แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

พุทธศาสนานิกายเซ็น: Zen Buddhism

<< < (2/3) > >>

ฐิตา:


4. ปริศนาธรรม

ปริศนาธรรมในสายรินไซเซ็นเป็นปัจจัยช่วยทำให้พุทธศาสนานิกายเซ็นดูมีความโดดเด่น รินไซเซ็นเน้นการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมอย่างฉับพลัน โดยจะเน้นหนักไปทางการใช้ปัญญาในการขบคิดปริศนาธรรม ในขณะที่สายโซโตเซ็นจะเน้นการปฏิบัติซาเซ็นเป็นสำคัญ

4.1 ความหมาย

ปริศนาธรรม หรือ โคอัน (Koan) ในอดีตสมัยปลายราชวงศ์ถังหมายถึง “เอกสารสาธารณะ” หรือ “พระราชบัญญัติ” แต่ต่อมามีความหมายถึงเรื่องราวหรือบทสนทนาระหว่างอาจารย์กับศิษย์ หรือปัญหาที่อาจารย์หยิบยกขึ้นมาแสดงแก่ศิษย์

อาจารย์ซะซะกิ (Sasaki, 1965: 4 - 9) เสนอว่าคำว่า “โค” หมายความว่า “สาธารณะ” (public) นอกจากนี้ยังมีความหมายแฝง คือ การสิ้นสุดลงแห่งความคิดความเข้าใจอันเป็นส่วนตัวที่เต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นในลักษณะทวินิยม ส่วน “อัน” มีความหมายว่า “บันทึกหรือเอกสาร” (records) ซึ่งแฝงนัยว่าเป็นการยืนยันสภาวะแห่งพุทธะที่แสดงออกมา ฉะนั้น โคอันจึงมีความหมายแฝงว่าเป็นการแสดงออกแห่งธรรมะอันแท้จริงสูงสุด

ท่านฮากุอิน (Hakuin, ค.ศ.1685-1768) ได้รวบรวมปริศนาธรรมตามที่ปรากฏใช้อยู่ในสำนักนี้ประมาณ 1,700 บท เช่น

    จงแสดงใบหน้าที่แท้จริงของท่านก่อนท่านเกิด
    อะไรคือเสียงของการตบมือข้างเดียว

    ถาม: อะไรคือหลักธรรมของพุทธศาสนา
    ตอบ: ข้าพเจ้าเห็นภูเขาไม่ใช่ภูเขา เห็นแม่น้ำไม่ใช่แม่น้ำ
4.2 ความเป็นมา

เราสามารถสืบสาวความเป็นมาของปริศนาธรรมไปถึงครั้งสมัยที่พระพุทธองค์ยังคงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ กล่าวคือ พระพุทธองค์ได้แสดงคำสอนต่าง ๆ เพื่อการรู้แจ้ง ดังเห็นได้จากตอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่พระมหากัสสัปปะ อย่างไรก็ดี รูปแบบปริศนาธรรมที่ชัดเจนนั้นเริ่มมีปรากฏขึ้นในสมัยราชวงศ์ถังตอนปลาย อาจารย์หนานหยวน ฮุ่ยหย่ง (Nan-yuan Hui-yung ค.ศ.? – 930) หรือ ท่านนันอิน เอเกียว (Nan’in Egyo) เป็นผู้ริเริ่มรวบรวมปริศนาธรรมต่าง ๆ ที่เหล่าอาจารย์ในอดีตใช้สั่งสอนศิษย์ตามสถานการณ์และความเหมาะสม แต่ด้วยขาดแคลนอาจารย์ที่จะสร้างสรรค์ปริศนาธรรมใหม่ ๆ และจำนวนศิษย์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปริศนาธรรมใหม่ๆ จึงไม่ค่อยมี ปริศนาธรรมซึ่งหมายถึง “บันทึกสาธารณะ” (public records) จึงสื่อนัย “คำสอนที่สืบทอดมาแต่ครั้งอดีต” (words of ancients) ด้วย

การเก็บรวบรวมปริศนาธรรมได้สำเร็จลุล่วงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่10 แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ได้มีอาจารย์บางท่านพยายามสร้างปริศนาธรรมขึ้นใหม่ โดยการใช้คำถามจากปริศนาธรรมเดิม แต่ให้คำตอบใหม่ เช่น ท่านเฝิ่นหยัง ซานเจ้า (Fen-yang Shan-chao, ค.ศ. 947–1024) หรือ ท่านฟุนโย เซ็นโช (Fun’yo Zencho) ต่อมาท่านเซ็ตโช จูเก็น (Setcho Juken, ค.ศ. 980–1052) ได้รวบรวมปริศนาธรรมอีกครั้งหนึ่งโดยผนวกอีก 18 ปริศนาธรรมจากสำนักอวิ๋นเหมิน (Yun-men) ของท่านเอง ต่อมาท่านหยวนหวู โค่วจิ่น (Yuan-wu K’och’in, ค.ศ.1063–1135) หรือท่านเอ็นโง โคคูกอน (Engo Kokugon) ได้นำบันทึกของท่านฮุ่ยโถว มาวิเคราะห์วิจารณ์และนำไปสั่งสอนศิษย์ ในตำราชื่อว่า ปี้เหยียนลู่ (Pi-yen lu) ในสมัยนี้เองที่มีการวิเคราะห์วิจารณ์ปริศนาธรรมอย่างแพร่หลายโดยอาศัยเหตุผลและทฤษฎีต่าง ๆ มากมาย แต่ท่านต้าฮุ่ยจงเกา (Ta-hui Tsung-kao ค.ศ. 1089–1163) หรือ ท่านไดเอะ โซะโคะ (Daie Soko) มองว่าการพิจารณาปริศนาธรรมที่แท้มิใช่การให้เหตุผลหรือทฤษฎี แต่ต้องเป็นการรวบรวมจิต

ฐิตา:

4.3 จุดหมาย       
จุดหมายแห่งปริศนาธรรมมิใช่การอธิบายแก่นแท้แห่งพุทธธรรม แต่เป็นไปเพื่อผลในเชิงปฏิบัติ มีผู้เปรียบการใช้ปริศนาธรรมว่าเป็นดั่ง “นิ้วที่ชี้สู่ดวงจันทร์” หมายความว่า จุดมุ่งหมายของปริศนาธรรมไม่ได้อยู่ที่การพยายามหาความหมายภายในตัวปริศนาธรรมนั้นเอง ทั้งนี้เพราะปริศนาธรรมไม่ใช่จุดหมายปลายทางแต่เป็นเพียงวิธีการเท่านั้น ถ้าเรายังคงยึดติดอยู่ที่ปริศนาธรรมแล้วจะไม่สามารถก้าวพ้นไปสู่สภาวะอันแท้จริงได้ เปรียบได้กับการมองเพียงนิ้วที่ชี้ไปสู่ดวงจันทร์ ซึ่งถ้ามองเพียงแต่นิ้วเราก็ไม่อาจมองถึงดวงจันทร์ได้ กล่าวคือ สิ่งที่ผู้ชี้ต้องการคือไม่ใช่การมองเพียงที่นิ้ว แต่เป็นการมองดูดวงจันทร์อันเป็นเป้าหมายของการชี้นิ้วสู่ดวงจันทร์

           

การขบปริศนาธรรมมีเป้าหมายให้บรรลุสภาวะแห่งซาโตริอันอยู่พ้นจากกรอบของภาษาและเหตุผลธรรมดาทั่วไป ปริศนาธรรมมักแสดงออกในลักษณะที่เป็นปฏิทรรศน์ (paradox)  ในการทำความเข้าใจจุดหมายแห่งปริศนาธรรมนี้ เราจำเป็นต้องทราบถึงลักษณะและประเภทของปริศนาธรรมก่อน การแบ่งประเภทของปริศนาธรรมนี้ อาจารย์จุง-อิง- เจง (Chung-ying Cheng, 1973: 87 - 90) ได้แบ่งปริศนาธรรมตามลักษณะความเป็นปฏิทรรศน์ไว้ 3 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 ปริศนาธรรมที่มีความขัดแย้งภายในอยู่ในลักษณะของคำสั่งง่าย ๆ หรืออยู่ในคำถามเพียงคำถามเดียว เช่น

“จงแสดงใบหน้าที่แท้จริงของท่านก่อนท่านเกิด” หรือ “อะไรคือเสียงของมือข้างเดียว”

ประเภทที่ 2 ปริศนาธรรมที่มีความขัดแย้งภายในอยู่ความสัมพันธ์ระหว่างคำถามและคำตอบ โดยที่คำถามหรือคำตอบอย่างใดอย่างหนึ่งจะมีลักษณะขัดแย้งกันเองภายในตัว เช่น

คำถาม: อะไรคือหลักธรรมของพุทธศาสนา
คำตอบ: ข้าพเจ้าเห็นภูเขาไม่ใช่ภูเขา เห็นแม่น้ำไม่ใช่แม่น้ำ

ประเภทที่ 3 ปริศนาธรรมที่มีความขัดแย้งภายในอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างคำถามและคำตอบ แต่ในที่นี้ตัวคำถามและคำตอบไม่ได้มีความขัดแย้งกันภายใน เช่น

คำถาม: อะไรคือความหมายของการที่ท่านโพธิธรรมเดินทางมาจากทางตะวันตก
ตอบ: มีต้นสนอยู่หน้าลานวัด

ในประวัติศาสตร์นิกายเซ็น สถานการณ์การใช้ปริศนาธรรมนั้นจะเกิดขึ้นในเฉพาะระหว่างอาจารย์กับศิษย์ อาจารย์เซ็นใช้ปริศนาธรรมเป็นเครื่องมือตรวจสอบความเข้าใจและความรู้แจ้งของศิษย์ และอาจารย์เซ็นจะมีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่าปริศนาธรรม อาจารย์เซ็นเป็นผู้ใช้ปริศนาธรรมเพื่อตรวจสอบสภาพจิตของศิษย์ว่าอยู่ในระดับใด โดยอาจารย์เซ็นจะพิจารณาจากคำตอบหรือการแสดงออกของศิษย์ นอกจากปริศนาธรรมจะสามารถใช้เป็นเครื่องทดสอบประสบการณ์ทางจิตของผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว บทบาทสำคัญของปริศนาธรรมอีกประการหนึ่งคือเข้าไปทำลายความคิดและการใช้ภาษาในระดับปกติ จุดมุ่งหมายแห่งปริศนาธรรมคือการพยายามทำให้เกิดการแสดงออกของความจริงแท้ โดยการทำลายความคิดปรุงแต่งต่าง ๆ ที่เกิดจากกิเลสตัณหาและอวิชชา ทำให้ผู้ฝึกปฏิบัติเข้าไปมีประสบการณ์ตรงกับความจริงแท้ที่ปราศจากการคิด เหตุผล การแยกแยะในโลกแห่งสมมติบัญญัติ หนทางแห่งปริศนาธรรมคือกระตุ้นให้เกิดอาการงุนงงภายในจิตของผู้ปฏิบัติธรรม ในกระบวนการขบคิดปริศนาธรรม แม้ว่าจะเป็นการพยายามขบคิดอย่างต่อเนื่อง โดยในตอนแรกผู้ฝึกอาจพยายามใช้เหตุผลในการขบคิดปริศนาธรรม แต่เมื่อพยายามคิดด้วยเหตุผลมาในระดับหนึ่ง จะพบว่าเหตุผลไม่สามารถให้คำตอบแก่ปริศนาธรรมได้ เนื่องจากพบกับความเป็นปฏิทรรศน์ในปริศนาธรรม ในที่สุด กรอบความยึดมั่นเชิงทวิทัศน์ก็จะถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงและมีการรู้แจ้ง
นอกจากนี้ ปริศนาธรรมยังใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินหาผู้เหมาะสมกับตำแหน่งสังฆปรินายกองค์ต่อไป  กล่าวคือ ผู้ที่ได้รับการยอมรับจากอาจารย์เซ็นในการสืบทอดตำแหน่งสังฆปรินายกจะต้องผ่านการตรวจสอบโดยอาศัยปริศนาธรรมและกระบวนการต่างๆอย่างเข้มงวด นอกจากจะมีความเป็นเลิศทางธรรมแล้ว ยังต้องเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสภาพจิตที่เปี่ยมด้วยความรู้แจ้ง ความสามารถในการสั่งสอนแนวทางแห่งเซ็น

ฐิตา:


5. เซ็นกับจริยศาสตร์

สมมติฐานเกี่ยวกับโลกในปรัชญาตะวันตกกระแสหลักเห็นว่ามีความเป็นจริงบางอย่างอยู่ก่อนการรับรู้ของมนุษย์ สมมติฐานนี้นำไปสู่การมองโลกในเชิงทวิลักษณ์ เช่น ผู้รับรู้กับสิ่งที่ถูกรับรู้ กายกับจิต  เหตุผลกับประสบการณ์ เป็นต้น และถ้าพิจารณาในบริบทของจริยศาสตร์ตะวันตก เราจะพบว่าจริยศาสตร์เชิงบรรทัดฐาน (normative ethics) ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลในการแสวงหาว่าอะไรคือ “สิ่งที่ควร” สำหรับทุกคน โดยพิจารณาว่าอะไรควรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินการกระทำว่าเป็นการกระทำที่ถูกที่ควร การแสวงหานั้นมีนัยของการแยกแยะว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร นอกจากนี้ ยังมีนัยว่าการกระทำที่ควรอยู่ในขอบเขตความสามารถที่จะกระทำได้ของมนุษย์ จริยศาสตร์ตะวันตกจึงมองจากกรอบการแยกแยะเชิงทวิทัศน์ ซึ่งอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และสิ่งอื่นแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง 

พุทธปรัชญานิกายเซ็นเลือกที่คำถามทางจริยศาสตร์ว่า “เราควรเป็นอย่างไร” มากกว่าการถามว่า “เราควรทำอย่างไร” นิกายเซ็น การเรียกร้องให้มนุษย์กลับไปสู่ประสบการณ์ดั้งเดิมที่ปราศจากการแยกแยะเชิงมโนทัศน์ เพราะความเป็นจริงสำหรับเซ็นคือการปรากฎขึ้นของความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษย์ โลก และการรับรู้ กล่าวคือ ความเป็นจริงมิใช่โลกภายนอกที่ต้องแสวงหา แต่เป็นเรื่องภายในตัวมนุษย์เอง จริยศาสตร์สำหรับนิกายเซ็นจึงไม่ใช่เรื่องของ “ควร” แต่เป็นเรื่องของ “เป็น” กล่าวคือ ผู้ฝึกปฏิบัติเซ็นคือผู้ที่รับรู้โลกตามอย่างที่เป็น ปราศจากการแยกแยะระหว่างตัวตนหนึ่งกับอีกตัวตนหนึ่ง แต่เป็นการตระหนักรู้ในตนเอง


สำหรับพุทธปรัชญาแล้ว ข้อเสนอของนิกายเซ็นจึงเป็นอีกข้อเสนอหนึ่งที่น่ารับฟังในเรื่องของ “อนัตตา” กล่าวคือ สำหรับนิกายเซ็นตัวตนหนึ่งดำรงอยู่ภายในความสัมพันธ์กับตัวตนอื่น กล่าวได้ว่าผู้อื่นดำรงอยู่ในตัวเรา อันที่จริงแล้วความเป็นตัวเราซึ่งดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ ไม่เปลี่ยนแปลงและไม่ขึ้นต่อสิ่งอื่นนั้นหามีไม่ ส่วนต่อไปจะเป็นการเสนอทัศนะเกี่ยวกับจริยศาสตร์ในปรัชญาเซ็นโดยอาศัยปริศนาธรรมต่อไปนี้

ไป่ฉางกับห่านป่า
ครั้งหนึ่งอาจารย์เซ็นหม่าจือ (Ma-tsu,? – 788 A.D.) เดินไปกับศิษย์ชื่อไป่ฉาง (Pai-Chang, 720 – 814 A.D.) ท่านสังเกตเห็นห่านป่าฝูงหนึ่งบินผ่านหน้าไป ท่านจึงถามไป่ฉางว่า “ห่านป่าพวกนี้กำลังบินไปไหน?” ไป่ฉางตอบว่า “พวกมันบินลับตาไปแล้ว” อาจารย์หม่าจือได้ยินดังนั้นก็ตรงเข้าไปบิดจมูกลูกศิษย์อย่างแรง เมื่อไป่ฉางร้องว่า “เจ็บครับเจ็บ ท่านอาจารย์!” ท่านก็ตะคอกด้วยเสียงอันดังว่า “ใครกันที่บอกว่าพวกมันบินลับตาไปแล้ว!”   (The Blue Cliff Record, Case 53)

กรณีนันชวนฆ่าแมว 
นันชวนเห็นเหล่าศิษย์ทะเลาะกันแย่งลูกแมว นันชวนจึงจับลูกแมวตัวนั้นขึ้นมาแล้วพูดขึ้นท่ามกลางเหล่าศิษย์ว่า “ใครก็ตามที่สามารถอธิบายปรัชญาเซ็นได้ผู้นั้นจะได้แมว แต่ถ้าไม่ เราจะฆ่าแมวนี้เสีย” ไม่มีใครตอบได้ ดังนั้นนันชวนจึงตัดแมวออกเป็นสองท่อน  ต่อมาเมื่อโจชูกลับมา นันชวนก็ได้เล่าสิ่งที่เกิดขึ้น โจชูได้ฟังดังนั้นก็ถอดรองเท้าออกแล้ววางบนศีรษะแล้วเดินจากไป นันชวนเห็นดังนั้นจึงพูดขึ้นว่า “ถ้าเจ้าอยู่ ณ ที่นั้น เจ้าคงช่วยแมวตัวนั้นไว้ได้”  (Mumonkan, Case 14)

ปริศนาธรรมทั้งสองข้างต้นทำให้เกิดคำถามว่าเซ็นมีท่าทีทางจริยธรรมอย่างไร เพราะพฤติกรรมของอาจารย์หม่าจือที่ใช้ความรุนแรงบิดจมูกหรือของอาจารย์นันชวนที่ฆ่าแมว ทำให้มองได้ว่าเซ็นไม่มีกฎเณฑ์ทางจริยธรรม เพราะแนวคิดแบบเซ็นอยู่เหนือการแบ่งแยกเชิงทวิลักษณ์(ความดี-ความชั่ว) กฎเกณฑ์ทางจริยธรรมใช้สำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรม แต่อาจารย์เซ็นเป็นผู้บรรลุธรรมแล้ว ดังนั้น กฎเกณฑ์ทางจริยธรรมจึงไม่สามารถใช้กับอาจารย์เซ็นได้ นอกจากนี้อาจเป็นได้ว่าการยึดติดในการพิจารณาการกระทำใดเป็นการกระทำที่ถูกต้อง การกระทำใดเป็นการกระทำที่ผิด ในทางหนึ่งอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการบรรลุธรรมได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า การแสวงหากฎเกณฑ์ทางจริยธรรมอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม

แต่หากเราหันกลับไปมองคำสอนในปรัชญาเซ็นเกี่ยวกับการปฏิบัติ-การบรรลุธรรมเราจะพบว่าความสัมพันธ์ของการปฏิบัติ-บรรลุธรรมในแง่หนึ่งมีมิติแห่งจริยธรรมในปรัชญาเซ็นแฝงอยู่เพราะในห้วงของการปฏิบัติซาเซ็นนั้น ผู้ปฎิบัติมีสติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติอยู่ภายในกรอบของความถูกต้องอยู่ตลอดเวลา กล่าวอีกนัยหนึ่ง จริยศาสตร์สำหรับเซ็นผูกโยงกับจิตสำนึกของผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นการแสดงออกโดยธรรมชาติอย่างเป็นไปเอง (spontaneous) ดังปริศนาธรรมนี้

ศิษย์: อะไรคือมรรค                          
  นันชวน: จิตที่ปกตินั่นเองคือมรรค (Mumonkan, Case 19)       
จากที่กล่าวมา การรู้ (knowing) ก็คือ การดำรงอยู่ (being) เพราะความจริงทำให้ผู้ฝึกเซ็นรู้เกี่ยวกับความจริงว่าตัวเขาคือความจริงและกำลัง “ทำความจริง” ซึ่งเป็นอิสระจากสิ่งชั่วร้ายไปโดยปริยาย และหากจะเปรียบวิธีคิดระหว่างเซ็นและพุทธปรัชญาแบบเถรวาทแล้ว จะเห็นได้ว่าทัศนะทางจริยศาสตร์ของเถรวาทให้ความสำคัญเรื่องศีลหรือวินัยสำหรับเป็นฐานในการพัฒนาสมาธิและปัญญา(ศีล-สมาธิ-ปัญญา) แต่ในนิกายเซ็นนั้น ปัญญาช่วยทำให้ศีลไม่เป็นเพียงกรอบหรือข้อวัตรปฏิบัติเท่านั้น แต่เป็นวัตรปฏิบัติที่เป็นไปเองภายในวิถีแห่งเซ็น(ปัญญา-สมาธิ-ศีล) หรือก็คือจิตปกตินั่นเอง

ฉะนั้นหากจะกล่าวถึงจริยศาสตร์แบบเซ็นแล้วคงจะไม่ใช่จริยศาสตร์เชิงบรรทัดฐานที่เป็นเรื่องของ “ควร” “ไม่ควร” แต่จริยศาสตร์แบบเซ็นคือจริยศาสตร์แห่งการค้นหาใบหน้าดั้งเดิม กล่าวคือ เป็นการทำลายความแตกต่างระหว่างผู้รับรู้และสิ่งที่รับรู้ โดยอาศัยการรู้ตระหนักในตนเอง พิจารณาในแง่นี้จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นกรณีของนันชวนฆ่าแมวหรือการตบตีบิดจมูกของอาจารย์นั้น ก็คือการทำให้ผู้ฝึกเซ็นกลับไปสู่ภาวะดั้งเดิมก่อนการแยกแยะความแตกต่างระหว่างผู้รับรู้และสิ่งที่รับรู้นั่นเอง

มัสยา นิรัติศยภูติ (ผู้เรียบเรียง)

ฐิตา:


        เอกสารอ้างอิง
   เซนไค ชิบายามะ. 2526. ดอกไม้ไม่จำนรรจ์. แปลโดย พจนา จันทรสันติ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง.
   ติช นัท ฮันห์. 2532. กุญแจเซน. แปลโดย พจนา จันทรสันติ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง.

   ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. 2530. ประทีปแห่งเซน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
   สุวรรณา สถาอานันท์. 2534. ภูมิปัญญาวิชาเซ็น บทวิเคราะห์คำสอนปรมาจารย์โดเก็น. กรุงเทพฯ: ศยาม.

        Cheng, Chung-ying. 1973. On Zen (Ch’an) Language and Zen Paradoxes. Journal of Chinese Philosophy 1: 77-102.

        Kasulis, T. P. 1981. Zen Person Zen Action. Honolulu: The University Press of Hawaii.
        Sasaki, Ruth Fuller. 1965. The Zen Koan: Its History and Use in Rinzai Zen. New York: Harcourt, Brace & World.


เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม                      ·
   Abe, Masao. 1985. Dōgen on Buddha Nature. In Zen and Western Thought. Hong Kong: The Macmillan Press. (เปรียบเทียบแนวคิดของพุทธปรัชญาโดเก็นกับปรัชญาตะวันตก)
·
   Hee-Jin, Kim. 1985. The Reason of Words and Letters: Dōgen and Kōan Language. In William R. Lafleur (ed.). Dōgen Studies. Honolulu: University of Hawaii Press. (อธิบายกลวิธีการใช้ภาษาของโดเก็น)
·
   Heine, Steven and Dale S. Wright. 2000. The Kōan texts and contexts in Zen Buddhism. New York: Oxford University Press. (ประวัติและบริบทของโคอันในพุทธปรัชญาเซ็น)
·
   Kasulis, T. P. 1985. The Incomparable Philosopher: Dōgen on how to Read the Shōbōgenzō. In William R. Lafleur (ed.). Dōgen Studies. Honolulu: University of Hawaii Press. (ข้อเสนอในการอ่านงานโชโบเก็นโซของโดเก็น)

·    Kraft, Kenneth. 1988. Zen Tradition and Transition. New York: Grove Press. (ประวัติพุทธปรัชญานิกายเซ็น)
·    Suzuki, D. T. 1972. An Introduction to Zen Buddhism. London: Anchor Press. (ประวัติพุทธปรัชญาเซ็น)

·    Waddell, Norman and Abe Masao (trans.). 1972. Shōbōgenzō Genjō kōan. In The Eastern Buddhist. (NS III No. 2). (งานแปล โชโบเก็นโซ เก็จโจ โคอัน จากภาษาญี่ปุ่น)


สารานุกรมปรัชญาออนไลน์ฉบับสังเขป
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนโครงการ

Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ท
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

ดอกโศก:
อนุโมทนาค่ะพี่แป๋ม

 :13:

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version