แสงธรรมนำใจ > หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์
“๓ ทศวรรษสายธารความคิด ติช นัท ฮันห์ กับสังคมไทย”
มดเอ๊กซ:
รอยยิ้ม สติ กับชีวิตที่เปลี่ยนไป
จิตร์: กราบนมัสการหลวงพี่ และกราบสวัสดีพี่ๆ เพื่อนๆ ทุกคนนะครับ ตอนเห็นหลวงปู่เหรอครับ จริงๆ แล้วเห็นหลวงปู่ผ่านหนังสือที่ท่านเขียน แล้วมีพี่ๆ แปลก่อนนะครับ แล้วรู้สึกว่าพระรูปนี้หน้าตาน่ารักจังเลย หน้าตายิ้มๆ แล้วพอไปเห็นหลวงปู่จริงๆ ท่านเปลี่ยนไปจากในภาพที่เราเห็นเยอะนะครับ ถามว่าหลวงปู่อายุเท่าไหร่แล้ว ถ้าเทียบกับอายุ ๘๐ กว่านะครับ ต้องเรียกว่าท่านดู ใช้ได้เชียว รวมกับเวลาที่ท่านเดินเหินนะครับ เวลาเดินแบบ วอล์คกิ้ง เมดิเทชั่น (Walking Meditation) เดินภาวนายาวๆ จะเห็นได้เลยว่าท่านแข็งแรงมาก
กนกวรรณ: ถ้าคาดคะเน แบบไม่เคยอ่านงานเขียนของท่าน จะคาดว่าท่านจะอายุสักเท่าไหร่คะ
จิตร์: อยากจะบอกว่าเราไม่สามารถไว้ใจหน้าตาของนักบวชได้ เพราะว่าเด็กมาก ประมาทไม่ได้เชียว ถ้าเห็นหน้าตาแล้วจะดูอ่อนกว่าวัยเสมอ
กนกวรรณ: ค่ะ ถ้างั้นจะต้องให้คุณจิตร์ คุณผู้ฟังอาจจะงงๆ นะคะ บางครั้งจะเรียกคุณจิตร์บางครั้งจะเรียกคุณโก๋บ้าง เพราะว่าชื่อเล่นชื่อโก๋ และสนิทกัน จะเรียกคุณโก๋มากกว่า คือคุณโก๋เป็นนักธุรกิจ และมาศึกษาคำสอนของหลวงปู่ด้วย คำสอนทางด้านพุทธศาสนาด้วย ทำไมคะ ถึงได้มาสนใจ งานเขียนและคำสอนของหลวงปู่นัท ฮันห์
จิตร์: ต้องบอกว่าขอบคุณพี่ๆ เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วนะครับ ทำให้เรารุ่น ๑๐ กว่าปีได้อ่านหนังสือ และเริ่มต้นด้วยความไม่ตั้งอกตั้งใจตามประสาเด็กจุฬาฯ ไปศูนย์หนังสือแถวใกล้ๆ มหาวิทยาลัย ไปร้านขนม หยิบขนมหนึ่งกล่องหยิบหนังสือหนึ่งเล่มตามประสาเด็กอยากรู้ ก็หยิบไปเรื่อยๆ เดี๋ยวหยิบของท่านพุทธทาสบ้าง วันหนึ่งหยิบไปเรื่อยๆ ตามประสาเด็กอยากลอง พออ่านไป สนุกจัง โดยที่ยังไม่รู้ว่าเป็นหนังสือพุทธศาสนา ไม่อย่างนั้นเราคงไม่หยิบ (หัวเราะกันทั้งห้อง) ปรากฏว่าอ่านไป ผมเป็นเด็กบัญชีครับ อ่านไปมีดอกไม้เก็บรอยยิ้มฉันไว้ อู้! เราฝากรอยยิ้มกับดอกไม้ได้ด้วยเหรอ แจ๋วไปเลย ถ้าฝากรอยยิ้มกับดอกไม้ได้แล้ว วันนี้เรายังมีรอยยิ้มอยู่ ยังมีความสดชื่นอยู่ เราก็จะฝากไว้ แล้วพอถึงเวลาเราหันไป อุ้ย! ดอกไม้คืนรอยยิ้มให้เราจริงๆ ด้วย เวลาเรามองไปแล้วเรามีสติ เลยสนุกจัง แล้วเป็นคนชอบกินฮะ เฮ้ย! กินส้มก็ภาวนาได้ด้วยเหรอ แจ๋วสิ ดีกว่านั่งเอาขาคู้กันตั้งเยอะ สมัยเด็กๆ จะคิดแบบนั้น เลยเริ่มภาวนากับผลส้ม แล้วภาวนากับป๊อกกี้และขนมทุกประเภท (หัวเราะ)
กนกวรรณ: แต่ก่อนไม่ได้ตัวเท่านี้นะคะ แต่ก่อนคุณโก๋จะตัวเล็กกว่านี้ พอเริ่มภาวนากับขนมเยอะขึ้น
จิตร์: เลยกลายเป็นเรื่องง่ายมาก ก็เริ่มต้นไปเรื่อยๆ ภาวนาการฟังการมองอย่างลึกซึ้ง ได้ประโยชน์มากเลย ทำให้เรารู้ว่าทุกอย่างนี้เชื่อมโยงกันหมด แล้วเราไม่ได้แยกออกมาจากอะไรเลยนะครับ รวมถึงเมื่อเรานั่งกันอยู่อย่างนี้ เราจะรู้กันอยู่ว่าด้านขวานอกจากจะเป็นหลวงพี่แล้วยังเป็นบรรพบุรุษทางจิตวิญญาณคนสำคัญของผมด้วย ไม่ได้เล่าให้หลวงพี่ฟังว่า หลังจบจากการอบรมเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบของหลวงพี่แล้ว ผมก็ขายบริษัทไปเลย (หัวเราะ) คือเราเชื่อมโยงกันมากและหลังจากนั้นไม่นาน ก็เดินไปกากบาทช่อง รสนา โตสิตระกูล แล้วมีหลวงพี่นิรามิสาเป็น ... ต้องเปลี่ยนเป็นหลวงแม่แทน เพราะว่าท่านเป็นผู้แนะนำทางจิตวิญญาณ เป็นครูทางจิตวิญญาณ และมีพี่วรรณเป็นพี่สาว เป็นเพื่อนอันแสนดี คบกันไปคบกันมา อยู่ใกล้ๆ กันอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นความเชื่อมโยงกันอยู่ไม่ยากเลย ไม่ใช่เพราะว่าเราใกล้กัน แต่เราเชื่อมโยงกันในวิถีที่เราไม่เคยคิดมาก่อน วันนั้นที่เรากาไปนะ มีพี่ผู้หญิงคนหนึ่งต่อสู้เพื่อคนไทยอีกเยอะแยะ อย่างนี้นะครับ เพราะฉะนั้นเราเชื่อมโยงกันอยู่ทั้งหมด
กนกวรรณ: ต้องเล่าเพิ่มเติม เมื่อกี้น้องโก๋เล่าตกไปนิดหนึ่ง คือน้องโก๋เป็นนักธุรกิจ แต่เป็นนักธุรกิจที่มีชั่วโมงสวดมนตร์ในที่ทำงานด้วย ตอนนั้นขายกิจการหรือยังคะ เป็นคนที่ไม่มีกิจการแล้วมีความสุข เล่าให้ฟังหน่อยค่ะ
จิตร์: งั้นเล่าให้ฟังก่อนดีกว่าครับว่า วิธีในการปฏิบัติธรรมของผม อาจจะมาในสายสบายมากกว่าสายทุกข์ คนชอบถามว่า ทำไมโกนศีรษะล่ะ ทุกข์หรือเปล่า ต้องบอกก่อนว่าเป็นเพราะผมร่วง เลยมีความสุขกับผมร่วง แล้วทำไมถึงมาปฏิบัติธรรม ต้องบอกก่อนว่า ค่อนข้างประสบความสำเร็จในสายธุรกิจตัวเอง จนกระทั่งเราถามตัวเองต่อว่า แล้วอะไรต่อไปล่ะ มันงงเหมือนกันนะฮะ เวลาที่เราถูกสนับสนุนบ่อยๆ เงินเดือนสูงขึ้น แล้วอะไรต่อล่ะ ความสุขอยู่ที่ไหน หันซ้ายหันขวากลับไปทวนใหม่ก็แล้วกัน เล่มที่พี่ๆ แปลกันเอาไว้ อ๋อ! ความสุขอยู่ตอนนี้เอง อยู่ในปัจจุบัน บางทีเราลืมนะฮะ เราลืมแม้กระทั่งเราหายใจอยู่ เวลาเรากลับมาอยู่กับปัจจุบันแล้ว เรารู้ว่าเป็นความสุขจริงๆ เราเลยเลือกว่าตรงนี้แหละเป็นความสุขที่แท้จริง คำถามต่อมาจากตรงนั้นคือว่า ถ้าเรารู้แล้ว จะทำอย่างไรให้เพื่อนร่วมงานของเราได้สัมผัสตรงนี้ด้วย เพราะเรารู้ว่าการที่รู้กับไม่รู้นี่ต่างกันมาก เวลาที่เราไม่รู้แล้วจะเผลอเอาความทุกข์ไปผ่านให้คนอื่นได้มาก จากการที่เราเจ็บเราเหนื่อยเราไม่สบายใจเราเป็นทุกข์ แล้วเราเอาตรงนี้ล่ะ ผ่านไปให้คนอื่นด้วยความที่เราไม่รู้ สังเกตไหมครับ เวลาอารมณ์เสียเรามักจะปล่อยออกไปข้างนอก เราเชื่อว่าถ้าปล่อยออกไปแล้วมันจะหายออกไปจากตัวเรา ปรากฏว่าเราถูกหลอก เพราะทุกครั้งที่เราปล่อยออกไปแล้ว ต้นโกรธกลับเบ่งบานเต็มหัวใจไปหมด เราเลยรู้ว่าไม่ได้แล้ว เราถูกหลอก เวลาที่เรามองกลับมาในใจตัวเอง เราจะเห็นสิ่งเหล่านี้นะครับ ทำอย่างไรดีนะ เพื่อนร่วมงานเราถึงจะรู้ตรงนี้ได้ทัน ที่สำคัญคือ เราจะได้ไม่แปลกด้วยใช่ไหมฮะ ได้ยินเสียงระฆังปุ๊บ เราหยุดหายใจ ทำอย่างไรนะ เพื่อนเราถึงจะได้รู้ เลยเริ่มวางหนังสือตามจุดต่างๆ ในสำนักงาน
กนกวรรณ: แอบเอาไปวางใช่ไหมคะ ดีนะที่เพื่อนไม่เอาไปทิ้ง เพื่อนยังหยิบมาอ่านใช่ไหมคะ
จิตร์: เพื่อนยังหยิบมาอ่านครับ แล้วปรากฏว่าในที่สุดเราก็หันมามองว่า เราน่าจะทำอะไรที่เตือนสติว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่ เลยบอกว่าเรามามีชั่วโมงหายใจกันดีกว่า เพราะเราสังเกตพฤติกรรม พวกเรามีอาชีพเป็นนักสังเกตพฤติกรรมนะครับเพื่อเอาไปวางแผนการตลาด และบอกว่าจันทร์ถึงศุกร์นี่เราจะเก็บกด พอเสร็จปุ๊บเสาร์จะเป็นวันตื่นสาย บ่ายใช้เงินนะครับ แล้ววันอาทิตย์รีบไปรับใช้ครอบครัว แล้วกลับมาเตรียมนอนเยอะๆ เพื่อเก็บแรงเอาไปใช้จันทร์ถึงศุกร์อีก ชีวิตเราน่าเกลียด เราควรจะมีชีวิตตั้งแต่จันทร์ตอนเช้าลากไปเรื่อยๆ จนถึงศุกร์ตอนเย็น และเสาร์ตอนเช้าจนถึงอาทิตย์ตอนเย็น ทุกเวลาควรมีความสุขเหมือนกันหมด เราเลยบอกว่าเอาอย่างนี้แล้วกัน วันศุกร์ก่อนเลิกงาน เรามานั่งด้วยกัน และล้างพลังความรู้สึกของเราที่ไม่ดีนี้ ก่อนที่เราจะไปใช้เงินที่เราหาอย่างเหน็ดเหนื่อยในวันเสาร์ มาตามลมหายใจกัน หลังจากนั้นเราก็เริ่ม วันศุกร์เริ่มเวิร์ค งั้นเรามาทำวันพฤหัสด้วยดีไหม เราทำชั่วโมงหายใจกัน คำว่าชั่วโมงอาจจะดูเกินจริงไปนะครับ จริงๆ แล้ว ๑๐ นาที ๑๕ นาที หรือบางทีแล้วแต่เหตุปัจจัยไปเรื่อยๆ แล้วเราพบว่าเราจะไม่ เครียด ใช้เงิน จน (หัวเราะกันทั้งห้อง)
กนกวรรณ: ลืมเมาด้วยค่ะ
จิตร์: เผอิญพวกเราไม่ดื่มกันอยู่แล้ว เลยไม่เครียด ใช้เงิน หาเงิน เราเลยค่อยๆ ปลีกตัวออกจากวงจรโหด นี่ล่ะครับ เป็นบริษัทที่เราค่อยๆ ทำกัน เพราะว่าบางทีเราอยู่ในที่ที่มีการแข่งขันสูง มีความคาดหวัง เราใช้ชีวิตอย่างที่เราเชื่อไม่ได้ แล้วไปภาวนากับหลวงพี่ ...
กนกวรรณ: ไปเผชิญความตาย
จิตร์: ตีระฆีงเป๊งงงงงง ตามลมหายใจ ถามว่าถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต พรุ่งนี้คุณจะทำอะไร ขายกิจการ (เสียงหัวเราะ)
กนกวรรณ: ตรงนี้ต้องเล่าเพิ่มเติมนะคะ คือพวกเรามีโอกาสไปเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบ หลายคนกลับมาแล้วสงบมากๆ มีกิจการก็ขายกิจการ เริ่มค้นหาความสงบในชีวิตกันเรียบร้อยเลย คุณโก๋เป็นหนึ่งในนั้น แต่ว่ามีความสุขมากขึ้นไหม
จิตร์: อยากจะบอกว่าทุกวันนี้โก๋มีธุรกิจนะครับและหลากธุรกิจด้วย เหมือนพี่รสนา เหมือนหลวงพี่ไพศาลบอกว่า ธรรมะที่มือไม่เปื้อนฝุ่น เท้าไม่เปื้อนฝุ่น ไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอก เพราะว่าต้นไม้ นั่งอยู่ในป่า ต้นไม้ไม่ได้ทะเลาะกับเรา ของจริงอยู่ในบริษัท อยู่ในสังคม เราต้องอยู่กับเขาให้เป็น อยู่กับหัวใจตัวเองให้เป็น เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ค่อยๆ ทำจากแบบนั้น แล้วพบว่าทุกๆ ครั้งที่เราโลภ แล้วไปขวนขวาย แล้วพยายามล้วง ปรากฏว่าเรายิ่งโหรงเหรง เห็นภาพเหมือนแตงโมที่ถูกตัด มันโหรงเหรง พอเห็นมันโหรงเหรงเรายิ่งไปคว้า พอคว้าข้างนอกมันยิ่งทำให้หลุมข้างในของเราใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เป็นอย่างนั้นจริงๆ เราถูกความโลกอย่างที่เห็นทั่วไปหลอก เวลาที่เรารู้ทันเท่านั้นเอง เราเริ่มเห็นว่า เวลาให้ ข้างในเราจะเริ่มฟู หลุมแตงโมของเราเริ่มเต็มขึ้น เวลาที่เราโกรธ เรานึกว่าพ่นไฟพุ่งออกมาแล้วจะหาย ไม่ใช่ เราต้องรดน้ำข้างใน น้ำใจ น้ำอดน้ำทนนะครับ แล้วทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ล่ะครับ ต้องขอบคุณพี่ๆ ครูบาอาจารย์ หลวงพี่ต้องกลายเป็นหลวงแม่แล้ว (หัวเราะ) อย่างนี้ล่ะครับ เวลาที่เรารู้จักเมล็ดพันธุ์ในจิตใจ ต้องบอกว่าประเทศไทยโชคดีมาก ที่มีพี่ๆ มาแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ให้เราอ่านครบทุกเล่มเลย ยิ่งอ่านก็ยิ่งชอบ เอามาใช้เรื่อยๆ อยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะง่ายจริงๆ
กนกวรรณ: ค่ะ โก๋ได้พูดถึงหนังสือของหลวงปู่นัท ฮันห์ ที่มีการแปลเป็นภาษาไทยหลายเล่มมากๆ พี่รสนาเป็นท่านหนึ่งที่แปลหนังสือของหลวงปู่ด้วย ทราบมาว่าด้านนอกมีหนังสือของหลวงปู่จำหน่ายด้วย ถ้าเกิดว่าใครสนใจนะคะ เพราะว่าฟังเรื่องราวของ ๓ ทศวรรษ โดยการมาคุยกัน ๓ ชั่วโมง ไม่มีทางครอบคลุมได้หมดนะคะ คงจะต้องหาความรู้เพิ่มเติมจากคำสอนของท่านผ่านงานเขียนของท่าน
วันนี้ต้องสารภาพว่าตั้งคำถามด้วยความระมัดระวังค่ะ เพราะที่ให้ทุกท่านยกมือว่าใครศึกษางานของท่านติช นัท ฮันห์ มากว่า ๓๐ ปี จะเป็นการตรวจดูว่าวันนี้มั่วได้หรือเปล่า ปรากฏว่ามั่วไม่ได้ค่ะ เพราะว่ามีคนที่อ่านงานเขียนของท่าน ๓๐ กว่าปีนั่งอยู่ในห้องประชุมด้วย รวมทั้งข้างๆ นี้เหมือนกันนะคะ
มีคำสอนของท่านอยู่ประโยคหนึ่งซึ่งได้ยินมาจากผู้หลักผู้ใหญ่ อยากจะสอบถามวิทยากรทั้ง ๔ ท่านบนเวทีนะคะ คือได้ยินมาว่า หลวงปู่นัท ฮันห์ เป็นท่านหนึ่งที่บอกว่าพุทธศาสนาต้องรับใช้สังคม เราทุกคนที่นับถือพุทธศาสนาต้องนำพุทธศาสนามารับใช้สังคม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ
เมื่อสักครู่นี้ หลวงพี่ไพศาล พี่รสนาเล่าให้ฟังว่า เมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน บ้านเมืองโกลาหลวุ่นวายกันขนาดไหน ยุคนี้ความโกลาหลไม่ได้หมดไป เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นต้องขอนิมนต์สอบถามหลวงพี่ไพศาลว่า สถานการณ์บ้านเมือง ณ เวลานี้ ความโกลาหลในมุมมองของหลวงพี่แตกต่างจากเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อนแค่ไหน แล้วเราควรจะนำพุทธศาสนามาแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองเราตอนนี้อย่างไรดี
มดเอ๊กซ:
พุทธศาสนากับการรับใช้สังคม
พระไพศาล: คือถ้าเทียบกับเมื่อสมัย ๓๐ กว่าปีที่แล้ว มันเป็นช่วงสงครามเย็น และเวียดนามเป็นสมรภูมิที่ค่อนข้างจะโดดเด่น รุนแรงมาก สิ่งที่ท่านนัท ฮันห์ ทำเป็นการชี้ให้เห็นว่าสันติภาพสำคัญเหนืออื่นใด แต่ว่า ๓๐ ปีผ่านไป อาตมาคิดว่าความรุนแรงของโลกไม่ได้ลดลง เพียงแต่เปลี่ยนจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์ มาเป็นการต่อสู้โดยมีอิทธิพลของชาตินิยม แล้วโดยเฉพาะอิทธิพลของความสุดโต่งรุนแรงในทางศาสนา ความสุดโต่งรุนแรงทางชาตินิยมและทางศาสนา ซึ่งอาตมาเรียกรวมๆ กันว่าวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง เพราะว่าความสุดโต่งของสองเรื่องนี้ พยายามปลุกเร้าให้คนเกลียดชังกัน เกิดการแบ่งเขาแบ่งเรากันอย่างชัดเจน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างพยายามมองอีกฝ่ายเป็นตรงกันข้าม แต่ที่จริงแทบจะเป็นกระจกสะท้อนว่าเหมือนกัน ระหว่างบิน ลาเดนกับบุช แทบจะไม่ต่างกันเลย เพียงแต่พูดกันคนละภาษา แต่ว่าความคิดเหมือนกัน และทั้งสองฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองถูกต้อง มีพระเจ้าเป็นแรงบันดาลใจ แต่ว่าสุดท้ายเกลียดชังซึ่งกันและกัน
อีกอันหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่เกิดขึ้นหรือว่ารุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม คือที่อาตมาเรียกว่าวัฒนธรรมแห่งความละโมบ บริโภคนิยม ซึ่งรุนแรงกว่าเมื่อ ๓๐ ปีก่อน แล้วเป็นภัยซึ่งบ่อนทำลายความสงบสุขของสังคมมาก ยกตัวอย่างเช่น เวียดนามซึ่งสามารถจะเอาชนะอเมริกาได้ด้วยอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ สังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์ แต่ว่าพอเจอบริโภคนิยมก็เป๋ เวียดนามชนะสงครามแต่แพ้สันติภาพ เพราะเมื่อมีสันติภาพแล้ว สนามรบกลายเป็นสนามการค้า สันติภาพเปิดช่องให้บริโภคนิยมเข้าไปครอบงำเวียดนาม เพราะฉะนั้นเวียดนามตอนนี้มีปัญหามากเรื่องบริโภคนิยม เรื่องคอร์รัปชั่น
กนกวรรณ: ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เรียกว่าไปกันอย่างตั้งตัวไม่ติด
พระไพศาล: เราอดสงสารไม่ได้ว่า คนตายกันเป็นล้าน แล้วชัยชนะที่คุณได้มาในที่สุดก็เสียไปให้กับบริโภคนิยมหรือทุนนิยม ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เกิดกับเวียดนามอย่างเดียว แต่เกิดกับเมืองไทยด้วย และสิ่งนี้ไปบั่นทอนแม้กระทั่งตัวศาสนาเอง อย่างปรากฏการณ์จตุคามรามเทพ ท่านนัท ฮันห์ จะใช้คำว่า มานิเฟสเตชั่น (Manifestation) คือการแสดงตัวของวัฒนธรรมแห่งความละโมบนี่ล่ะ
เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งซึ่งทำให้สถานการณ์ยากขึ้น เพราะว่าการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นยากอยู่แล้ว แต่พอมีพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง จะยิ่งยากขึ้น เพราะว่าการต่อสู้ทางอุดมการณ์ยังคุยกันด้วยเหตุผลได้ แต่การต่อสู้ทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะความสุดโต่ง บางทีเหตุผลไม่สำคัญ เพราะว่าฉันศรัทธาเรื่องนี้เสียอย่าง พอคุณมีศรัทธาแล้วไม่ต้องพูดเรื่องเหตุผล แล้วมีเรื่องของบริโภคนิยมเข้ามา ซึ่งอาตมาคิดว่า คำสอนของท่านนัท ฮันห์ ยังมีคุณค่า ไม่ว่าเรื่องของการใช้สันติวิธีและการให้อภัยที่จะเผชิญกับความรุนแรงที่มาจากความสุดโต่งทางศาสนา หรือความสงบสุขภายในที่ต้องเผชิญกับการยั่วยุของบริโภคนิยม เป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าคุณมีความสงบสุขภายในแล้ว คุณสามารถจะเผชิญกับวัฒนธรรมแห่งความโกรธเกลียดและวัฒนธรรมแห่งความละโมบได้
ตรงนี้เองที่สังฆะของท่านนัท ฮันห์ เป็นแบบอย่าง คือถ้าเราดูวินัยหรือข้อกำหนดของสังฆะของท่านนัท ฮันห์ ที่ตอนนี้กำลังเจริญงอกงาม มีหลายอย่างที่เป็นการต่อสู้กับบริโภคนิยมโดยตรง เรื่องของการที่พระมีชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่มุ่งการเสพการบริโภค ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักบวชด้วย ทุกศาสนามีปัญหาเรื่องนี้ เรื่องอื้อฉาวต่างๆ หนีไม่พ้นเรื่องเงิน แล้วเรื่องบริโภคนิยม ซึ่งอาตมาคิดว่า ธรรมะในพุทธศาสนาโดยเฉพาะสิ่งที่ท่านนัท ฮันห์ พยายามทำ สามารถตอบสนอง คือสามารถทำให้เราได้คิด และโดยเฉพาะเมืองไทย ซึ่งกำลังเกิดความรุนแรงทางศาสนา ทางเชื้อชาติ อาตมาอยากจะให้นึกถึง ตอนนี้มีการพยายามเคลื่อนไหวในหมู่ชาวพุทธส่วนหนึ่งเพื่อจะปกป้องพิทักษ์พุทธศาสนา ที่เชื่อว่าเกิดจากการคุกคามของศาสนาอื่น และบางครั้งพยายามกระตุ้นให้เกิดความโกรธความเกลียดต่อศาสนาอื่น หรือต่อคนอื่นที่คิดต่างจากตน ตอนนี้หลายคนห่วงว่าศาสนาจะอยู่รอดหรือเปล่า ศาสนาอื่นในอนาคตก็เป็นห่วงแบบนี้เหมือนกัน ชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่ใช้ความรุนแรงเข้าต่อสู้กับทุนนิยม เพราะรู้สึกว่าศาสนาของตัวเองกำลังถูกคุกคามจากบริโภคนิยม
อาตมาประทับใจที่ท่านนัท ฮันห์ พูดในการสนทนากันครั้งหนึ่งระหว่างท่านกับ แดเนียล เบอร์ริแกน (Daniel Berrigan) ซึ่งเป็นนักบวชนิกายเยซูอิต ตอนนั้นอยู่ในช่วงสงครามเวียดนาม เมื่อปี ๒๕๑๗ มีคำถามว่า ระหว่างศาสนากับสันติภาพ ท่านจะเลือกอะไร ถ้าเวียดนามมีสันติภาพแต่หมายถึงพุทธศาสนาจะไม่มีที่ยืน เพราะคอมมิวนิสต์เขาไม่เปิดโอกาสให้มีเสรีภาพทางศาสนา ท่านจะเลือกอะไร ท่านนัท ฮันห์ บอกว่าเลือกสันติภาพ เพราะว่าชาวพุทธหรือพุทธศาสนายอมไม่ได้ถ้าหากว่าจะเลือกศาสนาและไม่มีสันติภาพ รับไม่ได้ และท่านบอกว่าพุทธศาสนาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่โบสถ์ ไม่ได้อยู่ที่จีวร แต่อยู่ในใจ เพราะฉะนั้นตราบใดที่มีสันติภาพ แน่ใจได้ว่าสักวันหนึ่งพุทธศาสนาจะงอกงามในใจคน สันติภาพที่เกิดขึ้นอาจจะหมายถึงการกดขี่บีฑาชาวพุทธและกิจกรรมทางศาสนา แต่มันไม่สามารถจะทำลายวัดหรือพุทธศาสนาในใจได้ ฉะนั้นท่านเลือกสันติภาพ ซึ่งตรงกับในบทกัลยาณธรรมข้อแรกว่า เธออย่าติดยึดอุดมการณ์ใดๆ แม้กระทั่งพุทธศาสนา ถ้าเราทำทุกอย่างเพื่อพุทธศาสนา แต่ทำให้เกิดสงคราม ถ้าเราเลือกพุทธศาสนาแต่หมายถึงการละทิ้งสันติภาพ อันนั้นเป็นความขัดแย้งกันในตัว พุทธศาสนาไม่สามารถจะยอมรับได้ คำพูดเช่นนี้ ทำให้เราได้คิดเลยว่า ถ้าเราจะเป็นชาวพุทธอย่างแท้จริง ต้องไปพ้นจากยี่ห้อพุทธศาสนาด้วยซ้ำ ซึ่งตรงนี้ชาวพุทธทั่วไปทำใจยาก นี่คือเหตุผลว่าทำไมลังกาถึงลุกเป็นไฟ เพราะคนจำนวนมากเลือกพุทธมากกว่าสันติภาพ สนับสนุนให้รัฐบาลทำสงครามกับทมิฬ เพราะเขาเชื่ออย่างนั้นวิธีนั้นจะทำให้พุทธศาสนาอยู่ได้ โดยหารู้ไม่ว่ายิ่งฆ่ากันเท่าไหร่ ยิ่งทำให้พุทธศาสนาถูกบั่นทอน ถูกกัดกร่อน เหลือแต่พุทธที่เป็นยี่ห้อ แต่พุทธในใจหมดไปแล้ว เพราะว่าเกลียดกัน
อาตมาคิดว่าในยุคแห่งความโกรธเกลียด โดยมีศาสนาเป็นเชื้ออย่างดีเช่นนี้ คำพูดอย่างนี้ยังไม่ล้าสมัย และจะเป็นอมตะไปตลอดกาล
กนกวรรณ: มีเพิ่มเติมนิดหนึ่งนะคะ ถ้าเกิดว่าท่านผู้ฟังที่อยู่ในห้องประชุมได้ฟังวิทยากรทั้ง ๔ ท่านแล้ว อยากตั้งคำถามขึ้นมาเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ขอให้เขียนใส่แผ่นกระดาษโน้ต จะมีทีมงานเก็บคำถามจากด้านล่างขึ้นมาสอบถามวิทยากรบนเวทีให้ค่ะ
มาที่พี่รสนาบ้าง หลวงพี่ไพศาลพูดให้ฟังแล้วว่า สถานการณ์บ้านเมืองเราเปลี่ยนแปลงไปจาก ๓๐ กว่าปีก่อนค่อนข้างมาก ด้วยการต่อสู้อย่างสันติวิธีแต่หวังผลทางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เผอิญนึกได้ว่า เคยอ่านพบบทความชิ้นหนึ่งว่าท่านอดีตนายกรัฐมนตรีให้คำชมว่า พี่รสนาเป็นเอ็นจีโอที่ดี น่าคิดนะคะว่า ฝ่ายตรงกันข้ามซึ่งมักจะมองว่าเป็นศัตรู คิดไม่เหมือนกันต้องเป็นศัตรูกัน แต่ชื่นชมว่าพี่รสนาเป็นเอ็นจีโอที่ดี ที่ทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจริงๆ
ต้องถามพี่รสนาว่า ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา บ้านเมืองเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ต่อสู้เพื่อจะให้สังคมดีขึ้น แตกต่างจากอดีตแค่ไหน พุทธศาสนาน่าจะมารับใช้อย่างไรบ้างคะพี่
รสนา: ที่จริงต้องบอกว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นค่อนข้างน้อยนะคะ คือเราอาจจะเป็นชาวพุทธ หรือเราอยากจะให้มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าขอให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่อย่างที่วันก่อนได้คุยกับท่านไพศาล พวกเราไม่ได้คิดว่าจะทำอย่างไรให้เป็นศาสนาประจำใจก่อน คนอยากให้เป็นพุทธศาสนาประจำชาติ แต่ต้องลองไปถามดูว่า เรามีพุทธศาสนาประจำใจของเราแค่ไหน ดิฉันคิดว่าถ้าหากคนไทยมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำใจจริงๆ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่เพราะว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันจะกลายเป็นว่า ศาสนาเป็นเครื่องมือของการต่อสู้ เป็นอุดมการณ์อีกแบบหนึ่งที่จะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาได้
๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา เราพยายามปฏิบัติตามแนวทางสันติวิธีนะคะ แต่ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นผลจริงๆ อาจจะน้อย แต่คิดว่าอย่างน้อยที่สุดผ่านมาตั้ง ๓๐ กว่าปี อุตส่าห์มีคนมาฟังตั้งเต็มห้องขนาดนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ดิฉันคิดว่าศาสนาพุทธไม่ใช่เรื่องที่ก่อให้เกิดความสงบสุขในจิตใจของเราเท่านั้น แต่จะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความกล้าในการมองเห็นความอยุติธรรมในสังคม แล้วเข้าไปมือเปื้อนตีนเปื้อนในการแก้ไขนะคะ คือถ้าเราเชื่อว่าทุกอย่างเป็นอิทัปปัจจยตา สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เราไม่สามารถปล่อยสิ่งเหล่านั้นไปนะคะ ถ้าเราจะบอกว่าชีวิตของเราเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล
ดิฉันคิดว่า ถ้าเรามองไปแล้วจริงๆ มันเป็นอย่างนั้นนะ เราดูนะ ร่างกายที่ประกอบไปด้วยดินน้ำลมไฟ มันเป็นสิ่งเดียวกันกับดินน้ำลมไฟในจักรวาล และถ้าเราปล่อยให้ธาตุดินปนเปื้อนไปด้วยสารพิษจากการบริโภคของเราแล้ว เรากำลังนำพิษภัยเหล่านั้นเข้ามาสู่ห่วงโซ่อาหาร เข้ามาสู่ร่างกายเรา น้ำในจักรวาลก็เป็นน้ำในร่างกายของเรา ทิ้งสารพิษน้ำเสียลงไป น้ำก็กลับมาสู่น้ำในร่างกายของเรา พูดถึงลมหายใจยิ่งชัดเจน อากาศที่เราหายใจมันเป็นชีวิตเลย เวลานี้เราปล่อยสารพิษต่างๆ ที่เกิดจากการบริโภคทั้งหมดของเราไปสู่อากาศด้วย ไม่ต้องพูดถึงความร้อนด้วยซ้ำไป เวลานี้เรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก แต่ในระบบของทุนนิยมที่ผ่านมา ทำให้เราแต่ละคนเป็นเสมือนจุดเล็กๆ หน่วยเล็กๆ ที่ไม่มีความหมาย และเราเองไม่ได้นึกถึงเรื่องการแก้ปัญหาเลย เพราะปัญหาเหล่านั้นยิ่งใหญ่เกินไป โลกร้อนไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย
สมมติแต่ละคนถ้าศรัทธาแนวความคิดอย่างของท่านนัท ฮันห์ จริงๆ บทกัลยาณธรรมนี้เป็นสิ่งที่ดีนะคะ ส่วนหนึ่งตัวเองเลือกแปลหนังสือของท่านอยู่ไม่กี่เล่ม คือมีอยู่หลายเล่มที่อาจจะมีชื่อเสียงมากกว่า คนรู้จักมากกว่าเล่มนี้ แต่ดิฉันคิดว่าเล่มนี้เป็นสิ่งที่ให้แนวทางสำหรับคนยุคใหม่ที่จะปฏิบัติ และไม่ล้าสมัยด้วย ดิฉันมาอ่านดูใหม่ มันก็ยังไม่ล้าสมัย ในแง่ที่ว่า โลกที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง วัฒนธรรมแห่งความรุนแรง เป็นวัฒนธรรมที่เราไม่ได้เข้าใจว่าชีวิตของเรานั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสังคม กับโลก และจักรวาลด้วย เพราะฉะนั้นเราก็จะเมินเฉย เราอาจจะมองไม่เห็นความทุกข์ในโลกข้างนอกนี้ว่าเกี่ยวพันกับเรา หรือบางครั้งเรามีความรู้สึกว่าพอเราเห็นความทุกข์ในโลกมีมากเหลือเกิน เราก็จะเจ็บปวด บางทีอยากจะหลบ ไม่อยากจะเห็น เราอยากพบกับความสงบสุขโดยไม่อยากเห็นสิ่งเหล่านั้น
แต่ดิฉันคิดว่า ศาสนาอย่างที่ท่านนัท ฮันห์ พูดว่าเป็นพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคมนั้น คุณต้องนำเอาศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำใจของเราออกมาสู่สังคมให้ได้ และถ้าเราสามารถนำเอาสิ่งที่เป็นความเข้าใจนี้ออกมาได้ คือเราแต่ละคนเป็นเหตุปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น และเราเชื่อเช่นนั้นจริงๆ นะคะ เชื่อจากการที่ในหลายๆ ครั้ง เวลาเราทำ คือตัวเองรู้สึกว่าเรายังทำอะไรได้น้อย ไม่ถึงกับเยอะ แต่ว่าไม่เคยรู้สึกว่าท้อถอย อาจจะเหนื่อยบ้าง เหนื่อยก็นอนพัก หายเหนื่อยก็ลุกขึ้นมาว่ากันต่อ คือเราจะต้องรักษาดุลยภาพของเราในท่ามกลางความสุดโต่งของจิตใจด้วย และของโลกภายนอกด้วย สิ่งเหล่านี้ดิฉันคิดว่าถ้าเรายังสามารถรักษาดุลยภาพตรงนี้แล้ว เราเคลื่อนต่อไปเรื่อยๆ มันจะเป็นสิ่งสำคัญ
หลายครั้งที่รู้สึกว่าตัวเองท้อแท้นะ อย่างเมื่อก่อนทำสมุนไพรมา ๓๐ ปี เรารู้สึกว่าโลกจะดีขึ้นเรื่อยๆ คนจะกลับมาสนใจเรื่องการรักษาตัวเองดีขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พอเขาประกาศโครงการ ๓๐ บาท รักษาทุกโรค คนเลิกพึ่งตัวเองเลย สมุนไพรมี แต่เขาไปสนใจสมุนไพรหน้าเด้งอะไรต่อมิอะไร แต่ไม่เป็นไร เราเริ่มต้นใหม่ได้ สิ่งที่ทำแต่ละเรื่องเราก็ไม่ได้คิดว่ามันยิ่งใหญ่ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราอยากจะทำ อยากจะท้าทาย ทำแล้วยังสนุก พอมานึกอีกที ๓๐ ปีนี่เราก็แก่แล้วเหมือนกันนะ แต่ยังมีความรู้สึกว่าชีวิตเรายังวัยรุ่นอยู่ ไม่เคยมีความรู้สึกถึงวัย เรายังเหมือนสมัยจบจากมหาลัย อยู่ในมหาลัยใหม่ๆ
กนกวรรณ: หัวใจยัง ๒๕ อยู่
มดเอ๊กซ:
รสนา: รู้สึกว่ายังอยากเคลื่อนที่ อยากทำนู่นทำนี่ และในระยะหลังรู้สึกว่าเราไม่ค่อยได้สนใจเรื่องความสำเร็จ แต่อยู่กับปัจจุบันขณะ มีความสุขในขณะนั้น หลายครั้งที่หมดกำลังใจ เคยนึกถึงบทละครของกามูร์ (Albert Camus) เรื่องตำนานของเทพเจ้าซิไซฟัส (The Myth of Sisyphus) คือซิไซฟัสถูกสาปให้ต้องลงมาเข็นหินขึ้นไปถึงยอดเขา และเมื่อไปถึงยอดเขาแล้วหินก็จะกลิ้งตกลงมาที่ตีนเขาเหมือนเดิม ต้องเข็นขึ้นไปใหม่ และเขาบอกว่านี่คือชะตาชีวิตของมนุษย์ คุณจะต้องเข็นหินขึ้นไปบนภูเขาแล้วตกลงมาเหมือนเดิม แต่วันหนึ่งตอนที่เข็นหินแล้ว ซิไซฟัสเห็นดอกไม้บานอยู่ระหว่างทาง รู้สึกว่าดอกไม้สวยมาก แล้วมีความสุข นั้นเป็นสิ่งสำคัญ
เพราะฉะนั้นจุดที่เราจะเดินไป เราก็ต้องเดินไป แต่ขณะที่เดินไปเราต้องคอยตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาว่า เป็นเส้นทางที่ถูกต้องหรือเปล่า เพราะว่ามนุษย์เราพร้อมที่จะตกไปข้างใดข้างหนึ่งตลอด พญามารมีอำนาจมาก ถ้าเราไม่ตรวจสอบตัวเองตลอดเวลา เราอาจจะหลงทิศหลงทางได้ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราพบกับความทุกข์ในโลกนี้มากๆ บางทีเราจะมีความทุกข์ ไถ่เขาเคยเขียนถึงช่วงสงครามใกล้จะสงบ แต่มีคนที่หนีจากเวียดนามเข้ามาเมืองไทย เป็นพวกชาวเรืออพยพ แล้วถูกโจรสลัดคนไทยฆ่า ปล้นชิงเขา ไถ่เขามีความทุกข์นะ ตอนนั้นไม่แน่ใจว่าท่านเคยเขียนหรือเราเคยคุยกัน คือท่านมีความทุกข์จากการเห็นผู้ลี้ภัยทางสงครามมาแล้วยังถูกฆ่าตาย ท่านเขียนเรื่อง ”มนุษย์ไม่ใช่ศัตรูของเรา” บางทีท่านต้องหากำลังใจ ปลูกต้นไม้ และท่านมีความรู้สึกรับพลังจากธรรมชาติ หรือจดหมายฉบับหนึ่งที่เคยเขียนถึงท่าน แล้วท่านตอบมาว่า ท่านใช้เวลาไปภาวนา ไปอยู่สงบ แล้วพยายามตัดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ออกไปตั้งเกือบสองปีเพื่อฟื้นฟูกำลังใจ
คือเราอาจจะต้องมีโอกาสฟื้นฟูกำลังใจอย่างที่คุณโก๋เขาทำ แต่ว่าขณะเดียวกันชาวพุทธต้องไม่ใช่แบบต้องการแต่ความสงบอย่างเดียว บางครั้งเราต้องออกไปทำอะไรบางอย่าง รู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบ และจริงๆ สิ่งที่ทำ การรับผิดชอบกับตัวเองก็คือการรับผิดชอบกับสังคม การรับผิดชอบกับสังคมก็คือรับผิดชอบกับตัวเราเอง การรับผิดชอบกับสิ่งแวดล้อมก็คือการรับผิดชอบกับตัวเราเอง ถ้าเราสามารถมองเห็นว่าชีวิตของเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสรรพสิ่งในจักรวาล และชีวิตเรานั้นแสนสั้น ควรพยายามทำอะไรที่ดีๆ แล้วมีความสุข เพราะเราไม่สามารถหวังว่า ความรุนแรงจะหมดไปจากโลกภายในวันพรุ่งนี้ แต่มันจะหมดได้อย่างที่ไถ่พูดว่า ไฟมันเกิดขึ้นมา มันมาจากที่ไหน มันมาจากเหตุปัจจัยและมันจะดับไปเมื่อมีเหตุปัจจัยเหมือนกัน เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เหมือนกัน ถ้าตราบเท่าที่ความโกรธความเกลียดในจิตใจของเรายังมี เราก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น และจริงๆ เราแต่ละคนต้องต่อสู้กับความโกรธความเกลียดอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเวลาเราพบสิ่งต่างๆ ที่อยุติธรรม เราคงเหม็นเขียว หมั่นไส้ โกรธ อาจจะผรุสวาสบ้างเป็นบางครั้ง แต่เราต้องกลับมาว่า เอาอีกแล้ว เพราะว่าเรายังไปไม่ถึงไหน แต่ไม่เป็นไร ชีวิตมันคงเป็นอย่างนี้ เราก็เหมือนเทพเจ้าซิไซฟัส เข็นหินขึ้นภูเขาแล้วตกลงมา แล้วเข็นใหม่ได้เรื่อยๆ แล้วเราจะได้เรียนรู้ว่า การหาความสุขในการขณะเข็นได้เป็นเรื่องดี
กนกวรรณ: พอจะยกตัวอย่างของปัญหาสังคมที่ชัดๆ ในปัจจุบันนี้ได้ไหมคะ ตั้งคำถามกับพี่รสนาอย่างหนึ่งว่า ในการจะนำหลักคำสอนของพุทธศาสนาโดยเฉพาะของท่านนัท ฮันห์ มาใช้ในการแก้ปัญหา ยกตัวอย่างกระแสบริโภคนิยม พี่รสนาพยายามบรรเทาภาวะของกระแสบริโภคนิยมที่รุนแรง ณ ปัจจุบันนี้อยู่ โดยจะเน้นเรื่องสุขภาพของคนไทยใช่ไหมคะ ณ วันนี้ เราพูดกันเยอะมากเรื่องชีวิตพอเพียง ความเป็นอยู่แบบพอเพียง เราต้องต่อสู้กับบริโภคนิยมกัน แล้วจริงๆ ถ้าเราเอาเรื่องของพุทธศาสนามาจับ น่าจะเข้ามาช่วยเราแก้ปัญหาเรื่องบริโภคนิยมในบ้านเราได้อย่างชัดๆ เหมือนกันใช่ไหมคะ
รสนา: ต้องบอกว่าสังคมจริงๆ ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นกัลยาณมิตรกับเรานะ สังคมทำให้เรามีความอยากจะบริโภคไปเรื่อยๆ สังคมพยายามทำให้เราหมกมุ่นแล้วหลงลืม คุณโก๋เป็นส่วนหนึ่งด้วยหรือเปล่า โฆษณาเอาเงินล้วงออกจากกระเป๋าเรา
กนกวรรณ: เป็นฝ่ายกระตุ้นค่ะ (หัวเราะ)
รสนา: เพราะฉะนั้น จริงๆ อันหนึ่งในบทกัลยาณธรรมที่ได้เขียนเอาไว้คือ บางทีเราต้องพิจารณาถึงอาชีพที่เราทำด้วยซ้ำ ว่าเป็นสัมมาอาชีวะไหม อาชีพนั้นปิดกั้นคนอื่นไหม อาชีพนั้นเข้าไปเสริมความรุนแรงบางอย่างไหม เพราะฉะนั้นจริงๆ ในพุทธศาสนา สัมมาอาชีวะมีความสำคัญมาก เพราะว่าสัมมาอาชีวะของเราจะมีผลกับคนอื่น แต่ในโลกปัจจุบันของเรา สัมมาอาชีวะมีน้อยลงนะ คือบางทีเราคิดว่า เราหาเงินมา เราไม่ได้ไปปล้นใคร ถือว่าเป็นสัมมาอาชีวะแล้ว อันนั้นก็ถูก แต่ว่าจริงๆ แล้วสังคมส่งเสริมการบริโภคมาก แล้วพอเรามาพูดให้พอเพียง เป็นเรื่องยากเหมือนกันนะ เพราะถ้าพูดไป ต้องบอกว่าทิศทางการพัฒนาของประเทศทั้งหมดเลย เราไม่เคยตั้งคำถามว่าเราพัฒนาไปเพื่ออะไร เพื่อให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ และทำให้เกิดคนสองกลุ่ม คือกลุ่มคนโคตรรวยและกลุ่มคนโคตรจน แบบนี้ไม่มีทางสมานฉันท์ ไม่มีทางเกิดความสุขหรือความสงบขึ้นมาได้
เราตื่นตัวไหม เรื่องนี้เรารู้สึกว่าทุกคนล้วนเป็นเหยื่อของสถานการณ์ และเราอาจจะรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้หรอกกับสภาพที่เกิดขึ้น ต้องเป็นไปตามนั้น เราอาจจะหวังว่ารัฐบาลจะคิดถูกต้อง มาทำเรื่องว่าด้วยความสุขมวลรวมประชาชาติ ยากนะ ความสุขมวลรวมประชาชาติจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดความสุขในแต่ละคนที่มา
จริงๆ ในพุทธศาสนาบอกว่าความสุขที่อิงกับสิ่งจำเป็น คือปัจจัยสี่ ต้องให้มีความสันโดษ สำรวม แต่กุศลธรรมต้องไม่สำรวม ต้องทำให้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เวลานี้ สังคมพยายามจะไม่ให้เราสำรวมในเรื่องของการบริโภค เพราะถ้าสำรวมมาก จีดีพีไม่ขึ้น ประเทศชาติไม่รุ่งเรืองใช่ไหม ตอนนี้รัฐบาลต้องไปลงนามในสนธิสัญญาเขตการค้าเสรี : เอฟทีเอ (Free Trade Area : FTA) เพราะกลัวว่าประเทศชาติจะไม่รุ่งเรือง แต่ว่าจริงๆ เมื่อไปเซ็นแล้ว คุณไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า เราจะพึ่งตัวเองได้ไหม
จริงๆ เศรษฐกิจพอเพียงคือความเป็นไทในการที่เราจะพึ่งตัวเองในเรื่องปัจจัยพื้นฐาน แต่เวลานี้การลงนามในสนธิสัญญาเอฟทีเอ เขาบอกว่ารถยนต์ขนาด ๓,๐๐๐ ซีซี จะมีการเก็บภาษีลดลง เพราะฉะนั้นพวกเราจะบริโภครถยนต์กันมากขึ้นในราคาถูก และเราจะพ่นควันเสียขึ้นไปสู่อากาศมากขึ้น แต่เราไม่สามารถเชื่อมโยงว่าภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นจากอะไร มันไกลน่ะ เพราะว่ามันเป็นทฤษฎีมากเลย
กนกวรรณ: พอโลกร้อนเราจะไปซื้อแอร์ค่ะ
รสนา: คนที่ไม่เคยซื้อแอร์จะบอกว่าไม่ได้แล้ว ปีนี้ต้องซื้อแอร์เพราะว่าอากาศร้อน เพราะฉะนั้นชีวิตของเราแต่ละคนจะหมุนไปอย่างนี้ แต่คนที่จะฉุกใจคิดแล้วบอกว่าเปลี่ยนแปลงเลย โอ้โฮ หายากเหมือนกันนะ จริงๆ แล้วต้องนึกถึงการรวมกลุ่ม แต่ไม่รู้จะหวังมากไปหรือเปล่า สมัยก่อนพวกเราเมื่อสมัย ๓๐ ปีที่แล้ว เป็นพวกที่รวมกลุ่มและพยายามจะทำอะไร แต่ตอนนี้แต่ละคนต่างโตและแยกย้ายกันไป จริงๆ พวกเราส่วนใหญ่ที่เคยอยู่ในคณะเทียบหินแบบไทยๆ ยังอยู่กันอย่างสมถะพอสมควร ยังทำกิจกรรมกัน อิทธิพลเหล่านี้อาจจะยังไม่ถึงกับส่งผล แต่คิดว่าจะเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
และเป็นเรื่องที่น่าสนใจนะ โครงการเผชิญความตายอย่างสงบของท่านไพศาล คนหนุ่มๆสาวๆ เขามีการเตรียมตัวตายนะ ใช่ไหม ทำให้เราต้องกลับมาหาวิธีการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ซึ่งน่าสนใจนะ ว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นเรื่องของจังหวะเวลาก็ได้ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว ไปพูดเรื่องเตรียมตัวตายอย่างมีสติ คนอาจจะไม่สนใจ เหมือนกับที่ดิฉันทำเรื่องโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง สมัยนั้นคนบอกว่าทำไมต้องเขียนอย่างนั้นด้วย ทำไมต้องตั้งชื่อโครงการแปลกๆ ทำไมต้องพึ่งตัวเอง แต่เวลานี้คนเริ่มพูดกันถึงเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มพูดกันถึงการพึ่งตนเอง เริ่มพูดกันถึงการเตรียมตัวตาย ดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่มีความหมาย
กนกวรรณ: ค่ะ ไปที่หลวงพี่นิรามิสาบ้าง หลวงพี่เป็นผู้ร่วมเดินทางกับหลวงปู่ในการไปเผยแพร่ตามที่ต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องของหลักการภาวนา อยากให้หลวงพี่เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่หลวงพี่ได้พบ โดยเฉพาะเรื่องความเปลี่ยนแปลงของผู้คน ณ ขณะที่เขาได้มารับทราบหลักการภาวนา การเจริญสติ การตามทันลมหายใจ ว่าในประเทศต่างๆ หลวงพี่ได้พบเห็นอะไรบ้างคะ
ภิกษุณีนิรามิสา: เวลาที่เราฝึกปฏิบัติ คงจะเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่เราคุยถึงปัญหาความขัดแย้งของศาสนา หรือความไม่เป็นสันติภาพที่กำลังเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่เราประทับใจ และได้ร่วมกันทำที่หมู่บ้านพลัม คือเราจะมีการจัดการภาวนาให้แก่ชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์มาอยู่ร่วมกันทุกปี ในช่วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมา เพียงแต่ว่าจะนำชาวปาเลสไตน์มาที่ฝรั่งเศสได้ก็เป็นเรื่องยากมาก หลวงแม่ต้องวิ่งเต้นน่าดูทั้งกระทรวงต่างประเทศที่ฝรั่งเศส ทั้งทางฝั่งอิสราเอล และปาเลสไตน์ด้วย เพราะเขาไม่สามารถจะขอวีซ่าได้ง่ายนัก ทันทีที่เขามาถึงหมู่บ้านพลัม เราจะฝึกปฏิบัติร่วมกัน เรื่องหนึ่งที่ชาวปาเลสไตน์มักจะพูดคือ ไม่เคยคิดว่าในโลกนี้จะมีดินแดนที่สงบแบบนี้ ไม่เคยคิดว่าจะได้พบกับดินแดนที่มีแต่สันติ เพียงแต่เขาเพิ่งเริ่มเข้ามาอยู่ในศูนย์ปฏิบัติธรรมที่หมู่บ้านพลัม
เวลาที่เขามาถึง เขาจะทำกิจกรรมเหมือนเราค่ะ เข้าร่วมเหมือนเรา ทำกิจกรรมเหมือนเรา หลวงปู่บอกว่า มาถึงห้ามสนทนากัน ยังไม่ให้มีการสนทนาธรรม หรือสนทนากันถึงเรื่องอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ให้ต่างฝ่ายต่างฝึก แต่มีชีวิตอยู่ด้วยกัน ตื่นเช้านั่งสมาธิด้วยกัน สวดมนต์ นั่งรับประทานอาหารเงียบๆ ด้วยกัน ฟังเทศน์จากหลวงปู่ แลกเปลี่ยนกับบรรดาคณะนักบวชที่หมู่บ้านพลัม
หลังจากนั้น ๑ อาทิตย์ถึงจะเริ่มมีการสนทนาซึ่งกันและกัน และการสนทนาค่อนข้างจะเครียดนะคะ แต่จะเน้นในเรื่องของการฝึกที่จะฟังกันอย่างลึกซึ้ง อาจจะเริ่มต้นโดยทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพูดก่อน อย่างทางปาเลสไตน์พูด ชาวอิสราเอลก็จะฟังอย่างเดียว และหลังจากที่เขาได้มีความสงบลงไปแล้ว เราจะพยายามคล้ายๆ กับสนับสนุนให้เขาใช้วาจาแห่งสติ พูดจากใจของเขา พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น จากความทุกข์ของเขาเอง จากสิ่งที่เขากำลังเผชิญ โดยไม่ได้ใช้วาจาไปตำหนิอีกฝ่ายหนึ่งว่าทำให้เกิดสงคราม ไปฆ่าญาติพี่น้องของเขา หลังจากฟังแล้ววันต่อไปชาวอิสราเอลจะเป็นคนพูด
เราจะมีช่วงเวลาเหล่านี้อยู่พอสมควร และจะมีบรรดานักบวชเข้าไปช่วยเกื้อกูลพลังแห่งสติด้วย หลังจากวันสุดท้ายแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ขึ้นเวที แล้วรายงานผลให้กับฝ่ายสังฆะทั้งหมดฟัง ทั้งฝ่ายปาเลสไตน์และอิสราเอล และหลายๆ ครั้งที่เราจะประทับใจ สะเทือนใจมากคือ ชาวอิสราเอลจะบอกว่าไม่เคยรู้เลยว่าชาวปาเลสไตน์ทุกข์และพี่น้องถูกฆ่าตายมากมายขนาดนี้ ไม่เคยได้ยินจากครอบครัวที่เขาประสบด้วยตัวเขาเองเลยว่า มีชาวปาเลสไตน์ที่ขาขาด ที่มาถึงหมู่บ้านพลัมแล้วเล่าอย่างละเอียดว่า ในขณะที่เขาอยู่บ้าน เขาถูกรุกรานอย่างไร ถูกทุบตีอย่างไร ถูกยิงอย่างไร แล้วต้องเดินทางอย่างยากลำบากมากเพื่อจะไปโรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้พออีกฝ่ายหนึ่งได้ยิน จะรู้สึกเหมือนกับเริ่มเข้าไปอยู่ในเนื้อหนังมังสาของอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วมีความสงสาร มีความเมตตากรุณามากขึ้น
ในขณะเดียวกันชาวปาเลสไตน์ก็บอกว่า ไม่เคยมีเพื่อนเป็นชาวอิสราเอลและไม่เคยคิดว่าชาวอิสราเอลมีความทุกข์เช่นกัน เขาต้องสูญเสียพี่น้องเขาเหมือนกัน พี่น้องของเขาก็ถูกระเบิดเช่นเดียวกัน นี้คือสิ่งที่เรามักจะได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นกับชาวอิสราเอลปาเลสไตน์หรือจะเป็นชาวฝรั่งเศสหรือใครที่มาฝึกด้วย วันแรกมาจะเดินเร็วนะคะ แล้วได้ยินเสียงระฆังไม่หยุด และหน้าตาจะเคร่งเครียด บางคนจะป่วยไปเลย เป็นหวัดเป็นอะไรไปบ้าง แต่หลังจากผ่านไปสัก ๒ วัน ๓ วัน จะเห็นว่าหน้าตาเริ่มสดใสมากขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น และสามารถที่จะเปิดใจและคลายความทุกข์ลงได้ แค่ช่วงเวลาอาทิตย์เดียว เห็นการเปลี่ยนแปลงในร่างกายของเขา ในหน้าตา และในคำพูดหรือสิ่งที่เขาแสดงออกและแลกเปลี่ยน
ในประเทศอเมริกา หลวงปู่และคณะสังฆะพยายามคุยและขอให้เขาตั้งคณะกรรมการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Listening Deeply Committee) ค่ะ ในฝ่ายของมุสลิมกับฝ่ายของชาวอเมริกันทั่วไป เพื่อให้รู้ว่าจริงๆ คนอิสลามในอเมริกาเขามีความทุกข์มาก แม้กระทั่งทางชาวอเมริกันเองก็มีความทุกข์มาก และท่านคิดว่า มีหลายคนที่เป็นคนอย่างที่เราๆ กำลังคุยกันอยู่ เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เห็นสิ่งที่เราอยากจะเปลี่ยนแปร แต่ยังเปลี่ยนแปรไม่ได้ หรือว่ากลุ่มที่มีปัญญาความคิดที่ชัดเจน แต่ว่ายังไม่ได้มารวมกันเพื่อพูดในสิ่งเหล่านี้ ถ้าเรามีการจัดการให้คนเหล่านั้นมารวมกันแล้วรับฟังอย่างลึกซึ้งจริงๆ ฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจเขาอย่างจริงๆ ไม่ใช่ฟังเพื่อจะวิพากษ์วิจารณ์หรือว่าตำหนิ ในเมื่อสามารถจะฟังกันอย่างลึกซึ้งได้แล้ว จะเกิดความเข้าใจเกิดปัญญาขึ้น ทำให้เราเห็นทางออกว่าจะช่วยกันได้อย่างไร
อย่างเช่นเมื่อสองปีก่อน เมื่อร่วมขบวนกลับไปกับหลวงปู่ที่เวียดนามเช่นเดียวกัน จะเน้นเรื่องของความรักฉันท์พี่น้อง ไม่ว่าเราจะเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นมุสลิม หรือว่าเป็นซ้ายเป็นขวาจากตะวันตกตะวันออก แต่อย่างน้อยสิ่งที่เรามีให้กันคือความเป็นมนุษย์ ความเป็นพี่น้องซึ่งกันและกัน ท่านจะเน้นตรงนี้อย่างมาก ทำอย่างไรที่จะฝึกปฏิบัติให้เราสามารถเข้าหากันได้ บางครั้งในชุมชนที่เราอยู่ด้วยกัน จะมีกรณีศึกษาขึ้นมา บางทียากมาก จะต้องมานั่งคุยกันว่าจะช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างไร จะใช้วิธีอย่างนี้ค่ะ ฟังอย่างลึกซึ้งและเปิดใจที่จะเข้าใจ และบางทีต้องใช้หลายช่วงเวลากว่าจะลงตัว และหลวงปู่จะบอกว่าทำอะไรก็ได้ แต่ให้ยังรักกันเหมือนพี่น้อง เพราะฉะนั้นพอเราปฏิบัติไปในทางนั้น มันครอบคลุมทุกอย่าง และทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องเห็นความเป็นหนึ่งเดียวกัน แล้วจะช่วยอย่างไรให้เกิดความกลมกลืน ความสมานฉันท์ ความสันติขึ้น
กนกวรรณ: มีหนึ่งคำถามจากท่านที่อยู่ในห้องนี้นะคะ หลวงพี่นิรามิสา ตั้งคำถามว่า อยากทราบว่าการเดินทางมาของหลวงปู่นัท ฮันห์ ที่จะมาถึงในเร็วๆ วันนี้ จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมไทยหรือไม่อย่างไรคะ หลวงพี่คาดหวังอย่างนั้นไหมคะ หรือว่าการเดินทางมาของท่านตั้งเป้าหมายอะไร
ภิกษุณีนิรามิสา: หลวงพี่คิดว่าขึ้นอยู่กับคนไทยค่ะ และในส่วนตัวแล้ว เท่าที่รู้จักกับหลวงปู่ตั้งแต่ที่ได้ไปบวชแล้ว จะนึกภาพว่าเมื่อหลวงปู่ได้เหยียบผืนแผ่นดินไทย คงจะเป็นความงดงามที่ยิ่งใหญ่มหาศาล เป็นของขวัญที่งดงามให้กับแผ่นดินไทย ให้กับคนไทยนะคะ และเป็นโอกาสที่อาจจะเปิดอะไรบางอย่างที่อุดตันอยู่ในสังคมไทย ซึ่งท่านคงเป็นเหตุปัจจัยหรือเงื่อนไขหนึ่งที่อาจจะช่วยให้อะไรบางอย่างที่อัดอั้นอยู่ในหัวใจคนไทย หรือไม่ชัดเจนได้คลายออกให้ชัดเจนขึ้นบ้าง แต่เหตุปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดคือคนไทยค่ะ คนไทยที่จะร่วมกันปฏิบัติและเห็นได้ด้วยตัวเราเองที่ชัดเจน
กนกวรรณ: ขอบคุณค่ะ มาที่คุณโก๋นิดหนึ่ง อยากให้คุณโก๋มองในด้านของธุรกิจที่ถูกพาดพิงไปเมื่อสักครู่นี้ เป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เกิดบริโภคนิยมของผู้คน ให้คุณโก๋มองในมุมของนักธุรกิจบ้านเรา ปัญหา ณ ขณะนี้ หลักการทางพุทธศาสนา คำสอนของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ น่าจะเข้ามาเยียวยาส่วนไหนอย่างไรได้บ้างคะ
จิตร์: ที่พี่รสนาบอกไว้ นี่ล่ะของจริงเลย คืออาชีพที่ปรึกษาทางด้านโฆษณา ตลาด สร้างแบรนด์ทั้งหลายนะฮะ อยากจะบอกว่า มักถูกถามอยู่เสมอ น้องที่ทำงานอยู่ในสายงานเดียวกัน มักจะถามว่าพี่ทนทำได้อย่างไร เมื่อพี่รู้ขนาดนี้ เลยบอกว่า รู้ไหม เคยได้ฟังครั้งหนึ่งครับ หลวงปู่ไปแสดงธรรมให้กับตำรวจที่ประเทศอเมริกา และเราเลยคิดได้จากตรงนั้นแหละว่า ถ้ามีปืนอยู่หนึ่งกระบอก ระหว่างยื่นให้คนเมากับคนมีสติ เราจะยื่นให้ใคร เลยบอกกับน้องๆ ว่า สำคัญเชียวที่เราต้องทำธุรกิจนี้ และเราต้องมีสติ ไม่ใช่ว่าเราจะหนีออกไปจากธุรกิจนี้ เพราะว่าบอกว่าเป็นธุรกิจน่าเกลียด ก็ให้คนน่าเกลียดทำ ไม่ถูก เพราะฉะนั้นเราต้องอยู่ตรงนี้แหละ และทำอย่างมีสติ ทำด้วยความซื่อสัตย์ เพราะว่าถ้าเราอยู่ไปปุ๊บนะครับ จะบอกว่าเราอยู่บนโลกนี้โดยไม่สร้างความเสียหายให้กับจักรวาลเลย คงเป็นไปไม่ได้ แต่ทำอย่างไรให้น้อยที่สุด แล้วสร้างเรื่องดีให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ นั่นเอง ในที่สุดแล้วถัวๆ กันหักลบกลบหนี้ ก็ยังพอใช้ เพราะฉะนั้น ผมอยากชวนให้คิดอย่างนี้ว่า อย่างที่พี่รสนาบอก อย่าละโอกาสถ้าเราจะทำประโยชน์ได้ แล้วละโอกาสถ้าเรากำลังจะทำอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์
กนกวรรณ: มีหนึ่งคำถามจากท่านที่อยู่ในห้องนี้นะคะ หลวงพี่นิรามิสา ตั้งคำถามว่า อยากทราบว่าการเดินทางมาของหลวงปู่นัท ฮันห์ ที่จะมาถึงในเร็วๆ วันนี้ จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมไทยหรือไม่อย่างไรคะ หลวงพี่คาดหวังอย่างนั้นไหมคะ หรือว่าการเดินทางมาของท่านตั้งเป้าหมายอะไร
ภิกษุณีนิรามิสา: หลวงพี่คิดว่าขึ้นอยู่กับคนไทยค่ะ และในส่วนตัวแล้ว เท่าที่รู้จักกับหลวงปู่ตั้งแต่ที่ได้ไปบวชแล้ว จะนึกภาพว่าเมื่อหลวงปู่ได้เหยียบผืนแผ่นดินไทย คงจะเป็นความงดงามที่ยิ่งใหญ่มหาศาล เป็นของขวัญที่งดงามให้กับแผ่นดินไทย ให้กับคนไทยนะคะ และเป็นโอกาสที่อาจจะเปิดอะไรบางอย่างที่อุดตันอยู่ในสังคมไทย ซึ่งท่านคงเป็นเหตุปัจจัยหรือเงื่อนไขหนึ่งที่อาจจะช่วยให้อะไรบางอย่างที่อัดอั้นอยู่ในหัวใจคนไทย หรือไม่ชัดเจนได้คลายออกให้ชัดเจนขึ้นบ้าง แต่เหตุปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดคือคนไทยค่ะ คนไทยที่จะร่วมกันปฏิบัติและเห็นได้ด้วยตัวเราเองที่ชัดเจน
กนกวรรณ: ขอบคุณค่ะ มาที่คุณโก๋นิดหนึ่ง อยากให้คุณโก๋มองในด้านของธุรกิจที่ถูกพาดพิงไปเมื่อสักครู่นี้ เป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เกิดบริโภคนิยมของผู้คน ให้คุณโก๋มองในมุมของนักธุรกิจบ้านเรา ปัญหา ณ ขณะนี้ หลักการทางพุทธศาสนา คำสอนของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ น่าจะเข้ามาเยียวยาส่วนไหนอย่างไรได้บ้างคะ
จิตร์: ที่พี่รสนาบอกไว้ นี่ล่ะของจริงเลย คืออาชีพที่ปรึกษาทางด้านโฆษณา ตลาด สร้างแบรนด์ทั้งหลายนะฮะ อยากจะบอกว่า มักถูกถามอยู่เสมอ น้องที่ทำงานอยู่ในสายงานเดียวกัน มักจะถามว่าพี่ทนทำได้อย่างไร เมื่อพี่รู้ขนาดนี้ เลยบอกว่า รู้ไหม เคยได้ฟังครั้งหนึ่งครับ หลวงปู่ไปแสดงธรรมให้กับตำรวจที่ประเทศอเมริกา และเราเลยคิดได้จากตรงนั้นแหละว่า ถ้ามีปืนอยู่หนึ่งกระบอก ระหว่างยื่นให้คนเมากับคนมีสติ เราจะยื่นให้ใคร เลยบอกกับน้องๆ ว่า สำคัญเชียวที่เราต้องทำธุรกิจนี้ และเราต้องมีสติ ไม่ใช่ว่าเราจะหนีออกไปจากธุรกิจนี้ เพราะว่าบอกว่าเป็นธุรกิจน่าเกลียด ก็ให้คนน่าเกลียดทำ ไม่ถูก เพราะฉะนั้นเราต้องอยู่ตรงนี้แหละ และทำอย่างมีสติ ทำด้วยความซื่อสัตย์ เพราะว่าถ้าเราอยู่ไปปุ๊บนะครับ จะบอกว่าเราอยู่บนโลกนี้โดยไม่สร้างความเสียหายให้กับจักรวาลเลย คงเป็นไปไม่ได้ แต่ทำอย่างไรให้น้อยที่สุด แล้วสร้างเรื่องดีให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ นั่นเอง ในที่สุดแล้วถัวๆ กันหักลบกลบหนี้ ก็ยังพอใช้ เพราะฉะนั้น ผมอยากชวนให้คิดอย่างนี้ว่า อย่างที่พี่รสนาบอก อย่าละโอกาสถ้าเราจะทำประโยชน์ได้ แล้วละโอกาสถ้าเรากำลังจะทำอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์
มดเอ๊กซ:
ฉลาดทำบุญ: วิธีการกับเป้าหมายต้องไปด้วยกัน
กนกวรรณ: มีหนึ่งประเด็นปัญหาของสังคมซึ่งเมื่อสักครู่นี้ เราอาจจะยังไม่ได้พูดถึงกันบนเวที เราพูดกันถึงเรื่องของกระแสบริโภคนิยมทำให้เราใช้จ่ายกันเยอะขึ้น ทำให้เรากอบโกย เราเห็นแก่ตัวกันเยอะขึ้น กระแสของความขัดแย้ง ฝ่ายตรงข้ามคิดไม่เหมือนกัน ใครที่ไม่ยอมถูกครอบงำทางความคิดจะกลายเป็นศัตรูทันที แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งคือ เรื่องของความยับยั้งชั่งใจด้วยหรือเปล่า พี่รสคะ เนื่องจากเรากำลังพูดคุยกันถึงหลักการภาวนา แล้วเรื่องของการตามทันสติ เรื่องการรู้เท่าทันลมหายใจตัวเอง มีตุ๊กตาอยู่สถานการณ์หนึ่ง และอยากจะให้ทั้ง ๔ ท่านช่วยวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับความคิดของผู้คนในยุคนี้
ช่วงที่ผ่านมานะคะ มีคนอยู่กลุ่มหนึ่ง บอกว่าฉันจะทำบุญ ฉันจะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ที่วัดพระบาทน้ำพุ เพราะฉะนั้นวิธีการหามาซึ่งเงินทำบุญ ฉันจะลุกขึ้นมาเปลื้องผ้าแล้วบอกทุกคนว่า ฉันจะทำบุญ ฉันกำลังทำความดี มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะ อยากให้ทั้ง ๔ ท่านลองมองดูว่า ถ้าเราตั้งเป้าว่าเราจะทำความดี แต่เราควรจะคิดถึงเส้นทางของการได้มาซึ่งความดีหรือว่าบุญกุศลด้วยไหมคะ
พระไพศาล: วิธีการนี้ อาตมาคิดว่าเขาน่าจะได้รับอิทธิพลจากเมืองนอกที่มีการถ่ายปฏิทิน โดยเอาคนดังบ้างไม่ดังบ้าง สาวบ้างแก่บ้างมาเปลือยกาย ซึ่งในวัฒนธรรมของเขาเป็นเรื่องธรรมดา เพราะในสังคมของเขามองว่าเป็นศิลปะ แต่ในเมืองไทยสิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ส่งเสริมกุศลธรรมได้ โดยเฉพาะเอาเงินนั้นมาถวายวัด แต่เท่าที่ทราบเขามีเจตนาที่เป็นกุศล อาตมาคิดว่าดีแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการด้วย บางครั้งการทำอะไร วิธีการกับเป้าหมายต้องไปด้วยกัน ซึ่งเรื่องนี้ไถ่ได้พยายามพูดอยู่เสมอ ถ้าคุณจะสร้างสันติภาพให้สังคม คุณต้องมีสันติสุขในใจ แล้วการที่แม่หรือครูจะทำให้เด็กเขามีความสุข คุณจะต้องมีความสุขในใจ อาตมาคิดว่าปัญหาเรื่องเอดส์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระบบคุณค่าแบบวัตถุนิยมหรือการมีอุตสาหกรรมทางเพศ เพราะว่าเมืองไทยเราเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมทางเพศ ทำให้เมืองไทยมีอัตราของคนเป็นโรคนี้มาก และบางทีคนบริสุทธิ์ ไม่รู้เรื่องอะไร แต่ว่าสามีนำไปติดภรรยา เพราะสามีไปเที่ยว อาตมาคิดว่าถ้าเรามองแบบนี้ เหตุเกิดมาจากกามสุขัลลิกานุโยค หรือว่ากามนิยม การถ่ายแบบในลักษณะที่มาส่งเสริมเรื่องนี้ อาตมาไม่เห็นนะ แต่อย่างที่คนเขาพูดกัน ไม่น่าจะถูกต้อง
บางครั้งการไม่ทำอะไรเลยอาจจะดีกว่า ท่านนัท ฮันห์ เคยพูดกับพวกเราว่า บางครั้งเมื่อมีปัญหา อย่าไปคิดว่าการทำอะไรจะดีเสมอไป บางครั้งการอยู่เฉยๆ ก็ดีเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น เรือลำเล็กที่กำลังลอยคออยู่กลางทะเล ถ้าเกิดว่าต่างคนต่างอยากจะทำนู่นทำนี่ขึ้นมาเพื่อกู้สถานการณ์ บางทีเรือจะคว่ำเร็วขึ้น แต่วิธีการที่ดีที่สุดคือทุกคนอาจจะนั่งอยู่เฉยๆ ในเรือ บางครั้ง ไม่ทำอะไร (Non-Action) ก็มีประโยชน์เหมือนกัน ไม่ใช่แต่ว่าต้องทำอะไร (Action) เท่านั้น ก็เป็นข้อเตือนใจพวกเราที่นิสัยแบบนักกิจกรรมว่า บางทีการที่เราไม่ทำอะไรเลยก็จำเป็น ซึ่งอาตมาไม่ได้จะเปรียบเฉพาะพวกนักกิจกรรมอย่างเดียว แต่คนทั่วๆ ไปด้วยว่า บางครั้งการที่คุณไม่ทำอะไรเลยอาจจะช่วยได้มากกว่าคนที่ทำมากมาย แต่ว่าทำด้วยการไม่พร้อม ไม่มีสติ จะเกิดปัญหาได้
กนกวรรณ: ค่ะ หลวงพี่นิรามิสาได้ติดตามข่าวเรื่องนี้ไหมคะ ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาเปลื้องผ้าถ่ายแบบแล้วนำเงินไปทำบุญช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ที่วัดพระบาทน้ำพุ
ภิกษุณีนิรามิสา: ทราบว่ามีโครงการนี้ แต่ว่าไม่ได้ติดตามข่าวว่าเขามีการทำบุญแบบนี้ค่ะ
กนกวรรณ: แล้วถ้าสอบถามหลวงพี่ถึงเส้นทางของการทำดี หลวงพี่มองอย่างไรคะ ว่าจริงๆ แล้วเราตั้งเป้าว่าเราอาจจะทำดีแหละ แต่ว่าเส้นทางของการกระทำเราควรจะคิดด้วยหรือเปล่า หรือว่า ณ วันนี้ เราตั้งเป้าหมายว่าเราอยากจะได้อะไร แล้วเราหาวิธีการอะไรก็ได้ที่จะไปถึงเป้าหมายตรงนั้น
ภิกษุณีนิรามิสา: คิดว่าต้องเข้าใจว่าเส้นทางการกระทำของเขา คือการทำบุญไม่ใช่ว่าได้เงินมากี่ล้านๆ แล้วถึงจะได้บุญ ต้องให้คนเข้าใจความหมายของการทำบุญเป็นสิ่งสำคัญ อย่างเช่นช่วงที่เราอยู่ที่หมู่บ้านพลัม มีค่ายฤดูร้อน แล้วจะมีเด็กๆ มา เราก็มักจะให้เด็กเขาทำการ์ด ทำบัตรอวยพรสวยๆ ขายเพื่อที่จะหาเงินให้กับเด็กยากจนในประเทศที่ยากจน หลวงพี่มักจะสอนอยู่เสมอว่า ถึงแม้ว่าเด็กยากจนต่างๆ นั้นอาจจะอยู่ในเมืองไทย ในเวียดนาม หรือที่ไหนๆ ประโยชน์ที่เขาจะได้รับไม่ใช่รอจนขายบัตรอวยพรนั้นแล้ว ได้เงินมา ๒ ยูโร ๓ ยูโร แล้วเราถึงจะมีความสุข แต่ในขณะที่เรากำลังหยิบดินสอสี หยิบพู่กันขึ้นมาวาด แล้วจิตของเราอยู่กับตรงนั้น แล้วส่งความรักความเมตตาให้แก่เด็กเหล่านั้นด้วย เขาได้ในขณะนั้นจริงๆ และเราก็ได้ด้วย และเราจะรู้สึกว่าถึงแม้เราจะไม่ได้อยู่ทวีปเดียวกัน เราก็ยังสัมพันธ์กัน นั้นเป็นเรื่องของการทำบุญ และถ้าเราขาย เราได้เงินมา ก็จะได้ช่วยในเรื่องของปัจจัยที่เขาต้องการด้วย
เพราะฉะนั้นความคิดเรื่องของการทำบุญคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องให้คนทั่วไปเข้าใจ และเพื่อกำหนดว่าเราจะมีวิธีการอย่างไร ถ้าเรามีขบวนการของการทำบุญที่มีภาพต่างๆ ออกไป ซึ่งอาจจะไปรดน้ำเมล็ดพันธุ์ หรือไปเร้าโลมต่อความรู้สึกของคนอื่นให้มีการประพฤติผิดทางเพศหรือทางกาม ที่เป็นการประพฤติผิดในศีลเรื่องของการดำรงชีวิต จริงๆ แล้วรูปเหล่านั้นไม่ได้ก่อให้เกิดการทำบุญ ถึงแม้ว่าจะนำเงินทองมาได้มากมายเพื่อช่วยผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์ แต่โดยความเป็นจริงแล้วมันอาจจะไปทำให้คนเป็นโรคเอดส์มากขึ้นด้วยก็ได้ เพราะว่ารูปภาพเหล่านั้นไปเพิ่มพูนพฤติกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดโรคเอดส์มากขึ้น เพราะโรคเอดส์เกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมของมนุษย์ในการประพฤติผิดทางกาม ถ้าเกิดว่าเรามีการแลกเปลี่ยนศีลข้อ ๓ ให้ลึกซึ้งขึ้น เราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้มากขึ้น หรือจัดกิจกรรม จัดเสวนา หรือจัดภาพโฆษณาออกไปให้คนตระหนักรู้ว่า หรือมีการยับยั้งอย่างที่บอกในเรื่องนี้ ว่าจะทำอย่างไรให้ลดพฤติกรรมเหล่านั้นและจะช่วยทำบุญให้กับคนที่เป็นโรคเอดส์เหล่านั้นด้วยนะคะ นี้เป็นสิ่งหนึ่งที่คิดว่าเราต้องทบทวนจริงๆ ว่าเรากำลังทำบุญ แต่ขณะเดียวกันเราก็ทำบาปไปพร้อมกันหรือเปล่า
กนกวรรณ: พี่รสนาคะ เชิญค่ะ มีคำถามจากห้องประชุมนี้ทยอยส่งมานะคะ ส่งมาได้เรื่อยๆ เราคงมีเวลาคุยกันอีกสักครึ่งชั่วโมง และจะเริ่มทยอยส่งคำถามให้กับวิทยากรทั้ง ๔ ท่านแล้วนะคะ
รสนา: คงเป็นอย่างที่ท่านไพศาลและท่านนิรามิสาพูดนะคะว่า จริงๆ การทำบุญ วิธีการก็มีความสำคัญ เพียงแต่ว่าคนทำเขาอาจจะไม่แน่ใจนะ อาจจะเป็นอาชีพของเขาในเรื่องแบบนี้ และในด้านหนึ่งเขาคงจะหวังว่าสิ่งที่ทำเป็นการใช้ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัวหรือเปล่า คือทำบุญด้วย แต่ในขณะเดียวกันได้ทำการตลาดไปด้วย แต่พอไปทำบุญกับวัด มันดูจะขัดแย้งกันค่อนข้างมากไปนิดหน่อย แต่ว่าถ้าเกิดไม่มีใครอยากรับบริจาค ดิฉันอยากรับบริจาคแทนนะคะ เพราะว่าจะเอาไปเป็นเงินสำหรับนวดเด็กทารกซึ่งเปลือยเหมือนกัน (หัวเราะ) เขาบอกว่าถ้าไม่มีใครรับบริจาค เขาหาเอง ไม่เป็นไร ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ถ้าไม่มีใครรับ รสนารับเอง
คือเรามีโครงการนวดเด็กเล็กๆ นะคะ วันก่อนมีโครงการไปอบรมที่บ้านพักฉุกเฉิน เด็กอายุ ๑๔ ปี มีลูกแล้ว เขาเลยต้องทิ้งเอาไว้ให้เลี้ยง หรือไปทำที่บ้านปากเกร็ดอะไรพวกนี้ จริงๆ เรื่องการนวดเด็กเริ่มมาจากหลวงพี่ไพศาลด้วยเหมือนกันนะคะ เพราะตอนนั้นเราทำโครงการจิตอาสา ปันศรัทธาและอาทร ทำบุญโดยไม่ต้องใช้เงิน มีกิจกรรมหลายหลาก ทางมูลนิธิสุขภาพไทยก็ไปทำเรื่องนวดเด็กให้กับเด็กด้อยโอกาส นวดไปนวดมาคนที่ไปทำเขามีความสุข หลายคนบอกว่าเขาเป็นไมเกรน ปวดหัว สงสัยทนฟังเสียงร้องของเด็กไม่ได้แน่ๆ พกยาไปทั้ง ๓ เดือนตอนช่วงพรรษาปีที่แล้ว ปรากฏว่านวดแล้วมีความสุข ไม่ปวดหัวเลย แล้วอยากจะไปทำอีก เลยเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้คนมีโอกาสได้ทำความดี ยังคุยกันว่าสังคมไทยไปเน้นเรื่องบริโภคนิยมเยอะ เรามีช่องทางให้คนบริโภคเยอะ จะซื้อสินค้าผ่านบัตรเครดิต ทำอะไรได้ทุกอย่างเลย ทำไมเราไม่คิดช่องทางให้คนทำความดีเยอะๆ ล่ะ ชนิดที่ไปไหนคุณก็หลีกไม่พ้น มีช่องทางให้ได้ทำบุญ ได้ทำความดีกับสังคม ทำอะไรที่อยากทำ
กนกวรรณ: ข้างๆ นี้ เป็นนักการตลาดค่ะ
รสนา: นักการตลาด ทำตลาดช่วยให้คนได้ทำความดี คือเราต้องสร้างรูปแบบของการทำบุญ การให้และมีความสุข ให้แตงโมไม่โบ๋อะไรอย่างนี้ บุญนี้หนีไม่พ้น ดักไว้หมดทุกทางเลย ไปไหนคุณก็หนีเราไม่พ้น คุณได้ทำความดีแน่ ใช่ไหม
กนกวรรณ: น่าคิดนะคะ คุณโก๋ เส้นทางบุญ บุญสั่งได้ พอไหวไหมคะ ใครอยากได้บุญ กดมาทันที เป็นบุญดิลิเวอรี่
จิตร์: โก๋คิดว่าในกรณีเดียวกัน ด้วยความเป็นคนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยนะครับ แต่ข่าวแบบว่ามาถึงหู เห็นเหมือนกับหลวงพี่และพี่รสนาด้วยว่า เราต้องฉลาดทำบุญด้วย มีหนังสือชื่อประมาณนี้อยู่ แล้วเป็นประโยชน์มากเลย โก๋ฟังแล้วห่วงนะครับ เวลาที่เรามองลงไปอย่างลึกซึ้ง เราจะรู้เลยว่า ถ้าทำด้วยจิตใจดี แต่เขารู้ไหมว่า เขากำลังทำอะไรให้กับใจของตัวเองอยู่ เลยไม่แน่ใจว่าจะได้บุญอย่างไร มองภาพๆ นี้ไปเหมือนกับโก๋ขอตัดผมพี่วรรณสักกระจุกหนึ่งได้ไหม เดี๋ยวจ่ายเงินซื้อยาปลูกผมให้ หรือเหมือนขอเผาป่าแต่ช่วยออกเงินค่าสถานดับเพลิง อย่างนี้เกิดขึ้นจากอาการฉันลิซึ่ม คิดว่าฉันมีจริง ฉันทำแล้วเป็นเรื่องของฉัน หลังจากนั้นฉันจะทำความดี ลืมความสืบเนื่องว่าฉันทำไปแล้ว ในระดับตัวฉัน ฉันสอนอะไรตัวเองบางอย่าง ยิ่งทำให้ตัวเองพร่อง ไปขุดแตงโมในตัวเองแล้วไปรดน้ำอะไรบางอย่างก็ไม่รู้ ไปจุดไฟอะไรแบบนี้ครับ ลืมคิดไปว่าเด็ดดอกไม้แล้วสะเทือนถึงดวงดาวจริงๆ
มดเอ๊กซ:
พุทธศาสนา ความสุข และบทกวี
กนกวรรณ: มีคำถามจากท่านในห้องประชุมค่ะ ถามหลวงพี่ไพศาลว่า ท่านนัท ฮันห์ มีอิทธิพลต่อการออกบวชของหลวงพี่ไพศาลด้วยหรือไม่
พระไพศาล: มีอิทธิพลต่อมุมมองเรื่องชีวิตและโลก เรื่องธรรมะยังมีอยู่ คือมีอยู่ช่วงหนึ่งในช่วงแรกๆ เราจะได้รับอิทธิพลของการเมตตา การให้อภัย การไม่มองมนุษย์เป็นศัตรู คือแยกระหว่างคนผิดกับความผิด เราต้องจัดการกับความผิด ไม่ได้จัดการกับคนผิด ต่อมาเป็นเรื่องของสติ เรื่องการภาวนาในชีวิตประจำวัน แล้วเรื่องของความสุข คือพุทธศาสนาที่สอนกันมาในฝ่ายเถรวาทจะเน้นกันเรื่องความทุกข์ แต่ว่าของไถ่จะพูดเรื่องความสุขมาก ความสุขในชีวิตประจำวัน คือคนเราไม่ได้เห็นแต่ทุกข์อย่างเดียว ต้องไม่จดจ่อกับทุกข์ แต่ต้องเห็นความสุขที่อยู่ในชีวิตประจำวัน บนถนน จากต้นไม้ จากลมหายใจ ความสุขที่ได้สัมผัสจากก้อนเมฆ ความสุขเล็กๆ ที่เราพบเห็นเด็กๆ มีความสุขกับก้อนกรวด ความสุขจากการล้างจาน การทานส้มอะไรแบบนี้ ตรงนี้เป็นการเข้าไปทำให้พุทธศาสนามีความสมดุลมากขึ้น เพราะว่าเน้นเรื่องความสุข และการมีความสุขมีประโยชน์กับตัวเอง ในการที่เราจะได้ไม่ไปตะบันหาแต่ทุกข์อย่างเดียว คือในลักษณะข้อแรกเป็นเรื่องของความทุกข์ แต่ต้องให้มองเห็นอีกด้านด้วย นั่นคือเรื่องของความสุข
มองในอีกแง่หนึ่ง พุทธศาสนาในแบบของท่านนัท ฮันห์ มีอิตถีภาวะมาก (Feminine) คือพุทธศาสนาแบบเถรวาทจะเป็นผู้ชายมาก บึกบึน สู้ ลุย ต่อสู้กับกิเลส ทำสงครามกับกิเลส แต่ท่านนัท ฮันห์ พูดถึงเรื่องดอกไม้ ก้อนเมฆ ความรัก การให้อภัย ซึ่งมันเป็นบทกวี ซึ่งเป็นส่วนพุทธศาสนาที่อาจจะถูกมองข้าม ตรงนี้ช่วยให้ความเป็นเรามีทั้งสองส่วนอย่างสมดุลที่เรียกว่า หยินและหยาง มีทั้งปุริสภาวะและอิตถีภาวะ
กนกวรรณ: มีทั้งบู๊และบุ๋นใช่ไหมคะ
พระไพศาล: จะเรียกว่าลุยกับความงดงาม ไม่ใช่บุ๊และบุ๋น เพราะบู๊และบุ๋นจะเป็นฝ่ายหยางอยู่ มีความเป็นหยางอยู่ มีความอ่อนโยนและความเข้มแข็งอะไรแบบนี้
กนกวรรณ: พี่รสบอกว่า ดอกเบญจมาศกับซามูไร
พระไพศาล: อย่างนั้นแหละ ซึ่งท่านยกตัวอย่างได้อีกคำคือ ขยะซึ่งกลายเป็นดอกไม้ ขยะกับดอกไม้คืออันเดียวกัน ขยะในที่สุดก็กลายเป็นดอกไม้ และดอกไม้ในที่สุดก็กลายเป็นขยะ มันคือสิ่งที่เรียกว่าอินเตอร์บีอิ้ง (Interbeing) คือเป็นดั่งกันและกัน และตรงนี้เป็นอิทธิพลที่ค่อยๆ ให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น เมื่อซัก ๑๐–๑๕ ปีก่อน ได้อ่านบทกวีชื่อ “Please Call Me by My True Names” ซึ่งมีคนแปลว่า “เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง” ตอนนั้น อาตมาอ่านแล้วงง
"อย่ากล่าวว่าฉันจะจากในวันพรุ่ง แม้วันนี้ฉันก็ยังกำลังมาถึง
"ฉันยังมาถึง เพื่อหัวเราะและร้องไห้ เพื่อกลัวและเพื่อหวัง จังหวะหัวใจฉันคือกำเนิดและความตายของสรรพชีวิต
"ฉันคือแมลงเม่า ที่กำลังกลายรูปบนผิวน้ำ และฉันคือนก โฉบลงขยอกกลืนเจ้าแมลง
"ฉันคือกบแหวกว่ายอย่างเป็นสุข ในบึงใส และฉันคืองูเขียว เลี้ยวลดกินกบอย่างเงียบเชียบ
"ฉันคือเด็กในอูกันดา มีแต่หนังหุ้มกระดูก ขาฉันเล็กบางราวลำไผ่ และฉันคือพ่อค้าอาวุธ ขายเครื่องประหัตประหารแก่อูกันดา”
อีกตอนหนึ่งนะ
"ฉันคือเด็กหญิงสิบสองขวบ ลี้ภัยในเรือน้อย โถมร่างลงกลางสมุทร หลังถูกโจรสลัดข่มขืน และฉันคือโจรสลัด หัวใจฉันยังขาดความสามารถในการเห็นและรัก”
บทกวียาวกว่านี้นะ ใหม่ๆ เราไม่ค่อยเข้าใจ แต่ตอนหลังเราเริ่มเข้าใจแล้วว่า ทุกอย่างมันเป็นสองด้าน สิ่งที่เรามองเป็นตรงกันข้าม จริงๆ แล้วมันคืออันเดียวกัน คนเราเป็นทั้งเหยื่อและผู้กระทำ ฉะนั้นเราไม่สามารถแยกระหว่างเด็กอูกันดากับพ่อค้าอาวุธหรือฆาตกรได้ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสองด้านของสิ่งเดียวกัน เหมือนกับที่ในโต๊ะประกอบจากสิ่งที่ไม่ใช่โต๊ะ เราเคยคิดว่าโต๊ะกับสิ่งที่ไม่ใช่โต๊ะคือสิ่งตรงข้าม แต่ที่จริงไม่ใช่ มันอยู่ในกันและกัน ตรงนี้ทำให้เรามองโลกและชีวิตอย่างเข้าใจมากขึ้นว่า ที่เราเคยมองว่าเป็นด้านตรงข้ามที่มีเส้นแบ่งชัดเจน ที่จริงไม่ใช่ แม้กระทั่งสิ่งที่เราเรียกว่าความดีและความชั่ว หรือคนดีกับคนชั่วก็ไม่ใช่สิ่งที่แยกจากกัน แต่มีอยู่ในใจเราทั้งความดีและความชั่ว ตรงนี้ทำให้การมองโลกไปพ้นจากเส้นแบ่ง ซึ่งทำให้เราเห็นเลยว่า แม้กระทั่งความเกิดและความตาย ความหนุ่มสาวและความแก่ไม่ใช่แยกจากกัน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเลยว่า ความตายมีอยู่ในชีวิต ความแก่มีอยู่ในความหนุ่มสาว และโรคอยู่ในความไม่มีโรค
ถามว่ามีส่วนในการดำเนินชีวิตในการปฏิบัติธรรมหรือไม่ คิดว่ามีแน่นอน ท่านนัท ฮันห์ อาจจะไม่ได้มีผลต่อการที่เราจะอยู่ต่อไปได้นานแค่ไหนในฐานะบรรพชิต เพราะท่านบอกอยู่แล้วว่าการปฏิบัติธรรมมันอยู่ในชีวิตประจำวัน โยมก็เป็นพระได้ พระก็เป็นโยมได้ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การมองชีวิตในลักษณะที่เรียกว่า เหนือโลกเหนือสมมติ ซึ่งทำให้เรามองโลกในลักษณะที่เข้าใจ มองผู้คนในลักษณะที่เข้าใจมากขึ้น ในลักษณะที่เห็นและมองความจริงได้อย่างรอบด้านมากขึ้น
กนกวรรณ: มีคำถามถึงท่านวิทยากรบนเวทีเยอะมาก เป็นคำถามเกี่ยวข้องกับท่านนัท ฮันห์ นะคะ อยากจะรู้จัก อยากรู้ที่มาที่ไป และรวมถึงลัทธิเซนด้วย ดิฉันจะอ่านคำถามรอบเดียวเลยนะคะ เพราะว่าเป็นคำถามในทางเดียวกัน แล้วจะให้วิทยากรบนเวทีช่วยกันตอบคำถาม
ท่านแรกถามว่าท่านติช นัท ฮันห์ เป็นพระเซนแห่งเวียดนามใช่หรือไม่ กรุณาขยายความความเป็นพระในลัทธิเซนด้วย
คำถามที่สองคือ ประเทศไทยควรมีสำนักปฏิบัติธรรมในแนวลัทธิเซน โดยใช้สำนักของท่านนัท ฮันห์ หรือไม่ เป็นไปได้ไหม
แล้วคำถามต่อไป ขั้นตอนการบวชเป็นภิกษุณี บวชในประเทศไทยได้ไหม หรือต้องไปบวชที่หมู่บ้านพลัมฝรั่งเศส
ท่านไหนจะเป็นผู้ตอบก่อน อธิบายเรื่องราวของท่านนัท ฮันห์ อย่างย่อๆ นิดหนึ่งค่ะ หลังจากที่เมื่อตอนต้นเราดูวิดีทัศน์แล้ว
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version