'อาการเวียนศีรษะ' ตอนที่ 1 'แพทย์-คนไข้ขอเข้าใจตรงกันก่อน'
อาการเวียนศีรษะ เป็นอาการที่ พบได้ทั่วไปในคนทุกกลุ่มอายุ แต่มักพบได้บ่อยในคนสูงอายุ เป็นอาการไม่เฉพาะเจาะจงสำหรับโรคใดโรคหนึ่ง และไม่ได้มีสาเหตุมาจากระบบประสาทเสมอไป เป็นอาการที่มักทำให้แพทย์ผู้ตรวจเกิดอาการเวียนศีรษะตามไปด้วย เนื่องจากบางครั้งผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีอาการผิดปกติอื่นและตรวจไม่พบความผิดปกติใด ๆ และ ที่สำคัญบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยเองก็สับสนจนใช้คำพูดสับสนทำให้แพทย์ผู้ตรวจพลอยสับสนไปด้วย
เนื่องจากมีคำหลายคำที่ผู้ป่วยมักใช้ในการบอกอาการต่อแพทย์ และให้ความหมายได้แตกต่างกัน เช่น มึน งง ลอย โคลง เวียน หน้ามืด เป็นต้น เราจึงควรทำความตกลงกันให้เข้าใจตรงกันว่า เราจะพูดคุยเรื่องอะไร
1. อาการเวียนศีรษะ (Dizziness)
อาการเวียนศีรษะ มึนงง เมา เป็นอาการที่พบบ่อย ผู้ป่วยจะรู้สึกสมองตื้อไม่แจ่มใสเท่าที่ควร คิดอะไรไม่ออกคล้ายกับคนนอนไม่พอ ความสัมพันธ์รับรู้สิ่งแวดล้อมลดลงหรือประสาทที่ทำหน้าที่รับรู้เสื่อมลง มักใช้เมื่อมีการรบกวนระบบประสาทในการรับรู้ด้านต่าง ๆ ได้แก่
1.1 ระบบประสาทรับภาพของตา หรือระบบประสาทเคลื่อนไหวลูกนัยน์ตาไม่ทันกับสภาพที่เคลื่อนที่เร็ว เช่น ขณะนั่งในรถที่กำลังวิ่งเร็ว หรือมองตามวัตถุที่เคลื่อนที่เร็ว
1.2 ระบบประสาทรับสัมผัส เนื่องจากการผสมผสานกันของสัญญาณประสาทรับสัมผัสจากระบบ ต่างเป็นไปอย่างไม่ปกติ เช่น การยืนใกล้กับสิ่งของ สิ่งก่อสร้าง หรือหน้าผาที่มีขนาดใหญ่มาก หรือภาวะกลัวความสูง
1.3 ระบบรับสัญญาณประสาทของสมองส่วนกลาง เช่น ถูกกดจากการทานยานอนหลับ ดื่มสุราหรืออดนอน ภาวะความเครียด วิตกกังวล หวาดกลัว หรือโรคทางกายที่มีผลต่อสมอง ได้แก่ ภาวะขาดสารอาหาร น้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำผิดปกติ โรคไทยรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น
2. อาการเวียนศีรษะหมุน (Vertigo)
อาการเวียนศีรษะหมุน เป็นความรู้สึกหลอน เนื่องจากในความเป็นจริง ทั้งตัวเราเองและสิ่งแวดล้อมไม่ได้หมุน ผู้ป่วยที่มีอาการเวียนหมุน รู้สึกตัวเองหมุน หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน เกิดจากความไม่สมดุลกันของสัญญาณประสาทของระบบประสาทการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งตามปกติประสาทหูชั้นในจะทำหน้าที่ในการทรงตัวโดยจะให้สัญญาณประสาทที่สมดุลกันทั้งสองข้างในขณะพัก
3. อาการโคลงเคลง เสียศูนย์ เอียง เซ
อาจเกิดร่วมกับอาการเวียนศีรษะหมุนหรือเกิดเองโดยผู้ป่วยมักจะมีปัญหาในการยืน เดิน เสียการทรงตัว มีความรู้สึกคล้ายยืนอยู่ในเรือ เท้าจะลอย อาจจะล้ม หรือเกือบจะล้มไปด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการเคลื่อนไหว เกิดจากความผิดปกติของสมองได้หลายตำแหน่ง เช่น สมองใหญ่ สมองน้อย ทางเดินประสาทที่นำคำสั่งไปยังกล้ามเนื้อแขนและขา ระบบประสาทรับความรู้สึกจากแขน ขา และข้อต่อหรือระบบประสาทการทรงตัวในหูชั้นใน
4. อาการหวิว ลอย หน้ามืด
ผู้ป่วยมีอาการหน้ามืดคล้ายจะหมดสติ อาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติ ถ้าเป็นมากต้องนอนหลับตานิ่ง แต่ยังได้ยินเสียงคนพูดคุยกัน มักมีอาการขณะเปลี่ยนท่าเร็ว เช่น ลุกจากท่านั่ง จากท่านอนหรือจากท่านั่งยอง ๆ เป็นต้น ซึ่งเกิดเนื่องจากเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองส่วนใหญ่ไม่ทัน อาจเป็นความผิดปกติของปริมาณเลือด การบีบตัวของหลอดเลือดและความผิดปกติของหัวใจ
ระบบการทรงตัวของมนุษย์ ประกอบด้วย ระบบประสาทรับข้อมูล 3 ระบบ คือ
1. สายตา หรือการมองเห็น (Vision) ทำให้เราสามารถปรับตำแหน่งของศีรษะ ลำตัว แขนขาให้อยู่ในแนวตามที่ต้องการ ตามภาพที่เราเห็น เช่น เมื่อเราดูกระจกเราจะจัดท่าทางของเราได้ง่ายขึ้น
2.ประสาทการทรงตัวในหูชั้นใน (Vestibular system) หูชั้นในประกอบด้วย ส่วนของประสาทก้นหอย (cochlea) ซึ่งทำหน้าที่รับเสียงทำให้เกิดการได้ยิน และส่วนของประสาทการทรงตัว (labyrinth หรือ vestibule) ซึ่งทำหน้าที่รับการทรงตัว ประสาทการทรงตัวนี้จะส่งสัญญาณประสาทขึ้นไปยังสมองเพื่อบอกตำแหน่งของศีรษะในการเคลื่อนไหวทั้งในแนวตรงหรือในการหมุนเอี้ยวศีรษะ ระบบนี้ช่วยให้ทรงตัวได้ในที่มืดหรือเคลื่อนศีรษะประสานกับนัยน์ตาได้ตามที่ต้องการ ในภาวะปกติระบบประสาทระบบนี้จะให้สัญญาณประสาทเข้าสู่สมองอย่างต่อเนื่องทั้งในขณะพักศีรษะอยู่ตรงนิ่งและขณะเคลื่อนไหวศีรษะ
3.สัญญาณประสาทจากข้อต่อกระดูกและกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย (Proprioception) จะนำความรู้สึกขึ้นไปยังสมองเพื่อรับรู้ระยะของแขน ขาต่อสิ่งแวดล้อมทำให้การรักษาท่าทางขณะก้าวเดิน ยืน นั่ง เป็นไปอย่างสมดุลช่วยให้เราทรงตัวได้ในที่มืดหรือที่ลาดเอียง ทำให้ แขน ขาทำงานประสานกับสายตาและระบบประสาทอื่นได้
ทั้ง 3 ระบบจะส่งสัญญาณไปรวมบรรจบกันที่สมองน้อย ติดกับก้านสมองบริเวณท้ายทอย ทำหน้าที่รวบรวมสัญญาณประสาท ทำให้การเคลื่อนที่ของร่างกายและการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อต่างเป็นไปอย่างสมดุล ถ้ามีความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่งอาการแสดงจะยังไม่มากนัก ในคนปกติหากระบบ 2 ใน 3 ระบบยังทำงานได้ตามปกติร่างกายจะสามารถควบคุมสมดุลได้ ถ้าเสียมากกว่า 1 ระบบ ก็จะเกิดอาการเวียนศีรษะเสียการทรงตัวได้ แต่แม้เกิดความผิดปกติเพียงระบบเดียวแบบเฉียบพลันหรือรุนแรง ก็จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะหรือเสียการทรงตัวได้ทันทีเช่นกัน
ข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จันทร์ชัย เจรียงประเสริฐ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี.
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงศ์
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=530&contentId=148641http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.html.