'แพ้...อาหาร'
ขึ้นชื่อขึ้นมาแบบนี้ ต้องบอกก่อนว่าอาการแพ้อาหารไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนไป เพียงแต่อาการที่เกิดขึ้น กับคนที่แพ้อาหารนั้น จะมีอาการหลังจากทานอาหาร ชนิดที่แพ้เข้าไปแม้เพียงเล็กน้อยก็เกิดขึ้นได้แล้ว ซึ่งอาจเกิดได้ตั้งแต่นาทีแรกไปถึง 2 ชั่วโมง หลังทานอาหารนั้น ๆ
อาการทั่วไปที่พบได้แก่ ลิ้นชา ผิวหนังบวม ร้อน มีผื่นแดง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย แต่เนื่องจากร่างกายถูกกระตุ้นจากอาหารที่ทานเข้าไป ทำให้เม็ดเลือดขาวปล่อยสาร “ฮิสตามีน” ออกมา ซึ่งจะไปกระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัวทำให้มีการโป่งพองและบวมร้อนในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย จนเห็นเป็นผื่นแดงนั่นเอง
สาเหตุสำคัญของการแพ้อาหารนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1) การแพ้อาหารที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น แพ้ถั่วต่าง ๆ เกิดขึ้นหลังจากทานเข้าไปไม่กี่นาที ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง
2) การแพ้อาหารที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
2.1 การได้รับพิษจากอาหารต่าง ๆ เช่น หอย หน่อไม้ปี๊บ
2.2 การแพ้น้ำตาลแล็กโทสในนมวัว
การแพ้อาหารนี้ส่วนใหญ่จะเกิดกับคนในครอบครัวที่มีประวัติของการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นแพ้อากาศ แพ้ฝุ่นละออง หรือเป็นหอบหืด ก็มีโอกาสเกิดอาการแพ้อาหารได้ง่ายขึ้น
การแพ้อาหารสามารถเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว แม้ไม่เคยแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ มาก่อนก็ตาม อาหารส่วนใหญ่ที่พบว่าทำให้เกิดการแพ้ เช่น อาหารทะเล ถั่วต่าง ๆ ไข่ โกโก้ พืชผักบางชนิด หรือไม่ใช่ตัวอาหารเอง แต่เป็นสารปรุงแต่งอาหาร เช่น ผงชูรส สีย้อมกุ้งแห้ง บางคนเพียงแค่ปลายลิ้นสัมผัสก็เกิดอาการแพ้ บางคนทานอาหารมื้อนั้น ๆ ได้ตามปกติอิ่มแล้วสักครู่จึงเกิดอาการก็มี
อาการแพ้ มักแสดงออกได้ในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย 3 ระบบด้วยกัน คือ
1) ทางผิวหนัง คือ เป็นลมพิษ โดยจะมีผื่นขึ้น รู้สึกคัน มีอาการบวม ผิวหนังนูนขึ้นมาเป็นแผ่น ๆ และรู้สึกแสบร้อน
2) ทางระบบทางเดินอาหาร มีอาการปากบวม น้ำลายไหลตลอดเวลา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย
3) ทางระบบทางเดินหายใจ มีอาการไอ บางรายรุนแรงมากไอจนมีอาการหอบ และถ้าหอบมาก ๆ ก็อาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติได้
สำหรับการแพ้อาหารในเด็กนั้น ก็มีอาการในลักษณะเดียวกัน มักเกิดจากการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ เมื่ออาหารบางส่วนที่ย่อยไม่สมบูรณ์ผ่านเข้าไปในกระแสเลือด จะไปกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ขึ้น และการที่เด็กบางคนไม่ได้นมแม่ในระยะ 1 เดือนแรกซึ่งเป็นน้ำนมที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับลูก ทำให้เด็กมีอาการแพ้ง่ายขึ้น ซึ่งในบางรายก็ทำให้แพ้อาหารในเวลาต่อมา หรือบางรายก็มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ง่ายขึ้น
แนวทางการป้องกันและรักษา ต้องบอกว่าวิธีป้องกันอาการแพ้อาหารที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ ควรเตรียมยาแก้แพ้ติดตัวไว้ตลอดโดยเฉพาะเวลาเดินทาง เช่น ยาแก้แพ้จำพวกแอนติฮิสตามีน และ คาลาไมล์-โลชั่น ที่ใช้ทาบรรเทาอาการคัน มีบันทึกเกี่ยวกับการแพ้อาหารของตนเองไว้ในกระเป๋าที่ใช้ติดตัวเสมอสำหรับกรณีฉุกเฉินผู้พบเห็นจะได้ช่วยเหลือได้ทัน
เมื่อเกิดอาการแพ้ ส่วนใหญ่ให้การรักษาตามอาการ ถ้ามีอาการแพ้ทางผิวหนัง ก็ทานยาแก้แพ้ ซึ่งเป็นยาต้านสารฮิสตามีน หรือที่เรียกว่า ยาแอนติฮิสตามีน แต่ถ้ารู้สึกคันมากหรือเป็นลมพิษ ก็ใช้คาลาไมล์โลชั่นทา หรือถ้าอาการรุนแรงถึงขนาดหายใจติดขัด หอบมากอาเจียน หรือท้องเสียรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
สำหรับเด็กเล็กที่แพ้นมวัว โอกาสที่จะแพ้นมจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ ได้เหมือนกัน เช่น นมแพะ นมแกะ จึงควรหันมาใช้นมผงสูตรพิเศษสำหรับทารกที่ทำมาจากถั่วเหลืองแทน และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกใช้ กรณีที่มารดายังพอให้นมได้บ้าง มารดาไม่ควรดื่มนมวัวด้วย
ผู้ที่มีอาการแพ้อาหารใด ๆ แล้ว ส่วนใหญ่จะคงเป็นตลอดไป แต่บางรายอาจจะค่อย ๆ ทุเลาลงได้ เช่นจากกินไม่ได้เลย แต่พอลองแตะลิ้นเล็กน้อยไปบ่อย ๆ ก็อาจพอกินได้บ้างเล็กน้อย แต่ถ้าอยากลองจะต้องมียาแก้แพ้เตรียมไว้ด้วย.
รศ.ดร.ปรียา ลีฬหกุล
กลุ่มสาขาวิชาหลักสูตรโภชนศาสตร์
.
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=506&contentId=142849.