ธรรมเพื่อความหลุดพ้น น้อมลงที่ใจ
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
มัน เป็นโลกโกลาหลอยู่ทุกเมื่อ ความแก่ ความเจ็บ ความตายแต่ละอย่าง ๆ มันเป็นโกลาหลตามธรรมชาติ ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน ไม่ลงธรรมาสน์อีกด้วย ไม่จบเกษียนอีกด้วย บรรจุอยู่ทีนี้ ลักษณะของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประชุมกันเป็นกายที่เรียกว่า ?รูป? ก็โกลาหลไปในทางบูดเน่าเปื่อย อยู่ไม่มีกลางวันกลางคืน ไม่จบเกษียณอีกด้วย ไม่ลงธรรมาสน์อีกด้วย
คุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นมหาโลกุตรคุณ ซึ่งรวมเข้าทั้งคุณของพระบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ทวด หรือท่านผู้มีคุณ หรือทั่วทั้งไตรโลกธาตุ ก็เป็นเมืองขึ้นของคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็กลมกลืนกัน ไม่แสลงกัน คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แท้ก็กลมกลืน ไหลขึ้นสู่พระนิพพาน อันเป็นที่สุดทุกข์โดยชอบ เป็นเมืองขึ้นของพระนิพพานอีก อันนี้ก็ไม่ลงธรรมาสน์ เป็นของจริง โกลาหลอยู่ ไม่มีกลางวันกลางคืน แต่ก็ไม่แย่งธรรมาสน์กัน ไม่ได้เป็นสงครามกัน
ความจริงธรรมทั้งหลาย ไม่ได้เป็นสงครามกัน ธรรมส่วนไหนก็เป็นจริงอยู่ส่วนนั้น ไม่ได้แย่งธรรมาสน์ ไม่ได้หาเสียงธรรมฝ่ายโลกุตระ ก็เป็นจริงอยู่ ไม่มีกลางวันกลางคืนมีอยู่ ทรงอยู่ ธรรมอันว่าธรรมทั้งหลายเป็นของที่มีอยู่ทรงอยู่ อันนี้ก็โกลาหลอยู่ไม่มีกลางวันกลางคืน เป็นจริงอยู่อย่างนั้น ใครจะเห็นหรือไม่เห็นก็ตาม ไม่ลงธรรมาสน์ ไม่จบเกษียณ ไม่มีเอวัง
เหมือน เราเทศน์ภายนอก สิ่งทั้งหลายเป็นของจริงอยู่ ไม่มีกลางวันกลางคืน ส่วนท่านผู้พ้นไปแล้ว ก็เงียบสงัดจากไตรโลกธาตุ ก็เป็นของจริงอยู่ ไม่มีกลางวันกลางคืน ผู้ที่เข้าอนุปาทิเสสนิพพานแล้ว แปลว่าธรรมอันไม่ตาย ก็เป็นของจริงอยู่ ไม่มีกลางวันกลางคืน ไม่ลงจากธรรมาสน์อีกด้วย ไม่จบเกษียณอีกด้วย ไม่มีพรรคมีพวกอีกด้วย ไม่แยกพรรคแยกพวกอีกด้วย ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญาย ทฏฺฐพฺพํ พระบรมศาสดาสอนว่า ให้รู้ตามเป็นจริงด้วย ปฏิบัติตามเป็นจริงด้วย จะหลุดพ้นจากความหลงของตนเอง ตามเป็นจริงด้วย
การ ปฏิบัติพระพุทธศาสนาก็มีจุดหมายปลายทางแห่งเดียว เพื่อหลุดพ้นเท่านั้น พุทธประสงค์ ธรรมประสงค์ สังฆประสงค์ พุทธศาสนา ธรรมศาสนา สังฆศาสนา ก็มีความหมายอันเดียวกัน พุทธหนทาง ธรรมหนทาง สังฆหนทาง คือหนทางพ้นทุกข์ ก็มีความหมายอันเดียวกัน
พุทธแว่นส่องทาง ธรรมแว่นส่องทาง สังฆแว่นส่องทาง ก็มีความหมายอันเดียวกัน พุทธทางร่มเย็น ธรรมทางร่มเย็น สังฆทางร่มเย็น ก็มีความหมายอันเดียวกัน พุทธโลกุตระ ธรรมโลกุตระ สังฆโลกุตระ ก็มีความหมายอันเดียวกัน พุทธทรัพย์ ธรรมทรัพย์ สังฆทรัพย์ ก็มีความหมายเดียวกัน คือทรัพย์ภายใน ถ้าทรัพย์ภายในมีทรัพย์ภายนอก ก็ค่อยเป็นค่อยไป แต่ทรัพย์ภายในไม่อันตรธาน ทรัพย์ภายนอกอันตรธานเป็นขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนฟ้าแลบ ลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี เท่ากับฟ้าแลบ เวลาฟ้าไม่แลบมีมากกว่าฟ้าแลบ อุปมาเหมือนเวลา เสื่อมลาภ เสื่อมสุข เสื่อมสรรเสริญ
เมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นของจริงมีอยู่ ไม่มีกลางวัน กลางคืน เราก็ไม่มีปัญหาที่จะสงสัยพระพุทธศาสนา ธรรมศาสนา สังฆศาสนา พุทธศาสนา ธรรมศาสนา สังฆศาสนาก็มีอยู่ที่สกลกาย วาจา ใจของเรา ที่เราประพฤติ ถ้าเราจะย่นลงเป็นสาม กายพุทธ วจีพุทธ มโนพุทธ กายธรรม วจีธรรม มโนธรรม กายสงฆ์ วจีสงฆ์ มโนสงฆ์ หมายความว่า ในสิ่งที่ไปในทางถูกน้อมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ลงมาเป็น ๓ ปิฎก อยู่ในปิฎกกายบ้าง ปิฎกวาจาบ้าง อยู่ในปิฎกใจบ้าง แต่ว่าปิฎกกาย ปิฎกวาจา เป็นเมืองขึ้นของปิฎกใจอีกเหมือนกัน ย่นลงมาเป็นเอกนิบาต ทีนี้
ศีล ๕ ข้อเป็นอารมณ์ของกรรมฐานเหมือนกัน ก็จัดเป็นศีลและสมาธิอยู่ในตัว เพราะตัดสินลงใน ณ ที่นั้นแล้วทีนี้ ผู้ไม่มีปัญญาก็รักษาศีลไม่คุ้ม ก็มีทั้งสติ ทั้งปัญญาในชั้นนั้น ก็เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา รวมลงในขณะเดียว อยู่แห่งเดียวกัน เพราะเป็นของอัญญะมัญญะเสมอกัน หน้าก็ดี ตาก็ดี จมูกก็ดี เป็นพลังรวมอยู่ที่แห่งเดียวกัน หนังก็ดีเนื้อก็ดี เอ็นก็ดี ก็เป็นพลังอยู่ที่แห่งเดียวกัน อัญญะมัญญะซึ่งกันและกัน อยู่อาศัยซึ่งกันและกัน เป็นน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอยู่ในขณะเดียวกัน
ศีล เป็นของสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เมื่อศีลเป็นเบื้องต้น สมาธิก็เป็นเบื้องต้น ปัญญาก็เป็นเบื้องต้น เบื้องต้นของพรหมจรรย์ในทางพระพุทธศาสนา พรหมจรรย์ในทางพระพุทธศาสนาเบื้องต้น หมายถึงศีลห้า เป็นแก่นของพรหมจรรย์เป็นรากแก้ว เหตุฉะนั้น สังคายนาครั้งที่ ๑ พระมหากัสสปะมหาเถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์จึงทรงพระมติว่า ควรสังคายนาพระวินัยก่อน เพราะพระวินัยเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา จึงให้พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนา เพราะท่านเป็นผู้แตกฉาน รักษาศีลก็คือรักษาตัวเอง ก็คือรักษาพระพุทธศาสนา ธรรมศาสนา สังฆศาสนา