พระสูตรสัทธรรมปุณฑรีกะ
วัดโพธิ์แมนคุณาราม
นายชะเอม แก้วคล้าย แปลจากต้นฉบับสันสกฤต
บทที่ 21
ธารณีปริวรรต
ว่าด้วยธารณี ครั้งนั้น พระไภษัชยราชโพธิสัตว์มหาสัตว์ ได้ลุกจากอาสนะ กระทำอุตราสงค์เฉวียงบ่า ข้างหนึ่ง คุกเข่าขวาลงบนพื้น ประคองอัญชลีไปในทิศที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วกราบทูลความนี้กับพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค กุลบุตรหรือกุลธิดา ผู้รักษาธรรมบรรยายสัทธรรมปุณฑรีกสูตรนี้ ด้วยการปฏิบัติก็ดี ด้วยการสร้างพระคัมภีร์ก็ดี พึงเพิ่มบุญได้เพียงใด เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวอย่างนี้ พระผู้มีพระภาค จึงได้ตรัสกับพระไภษัชยราชโพธิสัตว์มหาสัตว์ว่า ดูก่อนไภษัชยราช กุลบุตรหรือกุลธิดาคนใด ได้สักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระตถาคตร้อยพันหมื่นโกฏิพระองค์ มีจำนวนเท่ากับเมล็ดทรายใน 80 แม่น้ำคงคา ดูก่อนไภษัชยราชท่านคิดอย่างไรกับข้อนั้น? กุลบุตรหรือกุลธิดา พึงเพิ่มบุญที่บริสุทธิ์ได้มากกว่า อย่างนั้นหรือ? พระไภษัชยราชโพธิสัตว์มหาสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เขาย่อมเพิ่มบุญได้มาก ข้าแต่พระสุคต เขาย่อมเพิ่มบุญได้มาก พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูก่อนไภษัชยราช เราจะบอกให้ท่านทราบ ดูก่อนไภษัชยราช กุลบุตรหรือกุลธิดา คนใดก็ตาม รักษา อ่าน ท่อง และปฏิบัติตาม โดยที่สุดแม้เพียงคาถาหนึ่ง ซึ่งมีเพียง 4 บาท จากธรรมบรรยายสัทธรรมปุณฑรีกสูตรนี้ ดูก่อนไภษัชยราช กุลบุตรหรือกุลธิดาผู้นั้น ได้ชื่อว่า เพิ่มบุญอันบริสุทธิ์ได้มากกว่า(ผู้ที่แสดงความเคารพนับถือเพียงอย่างเดียว)
ได้ยินว่า เวลานั้น พระไภษัชยราชโพธิสัตว์มหาสัตว์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เพื่อคุ้มครองป้องกัน รักษา ข้าพระองค์จะให้บทธารณีมนตร์ แก่กุลบุตร กุลธิดาเหล่านั้น ผู้ปฏิบัติหรือสร้างคัมภีร์ธรรมบรรยายสัทธรรมปุณฑรีกสูตรนี้ ดังนี้
อนฺเย อนฺเย มเน มนเน จิตฺเต จริเต สเม สมิตา วิศานฺเต มุกฺเต มุกฺตเม สเม อวิษเม สมสเม ชเย กฺษเย อกฺษเย อกฺษิเณ ศานฺเต สมิเต ธารณี
อาโลกภาเษ ปฺรตฺยเวกฺษณิ นิธิรุ อภฺยนฺตรนิเวษฺเฏ อภฺยนฺตรปาริศุทธิมุตฺกุเล อรเฑ สุกางฺกฺษิ อสมสเม พุทฺธวิโลกิเต ธรฺมปรีกฺษิเต สํฆนิรฺโฆษณิ นิรฺโฆษณิ
ภยาภยวิโศธนิ มนฺตฺรากฺษยเต รุเต รุตเกาศลฺเย อกฺษยวนตาเย วกฺกุเล วโลฑฺ อมนฺยนตาเย สวาหา
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บทธารณีมนตร์เหล่านี้ เป็นของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย มีจำนวนเท่าเมล็ดทรายใน 62 แม่น้ำคงคา ผู้ใดล่วงเกินผู้กล่าวธรรมเห็นปานนี้ และผู้รักษาพระสูตรเห็นปานนี้ ผู้นั้นได้ชื่อว่า เป็นผู้ประทุษร้ายพระพุทธเจ้าทั้งปวงเหล่านั้น
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ให้สาธุการแก่พระไภษัชยราชโพธิสัตว์มหาสัตว์ว่า ดีละ ดีละ ไภษัชยราช ท่านได้ทำประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายแล้ว ท่านได้ยึดถือความเมตตาสัตว์ทั้งหลาย จึงได้บอกบทธารณี ได้ชื่อว่าท่านได้ทำการปกป้อง คุ้มครอง รักษา(สัตว์ทั้งหลาย)แล้ว
ครั้งนั้น พระประทานศูรโพธิสัตว์มหาสัตว์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์จักให้บทธารณีมนตร์ เพื่อประโยชน์แก่ผู้กล่าวธรรมเห็นปานนี้ ใครก็ตาม เช่น ยักษ์ รากษส ภูต ผี กุมภัณฑ์หรือเปรต ที่คอยโอกาส แสวงหาโอกาส(ทำร้าย) ย่อมไม่ได้โอกาสจากผู้กล่าวธรรมเห็นปานนี้
ครั้งนั้น พระประทานศูรโพธิสัตว์มหาสัตว์ ได้กล่าวบทธารณีมนตร์เหล่านี้ว่า
ชฺวเล มหาชฺวเล อุกฺเก ตุกฺเก มุกฺเก อทฑ อฑาวติ นฤตฺเย นฤตฺยาวติ อฏฺฏินิ วิฏฺฏินิ จิฏฺฏนิ นฤตฺยนิ นฤตยาวติ สฺวาหา
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บทธารณีมนตร์เหล่านี้ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย มีจำนวนเท่าเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา ได้ตรัสไว้และอนุโมทนาแล้ว ผู้ใดล่วงเกิน ผู้กล่าวธรรมเหล่านั้น ผู้นั้นได้ชื่อว่า ได้ประทุษร้ายพระตถาคตทั้งปวงเหล่านั้นด้วย
ครั้งนั้นท้าวไวศรวณมหาราช ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า แม้ข้าพระองค์ก็จักบอกบทธารณีมนตร์ ด้วยความเมตตา เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อปกป้อง คุ้มครอง รักษาผู้กล่าวธรรมเหล่านั้นว่า
อฏฺเฏ ตฏฺเฏ นฏฺเฏ วนฏฺเฏ อนเฑ นาฑิ กุนฑิ สฺวาหา
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์จักทำการคุ้มครอง บุคคลผู้กล่าวธรรมเหล่านั้นด้วยบทธารณีมนตร์เหล่านี้ ข้าพระองค์จักทำการคุ้มครองกุลบุตรกุลธิดาเหล่านั้น ผู้รักษาพระสูตรนี้ จักสร้างความสวัสดี ให้แก่พวกเขา แม้จากที่ห่างไกลถึง 100 โยชน์
ครั้งนั้น ท้าววิรูฒกมหาราช ได้โผล่ขึ้นในท่ามกลางบริษัท นั่งด้านหน้าติดตามด้วยกุมภัณฑ์ร้อยพันหมื่นโกฏิตน ท้าวเธอลุกจากอาสนะทำผ้าอตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประคองอัญชลีไปในทิศที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์จักบอกบทธารณีมนตร์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นบทธารณีมนตร์ เพื่อปกป้อง คุ้มครอง รักษาผู้กล่าวธรรม และผู้รักษาพระสูตรเหล่านั้นว่า
อคเณ อเณ เคาริ คนฺธาริ จฺณฑาริ มาตงฺคิ ปุกฺกสิ สํกุเล วฺรูสลิ สิสิ สฺวาหา
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บทธารณีมนตร์เหล่านี้ พระพุทธเจ้า 42 โกฏิพระองค์ตรัสไว้ ผู้ใดล่วงเกินผู้กล่าวธรรม เท่ากับประทุษร้ายพระพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วย
ขณะนั้น ยักษีนามว่า ลัมพา วิลัมพา กูฎทันตี บุษปทันตี มกุฎทันตี เกศินี อจลา มาลาธารี กุนตี สรรวสัตโวโชหารี หสิตี พร้อมด้วยบุตรและบริวาร ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ทั้งหมดจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้ข้าพระองค์ทั้งหลาย ก็จักให้การคุ้มครอง ปกป้อง รักษา ผู้รักษาพระสูตรและผู้กล่าวธรรมเหล่านั้นและจักกระทำให้พวกเขาได้รับความสุขสวัสดี ผู้คอยโอกาส(ทำร้าย) ย่อมไม่ได้โอกาสจากผู้กล่าวธรรมเหล่านั้น
ขณะนั้น ยักษีทั้งหมดเหล่านั้น ได้ท่องบทธารณีมนตร์เหล่านี้พร้อมเพรียงเป็นเสียงเดียวกัน ต่อพระผู้มีพระภาคว่า
อิติ เม อิติ เม อิติ เม อิติ เม อิติ เม. นิเม นิเม นิเม นิเม นิเม. รุเห รุเห รุเห รุเห รุเห. สฺตุเห สฺตุเห สฺตุเห สฺตุเห สฺตุเห. สฺวาหา
ใครก็ตามที่โผล่ศีรษะขึ้นมาแล้ว จะเป็นยักษ์ รากษส เปรต ปีศาจ ผี นางปีศาจ เวตาล กุมภัณฑ์ คนเขลา ผู้ฆ่า ผู้เบียดเบียน ผู้เป็นโรคลมบ้าหมู ปีศาจยักษ์ ปีศาจอมนุษย์ ปีศาจมนุษย์ สัตว์ที่เกิดวันเดียว สัตว์ที่เกิดสองวัน สัตว์ที่เกิดสามวัน สัตว์ที่เกิดสี่วัน สัตว์ที่ป่วยเป็นนิตย์ สัตว์ที่ป่วยหนัก จงอย่าได้เบียดเบียนผู้กล่าวธรรมเลย โดยที่สุด แม้ผู้กล่าวธรรมอยู่ในสภาพนอนหลับ สตรี บุรุษ เด็กชาย เด็กหญิง ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้ สถานะอย่างนี้ย่อมไม่มีแก่ผู้กล่าวธรรมเหล่านั้น
ครั้งนั้น ยักษิณีทั้งหลาย ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ด้วยเสียงขับพร้อมกัน ด้วยคาถาของรากษสเหล่านี้
1 ผู้ใดได้ยินมนตร์นี้แล้ว ยังล่วงเกินผู้กล่าวธรรม ศีรษะของพวกเขา พึงแตกออกเป็น 7 เสี่ยง เหมือนเม็ดมุกดาอรชกะ ฉะนั้น
2 ผู้ใดล่วงเกินผู้กล่าวธรรม เขาต้องไปสู่คติของผู้ฆ่ามารดา และคติของผู้ฆ่าบิดา
3 ผู้ใดล่วงเกินผู้กล่าวธรรม ผู้นั้นย่อมถึงคติของผู้บดงาและของยอดงา
4 ผู้ใดล่วงเกินผู้กล่าวธรรม ผู้นั้นย่อมดำเนินไปสู่คติของเครื่องชั่ง และเครื่องทองเหลือง
ครั้นกราบทูลอย่างนั้นแล้ว รากษสีทั้งหลายเหล่านั้น มีนางกุนตี เป็นประมุข ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้พวกข้าพระองค์ทั้งหลายก็จะทำการรักษา ผู้กล่าวธรรมเหล่านั้น จักปกป้องพวกเขาให้เดินทางด้วยความปลอดภัย ให้รอดพ้นจากการทำร้าย ด้วยไม้ และการประทุษร้ายด้วยยาพิษ ครั้นกราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับรากษสีว่า สาธุ สาธุ ภคินีทั้งหลาย ท่านทั้งหลายได้ทำการปกป้อง คุ้มครอง รักษา ผู้กล่าวธรรมเหล่านั้น โดยที่สุด ได้รักษา แม้เพียงชื่อของธรรมบรรยายนี้ จะป่วยกล่าวไปไย ถึงผู้รักษาธรรมบรรยายนี้ทั้งหมด ผู้ทำสักการะคัมภีร์ด้วยดอกไม้ ธูป ของหอม มาลัย ผงเครื่องลูบไล้ จีวร ฉัตร ธงปฏาก และธงไพชยันต์ หรือด้วยประทีปน้ำมัน ประทีปน้ำมันเนย ประทีปน้ำมันหอม ประทีปน้ำมันจำปา ประทีปน้ำมันวารศิกะ ประทีปน้ำมันบัว ประทีปน้ำมันดอกสุมนา เขาย่อมทำสักการะ เคารพ ด้วยการบูชาชนิดต่างๆ จำนวนมากอย่างนี้ ถึงร้อยพันชนิด ดูก่อนกุนตี ท่านพร้อมกับบริวาร จึงควรรักษาผู้กล่าวธรรมเหล่านั้น
ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาค แสดงบทธารณีนี้อยู่ หมู่สัตว์จำนวน 68 พัน ก็ได้รับธรรมสันติที่เกิดขึ้นโดยทั่วกัน
บทที่ 21 ธารณีปริวรรต ว่าด้วยธารณี
ในธรรมบรรยาย ศรีสัทธรรมปุณฑรีกสูตร
มีเพียงเท่านี้http://www.mahayana.in.th/tmayana/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8
%81/สัทธรรมปุณทรีกะบท20-21-22-23.htm