ผู้เขียน หัวข้อ: "บัตรประชาชนเด็ก" มิติใหม่...มากมายสิทธิประโยชน์!?  (อ่าน 1547 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด

"บัตรประชาชนเด็ก" มิติใหม่...มากมายสิทธิประโยชน์!?



กลายเป็นประเด็นฮอตที่กำลังฮือฮาอยู่ในขณะนี้ เมื่อเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไปจะต้องมีบัตรประชาชน!! จากพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 ที่มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 70 ปี และมีชื่อในทะเบียนบ้าน ต้องมีบัตรประชาชน โดยร่างพระราชบัญญัติประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้ 60 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นจึงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ที่จะถึงนี้
   
“ทำไมเด็ก 7 ปี ต้องมีบัตรประชาชนด้วย” จึงเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจใครหลายคน รวมทั้ง ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยนี้ จักรี ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักทะเบียน กรมการปกครอง ไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ว่า จริง ๆ แล้วประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีการพูดคุยหารือกันมานานแล้ว โดยเป็นความต้องการของสังคมมากกว่าที่ต้องการให้คนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มีบัตรประชาชนเหมือนกับผู้ใหญ่เพื่อแสดงตน โดยเฉพาะในการเข้ารับบริการสาธารณะของรัฐ จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการออกบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับการที่รัฐจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการประชาชนในด้านต่าง ๆ ผ่านทางบัตรประจำตัวประชาชน
   
“แต่เดิมมีสวัสดิการต่าง ๆ ที่ได้จากรัฐ เช่น โครงการประกันด้านสุขภาพ ซึ่งจะใช้บัตรทองในการเข้ารับบริการ โดยคนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ก็มีบัตรทองใช้ เมื่อโครงการดังกล่าวยกเลิกไป เปลี่ยนมาใช้บัตรประชาชนแทน ตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหากับกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เพราะไม่มีหลักฐานแสดงตัว
   
โดยปัจจุบันที่ใช้อยู่ คือ สูติบัตรและทะเบียนบ้าน ซึ่งมีปัญหาอีกที่ว่ามีแต่เฉพาะข้อความ ชื่อ นามสกุล วัน เดือน ปี เกิด แต่ไม่มีรูปถ่าย จึงทำให้มีปัญหาตามมาว่า เอกสารที่นำมายืนยันกับตัวเด็กเป็นของคนเดียวกันหรือไม่ เพราะบางครั้งเกิดเหตุการณ์ เด็กชาย ก.มายื่นเอกสารเข้ารับบริการทุกวัน แต่หน้าตาของเด็กชาย ก. ไม่เหมือนกันสักวันเลย ซึ่งตรงนี้รัฐเองก็ต้องการตรวจสอบให้แน่ชัดว่าผู้ที่เข้ารับบริการเป็นใคร เป็นคนไทยหรือไม่ มีสิทธิในสวัสดิการนั้นจริงหรือเปล่า เพื่อให้เกิดความชัดเจน จึงควรขยายการทำบัตรประชาชนมายังกลุ่มที่มีปัญหาในเรื่องการแสดงตน”
   
ส่วนเรื่องที่กำหนดให้เด็กอายุ 7 ปีขึ้นไปนั้น เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันในรัฐสภาแล้ว ซึ่งมีบางคนเสนอให้มีการทำบัตรตั้งแต่อายุ 1 ปี แต่ก็มาสรุปที่ 7 ปี เพราะเป็นช่วงที่เด็กเริ่มเข้าระบบการศึกษาแล้ว มีโอกาสที่จะได้ใช้เพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่พึงมี พึงได้ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล ซึ่งเด็กจะสามารถแสดงตัวได้ง่ายขึ้น อีกทั้ง การลักลอบสวมสิทธิก็ทำได้ยากขึ้น
   
นอกจากนั้น ยังเกิดความสะดวกในการใช้งาน แทนที่จะต้องพกทะเบียนบ้าน สูติบัตร ก็พกบัตรประชาชนเพียงใบเดียวก็สามารถแสดงตนในเจ้าของสิทธินั้นได้ทันที รวมทั้ง หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะสามารถแยกแยะกลุ่มคนได้ชัดเจน เพราะกลุ่มการบริการมีหลายหน่วยงานด้วยกัน ทั้งประกันสังคม ประกันสุขภาพ สวัสดิการจากราชการ ฯลฯ
   
ตลอดจนในอนาคตสามารถที่จะตรวจสอบประวัติได้ด้วย เพราะเมื่อเข้าสู่ระบบการทำบัตรประชาชนแล้ว จะมีการจัดเก็บข้อมูลของประชาชนเพิ่มขึ้น คือ นอกเหนือจาก ชื่อ ที่อยู่ วัน เดือน ปี เกิด บิดา มารดาแล้ว จะมีการเก็บรูปถ่ายของเด็ก ลายนิ้วมือของเด็กเพิ่มเข้าไป อีกทั้ง เมื่อเด็กได้ทำบัตรครั้งแรกแล้ว ครั้งต่อไปก็จะไม่มีใครมาสวมสิทธิของเด็กได้ เพราะมีการตรวจสอบเกิดขึ้นโดยเริ่มตั้งแต่คนที่มีอายุ 7 ปี ขึ้นไป
   
ผลจากกฎหมายดังกล่าว จะทำให้เด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 7-14 ปี ต้องทำบัตรประชาชน ซึ่งในขณะนี้ทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 8 ล้านคนในกลุ่มของคนไทยที่สามารถทำบัตรประชาชนได้ โดยในช่วง 60 วันนี้จึงต้องมีการออกระเบียบ ออกกฎกระทรวงเพื่อรองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะกฎหมายเดิมไม่ได้เขียนวิธีการทำบัตรเด็กอายุ 7 ปีเอาไว้
   
ผู้อำนวยการสำนักทะเบียน กล่าวถึงการดำเนินงานในเรื่องนี้ว่า สำหรับขั้นตอนในการทำบัตรประชาชนให้กับเด็กที่มีอายุ 7-14 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ แม้กฎหมายจะไม่ได้บังคับให้เด็กกลุ่มนี้ต้องทำบัตรพร้อมกัน เพราะระบุไว้ว่า ให้เด็กมาทำได้ในช่วง 1 ปี และสามารถขยายเวลาออกไปได้ตามความเหมาะสม แต่กรมการปกครองก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อดำเนินการให้บริการกับเด็ก ๆ โดยในช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาของการกำหนดวิธีการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เด็กมาเข้ารับบริการ ในส่วนของการยื่นเอกสารต่าง ๆ โดยที่ไม่ต้องยุ่งยากกับตัวเด็กและผู้ปกครองมากนัก
   
“สำหรับขั้นตอนในการทำบัตรจะเน้นให้บริการเป็นกลุ่ม เพราะเด็กที่มีอายุ 7- 14 ปี จะเป็นกลุ่มเด็กที่อยู่ในโรงเรียนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ มีหลักฐานในการเข้าโรงเรียนซึ่งเป็นการตรวจสอบในระดับหนึ่งอยู่แล้ว จึงอาจจะต้องจัดให้มีบริการในวันธรรมดาและวันหยุด เพื่อจะให้มีแผนในการนัดหมายกัน อาทิ ในวันธรรมดาวันที่นี้ สำหรับโรงเรียนนี้ เด็กชั้นนี้ หรือในวันหยุด ช่วงเช้า ตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมงสำหรับโรงเรียนนี้ ชั้นนี้มาทำบัตร โดยมีคุณครูพานักเรียนมาที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ตรงนี้คงต้องประสานขอความร่วมมือกับโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อจะได้ให้ครูช่วยดูแลเด็กด้วย ก็จะมากันเป็นกลุ่ม ๆ ซึ่งตรงนี้ก็จะเกิดความสะดวกและรวดเร็วทั้ง 2 ฝ่าย คือ ทั้งในการให้บริการและเข้ารับบริการ ผู้ปกครองก็จะได้เกิดความสะดวกไม่ต้องมาดูแลหรือเสียเวลาพาเด็กมาทำบัตรด้วยตนเอง”
   
กรณีที่ 2 จะเป็นการจัดชุดเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์เข้าไปทำบัตรประชาชนให้กับเด็กที่โรงเรียน ที่เรียกว่า ชุดเคลื่อนที่ หรือชุดโมบาย ก็จะมีส่วนหนึ่ง ซึ่งจะดำเนินการทั้งในวันธรรมดาและวันหยุดเช่นกัน แต่ชุดนี้จะมีไม่มากนักถ้าเทียบกับจำนวนโรงเรียน และจำนวนอำเภอในท้องที่ต่าง ๆ ในอนาคตอาจจะมีการขยายจำนวนให้มากขึ้นหากมีความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยประสานกับทางโรงเรียนในการจัดเรียงตามความเหมาะสมในแต่ละชั้นปีของเด็กที่จะเข้ารับบริการ ซึ่งทางโรงเรียนก็จะมีข้อมูลเหมือนกับที่ทางหน่วยงานมีข้อมูล ตรงนี้จะเป็นการตรวจสอบไปในตัวว่าตรงกันหรือไม่ ก็จะเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสะดวกในการดำเนินการ รวมทั้ง ในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า ก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปทำบัตรประชาชนให้ด้วยเช่นกัน ซึ่งตรงนี้คงต้องดูความพร้อมและความเหมาะสมด้วย
   
สุดท้าย บริการทั่วไปจะเหมือนกับที่บุคคลอื่น ๆ มาทำบัตรประชาชนกัน คือ ถ้าผู้ปกครองสะดวกที่จะพาบุตรหลานมาทำบัตรประชาชนก็สามารถมาทำได้ที่สำนักงานเขตและที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ ซึ่งก็จะมีขั้นตอนตามปกติทั่วไปของการทำบัตรประชาชน โดยขั้นตอนทั้งหมดหลังจากวันที่ 9 ก.ค. ระเบียบเหล่านี้จะชัดเจน เพราะจะต้องพร้อมที่จะดำเนินการ โดยลักษณะบัตรประชาชนของเด็กจะเหมือนกับของผู้ใหญ่ทุกประการ และมีอายุ 8 ปี นับแต่วันเกิดของผู้ถือบัตร ที่ถึงกำหนดภายหลังจากวันออกบัตร
   
จักรี กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์หลักในการดำเนินการครั้งนี้ คือ ต้องการให้แน่ใจว่า เด็กที่มาทำบัตรประชาชนเป็นเด็กในเอกสารที่นำมายืนยันจริง ๆ อีกประการหนึ่ง คือ การทำบัตรในครั้งที่ 2 หรือครั้งต่อ ๆ ไปจะมีการอ้างอิงจากหลักฐาน ข้อมูลในครั้งแรกเพราะเป็นประวัติของเด็ก ถ้ามีการปลอมแปลงตั้งแต่แรกก็จะเกิดปัญหาความยุ่งยาก วุ่นวายในการหาหลักฐานเพื่อมาพิสูจน์ ฉะนั้น การทำบัตรประชาชนให้กับเด็ก 7-14 ปี ในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญ
     
อย่ามองภาพลบจนเกินไปในเรื่องการนำเด็กมาทำบัตร ถึงเด็กอาจจะไม่รู้เรื่องในการทำบัตร แต่ผู้ปกครอง พ่อ แม่ ต้องเข้าใจรู้ว่าการทำบัตรเป็นประโยชน์กับตัวเด็ก นั่นคือ สิทธิของลูกหลานคุณที่คนอื่นจะมาใช้ไม่ได้ ทำวันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากการมีบัตรเมื่ออายุ 15 ปี เพราะมีโอกาสที่จะได้ใช้อยู่แล้ว
   
ในเมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป การแสดงตัว การใช้สิทธิต่าง ๆ ก็มีเพิ่มมากขึ้น และสิ่งสำคัญคือ ในประเทศไทยมีคนที่ไม่ใช่คนสัญชาติไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิของตนเอง การมีบัตรประชนก็ย่อมได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่พึงมี พึงได้ ซึ่งเด็กจะได้รักษาผลประโยชน์ของตนเองตามสิทธิของคนไทยอย่างเต็มที่ อย่าไปมองความยุ่งยากเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำบัตร เพราะเมื่อมีบัตรแล้วจะสะดวกมากขึ้นในการเข้ารับบริการต่าง ๆ.   

หนังสือเดินทางสำหรับราษฎร

ต้นกำเนิดบัตรประจำตัวประชาชน

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถชี้ชัดได้ว่าคนไทยเริ่มมีการใช้หนังสือยืนยันตัวบุคคลปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457  ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โดยในมาตรา 90 บัญญัติว่า “กรมการอำเภอเป็นพนักงานทำหนังสือเดินทางสำหรับราษฎรในท้องที่อำเภอนั้น จะนำไปมาค้าขายในท้องที่อื่น”
   

วัตถุประสงค์ของการออกหนังสือเดินทางรับรองราษฎรดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของราษฎรโดยตรง เพราะการมีหนังสือเดินทางของทางราชการไว้แสดงตัวบุคคลว่า ตัวเขาเป็นใคร  มาจากแห่งหนตำบลใด ย่อมทำให้การเดินทางในต่างท้องที่เป็นไปด้วยความสะดวก และหากเจ้าหน้าที่เกิดความสงสัยขอตรวจค้นตัว ก็สามารถใช้หนังสือเดินทางที่ออกให้เป็นหลักฐานยืนยันและพิสูจน์ได้ว่า เป็นคนบริสุทธิ์ที่ทางราชการรับรองแล้ว ไม่ได้เป็นพวกมิจฉาชีพหรือพวกโจรแต่อย่างใด 

หนังสือดังกล่าวจึงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในสมัยนั้นและเหมาะสมกับสภาพกาลเวลาของสังคมเมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้ว ความสำคัญของหนังสือเดินทางตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ จึงไม่แตกต่างไปจากความสำคัญของบัตรประจำตัวประชาชนในปัจจุบัน
   

ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า ต้นกำเนิดของบัตรประจำตัวประชาชนมีที่มาจากหนังสือเดินทางสำหรับราษฎร เพื่อใช้เดินทางไปท้องที่ที่อื่นสำหรับการค้าขายติดต่อกันโดยมีกรมการอำเภอ (หรือนายอำเภอปัจจุบัน) เป็นพนักงานทำหนังสือดังกล่าวให้.

“ผลจากกฎหมายดังกล่าว จะทำให้เด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 7-14 ปี ต้องทำบัตรประชาชน ซึ่งในขณะนี้ทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 8 ล้านคนในกลุ่มของคนไทยที่สามารถทำบัตรประชาชนได้ โดยในช่วง 60 วันนี้จึงต้องมีการออกระเบียบ ออกกฎกระทรวงเพื่อรองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะกฎหมายเดิมไม่ได้เขียนวิธีการทำบัตรเด็กอายุ 7 ปีเอาไว้”

ทีมวาไรตี้


http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=486&contentId=140731




.




.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)