อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > หลวงพ่อชา สุภทฺโท
ประวัติและปฏิปทา ของ หลวงพ่อชา สุภทฺโท
ฐิตา:
๐ การพิจารณาเข้าหาธรรม
ถ้าเราทำภาวนา อย่าให้กิเลสตัณหามันรู้เงื่อนรู้ปลายได้ ท่านจะเอาอย่างไร มันมาถามเรา จะเอาขนาดไหน จะเอาประมาณเท่าไรดึกเท่าไร มันมาทำให้เราตกลงกับมัน ถ้าเราไปว่าจะเอาสักสองยามแล้วก็มันจะเล่นงานเราทันที นั่งไปยังไม่ถึงชั่วโมงต้องร้อนรนออกจากสมาธิแล้วก็เกิดนิวรณ์ว่า มันจะตายหรือยังกันนะ ว่าจะเอาให้มันแน่พยาบาทตัวเอง ไม่มีคนพยาบาทก็เป็นทุกข์อีกนั่นแหละ ถ้าได้อธิฐานแล้วต้องเอาให้มันรอด หรือตายโน่น อย่าไปหยุดมันจึงจะถูก
เราค่อยทำค่อยไปเสียก่อน ไม่ต้องอธิฐาน พยายามฝึกหัดไป บางครั้งจิตสงบ ความเจ็บปวดทางร่างกายก็หยุด เรื่องปวดแข้งปวดขามันหายไปเอง การปฏิบัติอีกแบบหนึ่งนั้นเห็นอะไรก็ให้พิจารณา ทำอะไรก็ให้พิจารณาทุกอย่าง อย่าทิ้งเรื่องภาวนา บางคนพอออกจากทำความเพียรแล้ว คิดว่าตัวเองหยุดแล้ว พักแล้ว พักแล้ว จึงหยุดกำหนดหยุดพิจารณาเสีย เราอย่าเอาอย่างนั้น เห็นอะไรให้พิจารณา เห็นคนดีคนชั่ว คนใหญ่คนโต คนร่ำรวย คนยากจน เห็นคนเฒ่าคนแก่ เห็นเด็กเห็นเล็ก ให้พิจารณาไปทุกอย่าง นี่เรื่องการภาวนาของเรา
การพิจารณาเข้าหาธรรมะนั้น ให้เราพิจารณาดูอาการเหตุผลต่างๆนานา มันน้อยใหญ่ ดำขาว ดีชั่ว อารมณ์ทุกอย่างนั่นแหละ ถ้าคิดเรียกว่ามันคิด แล้วพิจารณาว่ามันก็เท่านั้นแหละ สิ่งเหล่านี้อยู่ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลย นี่แหละป่าช้าของมันทิ้งมันใส่ลงตรงนี้ จึงเป็นความจริง
๐ นิมิต
“สิ่งเหล่านี้อย่าว่าเป็นของเรา สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงนิมิต คือ ของหลอกลวงให้เราชอบ ให้เรารัก ให้กลัว นิมิตเป็นของหลอกลวงใจเรา มันไม่แน่นอน ถ้าเห็นแล้วอย่าไปหมายมั่น ไม่ใช่ของเรา อย่าวิ่งตามมัน อาจพูดลืมตัวเองเป็นบ้าไปได้ ไม่กลับมาพูดกับเรา เพราะหนีจากคอกแล้ว ให้เชื่อตัวเองแน่นอน เห็นอะไรมาก็ตาม ถ้านิมิตเกิดขึ้นมาจิตตัวเอง จิตต้องสงบ มันจึงเป็น ถ้าเป็นมา ให้เข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้มิใช่ของเรา นิมิตนี้ให้ประโยชน์แก่คนมีปัญญา ให้โทษแก่คนไม่มีปัญญา
ทำความเพียรไปจนเราไม่ตื่นเต้นในนิมิต มันอยากเกิดก็เกิด ไม่เกิดก็ไม่เกิด ไม่กลัวมัน เชื่อใจได้อย่างนี้ ไม่เป็นไร ทีแรกเราตื่น ของน่าดูมันก็อยากดู ความดีใจเกิดขึ้นมาอย่างนี้ก็หลง ไม่อยากให้มันดีก็ดี ไม่รู้จะทำอย่างไร ปฏิบัติไม่ถูกก็เป็นทุกข์ มันอยากดีใจช่างมัน ให้เรารู้ความดีใจนั่นเองว่าความดีใจนี้ก็ผิด ไม่แน่นอนเช่นกัน แก้มันอย่างนี้ อย่าไปแก้ว่า ไม่อยากให้มันดีใจ ทำไมจึงดีใจ นี่ผิดอยู่นะ ผิดอยู่กับของเหล่านี้ ผิดอยู่ใกล้ๆ ไม่ได้อยู่ไกลหรอก อย่ากลัวนิมิต ไม่ต้องกลัว เรื่องภาวนานี้พอพูดให้ฟังได้เพราะเคยทำมา ไม่ว่าจะถูกหรือไม่นะ ให้เอาไปพิจารณาเอาเอง”
ฐิตา:
๐ นิวรณ์
นิวรณ์ คือธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่ามี ๕ ประการ คือ
๑. กามฉันทะ ความพอใจในกาม
๒. พยาบาท ความคิดร้าย ขัดเคืองใจ
๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่และเซื่องซึม
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านกระวนกระวาย กลุ้มใจร้อนใจ
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
หลวงพ่อท่านให้ภาวนาตั้งท่าทีทัศนะต่อนิวรณ์ที่กำลังรุมเร้ารบกวนจิตใจอยู่ว่า เป็นครูบาอาจารย์หรือเครื่องทดสอบสติปัญญาของตน มากกว่าที่จะมองเห็นนิวรณ์เป็นตัวศัตรูที่น่าเกลียด อันอาจทำให้เกิดความตึงเครียดเป็น วิภวตัณหา ซึ่งเป็นเหตุให้ความไม่อยากให้นิวรณ์นั้นอยู่ในใจของตนทุกข์เพิ่มทวี อีกวิธีการหนึ่งที่หลวงพ่อสอนสำหรับแก้องค์นิวรณ์ คือคำว่า “ไม่แน่”
“เมื่อมันเกิดอะไรขึ้นมาในใจของเรานี่ มันเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา ที่เราชอบใจก็ตาม เราเห็นว่ามันผิดมันถูกก็ตามเถอะ ให้เราตัดมันไปเลยว่า อันนั้นมันไม่แน่ จะเกิดอะไรขึ้นมาก็ช่างมันเถอะ สับมันลงไป ไม่แน่ ไม่แน่ อย่างเดียว ขวานเล่มเดียวสับลงไป ไม่แน่ทั้งนั้นแหละ มันแน่ตรงที่ไหนล่ะ ถ้าเห็นว่ามันไม่แน่ ทุกสิ่งทุกอย่าง ราคามันก็น้อยลง อารมณ์ทั้งหลายมันเป็นของที่ไม่มีราคาแล้ว ของที่ไม่มีราคาแล้วเราจะเอาไปทำไม”
นอกจากนี้หลวงพ่อยังได้พูดถึงนิวรณ์แต่ละอย่างไว้ด้วย คือ
๑. กามฉันทะ
การบรรเทาความใคร่ในกามให้เบาบางลง ต้องใช้หลายวิธีด้วยกัน เพื่อควบคุมการคึกคะนองของจิต สิ่งที่หลวงพ่อเน้นอยู่เสมอ คือการกินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ความเป็นผู้มีอินทรีย์สังวร การเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค และใช้อสุภกรรมฐานเป็นอุบายเครื่องแก้
ท่านบอกว่า กามราคะจะบรรเทาลงได้ ด้วยการพิจารณาไตร่ตรองถึงความน่าเกลียดโสโครก การหลงติดอยู่ในรูปกายเป็นสุดโต่งข้างหนึ่ง ซึ่งเราต้องมองให้เห็นสิ่งตรงข้าม จงพิจารณาร่างกายเหมือนซากศพและเห็นการเปลี่ยนแปลงเปื่อยเน่า หรือพิจารณาอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ม้าม ไขมัน อุจจาระ และอื่นๆ จำอันนี้ไว้แล้วพิจารณาให้เห็นจริงถึงความน่าเกลียดโสโครกของร่างกาย เมื่อมีกามเกิดขึ้น ก็ช่วยให้เอาชนะกามราคะได้ เห็นเมื่อใดก็เท่ากับมองซากศพ เห็นผู้หญิงก็ซากศพ เห็นผู้ชายก็ซากศพ ตัวเราเองก็เป็นซากศพด้วยเหมือนกัน พยายามเจริญให้มาก บำเพ็ญให้อยู่ในใจนี้มากขึ้นอีก ท่านบอกว่ามันสนุกจริงๆ ถ้าเราทำ แต่ถ้ามัวอ่านแต่ตำราอยู่มันยาก ต้องทำเอาจริงๆ ทำให้มีกรรมฐานในใจเรา
๒. พยาบาท
ต่อเรื่องนี้ มีพระลูกศิษย์ผู้มีโทสจริตรูปหนึ่ง กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า
“เมื่อผมโกรธควรจะทำอย่างไรครับ”
“ท่านต้องแผ่เมตตา ถ้าท่านมีโทสะในขณะภาวนาให้แก้ด้วยการแผ่เมตตา ถ้าใครทำไม่ดีหรือโกรธก็อย่าโกรธตอบ ถ้าท่านโกรธตอบท่านจะโง่ยิ่งกว่าเขา จงเป็นคนฉลาด สงสารเห็นใจเขา เพราะว่าเขากำลังได้ทุกข์ จงมีเมตตาเต็มเปี่ยมเหมือนหนึ่งว่าเขาเป็นน้องชายที่รักยิ่งของท่าน เพ่งอารมณ์เมตตาเป็นอารมณ์ภาวนา แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลก เมตตาเท่านั้นที่จะเอาชนะโทสะและความเกลียดได้”
บางครั้งนิวรณ์ตัวนี้เกิดขึ้นในลักษณะความไม่พอใจ หรือขัดเคืองกับการปฏิบัติของตัวเอง หลวงพ่ออธิบายว่า
“ใจวุ่นวาย ทำไมจึงวุ่นวาย เพราะมีตัณหา ไม่อยากให้คิด ไม่อยากให้มีอารมณ์ ความไม่อยากนี่แหละตัวอยาก คือวิภวตัณหา ยิ่งไม่อยากเท่าไรมันยิ่งชวนกันมา เราไม่อยากมันทำไมจึงมา ? ไม่อยากให้มันเป็นทำไมมันเป็น ? นั่นแหละเราอยากให้มันเป็นเพราะเราไม่รู้จักใจเจ้าของ (ตัวเอง)”
ฐิตา:
๓. ถีนมิทธะ
พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบการถูกถีนมิทธนิวรณ์ครอบงำจิตว่า เสมือนการถูกกักขังไว้ในเรือนจำ มืดมิดอึดอัด ไม่เป็นอิสระ นิวรณ์ตัวนี้ทำให้นักปฏิบัติจำนวนไม่น้อยต้องหนักอกหนักใจ แต่อุบายในการแก้ไขความง่วงมีอยู่มากมายหลายวิธี หลวงพ่อกล่าวว่า
“มีวิธีเอาชนะความง่วงได้หลายวิธี ถ้านั่งอยู่ในที่มืด ย้ายไปอยู่ที่สว่าง ลืมตาขึ้น ลุกไปล้างหน้า
ตบหน้าตนเอง หรือไปอาบน้ำ ถ้ายังง่วงอยู่อีก ให้เปลี่ยนอิริยาบถ เดินให้มากหรือเดินถอยหลัง ความกลัวว่าจะเดินไปชนเอาอะไรเข้าจะทำให้หายง่วง ถ้ายังง่วงอยู่จงยืนนิ่งๆ ทำใจให้สดชื่น และสมมติว่าขณะนั้นสว่างเป็นกลางวัน หรือนั่งบนหน้าผาสูงหรือบ่อลึก จะไม่กล้าหลับ ถ้าทำอย่างๆ ก็ไม่หายง่วง ก็จงนอนเสีย เอนกายลงอย่างสำรวมระวัง และรู้ตัวอยู่จนกระทั่งหลับไป เมื่อรู้สึกตัวตื่นจงลุกขึ้นทันที อย่ามองดูนาฬิกาแล้วพลิกไปพลิกมา เริ่มต้นมีสติ ระลึกรู้ทันทีที่ตื่น
ถ้าง่วงนอนอยู่ทุกวัน ลองฉันอาหารน้อยลง สำรวจตัวเอง ถ้าอีก ๕ คำจะอิ่ม หยุดแล้วดื่มน้ำจนอิ่มพอดี แล้วกลับไปนั่งดูต่ออีก เฝ้าดูความง่วงและความหิว กะฉันอาหารให้อิ่มพอดี เมื่อฝึกปฏิบัติต่อไปอีก จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นและฉันน้อยลง ต้องปรับตัวเองให้ได้”
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ
หลวงพ่อบอกว่า เวลาฟุ้งซ่านให้ตามดูว่าจิตของเรามันฟุ้งไปที่ไหน
“...ถ้ามันแวบไปแวบมา ก็ว่ามันแวบไปแวบมา ถ้ามันนิ่งเฉยๆ ก็ว่านิ่งเฉยๆ จะเอาอะไรล่ะ ให้รู้เท่าทันมันทั้งสองอย่าง วันนี้มันมีความสงบก็คิดว่า มันมาให้ปัญญาเกิด แต่บางคนเห็นว่าสงบนี่ดีนะ ชอบ ดีใจ วันนี้ฉันทำสมาธิมันสงบดีเหลือเกิน แน่ะ อย่างนี้ เมื่อวันที่สองมาไม่ได้เรื่องเลย วุ่นวายทั้งนั้นแหละ แน่ะ วันนี้ไม่ดีเหลือเกิน
เรื่องดีไม่ดีมันมีราคาเท่ากัน เรื่องดีมันก็ไม่เที่ยง เรื่องไม่ดีมันก็ไม่เที่ยง จะไปหมายมั่นมันทำไม ? มันฟุ้งซ่านก็ดูมันฟุ้งซ่านไปซิ มันสงบก็ดูมันสงบซิ อย่างนี้ให้ปัญญามันเกิด มันเป็นเรื่องของมันจะเป็นอย่างนี้ เป็นอาการของจิตมันเป็นอย่างนั้น เราอย่าไปยุ่งกับมันมากซิ ลักษณะอันนั้นอย่างเราเห็นลิงตัวหนึ่งนะ มันไม่นิ่งใช่ไหม โยมก็ไม่สบายใจเพราะลิงมันไม่นิ่ง มันจะนิ่งเมื่อไร โยมจะให้มันนิ่งโยมถึงจะสบายใจ มันจะได้เรื่องของลิงนะ ลิงมันเป็นเช่นนี้ ลิงที่กรุงเทพฯ มันก็เหมือนลิงตัวนี้แหละ ลิงที่อุบลราชธานีก็เหมือนลิงที่กรุงเทพฯ นั่นแหละ ลิงมันเป็นอย่างนั้นของมันเอง ก็หมดปัญหาเท่านั้นแหละ เอาอย่างนี้แหละจะได้หมดปัญหาของมันไป อันนี้ลิงก็ไม่นิ่ง เราก็เป็นทุกข์อยู่เสมอ อย่างนั้นก็ตายเท่านั้นแหละ เราเป็นลิงยิ่งกว่าลิงเสียแล้วกระมัง”
๕. วิจิกิจฉา
ความลังเลสงสัย เป็นนิวรณ์ที่มักเป็นอุปสรรคสำคัญของนักปฏิบัติ ที่มีการศึกษาในระดับสูง เพราะการศึกษาทางโลกทำให้คนคิดมากขึ้น รู้จักเปรียบเทียบ วิเคราะห์วิจัย ใช้เหตุผล ซึ่งมีประโยชน์มากในชีวิตประจำวัน แต่โทษที่อาจเกิดขึ้นก็คือ ผู้รู้มากมักสงสัยมาก นักปฏิบัติพวกนี้ตกเป็นเหยื่อของนิวรณ์ตัวนี้ จึงเป็นนักภาวนาจับจด ไม่เอาจริงเอาจัง หลวงพ่อเปรียบเทียบเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าฟัง คือ
“ผลไม้หนึ่งผล รสผลไม้มันหวาน เราก็รู้จัก มันหอมเราก็รู้จัก รู้จักทุกอย่าง แต่ว่ามันขาดอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่รู้จักชื่อของผลไม้ว่าชื่ออะไร สิ่งนี้ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ของจำเป็นอะไรหรอก ถ้าเรารู้จักว่าผลไม้ชื่ออะไร มันก็ไม่เพิ่มความหวานขึ้นมาอีก รสชาติก็ยังเหมือนเดิมอยู่ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงเหตุที่ควรจะรู้ก็ให้รู้ เหตุที่ไม่ควรจะรู้ก็ไม่ต้องรู้ ไม่รู้ชื่อของมันก็ไม่เป็นไร รสของมันเรารู้แล้ว...เรื่องชื่อก็ไม่จำเป็นเท่าไร ถ้ามีใครมาบอกก็รับไว้ แต่ถ้าไม่มีใครมาบอกก็อย่าเดือดร้อน”
ฐิตา:
๐ หลักธรรมสำคัญในการปฏิบัติ
พระอาจารย์เที่ยงได้วิเคราะห์สรุปหัวข้อธรรมะที่ท่านเห็นว่า เป็นหัวใจของคำสอนของหลวงพ่อ มี ๒ อย่าง คือ
๑. เน้นสติ
“เรื่องแรก ท่านก็บอกให้ตั้งสตินี่แหละให้คงที่ สตินี้ให้ติดต่อ สตินี้อย่าให้หลง อย่าให้เผลอ อย่าให้ขาด ท่านถึงได้บอกว่าธรรมะของท่านไม่มีเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องสั้น เบื้องยาวอะไร ท่านบอกว่า คล้ายๆ กับว่า ลูกมะพร้าวที่ผมปั้นกลมๆ ให้เป็นลูกอย่างนี้ ท่านให้ตั้งสติ ให้ปลูกศรัทธาความเชื่อ น้อมถึงพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถึงแม้ตัวท่านเองก็เคารพจริงๆ และสอนให้เราเคารพจริงๆ ตั้งจิตใจ มีสติ การตั้งสตินี้ ถึงแม้กราบก็ให้มีสติ ไม่ได้กราบก็ให้มีสติ ท่านบอกว่าถ้าเราเผลอไป หลงไป สติของเราก็ไม่ดี มันต้องบกพร่องอะไรอย่างหนึ่ง เมื่อจิตใจของเราไม่สงบ มันฟุ้งซ่าน จิตใจไม่เยือกเย็น ไม่ปกติ มันต้องมีสิ่งหนึ่งของเราที่มันผิดหรือจะต้องขาดสติ...
...ถ้าขาดสติจะไปทำกรรมฐานอะไร จะไปนั่งสมาธิอะไร ไปทำความบริสุทธิ์อะไร มันก็ไม่เป็นหรอก ต้องเรื่องสตินั่นแหละสำคัญ ความเยือกเย็นก็เกิดอยู่ที่สติ ความสงบก็เกิดอยู่ที่สติ ความสบายภายในภายนอกก็อยู่ที่สติ ธรรมวินัย ข้อปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวงก็อยู่ที่สติ เราไม่มีสติจะเอาอะไรมารู้ ท่านสอนหลักความจริงของท่านอย่างนี้”
๒. ละทิฏฐิ
“เป็นพระเป็นเณร อย่าไปถือตนถือเขาถือเรา ถือชาติถือตระกูลอะไรกันไม่ได้ มันไม่เป็นศีลธรรม ปฏิบัติไม่เห็น เราต้องปล่อยทิ้งจริงๆ มุ่งละทิฏฐิมานะเท่านั้น ท่านไม่ให้มีทิฏฐิมานะ เป็นพระเป็นเณรอยู่ด้วยกัน อย่าไปเอาเรื่องเอาราวอะไรกันมากนัก ถือว่าเหมือนกันคล้ายกัน อย่าไปคิดเอาผิดเอาถูกกันอย่างนั้นอย่างนี้ การพูดว่ากันมันเป็นเรื่องธรรมดา คนเราเวลาผิดก็เรื่องของความผิด ก็ทิ้งมันไป อย่าไปยึดผิดยึดถูก ถ้าเราไปยึดมันก็ไม่ถูกธรรมวินัย ถ้าเราถูกมันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก แต่นี่มันเป็นทั้งธรรมทั้งวินัยน่ะแหละ ถ้าเราไปยึดเสียแล้ว อย่าไปสอน รักษาวินัยเป็นอย่างนี้ ธรรมปัจจุบันเป็นอย่างนี้ มันไม่เป็นทั้งธรรมทั้งวินัยน่ะแหละ ยึดไม่เป็นธรรมก็ได้ ยึดไม่เป็นวินัยก็ได้ มันผิดทั้งนั้น
ถ้าถูกวินัยมันก็ถูกธรรม ปฏิบัติวินัยมันก็ปฏิบัติธรรมนั่นแหละ ท่านพูดคล้ายๆ กับว่ามันเป็นทางที่เนื่องกันไป ธรรมกับวินัยท่านไม่แยก ก็เหมือนอย่างที่ท่านสอนให้รักษาศีลธรรมนั่นแหละ ไม่ถูกศีลมันจะเป็นธรรมได้ยังไง หลักของท่าน ท่านสอนให้เนื่องกันไป ถ้ามันถูกแล้ว เราไม่ต้องไปคิดให้มากหรอก อย่างมรรค ๘ ที่ท่านสอนว่าปัญญาชอบน่ะ สิ่งที่ถูกก็ชอบเท่านั้นแหละ มันถูกทั้งหมดน่ะแหละ ที่ท่านเขียนเอาไว้ ท่านสอนเนื่องกันไปอย่างนี้ ท่านถึงได้บอกว่าธรรมของผมนี่ไม่มีสั้นมียาวนะ มันปั้นเข้าไปกลมๆ เหมือนผลส้มโอหรือมะพร้าว”
วัตรปฏิบัติของหลวงพ่อเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญว่า เป็นสิ่งที่จะเป็นตะแกรงร่อนคนได้ ดังนั้น แม้ท่านจะถูกการเสนอให้ได้รับการยกเว้นวัตรให้ ท่านก็ไม่ยอมรับ เพราะได้เห็นประโยชน์อันใหญ่หลวงนี้เอง วัตรปฏิบัติของท่านและลูกศิษย์จึงดำเนินไปอย่างเข้มข้นไม่มีย่อหย่อนยกเว้น ไม่ว่ากรณีใดๆ
ฐิตา:
๐ แนวทางการเผยแผ่พระศาสนา
หลวงพ่อท่านเน้นนักหนาให้พระภิกษุสามเณร ต้องอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เอาจริงเอาจัง จะหละหลวมย่อหย่อนแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้ วิถีทางแห่งนักปฏิบัติไม่ใช่วิถีทางที่สะดวกสบายตามใจกิเลส พระอาจารย์เที่ยง ได้ปรารภถึงความเอาจริงเอาจังของหลวงพ่อว่า
“หลวงพ่อท่านสอนยังไงต้องทำอย่างนั้น แต่ก่อนถ้าเดินต้องเดิน ไม่เดินไม่ได้ ถ้านั่งต้องนั่ง ลุกไม่ได้ ไม่ใช่พูดเล่นนะ ท่านพูดเล่นไม่เป็น ไม่ทำไม่ได้ ถ้าท่านเห็นต้องเรียกมาด่า เณรท่านก็ด่า พระก็ด่า เรียกประชุมเลย...จะไปนั่งเล่นที่โน่นที่นี่ ผลุบเข้าผลุบออกไม่ได้ ถามทันที ไปทำไม...มีคนไปปัสสาวะเป็นชั่วโมง คราวหลังจะไปปัสสาวะมาบอกผมนะ ผมจะไปดูด้วย
เพราะฉะนั้น จะไม่กลัวก็ไม่ได้ ไม่อยากทำก็ไม่ได้ เพราะท่านไม่ได้พูดเล่น ไม่ได้ปล่อยตามเรื่องตามราว ทางเดินจงกรมไม่มีก็ไม่ได้ ลานวัดไม่กวาดก็ไม่ได้ ข้ามวันหรือ ๒ วันไม่ได้ …กระดิกตัวไม่ได้เลย เล่นเหลาะแหละไม่ได้ ถ้าสั่งเลิกประชุม ปล่อยให้ทำความเพียรภาวนาตามลำพัง เห็นพระเณรเดินไปเดินมาเอาแล้ว คุณ คุณ ออกมาเพ่นพ่านอะไรอีกล่ะ ตาไวจริงๆ ไม่ปล่อยเลย นิดเดียวก็ไม่ปล่อย ถ้าให้เดิน ไม่เดินก็ไม่ได้ ถ้าเลิกแล้ว อยู่ก็ไม่ได้ เดี๋ยวเกิดเรื่อง พอเลิกต้องไปทันที แต่ถ้าไม่เลิกจะหนีไปไม่ได้ เป็นอะไรต้องบอก”
พระอาจารย์เอนกได้พูดถึงหลวงพ่อในแง่เดียวกันนี้ว่า
“...ภิกษุสามเณรจึงพากันกลัวนักกลัวหนา กลัวจะได้ฟังเทศน์กัณฑ์ใหญ่ มักพูดตักเตือนหมู่คณะเดี่ยวกันอยู่เสมอ ถ้าท่านรู้ว่าใครทำอะไรผิดขึ้นมา ท่านไม่ยอมปล่อยให้ข้ามวันข้ามคือเลย เรียกตัวมาอบรม หรือไม่ก็อบรมเป็นส่วนรวมเลย ท่านเข้มงวดกวดขันอยู่เสมอ ใครจะทำอะไรหรือมีกิจอะไรจำเป็นขนาดไหนก็ตาม ต้องไปกราบเรียนท่านเสียก่อนจึงจะทำได้ จะทำอะไรไปโดยพลการไม่ได้ ถ้าท่านรู้เป็นต้องได้ฟังเทศน์กัณฑ์ใหญ่แน่นอนทีเดียว
ใครไม่มาทำวัตรหรือมาทำวัตรไม่ทัน ช้าไป ๕ นาทีหรือ ๑๐ นาทีเป็นไม่ได้เลย เวลาเดินเข้าไปในบริเวณศาลา ก็ต้องเดินเบาที่สุดจนแทบไม่มีเสียง ใครเดินเสียงดังไม่ได้ เดี๋ยวโดนดุ เพราะมันรบกวนสมาธิของบุคคลอื่นที่ท่านนั่งอยู่ก่อนแล้ว มันจะเป็นบาปเป็นกรรมและเสียมารยาทของนักปฏิบัติ อีกทั้งยังขาดสติสัมปชัญญะ ไม่สำรวมอายตนะ เป็นเรื่องเสียหายมากสำหรับนักปฏิบัติเรา ท่านว่าอย่างนั้น...”
ลักษณะวิธีการสอนแบบตามจี้ตลอดของท่านนี้ อาจดูว่าจู้จี้เกินไป คงไม่เป็นที่น่าพอใจนักสำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจเพื่อไปปฏิบัติขัดเกลาตน
แต่การสอนลักษณะเดียวกันนี้ก็คือวิธีการสอนที่พระพุทธองค์ทรงใช้มาแล้ว โดยพิจารณาได้จากพุทธพจน์ว่า
น เต อหํ อานนฺท ตถา ปรกฺกมิสฺสามิ
อานนท์ เราไม่พยายามทำกะพวกเธอ อย่างทะนุถนอม
ยถา กุมฺภกาโร อามเก อามกมตฺเต
เหมือนพวกช่างหม้อ ทำแก่หม้อที่ยังเปียกยังดิบอยู่
นิคฺคยฺหนิคฺคยฺหาหํ อานนฺท วกฺขามิ
อานนท์ เราจักขนาบแล้วขนาบอีก ไม่มีหยุด
ปวยฺหปวยฺหาหํ อานนฺท วกฺขามิ
อานนท์ เราจักชี้โทษแล้วชี้โทษอีก ไม่มีหยุด
โย สาโร โส ฐสฺสติ
ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้
นิธีนํว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ
นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช.
คนเรา ควรมองผู้มีปัญญาใดๆ ที่คอยชี้โทษ คอยกล่าวคำขนาบอยู่เสมอไป
ว่าคนนั้นแหละคือผู้ชี้ขุมทรัพย์ละ ควรคบบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น
ตาทิสํ ภชมานสฺส เสยฺโย โหติ น ปาปิโย.
เมื่อคบหาบัณฑิตชนิดนั้นอยู่ ย่อมมีแต่ดีท่าเดียว ไม่มีเลวเลย
เพราะฉะนั้น พระภิกษุสามเณรผู้ตั้งใจที่จะปฏิบัติจริงๆ จึงน้อมรับวิธีการของท่านด้วยความยินดียิ่ง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมลูกศิษย์ลูกหาของท่านซึ่งได้ผ่านการอบรมจากสำนักแห่งนี้ จึงมีภูมิธรรมอันสามารถในการคุ้มครองตนได้อย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งยังแผ่ขยายสู่เหล่าพุทธบริษัททั้งหลายได้อย่างถ้วนทั่ว
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version