คงจะมีสักครั้งนะครับ ที่คุณเคยมีประสบการณ์พบเรื่องร้ายในชีวิต เรื่องที่คุณไม่ต้องการให้เกิดขึ้นแต่มันก็เกิดขึ้น และไม่ใช่คุณคนเดียวหรอกครับที่เจอเรื่องแบบนี้
การพบกับเรื่องแย่ๆ หรือเหตุการณ์ร้ายในชีวิต ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เราทุกคนมีโอกาสจะพบเจอได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ยิ่งเติบโตมีอายุมากขึ้น ประสบการณ์ในการพบเรื่องแย่ๆ ก็ยิ่งหลากหลายมากขึ้น
แต่ถ้าเรามองในอีกแง่ เรื่องแย่ๆ ที่ไม่อยากเจอเหล่านี้ ก็อาจจะเป็นเหมือนวัคซีนชั้นดีที่สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน อันแข็งแกร่งให้กับเรา ยิ่งมีมาก ก็เท่ากับว่ามีโอกาสที่จะแข็งแรงและแกร่งด้วยประสบการณ์มากขึ้น เพราะเวลาที่คนเราเจอเรื่องแย่ๆ หรือเหตุการณ์เลวร้ายนั้น จะเป็นโอกาสที่ดีให้เราได้เรียนรู้แบบก้าวกระโดดครับ ดังนั้น ใครที่ไม่เคยพบกับเหตุการณ์ร้ายมาก่อนเลยแม้แต่ครั้งเดียว ก็เท่ากับว่า เสียโอกาสในการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงไปอย่างน่าเสียดายทีเดียวล่ะครับ
ถ้าให้เลือกได้ แน่นอนครับ คงไม่มีใครอยากพบกับเหตุการณ์เลวร้ายใดๆ ถ้าเป็นไปได้ เราก็คงอยากให้ชีวิตมีแต่เรื่องดีๆ และมีแต่ความราบรื่น[/I]
แต่ชีวิต...ไม่ใช่สิ่งที่เราเลือกได้ทั้งหมดครับ ตรงกันข้าม ชีวิต...มักจะมีสิ่งที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งเมื่อไหร่ที่ได้เจอ ก็คงจะต้องยอมรับและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน หาวิธีจัดการกับมันให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ แล้วจากนั้น มันก็จะ ผ่านไป เหลือไว้เพียงความทรงจำและบทเรียนให้เรานึกถึง
จำได้ไหมครับว่า เรื่องร้ายครั้งล่าสุด ที่คุณได้เจอนั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร และกระทบกับชีวิต ตลอดจนจิตใจของคุณมากน้อยแค่ไหน ลองทบทวนในรายละเอียด ให้เหมือนกับว่าคุณกำลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์นั้น หรือเพิ่งจะผ่านเหตุการณ์นั้นมาใหม่ๆ
ลองสำรวจดูว่า.... ณ ขณะนั้น คุณรู้สึกอย่างไร คุณมองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร คุณมองตัวเองอย่างไร และคุณอยู่กับมันได้อย่างไร จนกระทั่ง มันคลี่คลายและจางหายไปจากชีวิตคุณ
ที่สำคัญ เมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านไปแล้ว คุณได้เรียนรู้อะไรบางอย่างที่มีคุณค่าจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์นั้นบ้างหรือไม่ คุณเติบโตขึ้น เข้าใจชีวิตมากขึ้น หลังเหตุการณ์ร้ายนั้น มากน้อยแค่ไหน อย่างไร[/I]
สิ่งต่างๆ ในโลกนี้เป็นเสมือนเหรียญที่มีสองด้านครับ ของทุกอย่างล้วนมีด้านตรงข้ามเสมอ ในเรื่องร้ายๆย่อม มีแง่มุมดีๆแฝงอยู่ เช่นเดียวกับในเรื่องดีๆ ที่น่าพึงพอใจ ก็ย่อมมีเรื่องแย่ๆที่ไม่เราอยากได้ติดมาด้วย
คนที่มีประสบการณ์ชีวิตมากพอ จะมองเห็นเหรียญทั้งสองด้านของทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นเสมอ คนเหล่านี้จะไม่ค่อยตื่นตระหนกมากนักเมื่อพบกับเหตุการณ์ร้าย แต่พวกเขาจะเรียนรู้ที่จะอยู่กับผลกระทบซึ่งไม่ได้คาดคิด ขณะเดียวกัน ก็มีวิธีที่จะมองหาสิ่งดี ๆ หรือโอกาสดีๆ จากเหตุการณ์นั้นๆ
คนแบบนี้แหละครับ คือ คนมองโลกแง่ดี
คนที่จะมีความสุขได้กับทุกสถานการณ์ของชีวิต
ด้วยวิธีคิด วิธีมองโลก ที่ทำให้โชคร้ายกลายเป็นโชคดีได้เสมอ[/I]
เรื่องนี้สำคัญทีเดียวครับ เพราะมีงานวิจัยบ่งบอกไว้ชัดเจนว่า
คนมองโลกแง่ดี เป็นคนที่มีความสุข มีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาวมากกว่าคนมองโลกแง่ร้าย ที่มักจะเอาแต่ตีโพยตีพายเมื่อพบเหตุการณ์ร้ายๆ ในชีวิต ถามว่าแล้วถ้าเราอยากเป็นคนมองโลกแง่ดีอย่างที่กล่าวมา อยากเป็นคนที่มีความสุขกับชีวิตได้ในทุกสถานการณ์ อยากเป็นคนที่โชคดีได้เสมอแม้จะเจอเรื่องร้าย เราจะมีวิธีฝึกฝนตัวเองได้อย่างไรบ้าง
ไม่ยากครับ ขอเพียงเห็นความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะทำ เรื่องแบบนี้สามารถฝึกฝนและเปลี่ยนแปลงได้เสมอครับ วิธีการก็คือให้ใช้คำพูดและคำถามง่ายๆ สามข้อดังต่อไปนี้
หนึ่ง บอกกับตัวเองว่า
“เรื่องนี้จะผ่านไป” เพราะไม่ว่า จะเกิดอะไรขึ้น เหตุการณ์นั้นย่อมจะต้องผ่านไป ไม่ช้าก็เร็ว
สอง ถามตัวเองว่า
เรื่องที่เกิดขึ้น มีแง่ดีอะไรบ้าง ชีวิตยังมีสิ่งดีอะไรบ้าง สาม ถามตัวเองว่า
“เราจะพัฒนาตัวเองจากเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร” สรุปเป็นคำย่อๆได้ว่า
“ให้เวลา /ค้นหา/ พัฒนาตน”
ให้เวลา คือ ให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปตามเหตุปัจจัยของมัน แล้วมันก็จะผ่านไป
ค้นหา คือ ค้นหาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่รอบตัว ค้นหาโอกาสที่เกิดขึ้นจากวิกฤตินั้นๆ
พัฒนาตน คือ แปลงปัญหาที่เกิดขึ้น ให้เป็นเป้าหมายในการพัฒนาตัวเอง เพื่อที่เราจะได้เก่งและแกร่งขึ้น เข้าใจชีวิตมากขึ้น มีความละเอียดอ่อนประณีตภายในจิตใจมากยิ่งขึ้น
การมองโลกแง่ดี เป็นคุณสมบัติจำเป็นของการมีชีวิตที่ราบรื่น มีความสุขครับ เพราะชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน อะไรๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ขอเพียงคุณมีความสามารถแบบนี้อยู่ในใจ คือสามารถที่จะเรียนรู้และผ่านพ้นทุกเรื่องร้ายแบบได้ประโยชน์
ถ้าเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต จะเจอะเจอเรื่องแย่ๆ หรือเรื่องเลวร้ายขนาดไหน ผมก็เชื่อว่า คุณจะสามารถรับมือจัดการ และผ่านมันไปได้ด้วยดี
คุณทำได้แน่นอนครับ ... (เรียบเรียงจาก บทสื่อเสียงชุด "ถามชีวิต"
www.jitdee.com)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 123 กุมภาพันธ์ 2554 โดย นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส.)
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9540000016348