ผู้เขียน หัวข้อ: น้ำท่วม-แล้ง..วิกฤติ!“ชีวิตพอเพียง”ช่วยเลี่ยง-ช่วยบรรเทา  (อ่าน 2712 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด

“วิกฤติภัยพิบัติธรรมชาตินับวันจะรุนแรงขึ้น และเป็นวิกฤติการณ์ที่ทุกฝ่ายทุกภาคส่วนต้องเผชิญร่วมกัน มูลนิธิฯ ตระหนักถึงจุดนี้ จึงได้นำเสนอรูปแบบการปฏิบัติเพื่อผ่านวิกฤติจากการปฏิบัติจริงของสมาชิกเครือข่ายในแต่ละภาค จำลองให้เห็นเป็นรูปธรรม สัมผัสได้จริง ในประเด็น วิถีบ้าน-บ้าน…ผ่านวิกฤติได้จริง ซึ่งครอบคลุมทั้งประเด็นวิกฤติหนี้ หมอกควัน ภัยแล้ง และน้ำท่วม ตลอดจนแนวทางการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงของคนเมืองที่เป็นรูปธรรม นำไปปฏิบัติตามได้จริง”
   
...เป็นการระบุของ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ภายหลังเปิดโครงการฟื้นฟูและดูแลแผ่นดินด้วยเกษตรอินทรีย์ ที่เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติจัดทำร่วมกับบริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด ในงานมหกรรม “คืนชีวิตให้แผ่นดิน” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ศูนย์กสิกรรมฯ มาบเอื้อง จ.ชลบุรี
   
งานนี้เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนทั่วประเทศที่น้อมนำ ’ศาสตร์พระราชา“ น้อมนำ ’ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง“ ไปปฏิบัติจริง เพื่อแสดงผลการดำเนินงาน ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อการขยายผลการปฏิบัติไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระอันเป็นมหามงคล ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษาในปีนี้
   
เรื่อง ’พิบัติภัย“ การหลีกเลี่ยง บรรเทา ’วิกฤติภัยแล้ง–วิกฤติน้ำท่วม“ ก็มีการนำมาแสดง นำมาตั้งวงเสวนา รวมถึงมีเวทีเสวนานานาชาติ “วิถีบ้าน-บ้าน...ผ่านวิกฤติ” ในระดับข้ามชาติ โดย ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ เลขาธิการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมด้วยตัวแทนจากต่างประเทศหลายองค์กร ซึ่งก็มีมุมน่าสนใจ
   
ทั้งนี้ ดร.สุมิท ระบุว่า...ศาสตร์แห่งพระราชาแก้วิกฤติของโลกได้ มิใช่แค่ในไทย ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐของไทยเองยังให้ความสนใจไม่เต็มที่ แต่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ในระดับโลกกลับให้ความสนใจตัวอย่างของความสำเร็จ มีทั้งโครงการเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชีย โดยการทำงานร่วมกับเครือข่ายสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม ศูนย์ทรัพยากรระดับภูมิภาคแห่งเอเชียและแปซิฟิก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ รวมถึงกลุ่มชาวเอเชียหลายชาติที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อนเอเชีย เข้ามาเรียนรู้แนวทาง แลกเปลี่ยนความเห็นกัน
   
’เรียกได้ว่าเป็นการจับมือที่ไร้รูปแบบ ไร้ข้อจำกัด ทั้งฐานะ ภาษา เชื้อชาติ วัฒนธรรม เพราะเหตุจำเป็นที่เห็นประจักษ์ไม่ต้องรอรายงานข้อมูลยืนยันก็ตระหนักได้ว่า วิกฤติมาจ่อประตูบ้านแล้ว“
   
ดร.สุมิท ระบุอีกว่า...การตอบรับ-การสนใจขององค์กรเหล่านี้เป็นสิ่งตอกย้ำความจริงในศาสตร์สำคัญได้เป็นอย่างดี ซึ่งอีกจุดสำคัญคือศาสตร์นี้ยังใช้ได้กับภาคอุตสาหกรรม โดยสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง องค์กรอิสระที่เผยแพร่และผลักดันปรัชญาเศรษฐกิจ
พอเพียงสู่การปฏิบัติ จัดทำ มาตรฐานเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม ขึ้นมา
   
“จะเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมสัญชาติไทยแท้ฉบับแรก โดยน้อมนำพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทฤษฎีหลักในการร่างมาตรฐาน โดยถอดความสำเร็จจากตัวอย่างอุตสาหกรรมที่ได้น้อมนำพระราชดำรัสสู่การปฏิบัติแล้วเกิดผลจริงมาเป็นแนวทาง”...เลขาฯสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงระบุ และว่า...มาตรฐานนี้จะเกิดประโยชน์ทั้งต่ออุตสาหกรรม ชุมชน สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม บนพื้นฐานการพึ่งตนเองได้
   
สำหรับมิติของสิ่งแวดล้อม ในมุมของ พิบัติภัย-ภัยธรรมชาติ ดร.สุมิท ระบุว่า...มีตัวอย่างให้เห็นในประเทศไทยว่า วิถีบ้าน-บ้าน วิถีพอเพียง แก้ปัญหาได้จริง เช่น ภาคเหนือที่เคยต้องผจญกับวิกฤติหมอกควันอันเกิดจากไฟป่า ก็มีวิธีป้องกันไฟป่า ทั้งการสร้างป่าเปียก ทำฝายชุ่มชื้น ปลูกป่า 3 อย่างให้ได้ประโยชน์ 4 อย่าง การจัดการน้ำระบบที่สูง ซึ่งทำให้ อยู่ได้แบบพอเพียง ด้วยวิถีที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ รักษาป่า รักษาต้นน้ำไว้
   
หรือภาคอีสานที่เจอภัยแล้งประจำ ถ้ายึดวิถีบ้าน-บ้าน วิถีพอเพียง ก็ยังมีที่อยู่ที่กินตามโคกสูงหัวไร่หัวนาที่เรียกว่า “โพน” ซึ่งเกิดจากปลวกสร้างขึ้นโดยใช้เวลานานหลายสิบปี กลายเป็นป่ากลางนาไร่ เสมือนมีโอเอซิสกลางทะเลทราย บางโพนมีหนองน้ำอยู่ด้วย พวกนก หนู ก็พากันไปอาศัย คนก็อาศัยโพนเป็นที่หาอาหาร เป็นแหล่งน้ำ แต่ถ้าไถกลบโพนเสียหมด เมื่อเกิดภัยแล้งก็ยิ่งแล้งไปกันใหญ่ ไม่มีแม้แต่ที่จะหลบร้อนด้วยซ้ำไป
   
’เรามีภูมิความรู้ มีแนวทางที่ดี มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด แต่กลับละเลย ขณะที่นานาชาติกลับทึ่ง สนใจ เห็นว่านำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมได้กับทุกพื้นที่บนโลกนี้“...ดร.สุมิท ทิ้งท้ายไว้ ซึ่งก็น่าคิด
   
ทั้งนี้ กับภัย “น้ำท่วม” นั้น พอเกิดขึ้นหนัก ๆ ทีไรก็มักจะได้ยินคำว่า ในรอบ 20 ปี 30 ปี 100 ปี ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านควบคู่ก็จะได้ยินการตั้งข้อสังเกตเรื่องการมีสิ่งปลูกสร้างไปปิดกั้น ขวางทางน้ำ ซึ่งก็หมายรวมถึงถาวรวัตถุที่ขยายตัวตามการเติบโตของชุมชนเมือง...ซึ่งหันหลังให้ วิถีบ้าน-บ้าน ’วิถีพอเพียง“
   
วิถี-ชีวิตที่ ’พอเพียง“ ช่วยบรรเทา-เลี่ยงภัยธรรมชาติได้
   
แต่นับวันคนไทยยิ่งต้องประสบภัยธรรมชาติหนักขึ้น??.



 
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=23&contentID=130068
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...