The Pursuit of Happyness : ความสุขเป็นเรื่องที่เราต้องแสวงหา ... เช่นกันกับความรัก
คนบางคนอาจจะมีความเชื่อเหมือนเพลงคัฟเวอร์สุดฮิตในปี ค.ศ. 1994 ของวง Wet Wet Wet ว่า ความรักอยู่รอบตัวเรา หรือ Love is all around
แต่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ฉันเพิ่งได้คุยด้วย เธอเชื่อว่าความรักของเธออยู่ที่มหานครนิวยอร์ก รักที่เธอ (น่าจะ) เชื่อว่าเป็นรักแท้รอเธออยู่ที่นั่น ... ขณะพูด ชีวิตเธอได้กำตั๋วเดินทางเดือนพฤษภาคมไว้มั่นแล้ว เธอกำลังจะไปตามหารักของตัวเอง
แปลกดี...เหตุการณ์วันนั้นทำให้ฉันได้หยุดคิด หรือจริงๆ แล้วความรักเป็นสิ่งที่เราต้องแสวงหา ไม่ใช่ปล่อยให้มันลอยไปลอยมาอย่างเปล่าประโยชน์อยู่รอบตัวเราเช่นทุกวันนี้?
ร้ายไปกว่านั้น หรือ Love is all around ไม่เคยมีอยู่จริง? มันอาจเป็นแค่คำโกหกคำโต ที่มนุษย์สุขนิยมรังสรรค์ขึ้น เพื่อกลบเกลื่อนความขี้เกียจแสวงหาของตัวเองเท่านั้น?
ความคิดเหล่านี้วนเวียนอยู่ในหัวฉันประมาณสองวัน จนกระทั่งฉันก้าวเท้าเข้าสู่โรงภาพยนตร์ลิโด้ และได้ดูหนังเรื่องนี้
The Pursuit of Happyness*
หนังได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริง ของโบรกเกอร์ผู้โด่งดังและเป็นสัญลักษณ์ของนักต่อสู้กับชีวิตแบบอเมริกันชนคนหนึ่ง** อย่าง คริส การ์ดเนอร์ The Pursuit of Happyness พาเรากลับไปยังช่วงเวลาอันยากลำบากของการ์ดเนอร์ เป็นเวลาที่เขายังเป็นเซลส์แมนขายเครื่องสแกนกระดูกอยู่ หลังจากมีกระแสว่าเจ้าเครื่องสแกนที่หนักหลายสิบกิโลกรัมนี้ จะกลายมาเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงการแพทย์ในยุค 1980 การ์ดเนอร์ก็ทุ่มเงินทั้งหมดที่มีซื้อเจ้าเครื่องนี้มาเก็บไว้ หลังจากขายไปได้ครึ่งหนึ่ง เขาได้พบว่า วงการแพทย์ไม่ได้คิดเหมือนเขาสักเท่าไหร่
และนั่นนำมาสู่ภาวะยากไร้ของครอบครัว ภาวะที่เหมือนว่าจะไม่ได้ยากไร้แค่เงิน แต่ขณะเดียวกันการไม่มีเงินมาชำระค่าเช่าบ้าน ภาษี ค่าปรับที่จอดรถ ค่าพี่เลี้ยงเด็ก มันนำมาสู่ภาวะยากไร้ทางความสุขด้วย
ฉันชอบประโยคหนึ่งของหนัง เป็นประโยคที่ในวันอันยากไร้ การ์ดเนอร์ได้ตั้งคำถามต่อคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา*** (The Declaration of Independence) ที่โธมัส เจฟเฟอร์สัน (ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของอเมริกา และเป็นผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพ แยก 13 รัฐต่างๆ ของอเมริกาในขณะนั้น ออกจากบริเตนใหญ่ หรืออังกฤษในปัจจุบัน) เขียนเอาไว้ ว่า ทำไมในคำประกาศอิสรภาพอันยิ่งใหญ่ที่เป็นไปเพื่อผลทางการเมือง ที่ถึงได้เอ่ยถึงคำว่า แสวงหาความสุข (the pursuit of Happiness) เคียงคู่ไปกับคำว่า ชีวิต (Life) และ เสรีภาพ (Liberty )?
และที่สำคัญ ทำไมข้างหน้าของคำว่า ความสุข (Happiness) ถึงต้องมีคำว่า แสวงหา (Pursuit) วางตัวอยู่?
หรือจริงๆ แล้ว หนึ่งในประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา กำลังจะบอกเราว่า ความสุขเป็นสิ่งที่เราต้องแสวงหา? อยู่ๆ น้ำตาฉันก็ไหลลงมาเมื่อความคิดแล่นมาถึงตรงนี้
ใช่...ในวันที่ยากไร้ซึ่งความสุข เหลียวมองไปทางไหนก็ไม่พบเจอสิ่งสำคัญสิ่งนี้ บางที มันอาจเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกผู้คนที่ควรออกแสวงหา
จริงที่ว่า โลกมีคำกล่าวประเภท ความสุขอยู่รอบตัวเรา มันอยู่ในอากาศที่เราหายใจเข้าไป อยู่ในน้ำใจของคนข้างบ้าน อยู่ในดอกไม้ที่กำลังบาน หรืออยู่แม้กระทั่งในเสียงก่นด่าเพราะมันยืนยันว่าเรายังมีชีวิตอยู่
แต่...ง่ายเกินไปไหมที่จะคิดอย่างนั้น ในวันที่เราก็รู้ว่าดอกไม้ไม่ได้บาน และพายุก็กำลังพัดบ้านให้แตกกระจายเป็นเสี่ยงๆ ?
ถ้าวันนั้นคริส การ์ดเนอร์ตายใจว่าความสุขลอยอยู่รอบตัว แล้วไม่พยายามที่จะยื่นมือออกไปไขว่คว้าแสวงหาเพื่อลูกและตัวเอง ผ่านการต่อสู้อย่างหนัก ตอนกลางวันต้องไปฝึกงานเป็นโบรกเกอร์ เรียนรู้ที่จะไม่วางหูโทรศัพท์แต่เลือกที่จะใช้มือกดตัดสัญญาณแทนเพราะมันทำให้เขาประหยัดเวลาได้วันละ 8 นาที จะได้เอาเวลานั้นวิ่งไปจับจองห้องพักในบ้านพักของคนจรจัด (House of Homeless) ให้ทัน เพื่อลูกรักจะได้มีที่หลับนอนในตอนกลางคืนอันเหน็บหนาว
บางทีถ้าการ์ดเนอร์ไม่แสวงหาและสู้ยิบตาอย่างนั้น เราอาจเห็นข่าวพาดหัวพ่อนอนกอดลูกตายอยู่ข้างถนนในซานฟรานซิสโกไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 แล้วก็ได้
หรือโหดร้ายกว่านั้น มันอาจไม่มีแม้กระทั่งพาดหัว หรืออาจไม่มีใครรับรู้ว่าพวกเขาจากไปเลยก็ได้
แต่เพราะการ์ดเนอร์ก็เชื่อเหมือนที่ โธมัส เจฟเฟอร์สันเชื่อว่า คำว่า Happiness ที่ถูกต้อง น่าจะเป็น Happiness ที่มีคำว่า Pursuit วางอยู่ข้างหน้า เขาจึงไม่เคยเลิกแสวงหา
ที่เขียนมาทั้งหมดไม่ได้หมายความว่า ฉันเชื่อว่าถ้าเราทุกคนเสาะแสวงหาแล้วจะเจอตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งเช่นในเทพนิยายแสนหวานของดิสนี่ย์ หรือหนังย้อมพลังใจเช่นในหนังฮอลลีวู้ดหรอกนะ
แค่รู้สึกว่า, แม้ตอนท้าย ไม่ว่าใคร คริส การ์ดเนอร์ หรือเราเอง - จะล้มลงและไปไม่ถึงปลายทางความสุข แต่ฉันเชื่อว่า อย่างน้อยความล้มเหลวที่เกิดจากการได้พยายามเสาะแสวงหา มันก็สามารถทำให้หัวใจเราอิ่มเอิบและพองโตได้มากกว่าความล้มเหลวที่เกิดจากการไม่ได้พยายามทำอะไรเลยแม้เพียงนิด
และหากความสุขเป็นเรื่องที่ต้องแสวงหา...หรือความรักก็เช่นเดียวกัน?
อยู่ๆ ฉันก็คิดถึงคำพูดของผู้หญิงคนนั้นขึ้นมาได้
ฉันชอบแววตาเป็นประกายยามที่เธอบอกเล่าถึงการตามหาความรักของเธอเป็นอย่างมาก พอๆ กับที่ภาวนาให้เธอได้พบเจอรักที่แสนดีอย่างที่หวังไว้
และหากสิ่งที่หวังไว้จะพลิกไปเป็นอีกเรื่องหนึ่ง...มันคงไม่เป็นไรหรอก ในวันที่เธอก็ได้เพียรพยายามต่อสู้และได้ลองเสาะแสวงหาแล้ว
เพราะจะมีใครสักกี่คนที่กล้ายืนหยัดและยืนยันเพื่อ ความรักและความสุข อย่างนี้?
คริส การ์ดเนอร์ หนึ่งคน, ผู้หญิงในหนัง The Road Home หนึ่งคน, มาติลด์แห่ง A Very Long Engagement หนึ่งคน, รวมถึงเธอผู้เชื่อมั่นว่าความรักของเธออยู่ที่นิวยอร์กคนนั้นอีกหนึ่งคน
ในวันเวลาที่ชีวิตผ่านโลกมา 25 ปี เป็นครั้งแรกที่ฉันพบว่าตัวเองชอบคำว่า Happiness และ Love ที่มีคำว่า Pursuit วางอยู่ก่อนหน้า มากกว่าสองคำนั้นที่มีคำว่า is all around ตามหลังอยู่เป็นไหนๆ
ฉันว่าประโยคแรกทำให้หัวใจอิ่มเอมได้มากกว่า
ขณะที่ประโยคหลัง ดูงั้นๆ ...ไม่ช่วยให้เราอยากใฝ่ฝัน และไม่ทำให้หัวใจเต้น
เพราะมีแต่เพียงมนุษย์ที่ตายแล้วเท่านั้น
ที่จะหยุดใฝ่ฝัน และเลิกเต้นระบำ
หรือคุณว่าไง?
ปล.
หลังจากคุยกันเรื่องเกี่ยวกับนิวยอร์ก สามสาวที่ยืนหยัดและยืนยันว่าตัวเองเป็นสาวกซีรี่ย์ Sex and the City ได้ถกกันเรื่อง Destiny ฉันชอบบทสรุปของพวกเราที่ว่า Destiny มีผลกับชีวิตเราแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นเราต้องทำเอง เพราะถ้ารักแท้ของติ๊กอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย แต่ติ๊กนั่งเล่นอยู่เฉยๆ ที่กรุงเทพฯ โดยวันๆ ไม่ทำอะไร ติ๊กจะได้เจอรักแท้ไหม?
อืม... เข้าท่าแฮะ
ว่าแต่ว่า พอจะทายกันได้ไหมว่ารักแท้ของฉันที่อยู่ที่แคลิฟอร์เนีย นี่เป็นใคร ใบ้ให้หน่อยนึงก็ได้ ว่าชื่อขึ้นต้นด้วย J นามสกุลขึ้นต้นด้วย G และเล่นบทเด่นในหนังที่ชื่อเกี่ยวกับภูเขา แต่มีเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ชายสองคนที่รักกัน ...ทายยากพอดูอยู่นะนี่ หุหุ
หมายเหตุ
*The Pursuit of Happyness : คำว่า Happyness ที่เป็นชื่อหนัง สะกดอย่างนี้จริงๆ ที่มาที่ไปมาจากการเขียนแบบผิดๆ ในบ้านรับเลี้ยงเด็กที่จัดการโดยพี่เลี้ยงคนจีน ซึ่งคิดว่า Happiness น่าจะสะกดแบบเดียวกับ Happy ฉันชอบที่หนังเลือกใช้คำนี้แทนค่าคำว่า Happiness ที่หมายถึงความสุข เพราะเมื่อเราสะกดมันแบบ Happyness มันดูเป็นความสุขที่เพี้ยนๆ แปลกๆ และเว้าแหว่งอยู่ในทีดี แต่ไม่ว่าจะเพี้ยน, แปลก, และขาดวิ่นแค่ไหน ความสุขก็ยังเป็นความสุข ... เหมือนกับที่ไม่ว่าคุณจะเลือกสะกดแบบไหน (ด้วย i หรือ y) ถ้าคุณมีความสุข ไม่ว่ามันจะสะกดแบบไหน มันก็คือความสุขเหมือนเดิม
**คนอเมริกันมักชื่นชมคนที่ต่อสู้ยิบตาจนประสบความสำเร็จด้วยตนเอง และมักจะยึดถือคนเหล่านั้นเป็นทั้งความหวังและฮีโร่ของสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ คนอย่างโอปร่าห์ วินฟรีย์, สตีฟ จ๊อบส์, หรือตัวละครอย่างร็อกกี้ ในหนังเรื่อง Rocky (ส่วนเจค จิลเลนฮาล ที่บ้านพ่อแม่รวยอยู่แล้วนั้น ไม่ใช่นะจ๊ะ)
***The Declaration of Independence:
http://tiktokthailand.exteen.com/20070310/the-pursuit-of-happynessThe Pursuit of Happyness Trailer