ผู้เขียน หัวข้อ: ตื่นรู้ที่ภูหลง : อยู่กับความรู้ตัว  (อ่าน 1953 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ตื่นรู้ที่ภูหลง

โดย พระไพศาล วิสาโล และบันทึกท้ายเล่ม หมอนไม้
ดำเนินการผลิตโดย อโนทัย เจียรสถาวงศ์
พิมพ์ครั้งที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๙


เล่าสู่กันฟัง...
เมื่อฤดูหนาวที่ผ่านมา หลังจากคณะปฏิบัติธรรม(เล็กๆ) ของเราออกจากกรรมฐานที่ภูหลงแล้ว ต่างมีข้อสรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า........ มีความสุขและอิ่มเอิบใจยิ่งนัก

นอกจากการที่ได้อยู่กับตัวเองท่ามกลางธรรมชาติสดๆ บนภูสูงแล้ว สิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดก็คงเป็นธรรมบรรยายของท่านอาจารย์พระไพศาล วิสาโล ถ้อยคำเรียบๆ ฟังว่าย ทว่าลึกซึ้งและตรงประเด็นกับปัญหาของนักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ ถูกถ่ายทอดจากปากของท่านทุกเช้า-ค่ำ ด้วยความเมตตา กรุณาต่อผู้ที่มอบตัวเป็นศิษย์ พวกเราจึงเห็นพ้องต้องกันว่าความสุขที่เปี่ยมค่านี้ต้องได้รับการแจกจ่าย แบ่งปัน เหตุนี้จึงเป็นที่มาของหนังสือ "ตื่นรู้ที่ภูหลง"


http://www.visalo.org/book/teunRuAtPulong.htm

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Re: ตื่นรู้ที่ภูหลง : อยู่กับความรู้ตัว
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 20, 2010, 03:40:41 pm »



อยู่กับความรู้ตัว

วันนี้เรามาคุยกันเป็นวันแรก แต่ขอให้ถือว่าการปฏิบัติของเราเริ่มตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว ทันทีที่เราย่างเท้าเข้ามาในวัดก็ขอให้ถือว่าการปฏิบัติธรรมเริ่มต้นแล้ว เราเริ่มต้นปฏิบัติโดยที่ไม่ต้องมีการแนะนำก่อนก็เพราะว่าพวกเราส่วนใหญ่รู้วิธีการปฏิบัติอยู่แล้ว การมาพูดตรงนี้เพียงแต่ช่วยย้ำ ช่วยให้กำลังใจในการมาปฏิบัติกันที่นี่

ที่นี่เราเน้นเรื่องการเจริญสติ เราจะใช้วิธีไหนในการเจริญสติก็ได้แล้วแต่ความถนัด แต่ขอให้เข้าใจว่าการเจริญสตินั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะทำให้เกิดความรู้ตัวขึ้นมา ที่จริงความรู้ตัวมีอยู่กับเราอยู่แล้ว เพราะสติและสัมปชัญญะซึ่งทำหน้าที่นี้เรามีกันทุกคน เป็นแต่ว่าอาจจะยังไม่เข้มแข็งเท่าใดนัก การมาปฏิบัติของเราก็เพื่อที่จะมาเสริมสร้างความรู้ตัวนี้ให้ว่องไวมากขึ้น

เมื่อมาปฏิบัติพวกเราก็จะพบว่า ความคิดปรุงแต่งนี่มันควบคุมได้ยากมาก ความคิดของเราที่จริงก็ไม่ใช่เป็นของเรา เพราะว่าเราควบคุมบังคับบัญชาได้ยาก มาก มันสามารถจะพุ่งกลับไปอดีตหรือเถลไถลไปจมอยู่กับอนาคตก็ได้ ดังนั้นใน การปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ตัวขึ้นมา เราต้องฝึกให้รู้ทันความคิด รู้ทันอาการที่ปรุงแต่ง ขึ้นมาในใจ ต่อไปเราก็จะรู้ทันความรู้สึกหรืออารมณ์ที่ครอบงำจิตของเรา ความโกรธ ความเหงา ความเครียด ความเศร้า ความอาลัย ความกลัดกลุ้ม

พวกนี้อยู่ในฝ่ายของอารมณ์ความรู้สึก อันนี้พูดแบบภาษาทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่รู้ได้ง่ายกว่าก็คือตัวความคิด แต่ถ้าความคิดนั้นมีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาปรุงหรือเป็นตัวผลักดัน ก็จะรู้ทันได้ยากขึ้น แต่ไม่เป็นไรหน้าที่ของเราคือรู้ ไม่ใช่ไประงับหรือบังคับมันไม่ให้คิด จะไปห้ามมันก็ไม่ได้ มันกลับชอบเสียอีก เพราะว่ามันต้องการล่อให้เราเข้าไปข้องแวะด้วย ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ มันก็ยิ่งฟุ้งยิ่งปรุงมากขึ้น ทีแรกก็อยากจะเข้าไปห้ามมัน แต่ในที่สุดก็เผลอเข้าไปอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกนั้น ทีนี้ในการเจริญสติ เราเพียงแต่รู้เฉย ๆ อย่างไรก็ตามตามปกติการจะรู้เฉย ๆ โดยนั่งอยู่นิ่ง ๆ คนทั่วไปทำได้ยาก ก็เลยมีแบบฝึกหัดให้เจริญสติโดยรู้กายที่เคลื่อนไหวเป็นพื้นฐานก่อน

กายที่เคลื่อนไหวนี้ทำได้หลายอย่าง อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิธีของแต่ละคน เช่นการตามลมหายใจ แต่ที่นี่ซึ่งปฏิบัติตามแนวของหลวงพ่อเทียนจะเน้นวิธีการเคลื่อนไหว โดยให้รู้อาการเคลื่อนไหวของมือที่เคลื่อนไป-มาหรือขยับขึ้น-ลง เรียกว่าการสร้างจังหวะ และการเดินจงกรม นอกจากนั้นก็มีการเคลื่อนไหวแบบเป็นธรรมชาติ หรือว่าไม่มีจังหวะมาก เช่นการคลึงนิ้วหรือการพลิกฝ่ามือ จะเลือกใช้วิธีไหนก็แล้วแต่จะถนัดหรือชอบ

ที่นี่เราเดินจงกรมแบบเป็นธรรมชาติ คือไม่มีบริกรรม เพียงแต่ให้รู้ รู้อาการเคลื่อนไหวของกาย อันนี้เป็นตัวยืนพื้น แต่พอจิตเกิดคิดนึกปรุงแต่งขึ้นมา สติก็แล่นไปรู้ความรู้สึกนึกคิดนั้น รู้เฉย ๆ นะไม่ต้องเข้าไปผลักไสและก็ไม่เข้าไปคลอเคลียด้วย สติ สัมปชัญญะ หรือความรู้ตัวสามารถช่วยให้จิตของเราไม่ไปข้องติดอยู่ในอารมณ์ และสามารถหลุดขึ้นมาได้ ถ้าเราทำอย่างนี้บ่อย ๆ การเผลอปรุงแต่งไปตามความคิดก็จะบรรเทาเบาบางลง รู้ไวเท่าไหร่ความคิดปรุงแต่งก็รบกวนจิตใจของเราได้น้อยลงเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความสงบ แต่ว่าเราไม่ได้ปฏิบัติเพราะต้องการความสงบเป็นสำคัญ ขอให้ถือว่าความสงบเป็นผลพลอยได้ เพราะสิ่งที่เรามุ่งหมายจริง ๆ คือการเกิดปัญญา เกิดปัญญาที่เป็น วิปัสสนา คือรู้ความจริง รู้เท่าทันธรรมดาธรรมชาติของจิตใจ นี่คือหลักการปฏิบัติ

การเจริญสติก็คือการเพิ่มกำลังให้กับความรู้ตัว คือสติและสัมปชัญญะ รู้แบบนิ่ง ๆ คือรู้โดยไม่เข้าไปจัดการ ปกติใจเราชอบเข้าไปจัดการกับความรู้สึกนึกคิด หรือไปมี ปฏิกิริยากับมัน เช่น เข้าไปผลักไส หรือเข้าไปคลอเคลีย เสร็จแล้วก็ติดกับดักของมัน ถูกมันชักลากไปตามใจของมัน เหมือนกับพรานที่ล่อจับสัตว์ด้วยการเอาสิ่งโปรด ปรานหรือเอร็ดอร่อยมาล่อเหยื่อ เช่นเอาไส้เดือนมาล่อปลา พอปลาฮุบเหยื่อก็ติดเบ็ด ทันที อีกวิธีหนึ่งก็คือก็เอาสิ่งซึ่งเขาไม่ชอบมาล่อ เช่น เอานกหรือไก่มาต่อ นกป่าหรือ ไก่ป่ามันไม่ชอบให้ใครมารุกรานถิ่นของมัน พอรู้ว่ามีนกหรือไก่แปลกถิ่นเข้ามา มันก็เข้าไปไล่ แต่พอเข้าไปไล่ มันก็ติดกับดักของนายพรานที่รอไว้อยู่แล้ว

สิ่งที่เป็นเหยื่อล่อจับจิตของเรา จึงมีทั้งสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบ อันไหนที่ชอบ เราก็อยากเข้าไปคลอเคลียดื่มด่ำกับมัน อันไหนไม่ชอบเราก็อยากเข้าไปผลักไส เสร็จ แล้วเราก็หลงติดในกับดักนั้น จะเรียกว่าเป็นกับดักของกิเลสมาร หรือกับดักที่เกิดจาก นิสัยที่ชอบปรุงแต่งก็ได้

ตอนนี้เรามาฝึกวางจิตให้เป็นอุเบกขา โดยมีสตินี่แหละเป็นเครื่องช่วย ยิ่งเรามีจิตเป็นอุเบกขามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีสติมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อมีสติมากขึ้น ก็มีอุเบกขาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ที่นี่มีบรรยากาศแบบธรรมชาติ เหมาะสำหรับพวกเราซึ่งตั้งใจว่าจะมา ปฏิบัติแบบเป็นธรรมชาติตามความเหมาะสมของแต่ละคน คือ ไม่มีการกำหนดว่าจะ ต้องปฏิบัติพร้อมกันทั้งกลุ่มตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง แต่แยกกันไปปฏิบัติตามเวลา-สถานที่ ที่กำหนดเอง และด้วยวิธีปฏิบัติของตัว การปฏิบัติแบบนี้ก็มีทั้งข้อดีข้อเสียเมื่อเทียบกับ การปฏิบัติแบบเป็นกลุ่ม

บางคนก็ชอบการปฏิบัติแบบเป็นกลุ่มเพราะอาศัยบรรยากาศของกลุ่มช่วยให้เกิด ความตั้งใจในการปฏิบัติ บางคนเวลาปฏิบัติคนเดียวก็ไม่ค่อยขยันขันแข็งเท่าไหร่ อาจรู้สึกเฉื่อยเนือย เนื่องจากเป็นคนไม่มีวินัย แต่พอมาปฏิบัติเป็นกลุ่มเป็นคณะก็ ปฏิบัติได้ต่อเนื่อง เห็นคนอื่นปฏิบัติ ก็เกิดกำลังใจอยากปฏิบัติบ้าง หรือบางทีก็เกิด มานะขึ้นมาว่า เขาทำได้ฉันก็ต้องทำได้เหมือนกัน แต่บางคนก็ทำเพราะกลัวเสียหน้า จะ ทำด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ก็ยังถือว่าดีที่ปฏิบัติ

มองในแง่นี้การแยกย้ายกันไปปฏิบัติส่วนตัวเป็นเรื่องที่ยากกว่าการปฏิบัติเป็นหมู่ คณะ แต่ข้อดีก็คือ วิธีนี้ช่วยหรืออำนวยในการปฏิบัติแบบเป็นธรรมชาติได้ดีกว่า การ ปฏิบัติแบบเป็นธรรมชาติคือ จะเดิน จะนั่ง จะเขยื้อนขยับ จะทำอะไรก็ตาม เช่น ซักเสื้อ ถูบ้าน กวาดใบไม้ ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติ เหล่านี้เป็นการปฏิบัตินอกรูปแบบ หรือเป็น แบบธรรมชาติ ซึ่งเหมาะกับการแยกไปปฏิบัติคนเดียว เพราะถ้าปฏิบัติกันเป็นกลุ่ม แล้ว ทุกคนก็ต้องปฏิบัติในอิริยาบถเดียวกันพร้อม ๆ กัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติตาม รูปแบบ เช่น เดินจงกรมพร้อมกัน นั่งพร้อมกัน แต่พอจะปฏิบัติแบบเป็นธรรมชาติ พร้อมกัน ก็อาจมีปัญหาได้โดยเฉพาะถ้าทำในสถานที่เดียวกัน เพราะแต่ละคนก็จะมี อิริยาบถหรือกิจกรรมที่จะทำไม่เหมือนกัน บางครั้งก็ไม่สอดคล้องพ้องกันด้วย เผลอ ๆ อาจจะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันได้ง่าย

ที่นี่เราเน้นทั้งการปฏิบัติตามรูปแบบและการปฏิบัติแบบเป็นธรรมชาติ คราวนี้ก็ เลยให้แยกย้ายกันไปปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยให้การปฏิบัติแบบเป็นธรรมชาติของเราทำได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันจะปฏิบัติตามรูปแบบก็ทำได้ พูดถึงการปฏิบัติแบบเป็นธรรมชาติ นี่เป็นวิธีที่เราควรให้ความสำคัญด้วย เพราะว่าคนทั่วไปถ้าจะปฏิบัติกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วย ทีนี้ในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ก็มีอิริยาบถต่าง ๆ มากมาย เราไม่ได้แค่มานั่งสมาธิ หรือเดินจงกรมเท่านั้น เรายังทำอย่างอื่นด้วยซึ่งวันหนึ่ง ๆ กินเวลาหลายชั่วโมง หรือกินเวลาเกือบทั้งวัน ดังนั้นถ้าเราเรียนรู้วิธีที่จะปฏิบัติอย่างเป็นธรรมชาติโดยอาศัยอิริยาบถต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่คนเดียวหรือเกี่ยวข้องกับผู้คน ก็จะช่วยให้การปฏิบัติของเราก้าวหน้าได้เร็ว อีกทั้งยังทำให้การปฏิบัติธรรมไม่แยกไปจากการดำเนินชีวิตประจำวัน เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องรอว่าเมื่อไหร่จะเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ไม่ต้องรอว่าเมื่อไหร่จะมีเวลาเข้าวัด ขอให้มีความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาก็แล้วกัน

ในการแยกย้ายปฏิบัติยังมีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ เราไม่ต้องแข่งกับกับใครทั้งสิ้น เวลาปฏิบัติพร้อมกันเป็นหมู่คณะ เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุกคนใส่ใจในการปฏิบัติก็เพราะว่ามีการแข่งกันเอง หรือมีเรื่องของอัตตาตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ไม่กล้าหลับเพราะกลัวขายหน้าให้คนอื่นเห็น หรือว่าต้องขยันปฏิบัติเพราะใคร ๆ เขาก็ทำกัน อันนี้ถือว่าเป็นการทำเพราะมานะซึ่งเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง แต่เป็นการเอากิเลสมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ปัญหาก็คือเวลาอยู่คนเดียว ไม่มีคนเห็น ไม่มีเรื่องหน้าตาเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็อาจจะไม่กระตือรือร้นในการปฏิบัติ จะทำไปหลับไปก็ทำได้ตามสบาย เพราะไม่มีใครเห็น จึงไม่ต้องกลัวเสียหน้า

ทีนี้ถ้าเราอยู่คนเดียว ไม่ต้องแข่งกับใคร ไม่มีอะไรมากระตุ้นมานะให้เกิดขึ้น แล้วเราจะเอาอะไรมาเป็นแรงผลักดันในการปฏิบัติ คำตอบก็คือฉันทะนั่นเอง การมี ฉันทะเป็นแรงผลักดันในการปฏิบัติหมายถึงอะไร หมายถึงความพึงพอใจที่ได้ทำเพราะเห็นคุณค่าของการปฏิบัติธรรม ใครจะเห็นหรือไม่เห็นก็แล้วแต่เขา เรามีความสุขที่ได้ทำก็แล้วกัน ฉันทะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็เกิดขึ้นได้จากการที่เราปฏิบัติแล้วเห็นผลของการปฏิบัติ เช่น รู้ตัวได้ไวขึ้น เกิดความสงบ และรู้จักตัวเองได้ลึกขึ้น ทำให้เห็นคุณค่าของการปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็เกิดความพึงพอใจที่ได้ปฏิบัติ ฉันทะเกิดขึ้นได้เพราะเหตุนี้ ทำให้อยากปฏิบัติมากขึ้น

แต่ตอนที่ยังเห็นผลได้ไม่ชัดเจน บางคนอาจจะแย่ยิ่งกว่าเดิม คือยิ่งทำยิ่งฟุ้ง ถึงตรงนี้ต้องมีศรัทธามาประกอบ คือเชื่อมั่นว่าถ้าทำไม่หยุด ในที่สุดผลย่อมทนไม่ได้ ต้องปรากฏออกมาจนได้ คือเราเชื่อหรือศรัทธา ว่าการปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ มีคุณค่า และเชื่อว่าปฏิบัติถูกทาง ศรัทธาจะช่วยให้เรามีกำลังใจที่จะทำแม้จะยังไม่เห็นผล หรือแม้จะยังมีอุปสรรคอยู่ก็ตาม

นอกจากนั้นเราต้องมีปัญญารู้จักแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองด้วย เช่น เวลามีนิวรณ์เข้ามารังควาน เราก็ต้องรู้จักตะล่อมใจของเราด้วย เพราะใจของเราบางทีก็ยอมแพ้ง่าย ๆ จึงต้องตะล่อมหรือหลอกล่อบ้าง เช่นเวลาฟุ้งซ่านมากไป คิดถึงอดีตหรือกังวลกับอนาคตมากไป ก็ให้เตือนใจว่าคิดไปก็ไม่มีประโยชน์ จะห่วงกังวลคนที่บ้านแค่ไหนก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะตอนนี้เราอยู่ที่วัด จะไม่ดีกว่าหรือที่เราจะทำปัจจุบันให้ดีที่สุด หรือไม่ก็เตือนใจว่ามันฟุ้งไปไม่นาน เดี๋ยวก็หาย เรื่องบางเรื่องเวลานึกขึ้นมาได้เราแทบจะเป็นจะตายกับมัน แต่เผลอไปนิดเดียวก็ลืมเสียแล้ว เพราะใจไปจดจ่ออยู่กับเรื่องอื่น เราต้องพยายามรู้จักใช้อุบายในการจัดการกับนิวรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่า ความง่วง ความฟุ้งซ่าน ความขุ่นเคืองใจ ความสงสัยไม่แน่ใจ หรืออาลัยสิ่งที่น่าพอใจ

การปฏิบัติคนเดียว อาจช่วยให้เรามีเทคนิควิธีที่หลากหลายมากขึ้นในการจัดการกับนิวรณ์ต่าง ๆ เช่นอาจจะเอาน้ำลูบหน้าเวลาง่วงเหงาหาวนอน หรืออาบน้ำเลยก็ได้อากาศหนาว ๆ อย่างนี้ขับไล่ความง่วงได้ดีนัก อาบเข้าไปหายง่วงได้ทันทีเลย หรือว่าจะหยิบไม้กวาดมากวาดใบไม้ก็ได้ อันนี้เป็นข้อดีของการปฏิบัติแบบอิสระ ก็คือว่าเราสามารถใช้วิธีการต่าง ๆ ที่หลากหลายเพื่อแก้นิวรณ์ได้ ดังนั้นก็ขอให้ใช้โอกาสแบบนี้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้การปฏิบัติของเราเป็นการปฏิบัติที่มีฉันทะเป็นแรงผลักดัน โดยมีมานะหรืออัตตามาเกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด คือไม่ต้องมีการแข่งขันกับใครรวมทั้งไม่ต้องมีการแข่งขันกับตัวเองด้วย

พูดอย่างนี้ไม่ใช่หมายความว่ามานะหรืออัตตาไม่มีประโยชน์ อัตตาไม่มีประโยชน์ มันมีประโยชน์ถ้าเรารู้จักใช้ แต่ถ้าเราใช้พร่ำเพรื่อมันก็ทำให้เราติด คือจะทำอะไรก็มีต้องมีอัตตาหรือมานะเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น จะทำดีก็ต่อเมื่อมีคนเห็นหรือยอมรับ จะไม่ทำความชั่วก็เพราะกลัวคนตำหนิ ถ้าไม่มีการแข่งขันฉันก็ไม่กระตือรือร้น หรือถ้าไม่มีใครชมฉันก็ไม่ขยับ อันนี้เรียกว่าเสพติดมานะแล้ว

เราต้องเลือกหาโอกาสทำสิ่งดีงาม โดยไม่ต้องใช้มานะหรืออัตตาเป็นตัวผลักดันขับเคลื่อน การปฏิบัติธรรมคนเดียวเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยฝึกให้เราทำสิ่งต่าง ๆ โดยมีฉันทะเป็นแรงจูงใจ อีกทั้งยังเป็นการสร้างวินัยให้กับตนเอง แต่ก็อย่าไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมคนเดียวแบบเป็นธรรมชาติจะปลอดจากมานะ อาจจะมีได้เหมือนกัน ขอให้รู้จักใช้มานะให้เป็นประโยชน์ก็แล้วกัน เช่นอาจจะกระตุ้นตัวเองว่าคนอื่นเขาทำได้ ทำไมฉันจะทำไม่ได้ คนอื่นเขาปฏิบัติอยู่ฉันจะมานอนง่วงได้อย่างไร ถึงแม้อยู่คนเดียวก็กระตุ้นตัวเองอย่างนี้ได้ ทำให้เกิดกำลังใจ เกิดความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติ

อันนี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน ขอให้เรารู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ เพื่อที่จะนำพาจิตของเราเข้าสู่ครรลองของสติ สมาธิ และปัญญา ที่มีความวิมุติหลุดพ้นเป็นที่สุด

จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติก็คือการวิมุติหลุดพ้น นี่คือหัวใจ พระพุทธเจ้าเคยตรัส ว่า ธรรมทั้งปวงมีสติเป็นใหญ่ มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุติเป็นแก่น และมีนิพพานเป็น ที่สุด ท่านสรุปไว้สั้น ๆ อย่างนี้ ดังนั้นก็ขอให้การปฏิบัติของเราตรงเข้าไปถึงแก่นคือ มีวิมุติเป็นจุดหมาย แต่เราไม่ต้องรอว่าต้องปฏิบัติให้ถึงที่สุดก่อนถึงจะวิมุติ แต่ละขณะ ของการปฏิบัติเราก็สามารถสัมผัสวิมุติได้ นั่นคือการหลุดพ้นจากอารมณ์ ความนึกคิด ปรุงแต่ง หลุดพ้นจากความสำคัญมั่นหมายในตัวตน นี้เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ในแต่ ละขณะ ถ้าเรามีสติเป็นเครื่องรักษาใจ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 20, 2010, 03:46:23 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: ตื่นรู้ที่ภูหลง : อยู่กับความรู้ตัว
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: ธันวาคม 20, 2010, 10:01:41 pm »
 :13: อนุโมทนาครับ ขอบคุณครับพี่มด
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~