คุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเครียดอยู่หรือเปล่าครับ
ถ้าใช่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะความเครียดเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป และเชื่อว่าคงไม่มีใครที่ไม่เคยเครียด ลองถามตัวเองต่ออีกสักนิดนะครับ ว่าเวลาเครียดคุณมักมีอาการอย่างไร เพราะคำว่า “เครียด” ในความหมายของแต่ละคนนั้นอาจไม่เหมือนกันซะทีเดียว
ส่วนใหญ่แล้ว เวลาที่คนเราบอกว่า เครียด มักหมายถึง การที่เรามีปัญหาบางอย่าง ที่ยังคิดหาทางออกไม่ได้
และเรารู้สึกได้ถึงอาการทางร่างกายที่เกิดจากความเครียดนั้น อาจจะเป็นอาการปวดศีรษะ หรือปวดตึงตามร่างกาย ใจสั่นหวิว หายใจไม่ทั่วท้อง จิตใจไม่ปกติ รู้สึกไม่สบายใจ เอาแต่คิดวนเวียนอยู่กับปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้ หรือไม่ก็คิดวนไปวนมากับคำถามที่ไม่มีคำตอบ เช่น ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น
ยิ่งคิด ก็ยิ่งกดดัน และหมกมุ่นอยู่กับปัญหาในมุมมองเดิมๆ
จริงๆ แล้วต้องบอกว่าความเครียดมีต้นตอมาจากความคิดครับ เพราะถ้ามองให้ลึกลงไปในความคิด จะพบว่าความคิดที่ทำให้เราเครียดนั้น มักจะเป็นความคิดที่เรามองจากมุมของตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นมุมมองที่จำกัด เพราะทำให้เราเข้าใจปัญหาเพียงด้านเดียว
แต่ถ้าเราลองเปิดใจ หัดมองจากมุมอื่นๆบ้าง โดยเฉพาะจากมุมของคู่กรณี มองด้วยความใส่ใจ และเข้าใจ ก็จะทำให้เรามองเห็นปัญหาได้รอบด้านขึ้นครับ ที่สำคัญ อาจทำให้เราค้นพบคำตอบของปัญหาได้ดีขึ้นด้วย
เคยสังเกตไหมครับ ว่าบางครั้งความคิดที่ทำให้เราเครียดเป็นการคิดแบบมองย้อนหลัง คือคิดวนเวียนอยู่กับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วโดยไม่ยอมมองไปข้างหน้า
ถ้าเป็นแบบนี้ ลองถามตัวเองดูสิครับว่าจากจุดที่เป็นอยู่ เราอยากให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เราอยากให้สิ่งต่างๆเป็นอย่างไร สิ่งดีๆที่เราต้องการนั้น คืออะไร
จากนั้น จึงค่อยๆค้นหาวิธีที่จะพาเราไปยังสิ่งที่เราต้องการ มีคนเปรียบเทียบเรื่องมุมมองนี้ไว้ว่า เหมือนกับเวลาที่เรามองดูน้ำที่มีอยู่ครึ่งแก้ว ว่าเราจะมองเห็น “ความมี” คือ เห็นว่ามีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว หรือมองเห็น “ความขาด” ว่าขาดไปครึ่งแก้ว ไม่สมบูรณ์
มุมมองและความคิด เป็นสิ่งที่เราเลือกได้ครับ ถ้าเราคิดและมองจากมุมหนึ่ง แล้วยังไม่เห็นทางออก การเลือกคิดและมองจากมุมที่ต่างออกไป ก็จะช่วยให้เราเห็นทางเลือกได้ดียิ่งขึ้น
แต่ก่อนอื่น เราต้องรู้ตัวก่อนนะครับ ว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่ และความคิดนั้นจะพาเราไปสู่ทางออกหรือไม่
เราควรจะเลือกความคิดและมุมมองที่จะพาเราไปสู่เป้าหมายที่ดีและมีความสำคัญ ซึ่งเมื่อเราได้ค้นพบทางเลือกและลงมือทำแล้ว จะสังเกตได้ว่าความเครียดจะค่อยๆ สลายหายไป
มาถึงขั้นตอนนี้ ผมอยากให้คุณเลือกเรื่องที่ทำให้เครียดมาสักหนึ่งเรื่อง แล้วทบทวนโดยละเอียด ให้เหมือนกับว่าคุณกำลังเผชิญหน้าอยู่กับเหตุการณ์นั้น แล้วลองถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้ ดูนะครับ ค่อยๆ ฟัง พิจารณา และทบทวนคำถามเหล่านี้โดยละเอียด
- เรื่องที่กำลังทำให้ฉันเครียดอยู่ในตอนนี้ จริงๆแล้ว มันเป็นปัญหาตรงไหน
- ปัญหานี้มีผลกับฉันอย่างไร แล้วมันสำคัญแค่ไหนกับชีวิตโดยรวมของฉัน
- ฉันได้ทำความเข้าใจในมุมมองต่างๆ อย่างรอบด้าน แล้วหรือไม่
- คู่กรณีของฉัน มองปัญหาที่เกิดขึ้น ต่างจากฉันอย่างไร ฉันเข้าใจเขาดีพอหรือยัง
- อะไรคือเป้าหมายที่ฉันต้องการกันแน่ และมันใช่สิ่งสำคัญในชีวิตของฉันหรือไม่
- ฉันจะปรับเป้าหมายให้กลายเป็นสิ่งดีๆ ด้วยตัวเอง ได้อย่างไร
นี่คือตัวอย่างของชุดคำถามที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการความเครียดครับ
การตั้งคำถามที่ดี จะช่วยนำความคิดของเรา ให้วิ่งไปถูกทาง ช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมและทางออกของปัญหาได้ดีขึ้น
สิ่งสำคัญ คือ การรู้ว่า เรากำลังคิดอะไรอยู่ ความคิดนั้นช่วยให้เราเข้าใจและมองเห็นทางออกของปัญหาหรือไม่
และเราจะทำอะไรได้บ้างกับเรื่องที่เกิดขึ้น
การเลือกความคิดและมุมมองที่เป็นประโยชน์ จะช่วยให้เรามองเห็นทางออกของปัญหา และสามารถจัดการกับความเครียดได้อย่างถูกต้องครับ
เครียดครั้งต่อไป... อย่าลืมสำรวจความคิดที่เป็นต้นตอของความเครียดให้ดี อาจจะลองเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง บางทีคำถามง่ายๆ แบบนี้อาจทำให้คุณหายเครียดไปเลยก็ได้นะครับ
(เรียบเรียงจาก บทสื่อเสียงชุด “ถามชีวิต”
www.jitdee.com)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 126 พฤษภาคม 2554 โดย นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส.)
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9540000054809