วิกฤติแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัว
ชนวนเกิด 'แผ่นดินไหว-สึนามิ'
เพิ่งจะผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2554 หรือ ปี ค.ศ.2011 ไม่ทันไร เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกของเราจากปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติแบบรุนแรง จนกลายเป็นภัยพิบัติขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ ๆ ถึง 2 ครั้งติดต่อกัน ในห้วงเวลาไม่ถึง 1 เดือน เริ่มจาก 22 ก.พ. 54 แผ่นดินไหว 6.3 ริคเตอร์ ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ จากนั้นเพียง 2 สัปดาห์เศษ แผ่นดินไหว 5.8 ริคเตอร์ ที่เมืองยูนนาน ประเทศจีน กระทั่งล่าสุดวันที่ 11 มี.ค. 54 แผ่นดินไหวใหญ่ 8.9 ริคเตอร์ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากจังหวัดมิยากิ หมู่เกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น 130 กิโลเมตร ส่งผลทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ซัดถล่มชายฝั่งจังหวัดมิยากิ พังพินาศเสียหายย่อยยับ ผู้คนเสียชีวิตสูญหายจำนวนมาก สร้างความตื่นตะลึงให้กับคนทั้งโลก
ก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ. 2553 ได้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงมาแล้ว จากเหตุแผ่นดินไหว 7.0 ริคเตอร์ ที่ประเทศเฮติ ในทะเลแคริบเบียน ซึ่งอยู่ในกลุ่มของทวีปอเมริกาเหนือ เหตุเกิดช่วงเย็นวันอังคารที่ 12 ม.ค. 53 (ตรงกับประเทศไทยเช้ามืด วันที่ 13 ม.ค. 53) สิ่งที่น่าตื่นตระหนก คือ ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของประเทศเฮติ เพียงแค่
25 กิโลเมตร จากนั้นได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกติดตามมาหลายครั้ง จึงสร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับประเทศเฮติ มีผู้เสียชีวิตสูงถึงกว่า 2 แสนคน บาดเจ็บอีก 3 แสนคน ประชาชนนับล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย บ้านเรือนพังทลายเสียหายอย่างหนัก
เหตุการณ์ครั้งนั้นทางสหประชาชาติ และนานาชาติทั่วโลก ต่างส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทั้งเงินสนับสนุน ทีมกู้ภัยและทีมแพทย์ วิศวกร พนักงานช่วยเหลือ ระบบการสื่อสาร สิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ฯลฯ สำหรับภูมิศาสตร์ ประเทศเฮติ ตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกแคริบเบียน และแผ่นอเมริกาเหนือ แต่แผ่นดินไหวในครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ระบุไม่ได้ว่าเกิดจาก “รอยต่อ” ระหว่างแผ่นเปลือกโลกเหล่านี้ แต่เชื่อว่าเกิดจาก “รอยเลื่อน” ประกอบกับเมืองหลวง กรุงปอร์โตแปรงซ์ ตั้งอยู่ในบริเวณอ่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ดินอ่อน อีกทั้งมีลักษณะเป็นโคลนชุ่มด้วยน้ำ ส่งผลให้สามารถขยายแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวให้รุนแรงขึ้นได้อีก ความเสียหายที่ประเทศเฮติ ค่อนข้างรุนแรงกว่าปกติ
ตลอดทั้งปี 2553 จะเกิดข่าวคราวปัญหาภัยธรรมชาติบนโลกอย่างต่อเนื่องเช่นกัน นอกจากแผ่นดินไหวแล้ว ยังมีวิกฤติการณ์น้ำท่วมใหญ่ เกิดขึ้นเกือบทั่วโลก อาทิ อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีเหนือ จีน ออสเตรีย เยอรมนี ฮังการี โปแลนด์ ลัตเวีย ยูเครน สโลวาเกีย ออสเตรเลีย เม็กซิโก แคนาดา และสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงประเทศไทยก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในหลายจังหวัด เรียกได้ว่าเกินครึ่งหนึ่งของประเทศเลยทีเดียว !!
จากเรื่องราวปัญหาภัยธรรมชาติ ที่กระทบต่อประชาชนหมู่มาก ทางนสพ.เดลินิวส์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ จึงร่วมกับภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย นสพ.เดลินิวส์, มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ, เว็บไซต์พลังจิต ดอตคอม และมหาวิทยาลัยศรีปทุม ฯลฯ จัดสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “เจาะลึกภัยพิบัติ พลิกวิกฤติให้เป็นทางรอด” ไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม 2553 ที่ ม.ศรีปทุม วิทยาเขตบางเขน กทม. ในการสัมมนาครั้งนั้นมีเนื้อหารายละเอียดสำคัญ ๆ มากมาย เกี่ยวกับเรื่องราวของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงการเตรียมพร้อมรับมือในเบื้องต้นของประชาชนจะต้องทำอย่างไร??
โดยมีการเชิญวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิมากมายด้วยประสบการณ์มาเผยแพร่ข้อมูล อาทิ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตประธานอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ, ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารสูงสุด โรงเรียนสัตยาไส อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี,ดร.ก้องภพ อยู่เย็น ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์, ดร.วัฒนา กันบัว, ดร.เสรี ศุภธาทิตย์, นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล รวมไปถึง พระอาจารย์รัตน์ รัตนญาโณ เป็นต้น การสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่องเจาะลึกภัยพิบัติ พลิกวิกฤติให้เป็นทางรอด มีการพูดถึงภัยธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงวิธีการเตรียมพร้อม การช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์ และทางรอดจากภัยพิบัติ ซึ่งได้รับความสนใจมีผู้เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสิ่งที่ผู้บรรยายแต่ละท่านได้กล่าวเอาไว้น่าสนใจแทบทั้งสิ้น
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้ซึ่งเคยทำงานร่วมกับองค์การนาซา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้สัมภาษณ์ช่วงปลายปี 2553 ภายหลังการสัมมนาฯ ว่า จากปัญหาสภาวะโลกร้อนก่อให้เกิดปรากฏการณ์เอลนินโญ่และลานินญ่า จนทำให้ส่งผลกระทบในด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หนาวจัด ร้อนจัด มีฝนตกมาก แห้งแล้งมาก ที่ที่เคยหนาวกลับมีอุณหภูมิสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ปริมาณน้ำในมหาสมุทรต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ฝนตกมากขึ้นก็ส่งผล กระทบกับปริมาณน้ำในมหาสมุทรเช่นกัน
เมื่อปริมาณน้ำในมหาสมุทรมากขึ้น ก็เปรียบเสมือนน้ำที่อยู่ในถาด สมดุลของโลกที่เคยคงที่ แต่เวลานี้กลับเปลี่ยนไป น้ำบางส่วนมีจำนวนมากย่อมไหลไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลใหม่ขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่จะอุบัติขึ้นใหม่ก็คือการที่โลกปรับเอียงเพื่อหาแกนโลกใหม่ จากเดิมที่เคยเอียงเพียงเล็กน้อย ก็จะมีการปรับอย่างรวดเร็ว แต่การที่โลกจะปรับเอียงนั้นคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ แต่สิ่งหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงก็คือการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก
สำหรับประเทศไทยตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกที่ชื่อว่า ยูเรชั่นเพลท คือแผ่นดินแถบยุโรปบวกกับแผ่นดินเอเชีย ส่วนด้านข้างก็จะเป็นอินเดียบวกออสเตรเลียและแปซิฟิก เวลานี้แผ่นดินอินเดีย+ออสเตรเลีย เคลื่อนตัวจากทิศตะวันตกมายังทิศตะวันออกอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการชนกับแผ่นดินของยุโรป+เอเชีย ซึ่งเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกันแต่ช้ากว่า จึงทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดินข้างหนึ่ง ผลที่ตามมาก็คือการเกิดแผ่นดินไหว และอาจจะเกิดสึนามิขึ้นอีกครั้งในฝั่งทะเลแถบอันดามัน ในส่วนของประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเพราะมีประเทศพม่ามารองรับ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะเกิดนั่นก็คือการเกิดแผ่นดินไหวในแถบพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จ.แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ภูเก็ต ฯลฯ เพราะพื้นที่เหล่านี้ตั้งอยู่ใกล้บนรอยร้าวของแผ่นเปลือกโลก
’ส่วนแผ่นเปลือกโลกอีกฝั่งหนึ่งของแผ่นยูเรชั่นเพลท นั่นก็คือแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิก ซึ่งแผ่นนี้เองที่เกิดการเคลื่อนไหวในช่วงนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะการเคลื่อนตัวของแผ่นแปซิฟิกนั้นจะเคลื่อนตัวจากตะวันออกมายังตะวันตก จึงทำให้เกิดการชนกันอย่างจังของแผ่นเปลือกโลกทั้ง 2 แผ่น แน่นอนสิ่งที่ตามมาคือการทรุดตัวของเปลือกโลกก่อให้เกิดสึนามิ ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นเกาะอาจจะหายไปยกตัวอย่างเช่น เกาะบางเกาะของประเทศญี่ปุ่น เกาะฮาวาย ประเทศสหรัฐ เป็นต้น”
ภายหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ ๆ 2 ครั้งติดกัน จากประเทศนิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ทำให้หลายหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชนต่างตื่นตัวอย่างมากนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ทุกแง่ทุกมุมเพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสาร รวมไปถึงทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ออกมาแถลงข่าวแผ่นดินในญี่ปุ่นมีผลกระทบถึงไทยหรือไม่และควรเตรียมตัวรับมืออย่างไร??
ผศ.ดร.อาณัติ เรืองรัศมี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสรุปไว้ว่า ในส่วนของการเกิดแผ่นดินไหวนั้น ถึงแม้ว่าเราไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดเมื่อไร อย่างไร แต่เราสามารถที่จะเตรียมการรับมือได้ โดยการหมั่นฝึกฝนเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง ศึกษาเส้นทางการหลบภัยจากแผนที่เสี่ยงภัย นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญสุดคงหนีไม่พ้น ควรจะมีการเตรียมตัวเรื่องสภาพจิตใจ ไม่ควรตื่นตระหนกเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว.
ปรัชวิน บุญชุบ
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=560&contentID=126802