ปุจฉา ถามหาความหมาย กราบเมตตา หลวงปู่ ในธรรมที่ว่า
"กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม" มีความหมายว่าอย่างไร?
วิสัชนา "ก่อนอื่นต้องอธิบายความหมายของคำว่า
เห็นให้คุณได้รู้สึกเสียก่อนว่า
คำว่าเห็นในมหาสิตปัฏฐานนี้ท่านหมายถึงเห็นจริง เห็นแจ้งด้วยปัญญา ซึ่งมีสติ/ความระลึกได้ มีสมาธิ/ความตั้งมั่นของปัญญา รวมอยู่ในกระบวนการเห็นนั้นๆ โดยการเห็นที่ถูก ตรงต่อสภาพตามความเป็นจริงของสิ่งที่เห็น โดยมิได้นำอคติทั้ง 4 มาเป็นองค์ประกอบของความเห็น
ส่วนคำว่า กาย ได้แก่องค์ประกอบของสรรพสิ่งประชุมร่วมกัน เช่น กายมนุษย์ กายสัตว์ และสรรพวัตถุทั้งปวงประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลง ไฟ เมื่อเราเข้าใจและเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาบริสุทธิ์ว่ากายนี้ ไม่ได้มีตัวตนอย่างแท้จริงเป็นแต่เพียงสรรพสิ่งที่ประกอบกันขึ้น แล้วก็มีอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แต่ดับไปอยู่ตลอด ที่เราเห็นว่าเป็นตัว เป็นตน เพราะอุปาทาน ความยืดถือ และสันตติ ความสืบต่อ ปกปิดช่องว่างระหว่างการเกิดและดับ เช่นนี้เรียกว่าเห็นกายที่มีอยู่ในกาย เพราะดินก็จักว่าเป็นกายอย่างหนึ่ง น้ำก็เป็นกาย ลมก็เป็นกาย ไฟก็เป็นกายอย่างหนึ่งเหมือนกัน
ส่วนคำว่า เห็นเวทนาในเวทนา ได้แก่การเห็นว่า ความสุข ความทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ หรือว่างเฉย ที่เป็นอารมณ์จัดว่าเป็นเวทนาอย่างหนึ่ง ซึ่งก็มีสภาพเหมือนกับตาย แต่จะเกิดดับได้เร็วกว่ากาย และสุดท้ายเวทนาจริงไม่มีเป็นแต่เพียงอารมณ์ปรุงจิตชนิดหนึ่งๆ จรมาแล้วก็จากไป เห็นอย่างนี้เรียกว่าเห็นเวทนาในเวทนา
เห็นจิต ได้แก่เห็นอาการเป็นไปของจิต เช่นเห็นว่าจิตนี้ประกอบไปด้วยราคะ หรือไม่ประกอบ จิตนี้ประกอบด้วยโทสะหรือจิตนี้มิได้ประกอบด้วยโทสะ จิตนี้ประกอบด้วยโมหะ หรือมิได้ประกอบด้วยโมหะ จิตนี้เป็นกุศลหรืออกุศล เมื่อรู้เห็นอาการเป็นไปของจิตนี้แล้ว จักได้เลือกคบมิตรและกำจัดศัตรูในจิตนี้ได้ อย่างถูกตรงต่อความเป็นจริง รวมไปถึงมองให้เห็นความไม่คงที่ ไม่มีตัวตนของอาการที่เกิดแก่จิตนี้ เป็นแต่เพียงมายาชนิดหนึ่งๆ เท่านั้น เช่นนี้เรียกว่า
เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม หมายถึงการเห็นแจ้งชัดด้วยปัญญาที่ตั้งมั่นอยู่บน
พื้นฐานของสัมมาสติ คือ ระลึกชอบ อันประกอบด้วยความซื่อตรง ถูกต้อง ตามคลองธรรมนั้นๆ ซึ่งมีการเห็นทั้งในส่วนที่สมมุติธรรม อริยสัจธรรม ปรมัติธรรม ซึ่งการเห็นธรรมเหล่านี้มิได้เห็นด้วยสัญญาความจำ แต่เห็นด้วยปัญญารู้แจ้ง ซึ่งธรรมที่เรารู้เห็นนั้นจักทำให้ผู้เห็นนั้นๆ เป็นผู้ปล่อยวางจากตัณหาอุปาทาน และเครื่องร้อยรัดทั้งปวงเช่นนี้เรียกว่าเห็นธรรมในธรรม
บุคคลผู้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิตธรรมในธรรมด้วยสติสมาธิปัญญาย่อมเข้าถึงนิพพิทาญาณ คือ ความเบื่อหน่ายจากความรัก โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย มีจิตผ่อนคลายเบาสบาย เป็นอิสระจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง ย่อมเป็นสุขทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า (หมายถึง สามารถจะบรรลุธรรมชั้นสูงได้)"
ปุจฉา จิตกับใจแยกกันได้หรือ? มีคำถามจะฝากนมัสการเรียนถาม หลวงปู่เกี่ยวกับธรรมะข้อหนึ่งค่ะ
"เชื่อว่า จิตกับใจแยกจากกันได้จริง (ไม่ใช่ตอนตาย หมายถึงตอนที่ยังมีลมหายใจอยู่) ทำได้อย่างไร เช่น เวลาที่กายเจ็บป่วยแล้วใจก็เศร้าหมอง เราจะมีทางระงับได้อย่างไรเพื่อไม่ให้กายเป็นนายของใจ?" ขอบคุณค่ะ
วิสัชนา "จริงๆ แล้วคำถาม ถามค่อนข้างจะสับสน ก่อนที่จะมาพูดถึงเรื่องจิตกับใจแยกกันได้จริงหรือไม่ หลายคนอาจจะสงสัยว่า
อะไรคือจิต และอะไรคือใจ จิตในภาษาธรรมะ วิชาการศาสนา เขาเรียกมันเป็นสภาวะธรรม
จิตนี้เป็นสภาวะธรรม ไม่มีรูปร่างแต่ต้องการที่อยู่
ธรรมชาติของจิต คือ มีความซึมสิ่ง ซึมทราบ มีตัวรู้ เมื่อจิตไม่มีรูปร่างต้องการที่อยู่ มีคุณสมบัติคือรับรู้อารมณ์ รับรู้สภาวะธรรม ที่อยู่ของจิตก็คือกายนี้
ส่วนใจ หรือภาษาบาลี หรือ ภาษาวิชาการศาสนา เขาเรียกว่า ทะ ทะ ยัง หรือหัวใจ มีสันฐานกลมเหมือนดอกบัวตูมใหญ่เล็กเท่าเจ้าของกับกำปั้นของคนๆ นั้น รูปร่างจะใหญ่โตเท่ากับกำปั้นของผู้เป็นเจ้าของใจๆ นั้น ใจนี้มีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกาย เหมือนโรงงานสูบน้ำ เพราะฉะนั้นจิตอิงอาศัยกายและใจนี้
โดยภาษาธรรมะแล้ว
จิตนี้เปรียบดังพลังงาน มีอำนาจเหนือการควบคุมของสมอง สำหรับผู้ไม่ได้รับการผึกปรือ แต่ถ้าผู้ควบคุมแล้วคือฝึกปรือแล้ว ก็สามารถควบคุมจิตนี้ให้ดำรงค์ตั้งมั่นหรือแยกออกจากกายและใจนี้ได้ การควบคุมหรือการฝึกปรืออันนั้น ก็ได้มาจากการเจริญสติและทำให้สติตั้งมั่น เมื่อสติตั้งมั่นอยู่ในจิตนี้แล้ว เราก็จะควบคุมจิตนี้ได้ไม่ให้รับความรู้สึกจากเวทนาที่ปรากฏทางใจ หรือเวทนาที่ปรากฏทางกาย
คำถามที่ถามว่า ทำอย่างไรที่จะแยกจิตออกจากใจ ก็คือ ต้องฝึก ต้องมีสติ ฝึกให้จิตนี้ปรากฏสติทุกดวงที่เกิดดับ จนเป็นความชำนาญสามารถแยกจิตออกจากใจได้ เมื่อจิตออกจากใจก็คือเหมือนกับจิตที่ออกจากกาย กายตรงไหนที่เป็นทุกข์เดือดร้อน เช่น ปวดขา ปวดมือ ปวดหัว ปวดท้อง อาการปวดเป็นเวทนา เมื่อจิตนี้สามารถแยกออกจากใจได้ก็คือไม่รับรู้อารมณ์ที่ปรากฏขึ้น เวทนานั้นก็จะไม่มีอำนาจ คือจะไม่มีอำนาจครอบคลุมกายนี้ มีเรื่องอยากจะบอกคุณอีกนิดหนึ่งว่า โดยธรรมชาติของกาย มีสมองเป็นผู้ควบคุมการทำงานของกาย มีใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงสมอง มีจิตเป็นผู้ควบคุมการทำงานของสมอง ใจ กาย จิตจะทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ ในและนอกกายนี้ เมื่อฝึกจิตดีแล้ว กายนี้ก็ย่อมไม่มีอิทธิพลต่อจิต จบ"
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9480000025843