แสงธรรมนำใจ > หยาดฝนแห่งธรรม
วันวิสาขบูชา
ฐิตา:
“ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน” ผลงานของ มาโนชญ์ เพ็งทอง
บทบาทของพระรัตนตรัย
1. พระรัตนตรัยในฐานะแม่แบบความสมบูรณ์สูงสุด
โลกและชีวิตเมื่อแบ่งองค์ประกอบที่สำคัญออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์กันแล้วจะมีอยู่ 3 ส่วน คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม
เมื่อทั้งสามส่วนทรงตัวอยู่อย่างสมดุลกัน โลกและชีวิตจึงดำเนินไปถึงความสมบูรณ์สูงสุดได้ มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางแห่งส่วนทั้งสาม เพราะมนุษย์สามากระทำการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ และกระทำทุกอย่างด้วยเจตนา เลือกปฏิบัติต่อตนเองและส่วนอื่น ๆ ได้คุณค่าแห่งการกระทำของมนุษย์ จึงเกิดขึ้นมาบนมาตรฐานตัดสินว่า การกระทำอย่างใดถือว่า ดี กระกระทำอย่างใดถือว่า ไม่ดี หรือชั่ว ตรงกับคำว่าบุญหรือบาป
มนุษย์ประกอบขึ้นด้วยกายกับจิต มีชีวิตดำเนินไปในท่ามกลางธรรมชาติและสังคม จึงกลายเป็นผู้มีพันธกรณี หรือหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาตนเองไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุด ด้วยการเข้าใจในธรรมชาติอย่างถูกต้อง และนำสังคมอันเป็นผลรวมแห่งความสัมพันธ์ของมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ ไปอย่างกลมกลืน ซึ่งจะต้องพัฒนาตนเองก่อนส่วนอื่น ๆ
ธรรมชาติ คือ สิ่งแวดล้อมตัวมนุษย์ หรือระบบนิเวศนั่นเอง เมื่อแยกมนุษย์ออกเป็นส่วนเฉพาะต่างหากแล้ว ส่วนที่เป็นสิ่งแวดล้อมก็คือธรรมชาติ อันที่จริงธรรมขาติเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับมนุษย์อย่างแยกจากกันไม่ได้ เพราะมนุษย์ก็คือธรรมชาติ และต้องอิงอาศัยธรรมชาติอยู่อย่างมีอิทธิพลต่อกันไม่ยิ่งหย่อนกล่าวคือ ในภาคปฏิบัติมนุษย์ มนุษย์แม้จะเลือกกระทำต่อธรรมชาติได้แต่จำเป็นต้องรู้เท่าทัน และปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วยความฉลาด ไม่ให้ธรรมชาติเสียดุลต่อมนุษย์ เพราะว่าเมื่อใดธรรมชาติเสียดุลต่อมนุษย์ ผลร้ายก็จะตามมากระทบมนุษย์และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สังคม คือ กลุ่มความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อกันในหลายระบบ เช่น ในระบบเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย ความเชื่อ การศึกษา และวัฒนธรรม เป็นต้น ความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มารวมกันนี้ ย่อมแสดงออกตามคุณภาพของจิตใจแต่ละคน มนุษย์ยิ่งอยู่รวมมากเท่าไหร่ ความซับซ้อนแห่งความสัมพันธ์ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และแสดงตัวออกมาในรูปธรรมในฐานะสถาบันต่าง ๆ เป็นจุดศูนย์ประสานโยงหน่วยความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อกัน เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันเศรษฐกิจ สถาบันการเมือง สถาบันศาสนา เป็นต้น รวมเรียกว่าความสัมพันธ์ทางสังคม
มนุษย์ในฐานะเป็นส่วนที่มีการกำหนดบทบาทของตนได้ จะต้องทำหน้าที่ คือการประสานอย่างกลมกลืน ส่วนทั้ง 3 นี้ เมื่อเข้ามาผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของแต่ละส่วนแล้ว จะทำให้เกิดผลดีและผลร้ายที่เรียกว่า ทำให้ขาดความสมดุลกันขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรง มนุษย์จะต้องพัฒนาทุกส่วนในลักษณะองค์รวมอย่างเอกภาพ เพื่อบรรลุความสมบูรณ์สูงสุด
2. พระรัตนตรัยในฐานะองค์รวมสูงสุด
มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม ตามที่กล่าวมาแล้ว มีส่วนสุดยอดตรงกันในแต่ละอย่าง องค์ที่ต่างกันกับ 3 ส่วนนั้นก็คือพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มนุษย์พัฒนาสูงสุดแล้วเป็นพระพุทธ ธรรมชาติเมื่อเราเข้าถึงแล้ว ตัวความจริงของธรรมชาติที่ปรากฏแก่มนุษย์คือ ธรรมะ หรือพระธรรม และสังคมที่พัฒนาถึงขั้นอุดมคติแล้ว ก็เป็นหมู่ชนที่เรียกว่าพระสงฆ์
จึงอาจกล่าวได้ว่า หลักของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าพระรัตนตรัย ก็คือองค์แห่งความสมบูรณ์ในระดับแห่งพัฒนาการสูงสุดแห่งส่วนทั้งสามของโลก และชีวิต กล่าวคือ พระพุทธเจ้าก็คือมนุษย์ผู้พัฒนาสมบูรณ์แล้ว โดยได้ค้นพบพระธรรมแบะเปิดเผยแก่สังคม เพราะทรงมีการพัฒนาแล้ว 4 ด้าน กล่าวคือ
1. มีการพัฒนากายคือ พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ ไม่เฉพาะพัฒนาร่างกายให้เข็มแข็งมีสุขภาพดี หรือพัฒนาทักษะเท่านั้น
2. มีการพัฒนาศีล คือการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม เป็นการพัฒนาการในด้านความสัมพันธ์ทางสังคม
3. มีจิตพัฒนา คือ พัฒนาการจิตใจให้เป็นอิสระจากพันธนาการของกิเลสทั้งปวง (วิมุติ)
4. มีพัฒนาการทางปัญญา ที่เรียกว่าตรัสรู้
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ผู้พัฒนาตนที่สมบูรณ์ ได้ค้นพบธรรมะ และเปิดเผยธรรมแก่สังคมพระธรรมคือตัวความจริงของธรรมชาติที่เปิดเผยขึ้น โดยการค้นพบ และประกาศของพระพุทธองค์ พระสงฆ์ คือสังคมมนุษย์ที่พัฒนาตนแล้วด้วยการปฏิบัติ หรือเข้าถึงธรรมตามอยางพระพุทธเจ้า ความเป็นเอกภาพของพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นในลักษณะอิงอาศัยกัน ถ้าไม่มีพุทธะ ธรรมะก็ไม่ปรากฏ และสงฆ์ก็ไม่อาจจะพัฒนาให้เกิดสังฆะได้ถ้าไม่มีธรรมะ มนุษย์ก็ไม่พัฒนาเป็นพุทธะและสังฆะก็ไม่อาจเกิดขึ้น ถ้าไม่มีสังฆะก็ไม่มีเครื่องยืนยันความเป็นพุทธและธรรมก็คงไม่ปรากฏอยู่ต่อไป แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปตามกฏปฏิจจสมุปบาท
3. พระรัตนตรัยในฐานะองค์ความสัมพันธ์ของโลกและชีวิต
ความสัมพันธ์ระหว่างพระรัตนตรัยกับโลกและชีวิตอธิบายได้ดังนี้
1. พระพุทธเจ้าทรงพระคุณ 3 ประการ คือ พระปัญญาคุณ พระกรุณาคุณ และพระบริสุทธิ์คุณ ซึ่งเป็นคุณสมบัติแสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าสัมพันธ์กับธรรมชาติและสังคม คือ
ก. ทรงสัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยมีปัญญารู้เข้าใจค้นพบความจริงในธรรมชาติ และได้ตัวธรรมะขึ้นมาด้วยปัญญาซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธกับพระ ธรรมในพระรัตนตรัย
ข. การที่ทรงค้นพบธรรมะในธรรมชาติด้วยปัญญาคุณนั้น ทำให้พระองค์หลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากกิเลส และความชั่วทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ เป็นคุณสมบัติข้อที่สอง คือ พระปริสุทธิคุณประจำพระองค์
ค. เมื่อทรงค้นพบธรรมะก็กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ด้วยการหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้วก็เกิดมีคุณธรรมต่าง ๆ ขึ้น คุณธรรมเหล่านี้แสดงออกต่อสังคมโดยผ่านคุณธรรมที่เป็นตัวนำ แสดงออกต่อสังคม ซึ่งทำให้เกิดพระสงฆ์มีรูปแบบอยู่ได้เพราะหลักการใหญ่ 3 ประการคือ
1. พระวินัย คือฐานและเป็นตัวควบคุมให้ก่อเป็นรูปสงฆ์ได้
2. สามัคคี คือ พลังยึดเหนี่ยว
3. กัลยาณมิตร คือ เนื้อหาของสงฆ์ เพราะพระสงฆ์ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร ในเมื่อเนื้อหาของสงฆ์ก็คือตัวบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร สงฆ์จึงเป็นแหล่งของกัลยาณมิตร ที่คนในสังคมจะต้องเข้าพบหา แล้วก็ได้รับประโยชน์เป็นตัวช่วยนำมนุษย์ให้เข้าถึงธรรมะ และมาร่วมกันเป็นสมาชิกของสงฆ์ต่อ ๆ ไป
ดั้งนั้น หลักของสงฆ์จึงมีวินัยเป็นพื้นฐาน มีความสามัคคีเป็นพลังยึดเหนี่ยว แล้วมีกัลยาณมิตรธรรม 7 ประการ เป็นเนื้อหา กัลยาณมิตรธรรมคือ
3.1 น่ารัก คือเข้าใจถึงจิตใจ สร้างความรู้สึกสนิทสนมเป็นกันเอง ชวนให้ผู้สมาคมอยากเข้าไปปรึกษาหารือ
3.2 น่าเคารพ คือ มีความประพฤติสมควรแก่ฐานะ ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจเป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย
3.3 น่าเจริญใจ คือ ความรู้จริง ทรงภูมิปัญญาแท้จริง และเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตนเองอยู่เสมอเป็นที่น่ายกย่องควรเอาอย่าง ทำให้ผู้คบหาเอ่ยอ้าง และรำลึกถึงด้วยความซาบซึ้งใจ มั่นใจและภาคภูมิใจ
3.4 รู้จักพูดให้ได้ผล คือ พูดเป็นรู้จักชี้แจงแสดงธรรมให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือนเป็นที่ปรึกษาที่ดี
3.5 ทนต่อถ้อยคำ คือพร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา ซักถาม แม้จุกจิก ตลอดจนคำล่วงเกินและคำตักเตือนวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ อดทนฟังได้ไม่เบื่อหน่าย ไม่เสียอารมณ์
3.6 แถลงเรื่องสำคัญได้ คือกล่าวชี้แจงเรื่องต่าง ๆ ที่กลิ้งซับซ้อนให้เข้าใจได้และนำประชาชนให้ได้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งขึ้นไป
3.7 ไม่ชักนำในอฐานะ คือไม่ชักจูงในทางเสื่อมเสีย หรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร
4. พระรัตนตรัยสัมพันธ์กับมนุษย์
ความสัมพันธ์ระหว่างพระรัตนตรัยกับมนุษย์สามารถอธิบายได้ดังนี้
มนุษย์มีความสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้าโดยที่ว่า พระพุทธเป็นแม่แบบที่ทำให้มนุษย์เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ที่พัฒนาตนจนกระทั่งบรรลุถึงความสมบูรณ์สูงสุดได้ จึงทำให้มนุษย์ทุกคนเกิดความมั่นใจว่ามนุษย์แต่ละคนเป็นสัตว์ฝึกฝนได้ มีศักยภาพในตัวเองที่สามารถพัฒนาไปจนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าได้ ศรัทธาในองค์พระพุทธก็หมายถึงการศรัทธาในศักยภาพของตนเอง (ตถาคตโพธิสัทธา) คือเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้กลายเป็นพุทธะซึ่งโยงความสามารถของตัว มนุษย์เองว่าด้วยมนุษย์เราสามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นพระพุทธะได้ ให้เป็นคนสมบูรณ์
http://www.oknation.net/blog/wisdomage/2009/05/07/entry-2
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
ฐิตา:
กทม.ชวนพุทธศาสนิกชนร่วมงานวันวิสาขบูชา 11-17 พ.ค.นี้
ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์แนวหน้า
เสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2554 01:54:55 น.
นายสมศักดิ์ จันทวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา วันสำคัญของโลก ประจำปี 2554 ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมการศาสนา ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-17 พ.ค.54 เวลา 06.00 — 21.00 น. ณ มณฑลพิธีลานอเนกประสงค์ กองทัพภาคที่ 1 ในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เขตบางเขน โดยจัดทำเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีบวงสรวงบูรพกษัตราธิราช พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ(พระธาตุหลวง) จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวังมาประดิษฐานบนมณฑป ณ มณฑลพิธีลานอเนกประสงค์ กองทัพภาคที่ 1 ในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เขตบางเขน การเทศน์มหาชาติ พิธีเจริญพระพุทธมนต์เจริญจิตภาวนาถวายเป็นพระราชกุศล การจัดนิทรรศการส่งเสริมพระพุทธศาสนา นิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญ 4 ภาค พิธีเวียนเทียนรอบพระบรมสารีริกธาตุ พิธีทอดผ้าป่าสี่มุมเมืองสมทบกองทุนส่งเสริมพระพุทธศาสนา เวทีสะท้อนธรรม การประกวดบรรยายธรรม การอภิปรายธรรม และพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 229 รูป ในวันวิสาขบูชา เวลา 06.30 น.
ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ พระราชดำเนินทรงเปิดงานในวันพุธที่ 11 พ.ค.54 เวลา 17.00 น.
กรุงเทพมหานครจึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมกิจกรรมในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา วันสำคัญของโลก ประจำปี 2554 ได้ระหว่างวันที่ 11-17 พ.ค.นี้
http://www.ryt9.com/s/nnd/1143800
ฐิตา:
ผู้นำพุทธโลกร่วมถวายราชสดุดีในหลวง
คมชัดลึก :ผู้นำชาวพุทธทั่วโลกร่วมถวายราชสดุดี "ในหลวง" ทรงเป็นต้นแบบพระมหากษัตริย์ที่พัฒนาประเทศด้วยธรรมะ เตรียมนำแนวพระราชจริยวัตร พระราชกรณียกิจ รวมทั้งหลักเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ด้าน วธ. จัดหุ่นละครเล็กโจหลุยส์เผยแพร่บทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” สู่ประชาชน พ.ค.-ก.ค. นี้
วันที่ 4 พ.ค. ที่โรงแรมโซฟีเทลเซ็นทารา แกรนด์ พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) แถลงข่าวการจัดกิจกรรมนานาชาติ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2554 และเนื่องในโอกาสครบ 26 ศตวรรษ แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวว่า ตามที่ที่ประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก เมื่อปี 2553 มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน ระหว่างวันที่ 12-14 พ.ค.นี้ ที่ มจร. อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ โดยหัวข้อการประชุมครั้งนี้คือ “พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” โดยประมุขสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราช ผู้นำชาวพุทธ กว่า 1,700 รูป/คน จาก 86 ประเทศทั่วโลก ตอบรับเข้าร่วมงาน
พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวต่อว่า สำหรับหัวข้อในการประชุมครั้งนี้เป็นการกำหนดขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการถวายราชสดุดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากชาวพุทธทั่วโลก โดยคณะกรรมการดำเนินงานจัดกิจกรรมนานาชาติฯ ซึ่งมีผู้นำชาวพุทธจาก 25 ประเทศ เป็นกรรมการนั้น เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่างของพระมหากษัตริย์ที่ใช้ธรรมะในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นในการกำหนดหัวข้อในการประชุมว่า “พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” ก็เพื่อต้องการการนำพระราชจริยวัตร พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องต่างๆ
รวมทั้งแนวทางตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เข้ามาหารือในการประชุม และออกเป็นมติให้ผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกนำแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปประยุกต์ใช้กับประเทศของตนเอง ขณะเดียวกันในการกล่าวสุนทรพจน์ของประมุขสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราช และผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลก ก็จะมีการกล่าวถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในวันที่ 13 พ.ค. เวลา 17.00น. ผู้นำชาวพุทธจากที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้จะเดินทางไปเจริญพระพุทธมนต์ และเจริญจิตภาวนาถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย
อธิการบดี มจร กล่าวด้วยว่า เนื่องในโอกาสสำคัญทั้งวันวิสาขบูชาโลก และร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงอยากเชิญชวนคนไทยทำกิจกรรม 3 อย่างคือ 1. ประดับบ้านเรือนด้วยธงธรรมจักร หรือธงตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 รวมทั้งประดับไฟอาคารบ้านเรือนด้วย 2. ทำความดีเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ 3.ร่วมกันทำพุทธานุสติ เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ที่มา; คมชัดลึก วันพุธที่ 4 พฤษภาคม 2554
ข้อมูล; สมหมาย สุภาษิต
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
http://www.mcu.ac.th/site/news_in.php?group_id=1&NEWSID=7288
ฐิตา:
มจร.จัดกิจกรรมนานาชาติวันวิสาขบูชา ถวายเป็นพุทธบูชา
ถวายฯ แด่ในหลวง
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
คอลัมน์: ก้องจักรวาลเหนือ สวรรค์-นรก
นับเป็นมหามงคลครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อองค์การสหประชาชาติให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดกิจกรรมวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2554 ระหว่างวันที่ 12 ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (แอสแคป)
ทั้งนี้ เจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดกิจกรรมนานาชาติ ได้กล่าวในการแถลงข่าว ณ โรงแรม โซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ ถ.พหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพฯ (4 พ.ค.) ว่า เป็นการประชุมชาวพุทธที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปี เพราะว่าชาวพุทธทั่วโลกถือว่าวันวิสาขบูชาเป็นวันของพระพุทธเจ้า เมื่อประเทศไทยได้รับฉันทานุมัติให้เป็นเจ้าภาพ ชาวพุทธทั่วโลกก็จึงได้มาประชุมกันที่นี่ และก็ร่วมกันเฉลิมฉลองในโอกาสที่สำคัญสองประการคือ เนื่องในโอกาสครบ 26 ศตวรรษของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อีกประการหนึ่งชาวพุทธได้ร่วมเฉลิมฉลองพร้อมกับคนไทยทั่วประเทศในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา โดยมีบุคคลสำคัญของโลกกว่า 5,000 รูป/คน มาประชุมกัน
พุทธดุริยางคศิลป์ยิ่งใหญ่ฉลองสองวาระ
ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดกิจกรรมนานาชาติกล่าวด้วยว่า มีการตั้งหัวข้อการประชุมครั้งนี้ว่าพุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อที่จะได้เป็นกรอบในการศึกษาพระราชจริยาวัตรและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว ว่าได้ทรงประยุกต์พุทธธรรมเพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างไร มีรายการที่ประกาศราชสดุดีโดยผู้นำชาว พุทธในประเทศและต่างประเทศ มีการเจริญ พุทธมนต์นานาชาติ ทั้งเถรวาท มหายาน ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นการถวายพระราชกุศล จึงเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ และเหนืออื่นใด ก็คือว่าการประชุมที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาตินั้นจะมีชาวพุทธ ผู้นำทางการเมืองที่สำคัญมาร่วมการประชุม นอกจากฝ่ายประเทศไทยแล้ว ที่ตอบรับมาก็คือท่านนายกรัฐมนตรีของศรีลังกาก็จะบินมาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
จึงถือว่าเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่จะมีผลในการทำกิจกรรมร่วมกันต่อไป ซึ่งผู้นำชาวพุทธก็จะประกาศวิธีการทำงานหรือแนวทางในการทำงานร่วมกันเรียกว่า การประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ ในท้ายการประชุมในวันที่ 14 พฤษภาคม ผลของการประชุมจะมีการรายงานให้ทราบเป็นระยะในแต่ ละวัน ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้รับความร่วมมือจากบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยหน่วยงานส่วนราชการ องค์กรทางพระพุทธศาสนาและองค์กรเอกชนให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งมีการถ่ายทอดระหว่าง วันที่ 12 ถึงวันที่ 14 พ.ค.2554 ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ TNN2 (ทรูวิชั่นส์ 8 )
เจ้าคุณพระธรรมโกศาลาจารย์ กล่าวด้วยว่า อยากจะเชิญชวน ชาวพุทธไทยและชาวพุทธทั่วโลกว่าเราร่วมฉลองในโอกาสนี้พิเศษ 3 อย่างด้วยกัน
1.ให้ชาวพุทธทั่วโลกได้เห็นว่าเราได้ถือโอกาสนี้กระทำพุทธบูชาและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการประดับธงธรรมจักร ธงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็ประดับไฟเนื่องในวันวิสาขบูชาแล้วก็มีธงชาติอยู่ร่วมด้วยกัน
2.ทำดีถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำดีเป็นพุทธบูชาอยู่ใกล้วัดไหนไปเวียนเทียนที่วัดนั้น เข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ทำบุญกันให้มากแล้วก็ทำกันทั้งสัปดาห์ เป็นการเดินตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
3.แสดงความกตัญญูกตเวที กตัญญูแปลว่ารู้คุณ กตเวทีแปลว่าประกาศคุณความดีให้ปรากฏ มาช่วยกันประกาศคุณของพระพุทธศาสนา ประกาศคุณของพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการที่เราเป็นคนมีความกตัญญูกตเวทีเป็นราชสดุดีได้นึกถึงคุณความดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประยุกต์พุทธธรรมเพื่อการพัฒนาประเทศไทยให้คนไทยได้อยู่ดีกินดีกว่า 60 ปีที่ทรงครองราชย์
ในวันพิธีเปิดวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2554 เวลา 13.00 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เสด็จแทนพระองค์ทรงเปิดงานฯ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
ปิดท้ายด้วยคำควรคิด ปูชโก ลภเต ปูชํ ผู้ทำการบูชา ย่อมได้รับการบูชา
เจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดกิจกรรมนานาชาติ
การแถลงข่าวจัดกิจกรรมนานาชาติ วันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2554 โดยมีเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ และ ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา จากบริษัท ทรูวิชั่นเคเบิ้ล จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าว
http://www.ryt9.com/s/bmnd/1143954
ฐิตา:
สมเด็จพระสังฆราช'ประทานโอวาทวิสาขบูชา54
วันที่ ๐๕/๐๕/๒๐๑๑
"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระโอวาท วันวิสาขบูชา 2554
เน้นให้บูชาและน้อมรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระธรรม และพระอริยสงฆ์
เพื่อน้อมนำมาเป็นที่พึ่งของตน และใช้เป็นแนวทาง ในการดำเนินชีวิต...
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระโอวาท วันวิสาขบูชา 2554 ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พ.ค. ใจความว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับ พุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน พระองค์ทรงเป็นพระบรมศาสดาผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระคุณอันประเสริฐ 3 ประการ คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณ ต่อทวยเทพ มวลมนุษย์และสรรพสัตว์ เนื่องด้วยพระพุทธศาสนามีคุณูปการอันใหญ่ หลวง ซึ่งอำนวยประโยชน์เกื้อกูลความเจริญรุ่งเรืองและความสงบร่มเย็น แก่นานาอารยชนมาตลอดระยะเวลากว่า 2,500 ปี ฉะนั้น เมื่อวันวิสาขบูชา พุทธศักราช 2554 มาถึง ควรที่เราทั้งหลายจะได้ทำการบูชาและน้อมรำลึกถึงพระสัมมา สัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระอริยสงฆ์ เพื่อน้อมนำมาเป็น ที่พึ่งของตน เป็นแนวทางในการปฏิบัติดำเนินชีวิต เพื่อความ สวัสดีและความสงบร่มเย็นแก่เพื่อนร่วมโลกสืบไป
ด้านนายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา ประจำปี 2554 วันที่ 11-17 พ.ค.นี้ คณะกรรมการฝ่ายคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา กรมการศาสนา (ศน.) ได้คัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาที่สมควรได้รับการ ยกย่องเชิดชูเกียรติแล้ว 160 รูป/คน โดยผู้ได้รับประกาศยกย่องจะเข้ารับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร จากสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 11 พ.ค.นี้.
ภาพ/ข่าว ไทยรัฐออนไลน์
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
http://www.mcu.ac.th/site/news_in.php?group_id=1&NEWSID=7266
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version