แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
พุทธศาสนานิกายเซ็น: Zen Buddhism
ฐิตา:
พุทธศาสนานิกายเซ็น
Zen Buddhism
1. ความเป็นมา
2. การบรรลุธรรม
3. วิธีการบรรลุธรรม
3.1 ซาเซ็น
3.2 ซันเซ็น
3.3 มนโด
4. ปริศนาธรรม
4.1 ความหมาย
4.2 ความเป็นมา
4.3 จุดหมาย
5. เซ็นกับจริยศาสตร์
เอกสารอ้างอิง
เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม
คำที่เกี่ยวข้อง
1. ความเป็นมา
พุทธศาสนานิกายเซ็นเป็นพุทธศาสนานิกายหนึ่งที่พัฒนาขึ้นในดินแดนจีนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 และ 8 โดยการผสมผสานแนวคิดของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจากอินเดียและปรัชญาเต๋าในจีน คำว่า “เซ็น” (Zen) นี้มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสฤตว่า “ธยานะ” (dhyana) และภาษาบาลีว่า “ฌาณ” (jhana) ที่แปลว่า “สมาธิ” เมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่สู่ดินแดนจีน ชาวจีนออกเสียงคำนี้ว่า “ฉาน” (Ch’an) ต่อมาจึงพัฒนาเป็นพุทธศาสนานิกายฉาน และดินแดนญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลของแนวคิดนิกายฉานนี้เข้ามา แต่ที่เรียกเป็นพุทธศาสนานิกายเซ็นก็เพราะชาวญี่ปุ่นออกเสียงคำว่า “ฉาน” เป็น “เซ็น” ต่อมาพุทธศาสนานิกายนี้ได้พัฒนาออกไปเป็นหลายสำนัก แต่มีแนวคิดหลักร่วมกัน คือเป็นพุทธศาสนาที่เน้นการปฏิบัติสมาธิ
จุดกำเนิดของแนวคิดนิกายเซ็นมีมาแต่ครั้งพุทธกาลจากพระสูตรสัทธรรมปุณฑรีกสูตรที่ว่าด้วยปัญหาที่ ท้าวมหาพรหมทูลถามพระพุทธองค์ ดังเนื้อความต่อไปนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ ภูเขาคิชกูฎ ท้าวมหาพรหมได้มาถวายดอกไม้เป็นพุทธบูชา แล้วนั่งลงกราบทูลให้ทรงแสดงธรรม พระตถาคตจึงได้ทรงแสดงโดยการชูดอกไม้ขึ้น ณ ท่ามกลางสันนิบาต แล้วมิได้ตรัสอะไร ในขณะนั้น ปวงเทพและมนุษย์ทั้งหลายต่างไม่เข้าใจในความหมาย มีแต่พระมหากัสสปะยิ้มน้อยๆ อยู่ พระโลกนาถเจ้าจึงตรัสว่า ตถาคตมีธรรมจักษุอันถูกตรงพระนิพพานและจิตที่เยี่ยม ภาวะที่แท้จริงย่อมไม่มีลักษณะ มอบให้แก่มหากัสสปะแล้ว (ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, 2530: 9-10)
การที่พระมหากัสสปะผู้มีความเป็นเลิศในทางปัญญาได้รับสังฆาฏิจีวรของพระพุทธองค์ ทำให้เกิดธรรมเนียมการส่งมอบ จีวร สังฆาฏิ และบาตร ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ในการสืบทอดตำแหน่งพระสังฆปรินายกของนิกายเซ็น ถ้าถือตามพระสูตรสัทธรมปุณฑรีกสูตรนี้จะถือได้ว่าพระมหากัสสปะเป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ 1 ในอินเดียและมีการสืบต่อกันมาจนกระทั่งถึงพระสังฆปรินายกองค์ที่ 28 ซึ่งก็คือ พระโพธิธรรม (Bodhidharma) ท่านได้นำพุทธธรรมเข้ามาเผยแพร่ในดินแดนจีน โดยสั่งสอนธรรมให้กับท่านฮุ่ยเคอ (Hui c’o) พุทธศาสนานิกายเซ็นในดินแดนจีน จะนับพระโพธิธรรมว่าเป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่1 จากนั้นได้มีการสืบทอดตำแหน่งเรื่อยมา จนถึงสมัยของพระสังฆปรินายกองค์ที่ 6 คือ ท่านฮุ้ยเน้ง (Hui – neng) หรือ ท่านเว่ยหลาง (Wei Lang, ค.ศ. 638 - 713)
หลังจากนี้พุทธศาสนานิกายเซ็นได้แตกออกเป็น 5 สาขาใหญ่ ได้แก่ เว่ยหยาง (Wen – Yang) หยุนเหมิน (Yun – Men) ฟาเหยน (Fa – Yen) เฉาต้ง (Ts’ao – Tung) และ หลินฉี (Lin – Chi) สาขาที่สำคัญและได้รับการสืบทอดมาจนทุกวันนี้ มีเพียง 2 สาขา คือ เฉาต้ง และ หลินฉี พุทธศาสนาทั้ง 2 สาขานี้เองที่ดินแดนญี่ปุ่นรับเข้ามาในสมัยคะมะกุระ (Kamakura, ค.ศ. 1185 - 1333) ท่านเอะอิไซ (Eisai, ค.ศ. 1141 - 1215) เป็นผู้ก่อตั้ง โดยนำแนวคิดจากสายหลินฉีมาเผยแพร่ เรียกว่านิกาย “รินไซเซ็น” (Rinzai Zen) สำนักนี้เน้นการรู้แจ้งอย่างฉับพลันโดยอาศัยปริศนาธรรมเพื่อให้เกิดความสงสัยอย่างต่อเนื่องในจิต จนกระทั่งถึงที่สุดก็จะบรรลุสู่ความรู้แจ้งอย่างฉับพลัน กล่าวคือ การปฏิบัติธรรมกับผลที่ได้จากการปฏิบัติธรรมเป็นคนละส่วนกัน โดยอาศัยปริศนาธรรมเป็นวิธีที่นำไปสู่การบรรลุธรรม
ต่อมาท่านโดเก็น (Dogen, ค.ศ. 1200 - 1253) ได้นำแนวคิดจากสายเฉาต้งมาเผยแพร่ เรียกว่านิกาย “โซโตเซ็น” (Sōtō Zen) สำนักนี้เน้นที่การปฏิบัติซาเซ็น (zazen) หรือ การทำสมาธิเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาความสงบและมั่นคงแห่งจิตเพื่อแสดงให้เห็นว่าความรู้แจ้งอยู่ในประสบการณ์แห่งสมาธิจิตอยู่แล้ว คำสอนของสำนักโซโตเซ็นจะเน้นว่าการปฏิบัติธรรมกับผลที่ได้จากการปฏิบัติธรรมเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยที่การปฏิบัติธรรมมิใช่ “วิธี” สู่การบรรลุเป้าหมายบางอย่างภายนอก แต่ประสบการณ์ที่แท้ในการปฏิบัติธรรมนั้นเอง คือ การบรรลุธรรม
พระสูตรสำคัญในพุทธศาสนานิกายเซ็น
ถึงแม้ว่าหลักสำคัญของพุทธศาสนานิกายเซ็น คือ การสืบทอดพิเศษนอกคัมภีร์ (special transmission outside the scripture) ไม่ต้องอาศัยคำพูดและตัวอักษร (no dependence on words and letters) ชี้ตรงไปยังแก่นแท้ของมนุษย์ให้เห็นแจ้งในธรรมชาติของตนเองและบรรลุความเป็นพุทธะ (seeing into one’s nature and the attainment of Buddhahood) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเซ็นปฏิเสธคัมภีร์หรือตัวอักษร ในทางตรงข้าม อาจารย์เซ็นทั้งหลายต่างได้สร้างวรรณกรรมมากมายดังปรากฎเป็นปริศนาธรรม บทกวี เป็นต้น พุทธศาสนานิกายเซ็นเป็นพุทธศาสนานิกายหนึ่งซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากจีนและอินเดียที่ได้รับสืบทอดจากพระสูตรสำคัญ ๆ ดังนี้ มหาปรัชญาปารมิตาสูตร (Prajñaparamita Sutra) สัทธรรมปุณฑริกสูตร (Lotus Sutra) สูตรเว่ยหลาง (The Platform Sutra of Patriarch Hui-Neng) วัชรสูตร (Diamond Sutra) แต่พระสูตรที่สำคัญคือลังกาวตารสูตร (Lankãvatãra Sutra) ดังมีประวัติเล่าว่าท่านโพธิธรรมได้มอบลังกาวตารสูตรให้กับผู้สืบทอดตำแหน่งสังฆปรินายกเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา
http://www.philospedia.net/zen%20buddhism.html
ฐิตา:
2. การบรรลุธรรม
การบรรลุธรรมในพุทธปรัชญานิกายเซ็น (禅 Zen) เรียกว่า “ซาโตริ” (悟りsatori) หมายถึงการรู้แจ้งแห่งสภาวะความจริงสูงสุด กล่าวคือ ซาโตริ เป็นประสบการณ์การรับรู้ความจริงว่าสรรพสิ่งในจักรวาลล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือกล่าวได้ว่าประสบการณ์ซาโตรินี้เป็นการทำลายความยึดมั่นถือมั่นที่ทำให้เกิดความแบ่งแยก เป็นการได้มาซึ่งความเข้าใจว่าที่แท้แล้วทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียว กล่าวคือ เป็นเพียงความว่าง หรือความเป็นเช่นนั้นเอง (Suchness) มีวิธีการหลักเพื่อการบรรลุธรรม 3 วิธีด้วยกัน คือ ซาเซ็น( 座禅 zazen) หรือการนั่งสมาธิ ซันเซ็น (参禅 sanzen) หรือการขบคิดปริศนาธรรม (公案 kōan) และ มนโด (問答 mondō) หรือ การถามตอบอย่างฉับพลัน
ท่านเซ็นไค ชิบายามะ (Zenkai Shibayama) ได้อธิบายปรัชญาเซ็นไว้ดังนี้
เซ็นมิใช่ข้อสรุปทางความนึกคิด ที่เข้าถึงได้ด้วยเหตุผลและการคิดใคร่ครวญ วิถีแห่งเซ็นนั้นมิอาจพบได้โดยความรู้แบบแบ่งแยกของเรา และมิใช่เพียงเท่านี้ แม้ความรู้และความคิดของเราทั้งหมด ซึ่งเป็นผลผลิตของจิตสำนึกก็จำเป็นจะต้องขจัดออกอย่างสิ้นเชิงด้วย หากทำได้สำเร็จแล้วจะเข้าถึงสัจจะแห่งประสบการณ์บริสุทธิ์ ซึ่งจะช่วยให้เราตื่นขึ้นสู่ความว่างหรือสุญญตาและในประสบการณ์ภายในอันลึกล้ำนี้แหละที่เซ็นดำรงอยู่ ถ้าพูดในแง่จุดหมายแล้ว ประสบการณ์แห่งเซ็นก็คือ การตระหนักรู้ถึงรากฐานแห่งการดำรงอยู่ ถ้าพูดในแง่มุมส่วนตัวแล้วก็อาจอธิบายได้ว่า เซ็น คือ การตื่นขึ้นสู่จิตอันล้ำลึกของมนุษย์ ซึ่งโดยภาษาแห่งเซ็น เราเรียกการตื่นขึ้นนั้นว่า ‘ซาโตริ’ ซึ่งแปลว่า การตรัสรู้ เพื่อหมายถึงสัจจะแห่งประสบการณ์ทางศาสนา (เซ็นไค ชิบายามะ, 2526: 59)
นิกายเซ็นมองว่าสรรพสิ่งคือความว่าง เซ็นมองว่ามนุษย์มิใช่ศูนย์กลางแห่งจักรวาล สรรพสิ่งล้วนต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และเชื่อว่าสรรพสัตว์มีพุทธภาวะอยู่ในตัวอยู่แล้ว การบรรลุซาโตริก็คือการเห็นตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตโดยที่โลกและชีวิตนั้น คือ ความว่าง ในเมื่อว่างจากตัวตนแล้ว ก็จะว่างจากการยึดติด เมื่อว่างจากการยึดติดก็จะประจักษ์ถึงศูนยตาธรรมในที่สุด
จะเห็นได้ว่าสภาวะของซาโตริดังที่กล่าวมานั้นเป็นสภาวะที่ยากแก่การเข้าใจด้วยเหตุผลธรรมดาทั่วไป ทั้งนี้เพราะซาโตริไม่อาจแสดงออกมาในรูปของตรรกะหรือภาษาใดๆ หากไม่มีประสบการณ์ตรง ถึงแม้เมื่อมีประสบการณ์ตรงก็ยังเป็นเรื่องยากในการสื่อสาร เพราะซาโตริเป็นสภาวะแห่งการรู้แจ้งอย่างฉับพลันที่ก้าวพ้นสามัญสำนึกแห่งทวินิยม เช่น การแยกแยะเชิงมโนทัศน์ กายกับจิต ดีกับชั่ว ผู้รับรู้กับสิ่งที่ถูกรับรู้ โลกภายนอกกับโลกภายใน เป็นต้น สำหรับผู้ที่บรรลุซาโตริแล้ว จะไม่ยึดติดกับสมมติบัญญัติต่างๆ เพราะสมมติบัญญัติเหล่านี้มีลักษณะสัมพัทธ์ กล่าวคือ ในบริบทหนึ่ง สมมติบัญญัติชุดหนึ่งอาจเข้ากับบริบทหนึ่งนั้นได้ เมื่อบริบทเปลี่ยน ชุดของสมมติบัญญัติที่เคยใช้อาจต้องเปลี่ยนตามไปด้วย แต่ผู้ปฏิบัติเซ็นจะดำรงชีวิตตามความเป็นจริง คือ มองโลกตามที่เป็นและไม่ไปยึดมั่นกับโลก กล่าวคือ บุคคลสามารถมองตนเองว่าเป็นตนเองอยู่ได้ แต่ทั้งนี้จะอยู่ภายใต้กรอบความจริงที่ว่าความเป็นตนเองไม่มี มีแต่ความว่างอันเป็นหนึ่งเดียว
แนวคิดและหลักปฏิบัติของเซ็นวางอยู่บนหลักแห่งความว่างอันเป็นหนึ่งเดียวแห่งสรรพสิ่ง ซึ่งท้าทายความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไปที่คุ้นเคยกับกรอบแห่งความยึดมั่นถือมั่น กรอบแห่งความยึดมั่นสำหรับเซ็นล้วนแต่เป็นเรื่องที่มนุษย์สมมติขึ้น อันเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม คือ การเห็นตามความเป็นจริงของโลกและชีวิตที่ว่างจากกรอบมโนทัศน์ใด ๆ เราอาจทำความเข้าใจประเด็นนี้มากขึ้นจากการพิจารณาปริศนาธรรมดังต่อไปนี้
ก่อนฝึกเซ็น แม่น้ำก็เป็นแม่น้ำ ขุนเขาก็เป็นขุนเขา [การรับรู้ตามปกติของคนทั่วไป] แต่เมื่อปฏิบัติเซ็นแล้ว ฉันเห็นว่าแม่น้ำก็ไม่ใช่แม่น้ำ ขุนเขาก็มิใช่ขุนเขาอีกต่อไป [การรับรู้ของผู้บรรลุธรรม] มาบัดนี้ ฉันกลับเห็นแม่น้ำก็ยังคงเป็นแม่น้ำและขุนเขาก็ยังเป็นขุนเขาอยู่ดังเดิม [การรับรู้ของผู้บรรลุธรรมแล้วแต่ก็ยังสามารถสื่อสารกับคนปกติได้] (ติช นัท ฮันท์, 2532: 74, ข้อความในวงเล็บเป็นของผู้เรียบเรียง)
จะเห็นได้ว่าในการรับรู้ตามปกติของคนทั่วไปจะมีลักษณะที่ยึดถือตามความหมายที่กำหนดไว้ จึงทำให้มองว่า แม่น้ำก็คือแม่น้ำ ขุนเขาก็คือขุนเขา ตามความหมายและความเข้าใจในระดับปกติ แต่เมื่อเกิดการรู้แจ้งแล้วการยึดมั่นถือมั่นต่าง ๆ ก็ได้ถูกทำลายสิ้น ภาพการมองภูเขาและแม่น้ำจะเปลี่ยนไป แม่น้ำจึงไม่ใช่แม่น้ำและขุนเขาจึงไม่ใช่ขุนเขาอีกต่อไป หลังจากที่รู้แจ้งแล้วก็กลับมามีสภาวะปกติดังเดิม แม่น้ำจึงเป็นแม่น้ำ ภูเขาก็คือภูเขา แต่ภาพของภูเขาและแม่น้ำสำหรับผู้บรรลุธรรมแล้วจะเป็นคนละอย่างกับผู้ยังไม่บรรลุธรรม คือไม่ยึดติดกับความหมายเดิมของคนทั่วไป ผู้บรรลุธรรมยังดำรงอยู่ในโลกตามความเป็นจริง กล่าวคือผู้ที่บรรลุซาโตริจะสามารถมีชีวิตอยู่อย่างธรรมดาโดยไม่ถูกสิ่งอื่นครอบงำ อยู่กับปัจจุบันขณะ คือ ไม่ไปหวนรำลึกถึงอดีต และไม่วิตกกังวลกับอนาคต แต่จะมองทุกอย่างตามที่เป็นในปัจจุบันขณะ
แม้การบรรลุธรรมจะทำให้เห็นแจ้งตามความเป็นจริงอันเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่งที่ปราศจากความคิดแบ่งแยก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่บรรลุซาโตริแล้วจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่กับคนทั่วไปในชีวิตประจำวัน ผู้ที่บรรลุซาโตริจะเข้าใจและรู้เท่าทันกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นต่อหน้าของเขาในขณะที่คนทั่วไปอาจไม่รู้ ในทางตรงข้าม จิตของมนุษย์มักถูกครอบงำด้วยกิเลสต่าง ๆ ทำให้เห็นภาพบิดเบือนไปจากความเป็นจริงแล้วไปยึดติดกับภาพสมมติที่มนุษย์บัญญัติขึ้น ทำให้ไม่เข้าใจการกระทำหรือการพูดของอาจารย์เซ็นซึ่งพ้นไปจากสมมติบัญญัติ เช่น กรณีพระเซ็นอุ้มผู้หญิงข้ามแม่น้ำ
เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งอาจารย์ตันซานกับอาจารย์เอโดกิเดินทางไปตามถนนเฉอะแฉะเพราะฝนกำลังตกหนัก และได้พบหญิงสาวสวยกำลังรีรอจะข้ามแม่น้ำ อาจารย์ตันซานจึงเข้าไปอุ้มเธอข้ามฝั่ง อาจารย์เอโดกิตกใจมาก แต่ไม่กล้าปริปากพูด จนกระทั่งตอนกลางคืน อาจารย์เอโดกิจึงถามอาจารย์ตันซานว่า “พระเราแตะต้องผู้หญิงไม่ได้ โดยเฉพาะสาวสวยเช่นนั้นยิ่งอันตราย ทำไมท่านกล้าทำถึงขนาดนั้น” อาจารย์ตันซานตอบว่า “ผมวางเธอไว้ที่นั่นตั้งนานแล้ว คุณยังอุ้มเธออยู่หรือนี่” (เสฐียรพงษ์ วรรณปก, 2540: 28) เรื่องพระอุ้มผู้หญิงข้ามแม่น้ำนี้แสดงให้เห็นว่า วิธีคิดของอาจารย์ตันซานได้ก้าวข้ามพ้นจากการแยกแยะของสมมติบัญญัติ ซึ่งในที่นี้คือพระวินัยไปสู่แก่นแท้ของหลักธรรมคือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ในขณะที่อาจารย์เอโดกิยังคงยึดติดกับสมมติบัญญัติอยู่ หรือกล่าวได้ว่าอาจารย์ตันซานได้ปลดปล่อยตัวเองจากบัญญัติทางโลกในขณะที่อาจารย์เอโดกินั้นยังติดอยู่ในบัญญัติ
ฐิตา:
3. วิธีการบรรลุธรรม
การบรรลุซาโตริคือการรู้แจ้งแห่งสัจธรรม กล่าวคือ เป็นการทำลายอวิชชา ตัณหา และอุปทาน ก้าวพ้นทวิลักษณ์ มองเห็นสรรพสิ่งเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการแบ่งแยกแต่อย่างใด เป็นแต่ความว่างอันเป็นหนึ่งเดียวกัน แนวการปฏิบัติเพื่อบรรลุซาโตริของทั้งสำนักโซโตและรินไซ มี 3 ประการ ดังนี้
3.1 ซาเซ็น (Zazen)
ซาเซ็นหมายถึงการนั่งสมาธิอันเป็นพื้นฐานในการเตรียมจิตเพื่อการขบคิดพิจารณาสภาวะธรรมและปริศนาธรรมต่าง ๆ เพื่อการบรรลุซาโตริ เพราะหากไม่มีการฝึกซาเซ็นเพื่อพัฒนาจิตให้แข็งแกร่งแล้วก็จะเป็นการยากยิ่งในการขบคิดปริศนาธรรมให้กระจ่างแจ้งได้และเมื่อไม่สามารถขบคิดปริศนาธรรมได้สภาวะซาโตริก็จะเกิดขึ้นได้ยาก ในการบรรลุซาโตรินั้น มักต้องอาศัยการขบคิดปริศนาธรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความงุนงงสงสัยคุกรุ่นเต็มเปี่ยมอยู่ในจิตแล้ว “ระเบิดออก” สู่การรู้แจ้งอย่างทันทีทันใด
ในการปฏิบัติซาเซ็นนี้ ท่านโดเก็นได้อธิบายไว้ดังนี้
ณ ที่นั่งประจำของท่าน ปูเสื่อหนา ๆ แล้ววางหมอนลงบนเสื่อ นั่งขัดสมาธิเพชร หรือสมาธิดอกบัว ในท่าสมาธิเพชร ให้วางเท้าขวาบนขาซ้ายและเท้าซ้ายบนขาขวา ในท่าสมาธิดอกบัว ท่านเพียงวางเท้าซ้ายบนขาขวาเท่านั้น ท่านควรห่มจีวรและคาดรัดประคดแต่หลวม ๆ แต่เข้าที่ให้เรียบร้อย แล้ววางมือขวาบนขาซ้ายและวางฝ่ามือซ้ายในท่าหงายขึ้นบนฝ่ามือขวาโดยให้ปลายนิ้วโป้งจรดกัน นั่งตรงในท่าที่ถูกต้อง อย่าเอียงไปทางซ้ายหรือขวา อย่าเอียงไปข้างหน้าหรือข้างหลัง…เมื่อท่านั่งเรียบร้อยแล้ว สูดลมหายใจลึก ๆ หายใจเข้าออก โคลงร่างไปทางซ้ายทีขวาทีแล้วปล่อยให้หยุดนิ่งสมดุลในท่านั่ง คิดถึงการไม่คิด จะคิดถึงการไม่คิดได้อย่างไร โดยปราศจากการคิด สิ่งนี้เองคือ หัวใจแห่งศิลปะการนั่งซาเซ็น (สุวรรณา สถาอานันท์, 2534: 49 - 50)
การนั่งซาเซ็นนี้เป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้จิตหลุดพ้นจากกรอบอ้างอิงเดิมที่เคยคิด เคยเชื่อ เคยยึดมั่นถือมั่น ไปสู่การปราศจากการคิดซึ่งหมายถึงการที่จิตพ้นไปจากการแบ่งแยกเชิงทวิลักษณ์ เพื่อก้าวเข้าสู่ความว่างอันเป็นหนึ่งเดียวกับจิตเดิมแท้ ประเด็นเรื่องปราศจากความคิดนี้ อาจารย์คาสุลิส (T. P. Kasulis, 1981: 71 - 77) ได้อธิบายไว้ว่า “การคิด” คือ การกำหนดมโนทัศน์ต่าง ๆ อันเป็นกิจกรรมทางจิตให้กับสิ่ง ๆ หนึ่ง ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจด้วยว่า ชอบ ไม่ชอบ เชื่อ ไม่เชื่อ เป็นต้น เช่น การรับรู้ว่าอะไรคือโต๊ะ อะไรคือเก้าอี้ “การไม่คิด” คือ การปฏิเสธที่จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ หรือกล่าวได้ว่าการไม่คิดคือการปฏิเสธกระบวนการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด แต่การจงใจปฏิเสธการคิดนี้ในแง่หนึ่งก็เป็นตัวการคิดนั้นเอง คือมีกรอบกำหนดเพื่อการปฏิเสธ ส่วน“การปราศจากความคิด” แตกต่างจากการคิดและการไม่คิดในแง่ที่ว่าการปราศจากการคิด จิตไม่มีความมุ่งหมายใด (intentionality) ไม่ใช่ทั้งการยืนยันและปฏิเสธ ไม่ใช่ทั้งเชื่อและไม่เชื่อ ไม่ได้มุ่งปฏิเสธอย่างเดียวกับการไม่คิด แต่เป็นการปล่อยให้สิ่งต่างๆ ปรากฏอย่างที่มันเป็น (pure presence of things as they are) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นสภาวะก่อนการแยกแยะเชิงมโนทัศน์ การปราศจากการคิดนี้อาจเปรียบได้กับการที่เรายืนดูความงามของธรรมชาติบนยอดเขา โดยเราจะซาบซึ้งและซึมซับความงามจนอยู่ในสภาวะที่ปราศจากคำพูดหรือคำบรรยายใดๆ
การปฏิบัติซาเซ็นจึงมิใช่การนั่งสมาธิแบบปฏิเสธการรับรู้ แต่เป็นการนั่งสมาธิที่เต็มไปด้วยการรับรู้ แต่เป็นการรับรู้โลกและประสบการณ์ตามอย่างที่เป็นโดยปราศจากความจงใจใด ๆ การรับรู้นี้เป็นการรับรู้ที่ตัวผู้รับรู้กับสิ่งที่ถูกรับรู้ได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นการดำรงอยู่ภายใต้กาลภาวะนั้นๆ การปฏิบัติซาเซ็นเป็นฐานของการฝึกใช้ปัญญาในการคิดพิจารณาสภาวะธรรมและปริศนาธรรม แต่สำหรับโดเก็น ตัวซาเซ็นเองก็คือปริศนาธรรม มิใช่เป็นฐานสำหรับการฝึกใช้ปัญญาเพื่อขบคิดปริศนาธรรม
ฐิตา:
3.2 ซันเซ็น (Sanzen)
แนวการปฏิบัติแบบซันเซ็น หรือวิธีการแห่งปริศนาธรรมนี้ ศิษย์จะเข้าไปพบอาจารย์เพื่อรับปริศนาธรรมมาขบคิดพิจารณา ทั้งนี้ ปริศนาธรรมเป็นเพียงเครื่องมือในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวทัศน์แก่ผู้ฝึกฝนเซ็นเท่านั้น หาใช่ความจริงไม่ รูปแบบหรือคำตอบของปริศนาธรรมจะแตกต่างกันออกไป แม้ว่าจะเป็นปริศนาธรรมชนิดเดียวกัน แต่ถ้าถามกับคนต่างกัน ก็จะได้คำตอบที่แตกต่างกัน ขึ้นกับสภาพจิตที่ผ่านการฝึกฝนมาและอุปนิสัยของแต่ละคน อาจารย์จะเป็นผู้ตัดสินว่าคำตอบของศิษย์ที่มีต่อปริศนาธรรมนั้น เกิดจากการตระหนักรู้จริง ๆ หรือเป็นเพียงการจำหรือลอกเลียนแบบมาจากคนอื่น
ตัวอย่างของปริศนาธรรม
ศิษย์: พระพุทธเจ้าคืออะไร?
อาจารย์: ป่านหนักสามตำลึง (Mumonkan, Case 18)
ศิษย์: พระพุทธเจ้าคืออะไร
อาจารย์: ไม่มีจิต ไม่มีพุทธะ (Mumonkan, Case 33)
ศิษย์: อะไรคือความหมายของท่านโพธิธรรมที่เดินทางมาจากทางตะวันตก?
อาจารย์: โอ้! กอไผ่ต้นนี้ช่างสูงตระการเสียจริง! (Mumonkan, Case 37)
จากตัวอย่างปริศนาธรรมข้างต้นจะเห็นได้ว่าลักษณะการตอบแสดงให้เห็นถึงภาวะแห่งการบรรลุธรรมของผู้ตอบ ในแง่ที่ว่าสรรพสิ่งล้วนรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน คำตอบไม่จำเป็นต้องเป็นคำตอบที่มีลักษณะของการอธิบายตามความเข้าใจทั่วไป (เช่น คนทั่วไปอาจอธิบายว่าหลักสำคัญแห่งพุทธศาสนา ได้แก่ หลักการเวียนว่ายตายเกิด กรรม อริยสัจสี่) แม้จะอธิบายเช่นนี้ แต่ก็ยังอาจพบกับข้อสงสัยได้ว่าจะแยกแยะคำตอบของคนที่บรรลุธรรมออกจากคำตอบของคนที่ไม่ได้บรรลุธรรมได้อย่างไร สำหรับประเด็นนี้ ผู้เรียบเรียงเห็นว่าวิธีที่ใช้แยกแยะการตอบของผู้บรรลุธรรมจากคนอื่น ๆ สามารถพิจารณาจากตัวคำตอบนั้นเอง และการใช้ชีวิตประจำวันที่มีความเข้าใจและดำรงอยู่ในแก่นแท้แห่งเซ็น ทั้งสองข้อนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์เซ็นผู้บรรลุธรรมอีกต่อหนึ่ง แต่ถ้าพิจารณาในอีกทางหนึ่ง ลักษณะการตอบของผู้บรรลุธรรมเป็นการตอบจากสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ ซึ่งบ่งถึงการตระหนักรู้ถึงปัจจุบันขณะอยู่ตลอดเวลา และเป็นการแสดงให้เห็นถึงการไม่อาศัยเหตุผลในการไตร่ตรองคำตอบ
การตอบอย่างฉับพลันเป็นการสะท้อนประสบการณ์ปัจจุบันขณะตามคติปรัชญาเซ็นที่เน้นการมองโลกตามความเป็นจริงปราศจากการแบ่งแยก ดังตัวอย่างของปริศนาธรรมที่ถามเกี่ยวกับเหตุผลหรือความหมายของการเดินทางมาจากทิศตะวันตกของท่านโพธิธรรม คำตอบสำหรับคำถามนี้คนส่วนใหญ่คาดหวังว่าน่าจะเป็นการอธิบายเหตุผลเกี่ยวกับทำไมและอย่างไร แต่ผู้ตอบกลับให้คำตอบซึ่งดูเหมือนจะไม่เป็นที่เข้าใจได้ว่า “โอ้! กอไผ่ต้นนี้ช่างสูงตระการเสียจริง!” ในที่นี้คำตอบนี้อาจไม่เป็นที่เข้าใจได้หรือเป็นคนละเรื่องกับคำถาม แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะพบว่าถ้าจุดหมายของการสอนธรรมะของท่านโพธิธรรมเป็นไปเพื่อการเห็นว่าสรรพสิ่งล้วนดำรงอยู่เป็นหนึ่งเดียวกันโดยปราศจากการคิดแบ่งแยกโดยอาศัยการพิจารณาและอยู่กับปัจจุบันขณะ ก็จะเห็นได้ว่าการตอบในลักษณะดังกล่าวแสดงว่าผู้ตอบนั้นเข้าใจจุดหมายของการสอนธรรมะของท่านโพธิธรรมคือเข้าใจว่าตนเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง
จะเห็นได้ว่าลักษณะของการใช้ภาษาในปริศนาธรรมของอาจารย์เซ็นเป็น “ภาษาแห่งการรู้แจ้ง” (ติช นัท ฮันห์, 2522: 86) คือเป็นภาษาที่ปลุกให้ศิษย์ตื่นสู่โลกแห่งความเป็นจริง กล่าวคือ อาจารย์เซ็นใช้ภาษาในฐานะเครื่องมือเพื่อให้เกิดประสบการณ์ทางศาสนา มิได้ใช้ภาษาเพื่อบรรยายความเป็นจริง
ฐิตา:
3.3 มนโด (Mondō)
มนโด คือ การถามตอบอย่างฉับพลัน โดย
ไม่ผ่านการใช้ความคิดพิจารณาปริศนาธรรมอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้เพราะการใช้มนโดจะเป็นการบังคับให้เราตอบในทันทีโดยไม่ผ่านการคิดหรือเหตุผลใดๆ
เพื่อให้หลุดพ้นจากกรอบความคิดแบบเดิมไปสู่การรับรู้โลกตามความเป็นจริง
ไม่ผ่านการปรุงแต่งหรือการครอบงำของอวิชชาและกิเลส
ตัวอย่างของมนโด
พระรูปหนึ่งถามท่านอาจารย์โจวชูว่า: "กระผมเพิ่งมาถึง ณ สถานปฏิบัติธรรมนี้ โปรดให้คำชี้แนะด้วย"
ท่านอาจารย์โจวชูตอบว่า: "เธอกินข้าวแล้วหรือยัง"
พระรูปนั้นตอบว่า: "กระผมทานแล้ว"
ท่านอาจารย์โจวชูตอบว่า: "งั้นก็ไปล้างจานเสียสิ" (Mumonkan, Case 7)
จากตัวอย่างมนโดข้างต้น พระที่ขอคำชี้แนะอาจารย์โจชูได้ลืมว่าแท้ที่จริงแล้วหลักคำสอนแห่งพุทธะเป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมที่มีอยู่ในทุกขณะจิตของชีวิตประจำวัน บทสนทนาของอาจารย์โจชูเป็นการเตือนพระรูปนั้นว่าอย่าได้แสวงหาธรรมะที่อยู่นอกตัว หรืออย่าถามหาหลักคำสอนที่แยกออกจากวิถีชีวิตปกติ แต่ให้หันกลับมาพิจารณาประสบการณ์แห่งพุทธะในตนเอง
ทั้งปริศนาธรรมและมนโดต่างก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการบรรลุธรรมได้ ปริศนาธรรมเป็นปัญหาที่อาจารย์ใช้ถามลูกศิษย์เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าลูกศิษย์ของตนมีความก้าวหน้าทางจิตเพียงใด เมื่อศิษย์ได้รับปริศนาธรรมมาแล้วก็จะต้องพยายามขบคิดปริศนาธรรมที่ได้รับมาเพื่อเป็นการทดสอบประสบการณ์ทางจิตของตน ในขณะที่มนโดเป็นระบบการถามตอบอย่างปัจจุบันทันด่วนโดยไม่ผ่านการขบคิดพิจารณาอย่างต่อเนื่องอย่างปริศนาธรรม กล่าวคือ ในบางครั้งอาจารย์เซ็นอาจมอบปริศนาธรรมแก่ศิษย์ไปขบคิด แต่ในบางครั้งอาจารย์เซ็นอาจถามปริศนาธรรมในกระบวนการของมนโด โดยที่การตอบในกระบวนวิธีมนโดจะเป็นการตอบอย่างฉับพลัน ไม่ปล่อยให้ใช้ระบบคิดหรือเหตุผลในการไตร่ตรองคำถาม คำตอบที่ได้จากวิธีการมนโดนี้เป็นคำตอบที่มาจากจิตที่บริสุทธิ์ปราศจากกรอบมโนทัศน์ใด ๆ ที่อาจบิดเบือนโลกแห่งความเป็นจริง
ในขณะที่กระบวนการแห่งปริศนาธรรมเป็นการอาศัยการคิดไตร่ตรองด้วยเหตุผลจนเกิดความงุนงงสงสัยอย่างต่อเนื่อง จากการตระหนักรู้ว่าเหตุผลไม่สามารถทำความเข้าใจปริศนาธรรมได้จนเกิดการระเบิดออกสู่การรู้แจ้งอย่างฉับพลัน กระบวนการมนโดเป็นการถามตอบอย่างฉับพลันที่เป็นการตัดกระแสการคิดเชิงตรรกะไปในตัว ทำให้เข้าใจความจริงแท้ที่อยู่เหนือการคิด เหตุผล และการแยกแยะต่าง ๆ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการแห่งมนโดหรือวิธีการแห่งปริศนาธรรมนั้นต่างก็พยายามตัดกระแสสำนึกแห่งเหตุผลที่เป็นตัวบดบังการเข้าถึงความจริงแท้
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version