ผู้เขียน หัวข้อ: 'กองทุนยุติธรรม' ตัวช่วยผู้ยากไร้ที่ไร้ผู้รู้จัก  (อ่าน 1867 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
'กองทุนยุติธรรม' ตัวช่วยผู้ยากไร้ที่ไร้ผู้รู้จัก
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน    
5 เมษายน 2554 18:31 น.





ตำรวจบุกจับพ่อค้าเก็บแผ่นหนังของแท้มือ 2 มาขาย โทษปรับร่วมแสน'
       'จับวัยรุ่นภาคใต้ครึ่งร้อย ต้องสงสัยป่วนเมืองนราฯ'
       'เกษตรกรถูกนายทุนโกงร่วมหมื่น ไม่มีเงินจ้างทนาย'
       'ชาวบ้านเสื้อแดงร่วมร้อยชีวิตถูกจับนอนคุก ไร้คนประกันตัว'
       'ใช้กฎหมายบังคับ ไล่คนจนพ้นที่ราชพัสดุ'
       ฯลฯ
       
       ข่าวความเดือดร้อนของผู้ยากไร้ซึ่งไร้ทั้งความรู้ ทุนทรัพย์ กำลัง และทางสู้ ยังคงปรากฏอยู่ตามหนังสือพิมพ์ไม่ขาดสาย ท่ามกลางความเลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งเกิดขึ้นเป็นระลอกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
       
       คดีจำนวนไม่น้อยที่พวกเขาถูกส่งตัวเข้าสู่ซังเตโดยไม่สามารถขัดขืน ได้ แม้จะเป็นเพียงความผิดเพียงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่าไม่มีเงินเพียงพอจะต่อสู้ ไม่มีทั้งทนาย ไม่มีทั้งเงินประกันตัว
       
       'กองทุนยุติธรรม' ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2549 คือเครื่องมือหนึ่งที่กระทรวงยุติธรรมโยนเข้ามา เพื่อเป็นช่องทางช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้มีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมาก ขึ้น โดยรับภาระค่าดำเนินการในกระบวนการให้ตามแต่กรณี แต่นั่นก็เต็มไปด้วยความสงสัยถึงประสิทธิภาพของหน่วยงานว่าจะดีจริงหรือไม่ ระยะเวลา 5 ปีผ่านไป ดูเหมือนคำถามเดิมๆ ก็ยังคงอยู่ ทำให้นักวิชาการจำนวนหนึ่งจึงเริ่มมองว่า คงถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปหน่วยงานนี้เสียที
       
       แต่ก่อนที่จะไปถึงเรื่องนั้น คงต้องขอย้อนกลับไปทำความรู้จักกองทุนยุติธรรมให้ดีเสียก่อน เพื่อดูศักยภาพ ผลงานและแนวทางต่อไปในอนาคต จะได้พิสูจน์ว่าสุดท้ายแล้วกองทุนฯ แห่งนี้จะได้กลายเป็นที่พึ่งของประชาชนตามเจตนารมณ์ที่วางไว้ตั้งแต่ช่วงก่อ ตั้งจริงๆ หรือไม่
       
       [1]
       
       ก่อนอื่นคงต้องยอมรับว่า การขึ้นศาลแต่ละครั้งนั้น ไม่ใช่ที่ทำกันง่ายๆ เพราะมันเปรียบเสมือนการลงทุนดีๆ นั่นเอง ทั้งค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล หรือแม้แต่ค่าประกันตัว ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ซึ่งจะเป็นปัญหามากๆ กับคนยากคนจน ซึ่งไม่มีทางหาเงินมาต่อสู้คดี
       
       สุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า กองทุนฯ ช่วยเหลือทุกคดีทั้งแพ่ง อาญา ปกครอง จนถึงขั้นตอนการบังคับคดี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ โดยจุดแข็งนั้นอยู่ตรงที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถพิจารณาให้มีการปรับปรุงหรือแก้ไข และแตกต่างจากตัวบทกฎหมายที่แก้ไขค่อนข้างยาก ระเบียบนี้มีความคล่องตัว อ่อนตัวได้มาก
       
       โดยหลักเกณฑ์สำคัญของผู้ที่ยื่นเรื่องได้นั้นจะต้องพิจารณาถึงสภาพ เศรษฐกิจของผู้ยื่นว่าเป็นอย่างไร รวมไปถึงกระบวนความผิดที่เกิดขึ้นนั้นมีแนวโน้มว่า ผู้นั้นจะบริสุทธิ์จริงๆ หรือไม่ ซึ่งหากเข้าหลักเกณฑ์ก็ไม่มีปัญหา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549 เป็นต้นมา มีประชาชนยื่นเรื่องมาให้ถึง 3,440 เรื่องเลยทีเดียว
       
       “ตอนนี้เราพิจารณาไปแล้ว 2,882 เรื่อง อนุมัติ 1,663 เรื่อง ไม่อนุมัติ 595 เรื่อง ที่เหลือเราก็ประสานงานให้หน่วยงานอื่นช่วยเหลือแทน โดยในปี 2553 เป็นปีที่มีการแก้ไขระเบียบใหม่ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น มีการวางระบบเพื่อให้บริการประชาชนมากขึ้น ที่ผ่านมาอาจจะไม่รวดเร็วทันการณ์กับที่ผู้ยื่นขอ จึงเป็นปีที่มีผู้ยื่นเรื่องมากที่สุด ซึ่งเรื่องที่ขอรับความช่วยเหลือ คือ ค่าทนายความ กรณีที่ถูกละเมิดที่มีผลกระทบต่อประชาชน”
       
       [2]
       
       ตัวอย่างหนึ่งของการใช้สิทธิ์จากกองทุนยุติธรรม ก็คือคดีด้านความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งพบว่าในปี 2553 มีผู้ต้องขังมากกว่า 200 ราย ที่ยืนเรื่องเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ทว่าการใช้สิทธิ์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
       
       ดังคำอธิบายของ อับดุลอาซิซ์ อาแด อาสา สมัครทนายความผู้ช่วย ศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี ที่ระบุถึงอุปสรรคการเข้าถึงของชาวบ้านที่มีต่อหน่วยงานนี้ว่า ในปี 2554 มีชาวบ้านเข้ามาขอความช่วยเหลือจากศูนย์ฯ 36 คดี และมี 10 คดีที่ถูกสั่งฟ้องไปแล้ว โดยไม่มีการยื่นเรื่องเพื่อขอความช่วยเหลือจากกองทุนฯ เพราะแม้ว่าโดยขั้นตอนในการยื่นเรื่องจะไม่มีความยุ่งยาก แต่จะได้รับการอนุมัติหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
       
       “ความล่าช้าทำให้ญาติไม่ ค่อยยื่นไป บางครั้งยื่นเอกสารไปแล้วไม่มีความคืบหน้าเลยว่าจะได้เมื่อไหร่หรือจะ อนุมัติหรือเปล่า ญาติผู้ต้องหาจึงเลือกไปหากันเอง รวบรวมทรัพย์สินจากญาติพี่น้อง ถ้าไม่มีก็ไม่ประกันตัว เพราะในคดีความมั่นคง หลักทรัพย์ที่ใช้ประกันตัว อย่างต่ำคือหกแสนบาท”
       
       นอกจากเรื่องเวลาที่ยาวนานแล้ว ยังมีเงื่อนไขของกองทุนยุติธรรมที่จะอนุมัติหรือไม่ หลายๆ คนก็ไม่ทราบถึงขั้นตอนที่ว่าเลย และเมื่อไม่ได้รับการอนุมัติหรือได้รับก็ตาม ก็ไม่มีการแจ้งสาเหตุเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด
       
       ที่สำคัญสิ่งนี้ยังไปเกิดขึ้นกับเงินชดเชยที่มอบให้เมื่อมีคำพิพากษา อีกด้วย เพราะกองทุนฯ มีเงื่อนไขว่าจะจ่ายชดเชยก็ต่อเมื่อการกระทำของจำเลยไม่มีความผิด แต่ว่าหากคำพิพากษาของศาลบอกว่า พยานหลักฐานไม่มีความชัดเจนจึงยกประโยชน์ให้แก่จำเลย กองทุนฯ จะไม่จ่ายชดเชยให้แก่จำเลยเพราะถือว่าศาลยังสงสัยอยู่
       
       อย่างไรก็ตาม ปัญหาเช่นนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคดี เพราะอย่างกรณีชาวบ้านแพะใต้ จังหวัดลำพูน จำนวน 9 คน ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกอย่างมิชอบธรรม ก็ยังได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่จากกองทุนยุติธรรม
       
       โดยคดีมีสาเหตุมาจากนายทุนในพื้นที่ได้ยืนฟ้องร้องชาวบ้านกลุ่มนี้ ว่า เข้ามาใช้ที่ดินหนองปลาสวายพื้นที่ 15,000 ไร่โดยมิชอบ ทั้งๆ ที่อยู่ในทำมาหากินอยู่พื้นที่นี้มาตั้งแต่ปี 2532 และที่ดินก็ถูกจัดสรรเป็นโฉนดชุมชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ด้วยความฉ้อฉลบางประการ ทำให้ที่ดินตรงนี้หลุดเป็นของเอกชนตั้งแต่ 2546 และนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีและจับกุมชาวบ้านในที่สุด
       
       “ชาวบ้านแพะใต้ จังหวัดลำพูน ทางกองทุนยุติธรรม ได้สนับสนุนเงินประกันตัว และถือเป็นกรณีเร่งด่วนใช้เวลาดำเนินการประกันตัวไม่ถึงอาทิตย์ เพราะเข้าเงื่อนไขที่กองทุนกำหนดไว้ ค่าประกันประมาณ 1.8 ล้านบาท เพราะว่ามันหลายคน แต่กรณีนี้ก็ชาวบ้านมีข้อมูลส่วนหนึ่งแล้ว ก็คือว่าที่ดินตรงนั้นมีความมิชอบ ซึ่งชาวบ้านถูกดำเนินคดีก็ได้รับความเป็นธรรม” พงษ์ศักดิ์ สายวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ในฐานะผู้ยื่นเรื่องนี้เข้าสู่ระบบกองทุนฯ กล่าว
       
       เพราะฉะนั้น ในมุมมองของเขา กองทุนยุติธรรมจึงมีประโยชน์และมีความสำคัญสำหรับคนจนอย่างยิ่ง เพราะนี่คือเครื่องมือสำคัญในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
       
       [3]
       
       แม้หน่วยงานนี้ มีประสิทธิภาพในตัวพอควร แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า ก็คือการเป็นที่รู้จักของประชาชน ซึ่งอับดุลอาซิซ์ชี้ว่า นี่คือจุดอ่อนที่สำคัญขององค์กรนี้ และก็เป็นจุดนี้เองที่นำมาสู่ข้อเสนอของการปฏิรูปองค์กรนี้เสียใหม่ โดย ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า 'การประชาสัมพันธ์' ถือเป็นเรื่องที่ต้องรีบทำอย่างเร่งด่วน เพราะต้องยอมรับว่า หากต้องการให้คนใช้เครื่องมือนี้จริงๆ ก็ต้องทำให้ใช้ ก็ต้องทำให้คนรู้จักเสียก่อน
       
       “คนหลายคนไม่รู้หรอกว่า เขามีสิทธิ์ของความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ทำให้บางคนต้องไปใช้บริการนายประกันอาชีพที่ทำธุรกิจประกันตัว ซึ่งหลังจากนั้นก็เรียกดอกเบี้ยกับผู้ต้องหา เพราะฉะนั้นหากเราต้องการแก้ปัญหาก็ต้องประชาสัมพันธ์และกำหนดเป็นหน้าที่ ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมของรัฐต้องแจ้งให้ประชาชน เขาเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหาก็แจ้งให้ทราบว่า หากไม่มีเงินประกันก็ยังมีกองทุนฯ ช่วยเหลืออยู่ ถ้าไม่แจ้งก็จะมีความผิดทางวินัยอะไรก็ว่าไป หรือแม้กระทั่งศาลก็เช่นกัน ปกติก็จะมีระบบยกเว้นค่าธรรมเนียมแก่คนยากไร้อยู่แล้ว แต่หากศาลปฏิเสธและเห็นว่าควรมีเงินมาวางในคดีแพ่ง ก็น่าจะกำหนดให้เป็นหน้าที่ศาลว่า ต้องแจ้งการมีอยู่ของกองทุนฯ และความช่วยเหลือที่กองทุนฯ จะช่วยได้ ถ้าเราทำได้เช่นนี้ปัญหาเรื่องประชาชนไม่รู้จะหมดไป”
       
       อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้ อธิบดีสุวณาก็บอกว่า ปัญหานี้กำลังมีทิศทางที่ดีมากขึ้น เพราะนายกรัฐมนตรีได้ออกมาพูดถึงการปฏิบัติงานของกองทุนฯ ผ่านสื่อ ทำให้ประชาชนทั่วประเทศเริ่มรู้จักหน่วยงานมากขึ้น
       
       อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ งบประมาณ เพราะทุกวันนี้รัฐบาลจัดเงินมาให้เพียงปีละ 30 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการจะเข้าไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนทั้งประเทศได้ ฉะนั้นหากเป็นเป็นได้ รัฐบาลจำเป็นจะต้องหางบประมาณมาอุดหนุนแก่กองทุนฯ นี้เพื่อที่จะได้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคตที่ประชาชน จะเริ่มรู้จักกองทุนฯ แห่งนี้มากกว่าที่เป็นอยู่
       
       “ผมคิดว่าคนที่มีฐานะจะ ต้องจ่าย แต่ไม่ได้ให้ไปริบเขามาหรือบังคับเขามา แต่เป็นสิ่งที่เขาจ่ายอยู่แล้ว เช่นค่าประกันตัว ค่าขึ้นศาล ค่าทนายความ ซึ่งเขาคงไม่รู้สึกว่าเป็นภาระมาก เราก็หักเงินส่วนหนึ่งเข้ามาในกองทุนฯ เช่น เงินค่าประกันตัวที่ศาลริบหลักประกันจากผู้ต้องหาที่หลบหนี หรือเงินค่าทนายความ เราก็หักค่าธรรมเนียมบางส่วน ซึ่งเล็กน้อยเข้ามาในกองทุนฯ เพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ในเรื่องทนายความ เช่นเดียวกับเรื่องขึ้นศาลด้วย เราบอกว่าคนรวย คนมีฐานะ มีเงินเสียค่าขึ้นศาลมากมายมหาศาล โดยไม่รู้สึกว่าจะเป็นการรบกวน เดือดร้อน เราก็ให้ศาลหักค่าใช้จ่ายส่วนนี้บางส่วนเข้าสู่กองทุนฯ แนวคิดแบบนี้จะทำให้สังคมลดความไม่เท่าเทียมกันไปเยอะ และถามว่าคนที่ความสามารถทางการเงินจะเดือดร้อนไหม ผมว่าคงไม่มากเท่าไหร่ เพราะเราหักในส่วนที่เขาต้องจ่ายอยู่แล้ว มันคล้ายๆ กับการเก็บภาษี และยังทำให้กองทุนนี้โตขึ้นอีกด้วย”
       
       แน่นอนว่าเมื่อกองทุนโตขึ้น และมีแหล่งที่มาของรายได้เพิ่มขึ้น สิ่งที่ควรดำเนินการต่อไปก็คือ คณะกรรมการของกองทุนฯ ก็ควรจะต้องดึงบุคคลภายนอกซึ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วย เพราะตอนนี้คณะกรรมการมีแต่คนของกระทรวงยุติธรรมเท่านั้น ซึ่งพอจะเข้าใจได้ว่า งบประมาณนั้นมาจากภาครัฐทางเดียว ซึ่งหากอนาคตเป็นเช่นนี้ กองทุนฯ ก็จะมีความหลากหลาย และแสดงให้เห็นถึงความมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ มากยิ่งขึ้น
       ..........
       
       การแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคมอาจจะดูเป็นปัญหาโลกแตกที่ไม่มีทางออก แต่ถึงอย่างไรกองทุนยุติธรรมก็ถือเป็นแนวคิดที่สำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะในยุคที่มีคนถูกเอารัดเอาเปรียบมากมายเช่นนี้
       
       เพราะฉะนั้น หน้าที่สำคัญของทุกคนตอนนี้ก็คือ ทำให้องค์กรที่ควรจะมีประโยชน์มหาศาลนี้มีคุณค่าขึ้นมา และสามารถดำรงตนเป็นที่พึงของประชาชนได้อย่างแท้จริง
       >>>>>>>>>>
       ………
       เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
       ภาพ : ทีมภาพ CLICK



.

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000042980

.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)