ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติสังเขป ของ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ  (อ่าน 2756 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




ประวัติสังเขป ของ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
หลวงพ่อวัดปากน้ำ



ชาติภูมิ
หลวงพ่อวัดปากน้ำ  "องค์ปฐมบรมครูแห่งวิชชาธรรมกาย" ในยุคปัจจุบัน 
เดิมชื่อ สด นามสกุล มีแก้วน้อย ท่านเกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๗ 
ตรงกับวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก  ฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช
ณ บ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
เป็นบุตรคนที่สองของนายเงินและนางสุดใจ  มีแก้วน้อย 
มีพี่น้องร่วมมารดาบิดา ๕ คน

การศึกษาเมื่อเยาว์วัย
ท่านเรียนหนังสือกับพระภิกษุน้าชายของท่าน ณ วัดสองพี่น้อง
เมื่อพระภิกษุน้าชายลาสิกขาบทแล้ว
ท่านก็ได้มาศึกษาอักษรสมัย ณ วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม
ปรากฏว่าท่านเรียนได้ดีสมสมัย คือตั้งใจเรียนจริงๆ  ไม่ยอมอยู่หลังใคร

การอาชีพ
เมื่อเสร็จการศึกษาแล้ว ออกจากวัดช่วยมารดาบิดาประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขาย
โดยซื้อข้าวบรรทุกเรือล่องมาขายให้แก่โรงสีในกรุงเทพฯ บ้าง ที่นครชัยศรีบ้าง
เมื่อสิ้นบุญบิดาแล้ว ได้รับหน้าที่ประกอบอาชีพสืบต่อมา
เป็นคนรักงานและทำอะไรทำจริง ทั้งขยันขันแข็ง อาชีพการค้าจึงเจริญโดยลำดับ
จนปรากฏในยุคนั้นว่า เป็นผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง

เมื่ออายุ ๑๙ ปี ระหว่างที่ทำการค้าอยู่นั้น 
ความคิดอันประกอบด้วยความเบื่อหน่ายเกิดแก่ท่าน   โดยเกิดธรรมสังเวชขึ้นในใจว่า

"การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น
ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมี ก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา
เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอาย ไม่เทียมหน้าเขา
บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกัน จนถึงบิดาเราและตัวเราในบัดนี้
ก็คงทำอยู่อย่างนี้ 
ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว แม้เราก็จักตายเหมือนกัน
เราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า"

เมื่อได้โอกาสท่านได้จุดธูปเทียนบูชาพระ  อธิษฐานว่า 
"ขออย่าได้ตายเสียก่อนเลย   ขอให้ได้บวชก่อน 
เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา   ขอบวชไปจนตลอดชีวิต"

ท่านบอกว่าเริ่มอธิษฐานมาตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี 
หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านเล่าต่อไปว่า เมื่อตกลงใจบวชไม่สึกแล้ว
จิตคิดเป็นห่วงมารดาเกิดขึ้น จึงขะมักเขม้นทำงานสะสมทรัพย์
เพื่อให้มารดาเลี้ยงชีพไปจนตลอดชีวิต

อุปสมบท
เดือนกรกฎาคม ๒๔๔๙ ต้นเดือน ๘ ขณะมีอายุย่างเข้า ๒๒ ปี 
ท่านได้อุปสมบท ณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี 
มีฉายาว่า จนฺทสโร

พระอาจารย์ดี วัดประตูศาล อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
และพระอาจารย์โหน่ง อินทสุวณโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์   
คู่สวดทั้งสองรูปอยู่วัดเดียวกัน คือ วัดสองพี่น้อง

เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านเริ่มปฏิบัติ "สมถวิปัสสนา" กับองค์อนุสาวนาจารย์นับแต่วันบวช 
เมื่อ บวชแล้วพอรุ่งขึ้นอีกวัน หลวงพ่อก็เริ่มลงมือปฏิบัติพระกรรมฐานต่อ
กับ "พระอาจารย์เนียม" วัดน้อย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี   
ได้จำพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง ๑ พรรษา
หลังจากออกพรรษาที่วัดสองพี่น้องแล้ว หลวงพ่อก็ได้เข้าพำนักประจำ
อยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
เพื่อแสวงหาความรู้ให้แตกฉานกว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ

สิบปีผ่านไป...นับแต่หลวงพ่อเริ่มบวช 
ท่านมีความรู้ภาษาบาลีแตกฉาน พอที่จะอ่านมหาสติปัฏฐานสูตรในคัมภีร์บาลี
ได้สมความตั้งใจแล้ว  ท่านจึงวางธุระการศึกษาฝ่ายภาษาบาลีลง และใช้เวลา
กับวิปัสสนาธุระ เพื่อการเจริญพระกรรมฐานโดยเต็มที่


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

บรรลุธรรมกาย
ย่างเข้าพรรษาที่ ๑๒ ของท่าน ประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๐ เมื่อหลวงพ่อได้กำหนดใจ
ที่จะปฏิบัติสมถวิปัสสนาอย่างเต็มที่แล้ว
ท่านได้กราบลาเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร)
เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ
ไปจำพรรษาที่ ๑๒ ณ วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง ริมคลองบางกอกน้อย นนทบุรี
อันเป็นสถานที่สงบวิเวก

ท่านได้อยู่ประจำ ณ พระอุโบสถวัดโบสถ์ บางคูเวียง และปฏิบัติธรรม
ตลอดเวลาที่อำนวย จากเช้าตลอดค่ำคืน
ครั้นย่างกึ่งพรรษา ท่านก็ได้ตรึกนึกถึงความตั้งใจครั้งแรกเมื่อได้ขอบวช
จนตลอดชีวิต เวลาก็ล่วงมาถึง ๑๔ ปี บวชเป็นพรรษาที่ ๑๒ แล้ว
ท่านยังไม่บรรลุ ยังไม่เห็นธรรม ดังที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาท่าน
ได้ทรงตรัสรู้และทรงเห็นเลย

ท่านจึงเริ่มกำหนดใจว่า จะเจริญพระกรรมฐานโดยสุดกำลังในครั้งนี้
แม้จะตายระหว่างปฏิบัติพระกรรมฐานก็จะยอม
ด้วยมีค่ามากกว่าตายก่อนบวช หรือไม่ได้ปฏิบัติภาวนาเลย

ท่านตั้งใจเด็ดขาดแล้ว
ก็เข้าสู่พระอุโบสถวัดโบสถ์ บางคูเวียง แต่เย็นวันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
ตั้งสัจจาธิษฐานมั่นคง มอบกายถวายชีวิตเพื่อพระรัตนตรัยอันประเสริฐสุดว่า

เมื่อนั่งลงแล้ว หากมิได้บรรลุธรรม ดังที่พระพุทธองค์ทรงเห็นทรงตรัสรู้แล้ว
ก็จะไม่ขอลุกขึ้นจากที่อีกจนตลอดชีวิต

เมื่อใจท่านตั้งมั่นแล้ว ก็เริ่มปรารภความเพียร
และกราบทูลอาราธนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ทรงโปรดประทานธรรมที่พระองค์ทรงเห็น ทรงตรัสรู้ แม้เพียงส่วนน้อยที่สุด
ซึ่งแม้นหากการบรรลุธรรมนั้นแล้วจะเป็นโทษแก่พระศาสนา
ก็ขออย่าได้ทรงประทานเถิด
ท่านจะรับเป็นทนายแก้ต่างพระศาสนาต่อไปจนตลอดชีวิต

เมื่อได้อธิษฐานใจยอมสละชีวิตเป็นพุทธบูชาแล้ว
ท่านก็ขัดสมาธิเข้าที่นั่งเจริญภาวนาพระกรรมฐาน
เวลาผ่านไปจนดึก ใจของท่านหยุดสงบนิ่ง 
"ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้" เข้ามารวมหยุดที่จุดเดียวกัน
ณ ศูนย์กลางกายได้ส่วนพอดีแล้ว
ท่านได้เห็น ดวงปฐมมรรค หรือ ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
อันเป็นดวงกลมโตใสบริสุทธิ์  ขนาดฟองไข่แดงของไก่  ที่ศูนย์กลางกาย 
ดวงยิ่งใสสว่างมากขึ้น และใหญ่ขนาดดวงอาทิตย์ สุกใสสว่างยิ่งนัก
ได้เห็นดังนั้นแล้ว ท่านจำต้องตรึกว่า สมควรจะทำอย่างไรต่อไปอีก

ขณะนั้น ท่านได้มาถึงจุดแห่งการเริ่มค้นพบ
"พระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" 
และ ทางสายเอกสายเดียวสู่มรรคผลนิพพานแล้ว

ในระหว่างที่ได้หยุดใจนิ่ง พิจารณาดวงปฐมมรรคนั้น
ท่านได้ตรึกนึกถึง มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา
ที่ศูนย์กลางกลมใสสว่างนั้น ปรากฏมีจุดเล็กเรืองแสงสว่างไสวยิ่งกว่า
ท่านจึงได้เลือกดำเนินตามทางสายกลาง และทุ่มความรู้สึกทั้งหมดเข้าไว้
ในจุดศูนย์กลางดวงทันที จุดนั้นก็ขยายขึ้นมาแทนที่ดวงเดิมซึ่งหายไป
ท่านจึงได้รวมความเห็น จำ คิด รู้ ดิ่งเข้าไปในกลางของกลางต่อไปอีก
โดยอาการฉะนี้ ท่านก็ได้เห็นดวงเก่าหายไป มีดวงสุกใสยิ่งขึ้น
ผุดจากศูนย์กลางกายนั้นขึ้นมาแทนที่
ประดุจฟองอากาศผุดจากน้ำขึ้นมาแทนที่กัน โดยต่อเนื่องไม่ขาดสาย
และยิ่งใสสว่างขึ้น

โดยการ "หยุดในหยุด" และ "เข้ากลางของกลาง" นี้
ท่านก็ได้เห็นดวงต่างๆ และกายผุดขึ้นมาโดยต่อเนื่องกัน
คือ เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา
ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
และจึงเห็นกายมนุษย์ละเอียด เมื่อท่านได้ทุ่มความรู้สึกเข้าไปในกลางของกลางต่อไปอีก
ก็เห็นดวงทั้ง ๖ และ กายของกายที่ละเอียดยิ่งขึ้น ปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับในเบื้องต้นนั้น ทั้ง ๑๘ กาย ได้แก่
กาย ในภพสามนี้ ๘ กาย คือ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม และกายอรูปพรหมละเอียด และกายที่พ้นภพสาม หรือ "กายโลกุตตระ" ๑๐ กาย คือ กายธรรม กายธรรมละเอียด กายพระโสดา กายพระโสดาละเอียด กายพระสกทาคา กายพระสกทาคาละเอียด กายพระอนาคา กายพระอนาคาละเอียด กายพระอรหัต และ กายพระอรหัตละเอียด

"กายธรรม" หรือ "ธรรมกาย" และกายโลกุตตระอื่นดังกล่าว ที่ปรากฏขึ้น
ที่ศูนย์กลางกายของท่านนั้น
เป็นองค์ "พระปฏิมา เกตุดอกบัวตูม" ใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่าอัญมณีใดๆ งดงามหาที่ติมิได้
"กายโลกุตตระ" ล้วนเป็นกายที่ละเอียดยิ่งนัก และ พ้นจากอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์
....เป็นวิสังขารแห่งความสุขที่แท้จริง

ธรรมะของจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งหลวงพ่อได้ค้นพบ ได้รู้ ได้เห็น และเป็น...ในคืนวันเพ็ญสำคัญนี้ ลึกซึ้งถึงปานนี้
เกินวิสัยของบุคคลจะคาดคิดคะเน แม้ใครยังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง

หลวงพ่อได้สอนไว้ในภายหลังว่า
"ที่จะเข้าถึงต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน
แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด ตรองดูเถิด ท่านทั้งหลาย
นี้เป็นจริง หัวต่อมีเป็นอยู่อย่างนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้ก็ไม่มี ไม่เป็นเด็ดขาด"


การค้นพบ ได้รู้ ได้เห็น ได้เป็นพระสัทธรรมของท่านในคืนวันเพ็ญนั้น
เป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องแท้จริง ให้หลวงพ่อปฏิบัติแสวงหาที่สุดแห่งธรรม
ท่านตรึกใจดิ่งลึกลงไปที่ศูนย์กลางกายธรรมที่สุดละเอียดอยู่ตลอดเวลา นับแต่นั้นเป็นต้นมา
โดยมิได้มีการถอยกลับและหยุดยั้งอีกเลย ท่านยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งลึกซึ้งขึ้นทุกที


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
กลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
ครั้งนั้นเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสสทัตตมหาเถระ) วัดพระเชตุพนฯ
พระอาจารย์องค์หนึ่งของท่านยังดำรงสมณศักดิ์
เป็นท่านเจ้าคุณพระศากยยุตติวงศ์ เจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ
เล็งเห็นความเป็นผู้นำของหลวงพ่อ ซึ่งครั้งนั้นเป็นพระฐานานุกรมที่ 
พระสมุห์สด จนฺทสโร เจ้าประคุณได้มอบหมายท่าน ให้จำต้อง
ยอมรับตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
ซึ่งเป็นพระอารามหลวงเก่าแก่แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
และในขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก เป็นกึ่งวัดร้าง มีพระประจำวัดอยู่เพียงสิบสามรูป

ในปี พ.ศ.๒๔๖๔ ตรงกับ ร.ศ.๑๔๐ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาล
พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า
พระครูสมุห์สด จนฺทสโร ก็ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูสมณธรรมสมาทาน
ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
ด้วยความเป็นผู้นำอย่างเยี่ยมยอด และความอดทนอย่างยิ่งยวด
หลวงพ่อก็ได้ทำนุบำรุงวัดปากน้ำภาษีเจริญขึ้นใหม่ จนเป็นอารามหลวง
ที่สำคัญและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง
มีพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ที่อยู่ในความอุปการะของท่าน
ที่วัดในระยะนั้นจำนวนเป็นร้อย เป็นพัน มีทั้งพระสงฆ์จากต่างประเทศ เช่น
จากประเทศอังกฤษ มาบวชเรียนกับหลวงพ่อ สมจริงแล้วดังปณิธาน
ของท่านที่ตั้งใจไว้ว่า"บรรพชิตที่ยังไม่มาขอให้มา ที่มาอยู่แล้ว ขอให้เป็นสุข"

ลุสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ อันเป็นปีที่ ๒ แห่งรัชกาล
ท่านได้รับตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ได้รับพระราชทาน
ตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระภาวนาโกศลเถร
และอีกสองปีภายหลัง ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ
เสมอพระราชาคณะเปรียญ
ถึงปี พ.ศ.๒๔๙๘ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ
ชั้นราชที่ พระมงคลราชมุนี
ในปีฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ.๒๕๐๐ ตรงกับ ร.ศ.๑๗๖ เป็นปีที่ ๑๒
แห่งรัชกาลปัจจุบัน ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ
ชั้นเทพ มีพระราชทินนามว่า พระมงคลเทพมุนี นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ธรรมปฏิบัติวิชชาธรรมกาย
"วิชชาธรรมกาย" ที่หลวงพ่อได้บรรลุ รู้ เห็น และเป็นนั้น ลึกซึ้ง คมกล้า
ทรงคุณค่า และ หิตานุหิตประโยชน์ใหญ่หลวงที่สุด 
วิชชาธรรมกายนี้ดำรงอยู่ครั้งพุทธกาล และสืบทอดกันมาอีกระยะหนึ่ง
แต่ก็ว่างเว้นไป มิได้มีผู้สอนวิชชานี้อีก นับเป็นระยะเวลายาวนาน
จวบจนถึงสมัยที่หลวงพ่อได้บรรลุ และนำมาเผยแผ่สอนใหม่
ให้มีผู้เข้าถึง รู้ เห็น และเป็น สืบพระพุทธศาสนากันต่อๆไปอีกอย่างถูกต้อง
โดยสัมมาทิฏฐิ 
ตรงตาม
ความเป็นจริง และสัมฤทธิ์ผลโดยกว้างขวาง

ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติจน "เห็นธรรม" นั้น ย่อมจักต้องเห็นพระพุทธเจ้า
ด้วยว่า ธรรมกาย นั้นคือ พระพุทธเจ้า
ผู้ใดเห็นพระพุทธเจ้า คือ ธรรมกาย...ย่อมเห็นธรรม

ตรงตามพระพุทธพจน์ว่า
"โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ
ดูกรวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเราตถาคต
ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม"

และดังพระพุทธพจน์ว่า
"ตถาคตสฺส วาเสฏฺฐ เอตํ ธมฺมกาโยติ วจนํ
ดูกรวาเสฏฐะ ธรรมกายนี้เป็นชื่อของตถาคต"

"วิชชาธรรมกาย" จึงเป็นหัวใจของการสอน และปฏิปทาที่หลวงพ่อ
อุทิศให้แก่พระพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง
ดังจะเห็นได้ในวัตรปฏิบัติของท่านปรากฏเป็นจริยา
ท่านจะดูแลกำกับ "การเจริญวิชชาธรรมกายชั้นสูง"
ที่กระทำโดยต่อเนื่องนั้นอย่างใกล้ชิดมาก
โดยอำนาจแห่งพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ
ประกอบกับเหตุปัจจัย
"ธรรม" ย่อมปราบ "อธรรม" ลงเสียได้
การกำจัดทุกข์ภัยไข้เจ็บ ของชนผู้สมาทานศีลอยู่ในธรรม...ย่อมจะพออยู่ในวิสัย

การเจริญวิชชาธรรมกายนั้น
จึงเป็นกิจเพื่อการปราบทุกข์เข็ญ และยังสันติสุขให้งอกงามไพบูลย์จริง
การประชุมกระแสจิตที่บริสุทธิ์อันแรงกล้า ด้วยการเจริญภาวนาวิชชาธรรมกายชั้นสูง
จึงกระทำเพื่อช่วยผดุงชาติ ศาสน์ กษัตริย์
และทวยราษฎร์ในทศพิธราชธรรมอันบริสุทธิ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

การเจริญวิชชานี้ ดำเนินไปต่อเนื่องเป็นที่น่าอัศจรรย์
แม้ในภาวะมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระเบิดตกลงมาลูกแล้วลูกเล่า เพื่อทำลายจุดยุทธศาสตร์
เช่น สะพานพุทธ บริเวณใกล้เคียงวัดปากน้ำ
แต่ "หลวงพ่อ" และ "คณะศิษย์ผู้เจริญวิชชาธรรมกายชั้นสูง" มิได้ปลีกออกจากวัดเพื่อหลบภัยนั้นเลย
ท่านกลับยิ่งเด็ดเดี่ยวกวดขันบัญชาการเจริญวิชชาธรรมกายชั้นสูง
ที่ห้องภาวนาที่ท่านเรียกใช้คำง่ายๆว่า โรงงาน นั้น...ให้เร็วและแรงขึ้น
และประเทศชาติก็ผ่านพ้นมหาภัยสงครามนั้นมาได้ด้วยดี

หลวงพ่อของปวงชน
การสั่งสอน และ สืบบวรพระพุทธศาสนาของหลวงพ่อนั้น 
ท่านอุทิศให้หมดด้วยทั้งกาย วาจา ใจ
เราย่อมสัมผัสได้ถึงความใสบริสุทธิ์ของกระแสธรรมเทศนา และปฏิปทาของท่าน 
เป็นกระแสแห่งความสงบ สุข ร่มเย็น อบอุ่น ทรงพลังลึกซึ้ง
หยั่งเข้าถึงใจจากองค์พระสมณะ ผู้พึงกราบสักการบูชา

หลวงพ่อจะให้ความอุปการะแก่ผู้สมควรได้รับเสมอ ซึ่งท่านได้สอนถึงการอุปการะนี้ว่า
"เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เมื่อกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์แล้ว
ย่อมมีสิทธิใช้มรดกของพระพุทธเจ้าได้ และใช้ได้จนตลอดชาติ
ถ้าไม่บริสุทธิ์แล้ว แม้จะเอาไปใช้ก็ไม่ถาวรเท่าไร
"

ความใจดี มีเมตตากรุณา อันเป็นธรรมค้ำจุนโลก ดังที่ท่านเจริญโดยตลอดเวลา
ซึ่งเห็น และ สัมผัสโดยง่ายนั้น เป็นอัธยาศัยหนึ่งที่คนทั้งหลายบูชาท่านนัก

มรณภาพ
หลวงพ่อถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.๒๕๐๒ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ ตึกมงคลจันทสร
เมื่อท่านมีอายุย่าง ๗๕ โดยปี รวมพรรษาได้ ๕๓ พรรษา
กาลนั้นเปรียบเสมือนการพักชั่วครู่ของอมตบุรพาจารย์
และย่อมเป็นเครื่องมือเตือนจิตสะกิดใจแก่คนทั้งหลาย ผู้วันหนึ่งกาลกิริยาจะมาถึง
มิให้ประมาท และให้ขวนขวายทำหน้าที่ต่อตนเอง และผู้อื่นในอริยมรรค
คำสอนของหลวงพ่อ จะยังคงดำรงอยู่ประกาศสัจจธรรมฝ่ายบุญฝ่ายสัมมาทิฐิ โดยส่วนเดียวสืบไป



ที่มา http://www.dhammakaya.org/บุพพาจารย์/พระมงคลเทพมุนี-(สด-จนฺทสโร)



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




..บำเพ็ญธรรมโดยธรรม..
อนิจจัง..
" ขณะปฏิบัติทั้งสงบและไม่สงบมันก็ไม่เที่ยง
มันต้องแปรเปลี่ยนไป ไปยึดมั่นกับอันใดไว้
ก็ก่อให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง
"

ธรรมภาษิต : สัพเพ ธัมมานาลัง อะภินิเวสาย
ธรรมทั้งหลายไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น
*********************************
****************************************************
*********************************




".....ในการบำเพ็ญภาวนา
ความเพียร เป็นข้อสำคัญยิ่ง
ต้องทำเสมอ ทำเนืองๆในทุกอิริยาบถ
ไม่ว่านั่ง นอน เดิน ยืน
และทำเรื่อยไป อย่าหยุด
อย่าละ อย่าทอดทิ้ง อย่าท้อแท้
มุ่งรุดหน้า เรื่อยไป ผลจะเกิดวันหนึ่ง
ไม่ต้องสงสัย ผลเกิดอย่างไร
ท่านรู้ได้ ด้วยตัวของท่านเอง.."

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)


-http://www.facebook.com/kajitsai.sakuljittajarern


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ติดอยู่ในกามภพ
:พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ

"..รูปที่ชอบใจ เสียงที่ชอบใจ
กลิ่นที่ชอบใจ รสที่ชอบใจ สัมผัสที่ชอบใจ

ติดอยู่ในกามภพ ที่ให้เราซบอยู่ในกามภพนี้ โงศีรษะไม่ขึ้น

ไอ้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั่นแหละ

เป็นสุขนิดเดียว สุขเล็กน้อย ไม่ใช่เป็นสุขมาก
สุขชั่วปรบมือกระพือปีกไก่เท่านั้น มันสุขน้อยจริงๆ..."

(หลวงพ่อสด)
F/B Jeng Dhammajaree