นับจนถึงนาทีนี้ โอกาสเป็นไปได้ที่รายรับของหนังเรื่องใหม่จากค่ายจีทีเอชอย่าง “ลัดดาแลนด์” จะแล่นทะลุเข้าสู่ตัวเลข 100 ล้านบาทนั้น มีอยู่สูงมาก แน่นอนครับ สำหรับคนที่ได้ดู ย่อมไม่แปลกใจว่าเพราะอะไร หนังเรื่องนี้ ถึงสมควรที่จะได้ครอบครองรายรับมากมายเพียงนี้
เท่าๆ ที่ผมสังเกตดู จีทีเอชกับหนังผีนั้น ไม่เคยที่จะไม่ประสบความสำเร็จ แน่ล่ะว่า ค่ายนี้อาจจะเริ่มต้นก่อร่างสร้างตัวมาจากหนังฟีลล์กู๊ด อย่างพวก “แฟนฉัน” อะไรเหล่านั้น แต่ถ้าว่ากันจริงๆ ผมว่าหนังผีต่างหากที่เป็นหลักค้ำประกันของค่ายที่คนทั่วไปเชื่อมั่น มันคงเริ่มต้นมาตั้งแต่ “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” หรือ “แฝด” โน่นแหละครับ แล้วหลังจากนั้น หนังผี ก็กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของจีทีเอชที่ขายได้เรื่อยมา
แต่ก็อย่างที่ผมพูดไว้ในบทความชิ้นที่แล้วนั่นแหละครับว่า ต่อให้ทำหนังผีหรือหนังอะไร “ลายเซ็น” แบบฟีลล์กู๊ดก็ยังคงเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ในหนังทุกแนวของจีทีเอช แม้แต่หนังตลกพวก “ตั๊ดสู้ฟุด” หรือ “กระดื๊บ” ก็ยังไม่วายที่จะหักมาสรุปลงตรง “ความรู้สึกดีๆ”
ที่ผมค่อนข้างชอบหนังหลายเรื่องของจีทีเอช เหตุผลก็เพราะว่า ไม่ว่าจะทำหนังเรื่องไหน หนังค่ายนี้ก็มักจะมีประเด็นที่แข็งแรงอยู่ในตัวเอง คือนอกจากจะพาคนดู “สนุก” (หรือหลอน หรือขำ อะไรก็ตามแต่) ไปกับ “เรื่องราว” ที่หนังหยิบมาเล่าแล้ว มันก็มักจะมีคุณภาพอีกด้านหนึ่งเคียงคู่มาด้วย ซึ่งนั่นก็คือ “ประเด็น” หรือ “เนื้อหาสาระ” ที่จะฝากไว้ในความคิดคนดู เก็บไปคิด ไปต่อยอดได้
และสำหรับ “ลัดดาแลนด์” ก็ไม่ต่างไปจากนั้น
เพราะก็อย่างที่เราๆ ท่านๆ (ผู้ไปดูมาแล้ว) จะเห็นครับว่า เอาเข้าจริง ความเป็นหนังผี ก็เป็นเพียง “เหยื่อล่อ” หรือ “เสื้อคลุม” แบบนักการตลาดที่เข้าอกเข้าใจ “สภาพตลาด” แบบไทยๆ คือรู้ว่าหนังแบบไหนขายได้ขายไม่ได้ ผมเห็นด้วยนะครับที่หลายๆ เสียงพยายามจะบอกว่า ถ้าอย่างนี้ ทำหนังดราม่าชีวิตแบบเต็มตัวไปเลยดีไหม แต่จริงๆ ผมว่า ถ้าหากคุณจิม-โสภณ ผู้กำกับ จะทำแบบนั้นจริงๆ ก็คงไม่ยากที่จะทำ แน่นอน พูดแบบนี้ก็อาจจะโดนสวนกลับ “ก็หนังแบบนั้นมันขายได้ซะที่ไหน” หรือ “ถึงขายได้ก็ไม่เยอะ”
พูดง่ายๆ ว่า ถ้า “ลัดดาแลนด์” ลบภาพของความเป็นหนังผีออกไป แต่เดินมาในสไตล์การขายแบบหนังชีวิตเต็มรูปแบบ ผมว่า กระแสของหนัง อาจจะไม่แรงขนาดนี้ก็เป็นได้
ในโลกความเป็นจริง “ผี” อาจจะมองเห็นได้ยากก็จริงอยู่ (จนมีมนุษย์บางกลุ่มพยายามไปเสาะหาผีมาอวดกันอย่างที่เห็น) แต่ในโลกของภาพยนตร์ “ผี” นั้นมองเห็นได้ง่าย ขอเพียงให้รู้ว่าเป็นหนังผี อย่างน้อยที่สุด ผมว่าก็ดึงดูดคนดูได้แล้วระดับหนึ่ง
แต่พูดก็พูดเถอะ แม้ “ลัดดาแลนด์” จะเป็นหนังผี แต่ก็ไม่ใช่ผีกะโหลกกะลา แบบว่าโผล่หน้ามาแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกหลอนผู้คนเพียงเท่านั้น หากแต่ในด้านหนึ่ง เราอาจจะมองได้ว่า “ผี” ในหนังเรื่องนี้ เป็นอุปมาอุปไมยกับภาวะในใจและสถานการณ์ของตัวละครด้วย (ผมเคยโพสต์เล่นๆ ในเฟซบุ๊กว่า ถ้า Resident Evil ถูกเรียกด้วยถ้อยคำ “ผีชีวะ” ลัดดาแลนด์ ก็คงหมายถึงหนัง “ผีชีวิต” ซึ่งก็มีบางคนเข้ามากด Like แทนความหมายในทางเห็นด้วย)
ผีตุ้งแช่ หรือผีผ่างๆๆ นั้น อาจจะมีหน้าที่ในการสร้างความกลัวหรือสะดุ้งตกใจให้กับคนดูที่อยู่นอกจอ แต่สำหรับ “ธีร์” (ก้อง-สหรัถ สังคปรีชา) ผีที่ตามหลอกหลอนเขาตลอดเวลาจริงๆ ก็คือ “ความกดดันบีบคั้น” ทั้งจากเหตุการณ์ในอดีตและที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
หนังนั้นดีเยี่ยมครับในความพยายามที่จะเก็บภาพปัญหาและความเป็นไปของสังคมร่วมสมัยมาพูดถึง ไม่ว่าจะเป็น “ความฝันเกี่ยวกับมั่นคงในชีวิตและครอบครัว”, “อคติของผู้คน”, “ความไร้หัวใจของระบบทุน” ไปจนถึงความล่มสลายของความรักและครอบครัว มันมีความเครียด ความกลัว และหวาดระแวง แฝงฝังอยู่อย่างแน่นหนาในชั้นบรรยากาศชีวิตของตัวละคร
ฉากหนึ่งซึ่งสะท้อนภาวะนี้ได้เป็นอย่างดีก็คือ ตอนที่ธีร์ทะเลาะกับคนรักของเขาหลังจากที่เธอบอกว่าจะกลับไปทำงานใหม่ ตอนนั้น ผมคิดว่าถ้าผมเป็นผู้หญิง ผมก็คงเสียใจนะครับ เพราะมันเท่ากับว่า ตัวเองกำลังถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรีอย่างถึงที่สุด เพราะเขาพูดราวกับว่าภรรยาของตัวเองจะไป “มีอะไร” กับคนอื่นง่ายๆ เรื่องแบบนี้มันทำร้ายหัวใจผู้หญิงดีๆ นะครับ เหมือนรุ่นน้องผู้หญิงบางคนของผมก็บ่นๆ ให้ฟังเหมือนกัน เพราะแฟนของเธอชอบโทรถามอยู่นั่นแหละว่าอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร เหมือนไม่ไว้ใจ ผู้ชายต้องอย่าลืมนะครับว่า เราอาจจะถามเพราะความห่วงก็จริงอยู่ แต่ถ้ามันตามจี้ตามจิกอยู่นั่น นอกจากมันจะฟ้องถึงความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้ว ยังเท่ากับว่าเรากำลังมองแฟนของเราเองว่าจะไปมีอะไรกับใครตอนไหนก็ได้ไปทั่วด้วย
ก็เข้าใจล่ะครับว่า กลัว ก็เหมือนกับธีร์ที่กลัวว่าตัวจะสูญเสียคนรัก แต่บางที ความกลัวแบบนั้นมีแต่จะทำให้อะไรๆ มันเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับความกลัวของธีร์ที่เหมือน “ผีในใจ” ที่หลอกหลอนเขาไม่เลิกรา
จะว่าไป ธีร์ก็กลัวทุกอย่างนั่นแหละครับ กลัวเสียการปกครอง (กับลูก) กลัวจะถูกสวมเขา (กับเมีย) กลัวจะถูกเหยียบย่ำซ้ำเติม (จากแม่ยาย) กลัวความล้มเหลว การเป็นผู้แพ้ (Loser) นั้น เลวร้ายไม่น้อยกว่าเจอผี เช่นเดียวกับหนี้สินที่ต่อให้ผีมะขิ่นสักร้อยตัวก็เทียบเท่าไม่ได้
มองอย่างพยายามทำความเข้าใจ ธีร์ยังคงไม่ใช่คนที่เลวร้าย เขาก็เหมือนใครอีกหลายๆ คนในสังคมนี้ที่มี “ฝันดีๆ” เกี่ยวกับชีวิต เพียงแต่เมื่อถูกรุมเร้าโดยปัญหารอบด้าน เขาก็เกิดพาลกับคนอื่นจนลืมคิดและตั้งสติ ด้วยเหตุนี้ นี่จึงไม่ใช่หนังที่จะมาพูดว่า ใครดีใครไม่ดีอย่างไร หรือใครผิดพลาดใครไม่พลาดผิด เพราะหนังนั้นมีมิติเชิงลึกและมีเหตุผลสนับสนุนการกระทำของตัวละครเกือบจะครบถ้วนสมบูรณ์ ที่ผมบอกว่า “เกือบ” ก็เพราะว่ามันมีจุดที่ยังน่าสงสัยเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ปรากฏอยู่ ซึ่งถ้าไม่นับรวมเรื่องของ “ผีมะขิ่น” ที่ผมได้พูดไว้แล้วในบทความครั้งก่อน เรื่องที่เกี่ยวกับลูกสาวของธีร์ (น้องปันปัน) นั้น ก็ยังมีจุดที่น่าคลางแคลง
คำถามเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้ก็คือ เพราะอะไร เธอถึงดูเกลียดชังพ่อมากมายขนาดนั้น จะว่าเพราะเรื่องย้ายบ้านหรือก็ไม่น่าจะใช่ เพราะไฟแห่งความไม่ชอบนั้น ดูเหมือนจะก่อตัวมาตั้งนานแล้ว แน่นอนล่ะ คนดูอาจจะสามารถคิดไปได้ว่า เพราะเธออยู่กับยาย (ซึ่งก็คือแม่เมียของธีร์) ใกล้ชิดกับยาย กลิ่นอายแห่งความชังจึงแผ่เผื่อมาถึงเธอด้วย ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ แต่ทว่าเมื่อหนังแฟลชแบ็กกลับไปในช่วงท้ายๆ เรื่อง เราก็เห็นภาพแห่งครอบครัวหรรษาที่โล้ชิงช้าในสวนหย่อมหน้าบ้าน มันไม่มีทีท่าว่าใครจะมีความไม่พอใจในตัวใครเลยแม้แต่น้อย
อันนี้ก็เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตนะครับ และมันเป็นข้อสังเกตที่ไม่ถึงขั้นทำให้หนังเสียหายแต่อย่างใด เพียงแค่รู้สึกตะหงิดๆ ในใจก็เท่านั้นเอง เพราะพูดกันอย่างถึงที่สุด “ลัดดาแลนด์” ก็ยังคงแน่นด้วยสิ่งที่ดีในตัวของมันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ของเนื้อหา และไม่ต้องแปลกใจว่า เพราะอะไร หลายๆ คน จึงเช็คอินเข้าไปดูหนังเรื่องนี้กันมากกว่าหนึ่งรอบ
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9540000055864