อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
แก้วจ๋าหน้าร้อน:
:13: อนุโมทนาครับพี่แป๋ม ขอบคุณครับ
สายลมที่หวังดี:
:45: อนุโมทนา ขอบคุณค่ะพี่แป๋ม :19:
ฐิตา:
ครั้งที่ ๖ ลักษณะพุทธศาสนา - อริยสัจ
ว่าถึงอริยสัจ ๔ ก็มีข้อที่จะพึงพูดต่อไป แต่เพื่อให้มีความอนุสนธิ คือว่าต่อเนื่องกันจึงจะได้ทบทวนข้อที่พูดมาแล้วสักเล็กน้อยว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาที่ไม่ควรหรือไม่พึงพยากรณ์ ทรงพยากรณ์แต่ปัญหาที่ควรพยากรณ์ คำว่าพยากรณ์นั้น เดี๋ยวนี้ภาษาไทยก็นำมาใช้เหมือนกัน เช่นหมอดูพยากรณ์ว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้ แต่ที่นำมาใช้สำหรับพระพุทธเจ้าในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่าพระพุทธเจ้าเป็นหมอดู แต่พยากรณ์ของพระพุทธเจ้านั้นหมายความว่าทรงกระทำให้แจ้ง
ถ้าเป็นปัญหามาก็ทรงตอบปัญหานั้นให้แจ้งชัด และก็ทรงตอบให้แจ้งชัดด้วยพระญาณที่หยั่งรู้ ไม่ใช่ด้วยตำรา อย่างหมอดูที่พยากรณ์นั้นก็พยากรณ์ด้วยตำราพยากรณ์ แต่อันที่จริงหมอดูก็ไม่มีญาณหยั่งรู้เหมือนกัน วินิจฉัยและก็ว่าไปตามตำราพยากรณ์และที่หมอดูวินิจฉัย แต่พระพุทธเจ้านั้นทรงพยากรณ์คือกระทำให้แจ้ง ทรงตอบให้แจ่มแจ้งชัดเจน ทรงแสดงให้แจ่มแจ้งชัดเจนด้วยพระญาณคือความหยั่งรู้ อันที่จริงคำว่าพยากรณ์นั้น ก็ได้มีใช้มาในพุทธศาสนา ดังที่ได้แสดงถึงเรื่องนี้ และข้อที่พยากรณ์นั้นที่ท่านแสดงไว้ในพระสูตรเกี่ยวกับท่านมาลุงกยะนี้ ก็แสดงไว้ว่า ทรงพยากรณ์คือกระทำให้แจ่มแจ้ง ตอบให้แจ่มแจ้ง แสดงให้แจ่มแจ้งในข้อว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ในพระสูตรนี้ไม่ได้ใช้คำว่า อริยสัจ หรืออริยสัจจะ แต่ว่าโดยปกตินั้น เมื่อเป็นหมวดธรรม ๔ ข้อนี้ ก็มักจะพูดว่าอริยสัจกันทีเดียว แต่สำหรับที่แสดงในพระสูตรนั้น บางแห่งท่านก็ใช้คำว่าอริยสัจ บางแห่งท่านก็ไม่ได้ใช้คำนี้
ปัญหาของสัตวโลก
คราวนี้มาพิจารณาดูว่า ทั้ง ๔ ข้อนี้มาเกี่ยวกับอุปมาว่าพระพุทธเจ้าเป็นเหมือนดังหมอผ่าตัดอย่างไร ซึ่งตามอุปมานั้นคนไข้ที่ญาติมิตรนำไปหาหมอผ่าตัดเป็นคนไข้ที่ถูกลูกศรยิงกำลังต้องบาดเจ็บ เรียกว่าอาการปางตายกันทีเดียว และเมื่อจะเป็นข้ออุปไมย คือว่าเป็นสิ่งที่ถูกเปรียบเทียบ หรือบุคคลที่ถูกเปรียบเทียบ ก็จะต้องหมายถึงบุคคลทั่วไปทั้งหลายในโลก ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกลูกศรเสียบแทงกันอยู่แล้ว เรียกว่ามีอาการปางตายกันอยู่แล้ว คราวนี้ในข้ออุปมานั้น ก็ได้กล่าวถึงว่า ถ้าหมอผ่าตัดจะไต่ถามสอบสวนถึงคนยิง ถึงลูกศรที่ใช้ยิง เพื่อให้ทราบรายละเอียดต่างๆ เสียก่อน แล้วจึงจะลงมือรักษาก็ย่อมจะไม่ทันการ คนไข้นั้นก็น่าจะต้องถึงแก่ความตายเสียก่อนก็ได้ หรืออาการก็จะมากขึ้น ยากแก่การที่จะเยียวยารักษา
ฉะนั้นหน้าที่ของหมอผ่าตัดก็ไม่ต้องมัวชักช้าไต่ถามสอบสวน หมอควรที่จะต้องรีบผ่าตัดนำลูกศรออกทันทีนี่เป็นอุปมา ทีนี้ข้ออุปไมยคือสิ่งที่ถูกเปรียบเทียบ ก็มาถึงบุคคลและสัตว์ทั้งหลายเรียกว่าสัตวโลกทั่วๆ ไปนั้น ก็เท่ากับว่าเป็นคนที่ถูกลูกศรเสียบด้วยกันทั้งนั้น มีอาการปางตายอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นหน้าที่ของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเสมือนหมอผ่าตัดนั้น ก็จะต้องทรงรีบเยียวยารักษาทันที ไม่ต้องมัวไปสอบสอนไต่ถามถึงรายละเอียดต่างๆ ก็มาถึงเรื่องปัญหาโลกแตก ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ๑๐ ข้อนั้น
เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงพยากรณ์ให้ชักช้า จึงได้ตรัสปฏิเสธไม่ทรงพยากรณ์และก็ได้ตรัสรับรองในข้อที่ทรงพยากรณ์ว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงเป็นข้อที่ควรจะทำความเข้าใจ ว่าบัดนี้ทุกๆ บุคคลกำลังถูกลูกศรเสียบแทงกันอยู่ อาการปางตายด้วยกันทั้งหมดหรือ ในข้อนี้จึงควรจะทราบลักษณะพุทธศาสนาว่าเป็นจริงอย่างนั้น ทุกๆ คนในบัดนี้ซึ่งเป็นสามัญชนสามัญสัตว์นั้น ก็กำลังถูกลูกศรเสียบแทงกันอยู่ทั้งนั้น และมีอาการปางตายด้วยกันทั้งนั้น
ตัณหา - ลูกศรเสียบแทงใจ
อะไรเป็นลูกศรเสียบแทง และเสียบแทงอะไร โดยปริยายคือทางอันหนึ่งที่ท่านยกขึ้นแสดงไว้ ลูกศรเสียบแทงนั้นก็คือตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากของใจ และเสียบแทงอะไร ก็คือเสียบแทงจิตใจ ต่างมีตัณหาเสียบแทงจิตใจอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ดังที่ได้ตรัสแจกเอาไว้เป็นกามตัณหา ความดิ้นรนปรารถนาไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนา พอใจบ้าง ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพ คือความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ บ้าง วิภวตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากไปในวิภพ คือความไม่เป็นนั่นเป็นนี่
คือต้องการให้สิ่งที่ไม่พอใจอยากจะได้ไม่พอใจอยากจะเป็นสิ้นไปหมดไป นี้ยกขึ้นมาเพียงข้อเดียว แต่อันที่จริงนั้น กิเลสที่เป็นเครื่องเสียบแทงจิต จำแนกออกไปเป็นอาการต่างๆ อีกมากมาย แต่ว่าเอาข้อเดียวเท่านี้ก่อน นี่เป็นลูกศรที่เสียบแทงจิตใจบุคคลอยู่ และที่ว่ามีอาการปางตายนั้นก็เป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่ายังต้องถูกความทุกข์ต่างๆ ครอบงำอยู่ตลอดเวลา ดังที่ตรัสชี้ไว้ในทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์นั้นแหละ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ เรียกว่าต้องเกิด ต้องแก่ ต้องตาย ซึ่งเป็นธรรมดาของชีวิตสังขาร
และยังต้องประสบทุกข์ทางจิตใจอีกมาก เป็นความแห้งใจ เป็นความคร่ำครวญไม่สบายกายไม่สบายใจ ความไม่สบายกายนี้ก็รวมเอาอาพาธเจ็บป่วยต่างๆ เข้าด้วย ความไม่สบายใจความคับแค้นใจ รวมเข้าก็เป็นความประจวบกับสัตว์สังขารที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสัตว์สังขารที่เป็นที่รัก รวมเข้าก็เป็นความปรารถนาไม่ได้สมหวัง และเมื่อรวมเข้าอีก ก็รวมอยู่ในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการนี้คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งอันนี้ก็จะต้องศึกษาให้เข้าใจให้ชัดเจนกันต่อไป แต่วันนี้จะยังไม่อธิบายในตอนนี้
ฐิตา:
นิพพาน - ความสิ้นตัณหา
ก็แปลว่าต้องอยู่ในอาการที่ปางตายด้วยกันทั้งนั้น ต้องเป็นทุกข์อยู่ด้วยเกิดแล้วก็แก่แล้วก็ไม่สบายกาย ไม่สบายจิตต่างๆ ต้องพบกับสิ่งที่ไม่ชอบ ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบปรารถนาไม่ได้สมหวังต่างๆ รวมเข้าก็ต้องมีขันธ์ ๕ ย่อเป็นกายใจนี้เอง เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอยู่ในอาการปางตายด้วยกันทั้งนั้น และก็จะต้องแก่ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น และชีวิตก็ดำเนินไปสู่ความแก่ความตายอยู่ทุกเวลาไม่มีหยุด
เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงเป็นหมอถอนลูกศร ผ่าตัดลูกศร ด้วยใช้เครื่องมือก็คือมีดผ่าตัด อันได้แก่ปัญญา โดยตรัสเทศนาสั่งสอนให้ทุกคนได้เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริง ก็รวมอยู่ในเรื่องความจริงความดีความงามที่กล่าวมาในวันแรกๆ นั้นนั่นแหละ และปัญญานี้เองที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคล ก็จะผ่าตัดถอนลูกศรคือตัณหาออกจากจิตใจได้
และเมื่อถอนตัณหาคือลูกศรออกจากจิตใจได้ด้วยปัญญาแล้ว ทุกข์ก็จะดับไปหมด บุคคลก็จะเป็นผู้ที่พ้นทุกข์ เพราะว่าลูกศรออกจากจิตใจได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกธรรมหรือสภาพธรรมที่จิตใจถอนลูกศรออกได้แล้ว แปลว่าสิ้นตัณหาหมดแล้ว และก็สิ้นทุกข์หมดแล้ว ว่านิพพาน อันเป็นธรรมที่มุ่งจะบรรลุสำหรับพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน และพระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงค้นคว้าด้วยพระองค์เอง จนได้ปัญญาเป็นมีดผ่าตัดถอนลูกศรออกจากพระหทัยของพระองค์เองได้แล้ว สิ้นตัณหาแล้วก็สิ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวงแล้ว ทรงบรรลุนิพพานแล้ว
เพราะฉะนั้นจึงมาทรงสั่งสอนเพื่อที่จะโปรดสัตว์โลกที่กำลังถูกลูกศรเสียบแทงใจอยู่นี้ ได้ปัญญาที่จะถอนลูกศรออกแล้ว ก็พ้นทุกข์อย่างพระองค์บ้าง นี้เป็นพระมหากรุณา เป็นพระมหากรุณาจริงๆ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นทุกข์ และก็กำลังถูกลูกศรเสียบแทงใจอยู่ เพราะฉะนั้นท่านจึงอธิบายคำของนิพพาน ว่าออกจากวาณะ ภาษาสันสกฤตว่านิรวานะ ภาษาบาลีว่านิพพาน เป็นคำเดียวกัน วาณะนั้น แปลว่าเครื่องเสียบแทง แปลว่าลูกศร นิรวานะ แปลว่าออกจากเครื่องเสียบแทง ออกจากลูกศรคือถอนลูกศรเสียได้ ไม่มีลูกศรเสียบใจ เพราะฉะนั้นก็ให้เข้าใจคำว่านิพพานง่ายๆ ดั่งนี้ว่า ที่ว่าเป็นนิพพานนั้น
ก็คือว่าสภาพธรรมของจิตใจที่ถอนวาณะคือลูกศรอันเป็นเครื่องเสียบแทงของจิตใจได้แล้ว ออกจากเครื่องเสียบแทง ออกจากลูกศรได้แล้ว ไม่มีลูกศร ไม่มีเครื่องเสียบแทงจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอิสระเสรี มีความสบายคล่องตัวเป็นสุข ไม่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อน พ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง พ้นจากอาการปางตาย อาการที่เป็นทุกข์ทั้งหลายหมดสิ้น
ฐิตา:
ทรงสอนให้ใช้ปัญญาถอนลูกศรหรือตัณหา
เพราะฉะนั้นนิพพานมิได้อยู่ที่ไหน แต่ว่าอยู่ที่ถอนลูกศรออกจากจิตใจนี้แหละ ก็ด้วยปัญญาที่พระพุทธเจ้าได้ประทานให้ จากการสั่งสอน พระปัญญานี้แหละช่วยผ่าตัดเอาตัณหาที่เป็นลูกศรเสียบใจออกได้ ก็พ้นทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นกิจของพระพุทธเจ้าที่จะทรงปฏิบัติหน้าที่อันนี้ ซึ่งจะต้องรีบกระทำ และพระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิบัติหน้าที่นี้เป็นเวลาถึง ๔๕ ปี หน้าที่เป็นหมอถอนลูกศรนี้แหละ ทรงแสดงธรรมสั่งสอนก็เป็นการประทานปัญญาอันเป็นมีดผ่าตัด
เพื่อให้ผ่าตัดลูกศรถอนลูกศรออกจากจิตใจของตนเอง และเมื่อเป็นดั่งนี้ ก็นำเข้าสรุปใน ๔ ข้อนั้นได้ ทุกข์ก็คือว่าอาการเป็นทุกข์ถึงปางตาย นี่เป็นตัวทุกข์ทั้งทางกายทั้งทางจิตใจที่โลกต้องพบอยู่ตลอดเวลา ที่บุคคลทุกๆ คนต้องพบอยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่เป็นลูกศรนั้นก็คือตัณหา ซึ่งเป็นตัวทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ และก็ถอนลูกศรเสียได้ก็เป็นความดับทุกข์หรือทุกขนิโรธ และมีดสำหรับที่จะผ่าตัดพร้อมกับอุปกรณ์ต่างๆ ก็คือมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อันมีดที่จะผ่าตัดนั้นก็ขอให้เข้าใจว่าก็จะต้องมีตัวมีด ที่ส่วนหนึ่งคม ผ่าตัดได้ และก็จะต้องมีส่วนของเหล็กอันประกอบกันอยู่ที่เป็นสันของมีดเป็นส่วนของมีด เพราะว่าความคมที่สำหรับผ่าตัดนั้นจะอยู่อย่างเดียวไม่ได้ แล้วก็จะต้องมีด้ามมีด เหล่านี้เป็นอุปกรณ์ของมีดต่างๆ สำหรับที่จะผ่าตัดลูกศรที่เสียบแทงจิตใจ
ซึ่งพระพุทธเจ้าได้จำแนกสำหรับที่จะทรงผ่าตัดสะดวกก็คือมรรคมีองค์ ๘ คือ
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ นี่คือเป็นตัวคม
และก็ยังมีส่วนประกอบอื่นของมีด เช่นว่าสันมีด ด้ามมีด อะไรเหล่านี้
ก็เป็นสัมมาวาจา เจรจาชอบ
สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตขอบ
สัมมาวายามะ เพียรชอบ
สัมมาสติ สติระลึกได้ชอบ
สัมมาสมาธิ สมาธิตั้งใจมั่นชอบ
รวมเข้าเป็นมีดเล่มเดียวนี่แหละ ส่วนที่คมสำหรับผ่าตัดจริงๆ ก็คือสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ ซึ่งเป็นตัวปัญญา ซึ่งจะต้องประกอบด้วยเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้จึงจะใช้ได้
ทรงจำแนกไว้ดั่งนี้สำหรับที่ทุกคนจะปฏิบัติได้สะดวก แต่แล้วก็ต้องรวมเป็นมีดเล่มเดียวนี่แหละ ใช้สำหรับที่จะผ่าตัดจิตใจ ถอนเอาลูกศรออกจากจิตใจ และการปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ นี้ก็ปฏิบัติไปโดยลำดับ ก็เป็นการรักษาเยียวยาการถอนลูกศรออกจากจิตใจไปโดยลำดับ เพราะว่าทีแรกนั้นจะถอนพรวดออกไปจากจิตใจทีเดียวย่อมไม่ได้ ก็จะต้องมีวิธีขั้นตอนของการผ่าตัดไปตั้งแต่ต้น แล้วก็ค่อยๆ ถอนออก จนถึงถอนได้หมดสิ้นแล้วก็รักษาเยียวยาแก้ไขแผลให้หาย เหล่านี้เป็นขั้นตอนของการรักษา
ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ปฏิบัติหน้าที่รักษาโรคทางจิตใจนี้ได้อย่างสมบูรณ์แล้วก็ทรงกระทำทันที ไม่เสียเวลาไปทรงแสดงเรื่องโน้นเรื่องนี้อะไรต่างๆ หน้าที่ของพระองค์ก็ต้องรีบทำดั่งนี้ และรีบช่วยให้บุคคลพ้นจากความพ้นทุกข์ทันที ได้ทรงปฏิบัติอยู่เป็นเวลาถึง ๔๕ ปี รวมเข้าก็ในข้อนี้เท่านั้น
๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version