พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอิศเรศจุฑามณี ตรีพิธเพ็ชรรัตนาลงกฎ อรรคราโชรสวรสศวิบุลย อดุลยเดชมหาสุขุมาลย์ วงศวโรดม บรมราชกุมาร
คือ
พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระบวรราช วัง นับตามพระราชวงศ์นี้ นั้น พระองค์เป็นพระราชบุตร ทึ่ ๕๐ หรืออีกอย่างหนึ่ง เป็นที่ ๒๗ ตามจำนวน นับแต่พระองค์ที่เป็นพระราชกุมารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ที่ ๒ ในบรมราชวงศ์นี้ และเป็นพระโอรสที่ ๓ ตามจำนวนซึ่งประสูติเป็นพระองค์ หรือเป็นที่ ๕ ตามจำนวนซึ่งตั้งพระครรภ์ ในกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ตั้งพระครรภ์มาตั้งแต่เดือนอ้าย ปีเถาะ นักษัตร นพศก จุลศักราช ๑๑๖๙ เป็นปีที่ ๒๖ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถ ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ในแผ่นดินนั้นอยู่ ครั้นเมื่อพระราชบุตรพระองค์นี้ตั้งพระครรภ์ขึ้น ๔ เดือน ก็ได้เสด็จเลื่อนถานันดรราชอิสริยยศ อุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในแผ่นดินนั้น
ครั้นพระครรภ์ถ้วนทศมาส ก็ประสูติในวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง นักษัตรสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐ เป็นปีที่ ๒๗ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เวลา ๕ นาฬิกา แต่เที่ยงคืนวันนั้น พระอาทิตย์สถิตราศีสิงห์ พระพุธ พระเสาร์ พระลักขณา อยู่ราศีสิงห์ พระเคราะห์ทั้ง ๓ อยู่ร่วมราศีกัน พระจันทร์ พระพฤหัสบดี ๒ พระเคราะห็ อยู่ราศีกุมภ์ เล็งพระลักขณา พระอังคาร พระราหู ๒ พระเคราะห็ อยู่ราศีตุลย เป็นโยค แก่พระลักขณา แต่พระเสาร์ อยู่ราศี การประสูติครั้งนี้ เป็นไปตามกาลตามสมัย ที่พระราชวังเดิมปากคลองบางกอกใหญ่ ครั้งนั้น เรียกว่าพระบวรราชวังใหม่ อยู่ในกำแพงกรุงธนบุรีโบราณ
ตรงกับ วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๑ ทรงพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี หรือเป็นที่รู้จักอย่างดีคือ เจ้าฟ้าน้อย คุณหญิงนก เป็นพระพี่เลี้ยง
ป้อมวิไชย ประสิทธิ์ ท้องพระโรงพระราชวังเดิม
พระราชวังเดิม เป็นพระราชวังหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ในพื้นที่ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำแหน่งที่ตั้งของพระราชวังหลวงนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากมีป้อมปราการที่มั่นคง และสามารถตรวจการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญด้วย
อาณาเขตของพระราชวังเดิมในสมัยของพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น มีพื้นที่ตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม (คลองนครบาล) โดยรวมวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) เข้าไปในเขตพระราชวัง
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร โดยสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้น พระราชวังกรุงธนบุรีจึงได้ชื่อว่า พระราชวังเดิม ตั้งแต่บัดนั้น และทรงกำหนดเขตวังให้แคบกว่าเดิม โดยให้วัดทั้งสองดังกล่าวแล้วอยู่นอกเขตพระราชวัง
เนื่องจากพระราชวังกรุงธนบุรี มีความสำคัญในทำเลที่ตั้ง จึงทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาประทับ พระราชดำรินี้ได้สืบทอดมาทุกรัชกาล
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือ
ป้อมวิไชยประสิทธิ์ (ปัจจุบัน)
ป้อมวิไชยประสิทธิ์ เดิมชื่อ ป้อมวิไชยเยนทร์ หรือป้อมบางกอก สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์กราบบังคมทูลแนะนำให้สร้างป้อมสองฝั่งแม่น้ำเจ้า พระยา ทั้งทางฝั่งตะวันออก คือ บริเวณ ระหว่างวัดพระเชตุพนกับปากคลองตลาดในปัจจุบัน และฝั่งตะวันตก คือ บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ที่เป็นป้อมอยู่ในปัจจุบัน แล้วให้ขึงสายโซ่อันใหญ่ขวางลำน้ำตลอดถึงกันทั้งสองฟากลำน้ำ เพื่อป้องกันข้าศึกที่มาทางทะเล สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นชอบด้วยและได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์เป็นแม่กองก่อป้อมจนแล้วเสร็จในระหว่างปีพุทธ ศักราช ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑ การขึงโซ่กั้นเรือได้ถูกกล่าวถึงในเหตุการณ์กบฏมักกะสัน ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา มีการรบระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เนื่องจากทางไทยต้องการขับไล่ฝรั่งเศสออกจากประเทศไทย ในการรบครั้งนี้ป้อมทางฝั่งตะวันออกได้รับความเสียหายมาก จึงโปรดให้รื้อลง
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้เอกราชให้ชาติไทยและสถาปนากรุงธนบุรี เป็นราชธานีทรงสร้างพระราชวังหลวงในบริเวณป้อมวิไชยเยนทร์ พร้อมกับทรงปรับปรุงป้อมนี้ และพระราชทานนามใหม่ว่า ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ในปี พ.ศ.๒๓๑๔
๐ ๐ ๐ ๐ ๐
เมื่อพระชนมายุพระราชกุมารได้ ๑๓ เดือน หย่อนอยู่ ๗ วัน สมเด็จพระบรมชนกนาถซึ่งเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคลอยู่ในเวลานั้น ก็ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชบรมราชาภิเษกในวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ พระราชกุมารพระองค์นี้ราชบริพารก็ได้เชิญตามเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถมาในพระ บรมมหาราชวัง แต่วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ก่อนแต่วันพระบรมราชาภิเษกขึ้นไปได้ ๑๐ วัน ทรงพระเจริญอยู่ในพระบรมมหาราชวังจนพระชนมายุได้ ๑๒ ขวบ กับ ๖ เดือน ก็ได้รับมงคลการโสกันต์ในพระราชพิธีใหญ่อย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า
เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์
พระราชกุมารพระองค์นี้ มีพระชนมายุได้ ๑๖ ปี หย่อนอยู่เดือนหนึ่ง ได้เสด็จกลับคืนไปสู่พระราชวังเดิมได้ทำราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่ง เกล้าเจ้าอยู่หัว มีความชอบ จึงได้โปรดทรงตั้งให้เป็นเจ้าฟ้าต่างกรม ปรากฏพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๓๗๕ พระชนมายุ ๒๔ พรรษา) ได้บังคับบัญชาว่ากล่าวกรมทหารแม่นปืนหน้า ปืนหลัง และญวนอาสารบแขกอาสาจาม เป็นแม่ทัพออกไปรบเมืองญวนครั้งหนึ่ง เมื่อปีฉลูนักษัตร ตรีศก จุลศักราช ๑๑๒๓* เป็นปีที่ ๑๙ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
* พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๖๗ หรือ จ.ศ.๑๑๘๖ ปีที่ ๑๙ ในแผ่นดิน คือ พ.ศ.๒๓๘๖ หรือ จ.ศ.๑๒๐๕ ดังนั้น จ.ศ.๑๑๒๓ น่าจะไม่ถูกต้อง เพราะพระราชกุมารประสูติในวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง นักษัตรสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐
อาคารตำหนักเก๋ง ที่ประทับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชวังเดิม เมื่อครั้งทรงทำราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๓๖๗ - ๒๓๙๔ ก่อนที่จะทรงรับบวรราชาภิเษก
อาคารตำหนักเก๋ง เป็นสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบตะวันตกหรือเรียกว่า ตึกแบบอเมริกัน อาจถือได้ว่าอาคารนี้เป็น ตำหนักแบบตะวันตกหลังแรกที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รูปแบบโดยทั่วไป เป็นตึกก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มีหน้าจั่วปีกนก ๒ ด้าน บริเวณชั้นบนของตำหนักเป็นส่วนที่ประทับ กั้นเป็นห้องต่าง ๆ ด้วยผนังไม้
ปืนใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระตำหนักพระบาทสมเด็จพระปิ่เกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในพระราชวังเดิม
สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๐๕ ค.ศ.๑๘๖๒
พ.ศ.๒๓๖๘ พระราชทานขนานชื่อปืนใหญ่
ศุภมัศดุ ศักราช ๑๑๘๗ ปีระกา นักสัตว์สัพศก ณ วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๗ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมง พระบาทบรมนารถบรมบพิต สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาณ ทรงพระราชทานขนานชื่อปืนใหญ่เก่า,ใหม่ จาฤกชื่อเป็นอักษรพจประจำบอกไว้สำหรับพระนคร ๒๗๗ บอก ดังนี้
ฯลฯ
การปืนใหญ่นั้นได้ต่อสู้รักษาพระนคร และขอบขัณฑสีมา มาตั้งแต่อดีตกาล สามารถสืบสาวได้ว่ากองทัพไทยได้เริ่มนำปืนใหญ่มาใช้ตั้งแต่ครั้งแผ่นดิน สมเด็จพระเพทราชา เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานขนานชื่อปืนใหญ่เก่า, ใหม่ จาฤกชื่อเป็นอักษรประจำบอกไว้ สำหรับพระนคร ๒๗๗ บอก ณ วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๗ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๘๗ นั้น นับได้ว่า ทรงเห็นความสำคัญ และคุณค่าของการปืนใหญ่ เป็นพระมหากรุณาธิคุณ และศิริมงคล แก่การปืนใหญ่ และรี้พลสกลไกรที่ใช้สอยและทำงานปืนใหญ่ ทั่วกัน ก็วันนี้แล ท่านผู้รู้ได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า ตรงกับวันที่ ๑๗ ธันวาคม ทางการทหารบกจึงนับเอา
วันที่ ๑๗ ธันวาคม เป็นวันทหารปืนใหญ่
ป้อมพิฆาตข้าศึก
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ และป้อมปราการเพื่อป้องกันพระนครและปากน้ำสำคัญขึ้นหลายแห่ง
พ.ศ.๒๓๗๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงนำกองกำลังทหารบก สร้าง "ป้อมพิฆาตข้าศึก" ขึ้น เพื่อรักษาปากน้ำแม่กลอง เมืองสมุทรสงคราม นับเป็นพระราชกิจจานุกิจแรก เกี่ยวกับราชการบ้านเมืองที่ได้บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ
"ป้อมพิฆาตข้าศึก" ตั้งอยู่ที่ปากคลองแม่กลองฝั่งตะวันออก ต่อจากวัดบ้านแหลม และสถานีรถไฟแม่กลอง ในปัจจุบัน
พ.ศ.๒๔๔๙ ทางราชการได้รื้อป้อมดังกล่าว ตั้งเป็นกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๑
พ.ศ.๒๔๖๕ กระทรวงทหารเรือในเวลานั้น ได้ยุบเลิกกองโรงเรียนพลทหารเรือ ที่ ๑ และ ยกสถานที่ให้กระทรวงมหาดไทย สำหรับเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ ดังปรากฎในปัจจุบัน
ป้อมพิฆาตข้าศึก >
การทหารเรือ . . . เข้าสู่ยุคสมัยใหม่
การทหารเรือ ของไทยเรานั้น เริ่มมีเค้าเปลี่ยนจากสมัยโบราณเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้ และผู้ที่เป็นกำลังสำคัญ ในกิจการด้านทหารเรือในสมัยนั้น คือ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และ จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) ด้วยทั้งสองท่านนี้มีความรู้ในวิชาการต่อเรือเป็นอย่างดี จึงได้รับหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาการทหารเรือในสมัยนั้น
เรือที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (เฉพาะลำที่สำคัญ)
๑.เรือเทพโกสินทร สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๔ เป็นเรือกำปั่นหลวง เคยใช้ออกไปค้าขายยังต่างประเทศ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ ใช้เป็นเรือแม่ทัพหน้า คือเจ้าหมื่นไวยวรนารถ ยกทัพไปรบกับญวน
๒.เรืออมรแมนสวรรค์ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๕ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นผู้สร้างถวาย สำหรับเป็นเรือพระที่นั่ง สร้างที่นครศรีธรรมราช เป็นเรือกำปั่นแปลง ปากกว้าง ๓ วา สร้างอย่างประณีตวิจิตรงดงามใช้เวลาเกือบ ๗ ปี จึงแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๒ ใช้เป็นเรือสำหรับ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี ผู้เป็นแม่ทัพยกทัพเรือ ไปปราบพวกเจ้าแขก ที่ก่อจลาจลทางปักษ์ใต้
๓.เรือปักหลั่น และ เรือมัจฉาณุ (ลำที่หนึ่ง) ไม่ปรากฏว่าสร้างในปีใด เป็นเรือใบขนาดใหญ่ สำหรับบรรทุกทหาร และ เสบียงไปส่งกองทัพ เรือทั้งสองลำนี้ ได้ใช้ในราชการทัพเรือ พ.ศ.๒๓๘๒ คราวปราบพวกเจ้าแขก ที่ก่อการจลาจลทางปักษ์ใต้ และ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ คราวยกทัพไปรบกับญวน
๔.เรือแกล้วกลางสมุทร (Ariel) สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๘ ที่จันทบุรี เป็นเรือกำปั่นใบ ลำแรกที่สร้างโดยคนไทย คือหลวงนายสิทธิ์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) เมื่อคราวไปช่วยบิดาของท่านสร้างเมืองใหม่ ที่จันทบุรี เป็นเรือชนิดบริกขนาด ๑๑๐ ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ ๖ กระบอก เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๒ ไปราชการทัพปราบเจ้าแขก ที่ก่อการจลาจลทางปักษ์ใต้
๕.เรือพุทธอำนาจ (Fairy) สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๙ เป็นเรือชนิดบาร์ก (Barque) ขนาด ๒๐๐ ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ ๑๐ กระบอก เรือลำนี้เป็นของ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ ทรงเป็นแม่ทัพเสด็จไปราชการทัพรบกับญวณ ตีเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน) ทรงใช้เป็นเรือพระที่นั่งของแม่ทัพ
ต่อมา ได้แบ่งหน้าที่กันโดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงบังคับบัญชาทหารเรือวังหน้า ส่วนทหารเรือบ้านสมเด็จอยู่ในปกครองบังคับบัญชาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรี สุริยวงศ์ ในยามปกติทั้งสองฝ่ายนี้ไม่ขึ้นแก่กัน ต่างขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงฝึกฝนทหารของพระองค์ โดยใช้ทั้งความรู้และความสามารถ และ ยังทรงมุ่งพระราชหฤทัยในเรื่องการค้าขายให้มีกำไรสู่แผ่นดินด้วย เพราะได้ทรงสร้างเรือเดินทะเล เพื่อการค้าระหว่างประเทศ มิใช่สร้างแต่เรือรบ
เมื่อได้มีพวกญวนเข้ารีตอพยพเข้ามาสวามิภักดิ์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงฝึกหัดพวกญวนเหล่านี้ ซึ่งได้ทรงจัดให้เป็นพลประจำการ และกำหนดให้มีหน้าที่ประจำป้อม จึงได้ทรงแปลตำราทหารปืนใหญ่ภาษาอังกฤษมาใช้เป็นหลักฐานเล่มหนึ่ง เรียกว่า "ตำราปืนใหญ่" ขึ้น ทั้งนี้ ทรงได้ศึกษาวิชาการทหารปืนใหญ่จากครูชาวฝรั่งเศส มาก่อนแล้ว และได้ทรงเพิ่มเติม วิชาของไทยลงไปด้วย เช่นการเขียนยันต์ และพระคาถาต่างๆ กำกับ
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บังคับว่ากล่าว ทหารปืนใหญ่ กรมทหารแม่นปืนหน้า กรมทหารแม่นปืนหลัง และกองทหารญวนอาสารบ แขกอาสาจาม ซึ่งเป็นกองทหารที่สำคัญ และมีกำลังพลมาก
"กรมทหารแม่นปืน" มีหน้าที่เก็บรักษาปืนใหญ่ ควบคุมปืนประจำป้อม และฝึกซ้อมการยิงปืนใหญ่ เมื่อมีการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค มีหน้าที่ควบคุมปืนหัวเรือพระที่นั่ง นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่เฝ้าพระบรมมหาราชวัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกหัวเมือง เดิมมีอยู่แล้ว ๑ กรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเพิ่มอีก ๑ กรม บรรจุคนที่อยู่บ้าญวนสามเสน เรียก "กรมทหารฝรั่งแม่นปืนหลัง" ส่วนกรมที่มีอยู่เดิม ให้เรียก "กรมทหารฝรั่งแม่นปืนหน้า"
ผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่
พ.ศ.๒๓๘๓ ทรงเป็นผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่และทหารญวนต่างด้าว
ทรงพระราชนิพนธ์ตำราปืนใหญ่ขึ้น โดยทรงแปลจากตำราภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย กล่าวถึงความเป็นมาของปืนใหญ่ตั้งแต่ยังไม่มีลำกล้อง และ ทรงนำชื่อปืนใหญ่ ทั้ง ๒๗๗ กระบอก ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานขนานชื่อไว้ เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๘ มารวบรวมไว้ รวมทั้งตำราทำดินปืนของไทยแต่เดิม ซึ่งนอกจากส่วนผสมดินปืนแล้ว ยังต้องมียันต์ และคาถากำกับด้วย ส่วนการฝึกหัดพลประจำปืนนั้น อยู่ในตอนที่ ๔ และ ตอนที่ ๕
ผมขอนำเสนอเฉพาะตอนต้นของแต่ละตอน พอเป็นตัวอย่าง หากมีท่านใดสนใจ จะนำมาเผยแพร่ให้ศึกษากัน หมดทั้งเล่ม ต่อไป
ตอนที่ ๑
ตำนานปืนใหญ่
- - - - -
จะกล่าวเล่มต้นพงศาวดารปืนใหญ่ และตำราปืน ตำราดิน ตั้งแต่ครั้งศักราชฝรั่ง ๑๒๘๐ ปี คิดเป็นจุลศักราชไทยได้ ๖๔๒ ปี มาจนถึงทุกวันนี้ ได้แปลออกจากภาษาอังกฤษ เป็นคำไทย ณ วันศุกร์เดือนยี่ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีฉลู ตรินิศก จุลศักราช ๑๒๐๓ ใจความว่า . . .
ฯลฯ
ตอนที่ ๒
ทำเนียบนามปืนใหญ่
ฯลฯ
ตอนที่ ๓
ตำราทำดินปืน และยิงปืนใหญ่
- - - - -
ตำราดินสำหรับพระพิไชยสงครามจะให้ศัตรูพ่ายแพ้ ท่านให้ประสมยาดิน ดังนี้
ฯลฯ
ตอนที่ ๔
การหัดปืนใหญ่รบกลางแปลง
- - - - -
วิธีหัด
ปืนใหญ่รบกลางแปลงคราวนี้ จะว่าด้วยอย่างธรรมเนียมที่จะหัดปืนใหญ่รบกลางแปลง และบอกให้ทหารยืนฝึกหัดในกระบวนรบต่างๆ ตามอย่างใหม่ที่ได้ใช้มา ตั้งแต่ศักราชฝรั่งได้ ๑๘๓๑ ปี คิดเป็นจุลศักราชไทย ตั้งแต่ ๑๑๙๓ โทศก มาจนถึงทุกวันนี้ และตำรานี้ได้แปลออกจากภาษาอังกฤษ ภาษามะลิกัน ภาษาฝรั่งเศส ชาติอื่นๆอีกหลายภาษา ในใจความนั้น ว่าด้วยธรรมเนียมทหารจะยืนประจำที่ตามตำแหน่ง เมื่อเพลาจะยิง จะใช้ปืนสำหรับจะได้เป็นคติร่ำเรียน แห่งข้าราชการฝ่ายทหารปืนใหญ่ต่อๆ ไป หวังจะให้เข้าใจชำนิชำนาญในการที่จะใช้สอนฝึกหัดทหาร และทำงานปืนใหญ่
ฯลฯ
ตอนที่ ๕
การหัดปืนป้อม และปืนเรือรบ
- - - - -
เล่มนี้จะว่าด้วยฝึกหัดทหารให้รู้ในทำนองที่จะยิงปืน กระสุนโตตั้งแต่ ๗ นิ้ว ๘ นิ้ว ๙ นิ้ว ๑๐ นิ้ว ๑๑ นิ้ว ใจความว่าด้วยธารมเนียมซึ่งทหารจะยืนประจำที่ตามตำแหน่ง เมื่อเพลาจะยิงปืนรบในป้อม ในค่าย และในกำปั่นรบหลวง จะให้นายทหารร่ำเรียนวิชาการปืนใหญ่ต่อๆ ไป จะได้เข้าใจชำนิชำนาญในการจะใช้สอยและทำงานปืนใหญ่ คราวนี้จะว่าด้วยการฝึกหัดยิงปืนบนป้อมก่อน
ฯลฯ
วิธีการฝึกทหารแบบตะวันตก
ได้ทรงจัดวิธีการฝึกทหารแบบตะวันตกทั้งด้านยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี แต่เนื่องจากเป็นวิชาใหม่ในประเทศ ยังไม่มีคำบอก คำสั่งมาก่อน จึงต้องใช้คำบอก คำสั่งเป็นภาษาอังกฤษ (ลิ้นไทย) เช่น . . .
ประการหนึ่ง คนในสำรับที่จะยิงปืนใหญ่นี้ต้องเปลี่ยนการทำไปให้รอบ จำต้องหัดให้เป็นจนครบท่าทุกๆ คน เมื่อไรคำบอกว่า "แจนจะฟะโรน" คนยืนข้างขวาปืน นั้น ถอยหลังลงมา ยืนที่คนตรงหลัง และคนข้างซ้ายปืนนั้น เดินขึ้นไปข้างหน้า แล้วยืนที่ๆ คนตรงหน้า
"แจนจะฟะโรน" ท่านว่าคือ Change Front ครับ ลองดูอีกตัวอย่างนะครับ
. . . และเมื่อไรจะออกเดินเข้าไปยืนในที่ยิงปืนนั้น คนที่เป็นเลข ๑ เขาบอกว่า "เรกเฟ เตกโปษ แอดเกิน กวิกมาจ์" ทหารปืนใหญ่ยุคคอมพิวเตอร์ แน่ๆ มาจากสำนักประเทศไหน ช่วยแปลหน่อยครับ ท่านว่า คือ Right Face, Take Post At Gun, Quick March ครับ
http://iseehistory.socita.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538711144.