'ปอด'เป็นหนองจาก'แบคทีเรีย'ในช่องปาก
จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าว นายชูลักษณ์ กุลสุวรรณ อายุ 42 ปี สามีของ นางนพขวัญ นาคนวล ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มีอาการไข้สูง แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก เจ็บซี่โครงด้านซ้าย และไอ ผลการวินิจฉัยปรากฏว่า มีภาวะปอดอักเสบ ติดเชื้อ น้ำท่วมปอด มีหนองจำนวนมากอยู่ในปอด จนท้ายที่สุดแพทย์จากสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการผ่าตัดใหญ่เอาหนองออกมาได้กว่า 200 ซีซี โดยคาดว่าสาเหตุของการเจ็บป่วยในครั้งนี้น่าจะมาจาก “เชื้อแบคทีเรีย” ในช่องปากนั่นเอง
ผศ. (พิเศษ) ทันตแพทย์ไพศาล กังวลกิจ ประธานราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า แบคทีเรียในช่องปากของคนเราแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. แอโรบิค แบคทีเรีย (Aerobic Bacteria) แบคทีเรียชนิดนี้เจริญเติบโตโดยอาศัยออกซิเจน 2. แอนแอโรบิค แบคทีเรีย (Anaerobic bacteria) ไม่อาศัยออกซิเจน และ 3. แฟคคัลเตทีพ แบคทีเรีย (Facultative bacteria) อยู่ได้ทั้งที่มีออกซิเจนและไม่มีออกซิเจน
กรณีของคนไข้รายนี้เข้าใจว่าสำลักลงปอด โดยเชื้อที่จะไปปอดนั้นไปได้ 3 ทางคือ 1. ไปตามช่องพังผืดที่ติดต่อระหว่างช่องปากไปคอไปปอด 2. สำลักเข้าไป และ 3. ไปตามเส้นเลือด โดยมีการติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งพบได้น้อย ที่เราเจอได้คือจากปากไปคอไปปอด แต่คนไข้รายนี้คงไม่ใช่เพราะไม่มีอาการเจ็บคอ คือ จากปากไปปอดเลยมันต้องผ่านคอ ถ้ากลืนไม่เจ็บคอ คอปกติ ไม่แข็ง คงไม่ใช่ กรณีนี้มีประวัติว่าสำลักก็อาจจะเป็นไปได้ว่าสำลักเอาน้ำลาย และเชื้อโรคในช่องปากเข้าไปในปอดเลย ทั้งนี้หากคนไข้เป็นโรคเบาหวานด้วย จะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย พอติดเชื้อจะติดเชื้อรุนแรง
กรณีของคนไข้รายนี้มีการย้อมสีแล้วเห็นเชื้อเป็นแกรมบวกหรือแกรมลบแต่เวลาไป เพาะเชื้อมันไม่ขึ้น อย่าง “แอนแอโรบิค แบคทีเรีย” โดนออกซิเจนไม่ได้ถ้าโดนมันจะตาย ตาม รพ.ทั่วไปการเพาะเชื้อจะเป็นการเพาะเชื้อที่อาศัยออกซิเจน คือ “แอโรบิค แบคทีเรีย” เพราะการเพาะเชื้อที่ไม่อาศัยออกซิเจนมีวิธีการเก็บเชื้อเฉพาะที่ยุ่งยากและ เพาะเชื้อยากมาก ดังนั้นโดยทั่วไปจึงเพาะแต่ “แอโรบิค แบคทีเรีย” พอเพาะเชื้อไม่ขึ้นแต่เราเห็นตัวเชื้อจากการย้อมสี ก็สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น “แอนแอโรบิค แบคทีเรีย” ที่ไม่อาศัยออกซิเจน ซึ่งเชื้อพวกนี้อาการมักจะรุนแรง
ผู้อ่านไม่ต้องตกใจเพราะแบคทีเรียมีในช่องปากทุกคนอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือควรพยายามดูแลสุขภาพอนามัยช่องปากให้ดี ด้วยการแปรงฟัน ดูแลสุขภาพฟัน พบทันตแพทย์ ขูดหินปูน ดูเรื่องความสะอาด ฟันผุ โรคเหงือก ซึ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค เพราะถึงจะสำลักน้ำลายโอกาสติดเชื้อจะน้อยลง แต่ถ้าอนามัยในช่องปากไม่ดีเชื้อโรคก็แพร่กระจายไปที่อื่นได้
ช่องปากของคนเราจะเป็นบริเวณที่มีเชื้อโรคเยอะ และหลากหลายมาก ดังนั้นเชื้อโรคในช่องปากสามารถทำให้เกิดโรคที่อื่น ๆ ได้ด้วย เช่น เวลารับประทานอาหารเข้าไปแล้วดูแลสุขภาพในช่องปากไม่ดี เชื้อแบคทีเรียก็จะได้อาหารที่ตกค้างอยู่ในช่องปากเจริญเติบโต ทำให้ฟันผุ เหงือกอักเสบ เมื่อมีโรคในช่องปากแล้ว พอเข้าสู่เส้นเลือดก็จะกระจายไปในที่อื่น ๆ ได้ด้วย
เชื้อแบคทีเรีย 3 กลุ่มนี้ถ้าเข้ากระแสเลือดมันไปได้หมด เช่น ขึ้นสมองก็ได้ โดยอาการจะเริ่มด้วยปวดหัวอย่างรุนแรง อาจมีอาการเกร็งและชัก หมดสติ ไข้สูง ลงไปที่ปอดก็ได้เช่นกรณีคนไข้รายนี้ อาการคือจะเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ไข้สูง แน่นหน้าอก ไปที่ไตก็ทำให้ไตอักเสบ ไม่ทำงาน ปัสสาวะออกน้อยลง หรือไปที่หัวใจก็ได้ ดังนั้นคนทั่วไปที่ใส่พวกวัสดุอุปกรณ์และอวัยวะเทียม เช่น ข้อเข่าเทียม ข้อตะโพกเทียม ต้องดูแลอนามัยช่องปากให้ดี เนื่องจากเวลาเกิดเหงือกอักเสบ ฟันผุ มันซ่อนอยู่ในปากซึ่งเรามองไม่เห็น ถ้าเชื้อโรคไปตามกระแสเลือดบริเวณข้อเทียมไม่มีเม็ดเลือดขาวมาฆ่าเชื้อโรคก็ จะทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อทันที
ผู้ป่วยที่มีฟันผุร่วมด้วยเป็นไปได้หรือไม่ที่เชื้อแบคทีเรียจะผ่านเข้าสู่ ปอดทางฟันผุ ? ผศ. (พิเศษ) ทันตแพทย์ไพศาล กล่าวว่า คิดว่าคงไม่ใช่เพราะฟันผุจะมีอาการติดเชื้อจากฟันไปโพรงประสาทฟันเข้าไปที่ ปลายรากฟัน ไปที่กระดูก จะมีการติดเชื้อบวมให้เราเห็น ก่อนเชื้อโรคจะเข้าไปในช่องพังผืดไปที่คอและลงปอดคนไข้จะต้องมีอาการเจ็บคอ หน้าบวม คางบวม
มีการตั้งข้อสังเกตว่าฟันผุแล้วดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะยิ่งทำให้ติด เชื้อได้ง่าย ? ผศ. (พิเศษ) ทันตแพทย์ไพศาล กล่าวว่า ดื่มเหล้าอาจจะไม่เกี่ยวทางตรงสักเท่าไหร่ อาจจะเกี่ยวในทางอ้อมคือ คนที่ดื่มเหล้าอาจจะไม่ใส่ใจอนามัยช่องปากแล้วเวลาเมาก็อาจจะมีโอกาสสำลัก ได้
ด้าน นางนพขวัญ นาคนวล หรือ “จุ๋ม” เล่าว่า ก่อนไปโรงพยาบาล สามีมีอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก เจ็บซี่โครงด้านซ้าย ไข้สูงและไอ จุ๋มก็นึกว่าน่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ ไม่คิดว่าเกี่ยวกับปอด ก็เลยพามาที่สถาบันโรคทรวงอก ตอนแรกก็ยังวินิจฉัยไม่ได้ว่าเป็นอะไร ตอนหลังมีการเอกซเรย์ปอดจึงพบว่าปอดขาวมาก มีอาการอักเสบติดเชื้อเป็นหนอง การรักษาในขั้นตอนแรกแพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการเจาะปอดโดยต่อท่อสายยาง เพื่อดูดเอาหนองออก แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น จนแพทย์ตัดสินใจรักษาขั้นที่ 2 คือ ฉีดยาเข้าปอด เป็นยาเฉพาะในการฆ่าเชื้อหนองชนิดนี้ อาการก็ไม่ดีขึ้นเช่นกันเพราะไข้ยังสูงอยู่ แพทย์จึงตัดสินใจใช้วิธีที่ 3 คือ การผ่าตัด ตอนแรกจะส่องกล้อง แต่เนื่องจากในปอดของสามี มีพังผืดบางส่วนที่มารัดบริเวณปอด และพบว่าหนองมีความข้น และเหนียวมากกว่าปกติ อีกทั้งยังมีการอักเสบเรื้อรังของช่องบุปอด จึงต้องผ่าตัดใหญ่ โดยทางทีมแพทย์สถาบันโรคทรวงอกได้ล้างหนอง และลอกเยื่อหุ้มปอดที่อักเสบออก พบว่าสามารถล้างหนอง และลอกหนองออกได้ถึง 200 ซีซี ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ป่วย 2 รายที่ป่วยในลักษณะเดียวกัน ดูดหนองออกมาได้มากที่สุดแค่ 20 ซีซี เท่านั้น จุ๋มยินดีที่จะให้นำเสนอเรื่องนี้ออกไป เพราะอยากให้เป็นอุทาหรณ์สำหรับทุกคนจะได้รู้จักแบคทีเรียชนิดนี้ และดูแลสุขภาพช่องปากของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อาการสามีเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ยังต้องดูแลอาการใกล้ชิดวันต่อวันต่อไป.
นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=532&contentId=122093.
.