อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
ฐิตา:
ครั้งที่ ๗ ลักษณะพุทธศาสนา - อริยสัจ (๒)
ญาณในอริยสัจ ๔
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ๔ บทคือ
๑. ทุกข์ ๒. ทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์
๓. ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้เรียกกันว่าอริยสัจ ก็เรียกตามพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสไว้ในปฐมเทศนา คือเทศนาทีแรกของพระองค์ ที่ตรัสว่าพระตถาคตคือพระองค์ได้เว้นทางสุดโต่ง ๒ ทาง คือทางกามสุขัลลิกานุโยค ความประกอบพัวพันอยู่ด้วยความสุขสดชื่นในกามและทางอัตตกิลมถานุโยค ทางทรมานตนให้ลำบาก ได้ทรงปฏิบัติอยู่ในทางอันเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ไม่เกี่ยวข้องด้วยทางสุดโต่งทั้ง ๒ นั้น ก็คือมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเป็นต้น มีสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบเป็นที่สุด จึงได้ทรงเกิดญาณคือความหยั่งรู้ขึ้นในอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และมรรคหรือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ญาณคือความหยั่งรู้ที่บังเกิดขึ้นแก่พระองค์นั้นเป็นญาณที่บังเกิดขึ้นในธรรมที่มิได้เคยสดับแล้วมาก่อน ก็คืออริยสัจทั้ง ๔ ดังกล่าว โดยมีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒
สัจจญาณ
มีวนรอบ ๓ ก็คือวนรอบในสัจจะทั้ง ๔ นี้โดยเป็นสัจจญาณ คือความหยั่งรู้ว่าจริง คือนี้เป็นทุกข์จริง นี้เป็นทุกขสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์จริง นี้เป็นทุกขนิโรธคือความดับทุกข์จริง นี้เป็นมรรคคือทางดับทุกข์จริง ข้อที่ว่านี้เป็นทุกข์จริง ก็คือว่า ความเกิดเป็นทุกข์จริง ความแก่เป็นทุกข์จริง ความตายเป็นทุกข์จริง ความโศกคือความแห้งใจ ความปริเทวะคือความรัญจวนคร่ำครวญใจ ทุกขะคือความไม่สบายกาย โทมนัสสะคือความไม่สบายใจ อุปายาสะ ความคับแค้นใจ เป็นทุกข์จริง ความประจวบกับสิ่งคือสัตว์และสังขารไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์จริง ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารที่เป็นที่รักเป็นทุกข์จริง ความปรารถนามิได้สมหวังเป็นทุกข์จริง
และกล่าวโดยย่อ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ คือรูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เป็นทุกข์จริง ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์นั้นก็คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อันประกอบด้วยนันทิคือความเพลิน ราคะคือความติดใจยินดี เพลิดเพลินยินดียิ่งในอารมณ์นั้นๆ จำแนกออกเป็น
กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพคือความเป็นนั่นเป็นนี่
วิภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในความไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่
นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง ดับตัณหาเสียได้ ทุกข์ดับไปหมด นี้เป็นความดับทุกข์จริง มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบดังกล่าวเป็นต้นนั้น เป็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง พระญาณคือความหยั่งรู้ว่า นี้เป็นทุกข์จริง นี้เป็นเหตุเกิดทุกข์จริง นี้เป็นความดับทุกข์จริง นี้เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง นี้เป็นสัจจญาณ นี่ก็วนไปในสัจจะทั้ง ๔ รอบหนึ่ง
กิจจญาณ
กิจจญาณ ความหยั่งรู้ในกิจคือข้อที่พึงกระทำ ได้เกิดพระญาณคือความหยั่งรู้ขึ้นว่าทุกข์เป็นข้อที่พึงกำหนดรู้อันเรียกว่าปริญญา สมุทัยเป็นข้อที่ควรละอันเรียกว่าปหานะ ความดับทุกข์เป็นข้อที่พึงกระทำให้แจ้งอันเรียกว่าสัจฉิกรณะ มรรคคือข้อที่ควรอบรมปฏิบัติให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นอันเรียกว่าภาวนา นี้เป็นกิจที่พึงกระทำในสัจจะทั้ง ๔ เรียกว่ากิจจญาณ
กตญาณ
และกตญาณ คือความหยั่งรู้กิจทั้ง ๔ นั้นว่าได้กระทำแล้ว คือว่าทุกข์นั้นพระองค์ก็ได้ทรงกำหนดรู้แล้ว สมุทัยคือตัณหาพระองค์ก็ทรงละได้แล้ว นิโรธคือความดับทุกข์พระองค์ก็ทรงกระทำให้แจ้งแล้ว มรรคพระองค์ก็ได้ทรงปฏิบัติทำให้มีให้เป็นขึ้นครบถ้วนแล้ว เรียกว่ากตญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ว่ากิจได้กระทำเสร็จแล้ว
เพราะฉะนั้นพระญาณทั้ง ๓ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ ในอริยสัจทั้ง ๔ รวมเข้าก็เป็นอาการ ๑๒ จึงเรียกว่ามีวนรอบ ๓ อาการ ๑๒ วนรอบไปโดยเป็นสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณในอริยสัจทั้ง ๔ ก็เป็น ๑๒ เรียกว่ามีอาการ ๑๒ พระญาณที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ นี้บังเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน เพราะเหตุที่พระองค์ได้บรรลุพระญาณคือความหยั่งรู้ ซึ่งมีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ นี้ ในอริยสัจทั้ง ๔ สมบูรณ์ จึงได้ทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้อภิสัมโพธิคือความตรัสรู้ยิ่งเป็นยอดเยี่ยมแล้ว พระองค์สิ้นชาติแล้ว พรหมจรรย์พระองค์ได้อยู่จบแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงกระทำเพื่อที่จะเป็นอย่างนี้อีก ก็เป็นอันว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า
ฐิตา:
อธิบายอริยสัจ
นี้เป็นเนื้อความในปฐมเทศนาที่พระองค์แสดงทีแรก เพราะฉะนั้นข้อความทั้ง ๔ บทนี้จึงได้เรียกว่าอริยสัจตามที่พระองค์ได้ทรงเรียกในปฐมเทศนานั้น และคำว่าอริยะนั้น แปลกันว่าประเสริฐ แปลกันว่าเจริญ เดิมก็ใช้เป็นชื่อของเผ่าพันธุ์ ดังที่มีแสดงในพุทธประวัติตอนที่แสดงประวัติของประเทศอินเดีย คือชมพูทวีปในครั้งนั้น ว่าเดิมเป็นเผ่าของมิลักขะหรือทัสสยุ และต่อมาได้มีชนเผ่าอริยะหรือเรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่าอาริยะได้อพยพเข้ามาอยู่ โดยที่พวกอริยะหรืออาริยะนี้มีความเจริญกว่า พวกทัสสยุหรือมิลักขะก็ต้องกลายเป็นทาสไป พวกอริยะหรืออาริยะก็ได้เป็นผู้ปกครองประเทศถิ่นสืบต่อมา เดิมเป็นชื่อของเผ่าพันธุ์ที่มีความเจริญดังที่แสดงมา และเมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ก็ได้ตรัสเรียกสัจจะคือความจริงที่พระองค์ได้ตรัสรู้ทั้ง ๔ บทนั้นว่าอริยสัจในปฐมเทศนา
เพราะฉะนั้นพระอาจารย์จึงได้แปลคำว่าอริยสัจไว้ว่า สัจจะที่พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นได้รู้แจ้งแทงตลอด คือได้ตรัสรู้สัจจะของบุคคลผู้เป็นอริยะ คือพระตถาคตผู้เป็นอริยะ สัจจะที่ให้สำเร็จความเป็นพระอริยะ เพราะว่าเป็นสัจจะที่พระอริยะทั้งหลายได้ตรัสรู้ สัจจะที่เป็นอริยะเอง คือหมายความว่าเป็นสัจจะที่แท้ เป็นสัจจะที่ไม่ผิด เป็นสัจจะที่กล่าวไม่ผิด เป็นสัจจะที่ไม่เป็นอย่างอื่น คือเป็นจริงอยู่โดยแท้จริง ไม่มีที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น พระอาจารย์ได้อธิบายคำแปลไว้อย่างนี้ และหากจะพิจารณาดู ถ้าแปลว่าสัจจะที่พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นตรัสรู้ หรือว่าสัจจะของพระตถาคตพุทธเจ้าผู้เป็นอริยะ หรือว่าสัจจะที่ให้สำเร็จความเป็นพระอริยะ เพราะพระอริยะเหล่านั้นตรัสรู้ก็เข้าใจ พิจารณาดูไม่ขัดข้อง แต่คำแปลที่ว่าสัจจะเป็นอริยะเอง
ถ้าอธิบายอย่างที่ท่านอธิบายว่า ที่เป็นอริยะเองนั้น อริยะในคำนี้หมายถึงจริงแท้ไม่ผิด ไม่มีที่จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็เข้าใจ แต่ว่าถ้าแปลว่าเจริญ แปลว่าประเสริฐ ก็น่าคิดเหมือนกัน ว่าสำหรับความดับทุกข์และสำหรับมรรคนั้นก็เป็นอันว่าเจริญประเสริฐจริง แต่ว่าตัวทุกข์กับตัวสมุทัยนั้นเจริญประเสริฐได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจึงน่าจะทำความเข้าใจได้ ว่าจะต้องอธิบายอย่างที่ท่านอธิบายคือสัจจะเป็นอริยะเอง อริยะเองในที่นี้ก็ต้องหมายความว่าจริงแท้แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ไม่ได้หมายความว่าประเสริฐเจริญ แต่หากว่าจะหมายความว่าประเสริฐเจริญก็จะต้องเข้าใจ ว่าเพราะเป็นสัจจะที่บังเกิดขึ้นในญาณคือความหยั่งรู้ที่เป็นตัวปัญญา
ดังที่ตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนาว่าเป็นสัจจะที่บังเกิดขึ้นในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ว่าข้อนี้จริง คือเป็นทุกข์จริง เป็นสมุทัยจริง เป็นนิโรธจริง เป็นมรรคจริง และทุกข์เป็นข้อที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นข้อที่ควรละ นิโรธเป็นข้อที่ควรกระทำให้แจ้ง มรรคเป็นข้อที่ควรปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น และทุกข์พระองค์ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยพระองค์ละได้แล้ว นิโรธพระองค์ได้กระทำให้แจ้งแล้ว มรรคพระองค์ได้ปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นแล้ว ที่ปรากฏในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอริยสัจ
ฉะนั้นทุกข์ที่จะเป็นอริยสัจนั้นจะต้องเป็นทุกข์ที่ได้ปัญญาหยั่งรู้ว่านี้เป็นทุกข์จริง ทุกข์เป็นข้อที่ควรกำหนดรู้ และทุกข์เป็นข้อที่กำหนดรู้แล้ว สมุทัยก็เหมือนกัน จะเป็นอริยสัจขึ้นก็เพราะได้ปัญญาหยั่งรู้ ว่านี้เป็นสมุทัยจริง สมุทัยควรละ และสมุทัยละได้แล้ว นิโรธก็เหมือนกัน จะเป็นอริยสัจก็เพราะได้มีปัญญาหยั่งรู้ ว่านิโรธเป็นความดับทุกข์จริง นิโรธเป็นข้อที่ควรกระทำให้แจ้ง นิโรธเป็นข้อที่กระทำให้แจ้งแล้ว มรรคก็เหมือนกัน จะเป็นอริยสัจก็เพราะบังเกิดขึ้นในญาณปัญญาที่หยั่งรู้ ว่านี้เป็นมรรค
มรรคควรปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น มรรคเป็นข้อที่ปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นแล้วให้เป็นขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นอริยสัจ จะแปลว่าเป็นสัจจะที่เจริญที่ประเสริฐก็คงได้เหมือนกัน อันหมายถึงว่าเป็นอริยสัจในปัญญาที่ตรัสรู้ของพระผู้รู้ดังกล่าวนั้น ถ้าไม่เป็นสัจจะบังเกิดขึ้นในปัญญาของผู้รู้ดังกล่าวนั้น แม้ว่านิโรธก็ดี มรรคก็ดีก็ยังไม่เป็นอริยสัจอยู่นั่นเอง
เหมือนอย่างว่าสัจจะในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในปฐมเทศนานั้นเป็นอริยสัจ และในพระธรรมที่ทรงสั่งสอนก็เป็นอริยสัจ แต่ว่าสำหรับในปัญญาที่บุคคลรู้อยู่ด้วยปัญญาที่เป็นสามัญ คือยังไม่บรรลุมรรคผลอย่างที่ผู้ศึกษาปฏิบัติธรรมทั่วไปรู้กันอยู่ หมายความว่ารู้กันอยู่ด้วยปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่ว่ารู้ด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้า ถ้ารู้ด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้าและของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย อันประกอบด้วยวนรอบ ๓ อาการ ๑๒ นั้น นั้นเป็นอริยสัจในปัญญาของท่าน แต่ว่ารู้ด้วยปัญญาของผู้ศึกษาปฏิบัติที่ยังไม่ได้เป็นอริยบุคคล คือรู้ด้วยปัญญาของตนเอง ก็ยังไม่เป็นอริยสัจอยู่นั่นเอง
เพราะว่ายังไม่ได้ญาณที่วนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ดังพระพุทธเจ้านั้น คือยังไม่แล้ว ทุกข์ก็ยังไม่ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยก็ยังละไม่ได้แล้ว นิโรธก็ยังไม่ได้กระทำให้แจ้งแล้ว มรรคก็ยังไม่ได้ปฏิบัติให้มีให้เป็นขึ้นแล้วอย่างสมบูรณ์ เมื่อยังไม่แล้วก็แปลว่ายังไม่เป็นอริยสัจของแต่ละบุคคล คือเป็นแค่สัจจะเท่าที่ปัญญาของบุคคลจะรู้ ต่อเมื่อมีญาณปัญญาที่มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ดั่งนั้นแหละ คือว่าแล้ว จึงจะเป็นอริยสัจทั้ง ๔ บท ถ้ายังไม่แล้วก็แปลว่ายังไม่เป็นอริยสัจทั้ง ๔ บท ยังเป็นสัจจะคือความจริงอยู่เท่าที่ศึกษาและปฏิบัติได้ของแต่ละบุคคล
ฐิตา:
ครั้งที่ ๘ ลักษณะพุทธศาสนา - พระรัตนตรัย
พระพุทธคุณ
พระรัตนตรัย รัตนะทั้ง ๓ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระบรมศาสดาในพุทธศาสนาคือพระพุทธเจ้า คำว่าพระพุทธเจ้านี้มิใช่เป็นพระนามเดิมของบุคคล คือสิทธัตถราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา แต่ว่าเป็นเนมิตกนาม คือเป็นพระนามซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งนิมิตคือเครื่องกำหนดหมายแห่งความตรัสรู้ของสิทธัตถราชกุมาร เพราะคำว่าพุทธะแปลว่า ผู้ตรัสรู้ ผู้เบิกบาน ผู้ตื่น ผู้ปลุกให้ตื่น จึงมาใช้นามว่าพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธะ ไม่ใช้พระนามเดิมว่าสิทธัตถะ เมื่อเรียกว่าสิทธัตถราชกุมารและเมื่อเรียกว่าพระพุทธเจ้า ความรู้สึกของบุคคลผู้เรียกย่อมต่างกัน ฉะนั้นจึงควรจะรู้จักลักษณะของพระพุทธะผู้พระบรมศาสดาในพุทธศาสนา
พระพุทธคุณซึ่งเป็นเครื่องแสดงลักษณะพิเศษที่เราสวดกันอยู่ก็คือ อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ อรหํ ก็คือพระอรหังหรืออรหันต์ ผู้ไกลกิเลส ผู้ควรไหว้บูชา สมฺมาสมฺพุทฺโธ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ คำว่าสัมมาสัมพุทธะนี้เป็นพระพุทธคุณ เป็นนามที่แสดงลักษณะพิเศษของพระพุทธเจ้าอยู่ในถ้อยคำอย่างสมบูรณ์ สัมมา ก็แปลว่า โดยชอบ สัม ก็แปลว่าเอง พุทธ ก็คือตรัสรู้ ตรัสรู้เองโดยชอบ หรือตรัสรู้ชอบเอง เพราะฉะนั้นคำนี้จึงเป็นคำแสดงว่าตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และตรัสรู้โดยชอบคือถูกต้องสมบูรณ์ และข้อนี้ก็ได้มีพระพุทธาธิบายไว้เองแล้วในปฐมเทศนา ซึ่งได้เคยย่อความมากล่าวแล้ว ซึ่งในปฐมเทศนานั้นก็ได้แสดงไว้ชัดเจนตามเหตุและผลของการตรัสรู้ คือได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา
ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง อันได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ก็โดยที่ตั้งแต่เสด็จออกผนวช ก็ปฏิบัติพระองค์เองอยู่ในศีล มีสัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ซึ่งเป็นส่วนศีลอยู่ และครั้นเมื่อได้ทรงระลึกได้ถึงสมาธิที่เคยทรงได้เมื่อเป็นพระราชกุมารดังกล่าวนั้น ก็ทรงเห็นว่าทางนั้นจะเป็นทางแห่งสมาธิอันถูกต้อง จึงได้ทรงเริ่มจับปฏิบัติทำสมาธิไปตามทางนั้นกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างบริสุทธิ์ ก็เป็นอันว่าได้ทรงได้สัมมาสติได้สัมมาสมาธิขึ้นโดยลำดับ
สัมมาวายามะ เพียรชอบนั้นเล่าก็ได้ทรงพากเพียรอย่างยิ่งมาโดยลำดับแล้ว แต่ว่าเมื่อยังไม่พบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ความเพียรนั้นก็ยังไม่เป็นสัมมาโดยแท้ คือยังไม่ชอบโดยแท้ แต่ครั้นเมื่อได้จับทางที่ถูกของจิตใจ เริ่มพบทางที่เป็นสัมมาสมาธิ มีสัมมาสติ ความเพียรก็เป็นสัมมาคือโดยชอบขึ้น ฉะนั้นจึงได้มีจักขุคือดวงตา ญาณคือความหยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง วิชชาคือความรู้ อาโลกคือความสว่าง ผุดขึ้นในธรรมที่มิได้เคยทรงสดับมาก่อนในอริยสัจทั้ง ๔ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คำนี้เองคือคำว่าจักษุดวงตาผุดขึ้นเป็นต้น ก็เป็นอันว่าทรงได้สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ นั่นเป็นตัวปัญญาในธรรมที่มิได้เคยสดับมาแล้วก่อนคำนี้ก็ชี้ว่ามิได้ทรงฟังมาจากใคร ผุดขึ้นเอง เมื่อเป็นดั่งนี้ ปัญญาที่ผุดขึ้นในอริยสัจทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นปัญญาที่ผุดขึ้นแก่พระองค์เอง ไม่มีครูบาอาจารย์สั่งสอนมาก่อน อันนี้เป็นความตรัสรู้เองและโดยชอบคือถูกต้อง นี้เป็นลักษณะพิเศษของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ความตรัสรู้ของพระองค์ผุดขึ้นเองในธรรมที่มิได้ทรงสดับมาก่อนคือ อริยสัจทั้ง ๔
จึงไม่ทรงมีเทวดาไม่ทรงมีมนุษย์เป็นครูบาอาจารย์มาบอกกล่าวไว้ก่อน เป็นปัญญาผุดขึ้นเอง จึงเป็นสัมมาสัมพุทโธผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ และความตรัสรู้เองโดยชอบนี้ก็ปรากฏแก่พระองค์เอง และก็มาปรากฏแก่ผู้อื่นและแก่โลก ตั้งแต่เมื่อพระโกณฑัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นเมื่อได้ฟังปฐมเทศนาจบแล้ว จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เพราะฉะนั้นคำว่าสัมมาสัมพุทธะนี้จึงเป็นคำเรียกพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ตั้งพุทธศาสนา แสดงธรรมสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ โดยที่มีแสดงพุทธไว้ ๓ คือสัมมาสัมพุทธะ ปัจเจกพุทธะ และอนุพุทธะ ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปในเมื่อถึงพระสงฆ์
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายจึงมิใช่เป็นศิษย์ของใครทั้งเทวดาทั้งมนุษย์ แต่ทรงเป็นพระสยัมภูคือเป็นผู้เป็นเอง ผู้ตรัสรู้ขึ้นเอง ความตรัสรู้ขึ้นเองนั้นเล่าก็ด้วยได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา และได้ทรงปฏิบัติมาโดยสมบูรณ์ จึงมีปัญญาผุดขึ้นแก่พระองค์เองในอริยสัจทั้ง ๔ ดังกล่าวนั้น อันปัญญาที่ผุดขึ้นเองนี้ ในเมื่อจับทางที่ถูกได้ ย่อมมีถึงในสมัยปัจจุบัน ดังที่ปรากฏแก่นักคิดค้นซึ่งได้พบความรู้ซึ่งใช้ประโยชน์อยู่ในปัจจุบันเป็นอันมาก ก็คล้ายกัน เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นในเมื่อจับทางปฏิบัติที่ถูก
เพราะฉะนั้นอันความรู้ที่ผุดขึ้นเองนี้จึงเป็นสิ่งที่มีได้แก่นักปฏิบัติคิดค้นที่จับทางถูก จึงได้พบความรู้ที่ไม่เคยรู้กันมาก่อน แล้วนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้ พระพุทธเจ้ามิได้เป็นเพียงผู้ที่ตรัสรู้เองชอบเท่านั้น และมิได้เป็นศิษย์ของเทวดาและมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์อีกด้วย ดังพระพุทธคุณบทที่ว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงนับว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกในโลก คำว่าเอกก็คือพระองค์เดียวซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้ขึ้นเอง ไม่มีใครมากระซิบบอกหรือไม่มีใครมาบอกธรรมแก่พระองค์ จะเป็นเทวดาก็ตามเป็นมนุษย์ก็ตาม แต่พระองค์กลับทรงเป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย นี้เป็นลักษณะพิเศษของพระพุทธเจ้า
ฐิตา:
พระธรรมคุณ
คราวนี้มาถึงพระธรรม ลักษณะของพระธรรมในพุทธศาสนานั้น ก็ตั้งต้นแต่เป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ดังที่ยกขึ้นแสดงในปฐมเทศนาก็คืออริยสัจทั้ง ๔ และในโลกจะรู้จักพระธรรมก็เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้ทรงนำพระธรรมมาแสดงสั่งสอน เพราะฉะนั้นพระธรรมในพระพุทธศาสนา ตั้งต้นแต่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ คือความจริงที่พระองค์ได้ตรัสรู้ จึงได้มีแสดงไว้ในพระสูตรหนึ่งว่า ธาตุนั้นตั้งอยู่ เป็นธรรมฐิติ ความตั้งอยู่แห่งธรรม เป็นธรรมนิยาม เป็นธรรมที่กำหนดได้แน่นอนด้วยปัญญา คือข้อที่ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ข้อนี้เป็นสัจจะคือความจริงที่ตั้งอยู่ จึงเรียกว่าธรรมฐิติ พระตถาคตพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้น ข้อนี้ก็ตั้งอยู่ คือข้อที่ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา แต่ว่าพระตถาคตพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ครั้นตรัสรู้แล้วจึงนำมาเปิดเผยแสดงกระทำให้แจ้งให้โลกได้รู้จักความจริงข้อนี้ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นธรรมที่เป็นตัวความจริงที่ตั้งอยู่นี้จึงเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ตลอดมา พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นความจริงข้อนี้ก็ยังตั้งอยู่ดำรงอยู่ พระพุทธเจ้าก็ได้มาตรัสรู้ความจริงข้อนี้อันเป็นความจริงที่ตั้งอยู่นั้นเอง แต่อาศัยที่ความจริงที่ตั้งอยู่นี้เป็นธรรมนิยาม คือกำหนดได้ด้วยปัญญาให้รู้จักได้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสรู้ได้ และเมื่อตรัสรู้แล้วก็นำมาแสดงสั่งสอนได้
เพราะฉะนั้นธรรมในพุทธศาสนานั้นจึงจับตั้งแต่ธรรมฐิติ ความจริงที่ตั้งอยู่ที่ดำรงอยู่ ไม่มีกาลไม่มีเวลา ตั้งอยู่ดำรงอยู่ตลอดไป ถึงแม้ว่าไม่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้นคือมาตรัสรู้ ธรรมฐิตินี้ก็ยังเป็นธรรมฐิติคือยังตั้งอยู่อย่างนี้นั้นแหละ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้านั้นจึงเป็นผู้ที่มาตรัสรู้พระธรรมที่ตั้งอยู่แล้ว ความจริงที่ดำรงอยู่แล้วนี้แหละ แล้วก็ทรงนำมาแสดงเปิดเผยชี้แจงแสดงให้แจ้งให้โลกเข้าใจ และธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาแสดงสั่งสอนนี้ ก็ทรงแสดงสั่งสอนในบุคคลนี้เองไม่ใช่ในที่อื่น ดังที่มีแสดงไว้ในพระสูตร (โรหิตัสสสูตร พระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ หน้า ๘๙) หนึ่งว่า ได้ทรงบัญญัติโลก บัญญัติเหตุเกิดโลก บัญญัติความดับโลก บัญญัติทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจนี้เอง คำว่าโลกในที่นี้ท่านแสดงว่าหมายถึงทุกข์ที่แสดงโดยทั่วไป คือทรงแสดงให้เห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็คืออริยสัจ ๔ นี้เอง ทรงแสดงที่กายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจของทุกๆ คนนี้แหละ ไม่ได้ทรงแสดงที่ไหน เมื่อทรงแสดงภายในดั่งนี้ ทุกคนจึงสามารถรู้ได้
และก็เป็นเหตุเป็นผลที่ตรองตามให้เห็นจริงได้และปฏิบัติได้ เพราะว่าธรรมที่ทรงบัญญัติดังกล่าวนี้ โลกหรือทุกข์ก็เป็นผล เหตุเกิดโลกหรือเกิดทุกข์ก็เป็นเหตุ ความดับโลกหรือดับทุกข์ก็เป็นผล ทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลกหรือดับทุกข์ก็เป็นเหตุ รวมความก็เป็นผลหรือเหตุในด้านเกิดทุกข์หรือเกิดโลก เป็นผลและเป็นเหตุในด้านดับทุกข์และดับโลก ทั้งหมดนี้อยู่ในกายยาววาหนึ่งซึ่งมีสัญญามีใจครองของทุกๆ คน เพราะฉะนั้นอาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนจึงมี ๓ อย่างคือสอนให้รู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น สอนมีเหตุที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้สอนมีปาฏิหาริย์คือปฏิบัติได้รับผลสมจริง
ประการแรกอันทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ก็เป็นผลและเหตุที่รู้ยิ่งเห็นจริงได้ เพราะมีอยู่ในตนเองในบุคคลนี้เอง ดับทุกข์และปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ผลและเหตุส่วนนี้ก็ยิ่งรู้เห็นจริงได้และก็เป็นเหตุเป็นผล โดยในอริยสัจนี้ยกผลขึ้นก่อนแล้วจึงยกเหตุ เป็นผลและเหตุที่ตรองตามให้เห็นจริงได้แล้วก็ปฏิบัติได้ คือปฏิบัติในการที่จะกำหนดรู้ทุกข์ ที่จะละเหตุเกิดทุกข์ จะทำให้แจ้งความดับทุกข์ และที่จะปฏิบัติอบรมทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ให้เกิดขึ้นได้ เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะฉะนั้นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นจึงสั่งสอนอยู่ในภายใน ปฏิบัติได้อยู่ในภายใน รู้ยิ่งเห็นจริงได้เองทุกๆ คน มีเหตุตรองตามให้เห็นได้จริงทุกๆ คน ปฏิบัติได้ผลสมจริงทุกๆ คน เพราะไม่ได้สอนในภายนอก สอนในภายใน แล้วก็เป็นเหตุเป็นผลที่ตรองตามให้เห็นได้ปฏิบัติได้ นี้เป็นลักษณะพิเศษของธรรมของพระพุทธเจ้า
อีกประการหนึ่งพุทธศาสนานั้นได้แสดงธรรมที่เป็นเหตุและผล ซึ่งเป็นธรรมที่ละเอียดสุขุมคือปฏิจจสมุปบาท ธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น หากจะจับตั้งแต่ชาติคือความเกิดเป็นเหตุและผลย้อนขึ้นไป ต้นเหตุก็จะพบอวิชชาคือความไม่รู้ เป็นตัวเหตุที่ให้เกิดสังขารเป็นต้น และทุกๆ อย่างเป็นอันดับมาเพราะฉะนั้นผู้สร้างที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็คือตัวอวิชชาคือความไม่รู้ และสืบมาเป็นตัณหาเป็นอุปาทานเป็นกรรม ฉะนั้นจะสิ้นทุกข์ได้ก็ต้องทำลายผู้สร้าง คืออวิชชาเสีย เมื่อทำลายอวิชชาเสียได้แล้ว ก็ดับสังขารดับตัณหาอุปาทานกรรมและทุกๆ อย่าง สิ้นทุกข์ได้ ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งโยงกันไปอย่างละเอียด รวมความเข้าแล้วก็คือว่าตัวผู้สร้างใหญ่ก็คืออวิชชา ซึ่งทางพุทธศาสนานั้นต้องละต้องดับเสียจึงจะพ้นทุกข์ได้ ก็ดับได้ด้วยวิชชาคือความรู้ก็ต้องปฏิบัติอบรมวิชชาคือความรู้ให้เกิดผุดขึ้นมา
ฐิตา:
พระสังฆคุณ
และมาถึงพระสงฆ์ ซึ่งเป็นหมู่ผู้ฟังคือศิษย์ของพระพุทธเจ้านั้น พระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นสูงสุดก็คือเป็นผู้ได้ปัญญาคือความรู้ในอริยสัจ ๔ ดับกิเลสและกองทุกข์ได้เหมือนพระพุทธเจ้า แต่ว่าต่างจากพระพุทธเจ้าโดยที่มิได้ตรัสรู้เอง เป็นผู้ตรัสรู้ตาม คือเมื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ปฏิบัติแล้วก็ปฏิบัติตาม เมื่อปฏิบัติตามก็ได้ปัญญารู้แจ้งขึ้น ตั้งต้นแต่ได้ปัญญาเห็นธรรม จนถึงตรัสรู้ในอริยสัจ ๔ ตามพระพุทธเจ้า ก็ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปได้เหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ตรัสรู้เองชอบและทรงสั่งสอน พระสงฆ์เป็นผู้ที่รู้ตาม แต่ก็ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปได้เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นจึงได้ปัญญาที่ตัดกิเลสและกองทุกข์ตามพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน เป็นผู้สิ้นกิเลสและกองทุกข์ได้เช่นเดียวกัน แต่ว่ารู้ตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ด้วยพระองค์เองและทรงแสดงสั่งสอน พระสงฆ์เป็นผู้ที่รู้ตาม แต่ก็ต้องปฏิบัติให้รู้ด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นจึงมิใช่เป็นผู้ที่มีแต่ศรัทธาคือความเชื่อแต่ไม่มีปัญญาคือความรู้ แต่ว่ามีปัญญาคือความรู้ได้ด้วยตนเอง คือรู้ตามพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน และก็ปฏิบัติทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปได้เหมือนกัน ต่างแต่ว่าเป็นผู้รู้ตามพระองค์ เป็นสาวกของพระองค์ เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นจึงเป็นผู้ที่เข้าถึงมรรคผลนิพพานได้เช่นเดียวกัน จึงได้เรียกพระสงฆ์ว่าอนุพุทธคือเป็นผู้รู้ตาม
พระพุทธนั้นมี ๓ คือพระสัมมาสัมพุทธ พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ คือเป็นผู้ที่ตั้งพุทธศาสนาขึ้น พระปัจเจกพุทธคือพระผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง แต่จำเพาะพระองค์ ไม่สั่งสอนใครให้รู้ตาม ไม่ตั้งพุทธศาสนาขึ้น และพระอนุพุทธ คือพระผู้ตรัสรู้ตาม ได้แก่พระสงฆ์สาวกผู้ที่ได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าได้ นี้เป็นลักษณะแห่งพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๖
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version