ผู้มีจิตใจเป็นอิสระรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยตัณหาอุปทานเท่านั้น จึงจะรู้ว่าอะไร เป็นความเสื่อม อะไรเป็นความเจริญที่แท้จริง มิใช่เพียง ความเจริญที่อ้างสำหรับมาผูกรัดตัวเอง และผู้อื่นให้เป็น ทาสมากยิ่งขึ้น หรือ ถ่วงให้จมต่ำลงไปอีก จึงจะสามารถ ใช้ประโยชน์จากความเจริญที่สร้างขึ้นพร้อมกับสามารถ ทำตนเป็นที่พึ่งแก่คนอื่นได้เป็นอย่างดี "
เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ "พระพรหมคุณาภรณ์" ยังความปลื้มปีติในหมู่กัลยาณมิตรเป็นอย่างยิ่ง
ราชทินนามนี้สัมพัทธ์กับธันยภูมิของท่านโดยแท้
"พรหม" คือ ผู้ประเสริฐเกิดแต่ธรรมผู้ใหญ่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
"คุณ" คือ โสตถิธรรมที่อัดแน่นภายใน ส่องประกาย ณ ภายนอก
"อาภรณ์" เครื่องประดับกายา สูงสง่าด้วยกิริยาพรต ยิ่งครรลอง สมณวิสัย
ท่านเป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่ ที่ใหญ่ทั้งคุณวุฒิและธรรมวุฒิ เป็นสุดยอดปิฎกธรรม งามอตุลญาณ เป็นปราชญ์พระพุทธศาสนาของโลก ยืนหยัดอยู่บนความถูกต้องแห่งธรรมวินัย องอาจอย่างบุรุษอาชาไนย ปกป้องภัยพระพุทธศาสนาทั้งภายนอกและภายใน
แนวธรรมไซร้แสดงอย่างตรงไปตรงมาตามพุทธปาพจน์ ไม่คด ไม่เพิ่ม ไม่เสริมไม่เติม ไม่แต่ง หากต้องขยายมักมีเชิงอรรถให้สืบค้น ทำให้ผลงานทุกชิ้น ทั้งบทความงานเขียน งานนิพนธ์ บรรยาย ปาฐกถา ล้วนมีที่มาที่ไปและง่ายต่อผู้แสวงจำเพาะ "พุทธธรรม" ซึ่งท่านใช้เวลาขยายความ ทั้งฉบับเดิม และฉบับขยาย มีการแปลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถือเป็นเพชรของวรรณกรรมพุทธศาสนาโลก
อัตโนประวัติ นามเดิมชื่อ ประยุทธ์ อารยางกูร เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ ม.ค. พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นวันแรม ๗ ค่ำ เดือนยี่ ปีขาล ณ บ้านตลาดใต้ ฝั่งตะวันออกแม่น้ำท่าจีน อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี โยมบิดาชื่อสำราญ มารดาชื่อ ชุนกี มีพี่น้องร่วมอุทร ๖ คน ท่านเป็นคนสุดท้อง
บิดามารดามีอาชีพค้าขายผ้าแพรและผ้าไหมในตลาดและมีโรงสีไฟขนาดกลาง ๑ โรง โยมบิดามารดาบ่มเพาะนิสัยให้มีความเป็นผู้นำ มีเหตุผลแต่วัยเยาว์ ทำให้ท่านรักความสงบ เคร่งครัดในระเบียบวินัยมีความมุ่งมั่นที่ดี มีความเสียสละเป็นกำลัง ให้อภัยและกล้าหาญ
พ.ศ.๒๔๘๘ เข้าเรียนโรงเรียนชัยศรีประชาราษฎร์ จนจบชั้นประถมปีที่ ๔ ก่อนเข้าเรียนโรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ ได้รับทุนเรียนดีของกระทรวงศึกษาธิการจนถึงชั้นมัธยม ๓ ระหว่างนั้นมักแวะเวียนไปที่บ้านเกิดเพื่อสอนภาษาอังกฤษ เลข คณิต ศีลธรรม ความรู้ทั่วไปแก่ลูกหลานชาวบ้าน
ปีพ.ศ.๒๔๙๔ ขณะเรียนชั้นมัธยม ๓ ท่านป่วยเป็นโรคทางเดินอาหาร โยมบิดาจึงนำไปบวชเป็นสามเณรที่วัดบ้านกร่าง สุพรรณบุรี
เมื่อบวชเรียนก็ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม ๙ ประโยค ขณะเป็นสามเณร ณ สำนักเรียนวัดพระพิเรนทร์
ปีพ.ศ.๒๕๐๔ เข้าอุปสมบทเป็นนาคหลวง ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภณมหาเถร) วัดเบญจมบพิตร ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า ปยุตฺโต อันมีความหมายเป็นมงคลว่า "ผู้เชี่ยวชาญวิทยาการ"
พ.ศ.๒๕๐๕ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๑) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รุ่งขึ้นอีกปีสำเร็จวิชาชุดครู พ.ม.
หลังจากจบแล้วก็เริ่มฉายแววกตัญญู พลิกชีวิตจากพระนิสิตเป็นอาจารย์สอนแผนกบาลีอุดมศึกษา และวิชาธรรมภาษาอังกฤษ ด้วยมหาจุฬาฯ ยุคนั้นสรรหาครูสอนยากยิ่งงมเข็ม ด้วยไหวพริบปฏิภาณดี ไมตรีเป็นโท มีความรู้เป็นเอก จนก้าวขึ้นชั้นเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ รองเลขาธิการมหาวิทยาลัยตามลำดับ
ห้วงที่กำลังรุ่ง ได้ปรับปรุงระเบียบแบบแผนพัฒนาหลักสูตร และโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์และอื่นๆ อีกมากมาย ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ เคี่ยวกรำจนดึกดื่น มีเก้าอี้เป็นเรือนนอน มีหนังสือเป็นหมอน มีจีวรเป็นผ้าห่มคลุมกาย รุ่งเช้าก็เริ่มใหม่ ทำ และทำอย่างนี้ทุกๆ ครั้ง
จนกาลเวลาเปลี่ยนผันวันเลื่อนผ่านงานศาสนาเจริญรุดหน้า แต่ร่างกายาของท่านเจ้าคุณกลับทรุดลงๆ จนปีพ.ศ.๒๕๒๖ จึงล้มป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อแขนอักเสบเหตุเพราะทำงานหนักเกินตัว คล้อยหลังมินานนักก็ป่วยโรคไวรัสเข้าตาเกิดอาการอักเสบ บวม ต้องปิดตาทั้งสองข้าง แต่ก็ยังไม่เลิกเขียนตำรา ตาใช้ไม่ได้ หูยังมี แขนยังขยับ ปากยังสื่อไหว ทุ่มลงไปโดยมิรั้งรอ
สิ่งที่ทำลงไปหาใช่เพื่อตัว แต่เพื่อเผยแผ่ศาสนา กตเวทิตาต่อมหาวิทยาลัยเป็นเบื้องหน้า เหตุนี้จึงมิมีที่จะเก็บงำงานนิพนธ์ ใครขอก็ให้ ทั้งแจกและมอบเป็นที่ระลึก ด้วยมีทุนจากญาติโยมที่บริจาคมา ศาลาวัดญาณเวศกวันก็มีวางแจก
ย่างเข้าปีพ.ศ.๒๕๓๖ ด้วยท่านมุแต่งาน จนป่วยด้วยโรคสายเสียงอักเสบ แพทย์สั่งห้ามพูด ก็หันมาใช้กระดานแม่เหล็กเขียนตอบข้อซักถามและสั่งงานแทน ป่วยหนักเพราะมิได้พักเต็มที่ บางทีแพทย์ถึงกับนอนเฝ้าไข้ ณ เวลานี้ ความป่วยไข้เป็นสหายของท่านทุกโมงยาม การจะเข้าหาสนทนาธรรมจึงมักละเว้นบ้างเป็นครั้งคราว ด้วยห่วงสุขภาพเป็นสำคัญ พระครูปลัดปิฎกวัฒน์ ศิษย์ก้นกุฏิไขข้อกังขาได้ดิบดี
รุ่งขึ้นอีกปีต้องเข้าเฝือกกรามเหงือกเนื่องจากกรามบนล่างไม่ได้ส่วนกัน
ท่านเจ้าประคุณเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านเป็นผู้มีความเพียรยอดเยี่ยม ผลงานเขียนทุกชิ้นจะต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ทั้งร่างโครงการ หาข้อมูล ดำเนินการ จนกระทั่งงานเสร็จสมบูรณ์บางชิ้นใช้เวลา ๗ วัน บางชิ้นร่วมเดือน สองสามเดือน ปีหนึ่งหรือมากถึง ๓ ปี
เพราะเตรียมตัวดี ทำให้งานเพียบพร้อมสมบูรณ์และออกมาอย่างต่อเนื่อง มีทั้งหนังสือ ตำรา เทป-ซีดี ร่วม ๑,๐๐๐ เรื่อง
แม้กระทั่งยามเจ็บไข้ก็ไม่เคยหยุด ซึ่งเมื่อถูกถาม มักจะพูดเสมอว่า "บัณฑิตย่อมฝึกตน และถ้าจะทำอะไรต้องทำให้สำเร็จและทำให้ดีที่สุด"
เมื่อญาติโยมถามไถ่มักพูดให้ขบคิดว่า "ให้ตั้งจิตตั้งใจไว้ว่าถึงแม้ว่าร่างกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วยไปด้วย"
และมักจะฝึกหัดขัดเกลาตัวเองอยู่เสมอว่า "วันนี้ได้ทำอะไรผิดพลาดที่ไม่เหมาะไม่ควรแก่สมณภาวะบ้างหรือไม่"
เพราะความเป็นปราชญ์เช่นนี้ ท่านจึงมักได้รับนิมนต์ไปเทศน์ แสดงปาฐกถา ในงานสำคัญของสถาบันชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศแทบทุกปี แต่ทุกวันนี้ต้องงดเสียส่วนใหญ่เพราะสุขภาพอ่อนแอ
สมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๑๒ เริ่มจากชั้นสามัญที่พระศรีวิสุทธิโมลี ชั้นราชที่พระราชวรมุนี ชั้นเทพที่พระเทพเวที พ.ศ.๒๕๓๖ เป็นชั้นธรรมที่ "พระธรรมปิฎก" เป็น ๒๕๔๗ วาระพิเศษ ๑๒ สิงหามหาราชินี ได้รับพระราชทานเลื่อนเป็น "พระพรหมคุณาภรณ์"
จากผลงานอันทรงคุณค่าและมีจำนวนมากมาย ทำให้บุคคล คณะบุคคล สถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศได้ยกย่องเชิดชูเกียรติคุณของท่านในหลายๆ ด้านรวม ๑๔ สถาบัน
ปีพ.ศ.๒๕๒๕ ได้รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ปีพ.ศ.๒๕๒๙ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติศักดิ์ สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปีพ.ศ.๒๕๒๙ ปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปีพ.ศ.๒๕๓๐ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศึกษาศาสตร์-การสอน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปีพ.ศ.๒๕๓๑ ปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีพ.ศ.๒๕๓๑ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล
ปีพ.ศ.๒๕๓๓ การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ปีพ.ศ.๒๕๓๖ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปีพ.ศ.๒๕๓๗ ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ปีพ.ศ.๒๕๓๘ ตรีปิฏกาจารย์กิตติมศักดิ์ จากนวนาลันทามหาวิหาร รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
ปีพ.ศ.๒๕๓๘ อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจริยศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ปีพ.ศ.๒๕๔๑ วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีพ.ศ.๒๕๔๒ ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ปีพ.ศ.๒๕๔๕ ศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ปีพ.ศ.๒๕๔๖ เป็นศาสตราจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ
นอกจากนี้ยังได้รับประกาศเกียรติคุณและรางวัลอีก ๘ รางวัล คือ ผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาในการฉลอง ๒๐๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์, รางวัลวรรณกรรมชั้นที่ ๑ ประเภทร้อยแก้ว สำหรับงานนิพนธ์พุทธธรรม จากมูลนิธีธนาคารกรุงเทพ, โล่รางวัลมหิดลวรานุสรณ์, โล่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อการศึกษา ในวาระครบรอบ ๒๐ ปี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, รางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ สังข์เงิน สาขาเผยแผ่พระพุทธศาสนา
รางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การ ยูเนสโก, ประกาศเชิดชูเกียรติผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ถวายรางวัล TTF Award สาขาสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา สำหรับผลงานทางวิชาการดีเด่น หนังสือการพัฒนาที่ยั่งยืน
เจ็บป่วยมาค่อนชีวิต ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ยังคงรบกับโรคาพาธที่มาเบียดเบียนบีฑาอย่างมิกลัวเกรง ยังคงเร่งเคี่ยวกรำกับวรรณกรรมศาสนาโดยมิรามือ จะด้วยเหตุผลกลใดมิมีใครรู้แต่ที่ลงมือทำก็เพื่อพระศาสนา โดยแท้..!! ..
http://www.watkoh.com/forum/index.php?topic=949.0