โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2553
ถ้ามีฟักทองลูกหนึ่ง คุณกับเพื่อนอีกสองคนจะแบ่งกันอย่างไร?
คำตอบทั่วไปก็มักจะเป็นว่า ก็ตัดแบ่งสามส่วนให้เท่า-เท่ากัน
คำถามที่น่าสนใจก็คือ – มีวิธีแบ่งแบบอื่นอีกไหม?
ลองนึกภาพการพูดคุยของผู้คนสามคน พวกเขาหรือเธออาจจะถามไถ่กันว่า ใครอยากได้ส่วนไหนของฟักทองไป บางคนอาจจะอยากได้เนื้อไปทำฟักทองแกงบวด อีกคนอยากได้เปลือกฟักทองไปทำปุ๋ยชีวภาพ อีกคนอยากได้เมล็ดฟักทองเพื่อเอาไปอบแห้งหรือเพาะเมล็ดขาย – นี่ก็ได้วิธีแบ่งอย่างหนึ่งล่ะ
แล้วเป็นไปได้ไหม ที่คนหนึ่งอาจจะบอกว่า ยังไม่อยากใช้ฟักทองในตอนนี้ เพื่อนสองคนเอาไปแบ่งกันเองก่อน ไว้คราวหน้าถ้ามีฟักทองมา ก็ค่อยขอใช้ หรือถ้าใครอยากใช้ทั้งลูกก็เอาไปใช้ก่อน ถ้ามีฟักทองหรือของอย่างอื่นมาก็ค่อยให้เพื่อนอีกสองคนไป – นี่ก็เป็นอีกวิธี
เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่โคราชที่ผ่านมา กลุ่มประชาสังคมโคราชขนข้าวปลาอาหารและสิ่งของเข้าไปบริจาคในพื้นที่น้ำท่วม แล้วก็พบว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะจัดแบ่งข้าวของเหล่านั้นลงในถุงยังชีพเพื่อแจกให้ผู้ประสบภัยคนละถุง เนื่องจากสิ่งของที่จำเป็นสำหรับผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และคนแก่ มีความแตกต่างกันมาก ผู้หญิงอาจจะมีความจำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัย เด็กอ่อนอาจจะต้องการผ้าอ้อม นม และขวดนม คนแก่อาจจะต้องการอาหารเคี้ยวง่าย ในขณะที่ผู้ชายไม่จำเป็นต้องใช้สิ่งเหล่านี้เลย – การแบ่งของบริจาคก็เลยกลายเป็นโจทย์ที่น่าสนใจ เพราะแม้น้ำจะลดลงไปแล้ว แต่ยังต้องมีกระบวนการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัย ทั้งยังต้องวางแผนรับมือภัยหนาว ที่คาดว่าน่าจะร้ายกาจไม่แพ้กัน
กลุ่มประชาสังคมโคราชที่ประกอบไปด้วยนักธุรกิจ เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ และเอ็นจีโอ เห็นตรงกันว่าการนำของส่งไปถึงมือของผู้ประสบภัยโดยเร็วเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน แต่กระบวนการแบ่งข้าวของในภาวะวิกฤติให้กับปัจเจกชนเป็นรายคนนั้นเป็นอุปสรรคอย่างมาก และผู้ให้ความช่วยเหลือก็ไม่อาจทราบได้ว่ามีใครหรือครอบครัวไหนประสบภัยบ้างในพื้นที่นั้น – คำถามก็คือ มีวิธีการแบ่งของบริจาคในแบบอื่นอีกไหม?
นักธุรกิจคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ไหมที่จะจัดแบ่งข้าวของให้เป็นรายกลุ่มหรือรายชุมชน โดยให้ผู้คนในพื้นที่ที่ประสบภัยรวมตัวกันและขอความช่วยเหลือเข้ามา โดยให้ข้อมูลอย่างชัดเจนว่าต้องการอะไรบ้าง เช่น ข้าวสารกี่กิโล นมกี่กระป๋อง ผ้าอนามัยกี่กล่อง ฯลฯ ผู้บริจาคเพียงแต่นำสิ่งของเข้าไป และให้ทางชุมชนไปจัดสรรและแบ่งปันกันเอง ตรวจสอบกันเอง
หากทำเช่นนี้ได้ กระบวนการช่วยเหลือก็จะรวดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลากับการแบ่งของเป็นรายหัว แบ่งของลงถุงเหมือนใส่บาตร ทั้งยังเป็นการผลักดันให้มีการรวมตัวกันของภาคประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น และน่าที่จะเป็นรูปแบบของกระบวนการเยียวยาและการเตรียมการในภาวะปรกติเพื่อรับมือวิกฤติครั้งต่อไปได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า รูปแบบของการแบ่งทรัพยากร สามารถนำไปใช้ในฐานะของกลไกในการขับเคลื่อนหรือผลักดันกระบวนการทางสังคมได้ พูดโดยง่าย การแบ่งก็เป็นอุบายวิธีเชิงบวกได้ ไม่ใช่แค่เอาตัวเลขมาหารให้ลงตัว
รูปแบบคล้ายกันนี้ ประชาคมยุโรปก็ใช้ในกระบวนการขับเคลื่อนเครือข่ายงานวิจัยและพัฒนาเช่นเดียวกัน ดังที่โครงการ FP7 บังคับให้บรรดาสถาบันวิจัยต้องจัดทำข้อเสนอโครงการร่วมกันไม่ต่ำกว่าสามแห่ง โดยบังคับให้เป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในประเทศต่างกัน และยิ่งทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยต่างทวีป ก็ยิ่งมีโอกาสได้รับทุนสนับสนุนในขอบเขตกว้างขวางขึ้น โดยวิธีการนี้เอง เครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันวิจัยในยุโรปจึงขยายได้มาก และมีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีไปยังประเทศโลกที่สามได้เร็วขึ้น
สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอง ในปัจจุบันก็ได้ริเริ่มนำวิธีการที่คล้ายคลึงกันมาใช้ ด้วยการผลักดันให้มีการพัฒนาข้อเสนอโครงการร่วมกันระหว่าง ๕ องค์กร ในฐานะเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIRNet – Social Inequity Reduction Network) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแผนงานลดความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นตัวเร่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ทั้งในระดับนโยบายและประชาสังคม ในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น สนับสนุนการดำเนินงานให้ไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น ผ่านปัญญากลุ่มในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น
ความขัดแย้งในสังคมไทย มีสาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากความขัดแย้งในเรื่องของการแบ่งปันทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน น้ำ คลื่นในอากาศ งบประมาณแผ่นดิน อำนาจหน้าที่ ฯลฯ การแบ่งสรรทรัพยากรที่ไม่ฉลาด ย่อมก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่ความไม่เสมอภาค กลายเป็นความทุกข์ความบีบคั้น และความขัดแย้งในที่สุด
แล้วแบ่งอย่างไรจึงจะเรียกว่าฉลาดและเกิดปัญญา? – คำถามนี้ก็คงต้องเชื้อชวนให้ช่วยกันตอบ แต่ที่เป็นของแน่ก็คือ การปล่อยให้คนไม่กี่คนไม่กี่กลุ่มครอบครองอำนาจในการตัดสินใจไม่ใช่เรื่องดี
ยุคสมัยนี้ มีผู้คนที่กล่าวถึงความศรัทธาในประชาธิปไตย รักมนุษยชาติ และห่วงใยโลก มากที่สุด แต่การแบ่งปันพื้นที่ให้กับความแตกต่างเชิงปัจเจก ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน คนข้างบ้าน คนในเฟซบุ๊ก ทั้งในเรื่องของความรู้ มุมมอง ความเชื่อ ทัศนะ ท่าที ฯลฯ น่าจะเป็นเรื่องท้าทายความเป็นมนุษย์ของเรามากที่สุดเช่นกัน
การนำพาผู้คนจำนวนมากเข้ามาสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อหาข้อตกลงหรือกติกาทางสังคมร่วมกันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความอดทน ซึ่งนั่นก็หมายถึงราคาที่แท้จริงที่เราต้องจ่าย ถ้าไม่จ่ายในชั่วคนนี้ก็ต้องทบไปจ่ายในชั่วคนต่อไป หนี้ทางสังคมเป็นหนี้ที่สืบเนื่องไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จะแบ่งจ่ายกันอย่างไร คงต้องอาศัยปัญญาและกรุณาช่วยกันตอบ
วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 at ที่ 11:00 by knoom
ป้ายกำกับ: ชลนภา อนุกูล, บทความมติชน | 0 ความคิดเห็น
http://jitwiwat.blogspot.com/search?updated-max=2010-11-19T13%3A30%3A00%2B07%3A00&max-results=3&reverse-paginate=true