รู้จัก 'สูโดโมแนส แอรูจิโนซ่า' แบคทีเรียแฝงบิ๊กอายเถื่อน
ตกใจกันไปทั้งเมือง โดยเฉพาะสาวๆ ห่วงสวยที่เพิ่มเสน่ห์ให้กับดวงตาด้วยคอนแทคเลนส์แฟชั่น หรือที่เรียกกันว่า ‘บิ๊กอาย’ มีให้เลือกซื้อหลากลาย ซื้อง่ายไม่ต้องผ่านจักษุแพทย์นั้น กลายเป็นของใช้อันตราย เสี่ยงตาบอด เพราะติดเชื้อแบคทีเรีย 'สูโดโมแนส แอรูจิโนซ่า'
และอย่างที่ได้ทราบกันไปตามข่าวว่า เมื่อกระจกตาติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวแล้ว จะทำให้ตาบวมแดงก่ำ ปวดและแสบตา มีรอยคล้ายวุ่นขาวขุ่นอยู่ที่ตาดำ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา แค่ 2 วัน มีโอกาสตาบอด!
เรื่องนี้ ‘พญ.ฉัตรชมพู วาทีสาธกกิจ’ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลจักษุรัตนิน ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตา เผยกับ ‘มุมสุขภาพ’ เดลินิวส์ออนไลน์ เกี่ยวกับแบคทีเรีย สูโดโมแนส แอรูจิโนซ่า ว่า พบกระจายอยู่ทั่วๆ ไป โดยเฉพาะที่ชื้น เช่น พืชผัก อ่างอาบน้ำร้อน สระว่ายน้ำ หรือแม้แต่เกาะตัวบนคอนแทคเลนส์
ส่วนการที่เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้นั้น พญ.ฉัตรชมพู บอกว่าสามารถติดเชื้อเกิดได้ในหลายอวัยวะ แต่สิ่งสำคัญคือ มักจะต้องมีแผลเปิดนำก่อนเสมอ เชื้อจึงจะเข้าไปในแผลและกระจายตัวได้ อาทิ ผลที่ผิวหนัง แผลถลอกที่ตา
กรณีติดเชื้อที่กระจกตาซึ่งสัมพันธ์กับคอนแทคเลนส์ อธิบายได้จากแผลถลอกเช่นกัน เพราะใช้คอนแทคเลนส์อย่างไม่ถูกต้อง เกิดแผลถลอก ประกอบกับเชื้ออาศัยอยู่บนคอนแทคเลนส์อยู่แล้ว จึงสามารถเข้าไปในแผลได้ แม้จะเป็นคอนแทคเลนส์ชนิดใสก็ตาม หากมีการดูแลไม่ดี มีโอกาสติดเชื้อดังกล่าวได้เช่นกัน
พญ.ฉัตรชมพู บอกว่าอันตรายของแบคทีเรีย สูโดโมแนส แอรูจิโนซ่านั้น มี ความรุนแรงค่อนข้างสูง เนื่องจากสามารถปล่อยสารพิษ (Toxin) รบกวนการสร้างโปรตีน รวมทั้งทำลายผนังของเซลกระจกตา และสามารถผลิตเอนไซม์ (สารจำพวกน้ำย่อย) มาทำลายเนื้อเยื่อระหว่างเซลได้ด้วย
ความร้ายแรงของการติดเชื้อชนิดนี้ที่กระจกตา ยังขึ้นอยู่กับขนาดของแผลถลอกเริ่มต้น และปริมาณของเชื้อที่เข้าไป รวมทั้งความเร็วในการได้รับการรักษาอีกด้วย
"ถ้าบริเวณของการติดเชื้อค่อนข้างเล็ก รักษาเร็ว ก็สามารถหายได้ แต่หากบริเวณของการติดเชื้อค่อนข้างกว้าง รักษาช้า การติดเชื้อนั้นก็สามารถลุกลามได้ โดยทั่วไปพบน้อยรายมากที่เชื้อจะผ่านกระจกตาเข้าไปในลูกตาจนต้องควักลูกตา ออก ที่พบบ่อยกว่า คือ ไม่ว่าบริเวณที่ติดเชื้อจะเล็ก หรือใหญ่แค่ไหน ก็มักจะมีแผลเป็น (ฝ้าขาว) ที่กระจกตาเสมอ ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา" พญ.ฉัตรชมพู กล่าว
ด้านการรักษาดวงตาเมื่อติดเชื้อชนิดนี้ พญ.ฉัตรชมพู เผยว่าต้องใช้ยาปฏิชีวนะประเภทหยอด กรณีเป็นมาก การหยอดนั้นค่อนข้างบ่อย คือ ทุกๆ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงต่อวัน แต่หากการติดเชื้อไม่ค่อยรุนแรง บริเวณเล็ก ความถี่ของการหยอดจะน้อยกว่านี้ ยกเว้นกรณีลุกลามเข้าลูกตา อาจต้องอาศัยยาชนิดรับประทาน หรือฉีดเข้าในลูกตาร่วมกับการผ่าตัด
รับรู้ถึงพิษภัยของการใช้คอนแทคเลนส์สวยแต่ไร้มาตรฐานขาดความน่าเชื่อถือจน เป็นเหตุให้ติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว พรุ่งนี้ พญ.ฉัตรชมพู ยังมีสัญญาณอันตรายของกระจกตาที่หากเกิดขึ้นแล้วไม่ควรนิ่งนอนใจ พร้อมเคล็ดลับการใช้คอนแทคเลนส์ให้ปลอดภัยกับดวงตามาฝากอีกตอนหนึ่ง.
takecareDD@gmail.com
.
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=457&contentId=122848.