ลิขสิทธิ์แบบบ้าน
“ลิขสิทธิ์” เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีรูปร่าง แต่สามารถถือครองได้ และกฎหมายให้ความคุ้มครอง โดยให้เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ที่ได้ทำขึ้น
โดยหลักการกว้าง ๆ กฎหมายลิขสิทธิ์เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองงานสร้างสรรค์ประเภท วรรณกรรมและศิลปกรรม แบ่งออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่ วรรณกรรม, นาฏกรรม, ศิลปกรรม, ดนตรี กรรม, โสตทัศนวัสดุ, ภาพยนตร์, สิ่งบันทึกเสียง, งานแพร่เสียงแพร่ภาพ, งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี ศิลปะ และวิทยาศาสตร์
งานออกแบบอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอก การสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือที่เรียกกันว่างานสถาปัตยกรรม เกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎหมายลิขสิทธิ์ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปกรรม
แม้จะเป็นงานที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ยังมีผู้สนใจ เข้าใจและให้ความสำคัญกับเรื่องลิขสิทธิ์แบบบ้านจำนวนไม่มากนัก ทางสมาคมรับสร้างบ้านจึงได้จัดการสัมมนาเรื่องลิขสิทธิ์แบบบ้านขึ้น เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวกันมากขึ้น
ปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดว่าจะต้องไปจดทะเบียนก่อน ถึงจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ แต่จริง ๆ แล้วหากผลงานเข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะได้รับความคุ้มครองอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีการจดทะเบียน
แต่งานที่จะได้รับความคุ้มครองจะต้องเป็นการแสดงออกซึ่งความคิด มีระดับการสร้างสรรค์เพียงพอ และต้องเป็นการสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง มิใช่ลอกเลียนงานของคนอื่น และต้องเป็นงานสร้างสรรค์ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ สำหรับบุคคลธรรมดา กฎหมายให้ความคุ้มครองไปตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และต่อเนื่องไปอีก 50 ปี ส่วนนิติบุคคล กฎหมายให้ความคุ้มครอง 50 ปี หลังจากสร้างสรรค์ หรือโฆษณาครั้งแรก และสำหรับศิลปะประยุกต์กฎหมายให้ความคุ้มครอง 25 ปี หลังจากสร้างสรรค์ หรือโฆษณาครั้งแรก
ที่เป็นปัญหาและสร้างความสับสนเป็นอย่างมากคือเรื่อง “เจ้าของลิขสิทธิ์” เพราะผู้สร้างสรรค์ และเจ้าของลิขสิทธิ์ อาจเป็นคนเดียวกัน หรือคนละคนก็ได้ ขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์งาน
หากเป็นการสร้างสรรค์งานโดยอิสระ เจ้าของลิขสิทธิ์คือตัวผู้สร้างสรรค์ ส่วนในกรณีการสร้างสรรค์งานภายใต้การจ้างงาน ผู้สร้างสรรค์แม้จะอยู่ในฐานะลูกจ้าง แต่ยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของผลงานสร้างสรรค์ เว้นแต่ได้ทำหนังสือตกลงกันไว้กับนายจ้างเป็นอย่างอื่น อย่างไรก็ดี นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามวัตถุประสงค์ของการจ้าง แรงงานนั้น
ตัวอย่างเช่น สถาปนิกอิสระ หรือสถาปนิกที่เป็นลูกจ้างของบริษัทรับสร้างบ้านต่าง ๆ หากไม่ได้ทำสัญญาตกลงกับนายจ้างไว้เป็นอย่างอื่น แบบบ้านก็ยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของสถาปนิก แต่บริษัทรับสร้างบ้านสามารถนำแบบบ้านไปใช้ได้ ในฐานะผู้ว่าจ้าง
ส่วนกรณีการรับจ้างบุคคลอื่น ผู้ว่าจ้างจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เว้นแต่จะได้มีการตกลงกันระหว่างผู้ว่าจ้าง และผู้สร้างสรรค์ไว้เป็นอย่างอื่น
ยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็คือ ถ้ามีเจ้าของบ้านจ้างให้สถาปนิกเขียนแบบบ้านให้ เจ้าของบ้านจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แบบบ้าน ยกเว้นแต่จะมีการตกลงระหว่างเจ้าของบ้านกับสถาปนิกไว้เป็นอย่างอื่น
เช่นเดียวกันกับงานสร้างสรรค์โดยการจ้าง หรือทำตามคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ หรือของท้องถิ่น ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของหน่วยงานดังกล่าว เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร
กรณีของการนำงานที่มีลิขสิทธิ์อยู่แล้วมาดัดแปลง โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้ดัดแปลงจะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานดัดแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของสิทธิที่มีอยู่ในงานเดิม
การละเมิดลิขสิทธิ์ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือการละเมิดลิขสิทธิ์ทางตรง ได้แก่ การทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท ถ้าเป็นการกระทำผิดเพื่อการค้า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ถึง 8 แสนบาท
อีกประเภทคือการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอ้อม ได้แก่ การที่รู้อยู่แล้วว่างานทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็ยังกระทำเพื่อหากำไรจากงานนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับ 1 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท และถ้าเป็นการกระทำความผิดเพื่อการค้า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5 หมื่นบาท ถึง 4 แสนบาท
“การที่กฎหมายให้ความคุ้มครองผลงานที่เข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์โดย อัตโนมัติ ทำให้มีปัญหาในการค้นหาข้อมูลลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จึงได้เปิดให้มีการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์เพื่อจัดทำฐานข้อมูลลิขสิทธิ์ขึ้น ผู้สนใจสามารถแจ้งข้อมูลยืนยันการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะออกหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลให้ด้วย สนใจสอบถามรายละเอียดได้โดยตรงที่กรมทรัพย์สินทางปัญหา หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
www.ipthailand.go.th” เขมะศิริ นิชชากร นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ กล่าวสรุป.
article@dailynews.co.th
.
http://www.dailynews.co.th/newstartp...ntentId=121936.
.