ผู้เขียน หัวข้อ: “๓ ทศวรรษสายธารความคิด ติช นัท ฮันห์ กับสังคมไทย”  (อ่าน 4194 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
หมู่บ้านพลัมในสังคมไทย

   

   ภิกษุณีนิรามิสา: หลวงพี่คิดว่าจะตอบคำถามที่ ๒-๓ นะคะ เพราะคำถามแรกหลวงพี่ไพศาลกับท่านอื่นๆ คงจะทราบด้วย คำถามที่สองที่ถามว่า จะมีสำนักปฏิบัติธรรมแบบลัทธิเซนอยู่ในเมืองไทยได้หรือไม่ หรือว่าจะมีสำนักที่มีแนวทางการปฏิบัติธรรมแบบหมู่บ้านพลัมหรือเปล่า บวชในเมืองไทยได้ไหม

   หลังจากภิกษุภิกษุณีได้มีโอกาสเดินทางมาแลกเปลี่ยนการภาวนาที่เมืองไทยเป็นเวลา ๕-๖ ปีต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ และในปีนี้ กลับมาก็มีสังฆะ คือพี่น้องทางธรรมที่นี่ ที่เป็นชาวไทยร่วมกันปฏิบัติอยู่ในเมืองไทยอย่างต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความสนใจที่จะตั้งสำนักปฏิบัติธรรมเหมือนที่หมู่บ้านพลัมในเมืองไทย มีพี่ๆ น้องๆ หลายคนที่กำลังทำเรื่องนี้อยู่ แล้วเรายินดีจะให้หลายๆ คนเข้ามาร่วมทำ สังฆะคือกลุ่มที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกัน ทั้งที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ และในขณะนี้ มีสังฆะทางธรรมที่เชียงใหม่ เขากำลังกระตือรือร้นมาก ไปหาสถานที่จะตั้งสำนักปฏิบัติธรรม หมู่บ้านพลัม และได้ไปหากันหลายสิบที่ แล้วคัดสรรออกมา ให้บรรดาพวกเราที่อยู่ในกรุงเทพฯ บ้าง หรือบรรดาผู้ใหญ่ที่พอจะรู้เรื่องที่ทาง เรื่องความเหมาะสมขึ้นไปดูถึงสองรอบแล้วค่ะ

   แล้วเรื่องนี้เป็นความตั้งใจหนึ่งที่หลายคนคิดว่า ถ้าเกิดว่ามีชุมชน มีสำนักอยู่ จะมีที่ให้หลายคน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวได้มีที่ลง เพราะจากที่ผ่านมา คนหนุ่มสาวจะมีความสนใจการปฏิบัติธรรมในรูปแบบนี้พอสมควร เพราะหลายท่านอยากบวช แต่ว่ายากมากที่จะต้องไปบวชที่ฝรั่งเศส หรือว่าอยากบวช แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ให้ เพราะไม่เคยเห็นภาพว่า บวชแบบเซนนั้นบวชกันอย่างไร โดยเฉพาะผู้หญิงบวช ในส่วนตัวเองสงสารมาก เพราะมีหลายคนที่อยากบวช แล้วไม่สามารถบวชได้ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่าง ถ้าเกิดว่ามีชุมชนที่เราได้อยู่และเป็นตัวอย่างให้เห็นจริงๆ

   อย่างเช่นในเวียดนาม ถ้าอยากบวช พ่อแม่เห็นเป็นบุญบารมี และถ้าบวชแล้วต้องอยู่ให้รอดด้วย อยู่ให้ได้ตลอดชีวิต ถ้าอยู่ไม่ได้ตลอดชีวิตจะเสียหน้าเสียตา ขายหน้า ในสมัยก่อน ถ้าเกิดว่าใครบวชมาแล้วสึกไป ต้องหนีออกไปจากเมืองนั้นเลยค่ะ และเป็นที่เสียหน้าเสียตาของพ่อแม่ เพราะฉะนั้น มันเป็นวัฒนธรรมหรือสิ่งที่สะสมร่วมกันในจิตสำนึกของสังคมที่ต่างกัน และสังคมไทยไม่มีตรงนี้นะคะ มีหลายๆ คนที่มีความตั้งใจดีๆ แล้วอยากจะตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่เมืองไทย เราพยายามจะสรุปให้ได้ก่อนที่หลวงปู่จะมา เพื่อใช้แรงปัญญาของท่านช่วยเปิดทางให้เราด้วย ว่าจะทำอย่างไรต่อ ตรงนี้รู้สึกว่าน้องที่ทำเว็บไซต์อยู่ www.thaiplumvillage.org เขาจะเริ่มมีให้เราได้ตามข้อมูล หรือว่าช่วยเหลือเกื้อกูลกันนะคะ

   ถ้าถึงตรงนั้นแล้ว ถามว่าถ้าจะบวชในเมืองไทยได้หรือไม่นั้น คือถ้ามีสำนักแล้ว มีภิกษุภิกษุณี สามเณร สามเณรีมาอยู่ครบพอที่จะมีการปฏิบัติได้เป็นกลุ่มสังฆะ อย่างเช่นที่เวียดนาม หลังจากที่หลวงปู่กลับไปฝรั่งเศส เมื่อสองปีก่อน ในช่วงเวลาปีกว่าที่ผ่านมา เรามีหมู่บ้านพลัมที่เกิดขึ้น และมีนักบวชสามร้อยรูปแล้วที่บวชแบบหมู่บ้านพลัม แต่เราบวชผ่านอินเทอร์เน็ต (หัวเราะ) เร็วมาก แล้วเงื่อนไขในเวียดนาม หลวงปู่ช่วยชี้ทางให้ว่า เราเริ่มต้นจากคนที่อายุน้อยกว่า ๒๕ ปี ถ้ามากกว่า ๒๕ ก็เป็นกรณีที่มีการศึกษาหรือว่าร่ำเรียนมีวิชาชีพ ท่านคงจะเห็นว่ามันเป็นทางที่เริ่มต้นได้ง่ายกว่า และเป็นอะไรที่ต้องเปิดทางใหม่ จริงๆ จะมีบวชแต่ละรุ่นเป็นร้อยนะคะ ๖๐ บ้าง ๙๐ บ้างนะคะ

   เพราะฉะนั้นช่วงที่อยู่เวียดนาม จะมีภิกษุภิกษุณีจากฝรั่งเศส จากอเมริกาของหมู่บ้านพลัมเข้าไปอยู่ เพื่อเปิดรับคนหนุ่มคนสาวที่อยากจะบวชและจะมีการสัมภาษณ์คล้ายๆ กลั่นกรองให้แน่ใจว่าอยากจะบวชจริงๆ ลองมาอยู่ก่อนอย่างน้อย ๓ เดือน เพื่อจะได้รู้ว่าเราอยู่กับชุมชนนักบวชแบบนี้ได้ และเราอยากจะบวชจริงๆ หลังจากนั้น คณะสังฆะจะลงประชามติ ประชุมกันแล้วส่องแสงธรรมว่าบุคคลนี้สมควรจะเป็นผู้เตรียมบวชแล้วหรือยัง ถ้าสมควรแล้วเป็นประชามติเห็นร่วมกัน น้องคนนั้นจะเป็นผู้เตรียมบวช และจะเตรียมบวชอีกระยะหนึ่งเดือนสองเดือนสามเดือน แล้วแต่จังหวะที่มีจำนวนคนบวช และก็แล้วแต่หลวงปู่เห็นเหมาะที่จะมีพิธีบวช

   ในระหว่างเป็นผู้เตรียมบวชนี้ เขาจะอยู่เหมือนสามเณรหรือสามเณรี ได้เรียนได้อะไรทุกอย่าง เพียงแต่ว่าไม่ได้ปลงผม นุ่งห่มจีวรเหมือนกัน หลังจากนั้นเมื่อมีพิธีบวช สังฆะจะดูอีกครั้งหนึ่ง แล้วตัดสินใจร่วมกัน เพราะฉะนั้นที่เวียดนาม พอหลวงปู่ให้วันบวช ก็จะทำพิธีทุกอย่าง ที่ฝรั่งเศสจะมีการทำพิธี แต่ไม่มีนักบวชออกมายืนตรงกลางให้ปลงผม แล้วหลวงปู่จะบอกว่า ยืนขึ้น แล้วท่านจะนำสวดมนตร์ แล้วพระที่เป็นผู้ใหญ่อยู่ทางเวียดนามจะปลงผมให้ หรือว่ามอบจีวรให้ นั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ไม่มีการแบ่งแยกดินแดนในทางพุทธศาสนา ในทางปฏิบัติ

               หลังจากที่เราบวชเป็นสามเณรสามเณรีแล้วนะคะ จะมีการเรียน จริงๆ แล้วสามเณรสามเณรีเป็นชีวิตที่มีความสุขมาก เหมือนกับเด็กเกิดใหม่ คนไทยมักจะไม่ชิน เพราะว่าในสายนิกายเซน ถ้าจะบวชเป็นภิกษุภิกษุณีต้องเป็นสามเณรีก่อนนะคะ ไม่ใช่ว่าเฉพาะคนที่อายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็แล้วแต่ เพราะเหมือนกับการเกิดใหม่เป็นทารกอีกครั้งหนึ่ง แล้วเข้าไปสู่ชีวิตทางธรรม เข้าไปสู่ชีวิตทางจิตวิญญาณ ฉะนั้นเราให้ความสำคัญกับการเป็นสามเณรสามเณรีมาก

   ในประเพณีของเวียดนามเอง ต้องเป็นเฉพาะภิกษุภิกษุณีที่เก่งแล้วถึงจะอุปัฏฐากหลวงปู่ได้ แต่ในหมู่บ้านพลัม ท่านมักจะทำอะไร อัพไซด์ ดาวน์ (upside down) คว่ำลง (หัวเราะ) ท่านบอกว่าคนที่เป็นสามเณรสามเณรียิ่งต้องอยู่ใกล้หลวงปู่ ให้เขามาเป็นอุปัฏฐาก เพราะเป็นโอกาสที่จะได้ใกล้ชิด ท่านจะได้ชี้โดยตรงว่าต้องปรับอะไรตรงไหน ดังนั้นทุกคนจะได้เวียนเข้าไปเป็นอุปัฏฐาก เพราะฉะนั้นเป็นพื้นฐานของชีวิตนักบวช ถ้าเกิดว่าอยู่เป็นสามเณรสามเณรีอย่างมีความสุข ชีวิตการเป็นภิกษุภิกษุณีก็จะมีความสุข และจะไม่ยากนะคะ

   หลังจากบวชเป็นสามเณรสามเณรีแล้ว จะมีพิธีบวชรับศีลปาฏิโมกข์ ภิกษุภิกษุณีและสังฆะจะเป็นระบบที่มีการส่องแสงธรรม คล้ายๆ กับมีการประเมินผล และตัดสินใจร่วมกันว่าผู้นั้นสามารถที่จะบวชได้

   

   กนกวรรณ: ขอบคุณค่ะ มีคำอธิบายนิดหนึ่งนะคะ เพราะว่าทุกท่านไม่มีใครยอมอธิบายถึงท่านติช นัท ฮันห์ งั้นขออธิบายเองสั้นๆ เผื่อว่าจะนำร่องให้ท่านอื่นอธิบายเพิ่มเติม ท่านหลวงปู่เป็นพระชาวเวียดนามที่ลี้ภัยทางการเมืองเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน แล้วการลี้ภัยทางการเมืองในครั้งนั้น ทำให้คนทั้งโลกรวมทั้งหนุ่มสาวชาวไทยในยุคนั้นได้จุดประกายความคิดในการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม และสามสิบกว่าปีที่ผ่านไป ทั้งหลวงพี่ไพศาลและพี่รสนายังคงปฏิบัติในแนวทางของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยหลักสันติวิธี

   เมื่อสักครู่ หลายคนอาจจะรู้เรื่องของการทำงานของพี่รสนาว่าท่านทำอะไรอย่างไรบ้าง หลวงพี่ไพศาลท่านเป็นพระนักปฏิบัติ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต แต่ว่าท่านไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามหาวัน เนื่องจากท่านต้องรักษาป่า ๓,๕๐๐ กว่าไร่ ถือเป็นวิธีการปฏิบัติที่ท่านหลวงปู่เรียกว่า มือเปื้อนตีนเปื้อนใช่ไหมคะ จะมีใครเพิ่มเติมได้ไหมคะ เผื่อว่าแต่ละท่านจะมีใครแนะนำท่านหลวงปู่ให้กับท่านผู้ฟังในห้องประชุมเพิ่มเติม

   

   พระไพศาล: มือเปื้อนตีนเปื้อนเป็นคำของอาจารย์สุลักษณ์นะ ไถ่คงจะใช้คำที่เพราะกว่านั้น

   

   กนกวรรณ: อ๋อ (หัวเราะ) ขออภัยอย่างยิ่งค่ะ

   

   พระไพศาล: ถูกแล้วที่ท่านได้รับการฝึกฝนมาแบบเซน แล้วท่านเคยเขียนหนังสือเรื่อง กุญแจเซนซึ่งเป็นการแนะนำเซนอย่างง่ายๆ แต่ว่าคำสอนของท่านจะมีอิทธิพลของเถรวาทไม่น้อยเลย ในปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ จะมีเรื่องของสติปัฏฐานที่ท่านเขียนอย่างน่าอ่าน โดยเราต้องไม่ลืมว่า ตอนที่ท่านกำลังเขียนเป็นภาษาเวียดนาม เวียดนามกำลังลุกเป็นไฟนะ ประมาณปี ๒๕๑๘ แต่ชอบที่ท่านใช้อุปมาอุปไมยว่า “ดอกบัวกลางทะเลเพลิง” นี้เป็นชื่อหนังสือของท่านเกี่ยวกับประเทศเวียดนาม Vietnam: Lotus in a Sea of Fire คือท่านเปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่กลางทะเลเพลิง หมายความว่าข้างนอกหรือรอบตัวเราไม่ว่าจะร้อนอย่างไร แต่ดอกบัวก็ยังชูช่อและงดงามอยู่เสมอ ซึ่งเราควรเป็นอย่างนั้นด้วย ไม่ว่าข้างนอกจะวุ่นวายอย่างไรแต่เรายังสงบ เหมือนดอกบัวที่อยู่กลางทะเลเพลิง ในหนังสือเล่มนั้นจะมีแนวคิดของเถรวาทเข้าไปเยอะ แล้วในภาคผนวกซึ่งเป็นภาษาไทยจะมีเรื่องของสติปัฏฐานสูตรอยู่ แล้วคำสอนของท่านหลายเล่มจะประสานแนวคิดระหว่างมหายานกับเถรวาทได้อย่างค่อนข้างลงตัว ความคิดเรื่องปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา ซึ่งเด่นชัดในเถรวาท ท่านก็นำมาอธิบายโดยมีกลิ่นอายของมหายานหรือเซนอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้แยกกันเพราะมันคือหัวใจ

               อาตมาคิดว่าถึงตอนนี้ สิ่งที่ท่านได้สร้างขึ้นมาใหม่คือ สังฆะที่เราเรียกว่าเทียบหิน หรือว่าอินเตอร์บีอิ้ง คิดว่ามีส่วนผสมของความเป็นตะวันตกอยู่พอสมควร คือมีทั้งตะวันออกและตะวันตก ไม่ใช่เซนทีเดียว เพราะถ้าเซนอย่างเดียวจะไม่ใช่ในลักษณะนั้น จะมีทั้งลักษณะของความเป็นประเพณีและความเป็นสมัยใหม่อยู่ ซึ่งอาตมาคิดว่าเป็นอิทธิพลของการที่ท่านได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในตะวันตกมาเกือบ ๔๐ ปี ฉะนั้นอาตมาคิดว่า ท่านเป็นส่วนผสมของสิ่งที่เป็นสารัตถะหรือภูมิปัญญาในหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะเถรวาท มหายาน และเซน รวมทั้งสารัตถะจากภูมิปัญญาหรือว่าคุณค่าสมัยใหม่ ซึ่งทำให้คำสอนของท่านสามารถจะดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้ มันไม่มีความเป็นประเพณีจนกระทั่งกลายเป็นเรื่องคร่ำครึไป เป็นความสมัยใหม่ซึ่งอาตมาคิดว่าค่อนข้างลงตัวพอสมควร

   

   กนกวรรณ: ขอบคุณหลวงพี่ที่ช่วยอธิบายเพิ่มเติมนะคะ มีคำถามมาถึงหลวงพี่นิรามิสา บอกว่าอยากให้หลวงพี่ช่วยอธิบายคำที่อยู่หน้าจอว่า Do not Hurry. Enjoy the Present Moment. ว่าหมายความว่าอย่างไรคะ

   

   ภิกษุณีนิรามิสา: ที่หมู่บ้านพลัม เรามีภิกษุณีรุ่นน้องๆ ทำงานในสำนักงานที่ดูแลแขก จะเอาแผ่นนี้ไปติดตามทางเดิน ออกจากห้องพระหรือทางเดินลงบันได เพราะว่าหลายครั้งพอได้ยินเสียงระฆังปุ๊บทุกคนจะรีบ กลัวไปไม่ทันเข้าห้องนั่งสมาธิ เพราะถ้าไปไม่ทัน ประเดี๋ยวเขาจะปิดห้อง แล้วจะไปติดตรงห้องพระ เดินออกมาปุ๊บจะเจอข้อความนี้ก่อนที่จะรีบเดินลงบันได หลายท่านจะชอบมากเพราะว่าจะช่วยเตือนเรา ในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่แล้วเราจะเร่งรีบ โดยเฉพาะในสังคมทุกวันนี้ แม้จะอยู่ในวัดเราก็เร่งรีบนะคะ ถ้าไม่ปฏิบัติเราก็จะเร่งรีบได้เหมือนกัน เพราะวัดของเราจะเป็นวัดที่มีสังคมเข้าไปอยู่เยอะ เลยรู้สึกว่ามันเป็นวิถีชีวิตที่เราได้สัมผัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในขณะนั้น

   สิ่งที่เรามักจะเตือนกันอยู่เสมอคือ ทำอย่างไรที่จะเตือนให้เรากลับมาอยู่กับขณะปัจจุบัน สิ่งที่เราใช้เป็นอย่างที่หลวงพี่ไพศาลและท่านอื่นๆ ได้บอกคือ การเจริญสติ กลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับลมหายใจ ฉะนั้นเวลาที่เราติดป้ายอย่างนี้อยู่ที่หมู่บ้านพลัม หรือเวลาปฐมนิเทศให้คนที่มา เราจะบอกอย่างแรกคือ มาแล้วต้องมาให้ถึง อย่างที่บอกว่า I has arrive. I’m home. อันนั้นเป็นโลโก้ของหมู่บ้านพลัม คือมาแล้วต้องมาให้ถึง มาให้ถึงบ้านที่แท้จริง คือกลับมาอยู่ในขณะปัจจุบัน และเราจะขอให้เขาฝึกเดินจงกรม ให้เขาฝึกเดินในวิธีการเดินทั่วๆ ไปด้วย แต่ว่าเดินให้เป็นธรรมชาติ เดินให้ปกตินะคะ ปกติเรามักจะเดินจงกรม เดินหายใจเข้าก้าวไปหนึ่งก้าว ก้าวหนอย่างหนอหรืออะไรก็แล้วแต่ หายใจออกก้าวไปอีกหนึ่งก้าว อันนี้เป็นวิธีหนึ่งที่บอกให้เราไม่ต้องรีบ

   เราจะมีเสียงระฆังอย่างนี้ หรือมีเสียงนาฬิกา เสียงโทรศัพท์ เราก็จะหยุดและกลับมาอยู่กับขณะปัจจุบัน จะเดินโดยวิถีที่เป็นปกติ อาจจะไม่เร็วมากนัก แต่ว่าให้เรารู้สึกว่ากำลังอยู่กับการย่างก้าว แล้วใช้ลมหายใจประสานไปกับการก้าวเดิน ให้เรามีสติกับการเดินมากขึ้น และเมื่อเราเดินได้อย่างนั้น เราจะรู้สึกว่าเราอยู่กับขณะปัจจุบันจริงๆ เรากลับมาอยู่บ้านที่แท้จริง คือกายเราอยู่ตรงนี้ด้วยและใจเราอยู่ตรงนี้ด้วย เรารู้ว่าเรากำลังจะเดินลงบันไดไป หลายๆ ครั้งที่เราเดินตรงนี้กายเราอยู่ตรงนี้ แต่ใจเราไปอยู่ที่ตึกทั้งหลายที่จะไปแล้ว แล้วกลัวว่าจะไปไม่ถึง จะขึ้นไม่ทันรถไฟฟ้าบ้าง หรือว่าจะไปเข้าไม่ทันห้องสมาธิบ้าง อันนั้นคือความหมายที่ว่า อย่าเร่งรีบ และให้เบิกบานกับขณะปัจจุบัน แล้วเวลาที่คนฟังตรงนี้ จะมีหลายครั้งว่าเอาไปใช้ได้อย่างไร เพราะในชีวิตปัจจุบันมันต้องเร่งรีบนะคะ

   การเจริญสติในช่วงแรกๆ เรามักจะขอให้คนเริ่มช้าๆ ทำให้ช้า เพื่อฝึกฝนให้มีสติได้มั่นคง แต่หลายครั้งที่เราเห็นหลวงปู่เดินเร็วมาก แต่ในความเร็วนั้นมีสติอยู่ เป็นความเร็วที่มีสติ เวลาที่ท่านเขียนหรือว่าทำอะไรจะเร็วมาก แต่เราเห็นพลังตรงนั้น เราเห็นพลังแห่งความมีสติ สมาธิ ฉะนั้นการที่เราไม่เร่งรีบไม่ได้หมายถึงว่าห้ามไม่ให้เราทำอะไรเร็วๆ เรายังสามารถที่จะทำอะไรเร็วๆ ได้ แต่ว่าต้องมีสติ แต่ว่าสติของเรายังไม่มั่นคง ก็ต้องเริ่มจากช้าๆ สักหน่อย มันจะทำให้เราอยู่กับปัจจุบันและเบิกบานกับชีวิตของเราได้ สัมผัสกับความสุขที่แท้จริงได้ง่ายขึ้น

   

   กนกวรรณ: มีคนขอให้หลวงพี่สอนร้องเพลงที่ใช้ฝึกปฏิบัติสั้นๆ พอไหวไหมคะ อย่างไรดีคะ หรือว่าจะให้ทางทีมงานเปิดซีดีดีกว่า มีคำถามว่า หลวงปู่เน้นคำสอนในเรื่องของการค้นพบความสุขทางด้านจิตใจ แล้วหลวงปู่ท่านเชื่อเรื่องของนิพพานหรือไม่ ให้หลวงพี่นิรามิสาเป็นผู้ตอบได้ไหมคะ

   

   ภิกษุณีนิรามิสา: เมื่อปีที่แล้ว หลวงปู่จะเทศน์เรื่องนี้อยู่เหมือนกันนะคะ ท่านบอกว่า บางทีเราไปเสียเวลาเยอะมากกับว่านิพพานคืออะไร จะไปนิพพานไหม เมื่อไหร่จะไปถึงนิพพาน ท่านกล่าวว่านิพพานในความหมายจริงๆ คือความที่เราสัมผัสกับความสงบ ความสุขภายใน ความเป็นอิสระภายใน ความมั่นคง เป็นภาวะที่เราดับซึ่งความคิดทิฐิต่างๆ ภาพความคิดเห็นต่างๆ ที่เรามี เพื่อสามารถนำเราเข้าไปสู่ความเป็นจริงสูงสุด ความเป็นจริงอย่างที่เป็นอยู่ เพราะจริงๆ แล้ว พอเราทำอย่างนั้น เราจะรู้สึกว่า เราก็สามารถอยู่กับขณะปัจจุบันได้สำเร็จ ถ้าสัมผัสกับสภาวะอย่างนั้นได้ เราก็สามารถสัมผัสกับภาวะที่เป็นนิพพานได้ทุกขณะ แล้วท่านมักจะบอกว่าเราต้องฝึกอย่างนี้แหละ เหมือนพระพุทธเจ้า เพียงแต่ว่าเราเป็นพุทธะชั่วคราว (part time Buddha) ยังไม่ได้เป็นแบบเต็มเวลา (full time) นะคะ

   

   กนกวรรณ: ขอบคุณค่ะ เนื่องจากเวลาเสวนาของเราไม่เหลืออยู่แล้วนะคะ แต่ไม่ทราบว่าวิทยากรทั้ง ๔ ท่านบนเวที อยากจะเพิ่มเติมประเด็นคำถามไหนที่ตกหล่นไปไหมคะ ไม่มีแล้วนะคะ วันนี้ต้องขอขอบพระคุณทุกท่านมากค่ะ

   

   Thich Nhat Hanh 070406 070518 0943.doc

   

   รายชื่อหัวเรื่องทั้งหมด

   แรกเริ่ม ติช นัท ฮันห์ กับ สังคมไทย

   บทกัลยาณธรรม กับ ปฏิบัติการด้วยปัญญาและความรัก

   ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ

   รอยยิ้ม สติ กับชีวิตที่เปลี่ยนไป

   พุทธศาสนากับการรับใช้สังคม

   ฉลาดทำบุญ: วิธีการกับเป้าหมายต้องไปด้วยกัน

   พุทธศาสนา ความสุข และบทกวี

   หมู่บ้านพลัมในสังคมไทย
   
   
 :12:


 http://www.visalo.org/article/AttchFile/NhatHanh.doc


http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=2617.0
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...