ผู้เขียน หัวข้อ: เต๋าแห่งฟิสิกส์ : บทที่ 10 เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง  (อ่าน 2302 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ภาคที่ 3 ความสอดคล้อง


บทที่ 10 เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง


ถึงแม้ว่าศาสนาต่าง ๆ ดังที่ได้อธิบายในบทที่แล้ว ๆ มา จะแตกต่างกันในรายละเอียดหลายประการ อย่างไรก็ตาม โดยแก่นแท้แล้วโลกทัศน์ของแต่ละศาสนาเป็นสิ่งเดียวกัน นั่นคือ ต่างตั้งอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์ในทางจิตใจ ซึ่งเป็นประสบการณ์โดยตรงต่อสัจจะ และไม่เป็นฝักฝ่ายของความคิดนึก โดยที่ประสบการณ์เช่นนี้ มีลักษณะพื้นฐานหลายประการซึ่งไม่ขึ้นต่อภูมิหลังทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของบุคคลนั้น ๆ โลกทัศน์ดังกล่าวยังปรากฏสอดคล้องกับลักษณะพื้นฐานของโลกทัศน์ซึ่งเกิดจากฟิสิกส์สมัยใหม่ด้วย ลักษณะที่สำคัญที่สุดหรือแก่นแท้ของโลกทัศน์แบบตะวันออกก็คือ การตระหนักรู้ในความเป็นเอกภาพและความสัมพันธ์เนื่องกันของสรรพสิ่งและเหตุการณ์ทั้งมวล คือประสบการณ์แห่งการหยั่งรู้ว่าปรากฏการณ์ทั้งหลายในโลกล้วนเป็นปรากฏแสดงของความเป็นหนึ่งเดียว สิ่งทั้งหลายล้วนเป็นส่วนประกอบของเอกภาพ ซึ่งต้องอิงอาศัยกันอย่างไม่อาจแยกจากกันได้ สรรพสิ่งเป็นการปรากฏแสดงในแง่มุมต่าง ๆ ของสัจจะสูงสุดอันเดียวกัน ในศาสนาตะวันออกได้กล่าวอยู่เสมอถึงสัจจะสูงสุดอันไม่อาจแบ่งแยก ซึ่งปรากฏแสดงอยู่ในสรรพสิ่ง และซึ่งสิ่งทั้งหลาย ล้วนเป็นส่วนประกอบของมัน ฮินดูเรียกว่า พรหมัน พุทธศาสนาเรียกว่า ธรรมกาย และลัทธิเต๋าเรียกว่า เต๋า เนื่องจากสัจจะนี้อยู่เหนือแนวคิดและการแบ่งแยกทั้งมวล ชาวพุทธจึงเรียกสัจจะนี้อีกชื่อหนึ่งว่า ตถตา หรือความเป็นเช่นนั้นเอง ความเป็นเช่นนั้นเองแห่งวิญญาณ ก็คือความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่งทั้งมวล เป็นมหาธาตุซึ่งรวมทุกสิ่งไว้ ในชีวิตสามัญเรามิได้ตระหนักถึงเอกภาพแห่งสรรพสิ่งที่ว่านี้ แต่กลับแบ่งแยกโลกนี้ออกเป็นวัตถุและเหตุการณ์ต่าง ๆ กัน การแบ่งแยกดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และและจำเป็นสำหรับการเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมในประจำวัน ทว่ามันไม่ได้เป็นลักษณะพื้นฐานของสัจจะ เป็นเพียงการย่อสรุปของความคิดแยกแยะแจกแจง การเชื่อและการยึดในความคิดที่เห็นเหตุการณ์และสิ่งต่าง ๆ แยกจากกันว่าเป็นความจริงของธรรมชาตินั้นเป็นเพียงภาพลวง ชาวฮินดูและชาวพุทธถือว่า ภาพลวงดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก อวิชชา ความไม่รู้ เกิดกับจิตใจซึ่งอยู่ใต้อำนาจสะกดของ มายา ศาสนาตะวันออกจึงมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การปรับสภาพจิตใจเสียใหม่ โดยการควบคุมจิตใจให้รวมอยู่ที่จุดเดียวและสงบจากความรบกวนต่าง ๆ โดยผ่านการทำสมาธิภาวนา คำว่า “สมาธิ”ในภาษาสันสกฤตมีความหมายตามตัวอักษรว่า “สมดุลทางใจ” ซึ่งแสดงถึงความสมดุลและความสงบของจิตใจ อันหยั่งรู้ถึงความเป็นเอกภาพของจักรวาล เมื่อเข้าสู่สมาธิที่บริสุทธิ์ (เราย่อมได้ ) ญาณซึ่งชำแรกสู่ความเป็นหนึ่งเดียวอันสมบูรณ์แห่งจักรวาล

10.1 การตีความของโคเปนฮาเกน

ความเป็นหนึ่งเดียวแห่งจักรวาลมิใช่เป็นเพียงแกนกลางของประสบการณ์ทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นการค้นพบที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งของวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่เช่นกัน ปรากฏชัดเจนในการศึกษาในระดับอะตอม และยิ่งแสดงตัวมันเองชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเราศึกษาลึกลงไปในวัตถุจนถึงระดับอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม ความเป็นเอกภาพของสรรพสิ่งจะเป็นหัวข้อเปรียบเทียบระหว่างวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่และปรัชญาตะวันออกตลอดการพิจาณาของเรา เมื่อเรายิ่งศึกษาแบบจำลองต่าง ๆ ของวิชาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมมันจะแสดงให้เห็นแล้วเล่าในแง่มุมที่ต่าง ๆ กันว่า องค์ประกอบของสสารวัตถุและปรากฏการณ์พื้นฐานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับมัน ล้วนเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์และอิงอาศัยกัน เราไม่อาจจะเข้าใจมันแต่ละสิ่งได้อย่างโดด ๆ แต่จะเข้าใจมันได้ เมื่อมันเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด ในบทนี้ข้าพเจ้าว่า ความคิดเรื่องความเกาะเกี่ยวสัมพันธ์กัน โดยพื้นฐานของธรรมชาติ เกิดขึ้นในทฤษฎีควอนตัม อันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของอะตอมได้อย่างไร โดยจะเสนอการวิเคราะห์อย่างละเอียดต่อกระบวนการในการศึกษาสังเกต คำอธิบายต่อไปนี้ ยืนพื้นอยู่บนการตีความทฤษฎีควอนตัม ตามแบบ โคเปนฮาเกน ( Copenhagen Interpretation ) เสนอโดยบอหร์ และไฮเซนเบิร์ก ในปลายทศวรรษ 2463 ซึ่งยังคงเป็นแบบที่ยอมรับกันมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน และข้าพเจ้าจะใช้วิธีในการนำเสนอของเฮนดรี แสตปแห่งมหาวิทยาลัยคาลิฟอเนีย ซึ่งมุ่งสนใจเฉพาะบางแง่มุมของทฤษฎีและสภาพการทดลอง ที่มักจะเกี่ยวข้องกับวิชาฟิสิกส์ของอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมอยู่เสมอ การนำแสดงของแสตปแสดงให้เห็นถึงความเกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันของธรรมชาติอย่างไร การตีความแบบโคเปนฮาเกนเริ่มต้นด้วยการแบ่งโลกทางฟิสิกส์ออกเป็นระบบที่ถูกสังเกตุ ( วัตถุ ) และระบบที่ทำหน้าที่สังเกตระบบที่ถูกสังเกตอาจจะเป็นอะตอม อนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม กระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกับอะตอม หรืออื่น ๆ ระบบที่ทำหน้าที่สังเกตประกอบขึ้นด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ในการทดลอง และอาจจะรวมถึงผู้สังเกตการณ์หนึ่งคนหรือมากกว่า ความยุ่งยากเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าทั้งสองระบบได้รับการปฏิบัติต่างกัน ระบบที่ทำหน้าสังเกตถูกอธิบายตามแบบฟิสิกส์ดั้งเดิม แต่แบบการอธิบายนี้จะใช้ไม่ได้กับ “วัตถุ” ที่ถูกสังเกต เรารู้ดีว่าความคิดแบบดั้งเดิมไม่พอเพียงต่อการอธิบายสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับอะตอม ถึงอย่างนั้นเราก็จำเป็นต้องใช้มันในการอธิบายการทดลองและนำเสนอผการทดลอง เราไม่มีทางที่จะหลีกหนีความขัดแย้งนี้ไปได้ ภาษาทางวิชาการของฟิสิกส์ดั้งเดิมเป็นเพียงภาษาประจำวันที่ละเอียดละออยิ่งขึ้น และเป็นภาษาชนิดเดียวที่เรามีเพื่อใช้ในการถ่ายทอดผลการทดลอง

10.2 เตรียมการเพื่อตรวจวัด

ในทฤษฎีควอนตัม ระบบที่ถูกสังเกตได้รับการอธิบายในรูปของค่าความอาจเป็นไปได้ ( probabilities ) นั่นหมายความว่า เราไม่อาจทำนายได้ด้วยความเที่ยงตรงแน่นอนว่า อนุภาคที่เล็กว่าอะตอมอันหนึ่ง ๆ จะอยู่ ณ ตำแหน่งใดในเวลาหนึ่ง หรือกระบวนการเกี่ยวกับอะตอมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งที่เราสามารถกระทำได้คือ ทำนายความน่าจะเป็นไปได้ ยกตัวอย่างเช่น อนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมที่เรารู้จักกันในปัจจุบันส่วนมากจะไม่คงตัว นั่นคือมันจะสลายไปเป็นอนุภาคอื่นเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจทำนายว่า มันใช้เวลาเท่าไรจริง ๆ ในการสลายตัว เราทำได้แต่เพียงทำนายว่าความเป็นไปได้ที่มันจะสลายตัวในระยะเวลาหนึ่ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ อายุเฉลี่ยของอนุภาคชนิดนั้น ๆ ลักษณะเช่นนี้ ใช้กับ “แบบแผน“ การสลายตัวด้วย โดยทั่ว ๆ ไป อนุภาคซึ่งไม่คงตัวอาจจะสลายตัวไปเป็นอนุภาคอื่นได้หลายชนิด และเราก็ไม่อาจที่จะทำนายได้ว่ามันจะสลายตัวไปเป็นอนุภาคชนิดใดบ้าง ในแต่ละครั้งที่เราพิจารณา สิ่งที่เราทำนายได้คือว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของอนุภาคจะสลายตัวไปในลักษณะหนึ่ง 30 เปอร์เซ็นต์ในอีกลักษณะหนึ่ง และอีก 10 เปอร์เซ็นต์ในลักษณะอื่น การทำนายทางสถิติเหล่านี้จำเป็นต้องทดสอบพิสูจน์ด้วยการตรวจวัดผลการทดลองหลาย ๆ อัน โดยแท้จริงแล้ว มีการตรวจวัดและวิเคราะห์ผลจากการชนกันของอนุภาคที่มีพลังงานสูงเป็นหมื่น ๆ อนุภาค เพื่อที่จะหาความเป็นไปได้ของการเกิดกระบวนการเฉพาะอันใดอันหนึ่ง เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องตระหนักว่า สูตรทางคณิตศาสตร์ของกฎทางฟิสิกส์ของอะตอมและอนุภาคที่เล็กว่าอะตอมนั้นมิใช่สิ่งสะท้อนให้เห็นความละเลยของเราต่อสภาพการณ์ทางฟิสิกส์ เหมือนกับการใช้หลักการความอาจเป็นไปได้ในบริษัทประกันภัยหรือพวกนักพนัน ในทฤษฎีควอนตัม เราจะต้องระลึกรู้อยู่ว่า ความอาจเป็นไปได้นี้ เป็นคุณลักษณะพื้นฐานของความจริงในเรื่องอะตอม ซึ่งควบคุมกระบวนการทั้งหมด แม้กระทั่งการดำรงอยู่ของสสารวัตถุ อนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมมิได้ดำรงอยู่อย่างแน่นอน ณ ที่ใดที่หนึ่งอย่างจำเพาะเจาะจง แต่แสดง “ความโน้มเอียงที่จะดำรงอยู่ ” และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอะตอมนั้นมิได้เกิดขึ้นด้วยความแน่นอน ในเวลาใดเวลาหนึ่งโดยลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ข้อแตกต่างระหว่างการอธิบายสองแบบคือ ในแบบดั้งเดิมสำหรับการจัดเตรียมการทดลอง ( เครื่องมือ ผู้สังเกต ) กับในรูปฟังก์ชันของความอาจเป็นไปได้ ( probability functions ) สำหรับวัตถุที่ถูกสังเกตนั้น ได้นำไปสู่ปัญหาที่ลึกซึ้งทางอภิปรัชญาซึ่งยังไม่มีคำเฉลย อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้นปัญหานี้ได้ถูกขีดวงจำกัดโดยการอธิบายระบบที่ทำหน้าที่สังเกตในแง่ของกระบวนการการทดลอง นั่นคือ ในแง่ของวิธีการในการจัดสภาพและดำเนินการทดลอง โดยวิธีนี้อุปกรณ์ในการตรวจวัดผลและนักวิทยาศาสตร์ได้เชื่อมโยงกันเป็นระบบที่สัมพันธ์กันอย่างมีประสิทธิภาพ และอุปกรณ์การทดลองก็ไม่ถูกถือว่าเป็นวัตถุที่แยกอยู่ต่างหากอีกต่อไป ในกระบวนการของการสังเกต เราจะต้องเกี่ยวข้องกับกระบวนการการย่อยสองกระบวนการ คือ ประการแรก เราจะต้องเตรียมวัตถุที่เราจะสังเกตขึ้น เช่น อิเล็กตรอนในบริเวณหนึ่ง อิเล็กตรอนจะถูกเร่งให้มีความเร็วสูงขึ้น ๆ โดยเครื่องเร่งอนุภาค ( particle accelerator ) จนถึงระดับพลังงานที่ต้องการอิเล็กตรอนจะถูกปล่อยไปสู่บริเวณที่เป็นเป้าหมาย ( ข. ) ซึ่งอิเล็กตรอนจะชนกับอนุภาคชนิดอื่นและก่อให้เกิดรอยของอนุภาคในบับเบิลแชมเบอร์ ซึ่งสามารถบันทึกภาพไว้ได้ จากนั้นคุณสมบัติของอนุภาคจะถูกวิเคราะห์โดยกระบวนการทางคณิตศาสตร์สัมพันธ์กับรอยที่มันทิ้งไว้ โดยส่วนมากจะอาศัยคอมพิวเตอร์ช่วย กระบวนการหลังนี้คือกระบวนการการตรวจวัดผล ประเด็นสำคัญในการวิเคราะห์กระบวนการในการสังเกตก็คือว่า อนุภาคได้เชื่อมโยงกระบวนการ ก. และ ข. เข้าด้วยกัน การดำรงอยู่ของมันมีความหมาย แต่ในขอบเขตนี้เท่านั้น มันจะไม่มีความหมาย เมื่อมันอยู่โดดเดี่ยว แต่จะมีความหมายเมื่อมันเป็นสิ่งเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการในการเตรียมการ และกระบวนการตรวจวัดผล คุณสมบัติของอนุภาคไม่อาจจะอธิบายได้โดยไม่เชื่อมโยงกับกระบวนการเหล่านี้ หากกระบวนการในการเตรียมการหรือกระบวนการตรวจวัดผลเปลี่ยนแปลงไป คุณสมบัติของอนุภาคก็จะเปลี่ยนไปด้วย

10.3 แยกออกจากการเตรียม

ในอีกแง่หนึ่ง เมื่อเราพูดถึง”อนุภาค” หรือระบบที่ถูกสังเกตอื่นใดก็ตาม นั่นแสดงให้เห็นว่า เรามีวัตถุทางฟิสิกส์อย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นอิสระในใจ แรกทีเดียวถูกสร้างขึ้น และต่อมาถูกตรวจวัด ดังนั้นปัญหาพื้นฐานในกระบวนการสังเกตของวิชาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอมก็คือ “ ระบบที่ถูกสังเกตต้องเป็นสิ่งที่ถูกแยกให้เป็นอิสระเพื่อที่จะอธิบายมัน แต่ต้องให้เข้าทำปฏิกิริยาเพื่อที่จะสังเกตได้ “ ตามคำกล่าวของเฮนรี แสตป ในทฤษฎีควอนตัม ปัญหานี้ถูกแก้ไปโดยการกำหนดให้ระบบที่ถูกสังเกต เป็นอิสระจากการรบกวนจากภายนอก ซึ่งเกิดจากกระบวนการในการสังเกตในช่วงใดช่วงหนึ่ง ระหว่างกระบวนการเตรียมการและกระบวนการตรวจวัดผล เงื่อนไขเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออุปกรณ์ในการเตรียมการและการตรวจวัดผลอยู่ห่างจากกันมาก เพื่อให้วัตถุที่ถูกสังเกตเดินทางจากบริเวณในการเตรียมการไปสู่บริเวณในการตรวจวัดผล ระยะทางดังกล่าวควรจะเป็นเท่าไร? ในหลักการแล้ว มันควรจะเป็นอนันต์ ( infinite ) ในโครงร่างของทฤษฎีควอนตัม เราจะอธิบายความคิดเรื่องวัตถุทางฟิสิกส์ที่แยกจากวัตถุอื่นได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ถ้าหากวัตถุนั้น ๆ อยู่ห่างจากส่วน ที่ทำหน้าที่สังเกตเป็นระยะทางอนันต์ ในทางปฏิบัติมันเป็นไปไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นด้วย เราจะต้องนึกถึงทัศนะคติพื้นฐานของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่ว่า แนวคิดและทฤษฎีทั้งมวลล้วนเป็นการประมาณ ในกรณีนี้หมายความว่า ความคิดเรื่องวัตถุทางฟิสิกส์ที่แยกจากวัตถุอื่น ไม่จำเป็นต้องมีความหมายเที่ยงตรงแน่นอน แต่อาจจะให้ความหมายโดยประมาณ ซึ่งทำได้ดังต่อไปนี้ วัตถุที่ถูกสังเกตเป็นสิ่งแสดงปฏิกิริยาระหว่างกระบวนการเตรียมการและกระบวนการตรวจวัดผล ปฏิกิริยาดังกล่าวโดยทั่ว ๆไปแล้วจะเป็นปฏิกิริยาที่ซับซ้อนและเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการต่าง ๆ มากมาย ซึ่งใช้ระยะทางต่าง ๆ กัน ในฟิสิกส์เราเรียกว่ามี “ช่วง” ( ranges ) ต่าง ๆ กัน หากส่วนที่สำคัญของปฏิกิริยามีช่วงยาว นั่นคือ ใช้ระยะทางมาก มันก็จะเป็นอิสระจากสิ่งรบกวนภายนอก และจะถือว่าวัตถุที่แยกเป็นอิสระต่างหากจากวัตถุอื่นได้ ในโครงร่างของทฤษฎีควอนตัม วัตถุอิสระจึงเป็นสิ่งในอุดมคติซึ่งจะมีความหมายก็แต่ในขอบเขตที่ส่วนสำคัญของปฏิกิริยามีช่วงยาว สภาพการณ์ดังกล่าวเราสามารถแสดงอย่างละเอียดด้วยคณิตศาสตร์ ในทางฟิสิกส์มันหมายความว่า อุปกรณ์ในการตรวจวัดผลอยู่ห่างมากจนปฏิกิริยาสำคัญเกิดขึ้นโดยผ่านการแลกเปลี่ยนอนุภาค หรือร่างแหของอนุภาค ในกรณีที่ซุบซ้อนยิ่งขึ้น มันอาจะมีปฏิกิริยาอื่นเกิดขึ้นด้วยแต่ตราบเท่าที่อุปกรณ์ในการตรวจวัดผลยังอยู่ห่างออกไปมากเพียงพอ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่สำคัญจนอาจจะตัดทิ้งไปได้ เมื่ออุปกรณ์นั้นอยู่ห่างออกไปไม่มากพอเท่านั้น ที่จะทำให้ปฏิกิริยาซึ่งมีช่วงสั้น กลายเป็นส่วนสำคัญ ในกรณีเช่นนั้น ระบบทั้งหมดจะหลอมรวมเป็นอันเดียวกัน และความคิดเรื่องวัตถุที่ถูกสังเกตจะหมดความหมายลง ดังนั้นทฤษฎีควอนตัมจึงเปิดเผยให้เห็นถึงความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันของสรพสิ่งจักรวาล มันแสดงให้เห็นว่าเราไม่อาจย่อยสลายโลกลงเป็นหน่วยเล็ก ๆ ที่เป็นอิสระได้ เมื่อเราเจาะลึกลงไปในวัตถุ เราพบว่ามันประกอบด้วยอนุภาคแต่ทว่ามิใช่ “ หน่วยพื้นฐาน ” ในความหมายตามแบบของเดโมคริตัสและนิวตัน มันเป็นสิ่งในอุดมคติซึ่งมีคุณประโยชน์ในแง่ของการปฏิบัติ แต่ไม่มีความหมายสำคัญในขั้นพื้นฐาน นีลส์ บอหร์ กล่าวว่า “อนุภาคของวัตถุซึ่งเป็นอิสระไม่เกี่ยวกับสิ่งอื่น เป็นผลของความคิดแบบย่อสรุป เราจะอธิบายและสังเกตคุณสมบัติของมันได้ก็แต่ในปฏิกิริยาของมันกับระบบอื่น”







10.4 ข่ายใยแห่งการถักทอ

การตีความทฤษฎีควอนตัมตามแบบโคเปนฮาเกน มิได้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป มีความเห็นที่ขัดแย้งอยู่หลายกระแส และยังไม่มีข้อยุติสำหรับปัญหาในทางปรัชญาที่เกี่ยวเนื่องอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของสรรพสิ่งและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในจักรวาล ดูจะเป็นลักษณะพื้นฐานของความจริงในเรื่องอะตอม ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับการตีความในแบบหนึ่งแบบใดโดยเฉพาะ ข้อความต่อไปนี้ของ เดวิด โบห์ม (David Bohm) เราถูกนำมาสู่ความคิดใหม่ในเรื่องความเป็นทั้งหมดอันมิอาจแบ่งแยกได้ ซึ่งได้ปฏิเสธความคิดดั้งเดิม ในการแยกวิเคราะห์โลกออกเป็นส่วน ๆ เป็นอิสระแยกจากส่วนอื่น…เราได้หันกลับจากความคิดเดิมที่ว่า “หน่วยพื้นฐาน ”ของโลกเป็นความจริงพื้นฐาน และระบบต่าง ๆ เป็นเพียงการจัดเรียงตัวและรูปลักษณ์ในแบบหนึ่ง ๆ ซึ่งเกิดจากหน่วยเหล่านี้ประกอบกันขึ้น เราควรจะกล่าวว่า ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ในทางควอนตัมอันไม่อาจแบ่งแยกได้ของจักรวาลทั้งหมดเป็นความจริงพื้นฐาน และหน่วย ต่าง ๆ ที่เป็นอิสระอย่างสัมพันธ์นั้น เป็นเพียงรูปลักษณะเฉพาะส่วน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในพื้นฐานทั้งหมดนั้น ในระดับอะตอมสสารวัตถุในทัศนะของวิชาฟิสิกส์ดั้งเดิมได้กลายเป็นแบบแผนแห่งความอาจเป็นไปได้ และแบบแผนดังกล่าวมิได้แสดงความอาจเป็นไปได้ของสิ่งต่าง ๆ มากกว่า ทฤษฎีควอนตัมได้ทำให้เราเห็นว่าจักรวาลมิใช่การรวมกันของวัตถุทางฟิสิกส์ แต่เป็นข่ายใยอันซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่าง ๆ ของจักรวาลทั้งหมด อย่างไรก็ตาม นี่เป็นวิธีการที่นักปรัชญาตะวันออกหยั่งรู้โลก และบางท่านได้สะท้อนประสบการณ์นั้นออกมาในคำพูด ซึ่งเกือบจะเหมือนกับคำพูดของนักฟิสิกส์ผู้ค้นคว้าเรื่องอะตอมดังตัวอย่างนี้ สสารวัตถุกลายเป็นบางสิ่งซึ่งต่างไปจากที่เราเห็นกันในปัจจุบัน มิใช่วัตถุโดด ๆ ซึ่งอยู่ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ แต่เป็นส่วนซึ่งไม่อาจแยกออกได้จากทั้งหมด และในแง่มุมที่ลึกซึ้งแล้ว มันเป็นการปรากฏแสดงของความเป็นเอกภาพของสรรพสิ่งซึ่งเราเห็นนั้น สิ่งต่าง ๆ คงสภาพและธรรมชาติของมันได้โดยการอิงอาศัยกัน และไม่มีความหมายในตัวของมันเอง หากว่าข้อความเหล่านี้อาจนำมาใช้แสดงทัศนะของวิชาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอมข้อความอีกสองข้อความต่อไปนี้จากนักฟิสิกส์ก็อาจจะใช้เป็นคำอธิบายการหยั่งรู้ธรรมชาติของปราชญ์ทางตะวันออกได้ในทำนองกลับกัน อนุภาคมิใช่สิ่งซึ่งดำรงอยู่อย่างอิสระและไม่อาจวิเคราะห์แยกแยะได้ โดยแก่นแท้มันเป็นกลุ่มของความ สัมพันธ์ซึ่งรวมเอาสิ่งอื่นเข้าไว้ด้วย โลกปรากฏเป็นเสมือนใยเยื่ออันซับซ้อนของเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งรวมเอาลักษณะความสัมพันธ์ชนิดต่างๆ ไม่ว่าสลับ ซ้อน หรือเชื่อมต่อกันเข้าไว้ ความสัมพันธ์เหล่านี้ จึงกำหนดลักษณะของทั้งหมด ภาพของข่ายใยแห่งเอกภพที่โยงใยถึงกันและกัน ซึ่งเกิดขึ้นในวิชาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอมสมัยใหม่ ถูกนำมาใช้ในการอธิบาย ประสบการณ์อย่างรู้ธรรมชาติ ของชาวตะวันออกเป็นอย่างมาก สำหรับชาวฮินดู เป็นรากฐานอันสูงสุดของสรรพชีวิต พระองค์ผู้ทรงถักทอท้องนภา โลกพิภพและบรรยากาศ เข้าเป็นผืนเดียวกัน กันทั้งกระแสลม และปราณของสรรพชีวิต พระองค์ผู้เดียวผู้เป็นวิญญาณหนึ่งเดียวนั้น ในพุทธศาสนา ภาพของข่ายใยแห่งเอกภพมีบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้นไปอีก แก่นคำสอนของ อวตังสกสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรสำคัญ สูตรหนึ่งของมหายานก็คือ การอธิบายว่าโลกเป็นข่ายใยอันสมบูรณ์แห่งสหสัมพันธ์ โดยที่เหตุการณ์และสิ่งทั้งหลายมีปฏิกิริยาต่อกันและกันอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ ชาวพุทธมหายานได้สร้างสรรค์ตำนานและเรื่องราวต่าง ๆ มากมายเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความเชื่อมโยงถึงกันหมดของทุกสิ่งในจักรวาล ข่ายใยแห่งเอกภพเป็นแกนกลางของคำสอนในพุทธศาสนานิกายตันตระซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของมหายาน ที่ถือกำเนิดในอินเดียในราวศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล และในปัจจุบันเป็นสายสำคัญของพุทธศาสนาแบบทิเบต คำภีร์ของสายนี้เรียกว่า ตันตะ มีรากเดิมในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่า “ถักทอ” อันแสดงถึงการประสานสัมพันธ์และอิงอาศัยกันของสิ่งต่างๆ และเหตุการณ์ทั้งมวล

10.5 จากผู้สังเกตเปลี่ยนเป็นผู้มีส่วนร่วม

ในศาสนาตะวันออก การประสานสัมพันธ์ของจักรวาลดังกล่าวรวมเอาผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเป็นมนุษย์และความรับรู้ของเขาไว้ด้วย และสิ่งนี้ก็เป็นใจในวิชาฟิสิกส์ที่ส่าด้วยอะตอมด้วย ในระดับของอะตอม เราจะเข้าใจ “วัตถุ” ได้ก็แต่ในแง่ของปฏิกิริยาระหว่างกระบวนการเตรียมและกระบวนการตรวจวัดผล จุดสุดท้ายของกระบวนการต่อเนื่องเหล่านี้จบลงที่สำนักของมนุษย์ผู้ทำหน้าที่สังเกตการตรวจวัดผลเป็นปฏิกิริยาที่ก่อให้เกิด “ความรู้สึก” ขึ้นในสำนึกของเรา ยกตัวอย่างเช่น การเห็นภาพแสงสว่างแวบ หรือจุดดำบนแผ่นภาพถ่ายและกฎของฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอมได้แสดงให้เรารู้ว่า ความอาจเป็นไปได้ในลักษณะใดที่อะตอมจะก่อให้เกิดความรู้สึกขึ้นในลักษณะใดลักษณะหนึ่งหากเราให้มันมีปฏิกิริยาต่อเรา ไฮเซนเบิร์กกล่าวไว้ว่า “วิทยาศาสตร์ธรรมชาติมิได้เพียงอธิบายและนิยามธรรมชาติและตัวเราเอง” ดังนั้นลักษณะอันสำคัญอย่างยิ่งยวดในวิชาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอมก็คือ มนุษย์ไม่เพียงเป็นสิ่งจำเป็นในการสังเกตคุณสมบัติของวัตถุเท่านั้น แต่จำเป็นในการอธิบายคุณสมบัติเหล่านี้ด้วย ในวิชาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอม เราไม่อาจจะอธิบายถึงคุณสมบัติของวัตถุในตัวของมันเอง คุณสมบัติดังกล่าวมีความหมายแต่ในขอบเขตแห่งปฏิกิริยาระหว่างวัตถุและผู้สังเกต ดังกล่าวของไฮเซนเบิร์กว่า “สิ่งที่เธอสังเกตมิใช่ตัวธรรมชาติเอง แต่เป็นธรรมชาติที่ปรากฏต่อวิธีการตั้งคำถามของเรา” ผู้สังเกตเป็นผู้เลือกวิธีการในการตรวจวัดผล ซึ่งวิธีดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดคุณสมบัติของวัตถุที่ถูกสังเกตด้วยเช่นกันในปริมาณหนึ่ง หากว่าการจัดเตรียมการทดลองเปลี่ยนไป คุณสมบัติของวัตถุที่ถูกสังเกตจะเปลี่ยนไปเช่นกัน ดังนั้นในวิชาของฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอม นักวิทยาศาสตร์ไม่อาจจะแสดงบทบาทของผู้สังเกตซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุที่ถูกสังเกต แต่จะต้องเข้าเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ถูกสังเกต จนกระทั่งมีอิทธิพลต่อคุณสมบัติต่อวัตถุด้วย จอห์น วีลเลอร์ เห็นว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องของผู้สังเกตเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในทฤษฎีควอนตัม ดังนั้นเขาจึงเสนอให้ใช้คำว่า “ผู้มีส่วนร่วม” ( participator ) แทนคำว่า “ ผู้สังเกต” ( observer )


10.6 ลืมทุกสรรพสิ่ง

ความคิดในเรื่อง “ การเข้ามีส่วนร่วมแทนทีจะเป็นการสังเกต “ ได้ถูกคิดค้นในวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่เมื่อไม่นานมานี้เอง แต่มันเป็นความคิดที่รู้จักกันดีในหมู่นักศึกษาศาสนา ความรู้ในทางศาสนาไม่อาจได้มาด้วยเพียงแต่การสังเกต แต่โดยการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับชีวิตจิตใจทั้งหมดของแต่ละบุคคล ความคิดเรื่องผู้มีส่วนร่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งยวดในโลกทัศน์แบบตะวันออกและได้ไปถึงจุดสูงสุดในศาสนาตะวันออก ซึ่งผู้สังเกตและผู้ที่ถูกสังเกต ผู้กระทำและถูกกระทำไม่เพียงแต่ไม่อาจแยกจากกันเท่านั้นหากทว่าไม่แตกต่างกันอีกด้วย ต่างจากวิชาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอม ซึ่งถึงแม้ผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกตไม่อาจแยกจากกัน แต่ทว่ายังแตกต่างกันอยู่ พวกนักปฏิบัติในศาสนาไปไกลยิ่งกว่านั้นในสมาธิที่ลึกซึ้งพวกเขาบรรลุถึงจุดที่ความแตกต่างระหว่างผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกตได้สูญเสียความหมายอย่างสิ้นเชิง ผู้กระทำและสิ่งที่ถูกกระทำได้หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อุปนิษัทว่า ณ ที่ใดซึ่งทวิภาวะดำรงอยู่ ณ ที่นั้นบุคคลย่อมเห็นผู้อื่น ย่อมได้กลิ่นผู้อื่น ย่อมได้ลิ้มรสผู้อื่น….ณ ที่ใดซึ่งสรรพสิ่งได้กลายเป็นตัวตนเองแล้ว ณ ที่นั้นบุคคลที่จะเห็นใครด้วยอะไร จะได้กลิ่นใครด้วยอะไร นี้เป็นความเข้าใจในความเป็นเอกภาพของสรรพสิ่ง จะบรรลุได้ในสภาวะแห่งสำนึก ซึ่งปัจเจกภาพของบุคคลได้มลายลงสู่ภาวะอันไม่อาจแบ่งแยกได้ไปพ้นโลกแห่งความรู้สึก และความคิดเรื่อง “สิ่งทั้งหลายถูกทิ้งไว้เบื้องหลังดังที่ขงจื้อกล่าวไว้ว่า ความเกี่ยวพันของข้าพเจ้ากับร่างกายและส่วนต่าง ๆ สลายลง อวัยวะในการรับรู้ของข้าพเจ้าถูกละทิ้งปล่อยให้วัตถุธาตุก่อรูปและกล่าวคำอำลาต่อความรู้ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ากลายเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่แผ่ไพศาลอันยิ่งใหญ่นั้น สิ่งที่เรียกว่าข้าพเจ้านี้กำลังนั่งและลืมสรรพสิ่ง
 
               
คัดลอกจาก ::
http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/tao%20of%20physics
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 04, 2010, 09:48:52 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
 :45: ขอบคุณครับพี่มด
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~