ถ้าจะพูดถึงของปฏิกูลน่าเกลียดแล้ว น้ำเน่าซึมซาบซ่านออกมาจากภายในอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งๆ เราชำระล้างตั้ง ๒-๓ ครั้งยังไม่สะอาดเลย แสดงว่าภายในที่เราไม่เห็นด้วยตายังเน่ามากกว่านี้ ช่องทวารต่างๆ มีปากเป็นต้น เหม็นเน่าด้วยปฏิกูล แม้แต่อาหารที่รับประทานเข้าไป จะเป็นของดีมีค่าสักปานใดก็ต้องเข้าไปคลุกเคล้าด้วยน้ำลายอันเป็นปฏิกูลเสียก่อน จึงจะกลืนลงไปได้ ที่ท่านกล่าวไว้ว่าเปรตกินน้ำเน่าของปฏิกูลนั้น ถ้าเรามาพิจารณาให้ดีแล้ว มิใช่เปรตอยู่ฟากฟ้าป่าหิมพานต์ น่าจะเป็นเปรตหากินอยู่ในตลาดบ้านเรานี่เอง ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์มีอรรถวิจิตรพิศดาร ไว้ให้ผู้มีปัญญาญาณพิจารณา ด้วยตนเอง ลูกไม้ถ้าไม่เก็บไว้ทั้งเปลือกก็เอาไว้นานไม่ได้ ฉันใด คำสอนของปราชญ์ทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน เนื้อแท้ต้องหุ้มด้วยเปลือกหนา คนผู้ไม่มีปัญญาจึงไม่สามารถหยั่งรู้ถึงคำสอนของท่านได้
ธรรมดานิสัยของคนเรา ต้องถือว่าตนดีกว่าคนอื่นเสมอ ทั้งๆที่ตนเสมอเขาหรือบางทีอาจเลวกว่าเขาไปเสียอีก ซ้ำมานะชนิดนี้เป็นกำแพงปิดกั้น ไม่ให้คนเราเกิดปัญญาแสงสว่างรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมทั้งหลาย ธรรมชั้นสูงมรรคผลนิพพานอย่าไปหาเลยในที่อื่น ในคัมภีร์พระไตรปิฏกทั้งหมดก็ไม่เห็น ถ้าพิจารณาธรรมขั้นต้นๆ คือไม่เห็นตัวของเราเป็นผีเป็นป่าช้าแล้ว ก็จะกลัวคนอื่นที่ตายไป ไม่เห็นตัวของเราเป็นของปฏิกูลโสโครกพึงเกลียด แล้ว ก็มีแต่จะเพิ่มความเมาเข้าใจว่าตนสวยตนงาม ถึงกับเอากิเลสเป็นฝูงเข้ามาตั้งทัพอยู่ในกายในใจ ประกอบกิจการงานอันใดถึงแม้จะเป็นทางดีหรือทางชั่ว ล้วนแล้วแต่ทำอยู่ใต้บังคับของกิเลสทั้งสิ้น
ฉะนั้น เมื่อผู้ใดมาพิจารณาตัว คือกายอันนี้โดยแยบคายเห็นตามเป็นจริงแล้วว่า ตัวของเรานี้คือซากศพซากหนึ่ง จะตายหรือยังไม่ตายก็ได้ชื่อว่าเป็นผีและเป็นของปฏิกูลน่าพึงเกลียด เพราะเต็มไปด้วยของปฏิกูลน้ำเน่า ของโสโครกไหลออกมาตามช่องทวารต่างๆ อยู่เป็นนิตย์ ผู้พิจารณาเห็นชัดอย่างนี้เรียกว่า เห็นผีเป็นของงาม เป็นดอกไม้ประดับของพระโยคาวจรผู้ท่านไม่ประมาทแล้ว ตรงกันข้ามถ้ามาหลงมัวเมาเข้าใจว่ากายก้อนนี้เป็นของดี ประดิษฐ์คิดตกแต่งส่งเสริม เรียกว่าเป็นดอกไม้ของมาร กายหรือผีก้อนนี้จึงเป็นของงามทั้งของพระโยคาวจรและของมารด้วย ถ้าเป็นพระแล้วก็เห็นอย่างพระ ถ้าเป็นมารก็เห็นอย่างมาร แต่ในที่นี้พูดถึงเรื่องของพระ
พระเห็นอย่างนั้นแล้วทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท สามารถน้อมนำเข้ามาพิจารณาในกายของตน จนให้เกิดความสลดสังเวชเบื่อหน่าย คลายเสียจากความรักใคร่ยึดมั่นในรูปขันธ์ จนเข้าขั้นฌานสมาธิได้ในที่สุด ฉะนั้น จึงเรียกว่า
“ดีอยู่ที่พระ” คือพิจารณาให้เห็นอย่างพระจึงจะดีอย่างพระได้ จะเป็นพระเป็นเณรก็ตามหากยังพิจารณาไม่เห็นชัดแจ้งอย่างแสดงมาแล้วนี้ เป็นพระเป็นเณรแต่ชื่อแต่เพศ ความรู้ความเห็นยังไม่เป็นพระเป็นเณร
ถ้าพิจารณาเห็นชัดแจ้งดังแสดงมาแล้วนั้น อย่าว่าแต่พระแต่เณรเลย แม้ฆราวาสหรือเด็กที่ยังอมมืออยู่ก็เป็น พระขึ้นมาได้โดยสมบูรณ์ พระอะไร ก็พระอริยเจ้านั่นแหละ เพราะมาเห็นแจ้งตามสัจจะของจริง จึงเป็นพระอริยะขึ้นมาได้
ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเมื่อสรุปความลงแล้ว ก็คือ
สอนให้ละสิ่งที่ผิดทั้งปวง ประกอบแต่สิ่งที่ถูกต่อไป สิ่งที่ผิดนั้นถ้าหากยังพิจารณาไม่เห็นชัดแจ้งด้วยตนตามความเป็นจริงก่อนก็ยังละไม่ได้ ท่านสอนให้ละแต่เฉพาะของที่เป็นจริงมีจริง มิใช่ของไม่มีจริง ถ้าจะว่าถึงของจริงแล้วท่านไม่ว่าละ ท่านว่าเห็นตามเป็นจริงเท่านั้น ของจริงต้องเป็นจริงอยู่คงที่ ผู้ไปรู้ไปเห็นตามเป็นจริงแล้ว ของจริงมิได้หายสูญไปไหน แต่ผู้ไปเห็นตามเป็นจริงนั้นละถอน ไม่เข้าไปยึดมั่นในสิ่งนั้นต่างหาก
อะไรเป็นของจริง ดังได้แสดงมาแล้วแต่ต้น คือ ตัวของเราท่านว่ามีของจริงอยู่ครบถ้วน เมื่อก่อนเห็นคนอื่นตายเรียกว่าผี ถึงกลับกลัวและเกลียด เมื่อมาพิจารณาจน ให้ปัญญารู้แจ้งเห็นตามความเป็นจริงแล้วว่า ตัวของเรานี้ก็คือผีทั้งตัวและเป็นปฏิกูลทั้งตัว จนเกิดความสลดสังเวช เบื่อหน่าย ไม่เข้าไปหลงยึดถือมั่นสำคัญว่าเป็นตนเป็นตัวจริงๆจังๆ
ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ก็ประกอบแต่คุณงามความดี อันจะให้เกิดประโยชน์สุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า การทำทานก็ปราศจากมัจฉริยะโดยเด็ดขาด และยอมสละความสุขจอมปลอมซึ่งเป็นโลกียะ กล้ารักษาศีลด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์ แม้จะภาวนาอบรมสมาธิก็จะยอมพลีชีพเพื่อบูชาพระรัตนตรัย ไม่เห็นแก่ความเจ็บเมื่อยปวดเหน็บ และทนผจญต่อสู้กับอารมณ์ต่างๆ จนให้ลุล่วงถึงจุดหมายปลายทางได้
อันธรรมของจริงทั้งหลาย มีพร้อมอยู่ที่ตัวของเรานี้ครบถ้วน แต่ก็ยังไม่เห็นตามเป็นจริงของมัน แล้วเมื่อไรเล่าจะไปเห็น เมื่อไม่เห็นตามเป็นจริงของมันอยู่ตราบใด ก็ได้ชื่อว่ายังหลงยึดหลงถือมันอยู่ตราบนั้น เมื่อยังมีชีวิตก็ยังหลงยึดถือมันอยู่ ตายไปแล้วก็ยังยึดถืออยู่ตามเดิม ใครจะมาแก้ให้
หากมาพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นตามเป็นจริง เมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้ไม่หลงยึดถือแล้ว เราเองก็เป็นสุขเพราะอยู่ด้วยความรู้ความเข้าใจตามเป็นจริง ไม่หลงเป็นทาสของร่างกาย ถึงแม้จะบำรุงและถนอมมันไว้ก็ขนาดอุดช่องรั่วของเรือพอเข้าถึงฝั่ง หากจะแตกดับในเวลาใด ก็คล้ายกับเรือเข้าถึงฝั่งแล้ว หมดภาระไปที
พูดมากก็เป็นเรื่องยืดยาว จึงขอยุติเพียงแค่นี้ เอวํฯ
(จากการแสดงธรรม ณ วัดเจริญสมณกิจ จ.ภูเก็ต วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๐๖) (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 120 พฤศจิกายน 2553 โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9530000155034