ผู้เขียน หัวข้อ: จิรปุญฺโญวาท (พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ )  (อ่าน 1719 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


Pic by : Tongtamdai

   จิรปุญฺโญวาท
   หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ
     
   1.คำว่าทุกข์ แม้จะนิดเดียวก็ไม่เคยมีสัตว์โลกรายใดรัก ชอบ และปรารถนา ต่างก็กลัวและขยะแขยงกันมาแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว แต่หากจะมีก็อาจได้พบเห็นในสมัย ปัจจุบัน เพราะศีลธรรมที่เคยให้ความร่มเย็นแก่โลกตลอดมากำลังถูกตำหนิ ลบล้างด้วยความคิดของคนในปัจจุบัน โดยเห็นว่า ศีลธรรมที่ร่มเย็นเป็นของเก่าก่อน กลับคร่ำครึ ล้าสมัย ความสุขที่เคยได้รับเป็นสันดาน จนลืมทุกข์ทรมานแต่ก่อนเก่าไปสิ้น
   
   2. เราจะกลัวเสือ หรือ เราจะกลัวกิเลส กิเลสมันทำให้เราตาย นับภพนับชาติไม่ถ้วน แต่เสือตัวนี้ มันทำให้เราตายได้หนเดียว
   
   3. อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา... อนิจจัง...ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่สามารถจะอยู่ยงคงทนต่อไปได้ ย่อมดับย่อมสลายไปตามกาล พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่เที่ยงแท้แน่นอนไปได้... ทุกขัง...เมื่อมีสิ่งที่เกิดขึ้นมาในโลก แล้วเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวตนของเรา ของเขา ยามจากไป ยามดับไปสลายสิ้น สิ่งที่รักที่พอใจนั่นแหละ พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นทุกข์อย่างยิ่ง... อนัตตา...ความจริงในโลกนี้ มันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมันเอง ไม่มีใครไปต่อเสริมเติมแต่งได้ ถึงอย่างไรก็ยังเป็นธรรมชาติ แม้ร่างกายเรานี้จะยึดตัวตน ว่า เป็นของเราของเขาไม่ได้ เพราะเขาเป็นเพียงธาตุๆ หนึ่งที่ประชุมกันเข้าเท่านั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขาทั้งสิ้น
   
   4. การประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อความบริสุทธิ์ หรือ ไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตน คนอื่นทำให้ไม่ได้ เราต้องปฏิบัติให้รู้ยิ่ง เราต้องอาศัยในสิ่งเหล่านี้ เพื่อจิตเข้าสู่สมาธิ จิตสงบอยู่ในอารมณ์ มาเป็นพยานขององค์วิปัสสนา ให้เห็นชัดแจ้ง เป็นความสว่างของ ปัญญา ผู้บริสุทธิ์ได้ ต้องอาศัยปัญญานี่เอง ทั้งนี้ วิปัสสนาปัญญา จึงต้องยึดเอาตัว สังขารเรานี้เป็นพยานในการปฏิบัติ จึงจะรู้แจ้ง อย่ามองไปนอกตัว เหตุอยู่ที่นี่
   
   5. ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ ล้วนเป็นเพื่อเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ทั้งหมดทั้งสิ้น ทุกชีวิตเกิดมามีกรรมเป็นของๆ ตน
   
   นอกจากนี้หลักธรรมที่หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ถือเป็นแนวทางปฏิบัติและสอนธรรมเป็นหลักธรรมที่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้วางเอาไว้ หลวงปู่กงมา ก็จดจำได้อย่างขึ้นใจ คือ ธรรมะ 11 ประการ ได้แก่
   
   1. การปฏิบัติทางใจ ต้องถือการถ่ายถอนอุปาทานเป็นหลัก
   
   2. การถ่ายถอนนั้น ไม่ใช่การถ่ายถอนโดยไม่มีเหตุ ไม่ใช่ทำเฉยๆ ให้มันถ่ายถอนเอง
   
   3. เหตุแห่งการถ่ายถอนนั้น ต้องสมเหตุสมผล เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ ธรรมทั้งหลายดับไปเพราะเหตพระมหาสมณะมีปกติ ตรัสอย่างนี้
   
   4. เพื่อให้เข้าใจว่า การถ่ายถอนอุปาทานนั้น มิใช่มีเหตุ และไม่สมควรแก่เหตุ ต้องสมเหตุสมผล
   
   5. เหตุได้แก่สมมติบัญญัติขึ้น แล้วหลงตามอาการนั้น เริ่มต้นด้วยการสมมติ ตัวของตนก่อน พอหลงตัวของเราแล้ว ก็ไปหลงคนอื่น หลงว่าเราสวย แล้วจึงไปหลงผู้อื่นว่าสวย เมื่อหลงตัวของตัวและผู้อื่นแล้ว ก็หลงวัตถุข้างนอกจากตัว กลับกลายเป็น ราคะ โทสะ โมหะ
   
   6. แก้เหตุต้องพิจารณากรรมฐาน 5 คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ด้วยสามารถแห่งกำลังของสมาธิ เมื่อสมาธิชั้นต่ำ การพิจารณาก็เป็นญาณชั้นต่ำ เมื่อเป็นสมาธิชั้นสูง การพิจารณาเป็นญาณชั้นสูง แต่อยู่ในกรรมฐาน 5
   
   7. การสมเหตุสมผล คือ คันที่ไหนก็ต้องเกาที่นั้น จึงจะหายคัน คนติดกรรมฐาน 5 หมายถึง หลงหนังเป็นที่สุด เรียกว่าหลงกันตรงนี้ ถ้าไม่มีหนัง คงจะวิ่งกันแทบตาย เมื่อหลงกันที่นี้ ก็ต้องแก้กันที่นี่ คือ เมื่อกำลังสมาธิพอแล้ว พิจารณาก็เห็นความจริง เกิดความเบื่อหน่ายเป็น วิปัสสนาญาณ
   
   8. เป็นการเดินตามอริยสัจ เพราะเป็นการพิจารณาตัวทุกข์ ดังที่ พระพุทธองค์ ตรัสว่า ชาติปิทุกข์ ชราปิทุกข์ พยาธิปิทุกข์ มรณัมปิทุกข์ ใครเกิด ใครแก่ ใครเจ็บ ใครตาย กรรมฐาน 5 เป็นต้น ปฏิสนธิเกิดมาแล้ว แก่แล้ว ตายแล้ว จึงได้ชื่อว่าพิจารณากรรมฐาน 5 อันเป็นทางพ้นทุกข์ เพราะพิจารณาตัวทุกข์จริงๆ
   
   9. ทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ เพราะมาหลงกรรมฐาน 5 ยึดมั่น จึงเป็นทุกข์ เพื่อพิจารณาก็ละได้ เพราะเห็นตามความเป็นจริง สมคำว่า รูปสสมึปิ นิพฺพินฺทติ เวทนายปิ นิพฺพินฺทติ สญฺญายปิ นิพฺพินฺทติ สงฺขาเรปิ นิพฺพินฺทติ วิญญาณสฺสมึปิ นิพฺิิิพินฺทติ เมื่อเบื่อหน่ายในรูป (กรรมฐาน 5) เป็นต้น แล้วก็คลายความกำหนัด เมื่อเราพ้นเราก็ต้องมีญาณทราบชัดว่าเราพ้น
   
   10. ทุกขนิโรธ ดับทุกข์ เมื่อเห็นกรรมฐาน 5 เบื่อหน่ายได้จริง ชื่อว่า ดับอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น เช่นเดียวกับท่านสามเณรสุมนะ ศิษย์ของท่านอนุราช พอปลงผมหมดศีรษะก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์
   
   11. ทุกขคามินีปฏิปทา ทางไปสู่ที่ดับ คือ การเป็นปัญญาสัมมาทิฐิ ปัญญาเห็นชอบเห็นอะไร เห็นอริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การเห็นจริง แจ้งประจักษ์ด้วยสามารถแห่งสัมมาทิฐิ ไม่หลงคติสุข มีสมาธิเป็นกำลัง พิจารณากรรมฐาน 5 ก็เป็นองค์มรรค



   Credit by : http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=1461.0
   สุขใจดอทคอม
   อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 29, 2010, 06:07:07 am โดย ฐิตา »