เรื่องไม่รู้เกี่ยวกับปลา Salmon
โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
คน ไทยรู้จักปลา Salmon (อ่านว่า แซม-มอน ไม่ใช่ แซล-มอน) มากขึ้นเช่นเดียวกับชาวโลกเพราะบริโภคมากขึ้นเป็นลำดับทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ดี มีหลายสิ่งเกี่ยวกับปลาพันธุ์นี้ที่เรารู้จักกันไม่มากนัก
Salmon เป็นชื่อสามัญใช้เรียกปลาหลายสปีชี่ซึ่งอยู่ในตระกูล Salmonidae บางสปีชี่ในตระกูลนี้เรียกว่าปลา Trout สิ่งที่แตกต่างระหว่าง Salmon และ Trout ก็คือ Salmon อพยพเคลื่อนย้ายแหล่งหากินในขณะที่ Trout อยู่ในถิ่นของมัน
Salmon อาศัยอยู่ในชายฝั่งทะเลทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก และส่วนหนึ่งอยู่ในทะเลสาบหลายแห่งของอเมริกาเหนือ ลักษณะพิเศษของ Salmon ก็คือจะเกิดในน้ำจืด อพยพไปยังมหาสมุทร (น้ำเค็ม) และกลับมายังถิ่นเก่าซึ่งเป็นน้ำจืดเพื่อผลิตลูกหลานและก็ตาย อย่างไรก็ดีมี Salmon หลายพันธุ์ที่อยู่อาศัยในน้ำจืดตลอดชีวิต
มนุษย์เชื่อกันมา นานว่า Salmon จะว่ายน้ำกลับมายังจุดที่มันเกิดเพื่อผสมพันธุ์ ไม่ว่าจะจากไปหากินที่ใดก็ตาม งานศึกษาการย้ายถิ่นของปลา Salmon พบว่าความเชื่อนี้เป็นความจริงอย่างน่าอัศจรรย์ Salmon กลับมาที่เก่าอย่างถูกต้องโดยอาศัยความจำเรื่องกลิ่นของถิ่นในตอนที่มันเกิด (นกพิราบก็อัศจรรย์เช่นกันสามารถบินกลับมากรงของมันเองได้ถึงแม้จะนำไปปล่อย ในที่ห่างไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตรก็ตาม)
ปัจจุบันมนุษย์ ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงปลา Salmon จนมีผลิตผลออกมาสู่ตลาดในปริมาณกว่า 2 ล้านตันต่อปี รวมกันแล้วปีหนึ่งทั้งโลกมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
การเลี้ยงปลา Salmon ในฟาร์มในช่วงเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 8.8 ต่อปี จนปัจจุบันมีผลผลิตเป็นหนึ่งในสามของผลผลิตอาหารจากทะเลของทั้งโลก
การ เลี้ยงปลา Salmon ของโลกเริ่มจาก 500 ตัน ในปี 1970 จนเพิ่มเป็น 1.3 ล้านตัน ในปี 2005 และคาดว่าถึงกว่า 2 ล้านตัน ในปัจจุบัน ในปี 1998 ผลผลิตของ Salmon จากฟาร์มแซงหน้าผลผลิต Salmon ที่จับจากทะเลเป็นครั้งแรก
ยักษ์ ใหญ่ของวงการเลี้ยงปลา Salmon คือ นอร์เวย์ และชิลี รองมาไกลๆ คือ อังกฤษ และแคนาดา (นอร์เวย์และชิลีรวมกันผลิตกว่าร้อยละ 75 อังกฤษและแคนาดารวมกันมีสัดส่วนร้อยละ 15 และอื่นๆ ร้อยละ 10)
นอร์เวย์ นั้นเป็นผู้ริเริ่มการเลี้ยงปลา Salmonในปี ค.ศ.1984 เพื่อสร้างผลผลิตเพิ่มเติมจากปลาธรรมชาติที่จับจากทั้งสองฝั่งมหาสมุทร ชิลีเพิ่งเริ่มต้นเลี้ยงเมื่อต้นทศวรรษ 1990 และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วคู่กับนอร์เวย์ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันมาตลอดและ ปัจจุบันกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก
ชิลีเป็นประเทศที่ผล ผลิตของปลาเลี้ยง Salmon ขยายตัวรวดเร็วที่สุดโดยไม่มีการจับปลา Salmon จากมหาสมุทรเลยเนื่องจากไม่มีปลาในบริเวณนั้น ผลผลิตส่วนใหญ่ส่งออกไปญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และส่วนหนึ่งไปตลาดอเมริกาใต้และ EU
ไม่น่าเชื่อว่าจากการ เป็นประเทศที่ไม่มีปลา Salmon สักตัวในปี 1990 แต่ภายในเวลา 20 ปี ชิลีสามารถกลายเป็นผู้ผลิตปลา Salmon เลี้ยงรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยผลิตกว่าปีละ 7 แสนตัน
จุดแข็งของชิลีคือมีฝั่งทะเลที่ ยาวถึง 4,300 กิโลเมตร มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีแรงงานที่ถูก จึงทำให้เป็นประเทศในกลุ่มผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ชิลีมีประชากรเพียง 17 ล้านคน ในพื้นที่ 7.5 แสนตารางกิโลเมตร (ไทยมีพื้นที่ประมาณ 5 แสนตารางกิโลเมตร) ประมาณร้อยละ 53 สืบเชื้อสายโดยตรงจากชาวยุโรป และอีกร้อยละ 44 เป็น Mestizos (หรือลูกผสมคนยุโรป) ซึ่งต่างจากหลายประเทศในอเมริกาใต้ เช่น เปรู ที่มีคนพื้นเมืองอินเดียนแดงอยู่เป็นสัดส่วนที่สูงกว่า
การมีนโยบาย เศรษฐกิจที่เปิดกว้างในด้านการค้าการลงทุนมายาวนานกว่า 30 ปี ตลอดจนมีนโยบายเศรษฐกิจที่เหมาะสม ไม่มีเงินเฟ้อรุนแรง ทำให้ชิลีได้กลายเป็นประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างเป็นที่ กล่าวขวัญในโลก ปัจจุบันชิลีมีรายได้ที่เป็นตัวเงินต่อหัวต่อคนต่อปีสูงสุดในอเมริกาใต้
การ เลี้ยงปลา Salmon การผลิตเหล้าไวน์ (ผู้ค้าออกอันดับ 5 ของโลก และผู้ผลิตอันดับ 8 ของโลก) การผลิตทองแดง การท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จที่ได้มาด้วยการเป็นเศรษฐกิจเปิด และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยทุกรัฐบาล
การบริโภคปลา Salmon ทางอ้อม กล่าวคือนำปลา Salmon ไปผลิตน้ำมันปลา (fish oil) ซึ่งมีกรดไขมัน Omega-3 และวิตามิน D สูงเป็นพิเศษ ทำให้การผลิตปลาเลี้ยงพุ่งสูงขึ้น ถึงแม้ว่าปลาธรรมชาติจะมีกรดไขมันนี้มากกว่าก็ตามที แต่ราคาที่สูงกว่าของปลาธรรมชาติทำให้ปลาเลี้ยงกลายเป็นวัตถุดิบของการผลิต Omega-3
อย่างไรก็ดี มีความกังวลใจอยู่ไม่น้อยเกี่ยวกับ Salmon เลี้ยงที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคปลาในบางครั้งและการใส่สาร astaxanthin และ canthaxanthin เพื่อให้ปลามีเนื้อสีเหลืองสวย (คนไม่นิยมปลา Salmon เนื้อสีขาว) ตลอดจนการที่ปลาเลี้ยงอาจมีสาร Dioxins และ PCB
งานศึกษาในปี 2000 ตีพิมพ์เป็นบทความใน The Journal of The American Medical Association ชี้ว่าการบริโภคปลาเลี้ยง Salmon ซึ่งอุดมด้วย Omega-3 ให้คุณประโยชน์แก่ร่างกายมนุษย์อย่างคุ้มกับความเสี่ยงจากพิษของสารเคมี เหล่านี้
ในทุกสปีชี่ของปลา Salmon ในฝั่งมหาสมุทรปาซิฟิกจะตายหลังจากวางไข่ใน 2-3 วัน หรือเร็วกว่าหนึ่งอาทิตย์ ส่วนปลาในฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก มีสัดส่วนเล็กน้อยของปลาที่ไม่ตายหลังจากวางไข่แล้ว และกลับมาวางไข่ได้อีกครั้ง
ถ้าอยากรู้ว่าปลา Salmon ที่จะซื้อนั้นจับมาจากมหาสมุทรจริงตามที่โฆษณาหรือไม่ ให้ดูว่าเป็นปลาที่อยู่ในสปิชี่ของฝั่งมหาสมุทรใด หากเป็นฝั่งแปซิฟิกก็พอเป็นไปได้เพราะกว่าร้อยละ 80 เป็นปลาจากการจับ หากเป็นฝั่งแอตแลนติกละก็ถูกหลอกแน่เพราะกว่าร้อยละ 99 เป็นปลาที่มาจากฟาร์ม
ใครที่จากบ้านมาแล้วไม่เคยกลับไปบ้านเลยเพื่อ เยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงหรือไม่เคยช่วยเหลือบ้านเก่าจากระยะทางไกลเลยก็ต้องคิดแล้ว
เพราะ แม้แต่ปลา Salmon ยังว่ายน้ำอย่างบากบั่นหลังจากลาจากไป 4-5 ปี กลับไปบ้านเก่าเพื่อผสมพันธุ์สืบสานลูกหลานให้ธรรมชาติ แล้วก็ตายจากไป