ผู้เขียน หัวข้อ: ผู้รู้แห่งเซน ภิกษุณีอาโอยาม่า  (อ่าน 1599 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



   หากเข้าใจเซน ก็ไม่มีเซน มีเพียงความจริงของสรรพสิ่งในธรรมชาติ...เรื่องนี้มีคำอธิบายจากภิกษุณีชุนโด อาโอยาม่า อาจารย์แห่งเซนของประเทศญี่ปุ่น

   “เป็นไปได้อย่างไรที่คนจำนวนมากทั้งพระและฆราวาสต่างพากันเข้าใจว่า การฝึกซาเซน(วิถีแห่งเซน)อย่างทารุณเช่นนี้เป็นซาเซนที่แท้จริง นี่เป็นวิถีสอนซาเซนที่น่ารังเกียจมาก ถ้าฆราวาสคนหนึ่งต้องถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาตอนตีสองและตีสาม แล้วยังต้องถูกตีที่หัวไหล่ด้วยไม้เรียวภาวนาจนไม้หัก หรือถูกตะคอกด้วยเสียงอันดังจนฉี่แตก การปฏิบัติเช่นนี้ย่อมนับว่า หยาบเอามากๆ ...” ภิกษุณีชุนโด อาโอยาม่า เขียนไว้ในหนังสือ งามอย่างเซน เพื่อให้เข้าใจว่า เซนที่แท้จริง ต้องมีความเรียบง่าย และความกรุณา
   
   เมื่อเร็วๆ นี้อาจารย์อาโอยาม่า เจ้าอาวาสวัดโชโบจิ เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ผู้นำจิตวิญญาณคนสำคัญของญี่ปุ่นที่อุทิศตนเผยแพร่คำสอนนิกายเซน ทั้งการบรรยายธรรม ปาฐกถา เขียนหนังสือ และสอนผ่านการชงชา จัดดอกไม้ ทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก ท่านได้เดินทางมาเมืองไทย เพื่อร่วมประชุมนานาชาติศากยธิดาเพื่อพุทธสาวิกา ครั้งที่ 12 ณ เสถียรธรรมสถาน และปาฐกถาเซน “งามจากด้านใน” ณ สวนโมกข์ กรุงเทพฯ
   

   
   หนทางแห่งความสุข
   

   อาจารย์อาโอยาม่า เป็นครูบาอาจารย์เซนที่ได้รับการยอมรับในสังคมญี่ปุ่น ตลอดหลายสิบปีท่านทุ่มเทให้กับการสอนซาเซนและการบรรยายธรรม ท่านมาจากครอบครัวชาวนา ตระกูลของท่านนับถือพุทธศาสนามาตลอด และท่านมาอยู่วัดมุเรียวจิ นิกายโซโต จังหวัดนากาโนะ เมื่ออายุได้เพียง 5 ปี
   
   ตอนเด็กๆ ปู่ของท่าน นักพรตในลัทธิชูเก็นโด เคยทำนายตั้งแต่ท่านอยู่ในครรภ์มารดาว่า เด็กคนนี้จะต้องบวช และก็เป็นความจริง ท่านได้บวชตั้งแต่อายุ 15 ปี แม้ครอบครัวจะไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่ายังเด็กเกินไป แต่ท่านก็มีความมุ่งมั่นเข้าศึกษาธรรมที่วัดฝึกหัดไอจิ เซ็มมน นิโซโดที่เมืองนาโกย่า
   
   ช่วงที่ท่านอยู่ในวัดฝึกหัดสำหรับภิกษุณี บางครั้งภิกษุณี 10 คน ต้องนอนเรียงกันในหอนอนบนเสื่อฟางปูต่อกัน 12 ผืน อาจารย์อาโอยาม่า เล่าไว้ว่า  "ท่านต้องเอาผ้าผูกขาไว้ เพื่อไม่ให้ขาดิ้นไปพลาดรบกวนผู้อื่น" เนื่องจากพระและภิกษุณีฝึกหัดใหม่มักถูกจัดให้อาศัยในห้องใหญ่ร่วมกับผู้อื่น และเมื่อใดที่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมได้ บุคคลผู้นั้นก็จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในห้องส่วนตัว ซึ่งการปฏิบัติหลายอย่างเป็นการฝึกฝนเพื่อลดตัวตน
   
   นอกจากการฝึกฝนและปฏิบัติธรรม อาจารย์อาโอยาม่ายังต้องช่วยทำการเกษตรในไร่ของวัด แม้จะมีโอกาสเรียนหนังสือ แต่ไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือ บางครั้งต้องทำบัตรคำภาษาอังกฤษติดตัวไปท่องระหว่างทำงานในไร่นา เพราะท่านไม่ละความพยายาม จึงมีโอกาสเรียนจนจบปริญญาตรีและโท ด้านพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยโคมาซาว่า
   แม้ปัจจุบันท่านจะอายุกว่า 78 ปี ท่านก็ยังฝึกปฏิบัติซาเซนอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพราะการเรียนรู้เซนเป็นเรื่องที่อาจารย์อาโอยาม่าบอกว่า ต้องปฏิบัติทุกลมหายใจ
   
   เหมือนเช่นตอนท่านนั่งให้สัมภาษณ์ แม้จะอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ แต่อากาศร้อนอบอ้าว จึงต้องซับเหงื่ออยู่เรื่อยๆ แต่ท่านไม่ได้แสดงอาการหงุดหงิดใดๆ  ท่านย้อนถึงตอนอายุ 32 ปี เคยมีคนถามเรื่องการบวชออกรายการทีวีที่ญี่ปุ่น ตอนนั้นท่านตอบว่า สาเหตุที่บวชเพราะอยากรู้ว่า คนเราจะดำเนินชีวิตไปเพื่ออะไร จนได้คำตอบเรื่องชีวิตตามแนวทางพุทธศาสนา
   
   “พระพุทธเจ้ามีความสุขทางโลกครบทุกอย่าง พระองค์ละทิ้งทุกอย่าง เพื่อหาความสุขที่แท้จริง ซึ่งไม่ใช่ความสุขทางโลก ไม่ใช่เงินหรือเกียรติยศใดๆ เพราะความสุขแบบนั้นไม่ได้อยู่กับเราถาวร นั่นเป็นความสุขที่มีเงื่อนไขและแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบคือ หนทางความสุขที่ไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าใครจะเดินทางบนเส้นทางนี้ ก็มีความสุขเช่นนี้เหมือนกัน”
   
   เพราะท่านใช้ชีวิตแบบนักบวชตั้งแต่อายุ 15 ปีและในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย นักบวชเช่นท่านมีโอกาสเรียนรู้โลกอีกแบบหนึ่ง ท่านบอกว่า เคยมีคนชักชวนเป็นนักวิชาการ หรือไม่ก็สร้างครอบครัวด้วยกัน แต่ท่านเลือกเส้นทางธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย
   
   "เมื่อเราเกิดมา มีชีวิตเดียว ก็อยากให้ชีวิตมีคุณค่ามากที่สุด ก็เลยมองว่าไม่มีอะไรดีเท่าพุทธศาสนา การบวชทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ถ้ามีอิสระเหมือนคนทั่วไปคงไม่สามารถทำตรงนี้ และฉันมั่นใจว่าจะอยู่ในเพศบรรพชิตตลอดไป”
   
   
   เซนคือความจริง
   
   แม้ปัจจุบันท่านจะศึกษาธรรมจนแตกฉาน และมีภารกิจการบรรยายธรรมมากมาย แต่ในทุกๆ วันท่านยังคงตื่นตี 4 เพื่อปฏิบัติซาเซน
   
   การนั่งสมาธิรูปแบบนี้จะมีช่วงเวลาปฏิบัติทั้งแบบเข้มข้นและธรรมดา เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับนักบวช แต่ละวันจะมีการนั่งซาเซนสี่ช่วง คือ ช่วงเช้ามืด กลางวัน บ่ายและกลางคืน มีเวลานอนช่วงสามทุ่มถึงตีสาม
   
   ท่านเล่าย้อนถึงช่วงวัย 50 ปีว่า แม้จะเริ่มเห็นความลึกซึ้งของธรรมะมากขึ้น แต่สิ่งที่เรียนและปฏิบัติเรียนรู้ยังไม่เพียงพอ ต้องเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ
   
   “เหมือนเรายืนอยู่ในป่า แล้วมองออกไปรอบๆ ตัว เราก็คิดว่านั่นคือทั้งหมด แต่ไม่ใช่  ภาษิตญี่ปุ่นบอกว่าเหมือนกบในบ่อน้ำ เมื่ออยู่ในนั้นแล้วมองออกไป ก็นึกว่าโลกกว้างใหญ่แล้ว แต่พอเราออกมา ก็จะรู้สึกว่า เรายังอยู่ในโลกแคบๆ”
   

   เซน ในความหมายของท่าน จึงมีความหมายกว้างใหญ่ไพศาล อาจารย์อาโอยาม่า เล่าต่อว่า ท่านอาจารย์โดเก็น ผู้ก่อตั้งนิกายโซโต อาจารย์เซนที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในญี่ปุ่น เคยสร้างวัดโคโชจิ วัดทางการแห่งแรกของนิกายโซโต อาจารย์สอนลูกศิษย์มากมายทั้งพระและผู้มาปฏิบัติ และเป็นผู้เข้าใจซาเซนอย่างลึกซึ้ง อาจารย์บอกว่า สิ่งที่ปฏิบัติ ไม่จำเป็นต้องเรียกว่า "เซน" ก็ได้ เพราะเซนคือความจริงหรือธรรมะของโลก
   
   “ฉันไม่อยากแบ่งแยกสิ่งเหล่านี้ จริงๆ แล้วไม่มีธรรม ไม่มีเซน มันคือ ความจริงของสรรพสิ่งในโลกนี้ เราไม่ควรยึดติดกับศาสนาหรือนิกาย แต่ให้มอง ความจริง ต่างจากกฎที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่ากฎหมายหรือกฎระเบียบ ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่กฎของธรรมชาติคือความจริง ไม่ว่าเราจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าธรรมะหรือเซนก็ตาม เซนเป็นรากฐานของชีวิต”
   
   ปัจจุบันแนวทางเซนค่อนข้างได้รับความนิยมทั้งในอเมริกาและยุโรป คนหันมาให้ความสนใจการปฎิบัติสมาธิตามแนวทางนี้มากขึ้น อาจารย์อาโอยาม่า ยกตัวอย่างวิถีแห่งเซนที่อยู่ในวิถีชีวิตให้ฟังว่า มีเพื่อนคาทอลิคคนหนึ่ง สมัยนั้นเธอเป็นซิสเตอร์ฝึกหัดในอเมริกา ได้รับมอบให้จัดเตรียมอาหาร ขณะที่จัดเตรียมก็คิดในใจว่า “เป็นงานที่น่าเบื่อ และทำงานด้วยความรู้สึกเบื่อ"
   
   “หากเราทำงานเช่นเดียวกับหุ่นยนต์ ก็เท่ากับเราใช้เวลาอย่างสูญเปล่าหรือไร้ค่า ถ้าเราจัดเรียงจานโดยอธิษฐานว่า ขอให้คนที่มาทานอาหารมีความสุข เท่ากับว่าเราใช้เวลานั้นไปเพื่อความรัก ไม่ว่าผู้เรียงจานจะรู้สึกเช่นไร จานก็ถูกเรียงให้เป็นระเบียบ แต่วิธีการใช้เวลาของแต่ละคนจะแตกต่างกันตามความใส่ใจในการเรียงจาน เหมือนเช่นที่ฉันอยากบอกว่า ใช้เวลาเช่นไร ก็ใช้ชีวิตเช่นนั้น ” อาจารย์อาโอยาม่า  กล่าวและบอกว่า ต้องใช้ทุกวินาทีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะทุกช่วงเวลา ทุกย่างก้าวของชีวิต ไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้ หรือกลับไปแก้ไขได้อีกต่อไป
   
   
   อาจารย์แห่งเซน
   
   "ฉันอยากบอกอีกว่า ไม่ว่าเซนหรือพุทธศาสนา ไม่ได้มีไว้เพื่อใครคนใดคนหนึ่งมาเรียนรู้ แต่เป็นวิถีแห่งการดำรงชีวิตสูงสุดของเราทุกคน" อาจารย์อาโอยาม่า กล่าวและโยงถึงความสัมพันธ์กับจักรวาลว่า
   
   หากไม่มีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เรียกว่า จุลินทรีย์ โลกจะเต็มไปด้วยกองขยะ เพราะจุลินทรีย์มีหน้าที่ทำความสะอาดผืนโลก ย่อยสลายสิ่งต่างๆ กลายเป็นปุ๋ยหล่อเลี้ยงพืช หมุนเวียนกลับมาเป็นอาหารให้มนุษย์ ร่างกายของเราดำรงอยู่ได้ เพราะการทำงานของทุกสิ่งบนโลกใบนี้ สรรพสิ่งทั้งหลายดำรงอยู่ได้ เพราะการทำงานของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาล
   
   อาจารย์อาโอยาม่า พยายามอธิบายให้เห็นว่า ชีวิตดำรงอยู่ได้เพราะสรรพสิ่งทั้งปวง ดังนั้นเราควรมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และตระหนักว่า ความคิดและพฤติกรรมของเราเป็นพลังงานที่ได้มาจากจักรวาลทั้งสิ้น เช่นนั้นแล้ว ความคิดของเราจะเปลี่ยน
   
   "หากคิดได้เช่นนี้ เราจะไม่แสดงพฤติกรรมที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง"
   
   เหมือนที่กล่าวมา เซนเป็นความจริงของทุกอย่าง อาจารย์อาโอยาม่า บอกว่า ถึงจะเป็นพุทธ อิสลาม คริสต์ หรือศาสนาใดก็ตาม สามารถเข้าใจเซนได้ ยกตัวอย่าง เวลาเราตัดกระบอกไม้เป็นรูปทรงต่างๆ ไม่ว่าทรงกระบอก วงรี ฯลฯ ก็จะเห็นมุมที่แตกต่าง เหมือนการมองต่างมุมในเรื่องศาสนาและชีวิต
   
   "เมื่อเรายังไม่รู้ภาพตัดทั้งหมด เราควรถ่อมตัวว่า เราไม่ใช่คนที่จะเห็นความจริงทั้งหมด”
   
   เหมือนเช่นที่ท่านปฏิบัติให้เห็น โดยการเป็นอาจารย์แห่งเซนที่เรียบง่าย อาจารย์อาโอยาม่า บอกว่า  ถ้าเปรียบธรรมะกับการเรียนดนตรี โน้ตเพลงเป็นเสมือนคำสอน การบรรเลงเพลงบนเวทีจึงเปรียบเหมือนการใช้ชีวิต
   
   นั่นเป็นคำเปรียบเปรย เพราะนอกจากบรรยายธรรมและสอนการปฏิบัติแบบซาเซน ท่านยังสอนภิกษุณีและชาวต่างชาติที่เข้ามาเรียนในวัด และท่านสอนลูกศิษย์ผ่านการชงชา เนื่องจากการชงชาและการจัดดอกไม้เป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มีรากฐานจากศาสนา ซึ่งการเดินทางมาเมืองไทยครั้งนี้ ท่านนำถ้วยชาชุดเล็กๆ และหนังสือการจัดดอกไม้มาด้วย แต่ท่านมีภารกิจการประชุม ทำให้ไม่มีโอกาสเห็นท่านจัดดอกไม้และชงชา
   
   “ฉันจะให้ความสำคัญกับการปฎิบัติ ไม่ว่าจะไปบรรยายธรรมที่ไหน ฉันต้องฝึกปฎิบัตินั่งสมาธิตามวิถีแห่งเซนทุกวัน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการปฏิบัติธรรมไม่ใช่ว่าทำช่วงใดช่วงหนึ่งเท่านั้น วิถีการดำเนินชีวิตก็เหมือนการปฎิบัติธรรม"
   
   
   ...................
   
   หมายเหตุ :
   -ข้อมูลบางหนึ่งจากหนังสืองามอย่างเซน เขียนโดยภิกษุณีชุนโด อาโอยาม่า แปลโดยช่อฟ้า เจตนาวีระบุตร
   -ล่ามอาสาแปลภาษาญี่ปุ่นโดย นวพร หาญไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น

   
   ........................................
   
   ซาเซนที่ไม่มีอะไรเลย
   
   ถ้าจะเข้าใจแนวคิดแห่งเซน ต้องปฏิบัติ เหมือนเช่นอาจารย์อาโอยาม่า เขียนไว้ในหนังสือตอนที่ปฏิบัติซาเซนครั้งแรกว่า
   
   “อาจารย์เซนโคโด ซาวากิ ผู้ก่อตั้งวัดอันไทจิ กล่าวไว้ว่า”ปฏิบัติตนเอง ด้วยตนเอง ปรากฏตนเอง” ต้องเผชิญกับความจริงตรงหน้า เพราะซาเซนที่วัดอันไทจิเป็นหนทางแห่งการดำรงชีวิตแท้จริงของมนุษย์ที่ควรค่าแก่การปฏิบัติ เป็นซาเซนในอุดมคติจริงๆ...“
   
   "อาจารย์บอกว่าการฝึกซาเซนจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเวลาที่คุณต้องไปอยู่ในคุก เพราะซาเซนคือ โลกที่เราต้องโยนจิตที่ปรุงแต่งทั้งหมดทิ้งไป รวมทั้งการแสวงหาและการคาดหวังในทุกๆ รูปแบบ ซาเซนเป็นโลกที่อยู่เหนือการสูญเสียและการได้รับ อยู่เหนือแม้กระทั่งการแสวงหาการรู้แจ้งเพียงแต่นั่ง และละทิ้งขยะทุกอย่าง นั่นคือ สิ่งที่อาจารย์เรียกว่า ซาเซนไม่มีอะไรเลย” ”
   
http://bit.ly/iE1eXj
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 02, 2016, 06:13:32 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...