ผู้เขียน หัวข้อ: สังวรอินทรีย์(หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)  (อ่าน 3268 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



สังวรอินทรีย์
โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง
ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

พระธรรมเทศนาของ หลวงปู่เทสก์  เทสรังสี
   สังวรอินทรีย์

วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ตอนค่ำ
ณ วัดเจริญสมณกิจ ภูเก็ต
 
พึงพากันตั้งใจฟังธรรมเทศนาต่อไป จะเทศน์ถึงเรื่องจิตใจทีเดียว เทศน์เรื่องอื่นก็ไกลจากแนวปฏิบัติ
เพราะเวลานี้เราพากันปฏิบัติจิตใจอยู่แล้ว  พุทธภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิเขปบทว่า

ทุรํ  คมฺมํ  เอกจารํ                    อสารีรํ  คูหาสยํ
เย  จิตฺตํ  สญฺญเมสฺสนฺติ        โมกฺขนฺติ  มารพนฺธนา  ติ ฯ

 
แปลว่า จิตไม่มีสาระตัวตน เที่ยวคนเดียวไปไกล มีคูหา (ถ้ำ)  เป็นที่อาศัย
คนใดสำรวมจิตได้ จักพ้นจากเครื่องผูกของมารดังนี้ ฯ
ก่อนจะฟังคำอธิบายเนื้อความแห่งธรรมะนี้   พึงทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้เสียก่อน
จึงจะได้ความชัดขึ้น คือ
 
จิตและการเที่ยวไปของจิต
อะไรเป็นคูหาที่อยู่ของจิต

จิตที่สำรวมได้แล้วจะพ้นจากบ่วงของมารได้อย่างไร
บ่วงของมารได้แก่อะไร



          เบื้องต้นคือเรื่อง จิต  เคยได้อธิบายกันมาบ้างแล้วว่า จิตหรือใจพวกเราพึงเข้าใจทั่วไปว่า   อาการของความรู้สึกนึกคิดนั่นแลเป็นจิต  ให้พากันทำความเข้าใจเพียงแค่นี้เสียก่อน เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติ  ถ้าจะพูดในด้านศึกษาแล้ว มันจะมากเกินไป อันนั้นเอาไว้ทีหลัง  ความรู้สึกเกิดขึ้นในครั้งแรกในเมื่อตาเห็น รูป หูได้ฟังเสียง เป็นต้น เรียกว่า วิญญาณ  เปรียบเหมือนของแข็ง เช่น ช้อนกับชามกระทบกันกริ๊ก ขึ้นครั้งแรก  อาการที่ส่งไปตามเสียงนั้นเรียกว่า จิต การจำเสียงนั้นเรียกว่า สัญญา  อาการรู้สึกชอบนั้นเรียก เวทนา  อาการไปวิตกวิจารณ์ในเรื่องนั้นว่า อะไรหนอ เป็นอย่างไรหนอ จะทำอย่างไรหนอ เป็นต้น เรียกว่า สังขาร  ตัวผู้ไปทำความรู้สึกนึกคิดแล้วจดจำทำให้ชอบและไม่ชอบ วุ่นวายสงสัย ตกลงไม่ได้ เรียกว่า จิต
 
          สรุปความแล้ว ผู้แสดงอาการออกมาจากผู้ไม่มี อาการแสดงนั่นแลเรียกว่า จิต  อาการแสดงของจิตที่แสดงออกมา  ถ้าเป็นไปในทางที่ดี เช่น อยากทำทาน รักษาศีล  แม้แต่เกิดเมตตาสงสาร  ในบุคคลหรือสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยาก เรียกว่า กุศลจิต ที่แสดงออกมาในทางชั่วช้าเลวทราม เช่นคิดอยากฆ่าสัตว์ ลักขโมยของเขา เป็นต้น  แม้แต่แสดงอยู่ภายในใจ เช่น คิดโกรธแค้นคนอื่น เป็นต้น เรียกว่า อกุศลจิต  ถ้าไม่ส่งไม่ส่าย ไม่คิด ไม่นึก สงบนิ่งอยู่เฉยๆ แต่มีความรู้สึกอาการนิ่งเฉยๆ นั้น เรียกว่า จิต แต่นั้น เป็นตัวจิตเดิมแท้   เป็นอันว่าจิตที่แสดงต่อไปนี้  ได้แก่จิตที่แสดงอาการออกมาจากของที่ไม่มีอาการ
 
          คราวนี้ คำว่า  จิตเที่ยวไปไกลคนเดียวนั้นอย่างไร
 
          อธิบายว่า จิตเป็นของไม่มีสรีระ ในคำว่า อสรีรํ แปลว่าไม่มีตัว ก็บ่งชัดอยู่แล้ว เมื่อมีไม่มีตัวมันอยากเที่ยวไปไหนไกลแสนไกลมันก็ไปได้ โดยกายที่มันอาศัยอยู่นี้มิได้รู้อาการของมันด้วยเลย เช่น คิดจะโกรธใครหรือรักใครไกลแสนไกล มันแวบไปชั่วขณะเดียวเร็วกว่ากระพริบตาถึงคนนั้นแล้ว กายยังอยู่ที่นี่เลย ไม่ทราบเขาไปทำอะไรกัน ณ ที่ไหนเมื่อไร  บางทีกายนอนหลับอยู่จิตมันไปเที่ยวทำการศึกสงครามชิงรัก ชิงโกรธ ตกนรก หรือเสวยทิพยสมบัติ มีนางฟ้า นางเทพธิดาเป็นบริวารอยู่ก็มี  แต่กายนอนโกรนโครกๆ อยู่ที่เดิม นี่ที่เรียกว่า เที่ยวไปไกลคนเดียวได้โดยไม่มีอะไรกีดขวาง
 
          ความจริงแล้วจิตมิได้อยู่แต่ผู้เดียว ยังมีสหจรเป็นเพื่อนไปด้วย จิตก็เหมือนกับดวงไฟ เมื่อมีไฟก็ต้องมีแสงสว่าง ความร้อน กำจัดมืดมีพร้อมกันเสียด้วย จิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน จิตจะอยู่ไหน ไปไหนใกล้ไกลไม่ว่า จะต้องมีอาการเสวยความสุข-ทุกข์-เฉยๆ  มีสัญญาความจำได้หมายรู้ในที่นั้น หรือสิ่งนั้นๆ สังขารความปรุงแต่งโน่นนี่ต่างๆ นานา  วิญญาณความรู้ดีชั่ว เป็นต้น  ที่ท่านแสดงว่าเที่ยวไปคนเดียว หมายถึงกายกับจิตอยู่อาศัยกัน แต่เมื่ออีกคนหนึ่ง(จิต)เที่ยวไปไกล แต่คนหนึ่ง(กาย)ไม่รู้ต่างหาก  เมื่อคนสองคนอยู่ด้วยกันถ้าอีกคนหนึ่งเที่ยวไปไม่บอกเพื่อน เรียกว่าเที่ยวไปคนเดียว หรือลักลอบไปคนเดียว
 
          อะไรเป็นคูหาที่อยู่ของจิต
 
          ถึงจิตจะมีเชาว์ไวเที่ยวคนเดียวได้ตามลำพังตนอย่างไรก็ตาม เมื่อที่อยู่อาศัยเครื่องมือเครื่องใช้ยังบริบูรณ์อยู่ไม่แตกดับพังไป ก็จำเป็นต้องง้องอน กลับมาอยู่ร่วมกินร่วมนอน  อาศัยถ้ำคือร่างกายอันนี้ เหมือนกับค้างคาวถึงจะบินได้เที่ยวหากินอาหารทางไกล ถึงเวลานอนก็จะต้องกลับมาเกาะอาศัยถ้ำหิน ซึ่งเป็นของไม่มีวิญญาณเคลื่อนที่ไม่ได้อยู่นั่นเอง ดูแต่เวลาคนเราเมื่อนอนหลับฝันไป บางคราวปรากฏว่า ได้ไปเที่ยวไกลเสียจนเกินขอบเขตขนาดที่ซึ่งไม่เคยเห็นก็มีแต่แล้วพอรู้สึกตื่น ร่างก็ยังอยู่ที่เก่านี่เอง
 
          บ่วงของมารได้แก่อะไร
 
          อาการของจิตที่เที่ยวไปตามอารมณ์นั้น ย่อมมีทั้งอารมณ์ดีและอารมณ์ร้าย จึงต้องมีความสุขบ้างทุกข์บ้างเป็นธรรมดา ตามวิสัยของปุถุชน จิตที่เที่ยวไปนั้นจะต้องประสบของ ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ซึ่งเรียกว่ากามคุณ ๕ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าเป็น บ่วงของมาร
 
          จิตของปุถุชนทั้งหลายเมื่อเที่ยวไปประสบอารมณ์ทั้ง ๕ นั้น หรือเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดความยินดีพอใจก็ดี หรือเกิดความเสียใจเป็นทุกข์ก็ดี เรียกว่าเข้าไปติดบ่วงของมารแล้ว

 
          คำว่า “ติด” ในที่นี้ หมายความว่าสลัดไม่ออกปล่อยวางไม่ได้ บ่วงของมารผูกหลวมๆ แต่แก้ไม่ได้ ถ้าดิ้นก็ยิ่งแต่รัดแน่นเข้า




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สังวรอินทรีย์(หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มิถุนายน 14, 2011, 03:40:23 am »




จิตที่สำรวมได้แล้วจะพ้นจากบ่วงของมารได้อย่างไร

          ปุถุชน เบื้องต้นเมื่อเห็นโทษภัยในการเข้าไปติดบ่วงของมารแล้ว จึงต้องพึงสำรวมในอายตนะทั้งหลาย มีตา หู เป็นต้น  พระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า ใครสำรวมจิตได้แล้ว จักพ้นจากเครื่องผูกของมาร ดังนี้
 
          ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นโคจรที่เที่ยวแสวงหาอารมณ์ของจิต เมื่อเราปิด คือ สำรวมมีสติระวังอย่าให้จิตหลงไปในอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นได้แล้วเป็นอันว่ามารผูกมัดเราด้วยบ่วงไม่ได้
 
          แท้จริง  มิใช่มารจะไปเที่ยวผูกหลงเกเร บ่วงของมารก็เหมือนกับบ่วงธรรมดาของคนเราๆ ทั่วไปนี่แหละ เขาดักไว้ในที่ที่สัตว์มันจะต้องเที่ยวไป บ่วงของมารมันก็ดักไว้เฉพาะช่องทางของจิตที่จะต้องเที่ยวไป มิใช่มันจะเที่ยวไปหาดักเอาบุคคลผู้นิ่งสำรวมแล้ว จิตของบุคลผู้หิวแล้วด้วยตัณหาจะต้องวิ่งออกตามทวารต่างๆ เช่น ตา เป็นต้นความหิวทำให้มืดมิดปิดตา ไม่มีปัญญา หลงวิ่งตามอารมณ์    เมื่อเห็นเข้าแล้วทำให้หลงรักใคร่ชอบใจ   หลงติดอยู่ในรูปนั้น   อาการเข้าไปติดอยู่ในรูปด้วยความรักใคร่ชอบใจเป็นต้น  เป็นอาการของขโมย คือ จิตไปขโมยเอารูปของคนอื่นมาไว้รักใคร่ชอบใจ  ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของตนโดยที่รูปไม่รับรู้รับเห็นด้วย  ถึงแม้จิตดวงที่ครองอาศัยอยู่ในรูปนั้นจะรับรู้ร่วมรักด้วยก็ตามตัวรูปแท้ก็มิได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรด้วยเลย  นอกจากจะเป็นตัวหุ่นให้จิตเชิดเล่น จิตนี้จึงจัดได้ว่าเป็นตัวมหาโจรอย่างทารุณมาก บ่วงทั้งหลายใดๆ ในโลกนี้  นอกจากบ่วงของมารแล้วไม่ควรค่าแก่ความผิดของเขา
 
          ความหิวไม่รู้จักพอเป็นต้นเหตุให้จิตเกิดเป็นขโมย หิวอะไรก็ตาม หิวรูป ดูแล้วได้แล้วไม่มีการพอ หิวในเรื่องอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน  ความหิวจึงได้ชื่อว่าเป็นโรคอย่างยิ่ง  ไม่ว่าคนหรือสัตว์เมื่อความหิวเข้าครอบงำแล้ว ย่อมทำให้เสียมารยาทและความอาย จึงทำให้หลงเข้าไปติดได้ง่ายดายอย่างไม่มีปัญหา และเมื่อติดแล้วก็ไม่มีวันหลุดอีกด้วย
 
          บ่วงของมารท่านว่าผูกหลวมๆ แต่แก้ไม่หลุด  ยิ่งดิ้นก็มีแต่จะรัดแน่นเข้าทุกที  บ่วงคือความรักใคร่ในรูปเป็นต้น  เข้าไปผูกหัวใจคนใดแล้ว จะต้องเป็นบ้าคลั่งไคล้หลงใหล  กินไม่ได้นอนไม่หลับ  หรือหลับแล้วก็ยังตามละเมอเพ้อไปก็มี ศึกชิงรักเคยมีประจำโลกมานานแล้ว แม้ในปัจจุบันนี้ผู้ยอมสละชีพบูชารักก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ ในอนาคตก็ดี  ถ้าหากความหิวนี้ยังไม่หายจากหัวใจของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เชื่อว่าเหตุทำนองเดียวกันนี้ ก็คงจะมีอยู่ตลอดไป
 
          ความจริง ตา หู  จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นแต่เพียงทวารที่โคจรของจิตเท่านั้น  ส่วนรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็เป็นแต่เพียงวัตถุธาตุอันหนึ่งสำหรับไว้เป็นคู่กับอายตนะภายในเท่านั้น  ไม่น่าจะไปก่อกรรมทำเข็ญสร้างสถานการณ์จนถูกบ่วงของมารเลย โดยเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว คือ ความหิวตัวเดียวเป็นต้นเหตุ จึงได้สร้างสถานการณ์ขึ้น
 
          ฉะนั้น พระพุทธองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาธิคุณแก่บรรดาสัตว์ผู้ยังหลงติดบ่วงของมารอยู่ จึงได้ตรัสเตือนไว้ว่า
 
          เย  จิตฺตํ  สญฺญเมสฺสนฺติ       ผู้ใดสำรวมจิตได้จักพ้นจากเครื่องผูกของมาร  ดังนี้
 
          จิตเป็นของไม่มีตัวดังแสดงมาแล้ว  ฉะนั้นจะใช้วัตถุอะไรผูกมัดระวังรักษาเหมือนสิ่งอื่นๆ ไม่ได้ ต้องใช้สติความระลึกได้ เป็นเครื่องระวังสังวรรักษาจึงจะได้ ของที่เป็นวัตถุมีรูปร่าง ก็ต้องใช้วัตถุมีรูปร่างผูกมัดกันไว้จึงจะอยู่ จิตไม่มีรูปร่างก็ต้องใช้สติธรรมที่หารูปร่างมิได้ผูกมัดจึงจะสำเร็จประโยชน์
 
          เมื่อเรามีสติรู้เท่าทันกับจิตที่มันคิดส่งไปในโคจรของมัน มี ตา หู จมูก เป็นต้น ได้แล้ว ตา หู จมูก เป็นต้น ซึ่งเป็นของธรรมชาติ เวรกรรมบาปบุญสร้างมาไว้ สำหรับให้จิตใช้ก็จะไม่เป็นภัยแก่จิตเลย จริงอยู่ประตูทวารทั้ง ๖ มีตา เป็นต้น  ตกอยู่ในคุ้มครองของมาร  มารได้ดักบ่วงไว้หมดแล้ว แต่เมื่อผู้มีสติระวังสังวรในอายตนะทั้งหลายได้แล้ว จะรอดพ้นจากบ่วงของมาร ๕ ได้แก่ ขันธ์ เป็นต้น ได้อย่างปลอดภัย
 
          ความจริง รูปขันธ์เป็นต้นมิใช่ตัวของมารแท้ ความที่จิตไปเกิดความรักใคร่ยินดี ในเมื่อเห็นรูปเป็นต้น นั่นต่างหากเป็นตัวมาร   รูป ฯลฯ เป็นต้น  ถึงอย่างไรๆ มันมีสภาพเป็นอยู่อย่างนั้น ใครจะรัก จะเกลียด จะโกรธ อย่างไร สิ่งเหล่านั้นก็คงเป็นเช่นเดิม  ที่ว่าถูกบ่วงของมาร ก็คือจิตที่ไปติดยึดมั่นอยู่ในอารมณ์ ในเมื่อตาเห็นรูป ฯลฯ ว่าเป็นของสวยงามรักใคร่พอใจ แล้วสละปล่อยวางไม่ได้ จึงเรียกว่า ถูกบ่วงของมาร
 
          เมื่อเรามีสติระวังสังวร ในเมื่อตาเห็นรูป เป็นต้น ไม่ไห้หลงไปสำคัญในรูปว่าเป็นของสวยงามน่ารักน่าใคร่พอใจ  ให้เห็นเป็นแต่เพียงสักว่ารูปภาพอันหนึ่งเหมือนๆ กับรูปทั้งหลายที่เราเห็นทั่วๆ ไป  ใจก็จะไม่ติดยึดในรูปนั้นและจะรอดพ้นจากบ่วงของมารไปได้โดยปลอดภัย

 
          อายตนะทั้งหลายบุญกรรมสร้างไว้ให้เป็นประโยชน์ มิใช่สร้างมาเพื่อให้เกิดโทษ  และสร้างมาไว้เฉพาะประจำตำแหน่งหน้าที่ของตนโดยตรงด้วย หากอายตนะอันใดอันหนึ่ง เป็นต้นว่า ตา เสียแล้ว  ก็จะไม่ครบคู่ของมัน เลยกลายเป็นคนพิการไป คนพิการย่อมไม่ควรแก่ธรรมชั้นสูงได้ หากคนในโลกนี้ทุกๆ คนพากันพิการดังว่านั้นคนละอย่างสองอย่างไปเสีย  โลกนี้ก็จะกลายเป็นโลกพิการไม่สมบูรณ์ พระพุทธเจ้าคงไม่มาตรัสรู้แน่ แต่นี้เพราะโลกสมบูรณ์และคนสมบูรณ์ด้วยสมบัตินั้นเอง แต่คนเราใช้สมบัติอันสมบูรณ์แล้วไม่เป็น และไม่ถูกต้องตามจุดหมาย  พระพุทธเจ้าจึงได้มาตรัสรู้และเทศนาแนะให้รู้จักใช้สมบัติอันล้ำค่าของตน เพื่อเป็นประโยชน์อันยิ่ง
 
          แท้จริงอายตนะทั้งหลายมี ตา หู เป็นต้น  ถึงแม้จะเป็นบ่อเกิดของกิเลสก็เฉพาะผู้ไม่มีปัญญารู้จักระวังสังวรเท่านั้น แต่เมื่อผู้ฉลาดในทวารทั้ง ๖ นั้นแล้วจะเป็นบ่อเกิดของอุบายปัญญายิ่งกว่าให้เกิดกิเลสไปเสียอีก  อายตนะทั้งหลายมี ตา หู เป็นต้น  เป็นสมบัติอันล้ำค่าของคนเราแต่ละคน ซึ่งบุญกรรมนำมาตกแต่งให้อย่างมหัศจรรย์โดยเฉพาะ  และจะแลกเปลี่ยนซื้อขายกันอย่างของสิ่งอื่นๆ ไม่ได้เด็ดขาด ทนการใช้ได้นานมีคุณภาพดี บางคนยังสามารถใช้ได้ตั้ง ๕๐-๖๐-๑๐๐ ปีก็มี  ของดีมีค่านี้ถ้าเราได้นำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ก็จะมีคุณเหลือค่าเหมือนกัน เป็นต้นว่ามีตาที่ดี ดูของที่ดี เช่นดูวัตถุที่จะนำมาซึ่งความเลื่อมใส ทำจิตใจของเราให้ร่าเริงบันเทิงในทางกุศล เช่น เห็นรูปพระพุทธเจ้าผู้ท่านบริสุทธิ์สิ้นกิเลสบาปธรรมแล้ว หรือรูปพระธาตุเจดีย์อันเกี่ยวเนื่องด้วยองค์ของพระพุทธเจ้า จะเกิดเป็นกามาวจรกุศลจิตขึ้น หรือเป็นพุทธานุสติกัมมัฏฐานให้เกิดสมาธิ อันเป็นที่ตั้งของปัญญาสามารถประหารกิเลสบาปธรรมได้เป็นที่สุด หากยังไม่สามารถจะทำให้พ้นทุกข์ได้ในปัจจุบันชาตินี้ ตาที่เราดูแต่สิ่งที่ดีมีค่านั้น ก็จะบันดาลให้เราได้ตาอันบริสุทธิ์ในภพหน้าต่อไป



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สังวรอินทรีย์(หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มิถุนายน 14, 2011, 03:44:18 am »


                   

             หากจะมีปัญหาถามว่า ตาเป็นต้นของเรา ที่ได้สะสมแต่ความดีไว้ในภพนี้แล้ว เมื่อตายไปเกิดในภพใหม่ ตาเป็นต้นจะตามเราไปให้ผลดีได้อย่างไร เพราะตาติดอยู่กับกาย เมื่อกายแตกดับแล้ว  อายตนะเหล่านั้นก็พลอยดับไปด้วย ขอเฉลยไว้ ณ ที่นี้เลยว่าเมื่อพุทธบริษัททุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า ตัวของมนุษย์สัตว์นี้มีอยู่ ๒ ชั้นด้วยกันคือ กายกับใจ ก็ไม่เห็นน่าสงสัยในเรื่องนี้ เพราะกายมีอายตนะได้ ใจก็มีอายตนะได้เหมือนกัน เราจะสังเกตได้ในเมื่อเรานอนหลับอยู่ดีๆ ไม่รู้สึกอะไรเลย  แต่เวลาฝันไปเห็นนั่นเห็นนี่ หรือได้อะไรต่ออะไรมากอย่าง นั่นแหละคือ อายตนะของใจ เวลาตายไปใจมันได้อายตนะนั่นแหละไปเกิดด้วย  พร้อมทั้งความดีและความชั่วที่อายตนะเหล่านั้นได้สะสมไว้ แต่ถ้าจะถือเอา  “เซลล์”  เป็นใจตามทางวิทยาศาสตร์แล้ว ก็จะต้องอธิบายกันยืดยาว ฯลฯ

          อายตนะของใจ   แปลกจากอายตนะของกายที่ใช้กันอยู่ทั่วไป อายตนะของกาย ใจมีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้เห็นด้วย แต่อายตนะของใจแล้ว ใจใช้คนเดียว กายไม่รับรู้ด้วยเลย  อายตนะของกายเกิดจากธาตุหยาบมี ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น  ใช้ได้เฉพาะอายตนะหยาบเช่นเดียวกัน  ส่วนอายตนะของใจเป็นอายตนะกายสิทธิ์ประกอบขึ้นด้วยบุญกรรมโดยเฉพาะ ใช้ได้ในทางมโนภาพ เป็นเครื่องมือประจำกับจิตใจใช้ได้ตลอดไป ในเมื่อยังไม่พ้นจากโลกอันมีอายตนะอยู่
 

          อายตนะทั้งสองประเภทนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ในเมื่อเรายังท่องเที่ยวอยู่ในโลก อันประกอบด้วยอายตนะแล้ว ยังเป็นเครื่องวัดของปัญญาวิปัสสนาผู้จะข้ามพ้นจากโลกอีกด้วย ผู้มีปัญญาจะข้ามพ้นโลกอันมีอายตนะ หากไม่ใช้อายตนะเหล่านี้เป็นที่ก่อตั้งก่อนแล้ว จะข้ามอายตนะได้อย่างไร
 
          เปรียบเหมือนคลองหรือแม่น้ำเป็นเครื่องหมายของผู้จะข้าม ผู้ข้ามพ้นได้ก็เรียกว่ามีความสามารถ เมื่อข้ามไม่ได้ก็เรียกว่าหมดความสามารถ
 
          ฉะนั้น ถึงแม้จะเป็นช่องทวารสำหรับบ่วงของมารดักก็ตาม แต่เป็นเครื่องแสดงความสามารถของผู้มีปัญญา ที่เล็ดลอดบ่วงมารไปได้ ในเมื่อใช้อายตนะนั้นอยู่ด้วยการระวังสังวรในอายตนะทั้งหลายดังกล่าวแล้ว
 
          อายตนะทั้งหลายเป็นของที่มีคุณค่าหาประมาณมิได้ดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อใช้ของดีมีค่าโดยผิดตำแหน่งหน้าที่ ก็ทำของดีนั้นให้เสียไปมิใช่น้อยเหมือนกัน เช่น ตา เป็นต้น  เมื่อเห็นรูปแล้วทำให้เกิดความรักใคร่กำหนัดยินดี ในเมื่อรูปมีอยู่และหายไป หรือได้มาแล้วยังต้องการรูปอื่นอีก ไม่รู้จักจบสิ้นสักที  ถึงแม้ตานอกใช้ไม้ได้แล้ว  ตาในยังรักยังชอบอยู่ดังนี้เป็นต้น  เรียกว่าเอาตาไปบูชาของไม่มีสาระปฏิกูลเปื่อยเน่า เข้าทำนองที่ว่า   เอาพิมเสนไปแลกเกลือ   ถ้าหากเรารู้คุณค่าของอายตนะทั้งหลายมีตา เป็นต้น  ตามเป็นจริงแล้ว  เช่น ตาดูรูป ดูเพื่อให้เกิดความรู้ตามเป็นจริงว่า รูปเพียงภาพให้เกิดแสงสะท้อนเข้าตา เพื่อให้ตาเห็นเท่านั้น มิใช่เป็นของดีของเลวอะไร
 
          คำว่า ดีและเลวเป็นเรื่องของกิเลส ของใจ ทำให้หลงใหลไปต่างๆนานา    ถึงกับเป็นบ้า เอาตาของดีๆ ไปบูชารูปเน่าของสกปรก  เมื่อรู้สึกได้เช่นนี้แล้ว อายตนะทั้งหลายจะเป็นเหมือนสายสื่อให้เกิดปัญญาทุกๆ วิถีทาง
 
          พุทธบริษัทผู้ปฏิบัติในการระวังสังวรอินทรีย์ทั้งหลาย เมื่อพากันได้ฟังธรรมบรรยายมาเพียงเท่านี้  จงพากันจับเอาเนื้อความแห่งธรรมบรรยายนี้ ไปกำหนดจดจำ แล้วนำไปคิดพิจารณาให้ถูกให้แจ้งด้วยตน  เมื่อต้องการพ้นจากบ่วงของมารก็จะไม่เป็นการยากนัก  ถ้าอาศัยไม่ประมาทอยู่เสมอๆ เพราะมารมันดักบ่วงอยู่  ตัวเราประมาทเมื่อไร อาจพลัดหลงเข้าไปติดได้ง่าย
 
ดังบรรยายมาด้วยประการฉะนี้ ฯ



Credit by : http://agaligohome.com/index.php?topic=4498.msg11843;topicseen#msg11843
นำมาแบ่งปันโดย : miracle of love
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 09, 2012, 01:12:42 pm โดย ฐิตา »