ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติและปฏิปทา ของ หลวงพ่อชา สุภทฺโท  (อ่าน 8132 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ประวัติและปฏิปทา ของ หลวงพ่อชา สุภทฺโท
« ตอบกลับ #20 เมื่อ: มกราคม 31, 2011, 12:57:13 pm »


๐ การปกครองคณะสงฆ์

ในการปกครองคณะสงฆ์นั้น หลวงพ่อได้ตั้งกติกาสำหรับใช้ภายในสำนักวัดหนองป่าพงโดยเฉพาะ มีทั้งหมด ๑๕ ข้อ คือ

๑. พระภิกษุสามเณรห้ามขอของจากคนที่ไม่ใช่ญาติไม่ใช่ปวารณา ห้ามติดต่อกับ คฤหัสถ์และนักบวชที่เป็นวิสภาคกับพระพุทะศาสนา

๒. ห้ามบอกและเรียนดิรัจฉานวิชา บอกเลข ทำน้ำมนต์ หมอยา หมอดู

๓. พระผู้มีพรรษาหย่อน ๕ พรรษา ห้ามเที่ยวไปแต่ลำพังตนเอง เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็น หรือมีอาจารย์ผู้สมควรติดตามไปด้วย

๔. เมื่อจะไปทำอะไร ให้ปรึกษาสงฆ์ หรือผู้เป็นประธานเสียก่อน เมื่อเห็นว่าเป็นธรรม เป็นวินัยแล้ว จึงทำ อย่าทำตามอำนาจของตน

๕. ให้ยินดีในเสนาสนะที่สงฆ์จัดให้และทำความสะอาดเก็บกวาดกุฏิและถนนเข้าออกให้สะดวก

๖. เมื่อกิจสงฆ์เกิดขึ้นให้พร้อมกันทำ เมื่อเลิกให้พร้อมกันเลิก อย่าทำตนให้เป็นที่รับ เกียจของหมู่คณะ คือเป็นผู้มีมายาสาไถย หลีกเลี่ยงแก้ตัว

๗. เมื่อบิณฑบาต เก็บบาตรล้างบาตร กวาดวัด ตักน้ำ สรงน้ำ จัดโรงฉัน ย้อมผ้า ฟัง เทศน์เหล่านี้ ห้ามคุยกัน พึงตั้งใจทำกิจนั้นจริงๆ

๘. เมื่อฉันเสร็จแล้ว ให้พร้อมกันเก็บกวาดโรงฉันเสียก่อน แล้วจึงกราบพระพร้อมกัน จึงนำบริขารของตนกลับกุฏิโดยความสงบ

๙. ให้ทำตนเป็นผู้มักน้อยในการพูด กิน นอน ร่าเริง จะเป็นผู้ตื่นอยู่ด้วยความเพียรและจงช่วยกันพยาบาลภิกษุสามเณรป่วย ด้วยความเมตตา

๑๐. ห้ามรับเงินและทอง และห้ามผู้อื่นเก็บไว้เพื่อตน ห้ามซื้อขาย แลกเปลี่ยน

๑๑. เมื่อเอกลาภเกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ ให้เก็บไว้เป็นกองกลาง เมื่อท่านองค์ใดต้องการ ให้สงฆ์อนุมัติให้แก่ท่านองค์นั้นตามสมควร

๑๒. ห้ามคุยกันเป็นกลุ่มก้อน ทั้งกลางวันและกลางคืน ในที่ทั่วไปหรือในกุฏิ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น ถึงกระนั้นก็อย่าให้เป็นผู้คลุกคลี หรือเอิกเกริก เฮฮา

๑๓. การรับและส่งจดหมาย เอกสาร หรือวัตถุต่างๆ ภายนอก ต้องแจ้งต่อสงฆ์ หรือผู้เป็นประธานสงฆ์ให้ทราบ เมื่อท่านเห็นสมควรแล้ว จึงรับส่งได้

๑๔. พระเณรผู้มุ่งเข้ามาปฏิบัติในสำนักนี้ เบื้องต้นต้องได้รับใบฝากจากอุปัชฌาย์อาจารย์ของตน และย้ายหนังสือสุทธิมาให้ถูกต้องเสียก่อน จึงจะใช้ได้

๑๕. พระเณรที่เป็นอาคันตุกะมาพักอาศัย ต้องนำหนังสือสุทธิแจ้งสงฆ์ หรือผู้เป็นประธานสงฆ์ในคืนแรก และมีกำหนดให้พักได้ไม่เกิน ๓ คืน เว้นแต่มีเหตุจำเป็น

ข้อกติกาเหล่านี้ เมื่อผู้ใดฝ่าฝืน สงฆ์มีอำนาจบริหารได้เต็มที่

จากการได้ศึกษาวัตรปฏิบัติของวัดหนองป่าพงอย่างละเอียด เมื่อมองในแง่ของการปกครองแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนมาก ว่าท่านได้ยึดหลักอปริหานิยธรรม หลักธรรมสำหรับนักปกครองไว้อย่างแน่วแน่มั่นคง ในที่นี้จะได้นำมาแสดงเป็นข้อๆ ดังนี้

อปริหานิยธรรม ว่าด้วยธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว สำหรับภิกษุทั้งหลาย มี ๗ ประการ คือ

๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

- เพื่อสนทนาพูดคุย พบปะ บอกกล่าวตักเตือนกัน ฯลฯ นับเป็นกิจวัตรที่สำนักวัดหนองป่าพงเน้นหนัก ไม่ให้ขาดตกบกพร่องเลย

๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ
- ข้อนี้จะเห็นได้จากการที่ท่านให้ความสำคัญ และเคารพต่อความคิดความเห็นของสงฆ์ยิ่ง และไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามกิจของสงฆ์หรืองานของส่วนรวมต้องมาก่อนเสมอ

๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ ไม่ล้มล้างสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติ ให้สมาทานศึกษาอยู่ในสึกขาบททั้งหลายตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้

- แต่เมื่อใดก็ตามที่ความคิดเห็นของสงฆ์ไม่ถูกต้องตรงกับหลักพระธรรมวินัยแล้ว ท่านก็จะคัดค้านและยกเลิกมตินั้นเสีย ยึดเอาตามหลักธรรมเป็นใหญ่

๔. ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง

- จะเห็นได้จากการเน้นวัตรปฏิบัติ ที่พระภิกษุสามเณรทั้งหลายต้องช่วยกันอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ไม่ว่าเรื่องน้ำใช้น้ำฉัน การบีบนวด การล้างเท้า เป็นต้น

๕. ไม่ลุอำนาจตัณหา คือความอยากที่จะเกิดขึ้น

- เห็นได้จากวัตรปฏิบัติเรื่องการฉัน การห้ามรับเงินทอง ห้ามขอสิ่งของจากญาติโยม ให้ยินดีการอยู่ป่า เป็นต้น

๖. ยินดีในเสนาสนะป่า

- เป็นสิ่งที่สำนักหนองป่าพงปฏิบัติมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นผู้ติดความสะดวกสบาย

๗. ตั้งสติระลึกไว้ในใจว่า เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีลดีงาม ซึ่งยังไม่มาขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข

- คือการแสดงความเมตตายินดี สำหรับผู้ที่ตั้งใจที่จะเดินทางมาประพฤติปฏิบัติธรรมในที่แห่งนี้ ทางสำนักย่อมยินดีที่จะเอื้อเฟื้อในการบำเพ็ญธรรม

หลักธรรมแห่งความสามัคคีข้อนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า หากสงฆ์ปฏิบัติไว้อย่างมั่นคง ย่อมหวังความเจริญได้แน่นอน ความเสื่อมจะไม่มีเป็นอันขาด ข้อนี้ความรุ่งเรืองของวัดหนองป่าพงและสาขา น่าจะเป็นการยืนยันในผลสัมฤทธิ์ได้เป็นอย่างดี





ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ประวัติและปฏิปทา ของ หลวงพ่อชา สุภทฺโท
« ตอบกลับ #21 เมื่อ: มกราคม 31, 2011, 01:07:00 pm »


๐ สำนักแม่ชี

สำนักแม่ชีอันเกิดมาจากกตัญญูธรรมของหลวงพ่อนี้ แยกจากสำนักของพระภิกษุอย่างสิ้นเชิง มีเสนาสนะ ตลอดจนศาลาธรรมที่ประกอบกิจวัตรต่างๆ อยู่ภายในอาณาเขตของตนเอง ซึ่งมีรั้วรอบขอบชิดเป็นสัดส่วน หลวงพ่อจึงมอบหมายงานบริหารให้แม่ชีได้ปกครองกันเอง โดยมีคณะกรรมการบริหาร ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าแม่ชีและแม่ชีอาวุโสรวม ๕ ท่านเป็นคนดำเนินงาน แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของประธานสงฆ์อีกต่อหนึ่ง หลวงพ่อได้กำหนดกติกาข้อปฏิบัติประจำสำนักรวมทั้งหมด ๒๑ ข้อ ซึ่งแม่ชีทุกคนก็ได้น้อมรับและต้องนำมาอ่านทบทวนในที่ประชุมทุกวันพระ ๑๕ ค่ำด้วย เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในข้อวัตร อันเป็นเสมือนไม้บรรทัดที่ไว้ใช้ขัดเกลาตนเอง ข้อวัตรทั้ง ๒๑ ข้อนั้นมีดังนี้

๑. ห้ามคลุกคลีหรือคุยกันเป็นกลุ่มก้อน ทั้งกลางวันและกลางคืน

๒. เวลาฉัน ล้างภาชนะ กวาด สรงน้ำ ให้พร้อมเพรียงกันด้วยความเรียบร้อยและมีสติ

๓. รักษาความสะอาดบริเวณกุฏิ เช่น เก็บกวาด ไล่ปลวกไล่มด เป็นต้น

๔. เป็นผู้มักน้อยสันโดษในการกิน การนอน การพูด ไม่ร่าเริงเอิกเกริกเฮฮา

๕. เมื่อเอกลาภเกิดขึ้นให้แบ่งกันบริโภคใช้สอยพอสมควรและเป็นธรรม

๖. เมื่อเจ็บป่วยให้ช่วยกันรักษาพยาบาลด้วยเมตตา

๗. ประกอบตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ด้วยเมตตาธรรมในเพื่อนชีทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๘. เคารพนับถือซึ่งกันและกันตามวัยวุฒิ

๙. รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอ อย่าให้เป็นที่รังเกียจของหมู่คณะ

๑๐. ห้ามชีคนใดคนหนึ่งมีอำนาจปกครองหรือตั้งกติกาใดๆ ด้วยความเห็นผิด

๑๑. เมื่อเกิดความขัดข้องประการใดๆ รีบแจ้งให้ประธานสงฆ์ทราบเพื่อแก้ไข

๑๒. เมื่อจะไปไหนมาไหน ต้องแจ้งลาประธานสงฆ์ทุกครั้ง

๑๓. ห้ามถือสิทธิ์ในกุฏิที่ตนสร้างขึ้น

๑๔. ห้ามรับแขกที่เป็นเพศชายบนกุฏิของตน เว้นไว้แต่อาพาธเป็นบางครั้ง

๑๕. ห้ามแสดงหรือโฆษณาสิ่งอันไม่เป็นธรรมเป็นวินัย เพื่อเห็นแก่อามิสซึ่งเป็นมิจฉาชีพ เป็นเหตุนำความเสื่อมเสียมาสู่พระศาสนา

๑๖. ห้ามทำตนเป็นผู้รับใช้คฤหัสถ์ ซึ่งจะเป็นการประทุษร้ายตระกูล

๑๗. มีความเห็นร่วมกัน อย่าทะเลาะวิวาทกับใครๆ เพราะความเห็นผิด

๑๘. ห้ามติดต่อกับพระภิกษุ สามเณร แม่ชี และคฤหัสถ์ทั้งในและนอกวัด เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็นที่เป็นธรรมะ

๑๙. ห้ามสัญจรไปมาเที่ยวเรี่ยไร

๒๐. ห้ามชายที่มีอายุ ๑๒ ปีขึ้นไป พักค้างคืนที่นี้ เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็น

๒๑.ผู้ประสงค์จะมาบวชหรืออยู่สำนักนี้ ต้องมีผู้ปกครองนำมาฝากเป็นหลักฐาน และมีผู้อุปัฏฐากพอสมควร

ถ้าผู้ใดฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามกติกานี้ สงฆ์มีอำนาจบริหารได้เต็มที่

จะเห็นได้ว่าการกำหนดกติกาข้อปฏิบัติประจำสำนักชีนั้น หลวงพ่อได้ใช้หลักของการประพฤติปฏิบัติในวิถีชีวิตของท่านและสงฆ์ที่วัดหนองป่าพงนั่นเอง โดยเน้นที่ความมีระเบียบวินัย ความสามัคคี ความสำรวมระวัง เมตตาจิตและความเคารพซึ่งกันและกัน ตลอดจนความเป็นผู้มักน้อยสันโดษตามวินัยนักบวชอีกด้วย การกำหนดกติกาในการปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้หัวหน้าแม่ชีหรือประธานในการปกครองบริหารงานได้ง่ายขึ้น เพราะถือหลักตายตัวที่หลวงพ่อกำหนดไว้นี้เอง ไม่ใช่อำนาจของแม่ชีคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ

การที่หลวงพ่อต้องเคร่งครัดและละเอียดรอบคอบ ในการปกครองพระภิกษุสามเณรและแม่ชีนั้น ก็เป็นเพราะท่านตระหนักถึงอันตราย ซึ่งอาจเกิดจากความใกล้ชิดของเพศตรงข้าม ท่านได้ตั้งกฎระเบียบ ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้พระเณรและแม่ชีมีการติดต่อคลุกคลีกันได้เลย พระที่วัดหนองป่าพงอาจอยู่ถึง ๕ ปี ๑๐ ปี โดยไม่เคยได้พูดกับแม่ชีเลยแม้แต่คำเดียว แม่ชีจะเข้ามาในเขต “วัดพระ” เฉพาะตอนเช้าเพื่อทำอาหาร เสร็จแล้วก็รีบกลับ ถ้าบังเอิญสวนทางกับพระโดยไม่มีทางเลี่ยงจะต้องนั่งลงพนมมือและก้มหน้า ในเวลาต่อมาสำนักสาขาหลายแห่งมีแม่ชีประจำอยู่ด้วย แม่ชีในสำนักสาขาก็ได้ถือข้อวัตรปฏิบัติอันเดียวกันนั้น และมีมติสงฆ์ในการอนุญาตให้แม่ชีอยู่ประจำ เฉพาะในวัดที่ประธานสงฆ์มีอายุพรรษา ๒๐ พรรษาขึ้นไปแล้วเท่านั้น

             

เกี่ยวกับเรื่องแม่ชีนี้ พระครูบรรพตวรกิต ได้เล่าว่า

“เรื่องผู้หญิงท่านว่าให้ตั้งความระมัดระวังไว้เป็นพิเศษ แม้ท่านจะไม่มีประสบการณ์ในเรื่องของครอบครัว แต่ท่านก็ปกครองได้เรียบร้อยดี ไม่มีเรื่องราว ไม่มีอธิกรณ์อะไร ท่านระวังตัวมาก ไม่ว่าจะเป็นการวางตัวของท่าน หรือการพูดจา ท่านไม่เคยปล่อยให้แม่ชีได้มีโอกาสใกล้ชิดสนิทสนม ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ท่านถือครุธรรม ๘ ประการ เวลาพูดด้วย ท่านก็ไม่มองหน้า คำพูดก็ไม่เคยล้อเล่นอย่างทางโลก อันจะเป็นเหตุให้ขาดความเคารพ”

หลวงพ่อได้ฝึกแม่ชีมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกแล้ว ให้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง แม่ชีจึงเป็นลูกศิษย์ที่อยู่ใกล้ก็เหมือนอยู่ไกล เพราะไม่มีโอกาสได้พบท่านเป็นส่วนตัว ในขณะที่ฝ่ายพระภิกษุสามเณรหรือแม้แต่ญาติโยม ถ้ามีปัญหาหรืออยากพบก็ไปกราบหลวงพ่อได้ ส่วนแม่ชีได้รับการอบรมเป็นส่วนรวมอาทิตย์ละครั้ง หรือ ๒ อาทิตย์ครั้งหนึ่ง ในเรื่องการเทศของหลวงพ่อนี้ แม่ชีบุญยู้ พิมพ์วงษ์ หนึ่งในแม่ชียุคแรกๆ บวชเมื่ออายุเพียง ๒๔ ปีเท่านั้น (บวชพร้อมกับแม่ชีคำ เคนประคอง อายุ ๒๓ ปี) ได้สรุปไว้ว่า มี ๓ ระดับ และ ๒ ลีลา แล้วแต่จริตนิสัยของแม่ชีแต่ละคน กล่าวคือ

๑. ระดับทั่วไป (สำหรับแม่ชีบวชใหม่)

ท่านจะสอนเรื่องการอยู่ด้วยกัน การทะเลาะเบาะแว้ง การแก่งแย่งกัน ให้รู้จักองค์ของศีล

๒. ระดับกลาง

จะสอนให้ฝึกละโลภ โกรธ หลง ละมานะทิฐิ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ให้รู้จักหลักปฏิบัติอย่างไร

๓. ระดับสูง

เป็นเรื่องของการเจริญภาวนาว่า ปฏิบัติแล้วเห็นอะไร เป็นอย่างไร จะไปไหน จะทำอย่างไร

               

ส่วนเรื่องลีลาหรือรูปแบบการเทศน์นั้น ถ้าโดยปกติทั่วไปท่านก็จะเทศน์แบบนิ่มนวลเยือกเย็น แต่ถ้าพวกที่นิสัยสันดานหยาบ ท่านก็จะหยาบยิ่งกว่านั้นอีก

อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อก็มิได้ละเลยความรู้สึกของแม่ชี แม้ท่านวางตัวเหินห่าง ความเมตตากรุณาของท่านที่แสดงออกมาด้วยการกระทำทุกอย่างทุกประการ ก็เป็นเสมือนที่พึ่งอันอบอุ่น เป็นหลักอันมั่นคงที่แม่ชีทุกคนมีอยู่ประจำแล้วในใจ กระนั้นก็ตาม เมื่อถึงกาลถึงสมัยที่หลวงพ่อเข้าไปให้การอบรม ท่านก็ถือโอกาสชี้แจงความจริงใจของท่านแก่ที่ประชุมแม่ชีด้วยเหมือนกัน




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ประวัติและปฏิปทา ของ หลวงพ่อชา สุภทฺโท
« ตอบกลับ #22 เมื่อ: มกราคม 31, 2011, 01:17:53 pm »


๐ สรุป

การเดินทางแสวงหาสัจธรรม ของหลวงพ่อได้ให้คำตอบกับตัวท่านและเหล่าศิษย์ว่า ความจริง “การธุดงค์” ไม่ได้หมายถึงการแบกกลด ถือบาตร เดินไปโน่นมานี้แต่อย่างใดเลย แต่มันคือการสมาทานถือข้อวัตรปฏิบัติ ในการขัดเกลากกิเลสอย่างเอาจริงเอาจังต่างหาก ดังนั้น สำนักวัดหนองป่าพง จึงเกิดขึ้นด้วยบรรยากาศที่สงบร่มรื่น เอื้อต่อการปฏิบัติดังกล่าวนั้นเป็นอย่างยิ่ง

การปฏิบัติตามข้อวัตรปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง คือเครื่องมือในการขัดเกลากิเลสที่สำคัญอย่างยิ่ง ดังที่หลวงพ่อเรียกว่า “ตะแกงร่อนคน” ถ้าวัตรปฏิบัติบกพร่องก็ยังถือว่าไม่ผ่านตะแกง ยังต้องมุมานะปฏิบัติกันต่อไปจนกว่าจะผ่านได้ การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การมาเฝ้านั่งทำสมาธิ เดินจงกรมเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตอย่างปกติด้วย ทุกขณะของการเป็นอยู่ ย่อมถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมทั้งนั้น ต้องพยายามรักษาจิตให้ห่างไกลจากสิ่งรบกวนอยู่ตลอดเวลา

การที่ตัวของหลวงพ่อเอง ได้ถือข้อวัตรปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนี้เอง ที่เป็นเครื่องมือในการสอนเหล่าศิษยานุศิษย์ได้เป็นอย่างดี เรียกว่าสอนด้วยการทำให้ดูเลยไม่ต้องพูดจาให้มากความ รวมถึงการที่ท่านมีบุคลิกยิ้มแย้มแจ่มใส น้ำเสียงคำพูดที่นุ่มนวล และวิธีการสอนที่เฉียบขาดในบางครั้ง สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ท่านเป็นที่พึ่ง เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนทั้งหลายไว้ได้

ในการปกครองหมู่คณะ นอกจากการยึดมั่นในพระธรรมวินัยเป็นหลักใหญ่ตายตัว ตามแนวทางแห่งธรรมาธิปไตยแล้ว การยกหลักอปริหานิยธรรม เป็นหัวใจในการปกครองหมู่คณะด้วย ย่อมเป็นข้อยืนยันถึงความรุ่งเรืองไม่เสื่อมสลายของหมู่คณะได้เป็นอย่างดี ยิ่งประกอบกับความฉลาดเฉียบแหลมส่วนตัวของท่านในการปกครอง บอกกล่าว สั่งสอนตักเตือนลูกศิษย์ด้วยแล้ว จึงไม่ต้องสงสัยเลยถึงความรุ่งเรือง ที่ปรากฏแห่งสำนักวัดหนองป่าพงและสาขา ซึ่งได้เปล่งรัศมีปกคลุมทั่วทั้งแดนสยาม และยังส่องสว่างไปสู่ชาวโลกในต่างแดนอีกด้วย

                 

อดทน

ความอดทนเป็นคุณธรรมที่หลวงพ่อย้ำมากในการสอนของท่าน อย่างที่ท่านพูดอยู่บ่อยๆ ว่า ความอดทนนี้เป็นแม่บทของการปฏิบัติ และตัวท่านเองก็ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมข้อนี้เช่นเดียวกัน ในการปฏิบัติของท่าน จะเห็นได้ว่าหลวงพ่ออยู่อย่างอุกฤษฏ์หลายปี ชนิดที่ว่าเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนที่ไม่มีน้ำอดน้ำทนถึงขนาด สมัยที่ยังเป็นหนุ่มและกามราคะกลุ้มรุมท่านก็ได้อาศัยความอดทนนี่เองช่วยให้ผ่านพ้นอุปสรรคสำคัญของวัยหนุ่มมาได้ตลอดรอดฝั่ง


เมตตา

ด้วยเหตุที่หลวงพ่อมองเห็นทุกชีวิต ทุกรูปนามที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นั้นเป็นสามัญลักษณะ เมตตาธรรมของท่านจึงสม่ำเสมอทั่วหน้ากันหมด ไม่มีขีดขั้นไม่มีประมาณ เพราะท่านไม่มีอกุศลจิตกีดกันแบ่งแยก แต่ปรารถนาให้ทุกชีวิตได้ถึงความพ้นทุกข์เช่นเดียวกัน และก็เป็นไปอย่างบริสุทธ์ ไม่หวังสิ่งตอบแทน ไม่ว่าในด้านรูปธรรมเช่นปัจจัยเงินทอง หรือเอกลาภอื่นๆหรือในด้านนามธรรม เช่น ยศฐานบรรดาศักดิ์ ชื่อเสียงความเคารพนับถือ เมตตาของหลวงพ่อนั้นเห็นได้ชัด ในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์บรรพชิตและฆราวาสท่านทุ่มเทความอุตสาหะวิริยะ อุทิศเวลาให้กับการฝึกและขัดเกลาลูกศิษย์จริงๆ จนกล่าวได้ว่างานสร้างคนเป็นงานอันดับหนึ่งของท่านทีเดียว


มุ่งสอนสัจ

อุบายปฏิบัติตามนัยแห่งอริยสัจสี่ ที่หลวงพ่อยึดเป็นหลักในการอบรมสั่งสอนสานุศิษย์ พอมองเห็นได้จากตัวอย่างคือ


ทุกข์

หลวงพ่อพยายามให้ศิษย์เห็นตามความเป็นจริง โดยสอนย้ำเสมอว่า ทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่อยากให้มันทุกข์ มันก็ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ มันก็ไม่รู้จักทุกข์ไม่รู้จักทุกข์ มันก็เอาทุกข์ออกไม่ได้ ความจริงทุกข์นี้แหละจะทำให้เราฉลาดขึ้น ทำให้เกิดปัญญา ทำให้เรารู้จักพิจารณาทุกข์ คนเป็นทุกข์ควรพิจารณาทุกข์ มิใช่ว่าหนี ไม่อยากทุกข์ ทุกข์เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ตรงนี้ไม่ถูก ตรงนี้ไม่สบาย คนเราก็เหมือนกัน ทุกข์จะพาให้เราไปหาครูอาจารย์และความสงบในที่สุด เมื่อการกำหนดรู้ความทุกข์มีความสำคัญมากถึงขนาดนี้ หลวงพ่อจึงให้ความทุกข์ เป็นภารกิจประจำวันที่ลูกศิษย์ต้องเผชิญ แต่โดยธรรมของชาติของมนุษย์เรา ไม่มีใครชอบความทุกข์ พยายามหลบหลีกหรือกลบเกลื่อนอยู่เสมอ หลวงพ่อจึงเน้นหนักเรื่องความอดทน ว่าเป็นแม่บทของการปฏิบัติเป็นเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง


สมุทัย

การฝืนความทะยานอยากในทุกข์ทุกกรณี เพื่อกำจัดต้นเรื่องของความทุกข์ ที่เกิดกลุ่มรุมจิตใจเป็นทางปฏิบัติที่หลวงพ่อพาพระเณรปฏิบัติ เพราะเชื่อตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มรรค ผล นิพพาน มีอยู่ มันมีอยู่ตามพระองค์ตรัสสอน แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดจากการปฏิบัติ เกิดจากการทรมาน กล้าหาญ กล้าฝึก กล้าคิด กล้าแปลง กล้าทำ กล้าทำนั้นอย่างไร ท่านให้ฝืนใจตัวเอง ใจเราคิดไปทางนี้ท่านให้ไปทางโน้น ใจเราคิดไปทางโน้นท่านให้มาทางนี้ ทำไมท่านจึงให้ฝืนใจ เพราะใจถูกกิเลสเข้าพอกมาเต็มที่แล้ว มันยังไม่ได้ฝึกหัดดัดแปลง มันยังไม่เป็นศีลยังไม่เป็นธรรม เพราะใจมันยังไม่แจ้ง ไม่ขาว จะไปเชื่อมันอย่างไรได้ ที่พระพุทธเจ้าท่านออกบวช ก็เพราะท่านเห็นอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงฝืนเรื่อยมา ถ้าหากว่าใครไม่พิจารณาให้แยบคาย ก็จะไม่เห็นความรู้สึกของเจ้าของ


นิโรธ

หลวงพ่อสอนเรื่องนิโรธ ด้วยการกล่าวถึงผลของการปฏิบัติ ซึ่งแต่ละครั้งที่ท่านพูดถึงภาวะจิตที่เห็นธรรมแล้ว ย่อมเป็นแรงบันดาลให้ลูกศิษย์ได้เร่งการปฏิบัติของตนเอง แต่ถ้าจะว่าไปแล้ว นิโรธที่หลวงพ่อแสดงด้วยตัวเองของท่าน เป็นประจักษ์พยาน ที่ชัดแจ้งถึงผลของการปฏิบัติ


มรรค

การเจริญมรรคที่เป็นสัมมาปฏิปทาหรือสัมมามรรคนั้น หลวงพ่อย้ำว่าต้อประกอบด้วยองค์ทั้ง ๘ ประการ จะเอาหมวดศีลแต่อย่างเดียว หมวดธรรมอย่างเดียว หมวดสมาธิอย่างเดียว หรือหมวดปัญญาอย่างเดียวไม่ได้ ท่านพูดอยู่เสมอเรื่องความสัมพันธ์ขององค์มรรคต่างๆ โดยเน้นในแง่ของศีล ในเมื่อศีลเป็นบาทฐานของการเจริญสมาธิและปัญญาที่ขาดไม่ได้ หลวงพ่อจึงให้ความสำคัญแก่เรื่องวินัยอย่างมาก ถ้าศีลอย่างนัย ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ สมาธิและปัญญาก็ไม่เกิดท่านเน้นและย้ำเสมอว่า สมาธิที่ถูกต้องจะต้องประกอบด้วยสติและความเพียร และต้องเป็นไปเพื่อปัญญา เพื่อความดับทุกโดยตรง ท่านไม่ให้ความสนใจเรื่องที่ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เช่น เรื่องไสยศาสตร์หรืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นต้น

ทางสายกลาง ซึ่งตรงกับอริยมรรคนั่นเอง ก็เป็นสิ่งที่หลวงพ่อกล่าวถึงบ่อยๆ ท่านให้คำจำกัดความของทางสายกลางง่ายๆ บางทีเป็นคำเดียวว่า พอดี หรืออีกนัยหนึ่ง ท่านพูดถึงการไม่หลงติดในความสุขหรือความทุกข์ เป็นความหมายของทางสายกลาง เมื่อได้เห็นความสุขแล้วให้พิจารณาความสุขนั้น ท่านไม่ได้ติดอยู่ในความสุข คือท่านให้วางทั้งสุขและทุกข์ การวางทางทั้งสองได้นี้ เป็นสัมมาปฏิปทา ท่านเรียกว่าเป็นทางสายกลาง


๐ เปรียบเทียบท่านพุทธทาสและหลวงพ่อชา

ท่านพุทธทาสและหลวงพ่อชา มีลักษณะของผู้บรรลุคุณธรรมขั้นสูง เป็นผู้อยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือดีเหนือชั่ว นอกเหตุเหนือผล การกำเนิดของสวนโมกข์และวัดหนองป่าพง จึงถือว่าเป็นนิมิตดีของการเผยแพร่พระพุทธศาสนาซึ่งเลิศไปคนละด้าน แต่ผสมผสานกลมกลืนเป็นสิ่งเดียวกันได้ ขณะที่สวนโมกข์เน้นไปที่การผลิตธรรมะทางตำรา หลวงพ่อชาได้นำหลักการของท่านพุทธทาส กระจายลงไปสู่พื้นที่ ทั้งในและนอกประเทศจนเกิดสานุศิษย์มากมาย และจะขยายตัวเป็นทวีคูณไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง แนวความคิดเรื่องการตั้งสวนโมกข์นานาชาติของท่านพุทธทาส ก็เชื่อว่าคงได้อิทธิพลจากหลวงพ่อชาเรื่องการตั้งวัดป่านานาชาติ จนได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาไปสู่ต่างประเทศ





ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ประวัติและปฏิปทา ของ หลวงพ่อชา สุภทฺโท
« ตอบกลับ #23 เมื่อ: มกราคม 31, 2011, 01:40:01 pm »


๐ ความเป็นสากล

จากการศึกษาหลักธรรมทั้งของท่านพุทธทาสและหลวงพ่อชา ชี้ให้เห็นว่าผู้บรรลุคุณธรรมขั้นสูง รู้แจ้งเห็นจริง จะไม่ติดในนิกาย ไม่ติดในความเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม ไม่ติดในความคิดว่าคริสต์จะกลืนพุทธหรือพุทธจะกลืนคริสต์ โดยเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ชื่อต่างๆ เป็นเพียงสิ่งสมมติ แท้ที่จริงในพุทธศาสนามีนิกายเดียว คือนิกายของพระพุทธองค์ ไม่มีมหายาน ไม่มีหินยาน ไม่มีมหานิกาย ธรรมยุต สันติอโศก ธรรมกาย ในศาสนาก็เช่นกัน ไม่มีพุทธ ไม่มีคริสต์ ไม่มีอิสลาม แต่มีเพียงศาสนาเดียวซึ่งเป็นสากล สอนให้คนทำดี ละชั่ว และทำใจให้ผ่องใส

                         

การสอนธรรมะอยู่ที่การปฏิบัติให้เป็นแบบอย่าง พุทธศาสนาที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ เรียบง่ายเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์ของรัฐเช่นเดียวกับวัดป่าทั้งหลาย มีพระที่เป็นพระ มิใช่พระเพียงรูปแบบ ไม่วุ่นวายกับการสร้างวัดวาอาราม เพราะถือว่าพระมีหน้าที่สร้างวัดภายในใจคน และจะเป็นผู้สร้างวัดให้เอง ไม่ฟุ้งเฟ้อ สุรุ่ยสุร่าย หรือสะสมกอบโกยไม่สร้างความแตกแยก ตำหนิติเตียนหรือเพ่งโทษผู้อื่น แต่มีหน้าที่ขัดเกลาหรือสำรวจจิตของตนเอง ความคิดที่เป็นสากลไม่ติดยึดในสมมติของท่าน เห็นได้จากคำปรารภในการสร้างโบสถ์วัดหนองป่าพง โบสถ์หลังนี้จะไม่ทำพระเครื่องหากิน จะไม่ให้เดือดร้อนทางบ้านเมือง จะไม่เรี่ยไร รูปแบบจะเป็นทรงไทยหรือแบบไหนก็ไม่สำคัญ เพราะมันเป็นเพียงรูปร่าง หาใช่ความหมายของศาสนาที่แท้

ความเสื่อมเสียของวัฒนธรรมไทยไม่ใช่การเปลี่ยนรูปแบบทางวัตถุ แต่มันเสื่อมเสียที่ความประพฤติ ถ้าวงการศาสนาจะทรงแต่รูปแบบศิลปศาสนาวัตถุไว้ แต่ไม่มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมานอกจากมีวัตถุซ้ำซาก รูปแบบโบสถ์ควรเป็นแบบง่ายๆ แต่แข็งแรง ทนทาน ประหยัด และให้ได้ประโยชน์ใช้สอยมีขนาดพื้นกว้างสามารถจุภิกษุอย่างน้อย ๒๐๐ รูป ไม่ต้องมีหน้าต่างประตู เพราะวัดไม่มีวัตถุสิ่งของมีค่าอะไรจะเก็บรักษา ไม่ต้องมีผนังกำแพงกั้น ควรให้ต้นไม้เป็นผนังกำแพงแทน เพียงแต่ให้มีหลังคาคุ้มแดดคุ้มฝน ขอให้โบสถ์ตั้งอยู่บนเนินดินสูงคล้ายภูเขา เนื่องจากภูเขาเป็นที่สูงสะอาด บริสุทธิ์อากาศดี เหมาะที่จะเป็นที่สังฆกรรมของสงฆ์ ขอให้มีเครื่องตกแต่งสิ้นเปลืองน้อยที่สุด สิ่งฟุ่มเฟือยมีราคาแพงไม่ควรนำมาใช้ ให้นึกถึงประโยชน์มากกว่าความสวยงาม

                                   

๐ แหล่งที่มา

คณะศิษยานุศิษย์. อุปลมณี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, พ.ศ.๒๕๓๕.
คณะศิษย์, ใต้ร่มโพธิญาณ : พระโพธิญาณเถระ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, พ.ศ.๒๕๓๕.

พระไตรปิฎกภาษาบาลีและภาษาไทย ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๐, ๑๓, ๑๔, ๒๒, ๒๕, ๓๕.กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา, พ.ศ.๒๕๒๓.
พระธรรมปิฎก, พจนาจุกรมพุทธศาสตร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พ.ศ.๒๕๓๘.

พระโพธิญาณเถระ, กุญแจภาวนา. กรุงเทพฯ : สยามการพิมพ์, พ.ศ.๒๕๔๐.
พระโพธิญาณเถระ, อาหารใจ. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, พ.ศ.๒๕๔๐.

พระโพธิญาณเถระ, นอกเหตุเหนือผล. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, พ.ศ.๒๕๓๔.
พุทธทาสภิกขุ. ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บุพนิมิต, พ.ศ.๒๕๓๔.

ชยสาโร ภิกฺขุ, พอดี. กรุงเทพฯ : ปาปิรุส พับลิเคชั่น, พ.ศ.๒๕๓๘.
ชยสาโร ภิกฺขุ, หลวงพ่อชาคุยกับลูกหลาน. กรุงเทพฯ : ปาปิรุส พับลิเคชั่น, พ.ศ.๒๕๔๒.
หลวงพ่อธรรมงาม. คำสอนและการตอบปัญหาธรรมของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง, ๒๕๓๔.



คัดลอกมาจาก : http://www.dharma-gateway.com/
: http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6753
ขอบพระคุณ
ผู้รวบรวมข้อมูลนำมาแบ่งปัน : สาวิกาน้อย
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 02, 2011, 10:10:46 am โดย ฐิตา »