ทฤษฏีการตีความของท่านจันทรกีรติ : กรณีศึกษาจากคัมภีร์มัธยมกาวตาร
พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (พรรณา)
ป.ธ. ๗, พธ.บ. (ภาษาอังกฤษ), ศศ.ม. (พุทธศาสนศึกษา)
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๑. ความนำ
ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระว่างนิกายมหายานสองนิกายหลักในอินเดีย คือ นิกายมาธยมิก กับ นิกายโยคาจาร คณาจารย์ของสองนิกายนี้คงได้แสดงเหตุผลโต้แย้งแนวคิดของฝ่ายตรงข้ามเอาไว้มากมาย แต่เอกสารทางประวัติศาสตร์เท่าที่พอมีเหลือให้สืบค้นได้ ดูเหมือนจะมีเพียงคัมภีร์ที่แต่งโดยท่าน จันทรกีรติ๑ แห่งสำนักมาธยมิก ได้แก่ คัมภีร์ มัธยมกาวตาร และคัมภีร์ มัธยมกาวตารภาษยะ เนื้อหาหลักของคัมภีร์ทั้งสองนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับลำดับขั้นการบรรลุธรรมของพระโพธิสัตว์ที่เรียกว่า ทศภูมิ (ภูมิ ๑๐) ในภูมิขั้นที่ ๖ ชื่อว่า อภิมุขี มีเนื้อหาบางส่วนกล่าวถึงคำว่า “จิตตมาตร” ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในทศภูมิกสูตร และลังกาวตารสูตร เป็นต้น ซึ่งนิกายโยคาจารตีความคำนี้ว่าเป็นแนวคิดที่บอกว่าจิตเท่านั้นมีอยู่ (Mind-Only) สรรพสิ่งในจักรวาลที่เรารับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ เป็นเพียงมายาภาพ (illusion) ที่ไม่มีอยู่จริง หรือถ้ามีอยู่ก็เป็นเพียงการปรากฏตัวของจิตเท่านั้น (manifestation of Mind) ท่านจันทรกีรติได้ชี้ให้เห็นว่านิกายโยคาจารตีความคำว่า “จิตตมาตร” ผิดผลาดอย่างไร พร้อมกันนั้นก็ได้เสนอทฤษฏีการตีความในรูปแบบของท่านเองซึ่งมีรากฐานอยู่บนปรัชญาสำนักมาธยมิกที่ท่านสังกัดอยู่
ก่อนที่จะทำการโต้แย้ง ท่านจันทรกีรติเริ่มต้นด้วยการนำเสนอภาพรวมแนวคิดของนิกายโยคาจารเกี่ยวกับการตีความคำว่า จิตตมาตร ดังนี้
(โยคาจารยืนยันว่า) สิ่งที่ถูกรับรู้ก็ไม่มี ทั้งผู้รับรู้ก็มิอาจพบได้ในที่ไหน ๆ ดังนั้น พระโพธิสัตว์จึงเข้าใจได้ว่า โลก ๓๒ เป็นเพียงจิตเท่านั้น ก็เพราะอาศัยปรัชญา พระโพธิสัตว์นั้นจึงรู้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ความจริงเป็นเพียงจิตเท่านั้น๓
คลื่นปรากฏขึ้นในมหาสมุทรแล้วถูกซัดขึ้นหาฝั่ง ฉันใด จิตตมาตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยอำนาจของตน จึงปรากฏออกมาจากพีชะทั้งปวง ซึ่งกล่าวถึงในฐานะอาลยวิญญาณ๔
นิกายโยคาจารมองว่า โลกที่เรารับรู้ภายนอกจิต (คราหยะ) และผู้รับรู้(คราหิกะ) ไม่ใช่ความเป็นคู่(ทวิภาวะ)ที่มีอยู่จริง ๆ จิตของเราต่างหากที่คิดปรุงแต่งความเป็นคู่นี้ขึ้นมาด้วยความหลงผิด อุปมาเหมือนการเกิดคลื่นในมหาสมุทร คลื่นเปรียบเหมือนโลกภายนอกที่จิตเราคิดปรุงแต่งขึ้น น้ำเปรียบเหมือนพีชะต่าง ๆ เก็บสะสมไว้ในอาลยวิญญาณ อาลยวิญญาณเปรียบเหมือนอาณาบริเวณพื้นที่ในมหาสมุทรอันเป็นที่บรรจุน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำสายต่าง ๆ พลังลมทำให้เกิดคลื่นเปรียบเหมือนพลังอำนาจภายในจิต (ศักติ) ที่สามารถจะปรุงแต่งสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาจากตัวมันเองได้ ระหว่างตัวคลื่นกับน้ำที่ก่อตัวเป็นคลื่นนั้น หาใช่ความจริงสองอย่างที่มีอยู่คู่กันไม่ หากแต่คือมายาภาพที่ถูกพลังลมสร้างขึ้นจากน้ำที่มีอยู่ในมหาสมุทรนั้นเอง ดังนั้น ความเป็นคู่ระหว่างผู้รับรู้ กับ โลกภายนอกที่ถูกรับรู้ ก็คือมายาภาพที่ถูกจิตคิดปรุงแต่งขึ้นจากวาสนาพีชะที่มีอยู่ในอาลยวิญญาณนั่นเอง ความจริงแท้มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ จิต หรือ วิญญาณ๕ นี้คือความหมายของคำว่า “จิตตมาตร” ในทัศนะของนิกายโยคาจารที่ท่านจันทรกีรติยกขึ้นมาเป็นฐานในการโต้แย้ง
บันทึก
๑. ท่านจันทรกีรติ มีชีวิตอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เป็นปราชญ์คนสำคัญของนิกายมาธยมิกสำนัก ปราสังคิกะ มีผลงานด้านการแต่งคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงหลายเรื่อง เช่น คัมภีร์ประสันนปทา ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นเพื่ออธิบายความในคัมภีร์มูลมัธยมกการิกา ของท่านนาคารชุน คัมภีร์มัธยมกาวตาร ซึ่งเป็นคัมภีร์แสดงภูมิธรรมของพระโพธิสัตว์ มีทั้งหมด ๑๐ ชั้นเรียกว่า ทศภูมิ และคัมภีร์มัธยมกาวตารภาษยะ ซึ่งเป็นคัมภีร์อรรถาธิบายเนื้อหาคัมภีร์มัธยมกาวตารอีกชั้นหนึ่ง
๒. คำว่า “โลก ๓” ในที่นี้ แปลจากสันสกฤตว่า “ไตรธาตุ” หมายถึง โลกหรือภูมิของหมู่สัตว์ผู้ยังท่องเที่ยวอยู่ในวังวนแห่งสังสารวัฏ สังคมไทยรู้จักในนามของ “ไตรภูมิ” ประกอบด้วย (๑) กามธาตุ หรือกามภูมิ (๒) รูปธาตุ หรือรูปภูมิ และ (๓) อรูปธาตุ หรืออรูปภูมิ
๓. มัธยมกาวตาร ๖.๔๕ อ้างใน C.W. Huntington, JR., The Emptiness of Emptiness (Delhi : Motilal Banarsidass, 1992), p. 162.
๔. มัธยมกาวตาร ๖.๔๖. lbid., p. 163.
๕. ข้อความนี้สรุปจากคำอธิบายของท่านจันทรกีรติในคัมภีร์มัธยมกาวตารภาษยะ ดูเชิงอรรถที่ ๖๘ ใน lbid., p. 238.
๒. การโต้แย้งและการตีความแบบใหม่ ต่อไปนี้ผู้เขียนจะนำเสนอว่า เมื่อท่านจันทรกีรติไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการตีความของนิกายโยคาจาร ท่านมีเหตุผลอะไรสนับสนุนข้อโต้แย้ง (Arguments) ของท่าน และอะไรคือเหตุผลสนับสนุน (Justifications) รูปแบบการตีความตามแนวทางของท่าน
๒.๑ เหตุผลเกี่ยวกับมายากับความจริง : นิกายโยคาจารถือว่า โลกภายนอกที่เราคิดสร้างขึ้นจากความหลงผิดเป็นเพียงมายาภาพหรือภาพลวง (illusion) ที่ไม่มีอยู่จริง มายาภาพเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับการเห็นเชือกแล้วคิดว่าเป็นงู มายากลที่นักเล่นกลสร้างขึ้น ความฝันในเวลานอนหลับ และการเห็นดวงจันทร์สองดวงของคนเป็นโรคตา๖ แต่มายาภาพเหล่าจะเกิดขึ้นลอย ๆ โดยไม่มีความจริงเป็นฐานรองรับไม่ได้ ดังข้อความต่อไปนี้
ปรตันตรรูป๗ ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับบัญญัติ ดังนี้ (๑) ปรากฏขึ้นความไม่มีของวัตถุภายนอก (๒) เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ๆ (๓) แก่นแท้ของมัน(สวรูป) ย่อมไม่มีในขอบเขตของสิ่งที่คิดปรุงแต่งขึ้นนั้น (ปรปัญจะ)๘
คำว่า ปรตันตรรูป ในข้อความนี้ หมายถึง ความจริงที่เป็นฐานรองรับมายาภาพที่เราคิดสร้างขึ้นอย่างผิด ๆ อุปมาเหมือนคนเห็นเชือกในที่มืดสลัว ๆ แล้วคิดว่าเป็นงู ภาพงูที่เราคิดขึ้นถือว่าเป็นมายาหรือศูนย์ได้ แต่เชือกซึ่งเป็นฐานรองรับการเกิดความคิดว่าเป็นงูจะต้องเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง อีกอย่างหนึ่ง อุปมาเหมือนความฝันที่เกิดขึ้นในเวลาเรานอนหลับ ความฝันถือว่าเป็นมายาภาพได้ แต่ความฝันจะเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งที่มีอยู่จริงเป็นฐานรองรับไม่ได้ วิธีการใช้เหตุผลของนิกายโยคาจารอาจทอนลงเป็นประโยคตรรกวิทยา (Syllogism) แบบอินเดีย ได้ดังนี้
ที่ใดมีความฝัน ที่นั่นมีสิ่งที่เป็นบ่อเกิดของความฝัน (จิต)
เมือคืนนายแดงนอนหลับแล้วฝัน
ดังนั้น นายแดง มีสิ่งที่เป็นบ่อเกิดความฝัน (จิต)
การอ้างเหตุผลแบบนี้เป็นวิธีการหาความรู้โดยอนุมาน (Inference) จากสิ่งที่เรารู้หรือประจักษ์ได้ไปหาสิ่งที่เราไม่รู้หรือประจักษ์ไม่ได้ เช่น เห็นควันปรากฏบนภูเขา ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสบอกเราว่าเมื่อมีไฟมักจะมีควันเกิดขึ้นควบคู่กันเสมอ ดังนั้น เราจึงอนุมานได้ว่าที่ภูเขาลูกนั้นจะต้องมีไฟอยู่อย่างแน่นอน นิกายโยคาจารมองว่า ความฝันแม้จะเกิดขึ้นในเวลาที่เรานอนหลับก็จริง แต่พอตื่นขึ้นมาเราก็สามารถรับรู้หรือประจักษ์มันได้โดยผ่านสัญญาหรือความจำ ด้วยความฝันนี้เองทำให้เราสามารถอนุมานไปหาความมีอยู่ของจิตในฐานะเป็นบ่อเกิดของมันได้
การประเมินความน่าเชื่อถือของการให้เหตุผลในลักษณะนี้ จะอาศัยเพียงการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ในเชิงเหตุผลระหว่างข้ออ้าง (Premises) กับข้อสรุป (Conclusion) อย่างเดียวไม่ได้ สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ ทั้งข้ออ้างและข้อสรุปขะต้องมีความถูกต้องในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย นี้คือเหตุผลที่ท่านจันทรกีรติยกขึ้นมาโต้แย้งวิธีการใช้ตรรกะของนิกายโยคาจาร ดังข้อความต่อไปนี้
เมื่อวัตถุภายนอกไม่มีเสียแล้ว ยังจะมีสิ่งที่เรียกว่าจิตอยู่อีกหรือ ถ้าพวกท่านต้องการจะใช้อุปมาเรื่องความฝัน ก็ขอให้ได้โปรดทราบเถิดว่า ตามทรรศนะของพวกเรา แม้แต่ในความฝันก็ไม่มีจิต เพราะฉะนั้น อุปมาของพวกท่านจึงไม่อาจจะยอมรับได้๙
ท่านจันทรกีรติพยามโต้แย้งบนฐานแนวคิดเรื่อง ศูนยตา ของนิกายมาธยมิกที่ว่า สรรพสิ่งเมื่อว่าตามความเป็นจริงระดับปรมัตถ์แล้วถือว่าศูนย์ทั้งหมด (สรฺวํ ศูนฺยมฺ) ศูนย์ทั้งจิตและวัตถุภายนอกจิต เมื่อสรรพสิ่งศูนย์เสียแล้ว การอ้างความมีอยู่ของจิตโดยอนุมานจากความฝันของนิกายโยคาจารจึงถือว่าไร้สาระ เพราะเป็นวิธีการอ้างเหตุผลที่สร้างขึ้นบนสมมุติฐาน (Assumption) ที่ไม่ถูกต้อง อีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่อง ความจำ(สัญญา) ท่านจันทรกีรติแย้งว่า จริงอยู่เราสามารถระลึกรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตได้โดยผ่านความจำ แต่ความจำนั้นยังมีเหตุผลไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความมีอยู่ของสิ่งที่เราจำได้ ดังข้อความต่อไปนี้
ถ้าความมีอยู่ของจิตพิสูจน์ได้โดยอ้างความจำเกี่ยวกับความฝันในเวลาตื่น ความมีอยู่ของวัตถุภายนอกก็สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน อุปมาเหมือนท่านจำได้ว่า “ฉันเห็น” ความจำได้นี้ก็ต้องพิสูจน์ความมีอยู่ของสิ่งที่เห็นนั้นได้เหมือนกัน๑๐
ท่านจันทรกีรติวิจารณ์ว่า ถ้านิกายโยคาจารยอมรับว่าความจำเกี่ยวกับความฝันสามารถอนุมานไปหาความมีอยู่ของจิตได้ ก็ต้องยอมรับด้วยว่า ความจำเกี่ยวกับโลกภายนอกที่เรารับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ก็สามารถอนุมานไปหาความมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้นได้เหมือนกัน เพราะขึ้นชื่อว่าความจำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความจำแบบใด ก็น่าจะมีคุณค่าและความหมายเท่า ๆ กัน ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องยอมรับความจำแบบหนึ่งแค่ปฏิเสธความจำอีกแบบหนึ่งอย่างไรก็ตาม นิกายโยคาจารได้โต้แย้งกลับว่า ความจำเกี่ยวกับโลกภายนอกอย่างที่ท่านจันทรกีรติพยามยกมาอ้างนั้นไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะความจริงที่มีอย่างเดียวเท่านั้นคือจิต จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงความจำสิ่งอื่น ๆ ท่านจันทรกีรติแย้งกลับเช่นกันว่า ถ้าจิตมีอยู่เพียงอย่างเดียว การรับรู้ (perception) ของจิตจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะไม่มีวัตถุหรืออารมณ์ (Objects) ที่จะรับรู้๑๑
บันทึก
๖. ข้ออุปมาเหล่านี้นิกายโยคาจารมันจะยกขึ้นมาเปรียบเทียบบ่อย ๆ เพื่อแสดงถึงความเป็นมายาหรือความไม่มีอยู่จริงของโลกภายนอก
๗. คำว่า ปรตันตรรูป บางครั้งนิกายโยคาจารเรียกว่า ปรตันตรภาวะ บ้าง ปรตันตรสวภาวะ บ้าง ปรตันตรลักษณะ บ้าง หมายถึงสิ่งที่มีอยู่จริงอันเป็นฐานรองรับมายาภาพที่เราคิดสร้างขึ้น เช่น การเห็นเชือกในที่มืดสลัวแล้วคิดว่าเป็นงู มายาภาพเกี่ยวกับงูที่เราคิดขึ้นจะต้องมีความจริงเป็นฐานรองรับคือเชือก
๘. มัธยมกาวตาร ๖.๔๗. lbid., p. 163.
๙. มัธยมกาวตาร ๖.๔๘. lbid., p. 163.
๑๐. มัธยมกาวตาร ๖.๔๙. lbid., p. 163.
๑๑. มัธยมกาวตาร ๖.๕๙. lbid., p. 164. ดูเพิ่มเติมใน Ashok Kumar Chatterjee, The Yogacara ldealism, (Delhi : Motilal Banarsidass, 1992), p. 84.