ผู้เขียน หัวข้อ: ความทรงจำนอกมิติ : คิดว่าคนทั่วไปคงเปลี่ยนตัวเอง 4 หน-ใน 4 พาราไดม์  (อ่าน 1511 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ไม่ชอบและไม่เคยคิดที่จะเขียนเรื่องของตัวเองแม้แต่น้อย เช่นเดียวกับที่ไม่ชอบถ่ายรูปตัวเองมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ลึกๆ เหตุผลคงมีคือความกลัว กลัวความมีอัตตาตัวตน กลัวการหลงตัวเอง (narcissism)  ไม่ชอบมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ แล้ว แม้แต่บทความนี้จริงๆ แล้วก็ไม่อยากเขียน แต่มันมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงตัวเองของคนทั่วไปทั้งโลกที่ผู้เขียนคิดว่าเปลี่ยนแปลงรูปแบบของวิถีชีวิตของตัวเอง - ไม่มากก็น้อย - 3 หนหรือ 3 ครั้งในชีวิต ผู้เขียนโชคดีที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองถึง 4 ครั้ง  (transformation) รวมทั้งได้มีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งในแบบที่มีความหมายที่ล้ำลึก รวบยอดขององค์กรเก่าหรือพาราไดม์เก่าไว้ในพาราไดม์ใหม่ หรือกระบวน-โลกทัศน์ใหม่ไว้ทุกครั้ง ใคร่ขอยืมคำพูดของเค็น วิลเบอร์ อีกทีมาใช้ในที่นี้ (คือคำว่า transcend and include) เรื่องนี้จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนคิดไม่เหมือนกับอัตชีวประวัติคนอื่นๆ นอกจากนั้นก็มีอีกเรื่องหนึ่ง คือบทความของผู้เขียนบทนี้ ซึ่งจะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงผู้เขียนเองที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงของพาราไดม์หรือกระบวนทัศน์ - แห่งองค์รวมซ้อนองค์รวมที่ใหญ่กว่า ซ้อนๆ องค์รวมที่ใหญ่กว่านั้นเข้าไปอีก ฯลฯ มากกว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองของตัวผู้เขียนเอง

การเปลี่ยนแปลงตัวเองทางสังคมหรือพาราไดม์ของผู้เขียนคิดว่าคง “ไม่” เหมือนกับคนอื่นๆ คือเป็นการเปลี่ยนที่วิสัยทัศน์หรือโลกทัศน์หรือมุมมอง (worldview) ที่ผู้เขียนมองโลกและมองสังคม ซึ่งก็คือวิถีชีวิตหรือรูปแบบของสังคม (pattern) หรือพาราไดม์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งสำหรับผู้เขียนเมื่อมองย้อนหลังกลับไปพบว่ามันมีถึง 4 พาราไดม์ หรือ 4 ครั้ง เริ่มต้นตั้งแต่ผู้เขียนยังเล็กๆ คือเริ่มตั้งแต่พาราไดม์ที่มีศาสนา หมายถึงพุทธศาสนาสายเถรวาทเป็นแกนนำ เพราะบ้านที่อยู่เก่าปลูกอยู่หน้าวัด (วัดบางนรา)  หลังบ้านทางซ้ายยังเป็นป่ารกที่ติดกับป่าช้าของวัดพุทธศาสนาที่ในตอนนั้นผู้เขียนคิดเหมือนคนทั่วๆ ไปคิด ว่ามีแต่ความเชื่อศรัทธาเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นตรงกันข้ามกับความรู้ที่ได้มาจากโรงเรียนในตอนนั้น     พาราไดม์ที่มีพุทธศาสนาที่มีความเชื่อแต่เพียงอย่างเดียวจึงเป็นสิ่งที่ให้กับผู้เขียนในตอนเป็นเด็กและอยู่กับผู้เขียนนานกว่า 10 ปี จำได้ว่าในช่วงนั้นพอดีมีสงครามที่ยุโรป และเยอรมันยกทัพโจมตีโปแลนด์ “ดุจสายฟ้าแลบ” แพ้ภายใน 2-3 วันก่อนที่จะบุกตีออสเตรีย-เชกโกสโลวะเกีย ฮังการี และตามมาด้วยการตีเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศสด้วย “ดุจสายฟ้าแลบ” ทั้งสิ้น ยังจำได้ถึงตอนอยู่มัธยม 2 กับความหลงใหลและจินตนาการของเด็ก 8-9 ขวบในภาพซึ่งวาดไว้ในหนังสือนิทานอีสปเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงความสงบที่สันโดษอย่างล้ำลึกของจิตที่ปราศจากการรบกวนจนตัวผู้เขียนเองต้องแอบหลบตัว ไม่กินข้าวกลางวันเพื่อชื่นชมภาพวาดนั้นบ่อยๆ โดยไม่มีใครรบกวน เพราะอยู่ในห้องนั้นคนเดียวจริงๆ ภาพนั้นได้แสดงถึงต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงยังโค่นล้มด้วยแรงลมจนหักโค่นลงมาลอยเท้งเต้งอยู่ในน้ำหลังฝนที่เจิ่งนอง นั่นแสดงภาพของจิตหรือของอัตวิสัย (subjective) ซึ่งแสวงหาความสงบ สันโดษ และต่อต้านความรุนแรง ซึ่งไม่มีประโยชน์อันใด สู้ความสงบที่ล้ำลึกและสันโดษไม่ได้

พาราไดม์ที่ 2 ตามมาติดๆ กันเมื่อขึ้นช่วงปลายของชั้นมัธยม 3 ชนิดเป็นตรงกันข้ามกับกระบวนทัศน์แรก เป็นพาราไดม์ที่ค่อนข้างเป็นวัตถุนิยมหรือตั้งอยู่ภายนอกหรือภาววิสัย (objective) ชัดเจน พาราไดม์นี้เริ่มต้นจากความรักชาติ รักสังคม รักกำพืดของตัวเอง พาราไดม์นี้มีส่วนอย่างสำคัญมาจากการปลุกเร้าของรัฐบาลทหารในตอนนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมจนได้เป็นผู้ถือธงชาติไทยในการเดินขบวนของชาวจังหวัดนราธิวาส เพื่อสนับสนุนการรบและเอาดินแดนคืนมาจากฝรั่งเศสทั้งที่อายุเพียง 8-9  ขวบเท่านั้น ความรู้สึกแบบนี้ โลกทัศน์แบบนี้ ทำให้ผู้เขียนค่อยๆ เป็นภายนอก (objective) ค่อยๆ เป็นนักวัตถุนิยม หรือเป็นวิทยาศาสตร์ (กายภาพ) ตามชั้นที่ไล่สูงขึ้นไป ไม่ว่าที่โรงเรียนเตรียมฯ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คณะแพทยศาสตร์ฯ และไปเมืองนอก ผู้เขียนจะค่อยๆ เป็นแมตทีเรียลลิสติกที่หายใจเป็นส่วนรวม เป็นสังคม เป็นประเทศไทย ค่อยๆ เป็นนักเทคโนโลยี และค่อยๆ เป็นนักวิทยาศาสตร์แบบที่เราเชื่อและใช้กันมากขึ้น และมากขึ้นจนกระทั่งไม่มีคำว่าจิตและจิตวิญญาณเหลืออยู่เลยในจิตสำนึก พอดีแม่ของผู้เขียนเองก็เป็นคนที่แทบว่าจะเป็นลูกคนจีน (ที่เกิดในตุยงหรือหนองจิก) ในประเทศไทยก็ได้ จึงรู้จักทำมาค้าขายมาแต่กำเนิด รู้จักกำไรและขาดทุนมาตั้งแต่กำเนิด จึงมีวิสัยทัศน์ทางระบบเศรษฐกิจที่เป็นตรงกันข้าม ทำให้ผู้เขียนที่เริ่มจะเป็นหนุ่มแล้วค่อนข้างมากจึงยากที่จะรับได้  สำหรับผู้เขียนแล้วในช่วงเวลานั้นจะมองระบบเศรษฐกิจทุนนิยม มองการหากำไรสูงสุดโดยไม่ได้กังวลว่ากำไรหรือเงินที่ได้มานั้นมาจากที่ใด? มองการหาทางร่ำรวยด้วยการสร้างครอบครัวและวงศ์ตระกูลของตนเป็นปึกแผ่น โดยไม่ได้คำนึงถึงสังคมประเทศชาติว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ “ตัวกูของกู” และสกปรก  เคยว่าแม่ต่อหน้าในระหว่างนั้นว่าแม่เป็นคนยิวทางตะวันออก และตอนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นก็เคยเขียนเป็นบทความว่าพระสงฆ์ว่าเอาเปรียบสังคม วันๆ หนึ่งไม่ได้ทำอะไรนอกจากบิณฑบาตขออาหาร โชคดีที่ไม่ค่อยมีคนเห็นด้วยหนึ่ง และมีพื้นฐานทางจิตดีอีกหนึ่ง คือ มีอนุสยสันดานที่นอนแนบเนื่องกับจิตใต้สำนึกอยู่บ้าง ดังที่บอกไว้มาแล้วถึงการเปลี่ยนแปลงตัวเองแบบองค์รวมซ้อนๆ องค์รวม  (transcend and include) จึงพอจะมีเค้าบ้างถึงได้ไม่เป็นแมตทีเรียลลิสต์ หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์กายภาพสุดโต่งเช่นเดียวกับแพทย์ส่วนใหญ่มากๆ ทั้งหลาย

การไปเมืองนอกนานๆ ในเวลานั้นยิ่งตอกย้ำความเป็นนักวัตถุนิยม เป็นนักวิทยาศาสตร์กายภาพ พลอยบ้าคลั่งเทคโนโลยีตามฝรั่งส่วนใหญ่มากๆ เพราะเห็นประโยชน์จริงๆ ในความจริงทางโลกที่มองเห็น ใครเล่าจะไปคิดความจริงที่แท้จริงหรือความจริงทางธรรมหรือความจริงทางควอนตัมนอกจากคนเพี้ยนหรือคนบ้า แม้ว่าจะมีการค้นพบทฤษฎีควอนตัมแล้ว แต่เพราะว่าในเวลานั้นนักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะนักฟิสิกส์ทั้งหลายเอง แม้แต่ไอน์สไตน์ก็พากันสงสัยไม่เชื่อว่าทฤษฎีควอนตัมแมคคานิกส์จะเป็น ความจริงหรือไม่? เพราะมันผิดหลักการทางวิทยาศาสตร์และสามัญสำนึกของมนุษย์โดยสิ้นเชิง  ไอน์สไตน์ถึงพูดว่า “พระเจ้าไม่มีทางจะเล่นการพนัน (God dose not play dice) หรอก” นักฟิสิกส์ระดับโลกทุกคนจึงหาทางล้มล้างทฤษฎีควอนตัม หรือไม่ก็หาวิธีป้องกันมัน ซึ่งยิ่งพิสูจน์เท่าไรก็ยิ่งทำให้ควอนตัมฟิสิกส์มีความแข็งแกร่งขึ้นและเป็นความจริงที่แท้จริงมากยิ่งขึ้นมากกว่าเก่าเท่านั้น จนกระทั่งนักฟิสิกส์ทั่วๆ ไปบอกว่าคลาสิกคัลฟิสิกส์ของนิวตันสามารถให้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ได้เพียง 98-99%  แต่ทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์สามารถให้ความจริงได้เท่าๆ กับทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ที่ให้ความจริงทางวิทยาศาสตร์ได้ถึง 99.99% ซึ่งมีความหมายมากในมาตรวัดของดาว กาแล็กซี และจักรวาลเอง

หรือว่าโลกนี้จะตั้งต้นด้วยวัตถุ (matter) รวมทั้งเนื้อเยื่อของชีวิต หรือว่าจิตจะไม่มีจริงๆ หรือจิตจะเป็นผลิตผลของรูปกายของชีวิตหรืออย่างไ? พระพุทธเจ้าและแก่นแท้ของศาสนาทุกศาสนาต่างพากันผิดหรืออย่างไร?? นั่นล้วนเป็นคำถามที่ค้างคาใจผู้เขียนอยู่ตลอดเวลา

พาราไดม์หรือกระบวนทัศน์ที่ 3 ทางสังคมคลี่ขยายจากความเป็นโลกทัศน์ของวัตถุ (matter) และเนื้อเยื่อ หรือแมตทีเรียลลิซึ่มอันเป็นโลกทัศน์ที่สาธารณชนคนทั่วไปหันมานิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะนักวิชาการที่แพทย์เราเป็นส่วนหนึ่งในนั้น แต่พาราไดม์หรือโลกทัศน์ทางแมตทีเรียลลิซึ่มก็มีส่วนที่ทำให้ตัวเองเปลี่ยนแปลง คือเปลี่ยนจากแมตทีเรียลลิซึ่มปัจเจกบุคคลไปสูสังคมโดยรวม ไล่ไปตั้งแต่ชั้นเรียนถึงโรงเรียน ถึงท้องถิ่นชุมชน ถึงจังหวัด ประเทศชาติ ถึงเผ่าพันธุ์ มนุษยชาติ ถึงโลกไปตามลำดับ พาราไดม์ทางสังคมที่สามพาราไดม์นี้โดยเฉพาะสังคมประเทศชาติที่มีขอบเขตดินแดน มีภาษา มีศาสนาและมีวัฒนธรรมอย่างเดียวกันหรือใกล้เคียงกันจะมีความสำคัญมากจนมนุษย์ต้องแยกกันอยู่ต่างหาก ทุกวันนี้แม้ต่างก็มีผลประโยชน์ (เศรษฐกิจ) ร่วมกันแต่ก็เพราะกฎหมายป้องกันหรอก ทั้งหมดนั้นได้สรรค์สร้างเป็นสังคม เป็นประเทศ เป็นชาติที่แปลกแยกจากกันดังเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ประเทศใครก็ประเทศมัน และต่างก็หาอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้ “เพื่อป้องกันตนเอง” แต่ส่วนใหญ่ก็เพื่อปราบปรามประชาชนพลเมืองของตนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลนั่นแหละ และแล้วสังคมหรือประเทศภายไต้การปกครองของรัฐบาลทหารที่ได้มาจากการทำรัฐประหารซ้ำๆซ้อนๆมาตลอดเวลาหลายสิบปี หรือ “สมบัติ (สังคม-ประเทศชาติ) ผลัดกันชม (ด้วยรัฐประหาร)” นั่นคือกระบวนทัศน์ที่สามของผู้เขียน และเป็นพาราไดม์ที่ทำให้ผู้เขียนได้ทำความรู้จักคำว่าการเมืองดีโดยเฉพาะของประเทศไทย โดยเพิ่งรู้เป็นครั้งแรกว่านักการเมืองของประเทศไทยนั้นมีความมัวเมา - ในส่วนที่ใหญ่มากๆ - จะก่อกิเลศตัณหาอย่างที่สุด สกปรกที่สุด (โดยรวม) ทั้งยังสอนให้คนเห็นแก่ตัวที่สุด (ปัจเจกบุคคล)

พาราไดม์ที่สี่หรือสุดท้ายเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองที่สำคัญที่สุดที่ไม่นึกไม่ฝันว่าจะเป็นไปได้ นั่นคือความคล้องจองแนบขนานกันระหว่างพาราไดม์ที่หนึ่งหรือศาสนาที่อุบัติทางตะวันออกเช่นลัทธิพระเวทย์ (และศาสนาฮินดู) ศาสนาเต๋า พุทธศาสนาเป็นต้น เข้ากับ พาราไดม์ที่สอง วิทยาสาสตร์โดยเฉพาะแม่ของแม่หรือบิดาของวิทยาศาสตร์ซึ่งก็คือฟิสิกส์นั่นเอง (ฟิสิกส์ใหม่ที่รวมทฤษฏีควอนตัม) ที่นักฟิสิกส์หลายๆคนกล่าวว่าเหมือนกัน  “ยังกับแกะ” ออกมาจากพิมพ์เดียวกัน (in complete agreement - Amit Goswami) ได้ทยอยและค่อยๆเข้ามาถึงในช่วงปลายของชีวิตของผู้เขียน (Fritjof Capra, Gary Zukav, Amit Goswami, etc.  etc.) - คิดเอาเองว่าเป็นกระบวนทัศน์ทางจิตที่นำไปสู่สภาวะจิตวิญญาณที่น่าเสียใจและเสียดายที่มาพบก็เมื่อสายเสียแล้ว อายุใกล้กับ 60 เข้าไปแล้วว่ากันตามจริงมีอยู่สาเหตุเดียวและหามาตลอดชีวิตแต่ไม่รู้ว่าหาอะไร? เพิ่งมารู้ในตอนหลังแทบจะสายเกินไปแล้วว่าสิ่งที่ผู้เขียนแสวงหามาตลอดชีวิตนั้น คือ ปัญญาสูงสุดทางพุทธศาสนา (wisdom นะครบไม่ใช่  intelligence) หรือสัจธรรมความจริงที่แท้จริง (Supreme Reality).

http://www.thaipost.net/sunday/270211/34973
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...