พ้นบ่วงมาร เราได้มาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ โดยเฉพาะภูหลงบริเวณนี้เป็นส่วนที่รักษาธรรมชาติเดิมเอาไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ ไฟก็ไม่ค่อยมาเผาทำลายมาก ส่วนอื่น ๆ ถูกไฟเผาทำลายเยอะ เพราะว่าไม่มีคนหรือพระคอยดูแล เมื่อสิบกว่าปีก่อนกุฏิพระส่วนใหญ่ก็อยู่แถว ๆ นี้แหละ ไม่ไกลไปจากศาลาฉันเท่าไหร่ คนที่มาตัดไม้บริเวณนี้ก็ไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่ไปตัดกันในที่ไกลหูไกลตาพระ แต่ก่อนเลยจากกุฎิ ๑๐ ไปไม่แค่ไม่กี่ร้อยเมตรก็มีการตัดต้นยางกันแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี เพราะเรากระจายกุฏิออกไปไกลกว่าเดิม ตอนหลังก็มีญาติโยมเข้ามาช่วยดูแลรักษาป่า พักกันอยู่บริเวณที่เราเรียกกันว่ากุฏิ ๑๑ มีการฟื้นฟูป่ากันที่นั่น เพราะฉะนั้นตรงที่เราทำวัตรกันนี้ก็เป็นบริเวณที่เรียกว่าปลอดพ้นจากภัยคุกคามค่อนข้างมาก
ทีนี้เราได้มาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติแล้ว ก็ต้องเรียกว่าเป็นการกลับคืนสู่ธรรมชาติ เพราะว่าคนเราแต่ไหนแต่ไรมาก็อาศัยธรรมชาตินี่แหละเป็นที่อยู่ เมื่อเรากลับคืนสู่ธรรมชาติแล้วก็ขอให้เป็นการกลับคืนทั้งกายและใจ กายเรากลับมาสู่ธรรมชาติท่ามกลางป่าเขาแล้ว ใจของเราก็ขอให้ได้มีโอกาสคืนสู่ธรรมชาติด้วย แต่ธรรมชาติของใจนี้อาจจะไม่เหมือนธรรมชาติภายนอก ธรรมชาติของใจซึ่งเป็นธรรมชาติภายในก็มีลักษณะพิเศษของเขา อาจจะไม่รกครึ้มเหมือนกับป่าภายนอก แต่ว่าสิ่งที่เหมือนกันคือมีความสงบเป็นพื้นฐาน
ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า จิตของคนเรามีจุดศูนย์ดิ่งลงสู่ความสงบ จิตของมนุษย์ทุกคนน้อมลงสู่ความสงบ แต่ที่ไม่สามารถลงสู่ความสงบได้ก็เพราะมีอวิชชา มีอุปาทาน เข้าไปยึดเหนี่ยวเอาไว้ ขอให้เรานึกภาพว่าเหมือนกับเราโยนก้อนหินลงไปในลำธาร โดยธรรมชาติก้อนหินก็ค่อย ๆ จมดิ่งลงไป แต่บางครั้งก็ลงไปไม่ถึงพื้นน้ำเพราะว่ามีพืชน้ำ มีสาหร่าย มีรากไม้ในน้ำคอยเหนี่ยวรั้งเอาไว้ สิ่งที่คอยเหนี่ยวรั้งจิตไว้ไม่ให้ดิ่งลงสู่ความสงบ ก็คืออวิชชา อุปาทาน พูดง่าย ๆ คือกิเลสนั่นเอง
ความสงบที่ว่าเป็นศูนย์ดิ่งของจิตนั้น ให้เข้าใจว่ามันไม่ใช่ความสงบแบบไม่รู้ ดำมืด ความสงบแบบไม่รู้ไม่ชี้หรือดำมืดนั่นเป็นอย่างหนึ่ง แต่ว่าความสงบของจิตที่พูดถึงเป็นความสงบที่เกิดจากการรู้แจ้งในสัจธรรม จนไม่มีอวิชชาและอุปาทานมาเหนี่ยวรั้งจิตมิให้ดิ่งสู่ความสงบได้
ในการมาปฏิบัติของเรา เรามาอยู่ท่ามกลางความสงบแล้ว แต่ว่ายังเป็นความสงบแค่ทางกายอยู่ เราเรียกว่ากายวิเวก สิ่งที่เราควรพยายามเข้าให้ถึงคือความสงบทางใจที่เรียกว่าจิตวิเวก แต่ว่าใหม่ ๆ อาจจะทำได้ยากสักหน่อย สำหรับหลายคนพอมาอยู่ในที่เงียบ ๆ อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจิตจะสงบลงได้ ตรงกันข้ามกลับฟุ้งซ่านแส่ส่ายเข้าไปใหญ่ ฟุ้งซ่านแส่ส่ายเพราะหลายสาเหตุ เช่นความกลัว ความไม่แน่ใจ ความไม่คุ้นเคยกับสถานที่ ความไม่คุ้นเคยกับความมืด กลัวสิงสาราสัตว์ที่ไม่รู้จัก หรืออาจจะเพราะว่าจิตไม่มีที่จับ เวลาอยู่ในเมืองหรืออยู่ที่บ้านมันมีสิ่งภายนอกต่าง ๆ มากมายให้จิตจับหรือจดจ่อเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
รูปก็อาจจะได้แก่แสงสี โทรทัศน์ สถานที่ตื่นตาตื่นใจเช่นศูนย์การค้า ผู้คน หรือสภาพแวดล้อมที่คอยดึงจิตเอาไว้ เสียงก็อาจจะหมายถึงเสียงเพลง เสียงผู้คน กลิ่นที่ชวนดมหรือน่าดึงดูดใจก็มีมากมาย เช่นเดียวกับรสชาติจากอาหาร ในเมือง มีอาหารและของกินที่เอร็ดอร่อยมากมาย สัมผัสก็มีมากมายที่มาสัมผัสกาย นี่คือสภาพในเมืองที่เราคุ้นเคย
แม้หลายคนจะไม่ชอบสภาพแบบในเมือง แต่ว่ารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่เข้ามากระทบบ่อย ๆ ก็ทำให้เราพลอยเคยชินกับมัน อย่างเช่นเสียง เราอาจจะบ่นว่ากรุงเทพ ฯ มีเสียงดังเหลือเกิน ฉันไม่ชอบเลย แต่พอมาเจอความเงียบที่นี่ ก็อาจรู้สึกว่ามันเงียบเหลือเกิน เงียบจนกระทั่งหูอื้อ บางคนอยู่ที่นี่ไม่ได้เพราะมันเงียบเกินไป จนรู้สึกหงอยเหงาเซื่อมซึม อาการอย่างนี้เกิดขึ้นเมื่อไม่มีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่คุ้นเคย หรือไม่มีสิ่งเร้าภายนอกที่จะดึงจิตให้จดจ่อ จิตเลยรู้สึกเคว้ง หรือไม่ก็ฟุ้งซ่านไปเลย
โลกภายนอกมีสิ่งดึงดูดความสนใจของจิต ทำให้จิตเพ่นพ่านออกไปนอกตัวเยอะ แต่พอมาอยู่ที่นี่ไม่ค่อยมีอะไรดึงจิตออกไปนอกตัว เพราะว่ามองที่ไหนก็มีแต่ต้นไม้ บรรยากาศก็เงียบสงัด ไม่มีอะไรเคลื่อนไหว หรือมีสีสันจัดจ้านที่จะดึงดูดจิต เมื่อจิตไม่มีที่จับหรือจดจ่อมันก็เลยฟุ้งได้ง่าย ฟุ้งไปโน่น ฟุ้งไปนี่ ยิ่งไม่มีคนมาคุย ไม่มีหนังสือให้อ่าน หรือว่าไม่มีงานให้ทำ จิตก็จะว่างงานมาก ก็เลยฟุ้งเข้าไปใหญ่ คนเรามักทนกับสภาพแบบนี้ไม่ได้ เพราะอาการฟุ้งซ่านอย่างนี้ทำให้จิตไม่มีความสงบ แถมยังเกิดความเครียดได้ง่ายเพราะฟุ้งไม่หยุด ก็ขอให้รู้ว่าอันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ใครที่รู้สึกหูอื้อเวลามาอยู่ที่นี่ใหม่ ๆ ไม่นานก็หาย แล้วจะคุ้นกับความสงบในที่สุด
บางคนเจอทั้งความฟุ้งซ่านและความเซื่องซึมสลับกัน เซื่องซึมเพราะจิตไม่มีงานทำ ขาดสิ่งเร้า อาการเหล่านี้พระเรียกว่านิวรณ์ ความฟุ้งซ่านแส่ส่าย เรียกว่าอุทธัจจะกุกกุจจะ ความง่วงเหงาหาวนอนก็เรียกว่าถีนมิทธะ บางทีก็นึกถึงอาหารที่เอร็ดอร่อย นึกถึงรูปอันน่าใคร่ หรือสัมผัสที่น่ายินดี เกิดความอยากขึ้นมา เรียกว่าเกิดกามฉันทะ บางทีก็เกิดความหงุดหงิด หงุดหงิดกับการปฏิบัติ หงุดหงิดตัวเอง หงุดหงิดเสียงที่มารบกวน โดยเฉพาะเมื่อการปฏิบัติไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการก็จะพาลโทษโน่นโทษนี่ อันนี้ก็เป็นนิวรณ์เหมือนกัน เรียกว่าปฏิฆะ อาการอีกอย่างก็คือความลังเลสงสัย เช่น ลังเลสงสัยว่าที่ฉันมาที่นี่คิดดีแล้วหรือ มีงานค้างอยู่ตั้งมากมาย บางทีก็ลังเลสงสัยว่าที่เราปฏิบัตินี้ถูกทางหรือเปล่า อาการเหล่านี้เรียกว่าวิจิกิจฉา อาการห้าอย่างนี้จะเข้ามาโดยเฉพาะเมื่อเริ่มปฏิบัติใหม่ ๆ จะเรียกว่ามันเป็นอาการพยศของจิตก็ได้
จิตของคนทั่วไปไม่ชอบอยู่ในสภาพที่เป็นป่าแบบนี้ ไม่ชอบเพราะไม่คุ้นและรู้สึกเหงาเกินไป เพราะไม่มีสิ่งที่จะมาพะเน้าพะนอ หรือทำให้จิตเกิดความเพลิดเพลิน ไม่มีอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจ ถ้าอยู่ริมทะเล หรืออยู่บนภูเขา ได้เห็นสิ่งสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ ก็ว่าไปอย่าง แต่ว่าพอมาอยู่ในสภาพแบบนี้ แม้จะเป็นธรรมชาติก็จริง แต่ไม่มีสิ่งที่จะมาดึงดูดจิตหรือเร้าใจให้เกิดความเพลิดเพลิน มีแต่ความสงบอย่างเดียว จิตก็จะรวน เกิดอาการพยศ
ความพยศส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่ได้เสพอารมณ์อย่างที่เคย จิตของคนเราจะว่าไปมันเสพติดอารมณ์นะ อารมณ์ที่ว่า หมายถึง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ก็คือความรู้สึกนึกคิดที่รู้ด้วยใจนั่นเอง พอเราเสพหรือสัมผัสนาน ๆก็ติด พอจะถอนตัวออกมาอยู่ในป่าที่สงบสงัด ก็จะเกิดอาการกระสับกระส่าย เหมือนกับคนที่ติดบุหรี่ ติดเหล้า ติดสิ่งเสพติด พอเลิกทันทีก็จะเกิดอาการกระสับกระส่าย งุ่นง่าน ที่เราเรียกว่า “ลงแดง”
จิตที่เสพติดในอารมณ์ ๖ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ พอเสพติดแล้วอยู่ดี ๆ ถอนออกมา หรือมาอยู่ในที่ ๆ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีรูปที่จะมาเร้าจิตกระตุ้นใจ ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น ไม่มีเสียง รวมทั้งไม่มีเรื่องที่จะให้คิด อย่างบางคนชอบคิด ๆ ๆ ๆ พอมาปฏิบัติธรรม ครูบาอาจารย์บอกว่าให้วางความคิดเสีย ก็จะเกิดอาการลงแดงขึ้นมา คือกระสับกระส่าย งุ่นง่าน นิวรณ์ต่าง ๆ ที่พูดถึงเมื่อกี้ก็จะเข้ามา ไม่ว่า ฟุ้งซ่าน
ง่วงเหงาหาวนอน เบื่อเซ็ง ลังเลสงสัย หงุดหงิดรำคาญใจ นึกอาลัยใฝ่หาของที่น่าใคร่น่าพอใจ ใจเลยพาลไม่อยากปฏิบัติ มันอยากออกไปจากที่นี่อย่างเดียว หรือถึงอยู่ที่นี่ก็ขอให้ได้เสพอารมณ์เยอะ ๆ เช่น เดินเที่ยว หรือพูดคุยกันให้เพลิน อาการเหล่านี้ขอให้เรารู้ว่านี่เป็นธรรมดา อย่าไปทุกข์กับมันมาก มันเป็นธรรมดา ให้ถือว่า..เป็นธรรมดา
อาการเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วอย่าไปพยายามผลักไสอย่างที่เราเคยทำอยู่บ่อย ๆ เราเพียงแต่ว่าไม่ทำตามที่มันสั่ง มันง่วง สั่งให้เรานอน เราก็ไม่นอนเพราะเรารู้ว่าที่ง่วง นี้ไม่ใช่เพราะร่างกายต้องการพักผ่อน เราไม่ได้ง่วงทางกาย มันเป็นความง่วงทางใจ คือใจมันเบื่อเลยไม่อยากปฏิบัติ อยากจะนอนท่าเดียว เวลาเครียดก็ให้รู้ทันความเครียดยอมรับมันตามสภาพที่เป็นจริง เวลาหงุดหงิดกับอะไรก็ตาม ก็ให้รู้ว่าจิตมันหาเรื่องไปเอง มันจะหาเรื่องโทษโน่นโทษนี่อยู่เสมอ เหมือนกับคนที่ลงแดง เพราะขาดสิ่งเสพติด
ก็จะหงุดหงิดกับเรื่องต่าง ๆ มากมาย เสียงดังนิดหน่อยก็โมโห อากาศหนาวนิดหน่อยก็รำคาญ ให้เรารู้ว่านี่คืออาการของจิตที่มันพยศ
เวลาเกิดความลังเลสงสัยก็ให้รู้ทัน ให้รู้จักอยู่กับความสงสัยโดยไม่ไปรำคาญกับมัน ขณะเดียวกันก็ไม่ไปหลงคล้อยตามมัน ความสงสัยบางอย่างเราก็ไม่จำเป็นต้องรีบหาคำตอบ ความลังเลก็เหมือนกันให้รู้ทันว่านี่เป็นอาการธรรมดาของจิต หรือจะพูดให้อุปมาอุปไมยก็คือ มันเป็นลูกไม้ของกิเลสที่จะล่อให้เราหลง หลอกให้เราคลายความเพียร เจอแบบนี้ เราก็ไม่ต้องทำอะไรเพียงแต่ให้เรารู้ทันมันก็แล้วกัน
บางทีพระท่านก็เรียกอุปสรรคเหล่านี้ว่าเป็นกิเลสมาร กิเลสหรือมาร หน้าที่ของมันคือมารังควาน มารบกวนให้เราท้อแท้หรือหย่อนยานในการปฏิบัติ มาทำให้หงุดหงิดรำคาญใจก็มี แม้แต่พระพุทธเจ้ามารก็ยังมากวนนะ พระพุทธเจ้าบรรทมอยู่มารก็มาต่อว่าว่า พระองค์หลับเหมือนตายเลย คือมารต้องการมายั่วยุให้พระพุทธเจ้าโมโห แต่พระองค์ไม่ได้ขุ่นเคือง พระองค์เพียงแต่ตอบว่า “ผู้ไม่มีตัณหา ถึงหลับอยู่ก็ชื่อว่าตื่น เพราะกิเลสทั้งปวงสิ้นไป” คือมีสติรู้อยู่ พระโมคคัลลานะก็เคยโดนมารมากวน ถึงกับมาสิงในท้องทำให้ท่านรู้สึกเหมือนมีก้อนหินหนัก ๆ อยู่ข้างใน ท่านจึงพูดกับมารว่า “มารเรารู้จักท่าน ท่านอย่าคิดว่าเราไม่รู้จักท่าน” พอมารรู้ว่ามีคนรู้ทันอุบายของมันเท่านั้นแหละ ก็หนีไปเลย
วิธีที่จะสู้กับมารก็คือการรู้ทันมัน รู้ว่านี้คืออุบายหรือลูกไม้ของมารที่มาหลอกเรา จะเรียกว่านี่เป็นการพูดแบบอุปมาอุปไมยก็ได้ มารแสดงออกมาในรูปของ
นิวรณ์ ๕ ทีนี้พอเกิดขึ้นเราก็เพียงแต่เห็นมันและไม่สนใจที่จะทำตามมัน อย่าไปคิดผลักไสไล่ส่ง เพียงแต่รู้มัน หรือว่าถ้าสติของเรายังไม่ไวพอ ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะรู้ทันอย่างนิ่ง ๆ ก็มีอุบายที่จะแก้ปัญหาได้ ข้อสำคัญคืออย่าไปสู้รบตบมือกับมันตรง ๆ
บางคนปฏิบัติใหม่ ๆ รู้สึกง่วงนอนมาก อยากจะฝืนสู้กับมัน อันนั้นก็ยากอยู่ ถ้าสติไม่พอ จะไปสู้กับมันตรง ๆ ซึ่ง ๆ หน้าก็อาจจะสู้ไม่ไหว ต้องรู้จักหาอุบายเช่น เปลี่ยนอิริยาบถจากนั่ง เป็นยืน หรือเดิน หรือว่าหาน้ำมาลูบหน้าล้างตา ตอนที่ตัวเองปฏิบัติใหม่ ๆ ก็จะมีถังน้ำอยู่ถังหนึ่ง คอยลูบหน้าล้างหน้าเพื่อปลุกกายและใจให้ตื่น บางทีทำแล้วยังไม่ได้ผลก็อาบน้ำเสียเลย อันนี้ก็เป็นอุบายง่าย ๆที่เราจะทำได้ เวลาเครียดเวลาหงุดหงิด ลองเปลี่ยนอิริยาบถดู ก็อาจจะดีเหมือนกัน อย่าเพิ่งไปสู้กับมันตรง ๆ อย่าเพิ่งไปใช้สติดูมัน วิธีนั้นเราทำได้ถ้าหากว่าเราปฏิบัติดีจนมีสติเข้มแข็ง แต่ว่าถ้าเพิ่งฝึกใหม่ อยากจะเข้าไปรู้มันเห็นมัน แต่เนื่องจากสติยังอ่อนอยู่ ก็เลยหลุดเข้าไปติดนิวรณ์เหล่านั้น
พยายามแผ่เมตตาให้กับตัวเองบ้าง อ่อนโยนกับตัวเองบ้าง เราเครียด เราหงุดหงิดก็เพราะตั้งใจมากไป ผลไม่เป็นไปตามใจเรา ก็เลยทำร้ายตัวเอง ตีอกชกหัวตัวเอง ยิ่งไปห้ามความคิด พยายามควบคุมใจไม่ให้ฟุ้ง ก็ยิ่งเครียด เพราะความคิดมันไม่ยอมเลิกฟุ้ง ก็เลยเข้าไปควบคุมความคิดให้แน่นหนากว่าเดิม จึงเครียดหนักขึ้น ความเครียดก็คือการทำร้ายตัวเองอย่างหนึ่ง
มีพระบางรูปปฏิบัติแล้วใจไม่สงบ คือท่านตั้งใจอยากปฏิบัติให้สงบ พอไม่สงบก็โมโหตัวเอง ความคิดมันหยุดไม่ได้ ยิ่งพยายามอยากจะหยุดมันยิ่งไม่หยุด ยิ่งห้ามมันยิ่งฟุ้ง เลยโกรธตัวเองมาก ถึงกับเอารองเท้าแตะฟาดหัวตัวเอง ปากก็พูดว่า เมื่อไหร่จะหยุดฟุ้งเสียที นี่แสดงว่าตกหลุมกิเลสแล้ว มันหลอกให้ทำในสิ่งโง่ ๆ โดยไม่รู้ตัว
เราอยากจะปฏิบัติให้มีสติ แต่สุดท้ายกลับขาดสติยิ่งกว่าคนที่ไม่ได้ปฏิบัติเสียอีก ต้องระวังนะ คนทั่วไปไม่ได้ปฏิบัติธรรม แต่เขาไม่ถึงขั้นหลงตัวลืมตนเอารองเท้าฟาดหัว ส่วนนักปฏิบัติธรรมอยากจะได้สติ แต่เพราะทำด้วยอุปาทานความยึดความอยาก ผลก็คือลืมตัวยิ่งกว่าคนที่เขาไม่ปฏิบัติเสียอีก
นักปฏิบัติธรรมบางทีมีอาการหนักกว่าคนทั่วไป อันนี้เป็นเพราะอุปาทานมันทำให้เผลอทำ บางคนมีนิสัยหงุดหงิดง่ายกว่าคนที่ไม่ปฏิบัติ หรือหวั่นไหวง่ายเพียงเขาบอกว่า “ เธอนี่ไม่มีสติเลย ” เพียงแค่นี้ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ คนธรรมดาถ้าถูกว่าแบบนี้ เขาอาจจะรู้สึกเฉย ๆ จะโมโหก็ต่อเมื่อถูกด่าพ่อด่าแม่ แต่นักปฏิบัติธรรมเพียงแค่มีคนมาบอกว่าไม่มีสติ หลายคนจะโกรธมาก ไม่มีคำด่าไหนที่จะรุนแรงมากกว่าด่าว่า “ ไม่มีสติ ” อันนี้แสดงว่าเรามีอุปาทานหรือความยึดติดมากไปแล้ว ก็เลยหวั่นไหวง่ายกว่าคนทั่วไปที่เขาไม่ปฏิบัติ อันนี้เป็นเพราะความยึดติดหรือความอยากมีสติมาก ๆ นั่นเอง จึงโดนกิเลสหลอกง่ายมาก
ขอให้เรารู้ทันอุบายของกิเลสมาร อย่าทำด้วยความอยาก คนธรรมดานี่ต้องมีความอยากเสียก่อน ถึงจะมีแรงทำนั่นทำนี่ อย่างนี้เรียกว่าทำด้วยตัณหา ขอให้เรารู้ทันในแรงขับแบบนี้ ถ้าจะทำอะไร ก็ควรทำใจให้สบาย ๆ อย่าให้ความอยากมันเผาลนใจจนร้อนไปไหมด ในการปฏิบัติธรรม เราไม่ได้สู้กับใคร ไม่ได้แข่งกับใครทั้งสิ้น ถ้าจะสู้ก็สู้กับนิสัยความเคยชินเดิม ๆ คือนิสัยชอบฟุ้งซ่าน นิสัยที่ไม่ค่อยมีความเพียรในการปฏิบัติ นิสัยที่ไม่อยากอยู่คนเดียว
เรามีโอกาสดีแล้วที่ได้มาอยู่คนเดียวท่ามกลางธรรมชาติอย่างนี้ คนหลายคนเขาอยากจะหาเวลามาแต่ไม่มีเวลา บางคนก็ไม่มีความกล้าที่จะมา มีข้ออ้างมากมาย แต่เราได้ระดมความเพียรมาถึงนี่แล้ว อีกทั้งโอกาสก็อำนวย ก็ขอให้ใช้โอกาสนี้ทำความเพียรอย่างเต็มที่ เรามีโอกาสมาอยู่คนเดียวแล้ว ก็ขอให้เป็นการอยู่คนเดียวที่ครบทั้งกายและใจ บ่อยครั้งเราอยู่คนเดียวแค่ทางกาย แต่ใจไม่ได้อยู่คนเดียว ใจไปเพลิดเพลินกับอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งนอกตัวและในใจ ไปอยู่กับอดีตบ้าง ไปอยู่กับอนาคตบ้าง อย่างนี้
พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ได้อยู่คนเดียวนะ
การอยู่คนเดียวในอริยวินัยหรือตามหลักพุทธศาสนา ก็คือว่าไม่เพลิดเพลินกับอายตนะ ๖ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ ถ้าเพลิดเพลินแล้ว แม้จะอยู่คนเดียวในบ้านหรือในป่า ก็ถือว่าไม่ได้อยู่คนเดียวในอริยวินัย การปล่อยใจจมอยู่กับอดีต ไม่สามารถที่จะสละเรื่องราวที่ผ่านไปแล้วได้ หรือไปกังวลกับอนาคต ไม่สามารถวางเรื่องราวที่ยังมาไม่ถึงได้ อย่างนี้พระพุทธเจ้าก็ถือว่าไม่ได้อยู่คนเดียวนะ อยู่คนเดียวก็คืออยู่กับปัจจุบัน
ดังนั้นขอให้การอยู่คนเดียวหรืออยู่วิเวกของเราเกิดผลตามอริยวินัย ถ้าอยากจะมีเพื่อนก็ขอให้มีสติเป็นเพื่อน การมีสติเป็นเพื่อน ก็เรียกว่าเป็นการอยู่คนเดียวตามหลักพุทธศาสนา แม้จะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย หรืออยู่ในเมือง แต่ถ้ามีสติเป็นเพื่อนแล้ว ก็ถือว่าอยู่คนเดียวเพราะช่วยให้ใจเกิดความสงบสงัด ในทางตรงข้ามหากอยู่คนเดียวอย่างมีสติ แม้จะอยู่ในป่าหรือกลางทะเลทราย ก็ย่อมรู้สึกบอุ่นราวกับอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าอยู่คนเดียวเหมือนอยู่กับคนหมู่มากคือ อบอุ่น ไม่กลัว รู้สึกปลอดภัย และเวลาอยู่กับคนหมู่มากก็เหมือนกับอยู่คนเดียว คือว่าผู้คนจะส่งเสียงอึกทึก เราก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ไม่หวั่นไหวขึ้นลง มีความสงบสงัดราวกับอยู่คนเดียว จิตเป็นปกติไม่แปรผัน ใครเขาจะสรรเสริญอย่างไร ใจเราก็เป็นปกติ เขาจะตำหนิเพียงใด ใจก็ไม่หวั่นไหว นิ่งได้ อย่างนี้เรียกว่าแม้อยู่ท่ามกลางคนหมู่มากก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวก็เหมือนอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก ให้เราทำใจแบบนี้ โดยมีสติเป็นเครื่องรักษาใจ ในที่สุดก็จะช่วยให้เราได้เข้าถึงความสุขที่ประณีต
สุขอย่างแรกเรียกเนกขัมมสุข คือสุขเพราะออกจากกาม หรือไม่เกี่ยวข้องกับกาม กามในที่นี้หมายถึง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่น่าพึงพอใจ สิ่งเย้ายวนใจเย้ายวนกายนั่นเอง เรามาอยู่ในที่สงบวิเวกแบบนี้ ไม่มีกามมารบกวนให้วุ่นวายทั้งกายและใจ ก็ได้พบกับเนกขัมมสุข ต่อไปก็อาจจะได้เข้าถึงปวิเวกสุข คือสุขที่สงัดจากกาม ทีแรกเราถอนตัวออกจากสิ่งเย้ายวนใจ ไม่มีสิ่งเย้ายวนใจมาอยู่รอบตัว อันนี้เรียกว่าเนกขัมมะ ซึ่งไม่ได้แปลว่าออกบวชเท่านั้น การถอนตัวออกจากสิ่งเย้ายวนใจ ไม่เกี่ยวข้องกับมันก็ถือว่าเป็นเนกขัมมะเหมือนกัน ต่อมาจิตใจก็เริ่มปลอดโปร่ง เมื่อจิตปลอดโปร่งก็มีความสุข กระทั่งว่าแม้จะอยู่ท่ามกลางสิ่งเย้ายวนใจแต่ใจก็ไม่ไปเพลิดเพลินยินดีกับสิ่งเหล่านี้ ความสุขแบบนี้เรียกว่าปวิเวกสุข คือสุขเพราะปลอดโปร่งจากกาม
เนกขัมมสุขและปวิเวกสุขเป็นสิ่งที่เราควรได้ประสบสัมผัส ไม่ว่าอยู่ในป่าหรืออยู่ในเมือง ท่ามกลางผู้คน ถ้าเรามีสติเป็นเครื่องประคองใจ รู้ทันในอารมณ์ที่เข้ามากระทบไม่ว่าจะน่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ โดยเฉพาะสิ่งที่น่าพอใจซึ่งมักทำให้เราเผลอง่าย แต่เมื่อมีสติ ก็ไม่ติดอยู่ในความเพลิดเพลินยินดี มีสติเป็นเครื่องช่วยให้หลุดจากความเพลินนั้นได้ หลวงพ่อชาบอกว่า ทุกข์มากเพราะพลอย พลอยคือเพลินนั่นเอง ที่จริงท่านพูดยาวกว่านั้น ท่านว่า
ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์ยืดเพราะอยาก
ทุกข์มากเพราะพลอย ทุกข์น้อยเพราะหยุด
ทุกข์หลุดเพราะปล่อย
เพราะเราพลอยเพลินยินดี ก็เลยทุกข์ เพราะสิ่งที่ทำให้เราเพลิดเพลินนั้นมันไม่เที่ยง พอมันแปรผัน เราก็เป็นทุกข์ และยิ่งเรามีความอยาก ทุกข์ก็เลยยืดยาวเข้าไปใหญ่ แต่เมื่อใดที่เรารู้จักหยุดรู้จักปล่อย ปล่อยสิ่งที่ยึดถือเอาไว้ ความทุกข์ก็คลายไป เกิดสุขอีกระดับหนึ่งคืออุปสมสุข หรือสุขเพราะสงบจากกิเลส
ขอให้เราฝึกอย่างนี้โดยมีสติเป็นเครื่องช่วย ขอให้เรารู้จักปล่อยและคลาย แม้อารมณ์ที่พึงปรารถนาเข้ามากระทบ ก็ไม่พลอยยินดี อารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนามากระแทกก็ไม่ผลักไสด้วยความอยาก เพราะถ้าเราผลักไสด้วยความอยากเราก็จะเข้าไปยึดโดยไม่รู้ตัว เหมือนกับไก่ป่าที่อยากจะไล่ไก่ต่อหรือไก่บ้านที่พรานเอามาล่อ แต่ยิ่งไล่ก็ยิ่งถลำเข้าไปในกับดักของพรานจนกระทั่งถูกจับได้ในที่สุด
อย่าลืมว่าอุบายของมารก็คือเอาสิ่งที่น่าพึงพอใจมาล่อให้เราฮุบจนติด และเอาสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจมาล่อให้เราผลักไส ถ้าเรารู้ทัน มารก็ทำอะไรเราไม่ได้ อันนี้เรียกว่าพ้นจากอาการยึดเพราะถ้ายึดแล้วทุกข์ก็ยืด สิ่งที่น่ายินดีก็ตาม ไม่น่ายินดีก็ตาม เราไม่เพลินหรือไม่คิดจะผลักไส ใจก็เป็นอิสระ ความอิสระของใจคือจุดหมายของการปฏิบัติ ขอให้เราปฏิบัติจนถึงความอิสระหรือความหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิง