อนุสติธรรมปีใหม่ (๒๕๕๔) ขอเจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ผู้ปรารถนาประกอบคุณความดี ผู้มุ่งหลีกหนีสรรพทุกข์ ยกย่างวันเวลาเข้าสู่ปีใหม่ โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส
ขอเจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ผู้ปรารถนาประกอบคุณความดี ผู้มุ่งหลีกหนีสรรพทุกข์ ยกย่างวันเวลาเข้าสู่ปีใหม่ เป็นอีกนิมิตหนึ่งที่แสดงอายุกาลแห่งชีวิตว่า แก่เฒ่าเพิ่มไปอีกปีหนึ่ง หรือหากมองเข้าหามุมความจริง ก็จะพบว่า เวลาแห่งชีวิตได้ลดลงไปอีกแล้ว ดุจดังเทียนเล่มหนึ่งที่กำลังสว่างไสวอันน่าพึงใจสำหรับผู้พบเห็นประโยชน์จากความสว่างของเทียนเล่มนั้น ซึ่งแท้จริงของประโยชน์นั้น ก็เกิดจากความเป็นโทษภัยที่เทียนเล่มนั้นถูกเผาไหม้ไปด้วยไส้ ด้วยไขเทียนที่เป็นเชื้อเพลิงยังมีอยู่ ด้วยน้ำตาเทียนที่รินหลั่งไหลอย่างไม่ขาดสาย อันบ่งบอกถึงการถูกเผาไหม้อย่างต่อเนื่อง ให้ผลเป็นแสงสว่างไปทั่วอาณาบริเวณ เป็นประโยชน์กับผู้ใช้สอย ซึ่งประโยชน์นั้น แท้จริงเกิดจากการทำลายของตัวมันเองไปทุกขณะ จนกว่าจะมอดสิ้นไปในเทียนไขเล่มนั้น ซึ่งค่อยๆ เผาไหม้ตัวมันเองไปทีละน้อย ไปทีละมาก ผันแปรไปตามปัจจัยเกี่ยวเนื่อง อันมองให้เห็นความจริงอันหนึ่งที่ปรากฏมีอยู่ในความสืบเนื่อง (สันตติ) คือ ความเกิดขึ้น มีอยู่ แปรปรวน และสูญหาย ที่เรียกว่า “อนิจจัง”
เช่นเดียวกันกับการมีชีวิตสืบต่อไปเบื้องหน้าอย่างไม่สิ้นในขณะนี้ ก็ด้วยเชื้อไขแห่งชีวิตยังมีอยู่ ดุจเหมือนมีประโยชน์กับชีวิตนั้นๆ หากรู้กาลอันควร และรู้ฐานะที่ควรกระทำที่เป็นไปตามหลักธรรมอริยสัจ ซึ่งจะต้องรู้จักหนทางแห่งการกระทำที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้เข้าถึงความจริงขั้นอริยสัจนั้น อันมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ถึงความสิ้นทุกข์ หรือพระนิพพาน
ในวิถีพุทธ ซึ่งให้คติแห่งการดำรงชีวิตท่ามกลางความผันแปรไม่เที่ยงแท้ในสรรพธรรมทั้งหลายว่า “จงอย่าประมาท เพราะสังขารมีความเกิด มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา จงยังประโยชน์ตน และประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมเถิด...” ในข้อนี้ คงเป็นธรรมที่ควรคิดอันยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะเป็นชั้นความจริงขั้นสูงสุด ซึ่งไม่มีใครๆ จะปฏิเสธได้ ดังความหมายที่ว่า “ทุกคนล้วนมีความแตกดับอยู่เบื้องหน้า” ดุจเทียนเล่มหนึ่งที่กล่าวมา ว่า ในความสว่างไสวนั้น แท้จริงเบื้องหน้า ก็คือ ความดับ ... อย่างนี้เป็นธรรมดา ไม่เป็นไปจากนี้ และไม่แปรเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ เพราะมันเป็นเช่นนี้เอง !!
หากลองมองย้อนกลับไปในกาลเวลาที่ผ่านมา เพ่งพินิจพิจารณาในหลากหลายเรื่องราวเหล่านั้น ก็คงจะพบประโยชน์ที่จะนำมาเป็นครูไว้สอนใจได้อย่างมากมาย ทั้งในเรื่องเกี่ยวเนื่องกับเราโดยตรง หรือเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม จึงไม่ควรให้เรื่องราวเหล่านั้นผ่านไปอย่างไร้ค่า แม้เป็นเรื่องที่ไม่มีคุณค่าความดีใดๆ เลย ก็คงเป็นประโยชน์อยู่บ้าง หากรู้จักคิดพิจารณา เพื่อสืบสาวหาเหตุปัจจัย เพื่อเข้าให้ถึงเค้าเงื่อนเหตุของปัญหา ซึ่งจะนำพาให้เราได้เข้าใจความจริงว่า “สิ่งนี้มี ... เพราะมีสิ่งนี้ หรือเมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี ...”
การรู้จักนึกคิดพิจารณาสืบสาวหาเหตุหาผลดังกล่าว จะทำให้เราเข้าใจ เข้าถึงความจริงในธรรมชาติมากยิ่งขึ้น และเราจะพบว่า “สิ่งนี้ เราควรทำ สิ่งนี้ เราไม่น่ากระทำเลย ...” หรือเราอาจจะเข้าถึงขั้นของความสำนึกที่ว่า “เราไม่น่าจะกระทำอย่างนี้เลย...”
การรู้จักคิดพิจารณานั้น จะต้องใช้สติปัญญา โดยจะต้องรู้จักอบรมจิตให้อยู่ในขั้นของคุณภาพการใช้งานเพื่อทำให้เกิดปัญญาได้ หรือจะเรียกว่า จะต้องพัฒนาคุณภาพจิตให้มีความพร้อมที่สามารถจะนำไปใช้งานได้ ที่เรียกว่า สมาธิภาวนา จึงไม่เป็นไปกับบุคคลโดยทั่วไปที่ปล่อยตัว ปล่อยใจมาโดยตลอดว่า สามารถจะพัฒนาคุณภาพชีวิตไปตามวิถีพุทธได้
หากจะพูดเรื่องคุณภาพชีวิตตามวิถีพุทธ ก็คงจะนำไปเกี่ยวเนื่องกับการดำรงชีวิตอย่างรู้จักความพอเพียง... ความพอดี... และอยู่อย่างมีความพึงใจที่ได้กระทำความดีนั้นๆ ซึ่งหมายถึง จะดำรงชีวิตเพื่อลด ละ ปล่อยวางในโลภะ โทสะ โมหะ หรือทำโลภะ โทสะ โมหะ ให้ลดลงไป ให้เบาบางไปจากชีวิตของตน
ทั้ง ๓ อย่างนั้น เป็นอกุศลกิเลสที่ทำให้จิตเศร้าหมอง มุ่งไหลไปสู่ฝ่ายต่ำ คือให้จิตใจตกต่ำจากฐานะอันประเสริฐที่ได้มา โดยเฉพาะ กาลีโทสะ ที่แปลว่า ประทุษร้าย ซึ่งเป็นกลุ่มไวพจน์เกี่ยวกับโกธะ ที่แปลว่า โกรธ ก็ว่าได้ แต่โดยแท้จริงแล้ว โทสะเป็นส่วนแสดงผลออกไปจากความมีโกธะ หรือความโกรธ ซึ่งเมื่อโกรธแล้ว ก็นำไปสู่ความประทุษร้าย จึงเรียกฐานของความโกรธนี้ว่า “โทสะ” เพื่อแสดงให้เห็นอำนาจของความเป็นจริงที่เป็นโทษของความโกรธ หรือโกธะ
หากยังเก็บกดความโกรธอยู่ หรือเรียกว่า ผูกโกรธไว้นั้น ภาษาบาลีเรียกว่า “อุปนาหะ” จะแปลว่า ผูกอาฆาตไว้ก็ย่อมได้ และหากมีการแสดงความโกรธไม่ค่อยมากนัก อยู่ในขั้นหงุดหงิดใจ ขัดใจ จะเรียกว่า “ปฏิฆะ”