เจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่งบอกว่าเมื่อนำการฟังอย่างลึกไปใช้ในครอบครัวทำให้เข้าใจสามีมากขึ้น ทั้งยังสามารถ “ก้าวข้าม” ความคุ้นชินเดิมที่ไม่กล้าแสดงออก กลายเป็นคนที่สามารถพูดแสดงความคิดเห็นในวงสนทนาได้อย่างสวยงาม เป็นคำพูด “ตะกุกตะกักที่ไพเราะ” และ “ให้ความหมายที่ลึกซึ้งมาก” การสนทนาแบบโบห์ม ๕ : ประยุกต์ใช้การสนทนาแบบโบห์มอย่างไร? มีผู้ที่เห็นด้วยกับโบห์มและนำแนวทางการสนทนาแบบโบห์มไปประยุกต์และพัฒนาต่อในหลายบริบท บริบทที่การสนทนาแบบโบห์มได้รับการนำไปใช้มากที่สุดเท่าที่ผมสำรวจข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต คือการพัฒนาภาวะผู้นำและองค์กรในภาคธุรกิจ นอกจากนั้นก็มีบ้างในการการศึกษา การพัฒนาครอบครัวและชีวิตส่วนบุคคล
การพัฒนาและประยุกต์การสนทนาแบบโบห์ม ที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นข้อมูลจากการค้นคว้าจากเอกสารที่มีผู้กล่าวถึง สรุป เขียนอธิบาย หรือวิจารณ์ไว้เท่าที่หาได้ในอินเทอร์เน็ต ผมยังไม่ได้อ่านงานเขียนที่เป็นต้นฉบับจริงๆ ของผู้พัฒนาและประยุกต์เหล่านั้นโดยละเอียด เนื่องจากยังไม่สามารถหาต้นฉบับได้
คนที่ได้รับการอ้างอิงถึงมากและโดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งในการนำการสนทนาแบบโบห์มไปประยุกต์ใช้ คือ William Isaacs เมื่อครั้งที่เซงเก ก่อตั้ง Society for Organizational Learning ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาจูเสทส์ ในปี 1997 นั้น ไอแซคส์เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมก่อตั้งด้วย ต่อมาในปี 1999 ไอแซคส์ทำวิจัยเชิงปฏิบัติการวิธีการสนทนาแบบโบห์มและได้เขียนหนังสือชื่อ The Art of Thinking Together: A Pioneering Approach to Communicating in Business and Life ที่ต่อมาได้กลายเป็นหนังสืออ้างอิงเล่มสำคัญสำหรับผู้ที่นำการสนทนาแบบโบห์มไปประยุกต์ใช้ ต่อมาไอแซคส์ได้ก่อตั้งและเป็นประธานของ Dailogos Institute ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทั้งในด้านทฤษฎีและด้านการปฏิบัติการสนทนาแบบโบห์ม การพัฒนาภาวะผู้นำ และการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ องค์กรใหญ่ๆ หลายแห่งใช้บริการของสถาบันนี้ เช่น NASA, World Bank, British Petroleum, Motorola และ Lockheed
ไอแซคส์ได้สร้างแบบจำลองการสนทนา 4 ระยะ (Four-stage Evolutionary-model of a Dialogue) ขึ้นจากแนวคิดของโบห์ม ดังนี้
ระยะแรก Shared Monologues ผู้ร่วมสนทนาสร้างความคุ้นเคยในการพูดคุยกับคนอื่นๆ ในขั้นนี้ ผู้เข้าสนทนายังไว้ตัว เกรงใจกัน ยังไม่มีใครแสดงอะไรที่นอกเหนือความคาดหวังของกลุ่ม ซึ่งวิศิษฐ์ วังวิญญู เรียกว่า สภาวะแห่งความสุภาพ
ระยะที่สอง Skillful Discussion ผู้ร่วมสนทนาเรียนรู้ทักษะต่างๆ ของการสนทนา เป็นช่วงที่สมาชิกในวงสนทนากล้าแสดงความคิดเห็นจากมุมมองของตนออกมา ความแตกต่างของความคิดเริ่มเผยตัวออกมา (คำว่า dis หมายถึงการทำให้แตกออก)
ระยะที่สาม Reflective Dialogue ผู้ร่วมสนทนาเริ่มตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยกัน เป็นภาวะที่ทุกคนอยากรู้อยากเห็น ในขั้นนี้ความคิดความเห็นของทุกคนจะสะท้อนกลับไปกลับมาภายในกลุ่ม
ระยะที่สี่ Generative Dialogue เกิดภาวะการไหลเลื่อนของความคิดภายในวงสนทนาซึ่งเป็นภาวะพิเศษที่ทุกคนสร้างสรรค์ร่วมกัน (a special “creative” dialogue) ในขั้นนี้แต่ละคนจะรู้สึกว่าความคิดของตนคือความคิดของกลุ่ม และความคิดของกลุ่มเป็นความคิดของตน เกิดความคิดที่เป็นหนึ่งเดียวจากการคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน เป็นภาวะแห่งความสุขยิ่งของการสนทนา
นอกจากเซงเกและไอแซคส์แล้วยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาและการฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาภาวะผู้นำและองค์กรอีกหลายคนที่ได้นำแนวคิดและวิธีการสนทนาแบบโบห์มไปประยุกต์ใช้ เช่น
Margaret Wheatley วีตเลย์แต่งหนังสือหลายเล่ม เช่น Leadership and the New Science: Discovering Order in a Chaotic World (1999) เล่มนี้มีผู้แปลเป็นภาษาไทย ผมเพิ่งซื้อมา ยังไม่ได้อ่าน, Turning to One Another: Simple Conversations to Restore Hope to the Future (2002) เล่มนี้ก็แปลเป็นไทยแล้วในชื่อ
หันหน้าเข้าหากัน ผมเพิ่งซื้อมาเช่นกันแต่ยังไม่ได้อ่าน และ Finding Our Way: Leadership for an Uncertain Time (2005) วีตเลย์กับไอแซคส์ได้มีโอกาสร่วมงานกันด้วย
จากการสืบค้นในอินเทอร์เน็ต พบว่ามีการใช้วิธีการ Dialogue ที่คล้ายกับ Bohm Dialogue แต่ผมยังไม่มีข้อมูลว่าผู้ใช้ Dialogue เหล่านั้นเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อโบห์มหรือได้รับอิทธิพลจากโบห์ม หรือไม่เกี่ยวข้องกันเลย เช่น
Victor Frankl (1905-1997) จิตแพทย์ชาวออสเตรียเชื้อสายยิวที่รอดชีวิตจากคุกของนาซีระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และได้อพยพมาอเมริกา Frankl ใช้วิธีจิตบำบัดที่เขาเรียกว่า Logotherapy วิธีการนี้มาจากประสบการณ์ของเขาระหว่างถูกขังอยู่ในคุก เขาสังเกตพบว่าการเสียชีวิตของเพื่อนนักโทษจำนวนมากเกิดจากความสิ้นหวังในชีวิต งานของ Frankl ที่มีชื่อเสียงมากคือ
Man’s Search for Meaning (1984) เล่มมีแปลเป็นไทยแล้ว การรักษาแบบ Logotherapy ใช้วิธีให้ผู้ป่วยสนทนากันเพื่อค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ (คำว่า logo หมายถึงความหมาย)
Maurice Friedman ศาสตราจารย์ด้านศาสนา ปรัชญา และภาษา เป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่อว่า dialogue คือเคล็ดลับของการเชื่อมโยงคนเข้าหากัน (the secret of the bond between person and person) Friedman ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากนักจิตวิทยาแนวมนุษยนิยมหลายคนเช่น Carl Jung (1875-1961), Abraham Maslow (1908-1970), Martin Buber (1878-1965) รวมทั้ง Frankl ที่กล่าวถึงไปแล้ว งานเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ของ Friedman คือ Religion and Psychology: A Dialogical Approach (1992)
Parker Palmer เป็นอีกผู้หนึ่งที่ใช้การสนทนาที่คล้ายกับโบห์มมาก ส่วนใหญ่แล้วเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาชีวิตด้านใน(จิตวิญญาณ)ของบุคคล (personal spiritual development) พาล์มเมอร์เรียกวิธีการของเขาว่า วงจรแห่งความไว้วางใจ (circles of trust) พาล์มเมอร์เขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น A Hidden Wholeness: The Journey Toward an Undivided Life (2004), Let Your Life Speak: Listening for the Voice of Vocation (2000), The Active Life: A Spirituality of Work, Creativity and Caring (1990), The Courage to Teach: Exploring the Inner Landscape of a Teacher's Life (1998), To Know As We Are Known: Education as a Spiritual Journey (1983, 1993)
ส่วนในประเทศไทยมีการนำแนวคิดและวิธีการของการสนทนาแบบโบห์มมาประยุกต์ใช้ในองค์กรมาหลายปีแล้ว
นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ศัลยแพทย์แห่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เขียนเล่าในนิตยสารหมอชาวบ้านฉบับเดือนพฤษภาคม 2548 ว่า วิศิษฐ์ วังวิญญู เป็นผู้นำการสนทนาแบบโบห์มมาใช้เป็นคนแรกในประเทศไทยในช่วงปี 2543 โดยก่อนหน้านั้น นพ.ประสาน ต่างใจ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อน
นพ.วิธาน เขียนเล่าว่า บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่มียอดขายปีละประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทได้สนใจและใช้ “สุนทรียสนทนา” ในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับสูงโดยมีวิศิษฐ์ วังวิญญูเป็นผู้ดำเนินกระบวนการ พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจและเอื้อประโยชน์ต่อการทำงานในองค์กรจริง ชมรมทันตบุคลากรเชียงรายก็ได้ใช้การสนทนาแบบโบห์มในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ พบว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้เข้าร่วม เช่น ทันตแพทย์ชายคนหนึ่งพบว่าตัวเองมีอารมณ์ด้านลบเกิดขึ้นถึงสามสิบกว่าครั้งในหนึ่งวัน แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสมจนจับได้ว่าอารมณ์ลบต่างๆ น้อยลงไปมาก มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำงานที่ทำให้ผู้ร่วมงานมีความสุขมากขึ้น ซึ่งส่งผลกลับมาทำให้เขารู้สึกรักองค์กรมากขึ้นและอยากทำงานให้องค์กรมากขึ้น ทันฑแพทย์หญิงคนหนึ่งบอกว่ามีความ “เข้าใจฝ่ายตรงข้าม” มากขึ้นจากการที่ตนเองทำ “บายพาสอารมณ์” ได้ ทันฑแพทย์ชายอีกคนหนึ่งเริ่มเปลี่ยนจากคนที่ค่อนข้างปลีกตัวมาสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานมากขึ้น เช่น เริ่มมากินอาหารด้วยกัน ขี่จักรยานและร่วมกิจกรรมอื่นๆ ทันฑแพทย์อีกท่านหนึ่งบอกว่าสามารถ “ทะลุ” ความคิดเรื่องงานสำคัญที่กำลังติดขัดอยู่ได้อย่างประหลาด ทันฑแพทย์อีกคนหนึ่งบอกว่าได้เข้าใจเรื่องการลดการใช้อำนาจ รู้สึกเห็นด้วยว่าเมื่อลดการใช้อำนาจลงกลับสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นและงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นจริง เจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่งบอกว่าเมื่อนำการฟังอย่างลึกไปใช้ในครอบครัวทำให้เข้าใจสามีมากขึ้น ทั้งยังสามารถ “ก้าวข้าม” ความคุ้นชินเดิมที่ไม่กล้าแสดงออก กลายเป็นคนที่สามารถพูดแสดงความคิดเห็นในวงสนทนาได้อย่างสวยงาม เป็นคำพูด “ตะกุกตะกักที่ไพเราะ” และ “ให้ความหมายที่ลึกซึ้งมาก” ทำงานเปลี่ยนแปลงไป
ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดให้มี Dialogue ในทุกหน่วยงานในสังกัดเดือนละ 2 ครั้ง และมีการทำ Dialogue ผสมผสานในงานประจำวัน พยาบาลที่เข้าร่วมการสนทนาแบบโบห์มคนหนึ่งบอกว่า “รู้สึกแปลกใจที่มีคนฟังเราด้วย จากที่แต่ก่อนไม่มีโอกาสพูด” ผู้ช่วยพยาบาลคนหนึ่งบอกว่า “การทำ Dialogue ทำให้ได้รู้ว่าคนอื่นก็มีวิธีการทำงานที่ดี แม้กระทั่งคนงานก็เสนอความคิดเห็นที่ดีๆ” อีกคนหนึ่งบอกว่า “ทำ Dialogue ช่วงแรกเครียดมาก ไม่มีใครกล้าพูดอะไร ต้องมีการกระตุ้นบรรยากาศการคุยหลายครั้ง แต่สุดท้ายเราก็ได้ฟังสิ่งที่อยู่ในใจลูกจ้างประจำ ได้รับความคิดเห็น มุมมองที่น่าสนใจของบุคคลแต่ละระดับ” อีกคนหนึ่งบอกว่า “การทำ Dialogue ดีเพราะได้พูดในสิ่งที่ตนเองอยากจะพูดโดยไม่มีผู้ใดขัดแย้ง”
ในการทำการสนทนาแบบโบห์มกับผู้ป่วยและญาติ พยาบาลคนหนึ่งเล่าว่า “เขานอนไม่ค่อยหลับเพราะไม่เคยชินกับการเข้านอนโดยไม่ล็อกประตู เขาขออนุญาตปิดล็อกก่อนเข้านอน ถ้าเป็นเมื่อก่อนผู้ป่วยรายนี้คงได้รับการชี้แจงด้วยสารพัดเหตุผลว่าไม่ได้ แต่คราวนี้ดิฉันกลับแปลกใจในคำตอบที่ได้ยิน เขาได้รับอนุญาตให้ปิดล็อกลูกบิดประตูได้ แต่จะต้องไม่ใส่กลอนประตู และมีข้อตกลงว่า ถ้าเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเข้าตรวจเยี่ยม จะไขกุญแจเข้าไปเยี่ยม โดยถ้าเป็นช่วงดึกจะเสียงดังเล็กน้อย เขายอมรับได้หรือไม่ เขายอมรับได้...” (ดูรายละเอียดได้ใน
http://gotoknow.org/file/kmi_public/dialoguechula_KM4.pdf)
หนังสือคู่มือกระบวนกร: ศาสตร์และศิลป์แห่งการหันหน้าเข้าหากัน เขียนโดย วิศิษฐ์ วังวิญญู, วิธาน ฐานะวุฑฒ์ และณัฐฬส วังวิญญู ทำให้ผมได้เข้าใจว่า สถาบันขวัญเมือง เชียงราย ได้ดำเนินกิจกรรมการปฏิบัติและการฝึกอบรมผู้ดำเนินกระบวนการสนทนาแบบนี้มาอย่างต่อเนื่อง เรียกผู้ดำเนินกระบวนการนี้ว่า กระบวนกร และได้มีการจัดงานมหกรรมกระบวนกรมาแล้ว 5 ครั้ง
การนำการสนทนาแบบโบห์มมาประยุกต์ใช้ในต่างประเทศปรากฏให้เห็นมากกว่าประเทศไทย ข้อมูลจาก Selected Website on Dialogue ทำให้เราได้ทราบว่าที่สหรัฐอเมริกา มีการรวมกันเป็นเครือข่ายเรียกว่า National Coalition for Dialogue & Deliberation (NCDD) ปัจจุบันมีสมาชิกบุคคล 790 คนและกลุ่ม 34 กลุ่ม นอกจากนั้นยังมีหนังสือ บทความ รายงาน บทสัมภาษณ์ และข้อเขียนต่างๆ เกี่ยวกับการสนทนาแบบโบห์ม และ Dialogue แบบอื่นๆ เป็นจำนวนมากทั้งในรูปแบบการพิมพ์และในเว็บไซต์ต่างๆ ส่วนในประเทศไทยยังไม่พบว่ามีการรวมตัวกันของผู้ใช้การสนทนาแบบโบห์มอย่างเป็นทางการ และยังมีหนังสือ บทความ และรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะปรากฏในรูปของบันทึกหรือรายงานสั้นในกระดานเสวนา (webboard) ของหน่วยงานที่ประยุกต์ใช้การสนทนาแบบโบห์ม และในเว็บบล็อก gotoknow.org
http://gotoknow.org/blog/inspiring/171784