ธรรมชาติของความคิดที่เป็นสมบัติร่วม โบห์มพูดถึงปัญหาต่างๆ ของโลกที่มีอยู่มากมาย นับวันก็แต่จะสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้น และตัวปัญหาก็เพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพ บางทีมันอาจจะไม่ได้มีสาเหตุมาจากภายนอกก็ได้ บางทีมันอาจจะมีเค้าเงื่อนมาจากเจ้าตัวความคิดของมนุษย์เรานี้เอง
ดังเช่นเมื่อเกิดปัญหาหนึ่งขึ้นมา เราก็ไปคิดค้นวิธีแก้ไขอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา วิธีใหม่นั้นนอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาเก่าแล้วยังสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก แล้วเราก็คิดหาวิธีแก้ปัญหาอย่างใหม่นั้นอีก ได้ปัญหาอย่างใหม่กว่าขึ้นมาอีก เป็นไปเช่นนี้อย่างไม่รู้จบหรือว่าที่จริงปัญหาที่แท้ซ่อนเงื่อนอยู่ในขบวนความคิดนี้เอง
และก็น่าคิดว่าขบวนการคิดนี้เป็นปัจเจกสักเพียงใด เพราะตั้งแต่เกิดมา ที่มาของความคิดก็มาจากคนอื่นๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู หรือสังคม ความคิดของเราที่อาจจะคิดขึ้นมาบ้างก็เป็นผลผลิตของความคิดร่วมที่มีอยู่ในภาษาและวัฒนธรรมนั้นเอง ดังนั้นมันจึงเหมือนกับอยู่ในมหาสมุทรแห่งความคิดที่เป็นของส่วนรวมของมนุษยชาติ และถ้าหากมันเป็นอย่างผิดทาง มันก็จะผิดทางกันไปหมด
มันเหมือนกับเชื้อไวรัส ยิ่งมีวิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์มากยิ่งขึ้นเท่าไร เจ้าเชื้อไวรัสนี้ก็แพร่ไปได้กว้างไกลเพียงนั้น
เป็นไปได้ไหมว่าแหล่งที่มาของปัญหามันลึกซึ้งมาก อาจจะมีอะไรผิดพลาดที่ขบวนทั้งหมดของความคิด อันเป็นของส่วนรวมที่เป็นของพวกเราทั้งหมด โดยปกติแล้วความคิดส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นปัจเจก หากก่อเกิดในวัฒนธรรมทั้งมวล และแผ่สยายปีกปกคลุมพวกเราอยู่ โครงสร้างอันลึกซึ้งของความคิดนี้แหละเป็นแหล่งที่มาและดำรงอยู่ตลอดเวลาควบคู่กับมนุษยชาติ
โบห์มมองไปว่า เป็นไปได้ไหมที่ปัญหานี้เกิดขึ้นมาระหว่างรอยต่อของวิวัฒนาการของมนุษย์เอง อันเป็นรอยต่อระหว่างสมองเก่ากับสมองใหม่ รอยต่อที่ยังไม่ลงรอยดีนัก คือมันเกิดขึ้นที่สมองใหม่สามารถสร้างตัวแทนของการรับรู้ (representation) ขึ้นมา คือสร้างนามธรรมให้กับการรับรู้ และเก็บเอาไว้เป็นความทรงจำ แต่ปัญหาก็ไม่ได้อยู่ที่ความสามารถใหม่ที่ได้มา แต่เกิดกับการที่เราไม่สามารถแยกแยะตัวแทนของการรับรู้กับการรับรู้และเรานำทั้งสองอย่างนี้มาผสมผสานเข้าเป็นชุดใหญ่แห่งตัวแทนของการรับรู้ขึ้นมา และอันนี้ก็เข้ามาเป็นรากฐานของความคิดทั้งปวง
โดยทั่วไป เราไม่สามารถสังเกตเห็นการเชื่อมโยงระหว่างตัวแทนของการรับรู้กับการรับรู้ ความคิดนั้นดูเหมือนว่าจะขาดความสามารถที่จะมองเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น ขบวนการนี้เป็นไปโดยไม่รู้ตัว เป็นไปอย่างซ่อนเงื่อนงำอยู่ภายใน และมองไม่เห็น เราจึงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ลองจินตนาการเห็นข้อมูลมาจากอายตนะ (ประสาทรับรู้) ที่สมองจัดระเบียบหาความหมายทางหนึ่ง และมีสายธานของข้อมูลมีทางหนึ่งมาจากความคิดและสองทางนี้ผสมผสานกันเข้าเป็นหนึ่ง เป็นผลรวมของตัวแทนแห่งการรับรู้ขึ้นมา ที่ผิดพลาดขึ้นมาไม่ใช่เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น แต่ปัญหาอยู่ที่เราไม่ได้ตระหนักรู้ว่ามันเกิดขึ้นต่างหาก
การเกิดขึ้นของตัวแทนการรับรู้นี้ ก่อขึ้นมาเป็นสมบัติร่วมของมนุษยชาติ กลายเป็นโลกๆ หนึ่งที่ส่วนใหญ่พวกเราจะมองมันว่าเป็นโลกของความเป็นจริง บางคนอาจจะใช้คำว่าสามัญสำนึกแทน “โลกที่เป็นจริง” ใบนี้ เราจะมองโลกๆ นี้ ที่มนุษย์สร้างขึ้นและเป็นสมบัติร่วมใบนี้ว่าเป็นโลกมายาก็ย่อมได้ มันคงเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงอยู่ด้วยบ้าง แต่มันเป็นการตีความเพียงอย่างหนึ่ง ที่อาจตีความได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด และก็เป็นการตีความที่มีความผิดพลาดอยู่มากมาย ดังจะเห็นได้จากปัญหาที่แก้ไม่ตก และขยายตัวใหญ่โตรุกลามอยู่ในทุกวันนี้ จนถึงขนาดที่มนุษย์อาจจะสูญพันธุ์ไปจากโลก
โลกแห่งความเป็นจริงหรือโลกมายาหรือสมบัติร่วมแห่งโลกตัวแทนการรับรู้ที่มนุษย์สร้างร่วมกันมานี้ให้นิยามและตีความความเป็นตัวตนของปัจเจกบุคคลไว้ด้วย ได้ให้เนื้อที่ปัจเจกไว้ โดยนิยามปัจเจกนั้น แท้ที่จริงก็ถูกกำหนดด้วยโลกแห่งมายานี้เอง ซึ่งหมายความว่า ความเป็นตัวของตัวเองของมนุษย์ แท้จริงก็ดำเนินไปในกรอบกำหนดของโลกมายาใบนี้ เนื้อที่ที่ดูเหมือนจะมีความเป็นปัจเจกมากมายนั้น แท้ที่จริงก็ยังหนีไม่พ้นกรอบของโลกมายาใบนี้ เป็นเหมือนสีสันสไตล์ที่ดูแตกต่างแต่แท้จริงแล้วก็ไม่แตกต่างแต่อย่างใดเลย
ถ้าการแก้ไขปัญาของโลกยังอยู่ที่การคิดโดยอาศัยตัวแทนของการรับรู้เช่นเดิม ก็จะไม่มีอะไรแปรเปลี่ยน ความคิดนั้นก็ยังจะวนเวียนอยู่ในปัญหาเหมือนเดิม แต่ถ้ารื้อไปถึงการรับรู้โดยแทนที่จะไปอาศัยตัวแทนของความรับรู้อย่างสำเร็จรูปอยู่อย่างนั้น เรากลับมองให้ลึกซ้องผ่านพ้นความเป็นตัวแทนของการรับรู้ เข้าไปรับรู้โดยตรงและก่อรูความคิดขึ้นมาใหม่ ขบวนการคิดย่อมแปรเปลี่ยนไป โลกย่อมแปรเปลี่ยนไป
แต่เนื่องด้วยธรรมชาติของความคิดนั้นเป็นสมบัติร่วม การจะสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่า ที่ไม่วนเวียนอยู่กับมหาสมุทรแห่งตัวแทนของการรับรู้อย่างเดิมที่เป็นปัญหา เราต้องสร้างโลกร่วมกันเป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังผลักดันให้เกิดโลกใหม่ได้
แล้วโลกใหม่จะไปติดอยู่ในกรอบของอคติหนึ่งใดหรือหลายๆ อคติหรือไม่? แน่นอนสิ่งนั้นย่อมเป็นไปได้ แต่ด้วยการสนทนาที่เปิดใจแสวงหาสัจจะด้วยท่าทีที่สอบทานตัวแทนแห่งการรับรู้ได้เสมอพลวัตของวงสนทนานั้น ย่อมช่วยกันสามารถสลายอคติต่างๆ ให้เบาบางลงไปได้ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้โบห์มจึงนำเสนอรูปแบบการสนทนาแบบของเขา และก็มีการนำการสนทนาแบบนี้ไปใช้มากขึ้นทุกทีแล้ว ใน
หลายวงการ ในระดับโลก