อดีตสมาชิกวงสองวัย(ภาพจากวิกิพีเดีย)
ในยุคเพลงไทยสมัยนิยมตื้อตัน สองค่ายเพลงยักษ์ใหญ่หมดมุก ไร้ไอเดีย ไม่รู้จะลอกอะไร เพราะลอกไปหมดแล้วไม่เว้นแม้กระทั่งลอกเพลงเก่า(สูตรสำเร็จ)ของตัวเอง จนสุดท้ายต้องติดกับดัก เดินออกมาจากค่ายกลเพลงที่ตัวเองเคยสร้างไว้ไม่ได้ อีกทั้งยังถูกเพลงเกาหลีเจาะไข่ขาวไข่แดงยึดครองพื้นที่ไปมากโขอีกต่างหาก
นั่นจึงเป็นประตูทองเปิดทางให้เพลงไทยเก่าๆย้อนยุค โดยเฉพาะในยุค 80’s หวนกลับคืนสู่วงการอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น รายการเพลงไทยย้อนยุคตามทีวี-วิทยุ เว็บไซต์รวมเพลงเก่าในอินเทอร์เน็ต การนำเพลงเก่ากลับมาคัพเวอร์ใหม่ของนักร้องร่วมสมัย การนำกลับมารีมาสเตอร์ใหม่ การถูกนำไปเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์-ละคร ทั้งในแบบเวอร์ชั่นดั้งเดิมและเวอร์ชั่นใหม่ รวมถึงการถูกร้องเป็นเพลงยืนพื้นในคาราโอเกะ ถูกขอให้เล่นให้เปิดเป็นประจำตามร้านเหล้า เป็นต้น
และด้วยความที่ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เติบโตมากลับบทเพลงในยุคสมัยนั้น เห็นว่านี่คือยุคทองที่เพลงไทยมีสีสันมากที่สุดยุคหนึ่ง ดังนั้นคอลัมน์นี้จึงขอร่วมรำลึกความหลัง นำวงดนตรีและบทเพลงทรงคุณค่าที่น่าสนใจในอดีต มานำเสนอเล่าสู่กันฟัง โดยเน้นไปที่เพลงไทยเป็นหลักแทรกแซมด้วยเพลงสากลบ้างตามแต่โอกาส สลับกับเพลงน่าสนใจตามสมัยนิยมอย่างที่เขียนอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้เพื่อเชื่อมต่อบทเพลงทรงคุณค่าจากรุ่นสู่รุ่น ให้คนยุคนั้นได้รำลึกอดีต และให้เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ปิดตัวเองอยู่กับเพลงเกาหลี ญี่ปุ่น และบทเพลงเพื่อการค้าจากค่ายของอาเฮียและคุณอา ได้ใช้เป็นวัตถุดิบในการเสาะแสวงหาบทเพลงเหนือกาลเวลาเหล่านั้นมาฟัง
สำหรับตอนแรกบนความเปลี่ยนแปลง ผมขอถือฤกษ์ปีใหม่ควบคู่ไปกับฤกษ์วันเด็กนำเสนอบทเพลงของวง
“สองวัย” วงดนตรีเพื่อเด็กที่ถือเป็นตำนานอีกบทหนึ่งของวงการเพลงไทย
สองวัย มีสมาชิกวงประกอบด้วยกลุ่มคน 2 วัยตามชื่อวง คือวัยผู้ใหญ่และวัยเด็ก
วัยผู้ใหญ่ ได้แก่ "น้าต้อม” กิติพงษ์ ขันธกาญจน์(ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) กับ "น้าวี” วีระศักดิ์ ขุขันธิน (มีเรื่องเล่าว่าทั้งคู่เจอกันที่สวนสนุกแฮปปี้แลนด์) น้าทั้งคู่ถือเป็นแกนหลักของวง ที่แม้บุคคลิกภายนอกอาจดูหนวดเคราครึ้มจนเด็กบางคนกลัว แต่กลับเป็นผู้ที่เข้าใจโลกของเด็กได้เป็นอย่างดี สามารถแต่งเนื้อร้อง ทำนอง และทำเพลงเพื่อเด็กออกมาได้อย่างดีเยี่ยม
ส่วนวัยเด็ก ได้แก่เหล่าน้องๆหนูๆ(ในยุคนั้น)จากรายการสโมสรผึ้งน้อย ประกอบด้วย “น้องอ้อย” เปรมสิณี เอียดเอื้อ หรือ อ้อย กะท้อน(ปัจจุบัน),“น้องนุช” ปิยะนุช บุญประคอง(น้องคนเล็ก), “น้องโอ๋” ศุภิสรา เอียดเอื้อ, “น้องน้อย” สมพิศ ศิลปะวานนท์ และ “น้องมุก” มุกดา ศิลปะวานนท์ ซึ่งวันนี้น้องๆหนูๆเหล่านี้โตเป็นคุณแม่ คุณป้า คุณน้ากันหมดแล้ว

สองวัยชุดแรก "เจ้าผีเสื้อเอย"
วงสองวัย เปิดตัวครั้งแรกในยุทธจักรวงการเพลงไทยเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ในงาน “วันดอกรักบาน” วันเด็กแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2522 ณ เวทีหอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร(วิทยาเขตวังท่าพระ)
สองวัย เป็นวงดนตรีที่แม้จะมีผลงานเพลงออกมาเพียง 3 ชุด แต่ก็ถือเป็นผลงานอันทรงคุณค่า น่าฟังไปด้วยท่วงทำนองเพราะๆเมโลดี้สวยๆผ่านดนตรีโฟล์คอันเรียบง่าย สอดรับกลมกลืนไปกับถ้อยคำภาษาอันงดงาม ซึ่งวันนี้หาฟังเพลงภาษาสวยๆแบบนี้ยากเต็มที ในขณะที่บทเพลงดีๆเพื่อเด็กในยุคนี้ ผมก็ไม่ได้ยินไม่ได้ฟังจากวงการเพลงกระแสหลัก กลับได้ยินได้ดูแต่บทเพลงที่มุ่งเน้นให้เด็กฟุ้งเฟ้อในวัตถุนิยม ว้าวุ่นอยู่แต่ในเรื่องความรัก บางเพลงนี่ยิ่งแล้วใหญ่ หมกมุ่นในเรื่องเพศชัดเจนเกินวัย นำเสนอ(ผ่าน MV)ให้เด็กผู้หญิง ม.ต้น “ให้ท่า”ผู้ชาย หรือแก่งแย่งผู้ชายกันแบบไม่อายฟ้าอายดิน ผิดกับเพลงของสองวัยที่นำเสนอแง่มุมความเป็นเด็กออกมาได้อย่างมีกึ๋น หลายบทเพลงของวงนี้แม้จะฟัง ซื่อใส น่ารัก ง่ายๆ ในอารมณ์เพลงเด็ก แต่ว่าในรายละเอียดกลับแฝงไว้ด้วยข้อคิดคติเตือนใจ ความเป็นห่วงเป็นใยในสิ่งแวดล้อม การปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้อย่างแยบยล สองวัย มีผลงานเพลงชุดแรกคือ
“เจ้าผีเสื้อเอย” ที่มากไปด้วยบทเพลงเพราะๆหลากหลายเพลงด้วยกัน
ในยุคนั้นชื่ออัลบั้มเพลงส่วนใหญ่มักจะมาจากเพลงเปิดเพลงแรกของอัลบั้ม และไม่มีการใช้ชื่อชุดเป็นภาษาอังกฤษฟุ่มเฟือยเหมือนทุกวันนี้ สองวัยเปิดประเดิมเพลงแรกในชื่อชุด(แรก)กันด้วย“เจ้าผีเสื้อเอย” หนึ่งในเพลงขึ้นหิ้งของวงนี้
เจ้าผีเสื้อเอย มีเนื้อร้องสั้นๆ แต่ใช้วิธีเปลี่ยนเสียงร้อง เริ่มจากเสียงเด็ก ผู้ใหญ่ และร้องร่วมกันผู้ใหญ่ เด็ก เนื้อหาของเพลงนี้ให้ความรู้สึกทั้งน่ารักและน่าเศร้าคละเคล้ากันไป
นอกจากเพลงเจ้าผีเสื้อเอยแล้ว งานชุดนี้ยังมีเพลงเด่นๆชวนฟังอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “ลูกหมูใส่รองเท้า”เนื้อหาใสๆที่มาพร้อมกับท่อนน่ารักอย่าง “ก็อบ กิ๊บ ก็อบ”
“ใบไม้ร่วง” “ดอกไม้หายไปไหน” 2 เพลงเพราะๆ พูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งวันนี้ 30 ปีผ่านมา นอกจากจะไม่มีอะไรดีขึ้นแล้ว ยังย่ำแย่ลงแบบน่าเป็นห่วง
“แมงมุม” แรงบันดาลใจที่น้าวีได้มาจากเรื่อง ชาร์ล็อต แมงมุมเพื่อนรัก ฟังแล้วอดนึกถึงหนังสืออ่านนอกเวลาเรื่องนี้ที่ครูบังคับให้อ่านในสมัยเรียนไม่ได้
“ลูกแกะกับหมาป่า”ว่าด้วยเรื่องราวของลูกแกะที่ถูกหมาป่าบ้าอำนาจขี้โกงเอารัดเอาเปรียบ บทเพลงนี้น้าวีไปต่อยอดด้วยการเขียนเป็นนวนิยายเรื่องแรกในชีวิต ชื่อ “จึงตวาด อ้ายแกะน้อย!” ซึ่งวันนี้หมาป่าบ้าอำนาจมันก็ยังคงอยู่ในสังคมไทย เพียงแต่เปลี่ยนบริบทจากเผด็จการทหารมาใส่สูทในคราบนักการเมืองและนายทุน ที่พร้อมจะขย้ำประชาชนที่เป็นดังลูกแกะตาดำๆได้ทุกเมื่อ หากพวกเราหลงเชื่อ คล้อยตาม หรือไม่สามัคคีกัน
“ไม้ไผ่ร้องเพลง” ใสๆน่ารักไปกับเสียงไม้ไผ่ร้องเพลง อ่อ-อี๋-ออ “จราจร จลาจล” เรื่องราวคลาสสิคบนท้องถนนกรุงเทพฯที่ผ่านมากว่า 30 ปีแล้วก็ยังไม่เปลี่ยนและยังไม่มีใครแก้ปัญหาได้
“คิดถึงกันบ้างนะ” เพลงปิดท้ายอัลบั้ม กับภาษากวีอันสวยงาม ที่ผมฟังทีไรเป็นต้องคิดถึงสมัยเป็นเด็กและวงสองวัยทุกทีไป
สองวัยชุดสอง "กระแตตื่นเช้า"
และนั่นก็คือบทเพลงเด่นๆในเจ้าผีเสื้อเอยผลงานชุดแรกของสองวัย ซึ่งผมยกให้เป็นผลงานชุดที่ดีที่สุดของวงนี้ เพราะนอกจากความสดใหม่แล้ว ยังมีความลงตัวในหลายๆด้าน ทั้งเนื้อร้อง ภาษา ท่วงทำนอง ดนตรี รวมไปถึงการเลือกเสียงร้องในแต่ละบทเพลงที่ทำได้อย่างกลมกล่อมลงตัว อันเป็นแนวทางหลักส่งต่อมายังผลงานเพลงชุดที่สอง
“กระแตตื่นเช้า” งานเพลงชุดนี้ได้ “น้าซู” ระพินทร์ พุทธิชาติ มาร่วมด้วยอีกแรง แนวเพลงยังคงเดินตามรอยชุดแรก เพียงแต่ลดเนื้อหาของเพลงที่มีการสอดแทรกคติเตือนใจและมุ่งเน้นเรื่องการอนุรักษ์ลงไปบ้าง แต่ที่เพิ่มมากลับเป็นภาคดนตรีที่ฟังดูมีสีสันมากขึ้น มีเสียงแบนโจ ไวโอลิน แคน แมนโดริน เสริมทัพเข้ามา ในขณะที่เสียงฟลู้ทจากน้าต้อมยังคงทำหน้าที่ได้น่าฟังไม่แพ้ชุดแรก โดยบทเพลงที่น่าสนใจในชุดนี้ ได้แก่
“กระแตตื่นเช้า” เพลงใสๆที่คนตื่นสายอย่างผม ฟังแล้วอยากตื่นเช้าบ้างจังเลย “ปลูกดอกไม้”ฟังน่ารักสดใสด้วยการเลือกดอกไม้ปลูกในแต่ละวัน นับเป็นการปลูกดอกไม้ผ่านบทเพลงที่ส่งต่อไปเติบโตในหัวใจคนฟังได้อย่างไม่ยากเย็น
“แม่จ๋าไปไหน” เพลงนี้เพราะและเศร้ามาก เสียงนักร้องวัยเด็กร้องถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีมาก ใครที่ใจไม่แข็งพอฟังเพลงนี้แล้วอาจต่อมน้ำตาแตกเอาได้ง่ายๆ
“สะพานสายรุ้ง” เพลงที่น้าต้อมแต่งเป็นของขวัญวันเกิด 9 ขวบให้กับน้องนุช น้องคนเล็ก น่ารักน่าฟังด้วยการผสาน 2 อารมณ์เพลงเข้าด้วยกัน ระหว่างเนิบช้ากับคึกคักเริงร่า เนื้อหาไปไกลกว่าเพลงเด็ก หากแต่เป็นบทเพลงเพื่อโลกเพื่อมนุษยชาติเลยทีเดียว
“แมลงปอปีกใส” เสียงร้องแม้ฟังใสๆแต่เนื้อเพลงกับฟังรันทดด้วยเรื่องราวของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ถุกทำลายลงทุกวัน “ถามผีเสื้อ”เหมือนเป็นเพลงภาคต่อของเจ้าผีเสื้อเอย มาในจังหวะวอลซ์สดใส เสียงเด็กๆที่ร้องรับส่งกันในเพลงนี้น่ารักน่าฟังมาก สวนทางกับเนื้อหาที่ให้อารมณ์เศร้าไม่น้อย เมื่อไม่รู้ว่าเจ้าผีเสื้อเอย หายไปไหน?
[MG]http://pics.manager.co.th/Images/554000000019204.JPEG[/IMG]
จากกระแตตื่นเช้า มาฟังชุด
“นาฬิกา” ผลงานเพลงชุดสุดท้าย(ชุดที่สาม)ของสองวัยกันบ้าง งานเพลงชุดนี้ซุ่มเสียงของวงสองวัยเพิ่มเป็นสามวัย เพราะเด็กๆบางคนเริ่มโตเป็น“วัยรุ่น”จึงมีเสียงสาวน้อยใสๆเพิ่มเข้ามา ในขณะที่ภาคดนตรีมีความเปลี่ยนแปลง พวกเขาหันมาเน้นเครื่องไฟฟ้ามากขึ้น ใส่เสียงสังเคราะห์เข้าไปมากขึ้น ทำให้อารมณ์เพลงอะคูสติกโฟล์คใสๆน่ารักๆให้ไปพอตัว แต่ที่เพิ่มเข้ามาคือดนตรีมีลูกเล่น มีความหลากหลายมากขึ้น
“นาฬิกา” เพลงเปิดที่ยังคงความใสๆน่ารักๆด้วยการร้องรับส่งกัน เสียงของเด็กๆในเพลงนี้ฟังดูโตขึ้นอย่างชัดเจน “ระบำไม้กวาด” เพลงนี้ใส่กลิ่นเร็กเก้จางๆเข้ามา ฟังคล้ายเพลงฝรั่งบางเพลง กีตาร์ไฟฟ้าโซโลออกลูกบลูส์จางๆ เนื้อหาดีบอกให้ช่วยกันรักษาความสะอาด แต่ 20 กว่าปีที่ผ่านมา วันนี้เมืองไทยยังมีขยะเกลื่อนเมืองเหมือนเดิม
“ถามรถไฟ” เพลงนี้ร้องรับส่งกันได้น่ารักมาก ช่วงกลางเพลงใส่เสียงคนและซาวนด์แปลกๆเข้ามา “สาวน้อยพายเรือ” ถือเป็นการพัฒนาอีกขึ้นหนึ่งของสองวัย เมื่อนำทางดนตรีพื้นบ้านอีสานเข้าใส่ในเพลงได้อย่างสนุกสนานมีชีวิตชีวา
“นกกระจอก” เป็นสวิงสนุกๆแต่เนื้อร้องฟังเศร้ารันทด “ฝันเห็นดวงจันทร์”ดนตรีสนุกๆกับวงเครื่องไฟฟ้าที่เต็มไปด้วยเสียงสังเคาระห์
“แดนไกล” เปิดนำในซาวนด์โพรเกรสซีพ ดนตรีฟังล่องลอย ก่อนส่งต่อด้วยอารมณ์เพลงคันทรีสนุกๆ “เหยื่อ” นำไลน์ดนตรีพื้นบ้านเข้าใส่ได้อย่างน่าฟัง เสียงร้องฟังน่ารักมาก เนื้อหาของเพลงนี้บอกให้รู้ว่านักล่าที่น่ากลัวที่สุดก็คือมนุษย์นั่นเอง
“หนูไม่ทำการบ้าน” ดนตรีเพลงนี้ใส่ท่วงทำนองเพลง “When the levee breaks” ของวง “Led Zeppelin” เข้ามาด้วย ส่วนเนื้อหานั้นสะท้อนภาพชีวิตของเด็กกลุ่มหนึ่งในสังคมให้เห็นว่า เหตุที่พวกเขาไม่ทำการบ้านไม่ใช่เพราะขี้เกียจ หากแต่มีความจำเป็นจริงๆ เพราะต้องช่วยงานทางบ้าน ช่วยทางบ้านทำมาหากิน ช่วยเลี้ยงน้อง ช่วยทำไร่ทำนา จนไม่มีเวลาเรียน นับเป็นความจริงของสังคมไทยอันเจ็บปวดยิ่ง ที่บ้านเรายังเต็มไปด้วยเหล่าเด็กๆที่ขาดโอกาสทางการศึกษาอีกมากมาย
“สาริกา” เพลงปิดท้ายอัลบั้มนาฬิกา ถือเป็นเพลงสุดท้ายในงานบันทึกอัลบั้มของสองวัย เป็นเรื่องราวของเจ้านกสาริกาที่บินจากไป ผมฟังแล้วรู้สึกหงอยเศร้า เพราะอดคิดถึงวงสองวัยที่จากพวกเราไปไม่ได้
และนั่นก็คือเรื่องราวงานเพลงของวงสองวัย วงดนตรีที่แม้จะไม่ได้โด่งดังมากในยุคนั้น หากแต่เป็นวงที่ทรงคุณค่ายิ่งสำหรับผู้ที่คุ้นเคย เพราะเพลงของสองวัยนั้นก้าวไปไกลเกินกว่าเพลงสำหรับเด็ก หากแต่เป็นบทเพลงที่เหมาะสำหรับคนทุกวัย หลายบทเพลงอยู่เหนือกาลเวลาเพราะแม้จะผ่านกาลเวลามาร่วม 30 ปีแล้ว แต่ยังคงมีร่วมสมัยและฟังได้มิรู้เบื่อ ที่สำคัญคือยามได้ฟังเพลงของสองวัยคราใด มันทำให้หัวใจของผมโบกโบยบินกลับไปสู่เมื่อครั้งเยาว์วัยทุกทีไป *****************************************
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9540000000203ปลูกดอกไม้