำลังจะจากโลกนี้ไปและหวังอยากให้เขาเขียนภาพให้ชื่นชมเป็นครั้งสุดท้าย
       
       หยาดน้ำตาของซงวุนรินไหลเมื่อเอียงหน้ามองดูภาพนกตัวที่โดดเดี่ยวตัวหนึ่ง ที่วา-ซวอนเขียนให้
       
       ภาพนกและภาพใบหน้าของจิตรกรที่นางรักเลือนหายไปพร้อมร่างกายที่ดับสูญของนาง     

 
       (อ่านต่อวันพฤหัสบดีหน้า)
       
       หมายเหตุ : ชิว วา- ซวอน จิตรกรผู้หยิ่งผยอง ที่มาจากภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตจิตรกรชาวเกาหลีเรื่อง CHIHWASEON ซึ่งคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก CANNES FILM FESTIVAL 2002

มดเอ๊กซ:



จากทุ่งนาสีเขียว สู่แผ่นดินอันแห้งแล้ง จากผืนน้ำ สู่ใบไม้ในราวป่า จากการโผผินของฝูงนก สู่ฤดูหนาวอันแสนยาวนาน
       
       ชิว วา- ซวอน ดื่มด่ำกับความงามของธรรมชาติจนเป็นที่พอใจ ก่อนจะคืนสู่เรือนพำนักของผู้ใจดีอีกครั้ง
       
       ด้วยความกรุณาของผู้ใจดี เขาได้ชื่อใหม่อีกชื่อว่า “อูวอน” พ้องกับจิตรกรดังอย่าง แดนวอน และเฮวอน
       
       “แม้ว่าศิลปะของจีนจะมีความงามก็ตาม แต่เจ้าควรจะได้เห็นผลงานที่แสดงถึงจิตวิญญาณของบรรพบุรุษเราด้วย”
       
       ผู้ใจดีกล่าวระหว่างนำเขาไปยังบ้านของญาติสนิทซึ่งมีผลงานศิลปะของเกาหลีสะสมอยู่มากมายและไม่ง่ายนักที่จะเปิดบ้านให้ใครได้เข้าชม
       
       “จิตรกรไร้การศึกษาทำไมถึงสามารถสร้างภาพเขียนอันยอดเยี่ยม การวาดภาพถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรู้ของเขาจริงๆเลยนะ”
       
       แม้จะได้เปิดตาชมภาพเขียนรูปแบบใหม่ๆ แต่วา- ซวอนก็มิวายถูกชายบางคนในบ้านหลังนั้นกล่าวกระทบกระเทียบ ให้เจ็บช้ำน้ำใจ
       
       ด้วยความคับแค้นใจ เขาถึงกลับดื่มหนัก และพาร่างที่โซซัดโซกลับไปยังบ้าน ที่เช่าไว้อาศัยกับนางโลมและเด็กเร่ร่อนคนหนึ่งที่เขาช่วยชีวิตเอาไว้
       
       “ภาพวาดที่แท้จริงบอกตัวมันเองได้โดยไม่ต้องถ้อยคำ มีแต่พวกชั้นปลายแถวที่ต้องใส่บทกวีลงไปในภาพวาด พยายามหลอกคนอื่นด้วยปรัชญาจอมปลอมของพวกมัน ”
       
       สิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในใจวา-ซวอนพรั่งพรูออกมาราวทำนบแตก เขาไม่เห็นด้วยกับภาพเขียนที่ต้องอาศัยบทกวีมาเป็นสิ่งเชิดชู เพื่อช่วยให้ภาพสมบูรณ์ เพราะเขาเชื่อว่าภาพเขียนสามารถสมบูรณ์ได้ในตัวมันเอง
       
       ความหมกมุ่นคุ่นคิดอยู่แต่กับการเขียนภาพไม่แยแสใดๆกับทั้งทุกข์และสุขของนางโลมที่เขามีชีวิตอยู่ร่วม ทำให้อัดอั้นใจไว้ไม่อยู่ จำต้องระบายออกมาด้วยความน้อยใจ ตามมาด้วยการทะเลาะกันรุนแรง จนเขาต้องหอบหิ้วอุปกรณ์เขียนภาพหนีออกจากบ้านเช่าหลังนั้นไป
       
       แม้วา-ซวอนจะดูไม่เอาไหนกับชีวิตคู่ แต่เพราะความชื่นชมในความสามารถของเขา ที่แม้ในยามเมามายก็สามารถใช้สองมือต่างพู่กัน เขียนภาพได้อย่างน่าอัศจรรย์ เด็กเร่ร่อนจึงเลือกที่จะติดตามวา-ซวอนไปทุกหนทุกแห่ง ด้วยหวังว่าจะได้เรียนรู้เรื่องการเขียนภาพจากเขาบ้าง
       
       ทว่าความลำบากที่ได้พบ ทำให้เด็กเร่ร่อนคนนั้นจำต้องบอกลา เพื่อไปหาเลี้ยงปากท้องด้วยการทำงานในฟาร์มให้กับญาติห่างๆที่ยังหลงเหลืออยู่
       
       วา-ซวอนได้แต่เข้าใจ ด้วยรู้ดีว่าการมีชีวิตอยู่ร่วมจิตรกรผู้ยากไร้เช่นเขา ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับเด็กตัวเล็กๆคนหนึ่ง
       
       เมื่อหาเงินจากการเขียนภาพได้จำนวนหนึ่ง เขาจ่ายเงินเพื่อซื้อหีบราคาแพงไปฝากนางโลมที่บ้านเช่า เพื่อหวังจะขอคืนดีกับนาง ทว่าภาพที่เขาพบคือนางได้พาผู้ชายอื่นมานอนร่วมห้อง ทั้งยังเป็นผู้ชายที่เขาเกลียดชังในพฤติกรรม จึงทำให้เขาตัดสินใจแยกทางกับนางอย่างแท้จริง
       
       แม้นางจะไม่เรียกร้องให้เขาอยู่ต่อ แต่นางก็มีข้อแม้ว่าเขาต้องเขียนภาพที่ดีสุดให้กับนางสักภาพ
       
       ภาพเขียนชิ้นเดียวและชิ้นสุดท้ายที่วา-ซวอนเขียนให้กับนาง มีขนาดใหญ่พอที่จะใช้ประดับฉากกั้นห้อง ซึ่งเมื่อวา-ซวอนจากไปไม่นาน นางก็ได้นำมันไปขายให้กับเศรษฐี
       
       ความงามของภาพ เป็นที่กล่าวถึงกันไปทั่ว จนใครๆก็อยากจะเห็นเป็นบุญตาสักครั้ง

       
                                                                              (อ่านต่อวันพฤหัสบดีหน้า)
       
       หมายเหตุ : ชิว วา- ซวอน จิตรกรผู้หยิ่งผยอง ที่มาจากภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตจิตรกรชาวเกาหลีเรื่อง CHIHWASEON ซึ่งคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก CANNES FILM FESTIVAL 2002

http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9510000071655

มดเอ๊กซ:



ครบรอบวันคล้ายวันเกิดของผู้ว่าการหัวเมือง ซึ่งไกลออกไปจากกรุงโซล บรรดาอาจารย์และลูกศิษย์ที่มีฝีมือของโรงเรียนศิลปะ ต่างถูกเรียกไปรวมตัวเพื่อร่วมหารือเรื่องการเขียนภาพชิ้นพิเศษมอบให้เป็นของขวัญเจ้าของวันเกิด
       
       
       เฮซันผู้เป็นอาจารย์ซึ่งผ่านการเขียนภาพให้กับจักรพรรดิ์มาแล้วหลายคน กลับไม่ได้สร้างความปลื้มใจให้กับท่านผู้ว่าการรายนี้ได้เท่า การที่ได้รู้ว่า ชิว วา- ซวอน จะเป็นหนึ่งในคณะจิตรกรผู้เขียนภาพ
       
       ไม่เพียงท่านผู้ว่าการจะไม่ประสงค์อยากได้ภาพต้นสนและภาพนกกระเรียนตามที่อาจารย์เฮซันเสนอ ท่านผู้ว่าการยังขอเปลี่ยนให้เขียนภาพไก่ฟ้า และมีข้อแม้ด้วยว่าต้องเป็นวา-ซวอนเท่านั้นที่เป็นคนเริ่มต้นเขียนภาพก่อนใครๆ
       
       “ไก่ฟ้า เป็นคำขอเพื่อให้ได้ตำแหน่งสูงสุด จะเป็นรองก็แต่องค์จักรพรรดิ์เท่านั้น ดอกโบตั๋น คือความร่ำรวยและลาภยศ ผลของลูกท้อ หมายถึงอายุที่ยืนยาวและมีความรุ่งเรืองยาวไกล กระดองปู หมายถึงการรู้จักเลือกที่พำนักในชีวิต เพราะปูรู้จักวิธีหลบหลีก มนุษย์เราจึงต้องเรียนรู้ว่า เมื่อไหร่ควรจะล่าถอย”
       
       ท่านผู้ว่าการบรรยายถึงปรัชญาที่ซ่อนอยู่ในภาพให้บุตรชายตัวน้อยฟัง เมื่อภาพเขียนในแบบที่ปรารถนาเสร็จสมบูรณ์ โดยหารู้ไม่ว่าความปรารถนาของเขาได้ทำให้อาจารย์เฮซันรู้สึกเสียหน้า เพราะได้แสดงฝีมือก็แต่การเขียนรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆของภาพเท่านั้น หาใช่ภาพไก่ฟ้าซึ่งเป็นส่วนที่กุมหัวใจสำคัญของภาพไว้ทั้งหมด
       
       ลูกศิษย์คนอื่นๆเกลียดชังวา-ซวอน ที่บังอาจลงมือเขียนภาพก่อนผู้เป็นอาจารย์ พวกเขาให้เหตุผลว่าวา-ซวอน น่าจะเอ่ยปากปฏิเสธความต้องการของท่านผู้ว่าการให้ถึงที่สุด
       
       เมื่อวา-ซวอนแวะไปเยี่ยมอาจารย์เฮซันที่โรงเรียนศิลปะ พวกเขาต่างพากันขับไล่วา-ซวอนด้วยความโกรธแค้นและกล่าวว่าอาจารย์เฮซันได้ลาออกจากโรงเรียนไปแล้ว
       
       วา-ซวอนจึงตามไปที่บ้านของผู้เป็นอาจารย์ เพื่อขอให้ยกโทษให้ เพราะเขามิเคยคิดจะหลบหลู่หรือเทียบตัวเสมอผู้อาวุโสแต่อย่างใด
       
       จากเย็นย่ำของวันไปจนถึงเช้าตรู่ของอีกวัน วา-ซวอน นั่งคลุกเข่าอยู่อย่างนั้นเพื่อพิสูจน์ตัวเอง กระทั่งผู้เป็นอาจารย์ใจอ่อนยอมให้พบ
       
       “เจ้าลุกขึ้นเถอะ เจ้าไม่จำเป็นต้องมาขออภัยจากข้าหรอก เพราะมันคงจะเป็นการพิสูจน์แล้วว่า ความสามารถของเจ้าได้รับการชื่นชมมากกว่าข้า สีฟ้าที่เปล่งแสงออกมาจากคราม ย่อมงดงามกว่าตัวครามเอง แต่ถ้าปราศจากคราม ก็มิบังเกิดสีฟ้าได้เช่นกัน เจ้าต้องเป็นตัวอย่างให้กับลูกหลานของพวกเราในอนาคตข้างหน้า จงทำตัวเช่นคราม”
       
       เมื่อเมฆก้อนที่บดบังมิตรภาพระหว่างอาจารย์และศิษย์สลายไป วา-ซวอนกลับไปยังบ้านของผู้ว่าการ ณ หัวเมืองซึ่งมีชื่อกระฉ่อนในเรื่องพวกผู้ดีเกียรติคร้านและขุนนางฉ้อฉลอีกครั้ง เพื่อไปขอพบกับหญิงสาวนางหนึ่งผู้ซึ่งเขาเคยคิดว่าจะไม่มีโอกาสได้พบหน้าตลอดชีวิต เพราะที่ผ่านมาเขาเฝ้าตามหานางไปทุกหนทุกแห่งแต่ก็ไม่พบ นับแต่เหตุการณ์ที่ผู้สำเร็จราชการเดวอง สั่งให้ประหารชาวแคทอลิค
       
       นางคือเมฮง ดอกพลับในใจเขานั่นเอง
       
       ทว่าการได้พบกันและได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข นางกลับมิอาจติดตามเขากลับไปยังกรุงโซลและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ เพราะนางยังห่วงในความปลอดภัยของตัวเอง และกำลังเตรียมหนีไปซ่อนตัวยังเมืองอื่น ด้วยมีขุนนางบางคนเริ่มระแคะระคายว่านางคือชาวแคทอลิกที่หนีรอดจากการถูกประหารมาได้
       
       “เวลาที่ข้าเห็นผลงานท่าน ข้าแทบจะลืมเรื่องทางโลกทั้งหมด มันก็แปลกดีนะ”
       
       “การปลอบประโลมด้วยภาพ และการยอมรับการปลอบประโลมคืองานจิตรกร”
       
       ทั้งคู่จึงจำต้องพรากจากกัน ทั้งๆที่เยื่อใยยังมีต่อกัน
       
       (อ่านต่อวันพฤหัสบดีหน้า)
       
       หมายเหตุ : ชิว วา- ซวอน จิตรกรผู้หยิ่งผยอง ที่มาจากภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตจิตรกรชาวเกาหลีเรื่อง CHIHWASEON ซึ่งคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก CANNES FILM FESTIVAL 2002


http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9510000074660

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version