ความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งต่อมลูกหมาก
ต่อมลูกหมากจะอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะและหุ้มรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น ทำให้ปัสสาวะไหลผ่านกลาง ต่อมลูกหมาก ในผู้ชายแข็งแรงทั่วไปลักษณะรูปร่างของต่อมลูกหมากคล้ายลูกเกาลัด
ต่อมลูกหมากมีหน้าที่สร้างสารน้ำเลี้ยงอสุจิที่ช่วยให้ตัวอสุจิมีการเคลื่อน ที่ออกมาระหว่างมีการหลั่งฮอร์โมนเพศชายหรือแอนโดรเจน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ต่อมลูกหมากมีขนาดโตขึ้น ฮอร์โมนเพศชายนี้ส่วนใหญ่สร้างมาจากอัณฑะ และบางส่วนสร้างมาจากต่อมหมวกไต ต่อมลูกหมากโตจะสัมพันธ์กับอายุ เรามักจะพบว่าในชายสูงอายุจะมาด้วยเรื่องปัสสาวะลำบาก อันเกิดจากต่อมลูกหมากโตเบียดท่อทางเดินปัสสาวะแคบลง
ส่วนต่อมลูกหมากโตจะมีทั้งชนิดที่เป็นมะเร็งและไม่เป็นมะเร็ง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงต่อมลูกหมากโตชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งว่า เป็นการแบ่งตัวอย่างผิดปกติของเซลล์ต่อมลูกหมาก ทำให้ลูกหมากมีขนาดโตขึ้น และกดเบียดทางเดินปัสสาวะ ซึ่งทำให้ปัสสาวะลำบาก และมักพบได้มากในชายสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
ต่อมลูกหมากโตชนิดที่เป็นมะเร็ง ต้องทำความเข้าใจว่า โดยทั่วไปแล้ว การเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์จะมีการดำเนินกระบวนการตลอดเวลาตามที่ ร่างกายต้องการ เมื่อเซลล์แก่และตายไปก็จะมีเซลล์ใหม่เกิดขึ้น แต่ในบางครั้งกระบวนการสร้างเซลล์และกระบวนการตายของเซลล์ก็มีความผิดปกติไป จนอาจทำให้เกิดเนื้องอก แต่เนื้องอกเป็นคำรวม ที่อาจหมายถึงมะเร็ง หรือเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง ฉะนั้นแล้วหากสงสัยว่ามีเนื้องอกเกิดขึ้น ก็ควรรีบมาปรึกษาแพทย์
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่มีการศึกษาที่พบว่าปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้มีความเกี่ยวข้องต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
อายุ : มักพบในคนสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป, ประวัติครอบครัว : หากพบว่ามีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากก็จะมีความเสี่ยงได้, เชื้อชาติ : มักพบได้มากในคนแอฟริกันมากกว่าคนผิวขาว และพบได้น้อยในคนเอเชีย, การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในต่อมลูกหมาก : เซลล์ที่เปลี่ยนแปลงไปอาจมีผลต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้, อาหาร : อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไขมันสัตว์ อาจส่งผลต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากกว่าพืชผัก
การตรวจเช็กขั้นต้นในการหามะเร็งต่อมลูกหมาก
แพทย์จะทำการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากได้ 2 วิธีคือ
1) ตรวจคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก ซึ่งแพทย์จะสอดนิ้วเข้าไปคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก หากพบผิวขรุขระ ลักษณะแข็ง ก็อาจแสดงว่าพบความผิดปกติเกิดขึ้น
2) การตรวจเลือดหาค่าพีเอสเอ คนปกติจะมีค่าพีเอสเออยู่ที่ระดับ 0-4 หากค่าพีเอสเอมากกว่า 4 อาจทำให้เกิดต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ หรือต่อมลูกหมากโตได้
อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก
ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากอาจไม่มีอาการใด ๆ แสดง แต่ในผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ อาจแสดงให้เห็นว่ามีอาการของมะเร็งต่อมลูกหมากได้
อาการทางปัสสาวะ ได้แก่ ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้ ปัสสาวะต้องเบ่งนาน ปัสสาวะขัด ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน ปัสสาวะอ่อนแรง อาจมีอาการปวด แสบ ระหว่างการถ่ายปัสสาวะ มีปัญหาต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ มีเลือดปนในปัสสาวะหรือปนกับอสุจิ และอาจพบได้ว่ามีอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างหรือต้นขา
การวินิจฉัยโรค
หากพบว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าวแล้ว แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุและสอบถามประวัติคนในครอบครัวเพิ่มเติม นอกจากนี้แล้วยังตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตรวจดูระดับค่าพีเอสเอ ตรวจปัสสาวะ และตรวจลักษณะต่อมลูกหมาก ซึ่งทั้งหมดนี้มีวิธีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ดังนี้
1) อัลตราซาวด์ตรวจต่อมลูกหมาก คือการนำแท่งอัลตราซาวด์สอดเข้าทางทวารหนักเพื่อตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก
2) การส่องกล้องดูทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง เพื่อตรวจดูความผิดปกติในท่อทางเดินปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ
3) การเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจ แพทย์จะใช้เข็มเจาะเข้าไปในต่อมลูกหมากเพื่อนำชิ้นเนื้อมาตรวจทางทวารหนัก โดยอัลตราซาวด์จะเป็นตัวบอกตำแหน่งของต่อมลูกหมากได้อย่างแม่นยำ
หากท่านสงสัยว่ามีอาการเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก สามารถเข้าร่วมฟังการบรรยายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมลูกหมากในโครงการ “สัปดาห์แห่งการแก้ไขและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาต่อมลูกหมากเพื่อประชาชน ครั้งที่ 1” วันที่ 26 มี.ค. 2554 เวลา 07.00-14.00 น. ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ ด่วน!! รับจำนวนจำกัดเพียง 300 ท่าน..ฟรีตลอดงาน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คุณนงลักษณ์ 08-5676-2434 หรือทาง
www.prostate-rama.comนพ.วิสูตร คงเจริญสมบัติ
อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=506&contentId=121960.
.
.