"ลุมพินีวัน” ในประเทศเนปาลซึ่งเดิมขนานนามแดนชมพูทวีป ตั้งอยู่บนรอยต่อกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของพระเจ้าสุทโธทนะ และกรุงเทวทหะ เมืองหลวงของพระเจ้าชนาธิป ระหว่างที่พระนางสิริมหามายาเดินเท้าเพื่อไปคลอดบุตรยังกรุงเทวทหะตามคำขอร้องของบิดา ได้แวะพักยัง “ลุมพินีวัน” ซึ่งเดิมเป็นสวนดอกไม้ กระนั้นเองก็ได้เจ็บท้องและประสูติ เจ้าชายสิทธัตถะ (พระพุทธเจ้า) ใต้ต้นสาละ จนมีหลักฐานขุดค้นพบในปัจจุบันคือ ร่องรอยแผ่นหิน ที่คาดว่าเป็นจุดกำเนิดของพระพุทธเจ้า นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นการยืนยันการเสด็จพระดำเนิน 7 ก้าว
80 ปีก่อนพุทธศักราช พระพุทธเจ้าได้ประสูติยัง “ลุมพินีวัน” ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ได้เสื่อมโทรมตามกาลเวลา ซึ่งหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาพยายามทำเรื่องขอเพื่อบูรณะ แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากคณะกรรมการมรดกโลก ต่างจากครั้งนี้ที่คนไทยนำโดย มูลนิธิไทยพึ่งไทย ได้รับอนุญาตให้บูรณะสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า เพื่อให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่สืบไป นอกจากนี้ยังเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยได้มีส่วนร่วมในการบูรณะ “ลุมพินีวัน” อีกด้วย
พระราชรัตนรังษี (วีรยุทฺโธ) พระธรรมทูต สายต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสและดูแลการก่อสร้างวัดไทย ลุมพินี กล่าวว่า การที่คนไทยได้รับอนุญาตให้บูรณะ “ลุมพินีวัน” ถือเป็นการเพิ่มหน้าประวัติศาสตร์ของชาวพุทธอีกครั้งหนึ่ง หลังจาก 2,259 ปีก่อน พระเจ้าอโศกมหาราชได้บูรณะสถานที่แห่งนี้ ครั้งต่อมาบูรณะโดย ท่าน อู ถั่น ชาวพุทธพม่า สมัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ซึ่งการบูรณะของคนไทยครั้งนี้ถือเป็นการบูรณะครั้งที่ 3 ของหน้าประวัติศาสตร์
หากมองอีกแง่หนึ่ง “ลุมพินีวัน” ถือเป็นสถานที่สำคัญยิ่งซึ่งเป็นก้าวแรก ของศาสดาเอกของโลกอย่างพระพุทธเจ้าได้ลืมตาดูโลก จึงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่คนไทยได้มีโอกาสในการบูรณะสถานที่สำคัญแห่งนี้
จากการมาประจำวัดไทยในเนปาลกว่า 11 ปี พบว่า โบราณสถานใน “ลุมพินีวัน” เสื่อมโทรมจากดิน น้ำ ลม ไฟ ไปตามกาลเวลา ขณะเดียวกันยังเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่เกิดการเสื่อมโทรม และรวมถึงการที่ผู้ปกครองพื้นที่อยู่ในศาสนาอื่น ส่งผลให้มีการทำลายโบราณวัตถุบางส่วน
ประการต่อมาที่ทำให้โบราณสถานในลุมพินีวันเสื่อมโทรม เกิดจากการที่ชาวพุทธเพิกเฉยต่อการบูรณะ แม้ที่ผ่านมาเคยมีการร้องขอบูรณะจากหลายประเทศ แต่หลายครั้งการเข้ามาเมื่อพิจารณาดูแล้วมีการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน การบูรณะในครั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของผู้แสวงบุญชาวพุทธให้เกิดพลังของการเติมเต็มพระพุทธศาสนาในจิตใจ เห็นได้จากความนิยมชมชอบโบราณวัตถุของคนอินเดีย ด้วยเหตุจากสิ่งโบราณได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วเบื้องต้น ดังนั้นคนปัจจุบันที่ได้ชมโบราณวัตถุซึ่งบอกความเป็นไปที่ผ่านการทดลองแล้วสามารถนำมาปรับใช้ได้ โดยอนาคตจะวิ่งเข้ามาหาผู้นั้นเอง
ลำดับต่อไปจะมีการปลูกสวนดอกไม้ให้เหมือนเดิม เหมือนตอนพระพุทธเจ้าประสูติ คนที่มาแสวงบุญจะอยู่ที่นี่ได้นานขึ้นเพราะจะมีศาลาให้นั่งสมาธิ และมีลานเพื่อทำพิธีกรรมได้อย่างสะดวก ตลอดจนเห็นความสะอาดหูสะอาดตาเกิดปัญญาทางความคิดต่อไป
ด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานมูลนิธิไทยพึ่งไทย ผู้ริเริ่มแนวคิดการบูรณปฏิสังขรณ์ ในนาม “กองทุนลุมพินีสถาน” เล่าว่า ได้มีโอกาสมาสักการะ “ลุมพินีวัน” โดยได้จุดธูปไหว้หน้าเสาหินอโศก พอจะไปปักธูปก็พบว่ากระถางแตกหัก ประกอบกับสถานที่มีความทรุดโทรมจึงเกิดแนวคิดในการบูรณะ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้จึงต้องทำเรื่องไปยังองค์การมรดกโลกสำนักงานใหญ่ที่ฝรั่งเศส รวมถึงต้องเข้าไปพูดคุยกับกรรมการพัฒนาลุมพินีวัน (แอลดีที) ระยะแรกประสบปัญหาบ้าง เนื่องจากที่แห่งนี้มีหลายประเทศมาร้องขอจนต้องตรวจสอบให้แน่ชัด สิ่งหนึ่งที่ทำให้ได้บูรณะต้องขอบคุณท่านทูตไทยประจำประเทศเนปาล และพระราชรัตนรังษี (วีรยุทฺโธ) ที่ช่วยเดินเรื่องให้จนได้อนุมัติ
การดำเนินงานตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเฟสที่ 1 เริ่มทำทางเดินเข้ามาใน “ลุมพินีวัน” โดยงานเหล่านี้สามารถใช้แรงงานชาวเนปาลได้ แต่พอถึงในช่วง เฟสที่ 2 จะเริ่มทำลานปฏิบัติธรรม ต้องใช้ช่างฝีมือจากไทยเพื่อให้งานมีความงดงาม ส่วน เฟสที่ 3 จะสร้างห้องน้ำและศาลาพักให้กับชาวพุทธที่มาแสวงบุญ โดยในภาพรวมแล้วคือ สร้างลานสวดมนต์ 3 ลาน, ปรับปรุงทางเดินโดยรอบวิหารมายาเทวี, ปรับปรุงสวนดอกไม้ให้มีดอกไม้นานาพันธุ์เช่นสมัยพระพุทธเจ้าประสูติ จัดสร้างทางเดินเข้า, ศาลาอเนกประสงค์ สิ่งที่อยากบูรณะอีกคือ สระโบกขรณี ที่อยู่ภายใน “ลุมพินีวัน” เป็นสระที่พระนางสิริมหามายาได้ลงสรงในวันประสูติกาลพระพุทธเจ้า โดยจะนำ กังหันน้ำชัยพัฒนา มาช่วยบำบัดให้น้ำที่เสียกลับมาดีเหมือนเดิม
การได้บูรณะครั้งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ซึ่งเราเหมือนสะพานบุญเชื่อมต่อศรัทธาที่มีต่อพระพุทธเจ้าให้คนไทยได้ร่วมทำนุบำรุงสถานที่ประสูติ ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้กับชาวพุทธที่เข้ามาใช้สถานที่ในการแสวงหาพระพุทธศาสนา
“สำหรับประชาชนที่จะร่วมบริจาคเงินในการบูรณะครั้งนี้ สามารถโอนเงินผ่านบัญชี กองทุนลุมพินีสถาน โดยมูลนิธิไทยพึ่งไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาลาดพร้าวซอย 10 เลขที่บัญชี 047–255916-4 หรือโทรฯสอบถามที่ 0-2971-7575”
ส่วน “พิเชนต้า” คณะกรรมการพัฒนา “ลุมพินีวัน” (แอลดีที) ซึ่งเป็นหนึ่งในนักโบราณคดีชาวเนปาล กล่าวว่า การบูรณะของคนไทยในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในการจัดการคือ ไม่มีที่นั่งสมาธิสำหรับศาสนาพุทธนิกายต่าง ๆ และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่บริจาคให้กับ “ลุมพินีวัน” แต่จะบริจาคให้กับวัดนานาชาติของตนที่อยู่รายรอบ ซึ่งด้วยเหตุนี้ทำให้ประสบปัญหาในด้านการจัดการ เนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรคนที่ต้องใช้เงินในการจ้าง
สิ่งที่ตนฝันในการบูรณะอยากเห็นสวนดอกไม้กลับมาอีกครั้ง จะเป็นสิ่งที่วิเศษมากในความคิดของตน นอกจากนี้ขอฝากขอบคุณคนไทยที่ช่วยบริจาคและเห็นความสำคัญของสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าแห่งนี้ให้คงอยู่ต่อไป
การบูรณะ “ลุมพินีวัน” โดยคนไทยในครั้งนี้จะไม่สำเร็จได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากคนไทยทุกคนที่อยู่ใต้ร่มพระพุทธศาสนา และช่วยกันทำนุบำรุงให้คงอยู่ตลอดไป.
..........................
'เสาหินอโศก'สัญลักษณ์แห่งศรัทธาใน “ลุมพินีวัน” เสาหินอโศกเป็นประวัติศาสตร์สำคัญในการไขความลับทางพระพุทธศาสนา ซึ่งตั้งอยู่ในหลายสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา อันเป็นการแสดงถึงความเลื่อมใส ถือเป็นจุดหมายสำคัญของนักแสวงบุญในปัจจุบัน
เสาหินอโศก หรือ เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นเสาหินโบราณที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช พระมหาจักร พรรดิแห่งราชวงศ์เมารยะ ที่ปกครองอนุทวีปอินเดียในช่วงยุคพุทธศตวรรษที่ 4 พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างเสาหินทราย (ต่อมาเรียกกันว่า เสาอโศก) ขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อระบุสถานที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
เสาหินเหล่านี้สร้างโดยหินทรายจากเมืองจุณนา เมืองทางตอนเหนือของอินเดีย ถือได้ว่ามีคุณภาพดีที่สุดในสมัยนั้น โดยเสาทุกต้นจะมีหัวสิงห์แกะสลักประดิษฐานอยู่ เป็นสัญลักษณ์ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่องอาจดุจราชสีห์ และแผ่ไปไกลดุจเสียงแห่งราชสีห์ โดยตัวเสามีคำจารึกถึงความสำคัญของสถานที่ตั้งเสาหรือประกาศพระบรมราชโองการของพระเจ้าอโศกมหาราช
เสาหินอโศกที่สมบูรณ์ที่สุดอยู่ที่อารามหลวงแห่งเจ้ามัลละในเมืองเวสาลี เมืองสำคัญในสมัยพุทธกาล แต่เสาอโศกต้นที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ เสาอโศกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา เป็นเสาที่หักเป็นสี่ท่อน แต่ว่ารูปสลักรูปสิงห์สี่ทิศบนเสายังคงมีสภาพสมบูรณ์ ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้นำรูปสลักที่เสานี้มาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ รูปพระธรรมจักร 24 ซี่ ได้ถูกนำไปประดิษฐานในธงชาติอินเดีย และ ข้อความที่จารึกไว้โดยพระเจ้าอโศกว่า ’สตฺยเมว ชยเต“ (คำแปล: ความจริงชนะทุกสิ่ง) ได้กลายมาเป็นคำขวัญประจำชาติอินเดียในปัจจุบัน.
ทีมวาไรตี้
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=486&contentID=124041